“Faces of Anne, แอน” หนังแนวจิตวิทยาระทึกขวัญไอเดียแหวกขนบ ที่นำนักแสดงสาวมากฝีมือในยุคนี้มาเล่นเป็น “แอน” เช่น ออกแบบ ชุติมณ / อุ้ม อิสยา /วี วิโอเล็ต / อิ้ง วรันธร /มินนี่ ภัณฑิรา / ก้อย อรัชพร / ปันปัน สุทัตตา / นาน่า ศวรรยา / มิวสิค / เจนนิษฐ์ โดยเล่าเรื่องราวของ “แอน” ที่ตื่นขึ้นมาพบว่าตัวเองจำอะไรไม่ได้เลยอยู่ในสถานที่ลึกลับ แถมหน้าตาของตัวเองก็จะเปลี่ยนไปเรื่อย ๆ และยังมีแอนอีกหลายคนอยู่ในที่นี้ด้วยเช่นกัน ความพยายามที่จะไขปริศนาเหล่านี้ให้ตัวเอง พร้อมหลบหนีการไล่ล่าจากสัตว์ประหลาดหัวกวาง อินดิโก เพื่อที่จะรู้ให้ได้ว่าเกิดอะไรขึ้นกับตัวเธอ

แบไต๋ได้รับเกียรติให้พูดคุยสัมภาษณ์กับสองผู้กำกับ คงเดช จาตุรันต์รัศมี และ ราสิเกติ์ สุขกาล ที่เจาะลึกถึงการทำงานที่กว่าจะมาเป็น “Faces of Anne, แอน”

คงเดช จาตุรันต์รัศมี และ ราสิเกติ์ สุขกาล

แบไต๋ : ปกติหนังของพี่คงเดชจะสะท้อนถึงบริบทสังคม ในช่วงที่ผ่าน ๆ มาในหลาย ๆ เรื่อง ก็ซ่อนสารที่อยากสื่อ แล้วเรื่องนี้ล่ะ

คงเดช : จริง ๆ ก็อยากให้ไปดูในโรงฯ แต่ว่ามันก็ว่าด้วยเรื่องความรู้สึกร่วมสมัยของเด็กปัจจุบันนี้ 

แบไต๋ : หนังที่ผ่าน ๆ มาของพี่คงเดชเป็น Scale ที่ใช้นักแสดงอยู่ไม่กี่คน แล้วทำไมครั้งนี้ถึงเลือกใช้นักแสดงเป็นจำนวนมากขนาดนี้ ที่มีชื่อขนาดนี้

คงเดช : มาจากบท ตั้งแต่คิด concept ก็รู้แล้วว่าจะเป็นตัวละครที่มีการเปลี่ยนหน้าอยู่เรื่อย ๆ เราก็รู้สึกว่าเราจะต้องใช้ concept ให้คุ้มค่า ด้วยการใช้นักแสดงหญิงที่มีคุณภาพของเราในประเทศ มีเท่าไรกวาดมา

แบไต๋ : ปกติกำกับคนเดียว แล้วเกิดอะไรขึ้นทำไมต้องชวนพี่ราสิเกติ์มาร่วมกำกับด้วย

คงเดช : อาจจะเป็นเพราะปกติเราทำเป็นดราม่ามาตลอด ครั้งนี้เราเปลี่ยนแนวมาทำหนังทริลเลอร์จิตวิทยา แล้วก็หนังประเภทนี้มันต้องการ Visual ที่แข็งแรง ปอมเองเขาก็เป็นโปรดักชั่นดีไซเนอร์ให้เรามา 10 กว่าปีตลอด ที่ผ่านมาทำทุกเรื่องแล้วปอมก็ทำมาตลอดทุกเรื่อง เหมือนกับว่าเรื่องนี้มากำกับร่วมกันเลยดีกว่า เพราะว่าหนังมันต้องการ พวก Visual หรือแบบพวกภาพ การออกแบบอย่างนี้ค่อนข้างสูง มีคนมาช่วยคิดไปเลยดีกว่า 

ราสิเกติ์ : ด้วยความที่พี่เดชเขาทำหนังดราม่ามาตลอด พอมันมาเป็นหนังทริลเลอร์ เรารู้สึกว่าเราก็มีส่วนเติมเต็มในเรื่อง Visual  เรื่องไอเดียในการทำให้หนังมันเล่าเรื่องด้วยภาพที่สนุก ในความไซโคทริลเลอร์แบบนี้

แบไต๋ : กดดันไหม เพราะปกติก็เหมือนอยู่เบื้องหลังตลอด

ราสิเกติ์ : จริง ๆ ก็ทำงานด้วยกันมาตลอด รู้สึกท้าทายดี สนุกสนุกมากเวลาทำเรื่องนี้

คงเดช : ปกติปอมก็เติมมาอยู่ตลอด เพียงแต่ว่าหนังเรื่องนี้บทบาทในส่วนนี้ มันต้องการสูงกว่าเดิมรู้สึกว่าตั้งแต่เราเขียนบทเสร็จ เราก็ไป approach ปอมเรื่องนี้มาทำด้วยกันดีกว่า แล้วก็มาออกแบบกันตั้งแต่ออกแบบช็อตกัน ออกแบบฉากกัน ออกแบบงานสร้างไปด้วยกันไปเลย มันจะมีบรรยากาศเฉพาะ มันจะเป็นโลกเฉพาะบางอย่าง 

แบไต๋ : คัดเลือกนักแสดงว่าที่จะมารับบทแอน เลือกจากอะไร ใครเป็นคนตัดสินใจ

คงเดช : จริง ๆ ก็มีทีมแคสด้วย วิธีทำเราเอาบอร์ดมาวางเรียงกันเยอะ ๆ  แล้วก็มีทีมแคสเขาก็จะเอานักแสดงมาให้ดูกัน เราก็มาดูกันว่าในช่วงเวลาของหนังตรงนี้ ใครจะจับคู่อยู่กับใคร ใครจะเล่นอยู่กับใคร

ราสิเกติ์ : ใครจะเล่นจุดไหน คือในบทมันมีบอกอยู่แล้ว เราจะเรียงเลยว่าแอน 1 2 3 4 5 6 ไล่ไปเรื่อย ๆ มันก็จะมีอยู่แล้วว่าบทช่วงนี้มันจะเป็นยังไง ตรงนั้นเราเริ่มเลือกกันตั้งแต่ตรงนั้นแล้ว จริง ๆ มันก็มีนักแสดงที่แบบคล้าย ๆ ว่าแปะอยู่ในใจอยู่แล้ว ตั้งแต่คนที่เคยร่วมเล่นกันมา ที่เคยทำกันมา มี Where We Belong / Snap ก็จะมีพวกเจนนิษฐ์ มิวสิค อิ้งค์อะไรแบบนี้ รวมไปถึงคนที่เราอยากจะร่วมงานด้วยแต่ยังไม่มีโอกาส แล้วเราก็ดูจากคาแรคเตอร์ของเขาว่าน่าจะเหมาะกับพาร์ทไหนของหนัง  แล้วมันก็จะมีแบบตั้งแต่เบอร์ A list ไปจน เดี๋ยวถ้าได้ไปดูหนังก็จะพบว่ามีพวกหน้าใหม่หรือคุ้น ๆ หน้าแต่ใครกันนะอะไรอย่างนี้ มีคละกันหมดเลย

แบไต๋ : เรียกว่ากวาดนักแสดงทั่วเมืองไทย มี Make for ไหม บทนี้เพื่อคนนี้

คงเดช : มันพูดยากว่า Make for ใครคนใดคนหนึ่งเลย เพราะว่าแอนเป็นตัวละครที่เป็นเหมือนงานกลุ่ม ทุกคนต้องมาช่วยกันสร้างแอน ดังนั้นทุกครั้งที่เราถ่ายหรือเราเลือกใคร เรามองว่าเขาคนนี้ถ้าจะเล่นทั้งเรื่องก็เล่นได้ แต่จะเล่นพาร์ทนี้ เราจะให้มาเล่นแค่พาร์ทนี้ แล้วก็อีกคนนึงก็จะเล่นทั้งเรื่องอีกเหมือนกันก็ได้ เราอยากให้คนดูดูอย่างนี้ด้วยซ้ำไป ว่าคุณเห็นคนนี้ในเฉพาะช่วงนี้แต่จริง ๆ แล้ว เขาสามารถแบบสวมไล่มาตั้งแต่เริ่ม ตั้งแต่ต้นจนจบได้เหมือนกัน 

แบไต๋ : แสดงว่านักแสดงบางท่านก็อาจจะต้องเล่นเป็นแอนคนเดียวกัน มีความยากลำบากในการทำงานอย่างไรบ้าง 

คงเดช : เราเวิร์คช็อปกันนานมาก

ราสิเกติ์ : ใช้เวลา 2 – 3 เดือน

คงเดช : แล้วก็ต้องมาทำเป็นงานกลุ่มเลย มันจะมีเรื่องของการปรับลมหายใจให้มันเท่ากัน เพราะแต่ละคนเขาเล่นเร็ว เล่นช้า พูดเร็ว พูดช้าต่างกัน จะทำยังไงให้มาต่อกัน

ราสิเกติ์ : ให้เป็นตัวละครเดียวต่อกันแล้วลื่นที่สุด หายใจได้เหมือนสอดคล้องกันได้มากที่สุด 

คงเดช : ต่อเนื่องกัน

แบไต๋ : จะทำยังไงที่นักแสดงในเรื่องนี้สามารถคงความเป็นตัวเขาเองได้ โดยที่แสดงเป็นแอนคนเดียวกัน

คงเดช : จริง ๆ คือเขาไม่ใช่ตุ๊กตา เราเองมีพื้นที่ให้เขาตีความบทในส่วนของเขาด้วย หมายความว่าเราก็จะเห็น แอนในแบบออกแบบ แอนในแบบเจนนิษฐ์ แอนในแบบมิวสิค แอนในแบบอิ้งค์ ตามแต่นักแสดงแต่ละคนด้วย แต่ว่าเวลามาเล่นมันต้องสอดคล้องต่อเนื่องกัน

ราสิเกติ์ : แล้วมันเป็นสิ่งที่เราจัดวางเข้าไปในแต่ละตำแหน่งของหนัง

คงเดช : เวลาคุยกับนักแสดง นักแสดงเลยบอกว่ามันยากเหมือนกัน เพราะว่าอย่างที่บอกปกติหนังเรื่องหนึ่งสมมุติว่านางเองเล่นตั้งแต่ต้นมาจนถึง climax มันจะค่อย ๆ นวด ค่อย ๆ พัฒนาตัวเองมา แต่บางคนโผล่มา climax แล้ว คนโผล่มาแบบนี้จริงช่วงที่ดิ่งมาก ๆ มาแล้วต้องนั้นเลย จะทำยังไงให้ไอ้ตัวนี้มันเป็นไปตามจังหวะของหนัง

ราสิเกติ์ : ถือว่าเป็นเรื่องที่ท้าทายมาก

คงเดช : แต่ว่าสนุก เปิดโลกมาก เปิดโลกทั้งสำหรับส่วนของนักแสดงด้วย ทั้งนักแสดง ทั้งเราเอง เราก็ได้ประสบการณ์ใหม่ ๆ ทั้ง 2 ฝั่ง แล้วเราเชื่อว่าคนดูก็จะได้ดูหนังด้วยความรู้สึกแบบเออว่ะ ปกติเราจะดูตัวละครหนึ่งเล่นไปแต่ต้นจนจบ แต่ว่าอันนี้เขาจะได้คิด แล้วก็ตามตัวละครโดยตลอดเวลา

แบไต๋ : มีเกร็ดอะไรที่น่าสนใจระหว่างการเขียนบทไหม รวมถึงการคัดเลือกนักแสดง จนกระทั่งทำมาเป็นภาพยนตร์เรื่องนี้

คงเดช : ในตอนพัฒนาบท ทุกครั้งที่ทำเขียนบทมันก็จะอยู่กับสิ่งที่เราต้องการนำเสนอ มันเหมือน theme หรือ concept ของมัน ว่าเรากำลังจะพูดเรื่องอะไรอยู่ แล้วก็เวลาเรามี core แล้ว จะทำให้เวลาเราแตกไอเดีย หรือว่าคิดสถานการณ์ต่าง ๆ มันก็จะเสริมไอเดียนี้ไปเองในตัว แต่ส่วนใหญ่แล้ว เรามักจะเอามาจากความรู้สึกลึก ๆ ของคนร่วมสมัย ภาพสังคม ตัวละคร เหมือนมันจะเป็นตัวแทนของสังคมอย่างนั้นเสมอ 

ราสิเกติ์ : หนังพี่เดชแต่ละเรื่องก็จะมีความสะท้อนสังคม ณ เวลานั้นอยู่ตลอด เรื่องนี้มันก็จะคล้าย ๆ กัน ที่มาก็เพราะว่าประเด็นที่รู้สึกได้ตอนอ่านบทที่พี่เดชส่งให้ ก็มีประเด็นร่วมสมัยที่สะท้อนสภาวะสังคมเวลานี้ด้วย รู้สึกว่ามันเป็นสิ่งที่น่าสนใจ

แบไต๋ : ทำไมคนต้องมาดูหนังเรื่องนี้

คงเดช : เราคิดว่าอย่างนี้ก่อน เวลาคนบ่นว่าแบบหนังไทยมีกี่แนว เราคิดว่าเรื่องนี้ไม่เคยเห็นอะไรแบบนี้แน่ ๆ  ด้วย concept ของตัวละครที่เปลี่ยนหน้าตลอดเวลา แล้วก็นักแสดงที่เบอร์แข็งขนาดนี้ มันไม่ใช่โอกาสง่าย ๆ เลยที่คุณจะได้ดูอะไรแบบนี้ และความสนุก ตื่นเต้น เร้าใจในแนวของไซโคทริลเลอร์ มันก็น่าจะมากพอที่จะทำให้คนออกมาดู

ราสิเกติ์ : จริง ๆ หนังส่วนใหญ่ที่เราทำกันเป็นหนังที่ส่วนใหญ่จะได้ออกไปฉายต่างประเทศมากกว่า เป็นหนังที่ไปเทศกาล เชื่อว่ามันเป็นหนังที่มีคุณภาพ เพราะเรามีโอกาสได้ทำหนังที่เป็นสตรูดิโอ ก็ เราทำหนังให้คนไทย เราก็อยากให้คนไทยดู เราเป็นคนไทย รู้สึกว่าเป็นโอกาสที่ดีที่เราจะได้ทำอะไรใหม่ ๆ ที่มันคุณภาพ ที่เราเชื่อว่ามันดี อยากให้คนไปดูกัน 

แบไต๋ : ตัวแสดงแต่ละคนมีชื่อเสียงโด่งดัง เรากลัวไหมว่าแทนที่คนจะสนใจสิ่งที่เราจะสื่อสาร มันจะหลุดเพราะเขาสนใจตัวดาราคนนั้นมากกว่า

คงเดช : ไม่กลัวเลย เราเชื่อว่าทุกคนมาเล่น เขากระโดดมาร่วมเล่นเกมนี้กับเรา หมายถึงนักแสดงหนังเรื่องนี้ ตั้งแต่เขาฟัง concept แล้ว คือหนังเรื่องนี้ concept นำ ไม่ว่ายังไงเราว่าคนดูก็จะอยู่กับ concept มากกว่านักแสดง นักแสดงอย่างที่บอกว่าเป็นงานกลุ่ม นักแสดงเป็นแค่จิ๊กซอว์หนึ่งที่มาช่วยกันสร้างตัวละครนี้ขึ้นมา สำหรับคนดูเราว่ายังไงเขาจะได้สิ่งนี้กลับไป แต่จะได้กลับไปไม่เหมือนกัน เพราะว่าหนังเราก็เป็นอย่างนี้ เรามักจะไม่สรุปหรือว่าแบบปลายปิดอะไรอย่างนี้ ไม่ได้สอนให้รู้ว่ามันเป็นสิ่งที่แบบเขาจะได้เอาไปคิดต่อ

แบไต๋ : ทิ้งให้ไปตีความกันเอง คิดอยากจะให้เกิดความเปลี่ยนแปลงอะไรในสังคมรึเปล่า ทำหนังมันก็ต้องมีคีย์สิ่งที่เราต้องการที่จะให้มันเกิดขึ้น อะไรคือสิ่งที่ต้องเกิดขึ้น

ราสิเกติ์ : เป็นเหมือนกระจกที่เราสะท้อนหรือว่าคนที่คนดูจะได้อะไรกลับไป หรือว่าเขาจะไปคิดอะไรของเขา มันนอกเหนือจากสิ่งที่เรากำหนดแล้ว เราแค่ทำในสิ่งที่เราเชื่อ เราทำในสิ่งที่เราตั้งใจทำ เชื่อว่าคนดูจะเอาไปทำอะไรต่อหรือว่าจะไม่ทำอะไรเลยมันก็ได้ 

คงเดช : สำหรับเรา คืออย่างนี้โดยเฉพาะของเราเวลาเราทำหนังทุกเรื่อง แล้วก็เขียนบททุกครั้ง ส่วนใหญ่แล้วเราหวังว่ามันเป็นหนังที่ทำให้คนดูกลับไปคลุ้นคิดกับตัวเองว่าจะทำอะไรได้บ้าง มันเป็นหนังที่สร้างคำถามให้กับคนดูมากกว่าที่จะให้คำตอบ หมายความว่าอย่าง Where We Belong มันก็สร้างแรงสั่นสะเทือนบางอย่าง ให้กับเด็กหรือเยาวชนที่มีความสุขร่วมกันหรือว่าอะไร มันมีปัญหาอยู่ แล้วเราไม่มองข้ามปัญหาไป มันมีหนังซึ่งจะเป็นหนังที่บันเทิงประเภทที่แบบ Escape, White Escape มันก็เยอะแล้วไง แต่ว่าหนังของเรามันมักจะเป็นหนังที่แบบเฮ้ยเดี๋ยวก่อน เรื่องจริงมันมีบางอย่างอยู่ ปัญหามันมีอยู่ แล้วเราจะไม่มองข้ามมันเรามาพูดถึงปัญหานี้กัน แล้วก็เออว่ะจะทำยังไงกันบ้าง มันจะเป็นอะไรแบบนั้นมากกว่า สำหรับเราถ้าถามก็คือว่าเราไม่ได้ทำหนังเกี่ยวกับตัวละครตัวเล็ก ตัวน้อยในสังคม ดังนั้นหมายความว่าสิ่งที่เราอยากจะให้เกิดการเปลี่ยนแปลง คือว่าอยากให้คนตัวเล็ก ตัวน้อยมีชีวิตที่โอเคกว่านี้ สำหรับเราแค่นั้น ซึ่งถามว่าจะเปลี่ยนแปลงอะไรได้บ้าง มันเป็นเรื่องของข้างบนอยู่ แต่ว่าเราแค่อยากให้คนดูแล้ว เออว่ะ มันมีปัญหาอยู่นะเว้ย 

ราสิเกติ์ : จริง ๆ หนังของพี่เดชก็มี Layer หลากหลายอยู่ แล้วเราจะดูเอาสนุก ดูบันเทิงก็ได้ หรือจะดูเอาตีความ ดูเพื่อไปคิดหรือว่าอยากจะเปลี่ยนแปลงอะไรก็ได้ ก็เชื่อว่าแต่ละคนก็มี Level ในการดูต่าง ๆ กัน  แล้วก็เชื่อว่าถ้าเอาเก็บไปคิดเอาเอง หรือว่าอยากจะทำอะไรเกี่ยวกับมัน ถือว่าเป็นเรื่องที่ดีเสมอ 

แบไต๋ : อยากจะฝากอะไรทิ้งท้าย

คงเดช : มันเป็นหนังที่ถูกออกแบบให้มาดูในโรงหนัง ไม่ใช่สตรีมมิ่งแพลตฟอร์มดังนั้นมาดูในโรงเถอะ เราไม่รู้เหมือนกันว่าช่วงที่หนังเข้าเราจะต้องเผชิญกับพายุฝนใด ๆ หรือเปล่า ซึ่งโคตรเป็นอุปสรรคมาก ๆ เรา concern อยู่ แต่ว่ามาดูเหอะ ขอร้องล่ะ 

ราสิเกติ์ : เชื่อว่ามันเป็นหนังที่เราตั้งใจทำ แล้วก็การที่มาดูในโรงฯ ทั้งเรื่องเสียง เรื่องภาพ ทุกอย่างมัน ๆ มันถูกออกแบบเพื่อให้ทุกคนในโรงจริง ๆ ก็อยากชวนมาดูหน่อย  

ถือว่าเป็นหนังไทยในรอบปีนี้ที่ออกมาจากเซฟโซน เพื่อสร้างความแปลกใหม่ให้กับผู้ชม  พร้อมที่จะท้าทายให้คุณทุกคนค้นหาความจริงไปด้วยกันกับ “Faces of Anne, แอน” ในทุกโรงภาพยนตร์แล้ววันนี้