ภาพยนตร์สยองขวัญเป็นส่วนสำคัญในวัฒนธรรมมาหลายชั่วอายุคน ความสยองอยู่คู่มนุษย์เรามาอย่างยาวนาน ความน่าค้นหานี้ ดึงดูดผู้ชมด้วยความรู้สึกที่ลุ้นระทึกและน่าตื่นเต้น แต่นอกเหนือจากความกลัวแล้ว คุณผู้อ่านรู้กันหรือเปล่าครับว่า การดูหนังสยองขวัญนั้นส่งผลดีต่อสุขภาพจิตของเราด้วยนะ? 

อันที่จริงแล้ว การดูหนังสยองขวัญมีประโยชน์ต่อสุขภาพจิตอย่างน่าประหลาดใจ ซึ่งมันให้อะไรเรามากกว่าความหลอนซะอีก และบทความนี้จะพาทุกคนไปแบไต๋ถึงเหตุผลที่การดูหนังสยองขวัญนั้นเป็นผลดีต่อสุขภาพจิตของเรากันครับ

ครั้งหนึ่งการสัมภาษณ์ในสารคดี Fear in the Dark (1991) ผู้กำกับ เวส คราเวน (Wes Craven) ปรมาจารย์แห่งความสยอง บิดาของ A Nightmare on Elm Street ได้กล่าวว่า “หนังสยองขวัญนั้นไม่ได้สร้างความกลัว แต่ปลดปล่อยสิ่งที่อยู่ภายในออกมาต่างหาก” 

เวส คราเวน

แม้จะเป็นประโยคสั้น ๆ แต่ถ้าเรากะเทาะแก่นของประโยคนี้ก็จะตีความได้ว่า การดูหนังสยองขวัญก็คือรูปแบบหนึ่งของการชำระล้างจิตใจ ทำให้ผู้ชมรู้สึกได้รับการปลดปล่อย ซึ่งมันค่อนข้างขัดแย้งกับการมีอยู่ของหนังสยองขวัญเอามาก ๆ ว่าแต่ความรู้สึกนี้มันเกิดขึ้นได้ยังไงนะ?

ในตอนที่เราดูหนังสยองขวัญ เรามักจะรู้สึกว่าตัวเองโดนดูดเข้าไปในโลกของหนัง จนบางครั้งสมองก็แยกไม่ออกว่าความกลัวที่เกิดขึ้นตรงหน้านั้นไม่ใช่ความจริง หากแต่เป็นภาพที่ไปกระตุ้นให้เกิดความรู้สึกกลัวขึ้นมา ซึ่งความกลัวนั้นก็จะไปกระตุ้นระบบประสาทของเราอีก 

เมื่อเราดูหนังถึงฉากน่ากลัว ร่างกายก็จะเกิดการตื่นตัว และสูบฉีดอะดรีนาลีนขึ้นมา สมองของเราจะรับรู้ได้ว่า ต้องเปิดโหมดป้องกันตัว เพื่อส่งสัญญาณเตือนบอกร่างกายว่าเรากำลังตกอยู่ในอันตรายนะ แต่ขณะเดียวกัน เราก็รู้ตัวดีว่าสิ่งที่เกิดขึ้นตรงหน้าไม่ใช่ความจริง มันเป็นเพียงภาพที่อยู่ในจอ ดังนั้นกระบวนการเหล่านี้ จึงเป็นการจำลองสถานการณ์ที่บีบคั้นขึ้นมา โดยหลังจากนั้น สมองจะเริ่มปรับสภาพได้ มันจะเข้าสู่โหมดพักผ่อน และหลั่งสารที่ช่วยให้ร่างกายรู้สึกดีขึ้นออกมา

แล้วถ้าคนขี้กลัวจะสามารถใช้วิธีนี้ได้ไหมนะ?

จากการวิจัยแล้ว คนที่ขี้กลัวหรือเป็นโรควิตกกังวล มักจะเป็นแฟนตัวยงของหนังสยองขวัญด้วยซ้ำไป เพราะพวกเขา มักจะอยากดูสิ่งที่ทำให้ตัวเองเกิดความรู้สึกตื่นตัว ซึ่งการอยากรู้อยากลองเพื่อพาตัวเองไปอยู่ในโลกแห่งความกลัวนั้น ก็เป็นหนึ่งในสิ่งที่ช่วยผ่อนคลายความเครียดของพวกเขา แม้ว่าหนังจะตุ้งแฉ่แค่ไหน แต่พวกเขาก็รู้ดีว่า ความสบายใจมันจะก่อเกิดหลังจากฉากนั้นผ่านไป (หรือหลังหนังฉายจบ) 

เมื่อความน่ากลัวหายไป พวกเขาก็จะรู้สึกดีขึ้นมาโดยอัตโนมัติ ดังนั้นแล้วหากเราเห็นคนขี้กลัวชอบดูหนังสยองก็อย่าได้แปลกใจไป เพราะมันเป็นกลไกที่ร่างกายสร้างขึ้นมาเพื่อให้พวกเขาได้ผ่อนคลายตัวเองอยู่

นอกจากนี้ หนังสยองขวัญก็ยังทำหน้าที่เหมือนเป็นเซฟโซนที่ดี ช่วยสอนเราว่า แม้บางครั้งสิ่งที่อยู่ตรงหน้าจะน่ากลัวมากแค่ไหน แต่ความกลัวก็ไม่สามารถฆ่าเราได้ ดังที่ ลาน่า โฮมส์ (Lana Holmes) นักจิตวิทยาจากคลินิกในเมืองดิเคเทอร์ ได้อธิบายไว้ในพอดคาสต์ Therapy for Black Girls ว่า “เมื่อเราสัมผัสกับสิ่งที่กลัวแล้วรอดจากมันมาได้ หลังผ่านไปเราจะรู้สึกโล่งใจที่ได้เอาตัวรอดจากมันมา” โฮล์มส์กล่าว

อีกนัยหนึ่ง หนังสยองขวัญได้พาเราหลีกหนีจากความจริงอันเลวร้ายที่เราต้องเผชิญ เพราะในชีวิตจริง คนเรามักจะเจอกับสถานการณ์อันเจ็บปวดที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ คนหลายคนจึงพาตัวเองเข้าสู่โลกของความสยอง เพราะพวกเรารู้ดีว่าแม้หนังมันจะน่ากลัว แต่ก็มีจุดจบที่แน่นอน แถมยังช่วยดึงเรา ให้ออกมาจากความเครียดเรื่องอื่น ๆ ในช่วงเวลาหนึ่งด้วย เพราะเราต่างรู้ดีว่าความสยองที่เกิดขึ้นบนหน้าจอ ก็ไม่น่ากลัวเท่าความจริงในชีวิตอยู่ดี

ไอเดียการใช้หนังสยองบำบัดสุขภาพจิตนี้ได้จุดประกายผู้กำกับหนัง โจนาธาน บาร์คัน (Jonathan Barkan) ให้รู้สึกอยากค้นคว้าเกี่ยวกับเรื่องราวนี้เพิ่มเติม เพราะเขาเชื่อว่า ยังมีคนอีกหลายคนที่บำบัดความเครียดด้วยการดูหนังสยองขวัญ ในที่สุดบาร์คันก็ตัดสินใจว่าจะสร้างสารคดีเพื่อศึกษาเรื่องโดยเฉพาะ และเขาให้ชื่อมันว่า ‘Mental Health and Horror’ ซึ่งบอกเล่าเรื่องราวถึงการค้นคว้าว่าเหตุใดผู้คนมากมายถึงใช้ความสยองมาบำบัดตัวเอง รวมทั้งค้นคว้าถึงรูปแบบการบำบัดว่า ต้องทำยังไงถึงจะช่วยให้สุขภาพจิตของพวกเขาดีขึ้น

นอกจากนั้น ข้อมูลของ Business Insider ก็ได้บอกว่า ช่วงปี ค.ศ. 2020 ซึ่งเป็นเวลาที่มีการแพร่ระบาดของ COVID-19 นั้น ยอดขายของหนังสยองขวัญจากในแอปซื้อภาพยนตร์ดิจิทัล เพิ่มขึ้นถึง 194% ซึ่งสามารถบอกเราได้ว่า แม้ในช่วงเวลาที่โลกกำลังเผชิญกับความน่าสะพรึงกลัว ผู้ชมก็ยังคงมองหาเนื้อหาประเภทอื่น เพื่อหลบหนีจากความจริงอันโหดร้าย

ไม่ใช่เรื่องแปลกที่ผู้คนจะถูกดึงดูดให้ดูหนังระทึกขวัญ หรือหนังสยองขวัญในช่วงเวลาที่มีความเครียดสูง เพราะหนังสยอง จะบังคับให้เราจดจ่ออยู่กับความกลัวที่เกิดตรงหน้า เพื่อให้ร่างกายเข้าสู่สภาวะบีบคั้นและรู้สึกดีหลังจากผ่านมันมาได้

ดังนั้นแล้ว หากคุณผู้อ่านเคยรู้สึกเครียด จนต้องไปหาหนังสัตว์ประหลาด ผี หรือซอมบี้มาเปิดดู เพื่อให้ตัวเรารู้สึกสบายใจจากความเครียด ก็จงโปรดรู้ไว้ว่า เราไม่ได้เป็นอยู่คนเดียวและมีอีกหลายคนบนโลกที่เป็นแบบเดียวกับเรา

ที่มา: healthline, cnet,

พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส