เป็นเวลาเกือบ 30 ปีแล้วที่อัลบั้มเปิดตัวของวงบริตป๊อประดับตำนาน ‘Oasis’ ได้ออกวางจำหน่าย เมื่อวันที่ 29 สิงหาคม 1994 Oasis ได้สร้างประวัติศาสตร์หน้าใหม่ของวงการร็อกแอนด์โรลด้วยการปล่อยอัลบั้มเปิดตัวของพวกเขา ‘Definitely Maybe’ ที่ได้เปลี่ยนโฉมหน้าวงการดนตรีของอังกฤษด้วยสุ้มเสียงอันสดใหม่และสไตล์อันเป็นเอกลักษณ์ อัลบั้มนี้ช่วยกระตุ้นวงการเพลงป๊อปของอังกฤษในช่วงทศวรรษ 1990s และได้รับเสียงตอบรับในแง่บวกจากบรรดานักวิจารณ์ อัลบั้มชุดนี้ถือเป็นผลงานชิ้นสำคัญของวงการดนตรีบริตป๊อป และปรากฏอยู่ในรายชื่ออัลบั้มที่ยิ่งใหญ่ที่สุดตลอดกาลของหลายสำนักอาทิ NME ที่ได้ทำการสำรวจความคิดเห็นของผู้อ่านและอัลบั้มนี้ได้รับการโหวตให้เป็นอัลบั้มที่ยิ่งใหญ่ที่สุดตลอดกาล ส่วนนิตยสาร Spin ก็ได้รวมอัลบั้มนี้ไว้ในรายชื่อ “300 อัลบั้มที่ยอดเยี่ยมที่สุดระหว่างปี1985–2014” และติดอันดับที่ 217 ในรายชื่อ “500 อัลบั้มที่ยิ่งใหญ่ที่สุดตลอดกาลในปี 2020” ของนิตยสาร Rollingstone บทความนี้เราจะไม่ได้มาพูดถึงงานเพลงในอัลบั้มนี้ที่มีเพลงเด็ด ๆ โดน ๆ อย่าง “Live Forever” “Cigarettes & Alcohol”  หรือว่า “Supersonic” แต่จะมาดูปกอัลบั้มชุดนี้กัน

ในภาพปกอัลบั้มสมาชิกทั้ง 4 ของ Oasis ได้แก่ เลียม กัลลาเกอร์ (Liam Gallagher) – ร้องนำ ,โนเอล กัลลาเกอร์ (Noel Gallagher) – กีตาร์และร้องประสาน, พอล “โบนเฮด” อาร์เธอร์ส (Paul “Bonehead” Arthurs) –กีตาร์ริทึ่ม, พอล “กุกซี” แมคกิแกน (Paul “Guigsy” McGuigan) – เบส และ โทนี แมคแคร์โรลล์ (Tony McCarroll) – กลอง กำลังอยู่ในอิริยาบถสบาย ๆ ในห้องนั่งเล่น เลียมนี่สบายมากถึงกับนอนราบบนพื้นไม้อยู่กลางปกเลย ส่วนคนอื่น ๆ ก็อยู่ในอิริยาบถที่แตกต่างกันออกไป รูปถ่ายของอัลบั้มนี้ถ่ายโดย ไมเคิล สเปนเซอร์ โจนส์ (Michael Spencer Jones) ช่างภาพสายร็อก โดยสถานที่ก็คือห้องนั่งเล่นในบ้านของโบนเฮดมือกีตาร์รึทึ่มของวงนั่นเอง ภาพนี้ได้รับแรงบันดาลใจจากปกหลังของ LP คอลเล็กชัน ‘A Collection of Beatles Oldies’ ในปี 1966 ของเดอะบีเทิลส์ ซึ่งถ่ายโดย โรเบิร์ต วิตเทกเกอร์ (Robert Whitaker) ระหว่างการออกทัวร์ของเดอะบีเทิลส์ในญี่ปุ่นช่วงฤดูร้อนปี 1966 เป็นภาพที่พวกเขากำลังนั่งอยู่รอบโต๊ะกัน

ปกอัลบั้ม ‘Definitely Maybe’

สเปนเซอร์ โจนส์ได้เล่าว่าแนวคิดในการถ่ายภาพวงที่บ้านของโบนเฮดนั้นมาจากโนเอล ซึ่งเดิมทีอยากให้วงนั่งรอบ ๆ โต๊ะอาหารของโบนเฮด สเปนเซอร์ก็เลยคิดหนักว่าแล้วจะให้สมาชิกวงนั่งทำอะไรกันที่โต๊ะ แล้วการที่ปกอัลบั้มมีภาพสมาชิกวงดนตรีนั่งทำอะไรกันที่โต๊ะนี่มันน่าสนใจตรงไหน (วะ !)

“ไอเดียของโนเอลก็คือให้ถ่ายภาพสมาชิกวงรอบ ๆ โต๊ะอาหารที่บ้านของโบนเฮด ผมก็เลยคิดว่าพวกเขาควรจะทำอะไรที่โต๊ะดี ? เล่นไพ่หรอ ? หรือเล่นผีถ้วยแก้ว ? ดูยังไงก็ไม่มีทางไหนที่มันจะเวิร์กเลย”

ไมเคิล สเปนเซอร์ โจนส์ (Michael Spencer Jones)

ด้วยเหตุนี้สเปนเซอร์ โจนส์เลยแนะนำให้ถ่ายทำในห้องรับแขกโดยหันหน้าไปทางหน้าต่างที่ยื่นจากผนัง และเขาเองนี่แหละที่ขอให้เลียมนอนบนพื้นเพื่อดึงความสนใจออกจากพื้นไม้ของห้อง ไม่อย่างนั้นภาพนี้มันจะดูเหมือนโฆษณาน้ำยาเคลือบเงาไม้ไป ซึ่งท่านอนราบบนพื้นของเลียมนั้นโจนส์นั้นได้รับแรงบันดาลใจมาจากโลงศพของมัมมี่ที่แผนกอียิปต์วิทยา (Egyptology) ที่พิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แมนเชสเตอร์ (Manchester Science Museum) ส่วนแก้วไวน์ทางด้านขวาของเลียมก็ไม่ใช่ไวน์จริง แต่เป็นน้ำแบล็กเคอร์แรนต์ยี่ห้อ ‘Ribena’ ซึ่งพอรู้แบบนี้แล้วอาจจะคิดว่า Oasis นี่ไม่ยอมลงทุนเลยขนาดไวน์ก็ไม่ใช้ไวน์จริง แต่สเปนเซอร์ โจนส์ได้แก้ต่างอธิบายเรื่องนี้ไว้ว่าที่จริงแล้วเป็นเพราะว่าเวลาที่ถ่ายภาพไวน์แดงมักจะกลายเป็นสีดำแทนที่จะเป็นสีแดงนั่นเอง

โลงศพของมัมมี่ที่แผนกอียิปต์วิทยา (Egyptology) ที่พิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แมนเชสเตอร์ (Manchester Science Museum)

นอกจากนี้โจนส์ยังขอให้สมาชิกวงนำของมีค่าส่วนตัวมากันคนละชิ้นสองชิ้น ซึ่งมีทั้งลูกโลก, แก้วไวน์แดง, รูปถ่ายของนักฟุตบอลจอร์จ เบสต์ (George Best) ของโบนเฮดที่เป็นแฟนบอลแมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด ตรงเตาผิงมีรูปถ่ายของนักฟุตบอลรอดนีย์ มาร์ช (Rodney Marsh) ที่เล่นให้กับแมนเชสเตอร์ซิตี้ (ทีมโปรดของสองพี่น้องกัลลาเกอร์และแมคกิแกน) ส่วนกีตาร์สีดำที่อยู่ตรงกลางภาพนั้นคือ Epiphone Riviera กีตาร์ตัวเก่งของโบนเฮด ซึ่งเขาใช้ในการบันทึกเสียงทุกอัลบั้มและใช้เล่นแสดงสดทุกเวทีของ Oasis นอกจากนี้ก็มีโปสเตอร์อัลบั้มของเบิร์ต แบแคแร็ก (Burt Bacharach) หนึ่งในไอดอลของโนเอลที่วางพิงโซฟาอยู่ตรงด้านซ้ายล่างของภาพ ซึ่งเป็นตำแหน่งที่ทำให้หลายคนตีความได้ว่า Oasis พยายามที่จะทริบิวต์ปกอัลบั้ม ‘Ummagumma’ ของ Pink Floyd ที่มีแผ่นเสียงอัลบั้มเพลงประกอบภาพยนตร์เรื่อง “Gigi” ของวินเซนต์ มินเนลลี (Vincente Minnelli) อยู่ในตำแหน่งที่คล้ายคลึงกันพอดี

ปกอัลบั้ม ‘Ummagumma’ ของ Pink Floyd

และยังมีอีกสิ่งหนึ่งที่โทนี แมคแคร์โรลล์มือกลองของวงกำลังนั่งจดจ้องอยู่เบื้องหน้าก็คือโทรทัศน์ที่กำลังฉายภาพอะไรสักอย่างอยู่ แท้ที่จริงแล้วภาพที่ปรากฏบนจอทีวีก็คือหนังเรื่องโปรดของโนเอลนั่นคือ “The Good The Bad And The Ugly” หนังคาวบอยสปาเก็ตตี้ของผู้กำกับอิตาลีเซอร์จิโอ เลโอเน (Sergio Leone) ในปี 1966 ซึ่งเป็นเรื่องราวของมือปืน 3 คนที่อยู่บนเส้นทางของการไขว่คว้าทองคำที่พวกเขาปรารถนาโดยมีบรรยากาศของเรื่องเป็นช่วงสงครามกลางเมืองในอเมริกา

“The Good The Bad And The Ugly”

ฉากที่กำลังปรากฏอยู่บนภาพปกอัลบั้มชุดนี้อยู่ในช่วงเวลาประมาณ 1 ชั่วโมง 10 นาทีของหนังมหากาพย์ความยาว 3 ชั่วโมงเรื่องนี้ โดยเป็นตอนที่ทูโก้ฉายา “ไอ้อัปลักษณ์ (The Ugly)” รับบทโดย อีไล วอลลาช (Eli Wallach) ได้ค้นพบรถม้าที่หลบหนีซึ่งเต็มไปด้วยทหารสัมพันธมิตร ทหารผู้รอดชีวิตคนหนึ่ง คือ คาร์สันรับบทโดยอันโตนิโอ คาเซล (Antonio Casale) ได้เสนอทองคำมูลค่า 200,000 ดอลลาร์ให้กับทูโก้ ถ้าหากเขาสามารถนำน้ำมาให้กับคาร์สันได้

ภาพที่เราเห็นบนจอทีวีเป็นภาพโคลสอัปที่ทูโก้กำลังเอามือบีบไปที่ปากของคาร์สันเพื่อที่จะถามถึงตำแหน่งที่ซ่อนของทองคำ “ไอ้งั่งเอ๊ย พูดมาดิวะ!” นอกจากนี้ยังมีภาพของนักแสดง เกียน มาเรีย โวลองเต (Gian Maria Volonté) จากหนังคาวบอยอีกเรื่องของเลโอเนเรื่อง “A Fistful of Dollars” ปรากฏอยู่ในจอทีวีที่ปกหลังของอัลบั้มชุดนี้ด้วย

“Come on you dummy, talk!”
ปกหลังของอัลบั้ม ‘Definitely Maybe’

โนเอลไม่ใช่นักดนตรีเพียงคนเดียวที่ชื่นชอบหนังมหากาพย์ของเลโอเน ยังมีอเล็กซ์ เทอร์เนอร์ (Alex Turner) แห่งวง Arctic Monkeys ที่ใช้เพลงประกอบภาพยนตร์โดยเอนนิโอ มอร์ริโคเน่ (Ennio Morricone) มาเป็นแรงบันดาลใจให้กับเพลงบัลลาดคลาสสิก “505”

และเมื่อปี 2016 Oasis ได้จัดนิทรรศการ ‘Chasing The Sun’ ที่มีการจัดทำห้องรับแขกจำลองจากปกอัลบั้ม ‘Definitely Maybe’ ที่ให้แฟน ๆ สามารถโพสท่าถ่ายรูปเลียนแบบปกอัลบั้มหรือจะครีเอตเองก็ได้ตามใจและแน่นอนว่าห้องทำมาเหมือนเป๊ะแม้กระทั่งมีภาพของอีไล วอลลาชกับแอนโตนิโอ คาเซล จากหนัง “The Good The Bad And The Ugly” แช่ค้างอยู่ในทีวีด้วย

ห้องจำลองจากปกอัลบั้ม ‘Definitely Maybe’ ในนิทรรศการ ‘Chasing The Sun’

ที่มา

radiox

thehistorypress

nme

theguardian

manchestereveningnews1

manchestereveningnews2

พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส