เมื่อวันที่ 10 พฤษภาคม ที่ผ่านมา วงการซีรีส์ไทยได้มีการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้น หลังจากบริษัท นาดาว บางกอก จำกัด ที่เปิดตัวมายาวนานกว่า 12 ปี ออกมาประกาศว่าบริษัทจะยุติบทบาทการเป็นบริษัทพัฒนาและดูแลศิลปิน รวมถึงเป็นผู้ผลิตซีรีส์ ละคร หรือผลงานเพลงต่าง ๆ ตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายน 2022 นี้ ทำให้แฟน ๆ หลายคนที่คอยติดตามและสนับสนุนค่ายนาดาว บางกอกถึงกับใจหายไปตาม ๆ กัน

บริษัท นาดาว บางกอก จำกัด

ถีึงในวันนี้ค่ายจะปิดตัวไปแล้ว แต่เอกลักษณ์และความทรงจำที่ค่ายนาดาว บางกอกเคยได้สร้างไว้ให้แก่ผู้ชมผ่านผลงานต่าง ๆ จะยังคงตราตรึงใจกับใครหลายคนไปอีกนาน เพราะนอกจากค่ายจะได้ให้ความบันเทิงแก่ผู้ชมแล้ว ยังมีการสอดแทรกประเด็นสังคมต่าง ๆ เข้าไปอยู่ในผลงานอีกมากมาย พร้อมทั้งผลงานต่าง ๆ ยังเป็นตัวบอกเล่ายุคสมัยที่เปลี่ยนไปของสังคมไทยได้เป็นอย่างดี

การเปลี่ยนแปลงของค่ายนาดาว บางกอกนั้นถูกสะท้อนออกมาให้เห็นผ่านช่วงเวลาต่าง ๆ ควบคู่ไปพร้อมกับผลงานต่าง ๆ ของค่ายเอง ซึ่งเรื่องที่เป็นกระแสนิยมและสามารถสะท้อนการเปลี่ยนแปลงของนาดาว บางกอกได้ชัดเจน คือ ผลงานของค่ายทั้ง 3 เรื่อง ที่ได้ฉายใน 3 ช่วงเวลา

ช่วงเริ่มแรก : การเติบโตครั้งใหม่ของนาดาว บางกอก

โปสเตอร์ซีรีส์ ‘ฮอร์โมนส์ วัยว้าวุ่น’

ช่วงที่ซีรีส์ ‘ฮอร์โมนส์ วัยว้าวุ่น’ (พ.ศ. 2556) เข้าฉาย ซีรีส์ที่เล่าเรื่องราวของนักเรียนชั้นมัธยมฯ ปลายของโรงเรียนนาดาวบางกอก โดยเล่าวิถีชีวิตของวัยรุ่นและตีแผ่ประเด็นสังคมออกมาได้อย่างหลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นประเด็นการศึกษา ความสัมพันธ์ หรือประเด็นครอบครัว

นักแสดงและผู้กำกับจากซีรีส์ ‘ฮอร์โมนส์ วัยว้าวุ่น’ ในงานประกาศรางวัล Asia Contents Awards ที่ประเทศเกาหลีใต้ 

ซีรีส์เรื่องนี้ถือเป็นการเติบโตครั้งใหม่ของค่ายนาดาว บางกอก เพราะซีรีส์เรื่องนี้ได้รับความนิยมไปทั่วเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และมีจำนวนผู้ชมผ่านยูทูบในแต่ละตอนสูงกว่า 1 ล้านครั้ง จนได้พัฒนาต่อและมีด้วยกันถึง 3 ซีซัน หลังจากที่ซีรีส์ ‘ฮอร์โมนส์ วัยว้าวุ่น’ ฉาย กระแสจากซีรีส์เรื่ืองนี้ได้นำไปสู่การตั้งคำถามเกี่ยวกับประเด็นการศึกษาไทยอย่างมากมาย เนื่องจากเรื่องราวต่าง ๆ ของซีรีส์ถูกนำเสนอและถ่ายทอดสู่สายตาคนดูอย่างตรงไปตรงมา และเต็มไปด้วยรสชาติที่หลากหลาย มีทั้งอุปสรรคต่าง ๆ ที่ต้องฝ่าฟัน การศึกษา ความรัก รวมถึงประเด็นอื่น ๆ ที่มีความละเอียดอ่อน ซีรีส์เรื่องนี้จึงถือเป็นการตีแผ่และสะท้อนสังคมไทยได้เป็นอย่างดีในช่วงเวลานั้น

ช่วงพัฒนา : โอกาสของการทำงานที่หลากหลายและการทำงานที่เข้มข้น

โปสเตอร์ซีรีส์ ‘เลือดข้นคนจาง’

หลังจากซีรีส์ ‘ฮอร์โมนส์ วัยว้าวุ่น’ นาดาว บางกอกยังคงผลิตผลงานต่าง ๆ ออกมาอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็น ‘I Hate You, I Love You’ และ ‘PROJECT S The Series’ ทำให้ผลงานภายในค่ายมีความหลากหลายมากยิ่งขึ้น และนำมาสู่ความท้าทายครั้งใหม่ของค่ายในการผลิตซีรีส์เรื่องที่แพงที่สุดอย่าง ‘เลือดข้นคนจาง’ (พ.ศ. 2561)

เบื้องหลังซีรีส์ ‘เลือดข้นคนจาง’

ซีรีส์ที่เล่าเรื่องราวของตระกูลจิระอนันต์ คนไทยเชื้อสายจีน ที่อยู่มาวันหนึ่งประเสริฐ รับบทโดย ทรงสิทธิ์ รุ่งนพคุณศรี ลูกชายคนโตของตระกูลถูกยิงเสียชีวิตอย่างปริศนา จนนำไปสู่การสืบสวนคดีฆาตรกรรมครั้งใหญ่ที่ต้องช่วยกันตามสืบ ว่าจริง ๆ แล้วใครคือคนร้ายกันแน่?

‘เลือดข้นคนจาง’ เป็นผลงานซีรีส์ที่เล่าประเด็นของครอบครัวคนจีน ซึ่งให้ความสำคัญกับเพศชาย (ลูกชาย) เป็นอย่างมาก ซึ่งภายในเรื่องก็ได้นำประเด็นนี้มาตีแผ่ได้เป็นอย่างดี ควบคู่ไปกับการสืบสวนคดีฆาตรกรรม ทำให้เราได้เห็นตัวละครหลากหลายมิติ และนิสัยแท้จริงของมนุษย์ผ่านเรื่องราวภายในเรื่อง

หลังจากความสำเร็จและกระแสตอบรับที่ดีในเรื่องนี้ นำมาสู่บทบาทใหม่ของนาดาว บางกอก อย่าง ‘My Ambulance รักฉุดใจนายฉุกเฉิน’ ที่ใช้เพลงประกอบซีรีส์จากค่ายเพลงใหม่ของตนเองอย่างนาดาว มิวสิค และภายในซีรีส์เรื่องนี้ยังได้เกิดกระแสคู่จิ้นที่มีแฟน ๆ ชื่นชอบเป็นอย่างมาก คือ บิวกิ้น (พุฒิพงศ์ อัสสรัตนกุล) และ พีพี (กฤษฏ์ อำนวยเดชกร) ที่ทางค่ายนำมาสานต่อเป็นโปรเจกต์พิเศษอย่าง BKPP Project 

บิวกิ้น (พุฒิพงศ์ อัสสรัตนกุล) และ พีพี (กฤษฏ์ อำนวยเดชกร)

ช่วงสุดท้าย : ก่อนจะยุติบทบาทของนาดาว บางกอก…สู่โอกาสครั้งใหม่

โปสเตอร์ซีรีส์ ‘แปลรักฉันด้วยใจเธอ’

ช่วงที่ซีีรีส์ ‘แปลรักฉันด้วยใจเธอ’ (พ.ศ. 2563) เข้าฉาย เรื่องราวความสัมพันธ์ของเพื่อน 2 คน คือ เต๋ รับบทโดย บิวกิ้น และโอ้เอ๋ว รับบทโดย พีพี ที่ได้กลับมาเจอกันอีกครั้ง หลังจากที่ไม่ได้เจอกันมานานเพราะเหตุการณ์ที่เคยเกิดขึ้นในอดีต ซีรีส์เร่ืองนี้ได้นำเสนอมุมมองของ LGBTQIA+ ในสังคมไทยออกมาได้อย่างลงตัว ไม่ได้พยายามยัดเยียดผู้ชม ซีรีส์ได้พาเราไปสำรวจตัวละครและสังคมรอบข้างว่าการเป็น LGBTQIA+ ในสังคมไทยต้องเจอกับเรื่องอะไรบ้าง

ใบประกาศยุติบทบาทของนาดาว

การเปลี่ยนแปลงและผลงานของค่ายนาดาว บางกอกในช่วงนี้ผ่านมา ทำให้เราได้เห็นถึงความก้าวหน้า การเติบโต และการเปลี่ยนแปลง อีกทั้งยังได้เห็นประเด็นที่สะท้อนสังคมในช่วงเวลาต่าง ๆ ผ่านผลงานของค่าย ถึงแม้ว่าวันนี้ค่ายนาดาว บางกอกจะปิดตัวลงไปอย่างน่าเสียใจ แต่ไม่แน่ว่่าในอนาคตเราก็อาจจะได้เห็นผลงานของผู้กำกับ นักแสดง และทีมงานที่เคยเป็นครอบครัวของนาดาว บางกอก อีกครั้ง อย่างที่ประกาศของนาดาว บางกอกได้เคยลงไว้ว่า “นี่ไม่ใช่การกล่าวลาเพื่อสิ้นสุด แต่เป็นการเปิดโอกาสให้ทุกฝ่ายได้มีอิสระเพื่อเติบโต”

ที่มา: Nadao Bangkok

พิสูจน์อ้กษร : สุชยา เกษจำรัส