[รีวิว] The School for Good and Evil – เทพนิยายไฮสคูลแหวกขนบที่จบด้วยขนบที่หนีไม่พ้น
Our score
5.7

Release Date

19/10/2022

แนว

แฟนตาซี/ผจญภัย

ความยาว

2.28 ช.ม. (148 นาที)

เรตผู้ชม

13+

ผู้กำกับ

พอล เฟก (Paul Feig)

SCORE

5.7/10

[รีวิว] The School for Good and Evil – เทพนิยายไฮสคูลแหวกขนบที่จบด้วยขนบที่หนีไม่พ้น
Our score
5.7

The School for Good and Evil | โรงเรียนแห่งความดีและความชั่ว

จุดเด่น

  1. เล่นประเด็นความชั่วความดี ความเทาของมนุษย์ ที่เป็นธีมหลักของนิยายได้น่าสนใจ
  2. เดินเรื่องไม่ช้าไม่เร็วเกินไป ดูเพลิน ๆ เด็กดูได้ผู้ใหญ่ดูดึ คนชอบนิยายแฟนตาซีชอบแน่นอน
  3. งานคอสตูมสวยอลังการ อาจจะมีแปลกตาบ้างแต่ถ้าดูจากมุมของคนไม่เก่งแฟชั่นก็ถือว่าอลังการอยู่นะ

จุดสังเกต

  1. เล่นประเด็นความชั่วความดี ความเทาของมนุษย์ แต่กลายเป็นว่าแตะแบบผ่าน ๆ
  2. แม้จะพยายามทำลายขนบหนังแฟนตาซี-หนังวัยรุ่น แต่สุดท้ายก็ดำเนินตามหนังแฟนตาซี-หนังวัยรุ่นอยู่ดี
  3. ตัวละครแบนไม่มีมิติ หลายครั้งพฤติกรรมของบางตัวละครออกไปทางน่ารำคาญ ไร้ตรรกะ ดูไม่มีเหตุมีผล
  4. แอบเสียดายที่นักแสดงมืออาชีพที่ดูจะไม่ค่อยฉายแสงโดดเด่นเท่าไหร่ มีบางจังหวะแอบล้น ๆ ไปหน่อย คือมาเพื่อเป็นนักแสดงสมทบจริง ๆ
  5. ตอนจบเปิดช่องเอาไว้ให้มีภาคต่อด้วย คงต้องรอดูกันอีกทีว่าจะซ่อมได้มากแค่ไหน
  • คุณภาพด้านการแสดง

    5.4

  • คุณภาพโปรดักชัน

    6.9

  • คุณภาพของบทภาพยนตร์

    5.6

  • ความบันเทิง

    4.5

  • ความคุ้มค่าเวลาในการรับชม

    6.1


เรียกได้ว่าเป็นหนัง Original ของ Netflix อีกเรื่องที่มาวินติดอันดับ 1 ใน Top 10 ได้อย่างคาดไม่ถึง สำหรับ ‘The School for Good and Evil’ หรือในชื่อไทย ‘โรงเรียนแห่งความดีและความชั่ว’ หนังแนวเทพนิยายแฟนตาซีสายเวทที่ตอนนี้ถือว่ามาแรงมาก ๆ เพราะนอกจากจะขึ้นแท่นอันดับ 1 ของอันดับ Top 10 ใน Netflix ไทยแล้ว ล่าสุดตอนนี้ขึ้นไปติดอันดับยอดผู้ชมสูงสุดของ Netflix ทั่วโลกกว่า 89 ประเทศแล้วด้วย ตัวหนังดัดแปลงมาจากซีรีส์หนังสือนิยายแฟนตาซีวัยรุ่น 6 เล่มในชื่อเดียวกัน ผลงานการประพันธ์ของ โซมาน ไชนานี (Soman Chainani) โดยหนังเรื่องนี้ดัดแปลงจากหนังสือเล่มแรกของชุดที่ตีพิมพ์ในปี 2013 ตัวหนังสือขายดีทั่วโลกมากกว่า 2,500,000 เล่ม ถูกแปลถึง 30 ภาษา แต่แปลกที่ยังไม่มีฉบับแปลภาษาไทยแฮะ แต่ฮิตขนาดนี้ผู้เขียนคิดว่าเดี๋ยวคงต้องมีแน่นอน

The School for Good and Evil โรงเรียนแห่งความดีและความชั่ว

จริง ๆ หนังสือเล่มนี้เคยเกือบจะเป็นซีรีส์มาแล้วด้วยนะครับ เพราะว่าตั้งแต่ปี 2013 ค่ายยูนิเวอร์แซล พิกเจอร์ส (Universal Pictures) เคยซื้อลิขสิทธิ์หนังสือเพื่อจะวางแผนสร้างเป็นซีรีส์มาตั้งนาน เล็งตัวโปรดิวเซอร์และทีมเขียนบทดัดแปลงเอาไว้แล้ว แต่สุดท้ายก็ไม่ได้มีความคืบหน้า จน Netflix มารับช่วงต่อเอาไปทำหนัง โดยได้ พอล เฟก (Paul Feig) นักแสดง นักเขียนบท โปรดิวเซอร์ และผู้กำกับจาก ‘Bridesmaids’ (2011), ‘Spy’ (2015), ‘Ghostbuster’ (2016) ฉบับรีบูต และ ‘Last Christmas’ (2019) มารับหน้าที่ทั้งกำกับ เป็นโปรดิวเซอร์ และเขียนบทร่วม โดยมีไชนานี เจ้าของบทประพันธ์ต้นฉบับมารับหน้าที่ทั้ง Excutive Producer และเป็นที่ปรึกษาด้านบทอีกให้อีกต่างหาก (และถ้าสังเกตดี ๆ เจ้าตัวแอบไปโผล่รับบทในหนังด้วยนะ)

The School for Good and Evil โรงเรียนแห่งความดีและความชั่ว

เรื่องราวของ ‘The School for Good and Evil’ ว่าด้วยเรื่องราวของสองสาวเพื่อนซี้แปลกแยกแห่งเมืองกาลวาดอน (Galvadon) ทั้ง โซฟี (Sophia Anne Caruso) สาวน้อยผู้อยากออกจากชีวิตจำเจเพื่อไปเป็นเจ้าหญิง และ อกาธา (Sofia Wylie) เด็กสาวมืดหม่นที่โดนตราหน้าว่าเป็นแม่มด วันหนึ่งโซฟีล่วงรู้ตำนานผ่านหนังสือเล่มหนึ่งว่า มีโรงเรียนที่ขนานนามว่าเป็น ‘โรงเรียนแห่งความดีและความชั่ว’ ที่คอยสั่งสอนปลุกปั้นตัวละครในนิยาย ตัวโรงเรียนแบ่งออกเป็นสองฝั่งได้แก่โรงเรียนฝ่ายดีที่คอยสอนการเป็นเจ้าชาย เจ้าหญิง ส่วนโรงเรียนฝ่ายชั่ว คอยสอนเกี่ยวกับการเป็นปีศาจ พ่อมดแม่มด แต่แล้วในคืนพระจันทร์สีแดง เธอทั้งคู่ก็ถูกพาเข้าไปอยู่ในโรงเรียน

The School for Good and Evil โรงเรียนแห่งความดีและความชั่ว

แต่กลายเป็นว่า โซฟีดันไปตกที่ฝั่งโรงเรียนแห่งความชั่ว ส่วนอกาธาดันไปตกที่หน้าโรงเรียนแห่งความดี ทั้งคู่จึงต้องเอาตัวรอดในโรงเรียนและเพื่อนรอบข้างที่ตัวเธอเองไม่ได้เลือก รวมทั้งเหล่าคณาจารย์ ทั้งอาจารย์ใหญ่ (Laurence Fishburne) เลดีเลสโซ (Charlize Theron) หัวหน้าอาจารย์ฝ่ายโรงเรียนความชั่ว ศาสตราจารย์โดวีย์ (Kerry Washington) หัวหน้าอาจารย์ฝ่ายโรงเรียนความดี ศาสตราจารย์เอ็มมา อเนโมนี (Michelle Yeoh) อาจารย์ด้านความสวยความงาม และแถมยังต้องเผชิญกับตำนานและคำสาปร้ายของ ราฟาล (Kit Young) บุรุษลึกลับที่เกี่ยวพันกับตำนานการสร้างโรงเรียนนี้ขึ้นอีกต่างหาก

The School for Good and Evil โรงเรียนแห่งความดีและความชั่ว

แน่นอนว่า ความสนใจแรกคงหนีไม่พ้นการได้นักแสดงระดับท็อปมาร่วมงานกันแบบคับคั่งนะครับ แถมยังมี เคต แบลนเชตต์ (Cate Blanchett) มารับหน้าที่ผู้เล่าเรื่อง (The Storian) หรือคุณปากกาขนนกที่คอยเขียนเรื่องราวในโลกของนิยายนั่นเอง อีกความน่าสนใจก็น่าจะเป็นส่วนผสมของตัวเนื้อเรื่องที่ค่อนข้างชัดเจนแหละว่าได้แรงบันดาลใจจาก แฮร์รี พอตเตอร์ (Harry Potter) และหนังแนวเวทมนตร์ทั้งหลายแหล่ ผสานเรื่องราวแนวเทพนิยาย (Fairy Tales) แฟนตาซีแนวกอธิก (Gothic) ที่มีเจ้าชาย เจ้าหญิง ปีศาจ ภูติ โน่นนั่นนี่ รวมทั้งแนวคิดโลกคู่ขนาน และ Vibe เนื้อเรื่องแนวหนังดราม่าวัยรุ่น High School จริตเพื่อนสาวเข้ามาแจมด้วย

The School for Good and Evil โรงเรียนแห่งความดีและความชั่ว

นั่นเลยเป็นทั้งจุดเด่นและข้อสังเกตตลอดความยาวหนัง 2 ชั่วโมงครึ่งของตัวหนังครับ จุดเด่นคงหนีไม่พ้นความดูง่ายนี่แหละ ตัวหนังไม่ได้มีอะไรซับซ้อนไปกว่า Vibe หนังแบบที่เราคุ้นเคย ทั้งหนังแนวเวทมนตร์ที่มีทั้งการผจญภัย เด็กที่ถูกเลือก ภูติผีปีศาจ และหนังแนวไฮสคูลที่แฝงกายอยู่ในคราบของหนังแฟรีเทลที่มีโรงเรียน มีผู้หญิงบ้าน ๆ เป็นเด็กใหม่เด๋อด๋าที่อยากเป็นเจ้าหญิง มีเจ้าชายสูงศักดิ์เป็นหนุ่มป๊อป และมีเพื่อนที่คอยบุลลีคอยแกล้ง รวมทั้งประเด็นจากธีมของนิยายต้นฉบับที่ต้องการสื่อสาร (แกมจิกกัด) ความขาวจัดดำจัดในโลกเทพนิยาย ที่มักจะ Stereotype ตัวละครที่ดีและชั่วแบบทื่อ ๆ คนดีและความดีจะต้องชนะคนชั่วและความชั่วเสมอ รวมไปถึงรูปลักษณ์ หน้าตา การแต่งตัวที่แบ่งแยกว่าแบบไหนดีแบบไหนร้าย ส่วนโซฟีกับอกาธาก็ดูจะเป็นตัวสะท้อนถึงความเทา ๆ ของมนุษย์ทั้งในโลกจริงและในโลกนิยายว่า มนุษย์ปกติแล้วถ้าอะไรไม่ขาวก็ให้เหมาว่าเป็นดำไว้ก่อน

The School for Good and Evil โรงเรียนแห่งความดีและความชั่ว

แต่กลายเป็นว่า ตัวหนังกลับมีปัญหาอย่างหนักและซับซ้อนพอสมควรกับตัวบทครับ แม้ว่าตัวหนังเองจะพยายามวิพากษ์วิจารณ์ Trope หรือสูตรสำเร็จนิยายแฟนตาซี แต่กลายเป็นว่าตัวหนังเองก็ดูจะตกหลุมพรางเข้าไปอยู่ใน Trope นั้นเสียเอง ในครึ่งแรก ตัวหนังเป็น Trope แบบหนังแฟนตาซีด้วยการมี ‘ผู้ที่ถูกเลือก’ หรือ The Chosen One รวมทั้งการมีเจ้าหญิง เจ้าชาย แม่มด สัตว์ประหลาด ปีศาจ คือจริง ๆ ถ้าใครที่ชอบอ่าน ชอบเสพแนวเทพนิยายมาพอสมควรก็จะดูสนุกขึ้นอีกระดับหนึ่ง เพราะว่าตัวหนังเองก็มี Easter Egg เกี่ยวกับโลกเทพนิยายอยู่พอสมควร ส่วนครึ่งหลัง มันกลับเต็มไปด้วยสูตรสำเร็จหนังแนว High School ที่มีครบทั้งหญิงสาวบ้าน ๆ เด๋อด๋าแปลกแยกที่โดนเพื่อนแกล้ง แอบรักหนุ่มป๊อป อยากได้รับการยอมรับ ทำให้ตัวหนังในครึ่งหลังนี่แทบจะไม่ต้องเดาอะไรให้ปวดหัวเลยครับ เพราะตัวหนังทำได้เพียงแตะผ่านประเด็นหลักไว้แบบแผ่ว ๆ

The School for Good and Evil โรงเรียนแห่งความดีและความชั่ว

ก่อนที่ทุกอย่างจะกลับเข้าสูตรสำเร็จหนัง High School ที่ครอบด้วยหนังแฟนตาซี ที่นอกจากจะเต็มไปด้วยการดำเนินเรื่องของตัวละครหลายตัวที่เบาหวิวและแบนราบตามสูตรแล้ว หลายครั้งเราก็ได้เห็นตัวละครที่อยู่ดี ๆ ก็ทำพฤติกรรมแบบง่าย ๆ รวบ ๆ และหลายครั้งก็ไม่มีตรรกะเอาเสียด้วย และหลายครั้งบางตัวละครก็ขาด ๆ ล้น ๆ น่ารำคาญมาก บางตัวละครบทจะดีก็ดีใจหาย แต่พอร้ายก็ดันร้ายไม่สุดอีก ทั้งหมดนี้นำพาไปสู่บทสรุปที่ไม่ต้องนึกนานว่า ยังไงซะความดีก็ชนะความชั่ว คนดีก็ชนะคนชั่วได้อยู่วันยันค่ำ เทา ๆ ให้ตายสุดท้ายก็แพ้ แถมตัวละครร้ายก็ตายง่ายไม่สมกับตำนานที่อุตส่าห์ปูไว้แต่แรกอีก แม้ว่าตอนจบของหนังเองจะพยายามมีจุดหักมุมเพื่อนำเข้าบทสรุปสวย ๆ เกี่ยวกับมิตรภาพและรักแท้ แต่สุดท้ายก็จบแบบที่ก็เดา ๆ ได้นั่นแหละ ชวนสับสนไปอีกว่าตกลงพวกเธออะไรยังไงกันแน่เนี่ย

The School for Good and Evil โรงเรียนแห่งความดีและความชั่ว

ส่วนเหล่านักแสดงเบอร์ใหญ่ที่ขนกันมาเป็นนักแสดงสมทบทั้ง ลอว์เรนซ์ ฟิชเบิร์น (Laurence Fishburne), ชาร์ลิซ เธอรอน (Charlize Theron) เคอร์รี วอชิงตัน (Kerry Washington) และ มิเชล โหย่ว (Michelle Yeoh) ก็ต้องเรียกได้ว่าเป็นนักแสดงสมทบจริง ๆ แหละครับ ใครที่หวังว่าพลังของดาราระดับแม่เหล็กแบบว่า หนังเรื่องนี้มีทั้งฟิวริโอซา มีทั้งมอร์เฟียส มีทั้งซือเจ๊ มีทั้งเมียจังโก้ อาจจะถูกช็อตฟีลเยอะหน่อย คือหลาย ๆ คนก็แสดงดีตามมาตรฐานดาราแม่เหล็กนั่นแหละ แต่ก็เรียกได้ว่าเป็นบทสมทบจริง ๆ แทบจะไม่มีใครหรือช็อตไหนที่เป็น MVP ขนาดนั้น

The School for Good and Evil โรงเรียนแห่งความดีและความชั่ว

โดยรวม ๆ แล้ว ‘The School for Good and Evil’ ‘โรงเรียนแห่งความดีและความชั่ว’ น่าจะเหมาะกับคอหนังสายเฟมินิสต์เพื่อนหญิง สายเทพนิยายกรีดกราย หรือคอการ์ตูนเจ้าหญิงดิสนีย์ คนที่ชอบหนังแนว ๆ นี้น่าจะดูสนุกครับ (และแน่นอนว่าใครที่ไม่อินก็อาจจะชอบยากหน่อย) ถ้าดูแบบไม่คิดอะไรมากในการหนีสูตรสำเร็จด้วยการเป็นสูตรสำเร็จซะเอง และพฤติกรรมของตัวละครที่ดูน่ารำคาญและไม่ค่อยเข้าที่เข้าทาง ก็ถือว่าดูแบบเพลิน ๆ ได้ล่ะนะครับ เพราะว่าคอสตูมเขาก็ออกจะสวยแฟนซี ซีจีก็ถือว่าไม่แย่เลย เป็นหนังดูง่าย ๆ เปิดให้ลูกหลานดูด้วยกันได้แบบไม่มีพิษภัย ส่วนสารที่อยู่ในเรื่องนี่อาจจะต้องให้พ่อแม่คอยสอนน้องอีกที เพราะมันหายไปกับครึ่งแรกของหนังแล้ว


The School for Good and Evil โรงเรียนแห่งความดีและความชั่ว

พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส