วันที่ 1 มกราคมของทุกปี ถือว่าเป็นวัน ‘วันสาธารณสมบัติ’ (Public Domain Day) ซึ่งในปี 2022 นี้ มีผลงานอันมีลิขสิทธิ์เช่น ภาพยนตร์ เพลง และหนังสืออันมีลิขสิทธิ์ใด ๆ ที่เผยแพร่เมื่อปี 1926 จะหมดอายุลิขสิทธิ์ลงในปีนี้ ซึ่งตามกฏหมายลิขสิทธิ์ของสหรัฐอเมริกาได้กำหนดไว้ว่า ผลงานอันมีลิขสิทธิ์ที่เผยแพร่มาเป็นเวลา 95 ปี จะกลายเป็นสาธารณสมบัติ (Public Domain) โดยทันที

Winnie-the-Pooh
ภาพต้นฉบับวินนี-เดอะ-พูห์ และพิกเล็ต
วาดโดย ‘อี. เอช. เชพเพิร์ด’ (E. H. Shepard)

โดยในปีนี้มีผลงานลิขสิทธิ์ที่มีคุณค่าทางวัฒนธรรมหลายชิ้น ที่กลายมาเป็นสาธารณสมบัติ นอกจากภาพยนตร์เก่าในยุค 1920 เพลงบรอดเวย์และเพลงแจ๊สมาตรฐาน (Standard Jazz) ก็ยังมีรายชื่อหนังสือนิยายที่เป็นต้นฉบับเป็นแอนิเมชันโด่งดังของดิสนีย์ (Disney) ยกตัวอย่างเช่น หนังสือ ‘Bambi, a Life in the Woods’ นิยายต้นฉบับเล่มแรกของ ‘กวางน้อยแบมบี’ ที่ประพันธ์โดย ‘เฟลิกซ์ ซัลเทน’ (Felix Salten) รวมทั้งนิยายต้นฉบับการ์ตูนคลาสสิกที่ว่าด้วยเรื่องของเจ้าหมีพูห์และผองเพื่อนแห่งป่าร้อยเอเคอร์ที่รู้จักกันไปทั่วโลกอย่าง ‘วินนี-เดอะ-พูห์’ (Winnie-the-Pooh) ก็ได้กลายมาเป็นสาธารณสมบัติในปีนี้ด้วยเช่นกัน

Winnie-the-Pooh
ภาพประกอบหนังสือวินนี-เดอะ-พูห์
วาดโดย ‘อี. เอช. เชพเพิร์ด’ (E. H. Shepard)

‘วินนี-เดอะ-พูห์’ (Winnie-the-Pooh) เป็นหนังสือนิยายสำหรับเด็กที่ประพันธ์โดยนักเขียนชาวอังกฤษ ‘อลัน อเล็กซานเดอร์ มิลน์’ หรือ ‘เอ.เอ. มิลน์’ (A. A. Milne) และวาดภาพประกอบโดย ‘อี. เอช. เชพเพิร์ด’ (E. H. Shepard) ตีพิมพ์ครั้งแรกเมื่อวันที่ 14 ตุลาคม ปี 1926 เป็นหนังสือรวมชุดเรื่องสั้นที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับเรื่องราวของสัตว์ที่อาศัยอยู่ใน ‘ป่าร้อยเอเคอร์’ (Hundred Acre Wood) ได้แก่เจ้าหมีวินนี-เดอะ-พูห์ และผองเพื่อน ทั้งคริสโตเฟอร์ โรบิน (Christopher Robin) พิกเล็ต (Piglet), อียอร์ (Eeyore), อาวล์ (Owl), แรบบิต (Rabbit) Kanga (แคงกา) และ Roo (รู)

Winnie-the-Pooh
ภาพประกอบหนังสือวินนี-เดอะ-พูห์ และผองเพื่อนในป่าร้อยเอเคอร์
วาดโดย ‘อี. เอช. เชพเพิร์ด’ (E. H. Shepard)

โดยคาแรกเตอร์ ‘วินนี เดอะ พูห์’ ผู้เขียนได้แรงบันดาลใจจากตุ๊กตาหมีเท็ดดีและตัวของ ‘คริสโตเฟอร์ โรบิน มิลน์’ (Christopher Robin Milne) ลูกชายของ เอ.เอ. มิลน์ โดยเขาได้ชื่อ ‘วินนี เดอะ พูห์’ มาจาก จาก ‘วินนี’ (Winnie) หมีดำที่ ‘ร้อยโทแฮรรี โคลบอร์น’ (Harry Colebourn) นายทหารชาวแคนาดาซื้อต่อมาจากนายพราน ที่ตั้งชื่อตามเมืองวินนีเพ็ก (Winnipeg) ในประเทศแคนาดาในปี 1914 ซึ่งตัวนิยายต้นฉบับและภาคต่อได้รับการตีพิมพ์ซ้ำและแปลในหลาย ๆ ภาษา (รวมทั้งภาษาไทย) มาอย่างยาวนานตลอด 95 ปี

Winnie-the-Pooh
ปกหนังสือวินนี-เดอะ-พูห์ ฉบับพิมพ์ครั้งแรก ปี 1926
โดย ‘เอ.เอ. มิลน์’ (A. A. Milne)
วาดโดย ‘อี. เอช. เชพเพิร์ด’ (E. H. Shepard)

จนกระทั่งในปี 1977 ทางดิสนีย์ได้หยิบเอาบทสุดท้ายของนิยาย ‘วินนี-เดอะ-พูห์’ เล่มที่ 2 (The House at Pooh Corner หรือ ‘บ้านมุมพูห์’) มาสร้างเป็นภาพยนตร์แอนิเมชันเป็นครั้งแรกในชื่อ ‘The Many Adventures of Winnie the Pooh’ (วินนี เดอะ พูห์ พาเหล่าคู่หูตะลุยป่า) และนำเอาขีดระหว่างชื่อออกจาก ‘วินนี-เดอะ-พูห์’ กลายเป็น ‘วินนี เดอะ พูห์’

Winnie-the-Pooh
‘The Many Adventures of Winnie the Pooh’
ภาพยนตร์แอนิเมชันของ Disney ออกฉายปี 1977

จนกระทั่งกลายมาเป็นหนึ่งในคาแร็กเตอร์ที่โด่งดังที่สุดของดิสนีย์ มีการสร้างภาพยนตร์แอนิเมชัน ภาพยนตร์สั้น แอนิเมชันทีวีซีรีส์ วิดีโอเกม และภาพยนตร์ไลฟ์แอ็กชัน ‘Christopher Robin’ ในปี 2018 ที่นำแสดงโดย ‘อีวาน แมกเกรเกอร์’ (Ewan McGregor) รวมทั้งการผลิตสินค้าจากตัวการ์ตูน ทั้งตุ๊กตา ของเล่น หนังสือ และอื่น ๆ อีกมากมาย

Winnie-the-Pooh
ตุ๊กตาและสินค้าจากตัวการ์ตูน ‘วินนี เดอะ พูห์

โดยการที่ต้นฉบับ ‘วินนี-เดอะ-พูห์’ ได้กลายมาเป็นสาธารณสมบัติ (Public Domain) แล้ว หมายความว่าตัวงานที่เป็นหนังสือนิยายและภาพประกอบ จะไม่ถูกจำกัดการใช้ตามลิขสิทธิ์กฏหมายอีกต่อไป สามารถเปิดให้ใช้ได้อย่างเสรีทั้งในเชิงพาณิชย์ สามารถคัดลอก จำหน่ายจ่ายแจกในรูปแบบต่าง ๆ และนำไปทำซ้ำ ทำใหม่ได้โดยไม่ต้องขออนุญาต และไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายในการใช้ลิขสิทธิ์ เพื่อให้สามารถเข้าถึงสิ่งหรือของอันมีความสำคัญทางวัฒนธรรมได้อย่างทั่วถึงและเสรี

ซึ่งก่อนหน้านี้มีนิยายดังระดับโลกที่กลายมาเป็นสาธารณสมบัติแล้ว ได้แก่ ‘เชอร์ล็อก โฮล์ม’ (Sherlock Holmes) นิยายสืบสวนสอบสวนของ ‘เซอร์ อาร์เธอร์ โคแนน ดอล์ย’ (Sir Arthur Conan Doyle) ในปี 2016 และ ‘เดอะ เกรต แกสต์บี’ (The Great Gatsby) นวนิยายคลาสสิกของ ‘เอฟ สก็อต ฟิตเจอรัล’ (F. Scott Fitzgerald) เมื่อปี 2021 ที่ผ่านมา

Winnie-the-Pooh
คาแร็กเตอร์ ‘วินนี เดอะ พูห์’ ของ Disney

แต่แม้ว่าจะกลายมาเป็นสาธารณสมบัติแล้ว แต่สำหรับผู้สร้างสรรค์ ต้องทำความเข้าใจแยกกันด้วยว่า ตัวคาแรกเตอร์ ภาพประกอบ และเนื้อหาในนิยายที่เป็นสาธารณสมบัติ คือ ‘วินนี-เดอะ-พูห์’ เฉพาะที่มาจากต้นฉบับนิยายเท่านั้น ส่วน ‘วินนี เดอะ พูห์’ (Winnie the Pooh) เวอร์ชันการ์ตูน Disney (เจ้าหมีพูห์สีเหลืองเสื้อแดงไม่ใส่กางเกง) รวมทั้งลายเส้นและคาแรกเตอร์อื่น ๆ ยังเป็นลิขสิทธิ์ของ Disney อยู่ จึงถือว่ายังไม่เป็นสาธารณสมบัติ รวมทั้งคาแรกเตอร์เจ้าเสือร่าเริง ‘ทิกเกอร์’ (Tigger) ก็ยังไม่ถือเป็นสาธารณสมบัติ เนื่องจากทิกเกอร์ปรากฏครั้งแรกในนิยาย ‘The House at Pooh Corner’ (บ้านมุมพูห์) นิยายวินนี-เดอะ-พูห์เล่มที่ 2 ที่ตีพิมพ์ครั้งแรกในปี 1928 หรือ 93 ปีที่แล้ว ซึ่งถือเป็นตัวละครเดียวในนิยายต้นฉบับที่ยังไม่เข้าข่ายตามกฏหมายสาธารณสมบัติ

Winnie-the-Pooh
คาแร็กเตอร์ ‘ทิกเกอร์’ (Tigger)
Winnie-the-Pooh
‘ไรอัน เรย์โนลด์’ (Ryan Reynolds)

และเพื่อเฉลิมฉลองการที่ต้นฉบับนิยาย ‘วินนี-เดอะ-พูห์’ กลายมาเป็นสาธารณสมบัติในปีนี้ บริษัท บริษัท ‘มินต์ โมบายล์’ (Mint Mobile) บริษัทเครือข่ายโทรศัพท์ของสหรัฐอเมริกา ได้ปล่อยคลิปโฆษณา ‘วินนี-เดอะ-สกรูว์’ (Winnie-the-Screwed) ดัดแปลงเนื้อหาและภาพประกอบจาก ‘วินนี-เดอะ-พูห์’ และให้เสียงเล่าประกอบโดยดาราจอมเกรียน ‘ไรอัน เรย์โนลด์’ (Ryan Reynolds) โดยมีเนื้อหาว่าด้วยเรื่องเกรียน ๆ ของเจ้าหมีพูห์ที่กำลังกลุ้มใจกับบิลค่าโทรศัพท์ที่แพงจนต้องเอาหัวเขกโต๊ะอย่างแรง สภาพพพพ!


อ้างอิง | อ้างอิง | อ้างอิง | อ้างอิง | อ้างอิง | อ้างอิง | อ้างอิง

พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส