ว่ากันว่าภาพยนตร์ที่ดัดแปลงมาจากเหตุการณ์จริง หรือที่คนมักจะชอบขึ้นบนเครดิตเท่ ๆ ว่า “based on true event” เป็นหนึ่งในประเภทของภาพยนตร์ที่มักจะ ‘ตก’ ความสนใจของผู้ชมได้ง่ายไม่แพ้กับหนังซูเปอร์ฮีโรในท้องตลาดตอนนี้ และหากจะให้จรดปากกาเขียนชื่อผู้กำกับที่ ‘ทำหนังจากเรื่องจริง’ ออกมาได้ดีที่สุดคนหนึ่ง ชื่อของ รอน ฮาวเวิร์ด (Ron Howard) น่าจะแผ่หราให้เห็นเป็นอันดับต้น ๆ ของแผ่นกระดาษใบนั้นแน่นอน 

ฮาวเวิร์ดถือเป็นผู้กำกับที่เก่งกาจในเรื่องของการเอา ‘เรื่องจริง’ มาสร้างจากเป็นสื่อความบันเทิงให้แก่ผู้ชมอยู่แล้ว ผลงานในอดีตของเขาอย่าง ‘Apollo 13’, ‘Frost/Nixon’, หรือ ‘A Beautiful Mind’ ก็ล้วนแต่เป็นภาพยนตร์ระดับขึ้นหิ้งที่การันตีฝีม้ายลายมือระดับเกจิของเขาในวงการนี้ได้ไม่น้อย ล่าสุดฮาวเวิร์ดเพิ่งจะมีผลงานใหม่ล่าสุดอย่าง ‘Thirteen Lives’ ภาพยนตร์ที่บอกเล่าเรื่องราวภารกิจถ้ำหลวง กับการกู้ชีพ 13 ชีวิตทีมหมูอะแคเดมี ในรูปแบบภาพยนตร์สตรีมมิงบน Prime Video

รอน ฮาวเวิร์ด (ขวา)

งานนี้ beartai BUZZ ได้มีโอกาสนั่งพูดคุยแบบตัวต่อต่อกับฮาวเวิร์ด และ เรย์มอนด์ พัฒนวีรางกูล โปรดิวเซอร์ไทยมากความสามารถ ผู้รับหน้าที่เป็นโปรดิวเซอร์ในเรื่องนี้ พวกเขาจะมาบอกเล่าเกี่ยวกับเรื่องราวหลังสเลตของภาพยนตร์ ‘Thirteen Lives’ ไม่ว่าจะเป็นที่มาของโปรเจกต์ สาเหตุที่ต้องยกกองไปถ่ายทำที่ออสเตรเลียแทนประเทศไทย รวมถึงเบื้องหลังการเนรมิตถ้ำหลวง-ขุนน้ำนางนอนขึ้นมาใหม่ และการทำงานร่วมกับนักแสดงไทยที่ฮาวเวิร์ดยอมรับว่า เป็นอะไรที่เหนือความคาดหมายสำหรับเขามาก ๆ

ทำไมถึงตัดสินใจทำหนังเรื่องนี้

รอน: ผมก็เหมือนกับคนทั้งโลก ผมหลงใหลในเรื่องราวนี้ ย้อนกลับไปเมื่อประมาณ 2-3 ปีก่อน ตอนที่ผมได้อ่านบทของหนังเรื่องนี้ครั้งแรก ผมได้มองเห็นถึงมิติของภารกิจกู้ภัยครั้งนี้ มันมีเรื่องเซอร์ไพรส์มากมายในบทหนังฉบับนั้น แล้วพอผมเริ่มตรวจสอบข้อเท็จจริงต่าง ๆ ผมก็ได้ตระหนักว่าเรื่องเซอร์ไพรส์เหล่านั้นล้วนแต่เป็นเรื่องจริง แถมยังมีเรื่องทำนองนี้อีกมากมายซ่อนอยู่ด้วย ผมรู้สึกประทับใจและได้รับแรงบันดาลใจจากเรื่องจริงที่เกิดขึ้นเหล่านั้น ที่ผมประทับใจมาก ๆ คือจิตวิญญาณของคนไทย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องความเป็นผู้นำ การตัดสินใจที่ยากลำบากในการจะช่วยเด็กเหล่านั้นออกมาได้ รวมถึงการเชิญผู้เชี่ยวชาญที่เป็นคนนอกเข้ามาช่วยในภารกิจนี้ นี่คือตัวอย่างที่ผมอยากจะแสดงให้คนทั่วโลกได้เห็นและทำตาม ผมคิดว่าเรื่องนี้น่าจะเป็นภาพยนตร์ที่ดีมาก ๆ เต็มเปี่ยมไปด้วยความน่าตื่นเต้นและอารมณ์ สุดท้ายผมว่าหนังเรื่องนี้จะทำให้คนดูจะได้จดจ่อไปกับมัน และสร้างแรงบันดาลใจให้พวกเขาแน่นอน

เรย์มอนด์ พัฒนวีรางกูล

เรย์มอนด์: ตอนปี 2018 ตอนนั้นผมยังอยู่ที่เมืองไทย ผมรับรู้ว่าเรื่องนี้มันเป็นเรื่องใหญ่จริง ๆ แล้วคนไทยทุกคนกำลังมองตามทีวี ตามทุกอย่าง แต่ว่าคือสิ่งที่ผมงงต่อมาก็คือ คนทั้งโลกเขาสนใจเรื่องนี้จริง ๆ แล้วเด็ก ๆ พวกนี้ทำไมถึงมีคนที่เป็นห่วงขนาดนี้ แต่ผมก็รู้สึกว่าตอนสุดท้ายมันเป็นเรื่องที่ทุกคนก็อยากจะช่วยเหลือ แล้วก็ในภาพยนตร์นี้มันก็เป็นอย่างนี้ คือความที่จะ มันเป็นสิ่งที่มันมหัศจรรย์มากอะครับ ก็คือมันไม่ใช่ทุกครั้งที่จะมีทั้งโลกจะมาช่วยเหลือเด็ก ๆ เหล่านี้ได้ คือก็เนี่ยแหละครับ มันก็เป็นสิ่งที่ผมก็รู้สึกว่ามันเป็นเรื่องที่ยิ่งใหญ่ แต่ว่ามันก็เป็นมหัศจรรย์ของมนุษย์ที่พวกเราจะทำอะไรได้ ตอนที่พวกเราทุกคนมาร่วมมือกัน ไม่ได้คิดว่าพวกเราจะต่างกันยังไง อะไรพวกนี้ แล้วก็เหมือนว่าความเป็นอาสาสมัครมันเป็นสิ่งที่มันน่าจะเป็นสิ่งที่พวกเราจะต้องภูมิใจในคนไทยแล้วก็ทุกคนที่ได้อยู่ในโลกนี้อะครับ ที่กำลังตามเรื่องนี้อยู่

ตอนทีมฟุตบอลหมูป่าติดถ้ำ จำได้ไหมว่าตัวเองทำอะไรอยู่

รอน: ผมจำได้ว่าตัวเองกำลังถ่ายหนังอยู่ ผมก็ติดตามข่าวไปพร้อม ๆ กับยุ่งกับการถ่ายหนังอยู่ด้วย ตอนนั้น เชอร์ริล ภรรยาของผมติดตามข่าวในทีวีอยู่ตลอดเวลา เวลาที่ผมอ่านหัวข้อข่าวเธอก็จะให้ข้อมูลกับผมเรื่อย ๆ ว่าเรื่องราวเป็นแบบนั้นแบบนี้ และพอผมได้อ่านเรื่องราวทั้งหมด ก็อย่างที่ผมเล่าก่อนหน้านี้ ผมรู้สึกทึ่งและเซอร์ไพรส์กับสิ่งที่เกิดขึ้น เรื่องนี้มันคือละครชีวิตชั้นเยี่ยมของคนทั้งโลกเลย มันคือเรื่องจริงที่เกิดขึ้น ผมอยากจะถ่ายทอดมันด้วยความซื่อตรงที่สุด มันไม่ใช่หนังที่ทำมาให้สำหรับผู้คนของผม หรือแค่คนอเมริกัน มันเป็นหนังที่จะฉายให้คนกว่า 200 ประเทศได้ดู ซึ่งนั่นทำให้ผมตื่นเต้นกับมันมาก แม้เรื่องนี้จะเกี่ยวกับประเทศไทยทำสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ให้สำเร็จ แต่ในมุมหนึ่งมันคือเรื่องราวของคนทั้งโลกด้วย

เรย์มอนด์: ตอนแรกที่รอน เขาคุยกับผม ตอนนั้นผมเป็นแค่ที่ปรึกษา คือสิ่งที่ผมประทับใจมากก็คือเขาไม่เคยถามว่าเรื่องนี้จะมีภาษาไทยเยอะขนาดไหน คือสิ่งที่เขาต้องการคือทำอย่างไรก็ได้ให้มันสมจริง ถ้าใครที่ได้ชมหนังเรื่องนี้แล้วคุณก็จะเห็นว่า หนังฮอลลีวูดเรื่องนี้มันมีประมาณ 30-40 เปอร์เซ็นต์ที่เป็นภาษาไทยปนไปหมด แล้วก็เป็นภาษาไทยภาคเหนือด้วยซ้ำ ซึ่งเป็นสิ่งที่ผมประทับใจมาก เพราะว่าเขาอยากจะให้มันเป็นสิ่งที่สมจริงมากที่สุด

 ทำไมถึงเลือกถ่ายทำที่ออสเตรเลีย ไม่ใช่ ‘ไทย’

รอน: อย่างแรกเลยตอนนี้ออสเตรเลียได้กลายมาเป็นศูนย์กลางของกองถ่ายหนังชั้นนำของโลก ที่นั่นมีสาธารณูปโภคที่ดี ผู้คนมีฝืมือ ทีมงานเยอะ อุปกรณ์ก็พร้อม และที่สำคัญรัฐบาลออสเตรเลียมีนโยบายการลดหย่อนภาษี ซึ่งสิ่งนี้มีความหมายกับบริษัททำหนังอย่างมาก เพราะจะช่วยแบ่งเบาภาระในเรื่องของการลงทุนสร้างหนังสักเรื่องได้ อันที่จริงเราตั้งใจจะถ่ายทำฉากต่าง ๆ ในประเทศไทยให้มากที่สุดเท่าที่เราจะทำได้ หลังจากที่ถ่ายทำหลักที่ออสเตรเลียเสร็จ เราก็ใช้เวลาประมาณ 2 สัปดาห์ สำหรับถ่ายทำฉากต่าง ๆ เพิ่มเติมที่ประเทศไทย แต่ด้วยสถานการณ์โควิด-19 ทำให้เราไม่สามารถถ่ายทำฉากใหญ่ ๆ ที่ประเทศไทยได้ 

เรื่องนี้ทำคุณผิดหวังไม่น้อยเลยใช่ไหม?

รอน: เรื่องนี้ทำผมผิดหวังมาก ๆ เพราะสาเหตุที่ทำให้ผมตอบรับกำกับหนังเรื่องนี้ ก็เพราะผมอยากจะใช้เวลาในประเทศไทยเยอะ ๆ ผมได้ยินเรื่องดี ๆ เกี่ยวกับทีมงานไทยมาตลอด ครั้งหนึ่ง สไปก์ ลี (Spike Lee) เพื่อนของผมที่เคยมาถ่ายหนังที่ไทย เคยพูดว่า “รอน คุณจะต้องชอบทำงานกับทีมงานไทย คนไทย พวกเขาน่าทึ่งมาก ๆ” และผมสามารถพูดได้เลยว่า ทีมนักแสดงไทย ทีมงานเบื้องหลังที่เป็นคนไทยอย่าง สยมภู มุกดีพร้อม รวมถึงคนอื่น ๆ ที่ทำงานกันอย่างหนัก แสดงให้ผมเห็นถึงจริยธรรมในการทำงาน ทำให้ผมเข้าใจในเรื่องของความเชื่อของคนไทย ผมตั้งตารอมาก ๆ ว่าวันหนึ่งจะได้ไปถ่ายหนังที่ไทย ผมเฝ้ารอโอกาสนั้นมาก ๆ เลยแหละ แต่น่าเสียดายที่ผมไม่ได้ไปที่นั่นเลย ผมอยากทำให้หนังเรื่องนี้มีความเหมือนของจริงและถูกต้องที่สุด ทั้งในแง่ของวัฒนธรรมหรือภาษา ผมก็อยากจะใช้เวลาที่ประเทศไทยมาก ๆ ผมไม่อยากอับอายกับงานของเราหรอก ผมอยากภูมิใจในงานของผม 

เบื้องหลังการเนรมิตถ้ำและซีนใต้น้ำที่สมจริงมาก ๆ

รอน: ถ้ำที่คุณเห็นในหนังเราสร้างขึ้นมาใหม่ทั้งหมด เราต้องใช้ระยะเวลาในการถ่ายทำหลายต่อหลายสัปดาห์ ไม่ใช่แค่ 2-3 วัน และที่สำคัญเราไม่สามารถเข้าไปถ่ายในถ้ำจริงได้ เพราะมันอันตรายเกินไปไม่ว่าจะเป็นถ้ำไหนบนโลกก็ตาม ดังนั้นเราจึงสร้างถ้ำขึ้นมา โดยยึดจากแผนผังที่เรามี และผมมักจะถามนักประดาน้ำเกี่ยวกับรายละเอียดในถ้ำ เช่น จุดไหนอันตรายที่สุด ส่วนไหนของถ้ำที่พวกเขาหรือเด็ก ๆ น่าจะมีปัญหามากที่สุด หลังจากนั้นเราก็สร้างถ้ำขึ้นมาจากข้อมูลนั้น

แม้ว่าถ้ำจะถูกสร้างขึ้นมาใหม่ แต่มันก็สร้างปัญหาให้กับทั้งนักประดาน้ำจริง ๆ อันที่จริงเราจ้างนักแสดงแทนไว้ด้วย แต่พวกเขาได้แต่ยืนรออยู่ข้าง ๆ เพราะนักแสดงหลักของเราทำได้ดีมาก ๆ พวกเขาแสดงฉากดำน้ำกันเองเลยตั้งแต่เข้าฉากวันแรก ส่วนเด็ก ๆ เราต้องใช้นักแสดงแทนเพราะพวกเขาเด็กเกินไปที่จะเข้าฉากใต้น้ำแบบนั้น

นักแสดงของเราแสดงให้เราเห็นถึงความเป็นมืออาชีพและความมุ่งมั่นของพวกเขา พวกเขาเคารพต่อหนังเรื่องนี้อย่างแท้จริง ทุกคนที่มีส่วนร่วมกับหนังเรื่องนี้ ไม่เคยมีใครบ่นออกมาเลย เพราะพวกเขาต้องการที่จะเป็นส่วนหนึ่งของการเล่าเรื่องนี้ออกไปให้ถึงผู้ชม มันเป็นอะไรที่น่าจดจำมาก ๆ

ทำไม วิกโก มอร์เทนเซน และ โคลิน ฟาร์เรล ถึงเพอร์เฟกต์สำหรับหนังเรื่องนี้

รอน: วิกโก มอร์เทนเซน (Viggo Mortensen) มีความคล้ายกับตัวจริงของ ริก สแตนตัน (Richard Stanton) โดยเฉพาะตอนที่เขาโกนหัว ตัวก็ไซซ์เดียวกัน อายุก็เท่ากัน รูปร่างของวิกโกมีความเป็นนักกีฬาทีเดียว ทั้งสองคนมีอะไรที่คล้าย ๆ กัน เช่น ดูเป็นพวกไม่ปกตินิดหน่อย ประหลาด ๆ แต่เป็นคนที่ฉลาดมาก 

ส่วน โคลิน ฟาร์เรล (Colin Farrell) เหมือนตัวจริงของ จอห์น โวลันเธน (John Volanthen) มาก โคลินในหนังเรื่องนี้เขาแสดงให้เราเห็นถึงภาพของผู้ชายแมน ๆ คนหนึ่ง ที่มีความแปลกนิด ๆ เขากลายเป็นพ่อที่จริงจังและมีความติสต์มาก ๆ ซึ่ง จอห์น โวลันเธน ก็เป็นผู้ชายแบบนั้น 

สิ่งที่ผมอยากจะพูดเพิ่มก็คือ จอห์น โวลันเธน เป็นนักวิ่งมาราธอนตัวยงเลย เขาวิ่งทีเป็นร้อย ๆ ไมล์ และในระหว่างถ่ายทำโคลินตัดสินใจลองไปฝึกวิ่งมาราธอนดู เพื่อจะได้เข้าใจจอห์นมากขึ้น คือโคลินไม่เคยเป็นนักวิ่งมาก่อนเลยนะ แต่พอถ่ายหนังเรื่องนี้เสร็จ เขาได้กลายมาเป็นนักวิ่งมาราธอนจริง ๆ

มีอยู่วันหนึ่งเขาเพิ่งกลับมาจากวิ่งมาราธอน แล้วต้องมาเข้าฉากดำน้ำ ตอนนั้นผมทำเป็นไม่สงสารเขาเลย ผมบอกเขาว่านายต้องดำน้ำนะ นายต้องจำบทให้ได้ด้วย ที่ผมทำแบบนั้นเพราะผมต้องรู้ว่า เขาจะแข็งแกร่งพอที่จะวิ่งมาราธอนแล้วกลับมาทำงานแบบเต็มวันได้หรือไม่?

Beartai Buzz รีวิว Thirteen Lives

ทุกวันนี้มีแต่คนทำหนังเกี่ยวกับ ‘ถ้ำหลวง’ เต็มไปหมด ในฐานะผู้กำกับและโปรดิวเซอร์ คุณคิดว่าอะไรที่ทำให้หนังเรื่องนี้แตกต่างออกไป

เรย์มอนด์: ผมว่าสิ่งหนึ่งที่ต่างคือพวกเราพยายามจะใช้ภาษาท้องถิ่น คือมันไม่ใช่แค่ภาษาเหนือธรรมดา แต่ว่าเป็นภาษาที่มาจากเชียงราย แล้วก็ตอนที่พวกเราแคสต์นักแสดง พวกเราก็อยากจะหานักแสดงที่มาจากเชียงรายจริง ๆ อย่าง พลอย ภัทรากร เขาก็เป็นคนเหนือ แล้วอีกหลาย ๆ รวมถึงเด็ก ๆ บางคนเขาก็มาจากเชียงรายด้วย คือทุกคนพูดภาษาเชียงรายได้ อย่างผมเองจริง ๆ พูดภาษาเหนือไม่ได้เลย แต่มันก็เป็นความท้าทายที่ยิ่งใหญ่ เพราะว่าจริง ๆ แล้วในภาพยนตร์ไทยมันน้อยมากที่จะมีภาพยนตร์ที่จะใช้ภาษาเหนืออย่างนี้ ผมรู้สึกภูมิใจที่พวกเราตั้งใจอยากจะทำให้มันสมจริงขนาดนี้ ด้วยการใช้ภาษาเนื้อในภาพยนตร์เรื่องนี้

รอน: ผมว่าเรื่องนี้มีความแตกต่างนะ เพราะเรามีนักแสดงชั้นยอดที่เป็นทั้งต่างชาติ และคนไทยมารับบทในหนังเรื่องนี้ พวกเขาเป็นศิลปินที่มีความสามารถสูงในการพยายามบอกเล่าเรื่องราวนี้ นอกจากนี้เรายังได้รับโอกาสในการสร้างฉากต่าง ๆ โดยเฉพาะฉากแอ็กชันใต้น้ำ ที่มันมีความสมจริงมาก ๆ เพราะเราพยายามเข้าใจสิ่งที่นักประดาน้ำต้องเผชิญจริง ๆ ผมรู้สึกว่าหนังเรื่องนี้แตกต่างออกไปจากหนังสารคดีเรื่องอื่น ๆ ที่เคยถูกสร้างขึ้นมา เราได้นักแสดงชั้นยอดมาถ่ายทอดเรื่องราวผ่านห้วงอามณ์ของความเป็นมนุษย์ให้คนทั้งโลกได้สัมผัส

สิ่งหนึ่งที่ผมอยากจะเสริมก็คือ ในความคิดของผมเรื่องราวในหนังเรื่องนี้มีความสำคัญมาก มันทั้งน่าทึ่งและเต็มไปด้วยรายละเอียดมากจริง ๆ ถ้าดูหนังเรื่องนี้จะเห็นได้ว่า มีผู้คนจำนวนมากที่เสียสละและแสดงความกล้าหาญออกมา ผมคิดว่าสารคดีทุกเรื่องที่คุณเห็น ทุกสคริปต์ที่คุณเห็น ทุกหนังสือที่คุณอ่าน ผมคิดว่ามันจริงทั้งนั้น แต่เรื่องราวที่คุณจะได้เห็นใน ‘Thirteen Lives’ มันคือความหลงใหลในเรื่องนี้ ที่ผมอยากจะเล่ามันออกมาผ่านเลนส์ของผม ดังนั้นผมจึงอยากจะนำเสนอเรื่องราวนี้แก่ผู้ชมเพราะมันเป็นสิ่งที่คุ้มค่า 

พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส