ไม่ใช่ทุกคนที่จะพร้อมเปิดใจให้กับความรักและสมหวังในเรื่องความรัก ภาพยนตร์ ‘เพลงสุดท้าย’ เรื่องที่ทำให้เราได้รู้จักและเข้าใจมุมมองความรักในสมัยก่อนมากยิ่งขึ้นผ่านตัวละคร LGBTQIA+ อย่าง สมหญิง ดาวราย ในบท สมหญิง (นางโชว์ดาวเด่นจากทิฟฟานีโชว์พัทยา) จิระวดี อิศรางกูร ณ อยุธยา รับบท แพรว (เพื่อนของสมหญิง) และชลิต เฟื่องอารมย์ รับบท ประเทือง (เจ้าของทิฟฟานี่โชว์)

โปสเตอร์ภาพยนตร์ ‘เพลงสุดท้าย’

ภาพยนตร์ ‘เพลงสุดท้าย’ ฉายในปี พ.ศ.2528 เป็นภาพยนตร์ไทยเรื่องแรกที่มีการนำเสนอเนื้อหาเกี่ยวกับ LGBTQIA+ อย่างตรงไปตรงมา กำกับโดย พิศาล อัครเศรณี ที่มาพร้อมนักแสดงมากความสามารถภายในเรื่องนี้อย่าง บิณฑ์ บันลือฤทธิ์ รับบท บุญเติม (ชายที่เคยลำบากมาก่อนจนมีโอกาสได้เข้าสู่วงการนักร้องและทำให้ชีวิตของบุญเติมเปลี่ยนไป) วรรณิศา ศรีวิเชียร รับบท อรทัย (แฟนสาวของแพรว) อีกทั้งนักแสดงบางคนภายในเรื่องนี้ก็เป็น LGBTQIA+ จริง ๆ หนึ่งในนั้นคือ สมหญิง ดาวราย ที่เป็นนักแสดงข้ามเพศ (Transgender person) คนแรกของไทย

สมหญิง
บุญเติม

ภาพยนตร์เรื่องนี้ได้พาเราไปสำรวจการใช้ชีวิตและการมีความรักของกลุ่มคน LGBTQIA+ ในสมัยนั้น เรื่องนี้ทำให้ผู้ชมได้เห็นว่าประเทศไทยของเรา มีทั้งกลุ่มคนที่ยอมรับและยังไม่ยอมรับ LGBTQIA+ มาตั้งแต่สมัยก่อนแล้ว และเสริมเรื่องด้วยการเล่ามุมมองความรักที่เล่าผ่านตัวละครทั้ง 3 อย่าง สมหญิง แพรว และประเทือง ทำให้เราได้เห็นว่าความรักบางครั้งก็ไม่ได้สวยงามและสมหวังเสมอไป

แพรว

ประโยคที่แสนเจ็บปวดและถูกนำเสนอผ่านภาพยนตร์เรื่องนี้ คือ ไม่มีรักแท้สำหรับเพศสีม่วง และ บนเส้นทางสีม่วงของเพศที่ 3 ยากหารักแท้ครองใจ ภาพยนตร์ ‘เพลงสุดท้าย’ นั้นสะท้อนเรื่องราวทั้ง 2 ประโยคนี้ได้เป็นอย่างดี เพราะถึงตัวละครจะยอมรับเพศที่แท้จริงของตนเองและเปิดเผยอย่างไม่ปิดบัง แต่ไม่ใช่ทุกคนที่จะยอมรับได้ เท่านั้นไม่พอภายในเรื่องยังมีการล้อเลียนเรื่องเพศ เหยียดเพศให้ดูเป็นเรื่องตลก จนทำให้หลาย ๆ คนเสียความมั่นใจในตัวเองไป หรือไม่กล้าที่จะออกมาเปิดเผยตัวตนที่แท้จริงให้สังคมได้รับรู้

จริง ๆ แล้วความรักไม่ควรมีเรื่องเพศเข้ามาปิดกลั้น แต่เนื่องด้วยสภาพสังคมและสิ่งแวดล้อมรอบตัวเรา หลาย ๆ อย่างจึงไม่อาจเป็นดั่งหวัง ในสมัยนั้นการยอมรับความหลากหลายทางเพศยังมีไม่มากเท่ากับสังคมในปัจจุบัน ประเด็นที่เรื่องนี้หยิบยกมาเล่าจึงทำให้ผู้ชมได้เห็นและตระหนักถึงการใช้ชีวิตในสังคม ไม่ว่าแต่ละคนจะเป็นเพศอะไรก็ควรมีสิทธิที่เท่าเทียมกันและไม่ว่าแต่ละคนจะเป็นเพศไหน ทุกคนก็มีสิทธิที่จะมีความรักได้เหมือนกัน

ประเทือง

ความรักที่สมหญิงได้เจอเป็นเหมือนสิ่งเตือนใจว่า อย่ารักคนอื่นมากเกินไปจนไม่เผื่อใจไว้รักตัวเอง และในแง่ความรักของประเทืองที่แสดงให้เห็นว่าเวลาเรารักใครเราก็ควรที่จะซื่อสัตย์กับความรักนั้นจริง ๆ ถึงแม้ว่าท้ายที่สุดแล้วความรักของประเทืองอาจจะไม่สมหวัง แต่เขาก็ยังสามารถใช้ชีวิตต่อไปได้ และใช้ชีวิตอย่างมีสติ รวมถึงหันกลับมารักและให้ความสำคัญกับตัวเอง

การนำเสนอประเด็นเหล่านี้ในยุคนั้น ที่อาจจะยังไม่ค่อยมีคนรู้จักและเข้าใจเรื่อง LGBTQIA+ มากนะ ถือเป็นความกล้าหาญของผู้กำกับและทีมงานอย่างมาก เพราะสิ่งเหล่านี้ได้สร้างความเปลี่ยนแปลงมากมายมหาศาล ส่งผลมาจนถึงปัจจุบัน นอกจากภาพยนตร์ ‘เพลงสุดท้าย’ จะทำให้ผู้คนได้รู้จัก LGBTQIA+ มากขึ้น และยังเป็นเหมือนใบเบิกทางให้กับวงการบันเทิงและอื่น ๆ ในช่วงต่อมา ที่ทำให้ผู้ผลิตสื่อมีความกล้าที่จะเลือกประเด็นต่าง ๆ ในสังคมมาผลิตผลงานมากยิ่งขึ้น

https://www.youtube.com/watch?v=BxLIdqGzRrc

ผู้ที่สนใจรับชมภาพยนตร์ สามารถดูได้อย่างถูกลิขสิทธิ์บนยูทูบ : พระนครฟิลม์ คลาสสิค (Phranakorn film Classic)

ที่มา Letterboxd

พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส