หลังจากที่ต้นฉบับหนังสือ ‘วินนี-เดอะ-พูห์’ (Winnie-the-Pooh) ได้กลายเป็น ‘สาธารณสมบัติ’ (Public Domain) ตามเงื่อนไขกฏหมายลิขสิทธิ์ของสหรัฐอเมริกาเป็นที่เรียบร้อยแล้วในปีนี้ มีผลทำให้เรื่องราวเนื้อหา และภาพประกอบในนิยาย ‘ต้นฉบับ’ สามารถทำซ้ำ ดัดแปลง จำหน่ายจ่ายแจกได้อย่างเสรีโดยไม่ผิดกฏหมายลิขสิทธิ์

จนภายหลังมีการนำไปดัดแปลงในรูปแบบต่าง ๆ เช่นโฆษณาสุดเกรียนที่แสดงโดย ‘ไรอัน เรย์โนลด์’ (Ryan Reynolds) และภาพยนตร์ตลกสยองขวัญทุนต่ำ ‘Winnie the Pooh: Blood and Honey’ ที่ว่าด้วยพูห์และพิกเล็ตที่ออกไล่ฆ่าคนอย่างสยดสยอง (…ห๊ะ) (คลิกอ่านเรื่องราวเกี่ยวกับวินนี-เดอะ-พูห์ ที่กลายมาเป็นสาธารณสมบัติได้ที่นี่)

Mickey Mouse
มิกกีเมาส์ใน ‘Steamboat Willie’ (1928)

อีกหนึ่งคาแรกเตอร์ของดิสนีย์ ที่กำลังจะเข้าข่ายการตกเป็นสาธารณสมบัติในอนาคตด้วยเช่นกันก็คือ ‘มิกกีเมาส์’ (Mickey Mouse) ตัวการ์ตูนเจ้าหนูจอมซน ที่กลายเป็นที่รู้จักของคนทั่วทั้งโลกมาอย่างยาวนานตั้งแต่ปี 1928 และยังถือเป็นมาสคอตประจำบริษัทผู้ชุบชีวิต ‘วอลต์ ดิสนีย์’ (Walt Disney) เจ้าของสตูดิโอแอนิเมชันเล็ก ๆ ที่กำลังจะล้มละลาย กลายมาเป็นบริษัทบันเทิงชั้นนำที่ใหญ่อันดับต้น ๆ ของโลก

การ์ตูนเรื่อง ‘Steamboat Willie’ (1928) ถือเป็นการ์ตูนประกอบเสียงเรื่องแรกของวอลต์ ดิสนีย์ ที่แนะนำตัวให้คนทั้งโลกได้รู้จักกับเจ้าหนูตัวนี้ ถ้านับกันตามกฏหมายลิขสิทธิ์ของสหรัฐอเมริกา นั่นหมายความว่า การ์ตูนคุณปู่มิกกีเมาส์ขับเรือกล กำลังจะมีอายุครบ 95 ปี ในปี 2024 นี้ ซึ่งจะทำให้มิกกีเมาส์มีสถานะเป็น ‘สาธารณสมบัติ’ (Public Domain) โดยปริยาย

Mickey Mouse
‘วอลต์ ดิสนีย์’ (Walt Disney)

คำถามที่ตามมาก็คือ นอกจากจะเอาส่วนหนึ่งมาใช้เป็นโลโกของ ‘วอลต์ ดิสนีย์ พิกเจอร์ส’ (Walt Disney Pictures) ซึ่งจะทำให้มีลักษณะเป็น ‘เครื่องหมายการค้า’ แทน ‘ผลงานอันมีลิขสิทธิ์’ ดิสนีย์จะแก้เกมเพื่อรักษาผลงาน มาสคอตหลัก และผลประโยชน์จากคาแรกเตอร์อายุแตะศตวรรษตัวนี้เอาไว้ได้อย่างไร และถ้าถึงวันนั้นจริง เรา ๆ ในฐานะนักสร้างสรรค์จะหยิบเอาเจ้าหนูจอมซนตัวนี้มาใช้อย่างไรได้บ้าง

มิกกี เมาส์ ที่กำลังกลายเป็นสาธารณสมบัติ

หลังจากที่วอลต์ ดิสนีย์ได้คิดตัวการ์ตูนคาแรกเตอร์หนูตัวใหม่ในระหว่างเดินทางบนรถไฟจากนิวยอร์ก เพื่อแทนที่การสูญเสียลิขสิทธิ์คาแรกเตอร์กระต่าย ‘ออสวาลด์’ (Oswald the Lucky Rabbit) ให้กับสตูดิโอ ยูนิเวอร์แซล พิกเจอร์ส (Universal Pictures) โดยให้ ‘อับ โอเวิร์กส์’ (Ub Iwerks) เป็นผู้วาดคาแรกเตอร์ ‘มอร์ติเมอร์ เมาส์’ (Mortimer Mouse) ก่อนที่ภรรยาจะเสนอชื่อ ‘มิกกีเมาส์’ ที่ได้แรงบันดาลใจมาจาก ‘มิกกี รูนีย์’ (Mickey Rooney) นักแสดงชาวอเมริกันชื่อดังในตำนานให้กับเจ้าหนูตัวนี้ เนื่องจากชื่อมิกกี ดูเป็นมิตรมากกว่ามอร์ติเมอร์ที่ดูแข็งกร้าวกว่า

https://www.youtube.com/watch?v=kCZPzHg0h80&ab_channel=WaltDisneyAnimationStudios

มิกกีเมาส์ปรากฏตัวครั้งแรกสุดในการ์ตูนเรื่อง ‘Plane Crazy’ (1927) ซึ่งเป็นการ์ตูนเงียบที่สร้างขึ้นเป็นเรื่องแรก แต่ไม่ประสบความสำเร็จในการฉาย ทำให้วอลต์ ดิสนีย์แก้ไขข้อผิดพลาดจากการ์ตูนเรื่องแรก ไปปรับปรุงใน ‘Steamboat Willie’ และฉายครั้งแรกในนิวยอร์กเมื่อวันที่ 18 พฤศจิกายน 1928 โดยเป็นการ์ตูนที่สามารถซิงก์ภาพเข้ากับเสียงประกอบเอฟเฟกต์และเสียงดนตรีได้ตรงกันอย่างเป็นธรรมชาติได้เป็นเรื่องแรกของโลก

แม้การ์ตูน ‘Steamboat Willie’ จะไม่ใช่ผลงานแรกของดิสนีย์ แต่ภาพยนตร์การ์ตูนความยาวเพียง 7 นาทีเรื่องนี้ก็ถือเป็นผลงานแจ้งเกิดทั้งวอลต์ ดิสนีย์ และคาแรกเตอร์มิกกีเมาส์ ที่สามารถสร้างชื่อเสียงมาอย่างยาวนาน เป็นตัวการ์ตูนตัวแรกสุดที่มีดาวบนฮอลลีวูด วอล์ก ออฟ เฟม (Hollywood Walk of Fame) และกลายมาเป็นมาสคอตหลักของบริษัทวอลต์ ดิสนีย์ที่เรียกได้ว่าแยกจากกันไม่ออก

เช่นเดียวกับ ‘วินนี-เดอะ-พูห์’ เพราะแม้ในอีก 2 ปีข้างหน้า มิกกีเมาส์จะกลายไปเป็นสาธารณสมบัติ โดยที่ดิสนีย์เองก็ยังไม่ได้เปิดเผยออกมาว่าจะดำเนินแผนการอย่างไรกับคาแรกเตอร์สำคัญนี้

แต่สิ่งที่ผู้สร้างสรรค์ต้องคำนึงถึงและพิจารณาประกอบในการสร้างผลงานให้ถูกต้องตามเงื่อนไขสาธารณสมบัติ (Public domain) และไม่เข้าข่ายผิดกฏหมายลิขสิทธิ์ของสหรัฐอเมริกาก็คือ มิกกีเมาส์เวอร์ชันแรกที่ปรากฎใน ‘Steamboat Willie’ ที่ฉายในปี 1928 ซึ่งเป็นมิกกีเมาส์เวอร์ชันขาวดำ ใบหูและตาขนาดเล็ก ไม่ใส่ถุงมือสีขาว และเนื้อเรื่องที่เกี่ยวกับเจ้าหนูจอมป่วนบนเรือกลไฟเท่านั้น

ซึ่งผู้สร้างสรรค์จะสามารถใช้มิกกีเมาส์เวอร์ชันแรกในการสร้างสรรค์ผลงาน เช่น เผยแพร่ จ่ายแจกการ์ตูนเวอร์ชันต้นฉบับในวิธีการต่าง ๆ (เพื่อให้ทุกคนสามารถเข้าถึงได้อย่างอิสระ) หรือนำคลิปการ์ตูนมาตัดต่อ ดัดแปลงใหม่ รีมาสเตอร์ (Remaster) ดัดแปลงเนื้อเรื่อง สร้างในเวอร์ชันอื่น ๆ หรือนำเอาคาแรกเตอร์จากการ์ตูนมาใช้ได้ทั้งในรูปแบบดั้งเดิม และดัดแปลงขึ้นใหม่ได้โดยไม่ผิดกฏหมายลิขสิทธิ์

Mickey Mouse
‘The Pointer’ (1939) และมิกกีเมาส์เวอร์ชันล่าสุด

ส่วนมิกกีเมาส์เวอร์ชันอื่น ๆ เช่น เวอร์ชันใส่ถุงมือ ที่ปรากฏครั้งแรกใน ‘The Opry House’ (1929) การ์ตูนมิกกีเมาส์เวอร์ชัน ‘สี’ เป็นครั้งแรกใน ‘The Band Concert’ (1935) ที่ผลิตร่วมกับบริษัทเทคนิคคัลเลอร์ (Technicolor) และเวอร์ชันใบหูกลมโต ตาโต จมูกสั้น ใส่ถุงมือสีขาว ที่ปรากฏครั้งแรกในตอน ‘The Pointer’ (1939) ที่ออกแบบโดย ‘เฟรด มัวร์’ (Fred Moore) ซึ่งเป็นตัวอัปเกรดเวอร์ชันล่าสุดที่กลายเป็นบรรทัดฐานในการออกแบบคาแรกเตอร์มิกกีเมาส์มาจนถึงทุกวันนี้

รวมทั้งผลงานและเครื่องหมายการค้าที่เกี่ยวข้องกับมิกกีเมาส์ ทั้งภาพคาแรกเตอร์ โลโก สี สัญลักษณ์ที่สื่อถึงมิกกีเมาส์ (เช่น หัวที่มีหูกลม ๆ ถุงมือสีขาว กางเกงสีแดง ฯลฯ) หรือแม้แต่ประโยคพูด วลี ฯลฯ ที่เกี่ยวข้องกับมิกกีเมาส์ ล้วนแล้วแต่ยังคงอยู่ภายใต้ลิขสิทธิ์ของดิสนีย์ทั้งสิ้น

กรณีศึกษาจากภาพยนตร์ ‘วินนี-เดอะ-พูห์’

Mickey Mouse
ภาพนิ่งจากภาพยนตร์ ‘Winnie-the-Pooh: Blood and Honey’

ถ้าจะอธิบายเรื่องนี้ด้วยกรณีศึกษาจากภาพยนตร์ ‘Winnie-the-Pooh: Blood and Honey’ ที่สร้างขึ้นจากคาแรกเตอร์นิยายต้นฉบับ ‘วินนี-เดอะ-พูห์’ ที่กลายเป็นสาธารณสมบัติไปแล้วก็คือ แม้ตัวละครและเนื้อเรื่องจะได้แรงบันดาลใจจากวินนี-เดอะ-พูห์ โดยเฉพาะตัวละครหมีพูห์ พิกเล็ต (Piglet) เจ้าหมูน้อย และคริสโตเฟอร์ โรบิน (Christopher Robin) ใน ‘ป่าร้อยเอเคอร์’ (Hundred Acre Wood) มาแบบเต็ม ๆ

แต่สิ่งที่ ‘รายส์ วอเตอร์ฟิลด์’ (Rhys Waterfield) ผู้กำกับและผู้เขียนบทภาพยนตร์เรื่องนี้ได้เปิดเผยให้ฟังก็คือ ทุกครั้งเขาต้องคำนึงถึงการออกแบบคาแรกเตอร์และสร้างสรรค์เรื่องราวที่มีความเฉพาะตัว และอ้างอิงจากหนังสือนิยายสำหรับเด็กที่ประพันธ์โดย ‘เอ.เอ. มิลน์’ (A. A. Milne) และวาดภาพประกอบโดย ‘อี. เอช. เชพเพิร์ด’ (E. H. Shepard) เท่านั้น

โดยจะไม่มีการอ้างอิง และไม่ใช้คาแรกเตอร์ การออกแบบ สี หรือเรื่องราวที่ทำให้คนเข้าใจว่าเป็น ‘วินนีเดอะพูห์’ (Winnie The Pooh) เวอร์ชันดิสนีย์ หรือมีความเกี่ยวข้องกับเจ้าหมีสีเหลือง รวมทั้งในภาพยนตร์จะยังไม่มีตัวละครอื่น ๆ จากในเรื่องมาปรากฏตัวด้วย เนื่องจากยังติดเงื่อนไขด้านลิขสิทธิ์อยู่

ผู้เชี่ยวชาญด้านกฏหมายจึงได้ให้รายละเอียดกับเว็บไซต์ The Guardian ว่า หากมิกกีเมาส์กลายมาเป็นสมบัติสาธารณะจริง ๆ ในอีก 2 ปีข้างหน้า แม้จะเป็นเรื่องที่ค่อนข้างทำได้ยาก เนื่องจากการสร้างคาแรกเตอร์ รวมทั้งการสร้างแบรนดิงและการตลาดมาอย่างยาวนานเกือบร้อยปี จนทำให้มิกกีเมาส์กับดิสนีย์แยกจากกันไม่ออกไปแล้ว และการรื้อสร้างของเก่าอย่างไรให้ไม่เหมือนกับของเก่า แต่ดูรู้ว่าเป็นของเก่า ก็เป็นอะไรที่ยากมาก

สิ่งที่ผู้สร้างสรรค์พอจะทำได้ก็คือ การสร้างเรื่องราวและคาแรกเตอร์มิกกีเมาส์ในแบบฉบับของตัวเองขึ้นมา แต่ถ้าหากทำในลักษณะที่มีความใกล้เคียง หรือถูกทำให้เข้าใจและอ้างอิงถึงมิกกีเมาส์ที่ปรากฏในผลงานของดิสนีย์ ไม่ว่าจะด้วยเจตนาหรือไม่เจตนา ก็อาจมีความเสี่ยงที่ดิสนีย์อาจกล่าวหาและฟ้องได้ว่าเป็นผลงานที่ละเมิดลิขสิทธิ์

กฏหมายคุ้มครองมิกกีเมาส์

นับตั้งแต่ที่วอลต์ ดิสนีย์ได้ให้กำเนิดมิกกีเมาส์ ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ฉบับปี 1976 ทำให้มิกกีเมาส์ฉบับ ‘Steamboat Willie’ จะได้รับการคุ้มครองตามกฏหมายที่ว่าลิขสิทธิ์จะยังคงอยู่ตลอดชีวิตของผู้แต่ง และจะคงอยู่ต่อไปอีก 50 ปีหลังจากที่ผู้สร้างสรรค์เสียชีวิตลง แต่รัฐบาลสหรัฐอเมริกาก็ได้มีการแก้ไขกฏหมายฉบับนี้ เพื่อขยายความคุ้มครองเป็น 75 ปี ทำให้มิกกีเมาส์ได้รับการขยายความคุ้มครองต่อไปจนถึงปี 1984 หรือระยะเวลา 56 ปี

ต่อมาในปี 1998 รัฐบาลสหรัฐอเมริกาได้ผ่านกฏหมายที่เรียกว่า ‘1998 Copyright Term Extension Act’ ที่มีสาระสำคัญในการขยายระยะเวลาอายุลิขสิทธิ์จาก 50 เป็น 70 ปี หรือ 95 ปีหลังจากเผยแพร่ผลงานครั้งแรก กฏหมายนี้ยังมีอีกชื่อเรียกหนึ่งว่า ‘Sonny Bono Copyright Term Extension Act 1998’

จนกระทั่งในวันที่ 27 ตุลาคม 1998 กฏหมายฉบับนี้ก็ผ่านร่างออกมาในช่วงเวลาที่คาแรกเตอร์มิกกีเมาส์กำลังจะหมดอายุ ทำให้กฏหมายฉบับนี้ถูกเรียกกันเล่น ๆ ว่าเป็น ‘กฎหมายคุ้มครองมิกกีเมาส์’ (Mickey Mouse Protection Act) เป็นที่มาที่ทำให้มิกกีเมาส์และผลงานอันมีลิขสิทธิ์อื่น ๆ มีอายุการคุ้มครองลิขสิทธิ์ที่ 95 ปี

Disneyland

อย่างไรก็ดี แม้ตามกำหนดการณ์ มิกกี เมาส์ จะเข้าเงื่อนไขการเป็นสาธารณสมบัติ ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม ปี 2024 เป็นต้นไป แต่สิ่งที่ศิลปิน นักสร้างสรรค์ หรือเจ้าของธุรกิจต้องคำนึงไว้เสมอว่า คาแรกเตอร์ มิกกี เมาส์ ที่กลายเป็นสาธารณสมบัตินั้น คือคาแรกเตอร์ที่อยู่ในแอนิเมชัน ‘Steamboat Willie’ เท่านั้น ในขณะที่ มิกกี เมาส์ ในรูปแบบที่ทันสมัย รวมทั้งรูปลักษณ์ของ มิกกี เมาส์ ที่ถูกใช้เป็นมาสคอต และอัตลักษณ์ของแบรนด์ ยังได้รับการคุ้มครองตามกฏหมาย

ฉะนั้น ครีเอเตอร์ รวมทั้งธุรกิจต่าง ๆ เช่นภาพยนตร์ สวนสนุก หรือสินค้าอื่นใดก็ตาม จึงไม่สามารถนำโลโก้รูปหัวและหูหนู อันเป็นอัตลักษณ์ของ Disney ไปใช้ได้ เพราะจะถือว่าเข้าข่ายกระทำผิดกฏหมายในการนำเอารูปลักษณ์ของคาแรกเตอร์ที่มีลิขสิทธิ์ ไปใช้ในลักษณะเพื่อการหลอกลวง หรือสร้างความเข้าใจผิดให้ผู้บริโภคเข้าใจว่าผลงานหรือผลิตภัณฑ์นั้นมาจากผู้สร้างดั้งเดิม

Disney ได้ออกแถลงการณ์เกี่ยวกับผลกระทบของการที่ตัวละคร มิกกี เมาส์ กลายเป็นสาธารณสมบัติว่า “นับตั้งแต่ที่มิกกี เมาส์ ปรากฏตัวครั้งแรกในภาพยนตร์เรื่อง ‘Steamboat Willie’ ในปี 1928 ผู้คนต่างเชื่อมโยงตัวละครนี้ กับเรื่องราว ประสบการณ์ และผลิตภัณฑ์ที่มีลิขสิทธิ์ของ Disney แต่นั่นจะไม่มีการเปลี่ยนแปลงใด ๆ เมื่อลิขสิทธิ์ในภาพยนตร์ ‘Steamboat Willie’ หมดอายุลง”

“มิกกี เมาส์ เวอร์ชันใหม่ จะยังคงไม่ได้รับผลกระทบจากลิขสิทธิ์ ‘Steamboat Willie’ ที่หมดอายุ และมิกกีจะยังคงมีบทบาทนำในฐานะทูตระดับโลกของบริษัท วอลต์ ดิสนีย์ ในการเล่าเรื่องราว แนะนำสถานที่ท่องเที่ยวในสวนสนุก รวมไปถึงสินค้าของเรา”

“แน่นอนว่า เราจะปกป้องสิทธิ์ของเราในมิกกี เมาส์ เวอร์ชันทันสมัย และผลงานอื่น ๆ ที่ยังคงมีลิขสิทธิ์ต่อไป และจะทำงานเพื่อป้องกันความสับสนของผู้บริโภค ที่เกิดจากการใช้มิกกี และตัวละครที่เป็นเอกลักษณ์อื่น ๆ ของเราโดยไม่ได้รับอนุญาต”


ที่มา: DailyMail, The Guardian, Los Angeles Times, Wikipedia/Mickey Mouse, Wikipedia/Copyright Term Extension Act