หากใครที่ได้ชม Stranger Things season 4 volume 2 ไปแล้วคงจะประทับเป็นแน่หรือหากใครยังไม่ได้ดูและได้ดูฉากที่ตัวละคร เอ็ดดี มุนสัน (Eddie Munson) มาฟาดฟันปีศาจร้าย ‘เว็กนา (Vecna)’ และเหล่าลูกสมุนของมันด้วยการริฟฟ์แอนด์ลีดกีตาร์อย่างเร้าใจในเพลง “Master of Puppets” ของวงเมทัลรุ่นเก๋าอย่าง Metallica ด้วยกีตาร์ Warlock คู่ใจท่ามกลางบรรยากาศชวนหลอนของโลก Upside Down แล้วล่ะก็ ก็คงอดใจไม่ไหวที่จะมาชมซีรีส์เรื่องนี้อย่างแน่นอน

ทำไมเพลงนี้ถึงถูกเลือกมาใช้ในฉากสำคัญ ทำไมมันถึงมีพลังขนาดนี้ เรามาทำความรู้จักกับ “Master of Puppets” หนึ่งในบทเพลงที่เป็นเสมือนลายเซ็นของวง Metallica ที่มีพลังอันร้ายกาจใช้ต่อสู้กับปีศาจได้กันดีกว่า

“Master of Puppets” ได้เผยตัวสู่ชาวโลกเมื่อวันที่ 2 กรกฎาคม ปี ค.ศ. 1986 นั่นก็คือเมื่อ 36 ปีที่แล้วนั่นเอง และเป็นซิงเกิลจากอัลบั้มในชื่อเดียวกัน ในอัลบั้ม ‘Master of Puppets’ เพลงนี้จะอยู่เป็นแทร็กที่ 2 ของอัลบั้มต่อจากเพลง “Battery” ที่มาพร้อมท่วงทำนองในแบบแทรชเมทัลสุดเร้าใจ หลังจากที่เพลงนี้ถูกปล่อยออกมามันก็ได้กลายเป็นเพลงที่โด่งดังและเป็นที่นิยมมากที่สุดและถูกนำไปเล่นในคอนเสิร์ตบ่อยที่สุดเพลงหนึ่งของ Metallica

ปกอัลบั้ม Master of Puppets

เพลงนี้เป็นเพลงที่สมาชิกทั้ง 4 คือ เจมส์ เฮตฟิลด์ (James Hetfield), ลาร์ส อุลริก (Lars Ulrich), เคิร์ก แฮมเม็ตต์ (Kirk Hammett) และ คลิฟฟ์ เบอร์ตัน (Cliff Burton) เขียนร่วมกันทั้งหมดและเป็นเพลงโปรดที่สุดของ คลิฟฟ์ เบอร์ตันด้วย อัลบั้ม ‘Master Of Puppets’ บันทึกเสียงระหว่างเดือนตุลาคม-ธันวาคม 1985 ที่ Sweet Silence Studios ในโคเปนเฮเกน ประเทศเดนมาร์ก เหมือนกับอัลบั้มก่อนคือ ‘Ride The Lightning’ โดยมี เฟลมมิง ราสมุสเซ่น (Flemming Rasmussen) เป็นซาวด์เอ็นจิเนียร์มือดีประจำวง ซึ่งต่อมาราสมุสเซ่นก็ยังทำงานในอัลบั้มต่อไปของวงคือ ‘…And Justice for All’ ด้วย

Metallica ในวัยละอ่อน จากซ้ายไปขวา คลิฟฟ์ เบอร์ตัน, เคิร์ก แฮมเม็ตต์, ลาร์ส อุลริก และ เจมส์ เฮตฟิลด์
Metallica ในวัยเก๋า

“Master of Puppets” เป็นบทเพลงที่พูดถึงยาเสพติด โดยเปรียบเปรยว่ายาเสพติดนั้นคือ “ผู้ควบคุมบงการ”ชีวิตเรา เมื่อคุณเสพมันเข้าไปคุณไม่ได้เป็นผู้ควบคุมมันแต่มันต่างหากที่ควบคุมคุณ และคุณเป็นดั่ง “หุ่นเชิด” ที่ผู้ควบคุมหุ่นกำลังดึงสายที่โยงใยกับร่างกายของคุณ บิดผันความคิด และทำลายความฝันของคุณให้สิ้นซาก

“มันเกี่ยวข้องกับการเผชิญหน้ากับยาเสพติด กับการที่มันทำให้สิ่งต่าง ๆ เปลี่ยนไป แทนที่คุณจะควบคุมสิ่งที่คุณกำลังเสพและมันกลับกลายเป็นว่ายาเสพติดนั่นแหละคือสิ่งที่ควบคุมคุณ” เจมส์ เฮตฟิลด์กล่าวถึงความหมายของบทเพลงนี้  ในตอนที่เฮตฟิลด์เขียนเพลงนี้เขาไม่ได้คิดอะไรมากไปกว่าอยากจะพูดถึงโทษภัยของยาเสพติดที่มันสามารถบงการชีวิตเราได้ แต่เมื่อเวลาผ่านไปเขาก็ได้ตระหนักว่าเพลงนี้เกี่ยวข้องกับการเผชิญหน้ากับโรคพิษสุราเรื้อรังของเขาด้วยนั่นเอง

“Master of Puppets” ไม่ได้ปล่อยออกมาเป็นซิงเกิลยกเว้นในประเทศฝรั่งเศส เนื่องจากเพลงเมทัลยังถูกมองว่าเป็นแนวทางที่เฉพาะและไม่แพร่หลายในวงกว้างและมีสถานีวิทยุไม่กี่แห่งที่จะแตะต้องมัน การปล่อยเป็นซิงเกิลคงจะไร้ความหมายเพราะว่าถึงอย่างไรก็คงไม่ถูกเปิดออกอากาศเป็นแน่ อีกทั้งแฟน ๆ ของ Metallica ยังมักจะชอบซื้อทั้งอัลบั้มมากกว่า และอีกเหตุผลหนึ่งก็คือความยาวของเพลงที่ยาวกว่า 8 นาที 36 วินาทีก็ไม่สามารถที่จะอัดลงแผ่นเสียงซิงเกิล 7 นิ้ว 45rpm ได้ด้วย

แต่ถึงอย่างนั้นอัลบั้ม “Master of Puppets” ก็กลายเป็นอัลบั้มที่มียอดขายในระดับ Gold เกือบจะในทันทีที่มันถูกปล่อยออกมา (500,000 ก็อปปี้ในสหรัฐอเมริกา) และในอีกสองปีต่อมาได้อัลบั้มก็มียอดขายระดับ Platinum ด้วยยอดขายกว่าหนึ่งล้านก็อปปี้ มันก็เลยทำให้สถานการณ์เปลี่ยนไป สถานีวิทยุที่เปิดเพลงร็อกก็หันมาเปิดเพลงของ Metallica  กัน

“Master of Puppets” เป็นเพลงที่ Metallica นำมาเล่นในคอนเสิร์ตมากที่สุด ซึ่งบรรยากาศการเล่นเพลงนี้ท่ามกลางฝูงชนนั้นมันเป็นอะไรที่สาแก่ใจมาก ทั้งเดือดดุและมีความเก๋ในการที่ผู้ชมได้มีส่วนร่วมด้วยการตะโกนว่า “Master” ในท่อนที่เหมาะเจาะระหว่างกำลังมันส์ไปกับเพลงนี้ ที่ถือว่าเป็นเพลงที่ดีในการย้ำเตือนแฟน ๆ ว่าอย่าไปยุ่งเกี่ยวกับยาเสพติดแต่ในขณะเดียวกันก็ได้มอบทางออกด้วยการปลดปล่อยอะดรีนาลีนให้หลั่งออกมาอย่างไร้แรงต้านทานผ่านท่วงทำนองของเพลงนี้

ในบทเพลงนี้จะมีการแบ่งท่อนกันเล่นคือเจมส์ เฮตฟิลด์จะเล่นโซโลท่อนแรกในช่วงที่จะเป็นจังหวะที่ช้าและมีลีลาที่ไพเราะหวานหูในขณะที่ท่อนโซโล่อันหนักหน่วงและรวดเร็วในตอนสุดท้ายจะเป็นการบรรเลงของเคิร์ก แฮมเม็ตต์ ซึ่งเคิร์กจะมีการดึงสายด้านบนจนออกจากเฟรตบอร์ดของกีตาร์ (มักจะเกิดขึ้นโดยบังเอิญเมื่อผู้เล่นดันสายลงแทนที่จะดันขึ้น) เพื่อให้เกิดเสียงหวีดแหลมเหมือนเสียงไซเรน และปิดท้ายความหลอนของเพลงด้วยเสียงกีตาร์ที่เล่นย้อนหลังในขณะที่เสียงหัวเราะของสมาชิกในวงดังขึ้น ๆ

ส่วนตอนที่เล่นสด เพลงนี้จะมีการเล่นสองแบบ แบบแรกคือเล่นเพลงตามแบบปกติเหมือนในแผ่น ส่วนอีกแบบคือวงจะเล่นสองท่อนแรกเหมือนปกติ แต่เมื่อถึงท่อนบรรเลงพวกเขาจะสลับไปเล่นเพลงอื่นเช่น “Nothing Else Matters” หรือ “Sanitarium”  และเมื่อเพลงนั้นจบลง พวกเขาก็จะกลับมาต่อท่อนสุดท้ายของ “Master Of Puppets”

“Master Of Puppets” ได้รับการยกย่องว่าเป็นเพลงที่มี “ความสำคัญทางวัฒนธรรม ประวัติศาสตร์ และสุนทรียภาพ” เพียงพอสำหรับการเก็บรักษาไว้ใน National Recording Registry โดยหอสมุดรัฐสภาแห่งสหรัฐอเมริกาในปี 2016 ซึ่งเป็นครั้งแรกที่มีเก็บรักษาบทเพลงเมทัลไว้ในสถานที่แห่งนี้

ในตอนที่ Metallica ไปแสดงโชว์ที่จีนในปี 2013 พวกเขาถูกห้ามไม่ให้เล่นเพลงนี้ บางทีอาจเพราะมันเป็นเพลงที่พูดถึงการถูกบงการถูกควบคุมนั่นเอง ซึ่ง Metallica ก็ยอมทำตามแต่ด้วยความเป็นชาวเมทัลจะยอมหงอมันก็กระไรอยู่ เคิร์ก แฮมเม็ตต์ก็เลยเล่นเพลงนี้ด้วยการบรรเลงแต่ท่อนริฟฟ์อย่างเดียว

นอกจากเวอร์ชันปกติอันเร้าใจแล้ว “Master Of Puppets” ยังมีเวอร์ชันแบบซิมโฟนี้ด้วยจากการบันทึกเสียงกับวงซานฟรานซิสโกซิมโฟนีในปี 1999 และถูกบรรจุไว้ในอัลบั้ม ‘S&M’

หากอยากรู้เรื่องราวเบื้องหลังการทำงานเพลงชุด ‘Master of Puppets’ ของ Metallica สามารถรับชมได้ในสารคดีเรื่อง ‘Hypnotizing Power’

ที่มา

songfacts

kerrang

louddersound

พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส