สิ้นสุด 36 ปีที่รอคอยสำหรับภาคต่อของ ‘Top Gun’ ภาพยนตร์แอคชั่นเรื่องเยี่ยมที่ทำให้ทอม ครูซ (Tom Cruise) กลายเป็นซุปตาร์ในชั่วข้ามคืน  โดยในภาคใหม่นี้มีชื่อว่า ‘Top Gun: Maverick’ และกำลังเข้าฉายอยู่ในตอนนี้เลย และเสียงตอบรับก็ดีเสียด้วยเรียกได้ว่ากลับมาแบบสมชื่อไม่ทำให้แฟน ๆ ผิดหวังเลย

สำหรับหนังภาคแรกในปี 1986 นอกจากหนังจะดังแล้วเพลงประกอบยังปังอีกด้วย ในอัลบั้มเพลงประกอบภาพยนตร์ ‘Top Gun’ มีเพลงฮิตมากมายทั้ง “Danger Zone” ที่ร้องโดย เคนนี ล็อกกินส์ (Kenny Loggins) และเพลงเพราะ ๆ จากบรรดาศิลปินเจ๋ง ๆ แห่งยุคไม่ว่าจะเป็น แฮโรลด์ ฟัลเทอร์เมเยอร์ (Harold Faltermeyer) , Cheap Trick, Miami Sound Machine และ Righteous Brothers ส่วน ไบรอัน อดัมส์ (Bryan Adams) ก็เคยถูกทาบทามเช่นกันแต่เขาได้ปฏิเสธไป และหนึ่งในเพลงประกอบที่ทำให้เราคิดถึงที่สุดก็คือเพลงที่มีชื่อว่า “Take My Breath Away” เพลงบัลลาดแนวโรแมนติกของวง ‘Berlin’ ที่ได้รับทั้งรางวัลลูกโลกทองคำและออสการ์ เป็นหนึ่งในเพลงบัลลาดสุดฮิตที่ทรงพลังที่สุดในยุค 80s เพื่อต้อนรับการเข้าฉายของภาพยนตร์เรื่อง Top Gun: Maverick เราจะมาเปิดเรื่องราวความเป็นมาเบื้องหลังบทเพลงฮิตเพลงนี้กัน

เทอร์รี นันน์ (Terri Nunn) เกือบได้เป็นเจ้าหญิงเลอาแต่ว่ามาปังกับการเป็นนักร้อง

เจ้าของน้ำเสียงอันไพเราะในบทเพลง “Take My Breath Away” นั้นคือนักร้องสาว ‘เทอร์รี นันน์’ นักร้องนำของวง Berlin ก่อนหน้าที่เธอจะมาอยู่กับวง Berlin เธอได้ไปออดิชันเพื่อที่จะแสดงเป็นเจ้าหญิงเลอาในภาพยนตร์เรื่อง Star Wars เธอจำได้ว่าตอนนั้นเธอมีอายุ 15 แต่ดูยังเป็นเด็กอายุ 12 มากกว่า ในตอนนั้นเธอยังเด็กและก็ตื่นเต้นมาก ๆ เธอจำได้ว่าเธอต้องนั่งต่อบทเพื่อแคสติ้งอยู่กับ แฮร์ริสัน ฟอร์ด (Harrison Ford) ซึ่งอายุเกิน 30 แล้วแต่ดูยังเหมือนเด็กวัยรุ่นอายุ 19-20 อยู่เลย สุดท้ายแล้วนันน์ก็ไม่ได้รับบทเลอา แต่ว่าจอร์จ ลูคัส (George Lucas) ก็ส่งจดหมายขอบคุณมาให้เธอและบอกว่าพวกเขาเลือก แคร์รี่ ฟิชเชอร์ (Carrie Fisher) แต่ก็อยากจะช่วยเหลือเธอด้วย ลูคัสก็เลยแนะนำเธอให้รู้จักกับ สตีเวน สปีลเบิร์ก (Steven Spielberg) และทีมงานของเขา

ต่อมานันน์ได้ถูกเสนอบท ลูซี่ อีวิง (Lucy Ewing) ในละครโทรทัศน์ยอดนิยมของอเมริกาเรื่อง ‘Dallas’ แต่นันน์ก็ปฏิเสธที่จะรับบทนี้ (ซึ่งในที่สุดแล้วบทนี้ก็ตกเป็นของชาร์ลีน ทิลตัน (Charlene Tilton)) เพราะเธอกลัวสัญญา 7 ปีกับทางสังกัด เพราะในตอนนั้นนันน์ก็มีความรู้สึกอยากที่จะทำเพลงมากกว่า เธอเลยไปปรึกษากับแม่ ซึ่งแม่ของเธอก็ได้ตอบกลับมาว่า “ให้ลูกทำตามหัวใจของลูกเถอะ” เธอก็เลยตัดสินใจที่จะทำเพลงตามหัวใจสั่ง และในตอนนั้นหลังจากที่เธอปฏิเสธงานแสดง เอเจนต์ที่คอยดูแลเธอก็รู้สึกหงุดหงิดที่เธอปฏิเสธละครเรื่อง Dallas จึงได้ทิ้งเธอไป ในปีต่อมานันน์เลยได้เจอกับ จอห์น ครอว์ฟอร์ด (John Crawford) มือเบสและนักร้องนำวง Berlin และก็ได้ร่วมเป็นสมาชิกวง Berlin ในที่สุด

ในช่วงแรกวง Berlin ยังไม่ประสบความสำเร็จ พวกเขาถูกหัวเราะเยาะจากผู้ฟังเพราะแนวดนตรีที่กำลังเป็นที่นิยมในตอนนั้นคือดนตรีพวก power-pop หรือ arena-rock แต่ Berlin กลับชื่นชอบในทางดนตรีอิเล็กทรอนิกส์เหมือนกับวง Kraftwerk ผู้บุกเบิกดนตรีอิเล็กทรอนิกในเยอรมนี และ Ultravox วงดนตรีอิเล็กทรอนิกส์ชื่อดังในอังกฤษ ส่วนชื่อวงนั้นเกิดขึ้นจากการที่พวกเขาพยายามจะทำให้ผู้คนคิดว่าสมาชิกวงเป็นชาวเยอรมัน

Berlin

นันน์และ Berlin มีความชื่นชอบในตัวตนและผลงานของ จอร์โจ มอโรเดร์ (Giorgio Moroder) โปรดิวเซอร์ชื่อดังมาก ๆ และหวังที่จะได้ร่วมงานกันสักครั้ง แต่มอโรเดร์นั้นถือว่าเป็นรุ่นใหญ่พอตัวเพราะทำงานกับศิลปินดัง ๆ มากมายไม่ว่าจะเป็น เดวิด โบวี (David Bowie), ดอนนา ซัมเมอร์ (Donna Summer) บลอนดี (Blondie) และกับภาพยนตร์เรื่อง ‘Flashdance’ (1983) เมื่อสบโอกาสนันน์และวงจึงไปขอร้องที่จะได้ทำงานกับมอโรเดร์แม้สักเพลงนึงก็ยังดี  สุดท้าย Berlin ก็ได้ทำเพลงกับมอโรเดร์นึ่งเพลงคือ “No More Words”

ในขณะที่ Berlin ได้ทำงานกับมอโรเดร์ เขากำลังมีโปรเจกต์กับภาพยนตร์เรื่อง ‘Top Gun’ อยู่พอดี และเขียนเพลง “Take My Breath Away” เอาไว้ มอโรเดร์ได้ลองให้ศิลปินคนอื่น ๆ มาลองบันทึกเสียงเพลงนี้แต่โปรดิวเซอร์ภาพยนตร์ปฏิเสธไม่เอาเลย ดังนั้นมอโรเดร์ก็เลยแนะนำวง Berlin ให้ทั้ง ๆ ที่ในตอนนั้นวงไม่ได้มีเพลงฮิตที่ดังเลย แต่มอโรเดร์ก็มีวิธีโน้มน้าวใจให้ทีมงานของภาพยนตร์ต้องยอม “เชื่อผมเถอะครับต่อไปพวกเขาต้องดังแน่ ๆ” มอโรเดร์พยากรณ์ความดังของวงไว้ก่อนล่วงหน้า และมันก็เป็นแบบนั้นจริง ๆ ในที่สุด Berlin ก็ได้ฝากฝีไม้ลายมือของตัวเองไว้ในบทเพลง “Take My Breath Away” ในที่สุด

นันน์เล่าว่าตอนที่เธอและวงได้ไปบันทึกเสียงเพลงนี้ พวกเธอได้ไปที่สตูดิโอขนาดใหญ่ของมอโรเดร์ในนอร์ธฮอลลีวู้ด ตอนนั้นมอโรเดร์กำลังทำงานอยู่ 3-4 โปรเจกต์พร้อม ๆ กันพร้อมกับผู้ช่วยโปรดิวเซอร์ในแต่ละห้องและเขาก็มักจะเข้ามาสั่งการด้วยเสียงอันขึงขังว่า “ฉันไม่ชอบเสียงฮอร์นนี้เลย เอามันออก! แล้วเราค่อยทำมันใหม่ทีหลัง โอเคโชคดี” และเขาก็กลับมาอีกทีแล้วบอกว่า “โอ้ฉันรักมันมากเลย เติมฮาร์โมนี่เข้าไปอีกนะ”

จากนั้นบทเพลงก็มีการเติมเสียงฮอร์นและกีตาร์ลงไปทำให้ทุก ๆ อย่างในเพลงมันฟังดูชุ่มฉ่ำขึ้นมา ส่วนในเรื่องการร้องมอโรเดร์พยายามทำให้นันน์ร้องให้เรียบง่ายขึ้น “คนน่ะเขาอยากจะฟังเพลงที่เขาร้องตามได้นะ” นันน์เลยได้เรียนรู้มากมายเกี่ยวกับการถ่ายทอดอารมณ์ “ในตอนนั้นฉันกำลังรู้สึกโดดเดี่ยว มันเป็นช่วงที่ฉันกำลังยุ่งอยู่กับการทำวงและไม่ได้มีความสัมพันธ์ดี ๆกับใครเลยเป็นเวลากว่า 4 ปีดังนั้นฉันก็เลยร้องมันออกมาจากความรู้สึกของความเศร้าและความโหยหาและบางทีสิ่งเหล่านี้ก็ได้ถูกสะท้อนออกมา” ในตอนแรกเหมือนจะไม่มีอะไรเกิดขึ้นและผู้จัดการของวงก็คิดว่าเพลงมันจะไม่เวิร์ก เขาก็บอกกับนันน์ว่าถ้าเพลงนี้ขึ้นไปถึงท็อปเท็นเขาจะตัดผมทรงโมฮอว์กเลย และแล้วค่ายเพลงก็พยายามผลักดันบทเพลงและมันก็ขึ้นไปถึงอันดับหนึ่งของชาร์ตเพลงทั่วโลกในที่สุด ดังนั้น MTV ก็เลยมาถ่ายทำตอนที่ผู้จัดการวงกำลังตัดผมทรงโมฮอว์ก

จอร์โจ มอโรเดร์ (Giorgio Moroder) โปรดิวเซอร์อัจฉริยะกับเนื้อร้องที่ได้จากช่างซ่อมเฟอร์รารี่

มอโรเดร์ได้เข้ามายุ่งเกี่ยวกับโปรเจกต์ ‘Top Gun’ ในช่วงที่อาศัยอยู่ในลอสแองเจลิสและได้แวะเวียนไปหา แฮโรลด์ ฟัลเทอร์เมเยอร์ (Harold Faltermeyer) ที่กำลังทำเพลงให้หนังเรื่องนี้พอดี ในวันหนึ่ง เจอร์รี บรักไฮเมอร์ (Jerry Bruckheimer) ก็ชวนมอโรเดร์ให้มาแต่งเพลงให้หนังสักเพลง มอโรเดร์ก็เลยแต่ง “Dragon Zone” และให้ เคนนี ล็อกกินส์ เป็นคนร้องซึ่งมันเวิร์กและทีมงานก็ชอบมาก  บรักไฮเมอร์เลยอยากขอเพลงช้าสักเพลงสำหรับฉากโรแมนติกในหนังระหว่าง ทอม ครูซ กับ เคลลี แม็คกิลลิส (Kelly McGillis) ที่เขาตั้งใจจะถ่ายทำเพิ่มเข้ามาในหนังเพื่อเอาไว้ใส่เพลงนี้เพื่อบิลต์อารมณ์โรแมนติกให้กับผู้ชมโดยเฉพาะเลย

มอโรเดร์เริ่มจากทำเดโมคร่าว ๆ ด้วยการใส่นู่นนี่ลงไปพอให้เห็นภาพแล้วก็ร้องเมโลดี้ไกด์ลงไปก่อนที่จะทำเดโมเวอร์ชันที่ละเอียดขึ้นด้วยการใส่โมทีฟ 5 โน้ตพร้อมด้วยซาวด์เบสที่โดดเด่นอันเป็นที่จดจำที่คนฟังจะได้ยินตั้งแต่ท่อนอินโทร เมโลดี้และการเปลี่ยนคีย์เพลงในช่วงตรงกลางของเพลง แล้วก็ใส่เครื่องดนตรีต่าง ๆ ลงไปตั้งแต่ต้นจนจบ ส่วนเนื้อร้องน่ะหรอมอโรเดร์ไม่ได้แต่งเองหรอก แต่เป็นคนซ่อมรถเฟอร์รารี่ของเขาต่างหาก !

Giorgio Moroder

ตอนนั้นรถเฟอร์รารี่ของมอโรเดร์จอดอยู่หลังสตูดิโอ และมันก็มีปัญหาเรื่องเบรกอยู่ วันหนึ่งมีผู้ชายคนหนึ่งเดินเข้ามาที่เขาและรถคันนี้ ชายคนนี้คือ ทอม วิทล็อก (Tom Whitlock) นักดนตรีหนุ่มที่เดินทางมาเที่ยวที่ลอสแองเจลิสพอดี พอเห็นมอโรเดร์กำลังง่วนอยู่กับรถเฟอร์รารี่ เขาเลยเดินเข้าไปถามว่ามีอะไรให้ช่วยไหม ก่อนที่จะพบว่าปัญหานั้นอยู่ที่เบรก วิทล็อกเลยจัดแจงซ่อมแซมให้และพูดคุยสัพเพเหระกับมอโรเดร์ จนรู้ว่าชายคนนี้คือนักแต่งเพลงและโปรดิวเซอร์ชื่อดัง และกำลังทำโปรเจกต์กับหนังเรื่อง ‘Top Gun’ อยู่ วิทล็อกเลยเสนอว่าเขาจะเป็นคนเขียนเนื้อร้องเพลง “Take My Breath Away” ให้เอง มอโรเดร์เองก็ไม่เซียนเรื่องการเขียนเนื้อร้องอยู่แล้ว พอคิดว่าไม่มีอะไรต้องเสียก็เลยให้วิทล็อกได้ลองดู ด้วยความยินดีปรีดาในวันนั้นขณะที่วิทล็อกกำลังขับรถกลับบ้านจากสตูดิโอของมอโรเดร์ เขาก็แว้บไอเดียของเนื้อเพลงขึ้นมาในหัวของเขาเต็มไปหมด และพอกลับถึงบ้านเขาก็ใช้เวลาแค่ไม่กี่ชั่วโมงในการขัดเกลามันจนเสร็จสมบูรณ์และเอามาให้มอโรเดร์ดูในวันรุ่งขึ้น ผลก็คือมันเจ๋งสุด ๆ ไปเลย

Giorgio Moroder กับ Tom Whitlock

สำหรับในส่วนของภาคดนตรี เสียงเบสอันโดดเด่นและเป็นลายเซ็นของเพลงนี้คือสิ่งที่มอโรเดร์ชอบ ซึ่งเขาใช้ซินธิไซเซอร์เล่นในการบันทึกเสียงและรู้สึกว่าตอนที่อัดเดโมนั้นเขาเล่นมันได้ลงตัวที่สุดแล้วและไม่สามารถทำซ้ำให้ดีกว่าเดิมได้อีก เลยตัดสินใจใช้ซาวด์จากเดโมนั่นเอง หลังจากนั้นมอโรเดร์ก็ให้วง The Motels เป็นคนบันทึกเสียงเพลงนี้ แต่โปรดิวเซอร์กลับรู้สึกว่ามันยังไม่โดนมากพอ เขาก็เลยแนะนำวง Berlin และวงก็ได้ทำเพลงนี้ในที่สุด จากท่วงทำนองและเสียงร้องของนันน์ สุดท้ายทุกคนก็รักเวอร์ชันนี้มาก

“Take My Breath Away” เป็นหนึ่งในผลงานที่มอโรเดร์ภาคภูมิใจมากที่สุด มันเป็นเสมือนของขวัญสำหรับทุก ๆ คนที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็นหนัง ‘Top Gun’ ที่ได้ใช้เพลงนี้ในการสร้างช่วงเวลาอันโรแมนติก เทอร์รี นันน์ และวง Berlin ที่ได้มีโอกาสทำเพลงนี้และกลายเป็นเพลงดังของพวกเขาในที่สุด หรือสำหรับคนแต่งทำนองและเนื้อร้อง โมโรเดอร์กับวิทล็อกก็แฮปปี้เต็มที่แน่นอนเพราะทั้งคู่ได้รับรางวัลเกียรติยศถึงสองเวทีใหญ่นั่นคือรางวัล Best Original Song จากเวทีลูกโลกทองคำและออสการ์ไปครอง

จากวันนั้นจนถึงวันนี้เป็นเวลาร่วม 36 ปีแล้ว หนังภาคต่อของ ‘Top Gun’ ก็กำลังเฉิดฉายอยู่ในโรงภาพยนตร์  บทเพลงนี้ก็ยังคงสดใหม่และไพเราะโดนใจเราอยู่เสมอ

ที่มา

theguardian

smoothradio

พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส