เปิดมาเดือนแรกของปี 2023 ก็มีอัลบั้มเพลงดี ๆ ออกมาให้ได้ฟังกันมากมาย Beartai Buzz เลยขอแนะนำอัลบั้มดี ๆ ประจำเดือนมกราคมของปีนี้ มาให้ได้ติดตามไปฟังกันอย่างเพลิดเพลิน

Ryuichi Sakamoto – ‘12’

เกือบหนึ่งทศวรรษที่ค้นพบว่าตัวเองประสบกับโรคร้ายและกว่า 5 ปีจากอัลบั้มล่าสุดคือ ‘async’ ริวอิจิ ซากาโมโตะ (Ryuichi Sakamoto) ยังคงทำเพลงต่อไปแม้ว่าการต่อสู้กับโรคมะเร็งจะยังคงดำเนินอยู่ก็ตาม อัลบั้มล่าสุดของเขา ‘12’ เขียนและบันทึกในช่วง 13 เดือนที่ยากลำบากเป็นพิเศษในชีวิตของเขา และ ‘12’ คือคอลเล็กชันของบทเพลงแอมเบียนต์ที่น้อยแต่ลุ่มลึกและอบอวลไปด้วยบรรยากาศในแบบของซากาโมโตะที่เรียงร้อยสุ้มเสียงผ่านเปียโนและซินธิไซเซอร์ อาจเรียกได้ว่าอัลบั้มนี้มีการเรียบเรียงที่ ‘น้อย’ ที่สุดเท่าที่ซากาโมโตะเคยทำมาแต่ว่าผลลัพธ์ของมันกลับน่าทึ่งอย่างยิ่ง  

แทร็กเพลงในอัลบั้มนี้มีชื่อและลำดับตามช่วงเวลาที่มีการเขียนขึ้น ทำให้อัลบั้มนี้ให้ความรู้สึกแบบไดอารี่ เสียงแต่ละเสียงต่างเคลื่อนไหวอย่างนุ่มนวลผ่านพื้นที่และเวลา มีทั้งบทเพลงที่เป็นท่วงทำนองบางเบาอันสะท้อนก้องภายใน เช่น “20210310”  สุ้มเสียงดิบลึกแห่งความครุ่นคิดคำนึงใน “20220202” และ “20220214” อารมณ์เศร้าสร้อยและสง่างามที่ชวนให้คิดถึงงานเพลงประกอบภาพยนตร์ของซากาโมโตะใน “20220207” และ “20220307” และบทเพลงที่มาพร้อมความอบอุ่นและความเรียบง่ายอันไพเราะ ให้ความรู้สึกเหมือนความพร่ามัวอันสง่างามในจิตรกรรมอิมเพรสชันนิสม์ “20220302 (sarabande)” ซึ่งต่อด้วย “20220302” บทเพลงในช่วงเวลาเดียวกันที่คลี่คลายรากเดิมออกในอีกทิศทาง

‘12’ คือความสง่างามที่เงียบสงบ ละเอียดอ่อนและนุ่มนวลที่สุดของซากาโมโตะ อันเป็นผลพวงจากความคลี่คลายชีวิตของผู้ที่ผ่านวัยวันและช่วงเวลาดีร้ายต่าง ๆ มากมาย เป็นผลผลิตจากช่วงเวลาที่ซากาโมโตะได้รักษาตัวเองหายจากโรคมะเร็ง และเขาได้ ‘กลับบ้าน’ มาทำงานเพลงอย่างเต็มที่อีกครั้ง แต่คราวนี้เมื่อเขาได้เผชิญหน้ากับเปียโนและซินธิไซเซอร์ที่ใช้ในการแต่งเพลง เขากลับไม่มีความรู้สึกว่าตัวเองกำลังจะ ‘แต่งเพลง’ แต่กลับรู้สึกถึงพลังของเสียงที่อาบรดลงไปบนเรือนร่างของเขา และจากนั้นมาเขาก็ปฏิบัติตนต่อการแต่งเพลงราวกับการเขียนไดอารี่ในแต่ละวัน และนั่นก็คือที่มาของงานเพลงในอัลบั้ม ‘12’ ที่พร้อมจะหลั่งรินรดลงไปในโสตสัมผัสของเรา

Spangle Call Lilli Line – ‘Ampersand’

เป็นการกลับมาครั้งใหม่ที่พาเรากลับไปยังจุดเริ่มต้นของ Spangle Call Lilli Line อีกครั้งกับ ‘Ampersand’ อัลบั้มใหม่ที่รอคอยมาร่วม 2 ปี นี่คือผลงานชิ้นเอกชิ้นใหม่ที่มาพร้อมอารมณ์และท่วงทำนองทางดนตรีที่ทำให้เราคิดถึงงานเพลงในยุคแรก ๆ ของวง

อัลบั้มใหม่ชุดที่ 14 ‘Ampersand’ ต้อนรับ ฮิโรชิ โยชิดะ (Hitoshi Yoshida) หรือ salon music ในฐานะ โค-โปรดิวเซอร์เป็นครั้งแรกในรอบ 15 ปีนับตั้งแต่อัลบั้ม ‘PURPLE’ และ 3 ซิงเกิล “ira”, “lean forward” และ “near you -z-mix” ที่ปล่อยออกมาก่อนหน้านี้ก็ถูกบรรจุไว้ในอัลบั้มใหม่นี้ด้วย บทเพลงเหล่านี้ได้แสดงให้เห็นถึงการผสมผสานที่ลงตัวระหว่าง Spangle Call Lilli Line และฮิโรชิ โยชิดะที่สามารถดึงเอาเอกลักษณ์อันกลมกล่อมของ SCLL ออกมาได้อย่างเข้มข้นจนถึงที่สุด ไม่ว่าจะเป็นความสมดุลระหว่างความนิ่งและการเคลื่อนไหวในท่วงทำนองที่เรียบง่าย เมโลดี้ที่น่าจดจำและเสียงร้องที่ละเอียดอ่อน เป็นการผสมผสานความต่างในทางที่กลมกล่อมลงตัวบนหลักของหยิน-หยางทางดนตรี

ฟังสุ้มเสียงล่าสุดของ SCLL ทั้ง 10 เพลงที่อัดแน่นด้วยแก่นแท้ของวงและกลิ่นอายทางดนตรีที่หลากหลาย เช่น อาร์แอนด์บี นิวเวฟ อะคูสติก โพสต์ร็อกและอิเล็กทรอนิกา ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นรากฐานที่มาของ SCLL ได้ใน ‘Ampersand’ !

Måneskin – ‘Rush!’

‘Rush!’ เป็นอัลบั้มล่าสุดจาก ‘Måneskin’ ร็อกเกอร์สาย Glam-Rock จากอิตาลีที่กำลังฮอตอย่างมากอยู่ ณ ขณะนี้ ซึ่งเป็นวงที่มีจุดเริ่มต้นจากการแสดงบนท้องถนนในกรุงโรมตั้งแต่ยังเป็นวัยรุ่น แต่เพียงไม่กี่ปีต่อมาพวกเขาก็กลายเป็นวงดนตรีที่มีเสน่ห์ดึงดูดใจซึ่งได้รับการยกย่องอย่างกว้างขวางว่าเป็นวงดนตรีแนวหน้าในการขับเคลื่อนโลกใบนี้และจะเป็นวงที่ทำให้ดนตรีร็อกกลับฟื้นคืนชีพอีกครั้ง ! ‘Rush!’  ประกอบด้วยเพลงมันส์ ๆ อย่าง “Kools Kids” พร้อมกับ “The Loneliest” ซึ่งเป็นเพลงฮิตระดับโลกของวงอันเป็นเพลงในสไตล์บัลลาดร็อคคลาสสิกยุคเก่าที่เก๋าเอาเรื่องเลย หรือจะเป็น “Gossip” ที่มี ทอม โมเรลโล (Tom Morello) มือกีตาร์วง Rage Against The Machine มาร่วมงานด้วยก็เป็นอะไรที่สนุกสนานเร้าใจจริง ๆ  บอกเลยว่าอัลบั้มเต็มชุดใหม่นี้ Måneskin มามันส์แบบจัดเต็มไปเลย

Sam Smith – ‘Gloria’

หลังจากความสำเร็จไปทั่วโลกของซิงเกิล “Unholy” ที่มีนักร้องเพลงป็อปอย่าง คิม เพทราส  (Kim Petras) มาร่วมแจม แซม สมิธ (Sam Smith) ผู้ซึ่งมาลั้ลลาแว้นมอไซค์ช่วงปีใหม่ที่เมืองไทยก็พร้อมแล้วที่จะปล่อยสตูดิโออัลบั้มชุดที่ 4 ที่มีชื่อว่า ‘Gloria’

“พวกเราทุกคนมีเสียงของนักสู้ และคุณต้องมองหาสิ่งนี้ให้พบ” แซมกล่าว “อัลบั้มของผมมีชื่อว่า Gloria ผมเรียกมันว่า Gloria เพราะผมเรียกเสียงนั้นในตัวผมว่า Gloria มันเหมือนกับเสียงในหัวของผมที่บอกว่า ‘คุณทำได้’ และเด็ก ๆ ก็สามารถเข้าถึงเสียงนั้นและฟูมฟักให้มันเติบโตได้”

ท่ามกลางท่วงทำนองของดนตรีไฮเปอร์ป๊อป คันทรี่ แดนซ์ฮอลล์ ดิสโก้ และอาร์แอนด์บี ใน ‘Gloria’ เรายังสามารถพบในทุกสิ่งที่เราคาดหวังจากงานเพลงของสมิธทั้งเสียงร้องที่เข้าถึงอารมณ์ความรู้สึก การถ่ายทอดห้วงอารมณ์ออกมาอย่างบริสุทธิ์จริงใจ และสิ่งที่มากไปกว่านั้นใน ‘Gloria’ ก็คือสิ่งที่สมิธได้นิยามอัลบั้มนี้ว่าเป็น “การปลดปล่อยทางอารมณ์ เพศ และจิตวิญญาณ” อัลบั้มนี้จึงคล้ายเป็นดั่งบทบันทึกแห่งช่วงเวลา ‘ก้าวพ้นวัย’ หรือเป็นดั่งภาพยนตร์ ‘coming of age’ สำหรับสมิธที่เบ่งบานและเฉิดฉายเต็มที่พร้อมเสิร์ฟบทเพลงอันอร่อยเหาะให้แฟน ๆ ได้ลั้ลลากันไปอย่างเต็มที่

Mac DeMarco – ‘Five Easy Hot Dogs’

ผลงานอัลบั้มล่าสุดจาก แม็ค เดอมาร์โค (Mac DeMarco) ศิลปินหนุ่มมากความสามารถสุดยียวนจากแคนาดา ผู้นำพากระแสแนวเพลงอินดี้ป๊อปให้กลายเป็นปรากฏการณ์ฮิตแก่แฟนเพลงทั่วโลกในปัจจุบัน ‘Five Easy Hot Dogs’ คือผลงานบรรเลงล้วนจากเดอมาร์โคที่ถึงแม้ว่าเขาจะไม่ได้เดินตามแนวทางแบบที่เคยทำไว้ในเพลงร้อง แต่ด้วยสำเนียงเสียงกีตาร์ พื้นผิวของเสียงและการเรียบเรียงดนตรี ก็ทำให้ใครที่เป็นแฟนของเขาจดจำได้ในทันทีว่านี่มันผลงานของนายคนนี้แน่นอน เพียงแต่ว่ามันถูกถ่ายทอดออกมาในวิถีทางที่แตกต่างออกไป

เดอมาร์โคหิ้วอุปกรณ์ทำเพลงแบบพกพาขับรถขึ้นเหนือล่องใต้ไปยังถนนหนทางและมุมเมืองต่าง ๆ ที่หลากหลายและบันทึกเสียงเพลงของเขาตามสถานที่ต่าง ๆ ที่ได้มาเยือน แต่ละเพลงก็เลยตั้งตามสถานที่เหล่านั้น ทำให้ท่วงทำนองและอารมณ์ของแต่ละเพลงเกิดจากความเชื่อมโยงอันลึกซึ้งที่เดอมาร์โคมีต่อสถานที่เหล่านั้น เช่น “Gualala” หรือว่า “Rockaway” ที่อ้างอิงถึงสถานที่ที่เขาเคยอาศัยอยู่ในนิวยอร์ก ซึ่งถึงแม้เดอมาร์โคจะไม่ได้กลับไปเยือนในในทริปนี้ แต่บทเพลงนี้ก็เกิดจากการที่เขาระลึกถึงช่วงเวลาที่อยู่ที่นั่น

ความรู้สึกที่ถ่ายทอดในเพลงเหล่านี้เป็นความรู้สึกที่คล้ายเวลาที่เราจะได้รับเวลาไปเยือนเมืองหรือสถานที่ที่เราไม่ได้ไปมานาน มีการผสมผสานระหว่างความคิดถึงและความตื่นเต้นเบา ๆ ที่ได้เห็นว่าสถานที่เหล่านี้มีการเปลี่ยนไปมากเพียงใด เดอมาร์โคใช้เสียงอันเป็นเอกลักษณ์ของเขาในบริบทและโครงสร้างใหม่ซึ่งมอบท่วงทำนองอันบริสุทธิ์สดใหม่ให้กับเรา เป็นอีกมิติหนึ่งในการฟังเพลงของเดอมาร์โคที่เปิดพื้นที่ให้เราได้ร่วมเดินทางไปกับเสียงดนตรีของและตีความมันไปในทิศทางที่เราพอใจ สุขใจ และเพลิดเพลินใจ

YOUNGOHM – ‘ธาตุทองซาวด์’

ยังโอม (YOUNGOHM) แรปเปอร์หนุ่มมากความสามารถกลับมาพร้อมอัลบั้มเต็มชุดที่ 2 ในชื่ออัลบั้มว่า ‘Thatthong Sound (ธาตุทองซาวด์)’ พร้อม 19 บทเพลงบรรเลงเรื่องราวที่น่าสนใจไปพร้อมกับเอกลักษณ์ของเขาที่ยังคงชัดเจน เป็นการเติบโตขึ้นไปอีกขั้นกับการรังสรรค์ความคิดผ่านบทเพลงในอัลบั้มนี้ที่หล่อหลอมชีวิตในวัยมัธยมจากโรงเรียนมัธยมวัดธาตุทองอันเป็นช่วงเวลาที่ยังโอมมองว่าเป็นจุดเริ่มต้นของชีวิตมาเรียงร้อยขับขานเป็นบทเพลง

การเติบโตของยังโอมทั้งในด้านมิตรภาพ ความรัก และด้านอื่น ๆ ถูกถ่ายทอดผ่านบทเพลงทั้ง 19 เพลงของ ‘ธาตุทองซาวด์’ ที่มีความแปลกใหม่ ทั้งเนื้อเพลง ดนตรี การเล่าเรื่องราว อันผสมผสานไปกับแนวดนตรีฮิปฮอป แรปแบบจัดเต็มทุกความละเอียดในการร้อยเรียงและยังมีการแรปลงบนบีตสไตล์ใหม่ ๆ มาผสมผสานเครื่องดนตรีไทยลงบนบีต ซึ่งยังโอมตั้งใจให้งานเพลงในอัลบั้มนี้พัฒนาขึ้นไปอีกขั้นให้ชาวต่างชาติได้สนใจในความแปลกใหม่ของเพลงไทย ซึ่งอัลบั้มนี้ก็มีครบรสทั้งเพลงรักอย่าง “Very Very Small” ที่เล่าถึงรักครั้งแรกสมัยเรียนของยังโอม “สายน้ำผึ้ง (Ft. Sonofo)” เพลงจีบสาวโรงเรียนสายน้ำผึ้ง “เสียงจากเด็กวัด” ที่เล่าเรื่องสะท้อนมุมมองของเด็กวัด “ธาตุทองซาวด์ (Ft. Sonofo)” ที่มาพร้อมเรื่องราวและซาวด์ดนตรีที่เป็นตัวแทนของนักเรียนวัดธาตุทอง

Tsunari – ‘Party With Nari’

‘Tsunari’ ชื่อเก๋ ๆ นามนี้อ่านแบบไทย ๆ ได้ว่า ‘สุนารี’ เธอเป็นแรปเปอร์สาวลูกครึ่งไทย-ตรินิแดด ที่เติบโตในหลายถิ่นดินแดน เกิดที่อังกฤษแต่ไปโตที่โคราชถิ่นอีสานและในซาอุดิอาระเบีย จากนั้นจึงกลับมาไทยและกลับไปที่ซาอุ ฯ ย้ายไปย้ายมา จนสุดท้ายได้ตัดสินใจไปใช้ชีวิตและทำเพลงอยู่ที่ลอนดอนประเทศอังกฤษ จากชีวิตที่ได้สัมผัสความหลากหลายทางวัฒนธรรม พบเจอเรื่องราวต่าง ๆ มากมาย Tsunari ได้แปรเปลี่ยนมันเป็นบทเพลงที่ถ่ายทอดออกมาอย่างมีเอกลักษณ์ เฟียร์ส ๆ โดน ๆ มากมาย ในคุณภาพการทำเพลงระดับอินเตอร์และกลายเป็นหนึ่งในศิลปินฮิปฮอป อาร์แอนด์บีที่น่าจับตามองคนหนึ่งใน พ.ศ. นี้

‘Party With Nari’ คือ EP อัลบั้มแรกในชีวิตของเธอ ที่เป็นดั่งคำประกาศในความเชื่อที่เธอมีมาตลอดว่า “เรานั้นต้องกล้าที่จะเป็นตัวของตัวเองและกล้าที่จะส่งต่อความคิดในทางบวกของเราไปสู่ผู้อื่น”

อัลบั้มเปิดด้วย “Party With Nari” ที่พร้อมจะพาทุกคนให้มูฟให้แดนซ์ไปด้วยกันพร้อมทั้งทำความรู้จัก Tsunari ให้ดียิ่งขึ้น ต่อด้วย “Parachute” บทเพลงที่ปลุกใจให้เรารู้ว่าไม่มีอะไรที่จะต้องกลัว และ “Dai Pao”? เพลงแรปน่ารัก ๆ เฟียร์ส ๆ โชว์ลูกเล่นลีลาในการใช้ภาษา ไม่ว่าจะเป็นการจับคำเปรี้ยว ๆ มาบอกเล่าเรื่องราวการจีบ หรือหยอกล้อเล่นกันระหว่างชายหญิง รวมถึงโฟลว์การร่ายที่ไหลสวย ๆ ต่อด้วย “Since Young” บทเพลงที่พาเรากลับไปรู้จักกับเรื่องราวชีวิตของเธอตั้งแต่วัยเยาว์จนถึงวันที่เป็นศิลปิน ที่เปิดมาด้วยท่อนร้องว่า ‘ลำบากมาตั้งแต่เด็ก’ ก่อนที่เธอจะเล่าเรื่องราวผ่านท่วงทำนองและการร้องแร็ปในสไตล์ Tsunari ปิดท้ายด้วย “Now They Wanna Know Me” บทเพลงที่บ่งบอกถึงความ inclusive ของ Nari Gang ไม่ว่าคุณจะเป็นใครมาจากไหนเพศอะไร Tsunari ยินดีต้อนรับทุกคนเข้ามาร่วมใน Nari gang club “It’s all good vibes and love baby.” ! หากอยากรู้จัก Tsunari ให้ดียิ่งขึ้นสามารถอ่านได้ในบทสัมภาษณ์นี้เลย

SG Lewis – ‘AudioLust & HigherLove’

‘AudioLust & HigherLove’ สตูดิโออัลบั้มที่ 2 ของ SG Lewis คือคอลเล็กชันเพลงที่ตัดเย็บด้วยความละเมียดผสมความคลาสสิกแฝงความร่วมสมัย จำนวน 15 เพลง พบกับสุดยอดเพลงเด่นสไตล์ซินธ์ป๊อปในเพลง “Oh Laura” และ “Fever Dreamer” feat. Charlotte Day Wilson & Channel Tres และอีกมากมายจากราชาเพลงป๊อปร่วมสมัยที่ไร้ข้อโต้แย้งคนนี้

‘AudioLust & HigherLove’ นำเสนอผลงานของนักร้อง นักแต่งเพลง นักดนตรีหลากหลายคน และโปรดิวเซอร์ ควบคู่ไปกับเสียงร้องของ SG ที่โดดเด่นกว่าที่เคย SG Lewis อธิบายว่า “อัลบั้มนี้แบ่งออกเป็นสองโลกอย่างชัดเจน AudioLust คือช่วงเวลาที่มืดลงไม่มีแสดงสว่างแต่เต็มไปด้วยชีวิตชีวา ความหลงใหล ที่มีเพียงช่วงเวลาสั้น ๆ และความรักที่ขับเคลื่อนด้วยอัตตา ส่วนครึ่งหลัง HigherLove สื่อถึงอะไรมากมาย ความรักที่ลึกซึ้ง สมจริง และสมหวัง ในแต่ละครึ่งของบันทึกผมรู้สึกเหมือนว่าตัวเองอยู่ในช่องว่างระหว่างการเป็นดีเจกับการเป็นศิลปิน อัลบั้มส่วนใหญ่ถูกเขียนข้ามชุดสตูดิโอในช่วงที่มีการระบาดใหญ่ โดยได้รับความช่วยเหลือจากเพื่อน ๆ ที่มีพรสวรรค์อย่างเหลือเชื่อ และทำให้ผมได้สำรวจตัวเองในฐานะศิลปินในแบบที่ผมไม่เคยกล้ามาก่อน”

‘AudioLust & HigherLove’ ของ SG Lewis เป็นหนึ่งในอาวุธลับของเพลงป๊อปสมัยใหม่ที่พร้อมจะก้าวต่อไปข้างหน้าและพร้อมมาเติมอารมณ์ให้อะดรีนาลีนได้พลุ่งพล่านท่ามกลางค่ำคืนอันสุดเหวี่ยง และเดินทางกลับในยามพระอาทิตย์ขึ้นด้วยความรู้สึกที่แสนอบอุ่น

Iggy Pop – ‘Every Loser’

‘Every Loser’ สตูดิโออัลบั้มลำดับที่ 19 ของ ‘Iggy Pop’ นักร้องร็อกชาวอเมริกันสุดเก๋าเจ้าของฉายา ‘Godfather of Punk’ ที่โปรดิวซ์โดย แอนดรูว์ วัตต์ (Andrew Watt)

ใน ‘Every Loser’ วัตต์ไม่ได้พยายามเปลี่ยน Iggy Pop ให้เป็นสิ่งที่เขาไม่ได้เป็น แต่ให้พื้นที่แก่เขาในการเป็น Iggy Pop ตลอดระยะเวลา 11 แทร็ก ผู้ฟังจะได้สัมผัสกับความเป็น Iggy Pop อย่างเต็มเปี่ยม ผสานด้วยการรวบรวมศิลปินมากฝีมือที่วัตต์มองว่าจะช่วยมาเสริมพลังให้ Iggy Pop ได้เฉิดฉายในทางของตนเองได้ดีมากยิ่งขึ้นไม่ว่าจะเป็น ดัฟฟ์ แม็กคาแกน (Duff McKagan) จาก Guns ‘N Roses ในตำแหน่งมือเบส , แชด สมิธ (Chad Smith) หรือ Flea และ จอช คลิงฮอฟเฟอร์ (Josh Klinghoffer) จาก Red Hot Chili Peppers ซึ่งคราวนี้นาย Flea มาเล่นกลอง ส่วนจอชมาเล่นคีย์บอร์ดและกีตาร์ นอกจากนี้ยังมี สโตน กอสซาร์ด (Stone Gossard) จาก Pearl Jam มาเล่นกีตาร์ และ เทย์เลอร์ ฮอว์กินส์ (Taylor Hawkins) มือกลองผู้ล่วงลับแห่ง Foo Fighters ที่มาเล่นกลอง เพอร์คัสชัน และเปียโนในเพลง “Comments” และ “The Regency” และก็ยังมีสมาชิกวง ‘Jane’s Addiction’ ได้แก่ เดฟ นาวาร์โร (Dave Navarro), เอริค เอเวอรี่ (Eric Avery) และ คริส ชานนี่ (Chris Chaney) รวมไปถึง ทราวิส บาร์กเกอร์ (Travis Barker) แห่ง Blink-182 ด้วย เรียกได้ว่าเป็นอัลบั้มที่ร่วมเหล่าศิลปินสุดเก๋ามาร่วมงานกันไว้อย่างเยอะ ซึ่งก็ไม่ได้บดบังรัศมีของ Iggy Pop แต่ประการใดกลับยิ่งช่วยทำให้อัลบั้มนี้มีลูกเล่นลีลาที่น่าสนใจไปอีก ทั้ง ๆ ที่เป็นคุณปู่ในวัย 75 แล้ว แต่ Iggy Pop ก็ยังคงรักษาลีลาของเจ้าพ่อเพลงพังก์เอาไว้ได้ไม่เสื่อมคลาย เขายังสามารถเขียนเพลงดี ๆ ที่ทำให้แฟน ๆ มีความสุขล้นเหลือเมื่อได้ฟัง และยังคงเฉลิมฉลองชีวิตที่สนุกสนานผ่านบทเพลงได้อย่างน่าประทับใจ

พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส