ในวันศุกร์ที่ 30 กันยายน 2022 ผู้ว่าการรัฐแคลิฟอร์เนีย แกวิน นิวซัม (Gavin Newsom) ได้ลงนามในร่างกฎหมาย ‘จำกัดการใช้เนื้อเพลงแรปเป็นหลักฐานในศาล’ เพื่อปกป้องเสรีภาพการแสดงออกของศิลปินและแรปเปอร์ ทำให้รัฐแคลิฟอร์เนียเป็นรัฐแรกในสหรัฐอเมริกาที่มีกฎหมายดังกล่าว

ร่างกฎหมายมีชื่อว่า Assembly Bill 2799 หรือที่เรียกว่า Decriminalizing Artistic Expression Act ซึ่งเป็นกฎหมายป้องกันไม่ให้อัยการ ทนายความ และคนอื่น ๆ ใช้เนื้อเพลงแรปเป็นหลักฐานในการดำเนินคดีอาญาได้ยากขึ้น และยังครอบคลุมถึงการใช้ ศิลปะการแสดง ทัศนศิลป์ กวีนิพนธ์ วรรณกรรม ภาพยนตร์ และสื่ออื่น ๆ อีกด้วย

โดยกฎหมายนี้ได้รับการผลักดันมาจากคดีฟ้องร้องแรปเปอร์ ยัง ทัก (Young Thug) กันน่า (Gunna) และศิลปินคนอื่น ๆ ในค่าย ‘YSL’ ในคดี RICO ซึ่งเป็นกฎหมายที่ควบคุมองค์กรอาชญากรรม ในที่นี่คือค่าย ‘YSL’ หนึ่งในหลักฐานที่อัยการใช้ฟ้องร้องคือ เนื้อเพลงแรปของทักนั้น มีข้อความที่สื่อถึง การข่มขู่ค่ายคู่แข่งอย่างค่าย ‘YFN’ อย่างเปิดเผย รวมถึงคดีของแรปเปอร์คนอื่น ๆ ที่โดนอัยการฟ้องจากเนื้อเพลงแรปของพวกเขา

หลังจากเกิดคดีดังกล่าว ก็เกิดการถกเถียงกันว่า การนำเพลงแรปมาเป็นหลักฐานในการฟ้องร้องนั้นสมควรหรือไม่ เพราะเนื้อเพลงเหล่านี้เป็นการแสดงออกอย่างสร้างสรรค์ของศิลปิน ไม่ใช่การเล่าถึงข้อเท็จจริงและสถานการณ์ตามตัวอักษร โดยมีแรปเปอร์หลายคนออกมาสนับสนุนการห้ามใช้เพลงแรปเป็นหลักฐานทางอาญา

“ศิลปินทุกท่าน สามารถสร้างสรรค์ผลงานได้โดยไม่ต้องกลัวว่าจะถูกดำเนินคดีอย่างไม่เป็นธรรมและมีอคติ เพราะอุตสาหกรรมบันเทิงของแคลิฟอร์เนียนั้นมีอิทธิพลไปทั่วโลก จึงเป็นการดีที่รัฐของเรากำลังมีบทบาทเพื่อปกป้องการแสดงออกที่สร้างสรรค์และรับรองว่าศิลปินจะไม่ถูกตีตราเป็นอาชญากรภายใต้นโยบายที่มีอคติ” ผู้ว่าการรัฐนิวซัมกล่าว

ข้อมูลจากสำนักข่าว BBC รายงานว่า ในช่วง 20 ปีที่ผ่านมาเนื้อเพลงฮิปฮอป ถูกใช้เป็นหลักฐานในคดีอาญามากกว่า 500 คดีในสหรัฐอเมริกา

ที่มา: PEOPLE , CNN1 , CNN2

พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส