ในบทสนทนาจากรายการ ‘ป๋าเต็ดทอล์ก’ กับ ‘โบกี้ไลอ้อน’ ในตอนที่ 2 โบกี้ได้เล่าเรื่องราวแห่งแรงบันดาลใจและทัศนคติในการเป็นศิลปิน การก้าวผ่าน ‘ความเจ็บปวด’ จากทุกคำพูดของคนอื่น และคำพูดที่เธอมอบให้กับตัวเอง สู่การค้นพบว่าแท้ที่จริงแล้ว ‘โบกี้ไลอ้อน’ เกิดมาเพื่ออะไร ได้เรียนรู้สิ่งใด และจะก้าวเดินต่อไปอย่างไรกับชีวิตที่ได้เลือกเอง

‘ว่าน วันวาน’ แรงบันดาลใจสู่การเป็น ‘โบกี้ไลอ้อน’

สองพี่น้อง ‘ว่าน-โบกี้’

เมื่อย้อนคิดไปตั้งแต่วัยเด็ก ‘ว่าน วันวาน’ พี่สาวของโบกี้คือแรงบันดาลใจสำคัญที่ทำให้โบกี้กลายเป็นโบกี้ไลอ้อนในวันนี้ ว่านคือไอดอลของโบกี้ ความเป็น ‘ไลอ้อน’ นั้นก็มาจากว่านที่ชอบไว้ผมฟูมาก่อนและมีฉายาว่าสิงโต ว่านเป็นคนน่ารักเป็นที่ชื่นชอบของทุกคน เรียนเก่ง เรียบจบสถาปัตย์และหลงใหลในการออกแบบบ้าน ชอบการดีไซน์ห้องน้ำตั้งแต่เด็กและเคยดีไซน์ห้องน้ำส่วนตัวให้น้องสาว ในเรื่องของความรักและความมุ่งมั่นในการร้องเพลงของว่านก็เป็นแรงบันดาลใจให้กับโบกี้ด้วยเช่นกัน แต่โบกี้ก็ไม่เคยบอกความรู้สึกที่มีต่อพี่สาวเลย จนกระทั่งโบกี้ได้แต่งเพลง “กรรไกร” ซึ่งเป็นเพลงที่โบกี้ตั้งใจแต่งให้กับว่าน โบกี้พร้อมที่จะเป็นแฟนคลับเบอร์ 1 ของพี่สาวคนนี้เสมอและพร้อมที่จะคอยซัปพอร์ตในทุก ๆ ทางทุก ๆ อย่าง “หนูจะอยู่ตรงนี้ และหนูก็จะเป็นแฟนคลับเบอร์ 1 ของเขาไม่ว่าเขาจะมีความสุขตรงไหน เขาต้องอยู่ตรงนั้นอย่างดีที่สุดที่ได้เป็นตัวของเขาเองค่ะ”

สู่การเป็นนักเรียนดนตรี

พอเรียนจบ ม.ต้น โบกี้ก็ได้หันไปสู่เส้นทางดนตรีด้วยการเข้าเรียนต่อที่วิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล หลักสูตรเตรียมอุดมดนตรี ทั้งที่ตอนนั้นก็ยังไม่ค่อยมั่นใจว่าจะเดินมาทางนี้สักเท่าไหร่ แถมการใช้ชีวิตนักเรียนดนตรีที่นี่ก็ไม่ใช่เรื่องง่าย ยากตั้งแต่การสอบเข้าที่ทั้งต้องสอบทฤษฎีดนตรี (โบกี้ตอนนั้นยังเข้าใจว่าบรรทัด 5 เส้นมีเส้นทั้งหมด 4 เส้นอยู่เลย) แสดงทักษะทางดนตรีด้วยการร้องแบบโอเปร่าและร้องด้วยภาษาที่ไม่คุ้นเคยทั้งอิตาลี เยอรมัน ฝรั่งเศส ละติน สเปน (ทั้ง ๆ ที่คิดไว้ตอนแรกว่าจะเข้าไปด้วยการร้องเพลง “ฟ้า” ของ Tattoo Colour) จากเรนจ์เสียงที่ตัวเองร้องปกติก็ต้องปรับไปเป็นการร้องแบบเฮดโทน เลยทำให้โบกี้ต้องปรับตัวและเรียนรู้อะไรใหม่ ๆ หลายอย่าง

เสียงแบบนี้เป็นนักร้องไม่ได้หรอก !

โบกี้บอกว่าสิ่งสำคัญของคนเรียนเอกวอยส์ไม่ใช่เครื่องดนตรีแต่เป็นเรื่องของ ‘สุขภาพ’ ครั้งหนึ่งโบกี้เคยเป็นตุ่มที่เส้นเสียงและทำให้การร้องเพลงประสบกับปัญหาและอุปสรรค จนโดนย้ายไปเรียนกับรุ่นพี่คนหนึ่งที่ต้องมาสอนโบกี้ ทำให้โบกี้ได้พบกับถ้อยคำที่สะเทือนใจจากรุ่นพี่คนนี้ “เสียงแบบนี้พี่เองก็ไม่อยากได้ อาจารย์เขาก็ไม่เอา ก็เลยต้องย้ายมาที่นี่ เอาจริง ๆ นะโบกี้หนูเป็นนักร้องไม่ได้หรอก หนูไม่ได้เกิดมาเพื่อสิ่งนี้ ไปทำอย่างอื่นเถอะ” คำปรามาสที่แสนสะเทือนใจนี้ทำให้โบกี้หายไปจากการเรียนเป็นเวลาร่วมปี ทั้งเจ็บปวด เศร้าและมีอารมณ์ที่อ่อนไหว ถึงไม่ได้มาเรียนแต่ก็มาอยู่หอกับเพื่อน พอได้ยินเสียงคนซ้อมดนตรีทีไรเป็นต้องร้องไห้ทุกทีไป

ช่วงนั้นพอกลับมาเรียนผลการเรียนของโบกี้ก็ย่ำแย่ถึงขนาดติด F ติด I กว่า 29 ตัว (ซึ่งโบกี้คิดว่าตัวเองน่าจะเป็นคนที่ติดเกรดพวกนี้มากที่สุดในโรงเรียนแล้ว) การที่โบกี้มาเรียนดุริยางค์ ไม่เคยมีครั้งไหนเลยที่อยากจะโดดเรียน โบกี้รู้สึกอยู่เสมอว่าดนตรีเป็นสิ่งที่โบกี้สามารถเรียนรู้และค้นหาต่อไปได้ไม่มีที่สิ้นสุด แต่เพราะเส้นเสียงที่เคยดีกลับมีปัญหาทำให้โบกี้ไม่รู้ว่าควรไปต่อยังไงเกิดมาเพื่ออะไร ซึ่งแม่ก็จะคอยบอกกับโบกี้อยู่เสมอว่า “เดี๋ยวจะรู้เองว่าเราเกิดมาเพื่ออะไร”

‘สคิปปิท (Skipit)’ ช่วงเวลาที่มีความสุขที่สุด

โบกี้และเพื่อน ๆ วง ‘สคิปปิท (Skipit)’

จนกระทั่งโบกี้ได้มาเจอการประกวด ‘ฮอตเวฟมิวสิกอวอร์ดส์’ และได้ร่วมแข่งขันในปี 2554 ในตอนนั้นปัญหาสุขภาพเส้นเสียงก็ยังไม่ได้ดีขึ้น แต่การร้องเพลงป๊อปนั้นทำได้ง่ายกว่าร้องโอเปร่าและเส้นเสียงไม่จำเป็นต้องปิดสนิท ทำให้ในช่วงเวลานั้นโบกี้กลับมามีความสบายใจกับการร้องเพลงอีกครั้ง เวทีฮอตเวฟทำให้โบกี้ตื่นตาตื่นใจและมีความสุขอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน สุขจากการมีคนข้าง ๆ ที่เป็นนักดนตรีที่รู้ใจ เข้าใจในรสนิยมเดียวกัน แล้วก็ขับเคลื่อนชีวิตดนตรีไปด้วยกัน การขึ้นบนเวทีฮอตเวฟคือเวทีแรกในชีวิตของโบกี้และคุณแม่ก็มาเชียร์สุดชีวิต ทุกคนก็ชอบวง ‘สคิปปิท (Skipit)’ ของโบกี้และเพื่อน ๆ กันมาก กลุ่มนักเรียนดนตรีคลาสสิกที่ได้มาเล่นดนตรีป๊อปที่สนุก ๆ ด้วยกัน โบกี้รู้สึกเท่มากที่ได้ร่วมทำอะไรสนุก ๆ ด้วยกันกับเพื่อน ๆ สุดท้ายโบกี้ก็ได้รางวัล ‘นักร้องยอดเยี่ยม’ กลับมาจากเวทีนี้ และช่วงเวลานี้ก็ได้เป็นความทรงจำที่ดีที่สุดในชีวิตความทรงจำหนึ่งของโบกี้เลย

หนึ่งในช่วงเวลาที่ดีที่สุดของโบกี้

‘โบกี้’ และ ‘ทอย’ คู่หูคู่มึน

“ผมชื่อ ‘เอม’ ครับ ผมอยากจะเป็นโปรดิวเซอร์ให้กับวงของพี่ พี่ไม่จำเป็นต้องรู้ว่าผมเป็นใคร แต่โปรดิวเซอร์ที่ดีคือคนที่จะผลักดันให้ศิลปินได้สร้างสรรค์ผลงานในแนวทางของตัวเองได้ดีที่สุด”

‘นี่มันอะไรกันวะ ?’ ความงงนี้คือรีแอ็กแรกที่โบกี้มีต่อโทรศัพท์ลึกลับของเด็กหนุ่มคนหนึ่งที่โทรมาหาหลังจากจบการแข่งขันฮอตเวฟ ซึ่งต่อมาเด็กหนุ่มคนนี้ก็คือ ‘ทอย – ธันวา บุญสูงเนิน’ หรือ ‘The Toys’ ศิลปินนักร้องนักแต่งเพลงชื่อดัง และอาจจะเรียกได้ว่าเป็นคู่หูคู่มึนกับโบกี้ไลอ้อนเลยก็ว่าได้ ในตอนนั้นโบกี้ได้แต่งงในการจู่โจมจากทอย แต่พอได้ฟังผลงานการโปรดิวซ์ที่ทอยเคยทำมาก็รู้สึกทึ่งและประทับใจแต่ก็ยังไม่ได้ตัดสินใจที่จะให้ทอยมาโปรดิวซ์งานให้ จนกระทั่งทั้งคู่ได้พบกันอีกครั้งในตอนที่กำลังตัดสินใจจะเป็นศิลปินในค่าย What The Duck “ถ้าพี่เซ็น ผมก็เซ็น” นี่คือถ้อยคำจากทอยผู้ซึ่งชื่นชมในความเป็นศิลปินของโบกี้อย่างมาก “ไม่ต้องเรียกพี่ก็ได้นะ” “เออ…ได้ครับ ถ้ามึงเซ็นกูก็เซ็น” “???” และในที่สุดทั้งคู่ก็ได้ตัดสินใจเซ็นสัญญาและก้าวเข้ามาเป็นศิลปินในค่าย What The Duck ด้วยกัน

โบกี้และทอย

ถ้าถามว่าทั้งคู่สนิทกันไหมหรือสนิทกันตั้งแต่เมื่อไหร่อาจตอบได้ยาก แต่หากใครได้เห็นทั้งคู่หรือวิธีการที่ทั้งคู่แสดงออก ต้องบอกเลยว่าทั้งคู่มีความเหมือนกันมาก และไม่แปลกใจเลยถ้าทั้งสองคนจะสนิทกัน โบกี้บอกว่าความสนิทสนมกับทอยนั้นเกิดขึ้นจากการคุยในเรื่องที่ไม่มีใครเข้าใจ แต่ทั้งสองกลับคุยกันเข้าใจในมุมเดียวกัน แถมยังมีนิสัยคล้าย ๆ กันคือเป็นตัวของตัวเองและพูดอะไรตรงไปตรงมา ทำให้ทั้งคู่ถูกทางค่ายส่งไปเรียนการพูดเพื่อให้เวลาพูดแล้วดูน่าเชื่อถือขึ้น ถึงแม้จะเข้าเรียนแค่สองสามครั้งแต่ก็ได้อะไรกันมาไม่น้อย ทั้งคู่ได้ฝึกการลองใช้ความมั่วในการพูดอะไรไปเรื่อยจากสิ่งที่คิดแต่ให้ออกมาน่าเชื่อถือ ด้วยแบบฝึกหัดอย่างการลองขายเก้าอี้ที่วางอยู่ตรงหน้า ถึงแม้ดูเผิน ๆ แล้วอาจจะเหมือนคนพูดไม่รู้เรื่องแต่โบกี้ก็พบว่าทอยเป็นคนที่รู้ว่าตัวเองต้องการจะสื่อสารอะไร เป็นคนที่เก่งและมีจินตนาการอย่างมาก

ครั้งหนึ่งทอยเคยมาถามโบกี้ว่า “ชีวิตคืออะไร” ซึ่งโบกี้ในตอนนั้นที่กำลังสนุกกับการจับจ่ายใช้สอยอย่างเต็มคาราเบลก็แนะนำให้ทอยลองใช้ชีวิตแบบนี้ดูบ้างแนะนำว่าถ้าทอยชอบอะไรก็ให้ใช้เงินซื้อสิ่งนั้นเพราะเธอเชื่อว่านั่นคือความสุข จนวันหนึ่งทอยก็มาหาโบกี้พร้อมกับรถซุปเปอร์คาร์ “ขอบคุณคำแนะนำมึงนะ ที่มึงถามว่ากูชอบอะไร กูรู้แล้วว่ะว่ากูชอบซุปเปอร์คาร์” แทนที่โบกี้จะดีใจแต่มันกลับทำให้รู้สึกสมเพชตัวเองและเศร้าใจ เหตุการณ์นี้ทำให้โบกี้รู้ตัวว่าที่ผ่านมาการใช้เงินซื้อกระเป๋าซื้อข้าวของเหล่านั้นและคิดว่ามันเป็นความสุข แท้ที่จริงเป็นแค่เพียงข้ออ้างที่มาเติมเต็มความว่างโหวงของชีวิตก็เท่านั้นเอง

ทำไมต้อง What The Duck

What The Duck เป็นค่ายที่มีความเข้าใจและรู้จักในตัวศิลปินที่จะเซ็นสัญญาเป็นอย่างดี ผู้บริหารจะเป็นแฟนคลับของศิลปินทุกคน ก่อนที่จะรับเป็นศิลปินในค่าย โบกี้รู้สึกว่าผู้บริหารทุกคนมองเห็นโบกี้แม้ในวันที่โบกี้ไม่มีอะไรเลย มีแค่เพลงของตัวเองที่ทำขึ้นมาเอง ซึ่งก็ยังไม่มั่นใจว่ามันดีพอหรือเปล่า ในวันที่โบกี้ได้ปล่อยอัลบั้มแรกของตัวเองแล้ว โบกี้มีความรู้สึกดีใจที่ได้ทำสิ่งนี้ได้จริง ๆ “เขาเก่งมาก ๆ เลย เขาไม่ใช่แค่มองศิลปินแต่มันเป็นการมองเข้าไปลึกถึงจิตใจของคน ๆ หนึ่งว่าพวกเขาจะสามารถทำได้จริง”

พี่บอลกับพี่มอย (ผู้บริหารค่าย What The Duck) เป็นคนที่สามารถมองได้ลึกถึงจิตใจของคนจริง ๆ แม้กระทั่งคนที่ยังไม่เคยแสดงออก ยังไม่เคยแสดงความสามารถออกมาด้วยซ้ำ หรือแม้กระทั่งในช่วงเวลาที่โบกี้เริ่มประสบกับปัญหาทางจิตเวช เริ่มมีปัญหามากกับการมั่นใจในตัวเองและเจอกับปัญหาทุกอย่างในชีวิต ค่ายเองก็ยังคงมั่นใจและพร้อมซัพพอร์ตโบกี้อยู่เสมอ

เวลาที่หายไป

หลังจากที่โบกี้เสียคุณแม่ไป โบกี้ก็ไม่มีผู้ใหญ่ในชีวิตเลย พี่บอลกับพี่มอยจึงเปรียบเสมือนผู้ใหญ่ในชีวิตเป็นหนึ่งเดียวที่เหลืออยู่ ยังคงมั่นใจและพร้อมซัพพอร์ตให้โบกี้กลับมาเข้มแข็งอีกครั้ง แม้ในเวลาที่ประสบกับปัญหาภาวะทางอารมณ์อย่างหนัก โบกี้หายจากค่ายไปเป็นปี ไม่ได้ทำเพลงต่ออีกเลย ทั้ง ๆ ที่เพลงแรก “ใครอีกคน” ก็ได้ปล่อยออกมาแล้ว แต่ก็ไม่ได้ทำให้โบกี้รู้สึกดีขึ้น เพลงนี้เป็นเพลงที่ทอยแต่งและคอยช่วยเหลือ ถึงแม้โบกี้จะชอบมันมาก แต่ส่วนหนึ่งในใจเธอก็ยังรู้สึกว่าคือผลงานของทอยไม่ใช่ผลงานของตัวเอง มันเป็นสิ่งสำเร็จรูปที่ทอยให้มาเพื่อเป็นความช่วยเหลือ ซึ่งโบกี้ชอบมากตั้งแต่ได้ฟังทอยร้องในตอนแรก แต่สุดท้ายพอโบกี้มาร้องเองมันมีการสื่ออารมณ์ไปอีกแบบหนึ่ง โบกี้เลยเกิดคำถามขึ้นมาในใจว่าทำไมเธอถึงเอาอารมณ์คนอื่นมาใส่ในการเป็นตัวเอง ถึงแม้โบกี้จะไม่ได้มีปัญหาในการที่จะมีนักแต่งเพลงมาแต่งให้และรู้สึกว่าเพลงที่ได้มานั้นมีค่า แต่โบกี้ก็ยังรู้สึกเหมือนกับว่าตัวเองยังอยู่ผิดที่ผิดทาง

ด้วยเหตุนี้โบกี้จึงหายไปเป็นเวลากว่า 8 เดือนไม่ได้ติดต่อค่ายและไม่ได้มีกิจกรรมอะไรทำร่วมกัน รายได้ส่วนใหญ่ของโบกี้ในตอนนี้มาจากการทำคลิปคัฟเวอร์ในยูทูบซึ่งสร้างรายได้ให้เป็นหลักแสน การทำคลิปคัฟเวอร์เหมือนจะเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับศิลปินที่เพิ่งเริ่มต้นและต้องมีรายได้ในการใช้ชีวิต ไหนจะค่าที่พัก ค่าน้ำค่าไฟ ค่าใช้จ่าย ค่าเล่าเรียน แต่ยิ่งโบกี้ทำมันมากเท่าไหร่ มันกลับทำให้รู้สึกห่างไกลจากการเป็นศิลปินมากยิ่งขึ้นทุกที

หนูไม่มีตัวเองอยู่ในเพลง

โบกี้มีความถนัดในการใส่ความเป็นตัวเองลงไปในงานของคนอื่น แต่กลับไม่รู้ว่าท่วงทำนองของตัวเองนั้นเป็นอย่างไร ตัวเองควรจะเล่าเรื่องอะไร ด้วยท่าที อารมณ์ และน้ำเสียงแบบไหน โบกี้พบว่าการหาเรื่องมาเล่านั้นเป็นเรื่องยาก เพราะเธอไม่ได้มองว่าชีวิตตัวเองนั้นมีอะไรแปลกใหม่น่าสนใจ แค่ชีวิตธรรมดา ๆ และเธอจะหาอะไรมาเล่า และจะเล่าอย่างไรให้คนสนใจ “หนูไม่มีตัวเองอยู่ในเพลง หนูไม่รู้จะเล่าอะไร”

ถึงแม้ค่ายจะไม่ได้ตำหนิหรือกดดันอะไรแต่โบกี้ก็เข้าใจว่าค่ายได้ลงทุนลงแรงทำแบรนดิ้งให้ ‘โบกี้ไลอ้อน’ แล้ว และทำไมโบกี้ไลอ้อนถึงยังคงร้องเพลงคนอื่นอยู่ ยังคงวางตัวเองเป็นนักร้องเพลงคัฟเวอร์อยู่ โบกี้จึงตัดสินใจกลับมาและหารายได้ด้วยการเล่นดนตรีกลางคืน ทั้งเตรียมอุปกรณ์เอง ขนอุปกรณ์ จัดการปรับหน้าตู้ เปิดคอม ทำนู่นนี่เอง ถึงแม้จะสนุกมาแต่ก็เหนื่อยมากด้วยเช่นกัน แถมค่าจ้างยังน้อยต่ำเตี้ยเรี่ยดินแตกต่างจากรายได้ที่ได้รับจากยูทูบลิบลับและแถมมาด้วยปัญหาทางสุขภาพและปัญหาทางจิตเวชทั้งแพนิค ย้ำคิดย้ำทำ ไบโพลาร์ต่าง ๆ นานาทำให้หมดไปกับค่ารักษาและไปหาหมอ 

การค้นพบหนทางสู่ ‘เรื่องเล่า’ ของตัวเอง

ในช่วงที่ประสบปัญหาอย่างหนัก โบกี้ได้หันมาเยียวยาตัวเองด้วยการเขียนบันทึกจดทุกอย่างที่ไหลเข้ามาในหัวที่คิดและรู้สึก ออกมาเป็นถ้อยคำ โบกี้บอกว่าในหมื่นคำจะมีคำดี ๆ เชิงบวกสัก 5 คำ นอกนั้นเป็น ‘ขยะทางความรู้สึก’ หมดเลย โบกี้จึงคิดกับตัวเองว่าจะจัดการกับขยะทางความรู้สึกเหล่านี้อย่างไร จะหาทางทิ้งขยะเหล่านี้ไปได้ยังไง ให้ขยะถูกนำไปใช้ได้อย่างมีประโยชน์ โบกี้จึงนำเอาถ้อยความทุกข์เหล่านี้มารีไซเคิลด้วยการเขียนเป็นเนื้อเพลงแล้วก็แต่งเพลงขึ้นมาจากสิ่งนั้น แล้วเวลาที่แต่งแล้วโบกี้ก็จะขีดฆ่าว่าความทุกข์นี้ถูกใช้ไปแล้ว แถมยังเหลืออีกหลายพันคำสามารถเอามาแต่งเป็นเพลงได้เรื่อย ๆ

โบกี้ลองยกตัวอย่างข้อความที่เขียนไว้ในบันทึกว่า “ทำไมเวลาเรารักกันมันช่างอบอุ่นเหมือนอยู่ใต้แสงจันทร์เหมือนกำลังมองดวงดาวที่สวยงาม พระจันทร์ที่ทำให้รู้สึกอบอุ่นและบรรยากาศที่สงบเย็น แสงยามกลางคืนทำให้รู้สึกโรแมนติก นั่นคือความรัก แต่ทุกครั้งที่เราทะเลาะกัน มันเหมือนแสงอาทิตย์ที่สาดลอดมาปลุกเราให้ตื่นจากฝันดีในตอนเช้า มันคือการทะเลาะกัน มันเหมือนความอึดอัดที่ทำให้จิตใจเรารุ่มร้อนอยู่ตลอด มันคือแสงอาทิตย์ – ทิวาสวัสดิ์” และนี่ก็คือที่มาของเพลง​ “ทิวาสวัสดิ์” ที่แปลว่า ‘สวัสดีตอนกลางวัน’ เพลงโบนัสแทร็กของอัลบั้ม ‘Lionheart’ อัลบั้มแรกในชีวิตของโบกี้ นอกจากนี้โบกี้ยังบอกว่าทุกถ้อยคำที่จดลงไป เธอจดจำมันได้ดีทั้งอารมณ์ บรรยากาศ และสัมผัสของช่วงเวลานั้น อย่างเช่นคำว่า ‘โอ๊ย’ คำเดียวที่จดลงไปโบกี้ก็เห็นภาพ จำความรู้สึกตอนที่ ‘โอ๊ย’ได้ ตอนนั้นบรรยากาศแบบไหน เสียงแบบไหน มีความชื้นแบบไหน ในร่างกายเป็นอย่างไร มีแววตาแบบไหน หรือแม้กระทั่งรูป สี กลิ่น เสียงของบรรยากาศเหล่านั้น

การค้นพบวิธีการเขียนเพลงในแบบฉบับของตัวเอง เป็นไปอย่างค่อยเป็นค่อยไป และโบกี้ค่อย ๆ ค้นพบมันตั้งแต่เริ่มเขียนเพลงแรกคือเพลง “แขนซ้าย” จากนั้นจึงเริ่มเข้ามือเข้าทางและเริ่มเก็บคำไว้ให้เยอะ ๆ และก็ยังคงแต่งเพลงไปเรื่อย ๆ โดยไม่ได้เน้นว่ามันต้องดังหรือต้องประสบความสำเร็จแค่ไหนอย่างไร แต่เน้นแค่ว่ามันเป็นความรู้สึกจริง ๆ

Hello darkness my old friend

ถึงแม้ว่าโบกี้จะค้นพบหนทางของตัวเองแล้ว แต่ปัญหาทางจิตเวชก็ยังคงรุมเร้าอยู่ไม่ห่าง เหมือนเพื่อนเก่าที่หมั่นคอยมาทักทายเสมอ ในบางครั้งโบกี้ไม่สามารถร้องเพลงต่อได้ เกิดอาการกรดไหลย้อน ถึงกับร้องไห้และอาเจียนออกมา เป็นอาการที่อาจดีขึ้นได้แต่คงไม่มีวันหายขาด ทำได้เพียงทำความเข้าใจในตัวเอง เข้าใจในโรคที่อาศัยอยู่กับตัวเราคล้ายดั่งเงาที่ไม่มีวันแยกออกจากร่าง “จริง ๆ ทุกอย่างมันมีเหตุผลของมัน แล้วสิ่งที่คุณเป็นอยู่มันก็เป็นส่วนหนึ่งของตัวคุณ แบบอย่าโทษตัวเอง อย่าโทษสิ่งที่เป็นเลย ถ้ามันไม่หายจริง ๆ ก็ยอมรับแล้วก็ใช้ชีวิตอยู่กับมันอย่างมีความสุข ทำความเข้าใจมันแล้วสุดท้ายมันจะเข้าใจเราเช่นกัน”

มั่นใจในความไม่มั่นใจ

พอเขียนเพลง “แขนซ้าย” ได้ก็ตามมาด้วยซิงเกิลอื่น ๆ อีกเรื่อย ๆ และได้รับกระแสตอบรับที่ดีมาโดยตลอด โบกี้รู้สึกว่าพร้อมแล้วที่จะลองก้าวขึ้นมาในฐานะคนทำเพลง ในฐานะของศิลปิน ทำให้โบกี้เริ่มมีความมั่นใจในผลงานและแนวทางของตัวเองที่เริ่มจับต้นชนปลายได้แล้ว ซึ่งดูเหมือนว่าโบกี้น่าจะไม่มีปัญหากับความไม่มั่นใจแล้ว แต่อย่างไรก็ตามโบกี้กลับยังคงรู้สึกว่าตัวเองมีความไม่มั่นใจอยู่ตลอดเวลาอยู่ดี มีความมั่นใจในผลงานของตัวเองแต่ยังไม่มั่นใจในตัวเองเท่าไหร่ เป็น ‘ความมั่นใจในความไม่มั่นใจ’ แม้แต่เวลาที่ขึ้นแสดงหลายครั้งก็ต้องหยิบกระจกขึ้นมาส่อง คนดูอาจคิดว่าเป็นมุก แต่จริง ๆ แล้วโบกี้ส่องกระจกเพื่อเรียกความมั่นใจแต่สุดท้ายก็ยังไม่มั่นใจอยู่ดีแต่เพียงแค่รู้ตัวว่ากำลังไม่มั่นใจอยู่นะ และกลับมา ‘ยอมรับในสิ่งที่ตัวเองเป็น’ เพียงเท่านั้นก็ทำให้โบกี้มั่นใจบนความไม่มั่นใจนี้ต่อไปได้ และสิ่งที่ส่งเสริมความมั่นใจให้กับโบกี้ได้ดีที่สุดก็คือ ‘เพลง’ โบกี้มั่นใจในเพลงของตัวเอง โดยไม่ได้คาดหวังว่ามันจะดังหรือไม่จะดีหรือเปล่า แค่มั่นใจเพราะตัวเองรู้สึกชอบ ฟังแล้วรู้สึกว่าอยากฟังอีก

‘หินกรองน้ำ’

การแต่งเพลงเคยเป็นสิ่งที่ทำให้โบกี้ เพราะรู้สึกว่ามันต้องออกมาเพอร์เฟกต์ ทั้ง ๆ ที่รู้ว่าเพลงหนึ่งเพลงมันไม่ได้ไพเราะสำหรับทุกคน แต่โบกี้ก็อยากให้มันเพอร์เฟคสำหรับตัวเอง “แก้แล้วแก้อีกจนรู้สึกว่าการทำเพลงของหนูมันเป็นเหมือนหินร้อยกว่าชั้น ชั้นบนสุดอาจจะเป็นชั้นที่หยาบที่สุดจนละเอียดที่สุดเพื่อกรองน้ำที่ไหลลงมาสู่คนฟังนั่นก็คือ ‘เพลง’ ค่ะ น้ำนั้นต้องบริสุทธิ์ขนาดไหนหรอถึงจะได้เข้าหูคนฟังได้อย่างมีประสิทธิภาพในฐานะเพลงนึง”

โบกี้ผู้ ‘ไม่ปล่อย’

เวลาทำผลงานอะไรสักอย่าง โบกี้เป็นคนที่ไม่เคยปล่อยให้คนอื่นได้ฟังก่อนเลย แม้แต่ค่ายก็ไม่ได้เคยได้ฟังจนกว่ามันจะเสร็จ ในบางครั้งกับต้องทำเดโมหลอกเพื่อให้ค่ายเพลงฟัง แต่จริง ๆ แล้วเพลงที่ทำกลับเป็นคนละแบบกับตัวเดโมที่ให้ค่ายฟังเลย ตอนที่พี่บอลเคยมาออกในรายการป๋าเต็ดทอล์ก พี่บอลบอกว่าการทำงานกับโบกี้เป็นทั้งความฝันและความท้าทาย ด้วยวงเพลงบ้านเราเมื่อเทียบสัดส่วนกับศิลปินชายแล้ว ศิลปินหญิงที่ประสบความสำเร็จนับว่ามีน้อยมา และส่วนหนึ่งก็เป็นเรื่องการทำงานกับโบกี้ที่มีความท้าทายอย่างมากกับการต้องทำงานกับคนที่เป็นเพอร์เฟกชันนิสต์หรือว่ามีความมั่นใจในความไม่มั่นใจแต่เป็นเพอร์เฟกชันนิสต์แบบนี้มันยิ่งท้าทายเข้าไปใหญ่ ด้วยการเป็นคนแบบนี้โบกี้เลยพยายามดูแลงานของตัวเองในทุกขั้นตอนตั้งแต่การแต่งเพลง การทำดนตรี การทำสื่อโปรโมตเช่นภาพปกอัลบั้ม กราฟิก ลุคหรือภาพลักษณ์ของตัวเอง ถ่ายรูปเองรีทัชเอง ทั้ง ๆ ที่ในแต่ละงานก็มีคนที่ถนัดทำหน้าที่ในแต่ละตำแหน่งอยู่แล้ว ซึ่งในปัจจุบันนี้โบกี้ก็ค่อย ๆ เรียนรู้ที่จะปรับจะปล่อยในบางจุดและเรียนรู้ที่จะทำงานร่วมกันกับผู้อื่นโดยที่ยังคงความเป็นตัวเองต่อไป  

วันนี้ของโบกี้ไลอ้อน

ในวันนี้โบกี้มั่นใจว่าได้พบทางของตัวเองแล้ว ค้นพบว่าตัวเองเกิดมาเพื่อสิ่งนี้จริง ๆ ไม่ว่าจะอยู่ในอารมณ์ไหนแต่พอขึ้นเวทีมาเมื่อใด เหมือนลืมทุกอย่างทุกปัญหาทุกความกังวลใจไปหมด “มันอาจดูเวอร์แต่ว่านี่คือเรื่องจริงในชีวิตที่กล้าพูด ไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้น อารมณ์มันจะแย่ขนาดไหน แค่เราขึ้นเวที มีนักดนตรีที่รู้ใจ มีผู้ชม แค่นั้นเหมือนอยู่ดี ๆ มันก็รู้สึกว่าทำไมจะต้องมีความสุขไปกว่านี้อีก ถ้าเลือกตายได้หนูขอตายบนเวที หนูขอแบบเล่นอยู่แล้วเสลดพันคอเสียชีวิตอะไรแบบนี้ดีกว่า”

สิ่งที่โบกี้มองว่าเป็นความท้าทายสำหรับตัวเองต่อไปก็คือการทำงานกับคนรอบข้างให้มีความเป็นมืออาชีพ จะสังเกตได้ว่าโบกี้ยังไม่ค่อยฟีเจอริ่งกับใครเลย เพราะว่าไม่ไว้ใจตัวเอง กังวลว่าจะทำยังไงในเมื่อยังจัดการตัวเองไม่ได้เลย แต่ต่อไปคงจะได้เห็นโบกี้ได้ร่วมงานกับศิลปินคนอื่น ๆ แน่

ส่วนสิ่งที่ทำให้โบกี้ภูมิใจในตัวเอง ก็คงเป็น ‘ตัวเอง’ ตัวเองที่มีความคิดสร้างสรรค์ ที่ไม่ว่ามันจะกลายเป็นความฟุ้งซ่านหรืออะไรก็ตามในบางที  แต่ก็ทำให้โบกี้ดีใจที่มีความคิดเหล่านี้และมีศิลปะอยู่ในตัวของตัวเอง ‘ศิลปะ’ คือสิ่งที่หล่อหลอมทุกอารมณ์ของโบกี้ให้มันคงที่ เปี่ยมไปด้วยความสวยงามและสมาธิ สามารถกล่อมตัวเองให้อยู่ในจัดการได้ทั้งที่อยู่ในความเป็นจริงและจินตนาการ

ตอนนี้สิ่งที่โบกี้กลัวที่สุดคือเรื่องสุขภาพ กลัวจนหลายครั้งทำให้คนเข้าใจผิด ในช่วงที่ยกเลิกงานติดกันเยอะมาก มากจนมีกระแสไม่ค่อยดีว่าโบกี้ไม่รับผิดชอบงาน แต่ในความเป็นจริงแล้วไม่มีครั้งไหนเลยที่โบกี้ไม่อยากทำสิ่งนี้ “ไม่เคยอยากจะทิ้งงานไปสักวินาทีเดียวเลยค่ะ ถ้าเลือกได้หนูอยากทำมันตลอดชีวิตเลยด้วยซ้ำ แต่บางทีหนูก็ไม่รู้คนจะเชื่อหนูมากน้อยแค่ไหนว่ามันเกิดจากสุขภาพจริง ๆ”

เมื่อพูดถึงบทเรียนที่สำคัญที่สุดในชีวิต โบกี้พบว่าบทเรียนที่สำคัญที่สุดก็คือ ‘ตัวเอง’ “ตัวเราคือบทเรียนของเราเอง เหมือนผ่านอะไรกันมาเยอะมากเลยค่ะ ทั้งความสุข ความเศร้า ความทุกข์ ความเบื่อหน่ายที่ข้ามผ่านมาได้ทุกครั้ง ความไม่รักตัวเองในบางครั้ง สุดท้ายตัวเราที่เจอเหตุการณ์ต่าง ๆ มา มันคือบทเรียนที่สำคัญว่า ตัวเราก็คือตัวเรา แล้วตัวเราก็จะต้องเดินต่อไปแบบนี้อย่างไม่มีที่สิ้นสุด จนวันหนึ่งที่เราหมดลมหายใจ”

พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส