สำนักข่าว Bloomberg ได้รายงานว่า Paramount Pictures ได้จ่ายเงินให้กองทัพเรือสหรัฐฯ จำนวน 11,374 เหรียญต่อชั่วโมง หรือประมาณ 387,600 บาทต่อชั่วโมง เพื่อนำเครื่องบินขับไล่ F/A-18 Super Hornets จริง ๆ ขึ้นบิน สำหรับใช้ในการถ่ายทำ ‘Top Gun: Maverick’

เกลน โรเบิตส์ (Glen Roberts) หัวหน้าสำนักงานสื่อบันเทิงของเพนตากอน ได้เปิดเผยว่า เพนตากอนมีกฏระเบียบด้านความปลอดภัยที่กำหนดมิให้บุคคลที่มิใช่ทหารควบคุมทรัพย์สินของกลาโหมได้ เว้นเสียแต่เป็นอาวุธขนาดเล็กที่ีใช้ในการฝึก ซึ่งส่งผลทำให้ ทอม ครูซ (Tom Cruise) ไม่ได้รับอนุญาตให้ควบคุมการบินด้วยตนเอง

แต่ถึงกระนั้น นักแสดงทั้งหมดได้รับการฝึกบินกับเครื่องบินเจ็ทที่ผลิตโดย Boeing จึงทำให้เข้าใจความรู้สึกในระหว่างขับเครื่องบินจริงเป็นอย่างดี และสามารถแสดงความรู้สึกนั้นออกมาในระหว่างการถ่ายทำบนเครื่อง F/A-18 จริง ๆ ในขณะที่นั่งอยู่ด้านหลังนักบินตัวจริงได้อย่างยอดเยี่ยม

Top Gun: Maverick

‘Top Gun’ ภาคแรกเมื่อปี 1986 นั้น สร้างบรรยากาศการขับเครื่องบินที่สมจริงด้วยการติดต่อกับกระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ เพื่อนำเครื่องบินขับไล่และอุปกรณ์ของหน่วยงานภาครัฐมาใช้ในการถ่ายทำให้มากที่สุด ซึ่งทีมงานสร้าง ‘Top Gun: Maverick’ ก็ยังคงดำเนินตามแนวทางของภาพยนตร์ต้นฉบับด้วยเช่นกัน

นอกจาก ‘Top Gun’ แล้วนั้น กระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ ยังเคยมีส่วนร่วมนำยานพาหนะและอุปกรณ์ให้ผู้สร้างภาพยนตร์ใช้ในการถ่ายทำภาพยนตร์อีกหลายเรื่อง เช่น ‘Indiana Jones and the Last Crusade’ (1989) ของผู้กำกับ สตีเวน สปีลเบิร์ก (Steven Spielberg), แฟรนไชส์ ‘Transformers’ ของ ไมเคิล เบย์ (Michael Bay) รวมถึง ‘Iron Man’ (2008) และ ‘Captain Marvel’ (2019) ของแฟรนไชส์ Marvel Cinematic Universe

ในทางกลับกัน กระทรวงกลาโหมจะได้สิทธิ์ในการเข้าถึงบทภาพยนตร์ และสามารถร้องขอให้มีการแก้ไขบทบางส่วนให้มีความเหมาะสมต่อการใช้ยานพาหนะและอุปกรณ์ของกระทรวงกลาโหมได้เช่นกัน

อ้างอิง

พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส