บทความนี้มีการเปิดเผยเนื้อหาบางส่วนจากซีรีส์ ‘She-Hulk: Attorney at Law’ EP. 9 ตอน ‘Whose Show Is This?’ (นี่มันซีรีส์ใครกันแน่เนี่ย) รวมทั้งเปิดเผยเนื้อหาบางส่วนและบทสรุปของภาพยนตร์หลายเรื่อง


กลายเป็นกระแสที่ถกเถียงกันแทบจะทันทีสำหรับตอนจบของซีรีส์ ‘She-Hulk: Attorney at Law’ EP. 9 ในชื่อตอน ‘Whose Show Is This?’ (นี่มันซีรีส์ใครกันแน่เนี่ย) ที่ปิดจบซีซันด้วยเรื่องราวที่เรียกได้ว่าทำเอาคนดูแทบจะคาดไม่ถึง ด้วยการนำเสนอผ่านลูกเล่น ‘Breaking the Fourth Wall’ หรือการทลายกำแพงที่สี่ระหว่างตัวละครกับคนดู ที่แม้ว่าในอีพีก่อน ๆ จะมีการใช้ลูกเล่นนี้ ผ่านตัวละครหลัก เจนนิเฟอร์ วอลเทอร์ส (Jennifer Walters) แบบเป็นมุกกรุบกริบเล็ก ๆ น้อย ๆ เช่น การหันหน้าเข้ากล้องเพื่อเมาท์มอยกับคนดู

Breaking the Fourth Wall

แต่สิ่งที่เป็นข้อถกเถียงที่สร้างความฮือฮาและเสียงแตกในบรรดาแฟน ๆ ก็คือ แม้หลายคนจะพอทราบว่า การ ‘Breaking the Fourth Wall’ นั้นเป็นหนึ่งในความสามารถของซูเปอร์ฮีโร ‘She-Hulk’ ในคอมิกของ Marvel มาตั้งแต่ไหนแต่ไร แต่ด้วยการนำเสนอพลังวิเศษนี้ในรูปแบบซีรีส์ ด้วยวิธีการที่สุดเหวี่ยงที่สุดกว่าทุก ๆ ตอน

ตั้งแต่การพูดคุยนินทาเมาท์มอยเรื่องราวในซีรีส์กับคนดูราวกับว่าเป็นเหมือนเพื่อนสนิท การถือวิสาสะเปลี่ยนเรื่องราวตอนจบแบบตามใจตัวเอง ผ่านลูกเล่นต่าง ๆ ทั้งการทะลุมิติบนหน้าเมนู UI บนสตรีมมิง Disney+ การเดินเข้าไปในออฟฟิศของ Marvel Studios เพื่อเรียกร้องให้เปลี่ยนตอนจบใหม่ รวมทั้งการเผชิญหน้ากับ K.E.V.I.N. หุ่นยนต์ปัญญาประดิษฐ์ผู้มีส่วนรับผิดชอบการตัดสินใจเนื้อเรื่องของ MCU (Marvel Cinematic Universe) ซึ่งไม่ต้องบอกก็รู้ว่าหน้าเหมือนใคร

Breaking the Fourth Wall
Knowledge Enhanced Visual Interconnectivity Nexus (K.E.V.I.N.)

แม้กิมมิกและลีลาการ ‘Breaking the Fourth Wall’ จะไม่ใช่เรื่องใหม่ เพราะถือเป็นกิมมิกที่ถูกใช้ในภาพยนตร์ ซีรีส์ แอนิเมชันหลายเรื่อง หรือแม้แต่ในเกมและการ์ตูนคอมิกมาอย่างยาวนาน ส่วน She-Hulk เองก็ไม่ใช่ฮีโร Marvel ตัวแรกที่มีพลังวิเศษนี้ เพราะนอกจากนี้ก็มี ‘Deadpool’ ที่เคยใช้กิมมิกนี้มาก่อน แต่ She-Hulk ก็ยังได้เครดิตตรงที่เป็นฮีโรคนแรกสุดใน MCU ที่ใช้พลัง Breaking the Fourth Wall ได้

แต่อย่างไรก็ตาม จากเรื่องราวของซีรีส์ ‘She-Hulk’ ที่นำกิมมิกนี้มาใช้ในการเล่าเรื่องจนเกิดข้อถกเถียงจนเสียงแตกว่ามันเป็นวิธีการที่เหมาะควรกับการเล่าเรื่องแล้วหรือไม่ บางคนก็ชอบเพราะความแปลกใหม่ จิกกัดประชดตัวเอง (และแอบแหย่แฟน MCU พอคัน ๆ) ได้อย่างสนุกสนานกวนเบื้องล่างดี แต่ในขณะที่หลาย ๆ คนก็อาจไม่เข้าใจกับกิมมิกนี้ จนพาลงงใจเหวอกินไปกับความอิหยังวะของมันว่าเล่าเรื่องแบบนี้ก็ได้เหรอ แต่ไม่ว่าจะชอบหรือชังตอนสุดท้ายแค่ไหน บทความนี้ขอพาไปรู้จักกับการทลายกำแพงที่ 4 นี้กันว่ามันคืออะไร มีที่มาอย่างไร และกำแพงที่สี่มันผิดอะไรทำไมเราต้องไปทำลายมันด้วยล่ะ


I. ประวัติศาสตร์แห่งการทลายกำแพงที่ 4

Breaking the Fourth Wall

การ ‘Breaking the Fourth Wall’ หรือการทลายกำแพงที่ 4 นั้นไม่ใช่เพิ่งจะมาปรากฏในภาพยนตร์เท่านั้น เพราะจุดเริ่มต้นของมันสามารถสืบย้อนประวัติศาสตร์และต้นกำเนิดไปได้ตั้งแต่ยุคละครเวที รวมถึงการออกแบบฉากและโรงละคร (Theatre) ด้วย

Breaking the Fourth Wall
เดอนี ดีเดอโร (Denis Diderot)

เดอนีส ดีเดอโร (Denis Diderot) นักปรัชญาและนักวิจารณ์ศิลปะชาวฝรั่งเศส คือคนแรกที่ใช้คำว่าในการอธิบายทฤษฎีนี้ว่า การ “ทลายกำแพงที่สี่” หมายถึงการจินตนาการพื้นที่ของละครเวทีว่าเปรียบเสมือน “ห้อง” ที่มีกำแพงล้อมรอบ 3 ด้าน และมีด้านหนึ่งเป็น “กำแพงล่องหน” ที่คนดูสามารถมองทะลุเข้าไปยังโลกที่มีตัวละครกำลังดำเนินเรื่องราวอยู่ ส่วนตัวละครก็ดำเนินเรื่องไปในโลกของตัวเองประหนึ่งว่าไม่มีใครเฝ้ามอง

Breaking the Fourth Wall
กำแพงที่สี่ที่เปรียบเสมือนกำแพงกระจก หรือกำแพงล่องหน
ที่กั้นคนดูกับนักแสดงออกจากกัน

โดยปกติแล้ว ฉากละครเวทีในโรงละครที่เรามักเห็นกันเป็นส่วนใหญ่จะเรียกว่า บ็อกซ์เซต (Box Set) โดยฉากแบบบ็อกซ์เซตนั้นจะเป็นฉากละครเวทีที่ถูกประกอบสร้างขึ้นในลักษณะกล่องที่มีกำแพง 3 ด้าน (ซ้าย-ขวา-หลัง) บ็อกซ์เซตจะมีจุดเด่นคือ ถูกออกแบบมาอย่างมีมิติ และมีองค์ประกอบที่สมจริงกว่าฉากแบน ๆ เช่น มีบานประตูและหน้าต่างที่เปิดปิดได้ ซึ่งเป็นอิทธิพลจากการที่ละครเวทีหันมาเน้นความสมจริง ธรรมดาสามัญมากขึ้นในปลายศตวรรษที่ 18

Breaking the Fourth Wall
ฉากละครเวทีแบบบ็อกซ์เซ็ต (Box Set)

สิ่งที่ทำให้เกิดกำแพงที่ 4 อีกอย่างก็คือองค์ประกอบของพื้นที่โรงละคร เช่น บริเวณกรอบโค้ง (Arch) บริเวณส่วนหน้าของเวทีที่เรียกว่า พรอซีเนียม (Proscenium) และพื้นที่โค้งบริเวณหน้าม่านจนสุดขอบเวทีที่เรียกว่า แอพรอน (Apron) (ส่วนตัวเวที (Stage) จริง ๆ ที่ใช้ทำการแสดงจะอยู่บริเวณหลัง Proscenium) เข้าไปภายใน) ทั้งหมดนี้ทำให้เกิดกำแพงล่องหน หรือ ‘กำแพงที่สี่’ เป็นเหมือนกำแพงกระจกที่แบ่งแยกโลกแห่งละครบนเวที (ของนักแสดง) และโลกแห่งความเป็นจริง (ของผู้ชม) ออกจากกันอย่างสิ้นเชิง

Breaking the Fourth Wall
แผนผังโรงละครเวทีที่แบ่งแยกพื้นที่ส่วนของการแสดง (Stage) กับพื้นที่ของผู้ชม (Auditorium)
ออกจากกันด้วยกรอบโค้งด้านหน้าเวที หรือ Proscenium
และพื้นที่รูปโค้งด้านหน้าเวที (บริเวณหน้าม่าน) ที่เรียกว่า Apron

จนกระทั่งเมื่อวิวัฒนาการของละครเวทีเริ่มมีมากขึ้น ทำให้เริ่มมีการคิดค้นละครเวที่ที่แปลกใหม่ ด้วยการให้นักแสดงสามารถทะลุกำแพงออกไปสื่อสาร พูดคุย มีปฏิสัมพันธ์กับคนดูได้ราวกับว่าคนดูคือส่วนหนึ่งของโลกละคร และตัวละครคือตัวตนที่มีอยู่ในโลกความเป็นจริง ซึ่งถือว่าเป็นการทลายขนบของละครเวทีและการแสดงบนเวทีในอดีต รวมทั้งยังทลายขอบเขตจินตนาการและความเป็นจริงระหว่างวรรณกรรมกับผู้เสพวรรณกรรมด้วย ก่อนที่ต่อมาจะถูกนำมาปรับใช้ในการแสดงและสื่อหลายรูปแบบ รวมทั้งงานศิลปะแนว Performance Art ที่เรามักจะเห็นนักแสดงไปร่วมแสดงในระนาบเดียวกันกับผู้ชมโดยที่ไม่มีเวทีคั่นกลาง หรือการดึงผู้ชมเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของงานศิลปะนั้น ๆ เป็นต้น


II. การทลายกำแพงที่สี่ในภาพยนตร์ (และสื่ออื่น ๆ )

การทลายกำแพงที่ 4 ที่ปรากฏขึ้นครั้งแรก ๆ ในภาพยนตร์หนังเงียบแนวคาวบอยอเมริกันเรื่อง ‘The Great Train Robbery’ ที่ออกฉายในปี 1903 หรือเมื่อ 119 ปีที่แล้ว ซึ่งเป็นหนังเงียบความยาว 12 นาทีที่เล่าเรื่องของแก๊งคาวบอยที่ออกปล้นขบวนรถจักรไอน้ำ ซึ่งความโดดเด่นของหนังเรื่องนี้ก็คือซีนสุดท้ายที่แยกออกมาจากตัวหนัง ที่ปรากฏตัวละครคาวบอยยิงปืนใส่กล้องหนึ่งนัดราวกับว่ากำลังยิงคนดูอย่างโหดเหี้ยม ซึ่งแม้ว่าจะเป็นการทลายกำแพงที่ 4 อย่างไม่เป็นทางการนัก แต่ก็ถือว่ายังพอจะจัดให้เป็นการทลายกำแพงที่ 4 ได้

ต่อมาในปี 1918 หนังเรื่อง ‘Men Who Have Made Love to Me’ หนังเงียบแนวชีวประวัติของ แมรี แมคเลน (Mary MacLane) นักเขียนแนวสตรีนิยมชาวอเมริกันที่อ้างอิงมาจากหนังสือที่เธอเขียนเอง ก็มีปรากฏการใช้กิมมิกทลายกำแพงที่ 4 โดยแมรีที่แสดงเป็นตัวเธอเองนั้นได้หันมาพูดกับผู้ชมผ่านกล้องในขณะสูบบุหรี่

และในปี 1936 หนังเรื่อง ‘Reefer Madness’ หนังโฆษณาชวนเชื่อของอเมริกันที่ว่าด้วยเรื่องของเด็กนักเรียนวัยมัธยมที่ถูกล่อลวงไปเสพกัญชา ก่อนจะเข้าไปไปพัวพันกับอุบัติเหตุและอาชญากรรม ก็มีการใช้กิมมิกทลายกำแพงที่ 4 ด้วยการให้ตัวละครสื่อสารกับผู้ชมให้ตระหนักถึงพิษภัยของยาเสพติด โดยเฉพาะกัญชาในตอนท้ายเรื่อง ด้วยน้ำเสียงสีหน้าท่าทางอันขึงขังจริงจัง และมีการขึ้นตัวหนังสือ หรือ Superimpose ตัวใหญ่ ๆ เต็มจอว่า ‘Tell Your Children’ เพื่อให้ผู้ชม ‘จงบอกต่อ’ พิษภัยของกัญชาแก่ลูกหลาน จนทำให้ตัวหนังกลายเป็นที่รู้จักในฐานะหนังคัลต์คลาสสิกในชื่อ ‘Tell Your Children’ ไปแทน

Breaking the Fourth Wall
‘Tell Your Children’

แต่ถ้าในแง่ของการใช้การทลายกำแพงที่ 4 ในฮอลลีวูดเพื่อความบันเทิงที่ถูกนำมาใช้เป็นกิมมิกอย่างจริงจังก็น่าจะยกให้กับหนังเรื่อง ‘Annie Hall’ หนังแนวโรแมนติกคอมีดี้เสียดสี ผลงานการแสดงและกำกับของ วูดดี อัลเลน (Woody Allen) ที่ออกฉายในปี 1977 ซึ่งตัวหนังจะเล่าถึงความสัมพันธ์อันขรุขระของคู่รักในเรื่องด้วยการให้ตัวละคร อัลวี ซิงเกอร์ (Alvy Singer) ที่แสดงโดยอัลเลน หันหน้าเล่าเรื่องของตัวละครกับคนดูเป็นระยะตลอดเรื่อง ตัวหนังการันตีความยอดเยี่ยมด้วยการเข้าชิงรางวัล Oscar 5 รางวัล และกวาดไปได้ 4 รางวัล

อีกตำนานของการทลายกำแพงที่ 4 ในโลกภาพยนตร์ก็คือหนังตลกวัยรุ่นเรื่อง ‘Ferris Bueller’s Day Off’ ที่ฉายในปี 1986 ซึ่งเราจะได้เห็น เฟอร์ริส บิวเลอร์ (Ferris Bueller) วัยรุ่นมาดกวนออกมาสื่อสารกับผู้ชมเหมือนเป็นเพื่อนสนิท เรียกว่าเป็นตำนานจนกระทั่งหนังซูเปอร์ฮีโรอย่าง ‘Deadpool’ (2016) ก็ยังเอาฉากจากหนังเรื่องนี้ไปสวมเข้ากับกิมมิกทลายกำแพงที่ 4 ในฉากท้ายเครดิตด้วยการเซตฉาก คำพูด มุมกล้องให้คล้ายกับหนังต้นฉบับ แถมเดดพูลก็ยังใส่ชุดนอนที่มีความคล้ายคลึงกับหนังต้นฉบับอีกต่างหาก เรียกได้ว่าทั้งล้อเลียนทั้งคารวะในคราวเดียวกัน

หรือถ้าข้ามฝั่งไปยังวงการคอมิก ก็พบการทลายกำแพงที่ 4 อยู่เยอะไม่ใช่น้อย โดยเฉพาะคอมิกของค่ายใหญ่และเล็กต่างก็เคยใช้กิมมิกนี้กัมมาแล้วทั้งนั้น ทางฝั่ง Marvel ก็อย่างที่ทราบกันว่า ทั้ง ‘Deadpool’ และ ‘She-Hulk’ นั้นมีพลังพิเศษในการทลายกำแพงที่ 4 เพื่อสื่อสารกับคนดู และแอบไปสื่อสารกับคนเขียนและคนวาดการ์ตูน (พร้อมกับจิกแซะตัวเองไปด้วย)

Breaking the Fourth Wall
“เฮ้! คุณที่ซื้อหนังสือเล่มนี้น่ะ ช่วยผมเรียกแท็กซี่หน่อยได้ป่ะ ? “
Breaking the Fourth Wall
She-Hulk: ด็อกเตอร์บ็อง! นี่ล้อกันเล่นมั้ยเนี่ย ? ทีแฟนทาสติกโฟร์กับสไปเดอร์-แมนยังได้เจอ
ด็อกเตอร์ดูมในฉบับที่ห้า แล้วนี่ชั้นได้ตัวตลกอะไรมายะเนี่ย ?
Doctor Bong : ตัวตลกงั้นเรอะ?
Breaking the Fourth Wall
พลังพิเศษของ She-Hulk ที่สามารถเดินทะลุข้ามหน้าโฆษณาได้อย่างหน้าตาเฉย
Breaking the Fourth Wall
Electro : “สไปเดอร์-แมน!”
Spider-Man : “ดีใจนะที่คุณไม่ลืมใส่ยัติภังค์! คนส่วนใหญ่ชอบเอามันออกประจำเลย!”

หรือที่คุ้น ๆ กันก็อย่างเช่น ‘Spider-Man’ ที่มักจะมีช็อตที่หันมาแอบเมาท์นอกเรื่องนอกราวกับคนอ่านอยู่บ่อย ๆ หรือแม้แต่วายร้ายอย่าง ‘Loki’ หรือรวมทีมฮีโรอย่าง ‘Fantastic Four’ ก็ล้วนแต่เคยใช้กิมมิกนี้มาแล้วทั้งนั้น ส่วนทางฝั่ง DC ก็มีหลายตัวที่เคยใช้กิมมิกนี้ ตั้งแต่ ‘Superman’ หรือแม้แต่วายร้ายอย่าง ‘Lex Luthor, Jr.’, ‘Harley Quinn’ และคู่รักอย่าง ‘Joker’ ก็เคยทลายกำแพงที่ 4 เพื่อเล่าแผนการชั่วร้ายของตัวเองกับคนอ่านมาแล้ว

Breaking the Fourth Wall
การทลายกำแพงที่ 4 แบบร้าย ๆ สไตล์ Joker

ส่วนในฝั่งของการ์ตูน ก็มีการทลายกำแพงที่สี่ด้วยเช่นกัน โดยเฉพาะการ์ตูนแนวคอมีดี้จากฝั่งตะวันตก ทั้ง ‘Southpark’, ‘The Simpson’, ‘Family Guy’, ‘Looney Toons’ (ถ้าจำกันได้ ตัวละคร บักส์ บันนี (Bugs Bunny) นี่น่าจะหันมาคุยกับคนดูบ่อยสุดแล้วล่ะ) หรือที่เล่นกับกิมมิกนี้แบบสุด ๆ ไปเลยก็เช่น ‘Chowder’ และ ‘SpongeBob SquarePants’ หรือแม้แต่การ์ตูนสำหรับเด็กเล็กอย่าง ‘Mickey Mouse Clubhouse’ และ ‘Dora the Explorer’ ที่ชี้ชวนให้หนู ๆ น้อง ๆ พูดหรือทำท่าทางตามตัวละครก็นับว่าเป็นการทลายกำแพงที่ 4 ด้วยเช่นเดียวกัน

Breaking the Fourth Wall
“เธอต้องพูดว่า ‘แบ็คแพ็ค’ ”
“แบ็คแพ็ค!”
“ดังขึ้นอีก!!!”

(อ่านต่อหน้า 2)

III. เราทลาย ‘กำแพงที่ 4’ ไปเพื่ออะไร ?

1. เพื่อให้ตัวละครช่วยเล่าเรื่อง อธิบายเนื้อหา ความเป็นมาเป็นไปต่าง ๆ แก่ผู้ชม

โดยให้ตัวละครเป็นผู้สื่อสารเรื่องราวต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นด้วยตัวเอง ซึ่งอาจหมายรวมถึงการให้ตัวละครเล่าที่มาที่ไปกับคนดูโดยตรง หรือให้ตัวละครเป็นผู้เปิดประเด็น หรือคอยเป็นไกด์ที่คอยอธิบายสิ่งที่เกิดขึ้นในสถานการณ์นั้น ๆ

ยกตัวอย่างเช่น ตัวละคร จอร์แดน เบลฟอร์ต (Jordan Belfort) ที่เล่าเรื่องเกี่ยวกับตัวเอง และเผยกลโกงกับผู้ชมเป็นระยะ ๆ ใน ‘The Wolf of Wall Street’ (2013) หรืออย่างในซีรีส์ ‘House of cards’ ก็มีทั้งฉากที่ตัวละคร ฟรานซิส อันเดอร์วูด (Francis Underwood) หันหน้าพูดกับกล้องเพื่ออธิบายอะไรบางอย่างแก่คนดู

หรือแม้แต่การเผยความในใจของตัวละครนั้น ๆ อย่างเช่นการเล่าถึงความรู้สึกในความสัมพันธ์ของตัวละครคู่รักใน ‘Annie Hall’ ซึ่งจะทำให้คนดูเรียนรู้ถึงนิสัยใจคอของตัวละครนั้น ๆ และรู้สึกเชื่อ เข้าอกเข้าใจ และมีความรู้สึกร่วมไปกับตัวละคร

หรืออย่างในหนัง ‘The Big Short’ (2015) ที่ว่าด้วยเรื่องของกลุ่มคนที่อยู่ในแวดวงตลาดหุ้นวอลสตรีท หลายครั้งเราจึงได้เห็นตัวละครหันมาพูดคุย และอธิบายคำศัพท์ในวงในตลาดหุ้นให้คนดูค่อย ๆ เข้าใจและตามทันสถานการณ์อินไซต์ที่เกิดขึ้นในหนังได้มากยิ่งขึ้น

หรือถ้าเอาแบบกวนโอ๊ยก็ต้องยกให้ซีนสุดท้ายของหนัง ‘Kiss Kiss Bang Bang’ (2005) ที่เราจะได้เห็น โรเบิร์ต ดาวนีย์ จูเนียร์ (Robert Downey Jr.) นั่งสรุปเรื่องราวและสิ่งที่อยู่ในหนัง ก่อนที่ วัล คิลเมอร์ (Val Kilmer) จะเดินเข้ามาปิดปากเขาให้หยุดพูด และขอโทษผู้ชมที่ในหนังใช้คำว่า F**k เยอะไปหน่อย

และแน่นอนว่า ใคร ๆ ก็ตกหลุมรักสาวน้อย อะเมลี ปูแลง (Amélie Poulain) จากหนังนอกกระแสในตำนาน ‘Amélie’ (2001) เหตุผลหนึ่งที่เป็นแบบนั้นก็คงเป็นเพราะความชอบสังเกตสิ่งเล็ก ๆ น้อย ๆ ของผู้คนด้วยสายตาไร้เดียงสาของอะเมลี โดยเฉพาะการที่เธอคอยบอกเล่าถึงสิ่งที่เธอชื่นชอบแก่คนดูอยู่เรื่อย ๆ โดยเฉพาะฉากจำจากหนังฉากนี้ นั่นก็คือฉากที่เธอบอกกับคนดูว่า เธอชอบแอบมองผู้คนท่ามกลางความมืดในโรงหนัง

2. เพื่อแสดงความคิดเห็นและวิพากษ์วิจารณ์ต่อเนื้อเรื่องและสิ่งต่าง ๆ

ในหลาย ๆ ครั้งเรามักจะเห็นการทลายกำแพงที่ 4 ของตัวละครเพื่อแสดงความคิดเห็น หรือวิพากษ์วิจารณ์ หรือด่าเนื้อเรื่องที่ตัวเองกำลังเผชิญแบบตรงไปตรงมา ทั้งการวิจารณ์เนื้อเรื่อง (ที่คนเขียนบทเขียนขึ้นมาเอง) ว่าไร้สาระ ไม่เมกเซนส์บ้าง หรือวิจารณ์กองถ่ายว่าหมดงบแล้ว เลยไม่มีเงินทำโปรดักชันให้ดีไปกว่านี้ได้บ้าง หรือไม่ก็เลยเถิดไปวิพากษ์วิจารณ์ผู้บริหาร หรือไม่ก็ใช้ตัวละครในการวิพากษ์วิจารณ์ แซะวงการบันเทิงมันซะเลย

https://www.youtube.com/watch?v=0isd9Dl7LZE

ซึ่งในซีรีส์ ‘She-Hulk’ เรามักจะได้เห็นเจนหันมาบ่นถึงเนื้อเรื่องที่มีปัญหากับคนดูอยู่บ่อยครั้ง จนกระทั่งเจนในร่าง ‘She-Hulk’ ต้องเข้าไปแก้เรื่องเอาเองในตอนสุดท้าย ด้วยการมุดเข้าไปในหน้าเมนูของ Disney+ ไปโผล่ที่ออฟฟิศ Marvel Studios เข้าไปขอร้องกลางโต๊ะประชุมทีมเขียนบท หรือบุกเข้าไปคุยกับปัญญาประดิษฐ์ K.E.V.I.N. เพื่อขอร้องให้เปลี่ยนเนื้อเรื่องใหม่กันดื้อ ๆ เสียอย่างนั้น แถม K.E.V.I.N. ก็ยังเล่นมุกจิกกัดตัวเองด้วยการให้ She-Hulk คืนร่างเป็นเจนตามเดิมเพราะค่าทำซีจีแพง เอางบไปลงกับซีจีเรื่องอื่นหมดแล้ว เป็นต้น

“มึ-เอาไอ้เท่งมาฮา…แต่เอากูมาฆ่า…โผล่จากน้ำ สามนัด กริบ!”

หรือในลองช็อตสุดฮาในเครดิตท้ายหนัง ‘บอดี้การ์ดหน้าเหลี่ยม 2’ (2550) ที่โหน่ง ชะชะช่า และครอบครัว รุมด่า หม่ำ จ๊กม๊ก ผู้กำกับโทษฐานที่เอามาแสดงแบบมาเร็วตายเร็วก็ถือว่าเข้าข่าย หรือในหนังบางเรื่องที่มีผู้บรรยาย (Narrator) ตัวละครก็อาจจะหันมาคุยหรือทะเลาะกับผู้บรรยายในเรื่องไปด้วยเลย ซึ่งส่วนใหญ่จะเหมาะกับเนื้อหาแนวตลก หรือเบาสมองมากกว่าหนังแนวซีเรียสจริงจัง

3. เพื่อทลายเส้นแบ่งจินตนาการของผู้ชม และเน้นย้ำความ ‘ไม่จริง’ ของเนื้อหา

หลายครั้งเรามักจะเห็นตัวละครบางตัวหันมาพูดกับคนดูว่าสิ่งที่เกิดขึ้นนี้เป็นเพียงเรื่องแต่งที่ไม่ได้เกิดขึ้นจริง การคุยนอกเรื่องในขณะเกิดเหตุการณ์กับคนดู (เช่น อยู่ดี ๆ ก็หันมาพูดกับคนดูระหว่างคุยกับคนอื่น หรือกำลังทำอย่างอื่นอยู่) หรือแม้แต่การเล่นกับพรอป กราฟิก ตัวอักษรที่ขึ้นบนจอราวกับว่าเป็นวัตถุ มีทั้งตั้งแต่แก้คำผิด หรือเข้าไปยุ่งกับกราฟิกเหล่านั้นไปเลยก็มี ทั้งที่ในความเป็นจริงยังไงก็ทำไม่ได้

ในหนัง ‘Gremlins 2: The New Batch’ (1984) ก็มีฉากการทลายกำแพงที่สี่แบบน่ารักปนขนลุกด้วย เมื่อตัวหนังที่กำลังเล่าเรื่องในจังหวะที่ตัวเกรมลินกำลังอาละวาด อยู่ดี ๆ ฟิล์มก็ไหม้จนขาดเหลือแต่ผ้าใบขาว ๆ ก่อนจะเผยให้เห็นเงาของเกรมลินที่กำลังเข้ายึดและอาละวาดใส่จอหนังเข้าให้ซะแล้ว

ในหนังเจ้าพ่อมาเฟียในตำนานอย่าง ‘Goodfellas’ (1990) ก็ใช้การทลายกำแพงที่ 4 ทำลายเส้นแบ่งของตัวหนังและช็อกคนดูมาแล้ว ตัวหนังตลอดเรื่องแทบจะเล่าดำเนินเรื่องแบบภาพยนตร์ปกติ แต่อยู่ดี ๆ ตัวละคร เฮนรี ฮิลล์ ก็หันมาคุยกับคนดูเสียอย่างนั้น แถมยังมีซีนท้ายเรื่องที่ตัวละคร ทอมมี เดวิโต ยิงปืนรัวใส่คนดู ซึ่งช็อตนี้เป็นคารวะช็อตยิงปืนใส่คนดูจากหนัง ‘The Great Train Robbery’ อีกที

รวมดาวร้ายฝ่ายหญิงใน Birds of Prey

ในหนัง ‘Birds of Prey’ (2020) ของ DC ก็ถือว่าเป็นหนังที่เล่าด้วยการทลายกำแพงที่ 4 ได้คุ้มค่ามาก ๆ เรื่องหนึ่ง เพราะนอกจากตัวละคร ฮาร์ลีย์ ควินน์ ในหนังจะหันหน้ามาเล่าเรื่องกับคนดูแล้ว ก็ยังมีการแนะนำตัวละครอื่น ๆ ในเรื่องด้วยการใช้กราฟิกสีสันสดใส แถมยังมีกิมมิกด้วยการให้ ฮาร์ลีย์ ควินน์ เล่าเรื่องย้อนหน้าย้อนหลังสลับไป ๆ มา ๆ แบบไม่เป็นเส้นตรง นึกจะย้อนเรื่องไปไหนก็ย้อนไปเลยอีกต่างหาก ซึ่งทำให้ตัวหนังครึ่งแรกมีการเล่าเรื่องแบบไม่ตามลำดับเวลา)

หรือแม้แต่หนังสายลับ เจมส์ บอนด์ (James Bond) ก็มีช็อตทลายกำแพงที่ 4 กับเขาด้วยเหมือนกัน ซึ่งปรากฏอยู่ในภาค ‘On Her Majesty’s Secret Service’ (1969) ภาคนี้มีความสำคัญตรงที่เป็นหนังภาคแรก (และภาคเดียว) ของเจมส์ บอนด์คนใหม่ในเวลานั้นอยาง จอร์จ ลาเซนบี (George Lazenby) ที่มารับช่วงต่อจากนักแสดงคนก่อนอย่าง ฌอน คอนเนอรี (Sean Connery) ที่รับบทนี้จนโด่งดังเป็นพลุแตก และคนดูก็ติดภาพเจมส์ บอนด์คนแรกไปแล้วด้วย

เพื่อไม่ให้คนดูปฏิเสธว่าลาเซนบีคือนักแสดงเจมส์ บอนด์คนใหม่ ในทีแรกโปรดิวเซอร์จะพยายามอธิบายการเปลี่ยนหน้าของเจมส์บอนด์ว่าไปศัลยกรรมเปลี่ยนใบหน้าเพื่อหลบหนีศัตรู แต่สุดท้ายก็ไม่ได้ใส่ สิ่งที่หลงเหลือในหนังจึงมีเพียงการใส่ Easter Egg จากภาคก่อน ๆ เพื่อเชื่อมโยงถึงคอนเนอรี และฉากเปิดเรื่องริมชายหาด หลังจากที่หญิงสาวขับรถหนีบอนด์ไปดื้อ ๆ บอนด์จึงหันมาพูดกับกล้องก่อนตัดเข้าไตเติลว่า “ทีกับอีกคนไม่ยักเจออะไรแบบนี้” (“This never happened to the other fellow.”) ซึ่งเป็นการสื่อถึงตัวของลาเซนบีเอง และอ้างอิงถึงบอนด์คนก่อนอย่างคอนเนอรี และก็ยังมีความหมายตามบริบทของเรื่องราวไปด้วยในเวลาเดียวกัน

4. เพื่อความบันเทิงลูกเดียว

นอกจาก ‘Deadpool’ ที่ถือว่าจัดเข้ามาอยู่ในหมวดนี้ได้ ก็ยังมีหนังอีกหลายเรื่องที่ใช้การทลายกำแพงที่ 4 ด้วยเหตุผลเพื่อความบันเทิงและกวนเบื้องล่างล้วน ๆ ซึ่งมันตลกตรงที่มันทลายเส้นแบ่งจินตนาการเสียสิ้น และพลิกความคาดหมายของคนดูจากพล็อตหรือสถานการณ์ซ้ำซากจำเจให้กลายเป็นกลายเป็นมุกที่คาดไม่ถึง และหลายครั้งมันก็กลายไปเป็นมีมฮา ๆ บนโลกอินเทอร์เน็ตต่ออีกทอด

ใน ‘Monty Python and the Holy Grail’ (1975) หนังตลกแนวแฟนตาซีเสียดสีตำนานยุคกลางก็ไม่พลาดที่จะมีช็อตทลายกำแพงที่ 4 ทั้งการที่อยู่ดี ๆ ในระหว่างที่กองทัพของกษัตริย์อาเธอร์วิ่งบุกเข้าทำศึกในยุคกลาง แต่ดันมีตำรวจยุคปัจจุบันทะลึ่งขับรถเข้าไปจับกุมตัวนักแสดง แถมยังเอามือมาบังกล้องไม่ให้ถ่ายต่ออีกต่างหาก หรือที่กาวสุด ๆ ก็น่าจะเป็นช็อตนักแสดงทหารที่ดันใช้กะลามะพร้าววิ่งกุบกับ ๆ แทนม้า!

การทลายกำแพงที่ 4 ที่ทั้งฮา จี๊ด และกวนเบื้องล่างอีกเรื่องหนึ่งก็คือ ‘Wayne’s World’ (1992) ที่เสียดสีการโฆษณาแฝงสินค้า หรือไทอิน (Tie-In) ในวงการภาพยนตร์ ซีนนี้ก็เลยเสียดสีด้วยการไทอินสินค้าแบบโชว์ให้เห็นโลโก้สินค้าโดดเด่นทะลุจอแบบประชดไปเลย ทั้งการยิ้มให้กล้องราวกับพรีเซนเตอร์ตอนกำลังกิน Pizza Hut เคี้ยวขนม Doritos พร้อมชูห่อขนมให้เห็นโลโก้ชัด ๆ ใส่ชุด Reebok ที่มีโลโก้ทุกจุดตั้งแต่หัวจรดเท้า โชว์กระปุกยาแก้ปวด Nuprin ไฮไลต์เม็ดยาในมือให้เห็นเด่น ๆ ก่อนตบท้ายด้วยการหยิบกระป๋อง Pepsi ขึ้นโชว์กล้อง พูดสโลแกนและยกขึ้นจิบ เอาเข้าไป

“นี่ก็ยิงจังเลยไอ้เหี้-!”

หรือแม้แต่ฉากที่พี่เผือก (พงศธร จงวิลาส) ตะโกนด่าทหารในหนัง ‘พี่มาก…พระโขนง’ (2556) ในระหว่างร่วมรบกับเพื่อน ๆ ในสงครามว่า “นี่ก็ยิงจังเลยไอ้เหี้-!” ซึ่งก็ถือว่าเป็นการทลายกำแพงที่ 4 แบบไทย ๆ ที่ฮาและกลายเป็นมีมในเวลาต่อมา

หรือแม้แต่ในหนัง ‘Fight Club’ (1999) นอกจากตัวพล็อตเองที่ถือว่าแหวกแนวสุด ๆ แล้ว วิธีการเล่าเรื่องของหนังเรื่องนี้ก็แหวกแนวด้วยการทลายกำแพงที่ 4 โดยเฉพาะตัวละคร ไทเลอร์ เดอร์เดน ที่นอกจากจะปรากฏตัวในฐานะตัวละครแล้ว ก็ยังรับหน้าที่เป็นผู้บรรยายเรื่องด้วย เรียกว่าเป็นการทลายกำแพงมาตั้งแต่เปิดหนังแล้ว เพียงแต่คนดูยังไม่ทันรู้ตัวต่างหาก


IV. แล้วเมื่อไรควรจะทลายกำแพงที่ 4

สำหรับคนดู การทลายกำแพงที่ 4 มากเกินควร หรือใส่เข้ามาอย่างไม่จำเป็น ก็ทำให้ตัวหนังดูน่ารำคาญ สิ่งที่คนทำหนังควรจะคำนึงในการใส่เข้ามาก็คือ การวางแผนไว้ก่อนว่าจะใส่เป็นระยะ ๆ หรือจะใส่ช็อตเดียวแบบปัง ๆ ไปเลย อีกส่วนสำคัญก็คือ การใช้ตัวละครที่มีเสน่ห์ จะทำให้การทลายกำแพงที่ 4 เป็นไปอย่างมีพลังและทำงานกับตัวหนังได้มากกว่า

และควรคำนึงถึงจังหวะในการใส่ด้วย เพราะการทลายกำแพงที่ 4 ในช่วงเวลาที่ผิดหรือไม่เหมาะสม อาจทำให้การเล่าเรื่องของหนังไม่มีประสิทธิภาพ ทำให้ตัวหนังแทนที่จะพึ่งพาการเล่าที่มีพลัง กลายเป็นว่าต้องพึ่งพาเทคนิคพิเศษคอยบังคับและประคับประคองเรื่องราวไปเรื่อยแบบตามมีตามเกิด และแถมยังไปลดความสมจริงที่ควรจะมีในหนังไปเสียเปล่า ๆ เข้าทำนองเดียวกับหนังตลก การทลายกำแพงที่ 4 อย่างพร่ำเพรื่อมากเกินไปก็อาจทำให้ตัวหนังออกมาเลอะเทอะเกินกว่าจะตลกไปเลยก็เป็นได้


ที่มา: Wikipedia/Fourth wall, Wikipedia/She-Hulk, Wikipedia/Denis Diderot, Colider, Movieweb, Masterclass, DigitalSpy, Premiumbeat, Marvel

พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส