[รีวิว] Tár – ชีวิตเครสเชนโดของมนุษย์​วาทยากรเผด็จการ
Our score
9.5

Release Date

09/02/2023

แนว

ดราม่า

ความยาว

2.38 ช.ม. (158 นาที)

เรตผู้ชม

R

ผู้กำกับ

ท็อดด์ ฟิลด์ (Todd Field)

SCORE

9.5/10

[รีวิว] Tár – ชีวิตเครสเชนโดของมนุษย์​วาทยากรเผด็จการ
Our score
9.5

Tár | ทาร์

จุดเด่น

  1. การแสดงของ เคต แบลนเชตต์ คือแทบทุกอย่างของตัวหนัง มีเสน่ห์ น่าเกรงขาม หล่อ เก่ง ทรงพลัง และน่ารังเกียจในเวลาเดียวกัน
  2. ออกแบบงานสร้างและถ่ายภาพได้งดงามทรงพลัง จัดองค์ประกอบภาพได้กินขาด
  3. ถ่ายทอดแก่นเรื่องราวและจิตวิทยาของมนุษย์ตามวิถีเผด็จการ + Cancel Culture ได้เรียบ ๆ แต่เลอค่าและน่าสมเพชในเวลาเดียวกัน ไม่ตัดสินทุกอย่าง ไม่ได้ตั้งป้อมให้รักและเกลียดตัวละคร ตั้งคำถามให้คนดูคิดต่อได้อย่างทรงพลัง
  4. บันทึกเสียงเพลงคลาสสิกได้ดีมาก แยกแทร็กแต่ละเสียงได้ละเอียดมาก ปลดล็อกหูทองคำ แนะนำว่าควรดูในโรงหนังที่มีระบบเสียงดี ๆ เช่น Dolby Atmos

จุดสังเกต

  1. ตัวหนังมีการเล่าเรื่องในแบบของตัวเองชัดเจนมาก รวมทั้งบทสนทนายาวเหยียด และการตัดต่อที่ชวนให้สงสัย ไม่ใช่หนังที่บันเทิงเริงใจสำหรับทุกคนแน่ ๆ
  2. ตัวหนังมีศัพท์แสงด้านวงการดนตรีคลาสสิก และศัพท์เฉพาะเกี่ยวกับการประพันธ์เพลง ชื่อประพันธกร ผลงานเพลงต่าง ๆ ใครมีพื้นความรู้อยู่แล้วก็น่าจะอินไปกับข้อมูลและเพลงคลาสสิกในหนัง แต่คนที่ไม่รู้อาจจะงงหน่อย
  • คุณภาพด้านการแสดง

    10.0

  • คุณภาพโปรดักชัน

    9.2

  • คุณภาพของบทภาพยนตร์

    10.0

  • ความบันเทิง

    9.2

  • ความคุ้มค่าเวลาในการรับชม

    8.9


ตลอดชีวิตผู้กำกับของ ท็อดด์ ฟิลด์ (Todd Field) เพิ่งทำหนังมาแค่ 3 เรื่องเองนะครับ แต่น่าสังเกตว่า หนังทั้ง 3 เรื่องของเขามักจะเล่าเรื่องเวียนวนกับเรื่องราวของดราม่าครอบครัวเสร็งเคร็ง และการสะท้อนความเป็นคนเฮงซวยสุนัขไม่รับประทานในฐานะของมนุษย์คนหนึ่ง ทั้งเรื่องรักต้องห้ามของนักศึกษาหนุ่มกับแม่บ้านวัยกลางคนใน ‘In the Bedroom’ (2001) และ แม่บ้านแสนเบื่อผู้แอบมีชู้ใน ‘Little Children’ (2006) และ ‘Tár’ หนังเรื่องที่ 3 ในชีวิตที่ห่างหายจากหนังเรื่องก่อนไปนานถึง 17 ปี ซึ่งเขาลงมือเขียนบทและกำกับเอง ก็ยังคงหยิบเรื่องราวการก้าวขาข้ามเส้นศีลธรรม สะท้อนผ่านชีวิตของประพันธ์กรหญิงผู้เรืองนาม

พร้อมกับกับการล็อกสเป็กนักแสดงอย่าง เคต แบลนเชตต์ (Cate Blanchett) ให้มารับบท ลีเดีย ทาร์ (Lydia Tár) นักเปียโน และวาทยากรหญิงแห่งวงออเคสตราชั้นนำของเยอรมนี ชนิดที่ท็อตต์ถึงกับลั่นวาจาว่า ถ้าไม่ใช่แบลนเชตต์ หนังเรื่องนี้ก็ไม่ได้เกิด ซึ่งการตั้งสัจจะของท็อตตก็ได้ผล เพราะแบลนเชตต์ก็สามารถคว้าสามารถคว้ารางวัลรางวัลนักแสดงภาพยนตร์หญิงยอดเยี่ยมประเภทดราม่า บนเวทีลูกโลกทองคำปีนี้มาครอง และตัวหนังก็ยังได้เข้าชิงรางวัลออสการ์ ครั้งที่ 95 มากถึง 6 รางวัล ได้แก่ ภาพยนตร์ยอดเยี่ยม ผู้กำกับยอดเยี่ยม บทภาพยนตร์ดั้งเดิมยอดเยี่ยม ตัดต่อภาพยนตร์ยอดเยี่ยม ถ่ายภาพยอดเยี่ยม และแน่นอนว่าต้องมีชื่อของแบลนเชตต์ เข้าชิงรางวัลนักแสดงนำหญิงยอดเยี่ยมด้วยเช่นกัน

Tár ทาร์ Cate Blanchett Courtesy of Focus Features

ลีเดีย ทาร์ ไม่ได้เป็นวาทยากรที่มีตัวตนจริงครับ แม้เรื่องย่อหนังจะแอบชวนให้คิดว่าเป็นหนังชีวประวัติก็เถอะ ตามเรื่องย่อระบุว่า ลีเดีย ทาร์ เป็นลูกสาวบุญธรรมของ เลนนาร์ด เบิร์นสไตน์ (Leonard Bernstein) ประพันธกรระดับเอกอุเบื้องหลังละครเพลง ‘West Side Story’ ทาร์สามารถก้าวขึ้นมาสู่จุดสูงสุดของวงการออเคสตรา ด้วยการเป็นหนึ่งในทำเนียบผู้ชนะ EGOT (ผู้ชนะ 4 รางวัลใหญ่ของฮอลลีวูด) และก้าวขึ้นเป็นหัวหน้าวาทยากรและประพันธกรหญิงคนแรกของเบอร์ลิน ฟิลฮาร์โมนิก (Berlin Philharmonic)

ผู้กำลังเตรียมการเปิดตัวหนังสือผลงานแรกของเธอ และการแสดงคอนเสิร์ตซิมโฟนีหมายเลข 5 (Symphony No. 5) ของ กุสตาฟ มาห์เลอร์ (Gustav Mahler) ในอีกด้านหนึ่ง เธอก็มีครอบครัวด้วย เธอเป็นสามีของ ชารอน กูดนาว (Nina Hoss) นักไวโอลินอันดับที่ 1 (Concert Master) และมีลูกสาวบุญธรรมตัวน้อย เธอมี ฟรานเชสกา เลนตินี (Noémie Merlant) คอยเป็นผู้ช่วย ท่ามกลางความรุ่งโรจน์ถึงขีดสุดของวิชาชีพบนหอคอยงาช้าง เธอกลับต้องพบกับบททดสอบอันรุนแรงในสังคมปัจจุบันที่ค่อย ๆ เสียดทานกับพลังอำนาจและชื่อเสียงที่เธอมี

Tár ทาร์ Cate Blanchett Courtesy of Focus Features

สำหรับผู้ชม ผู้เขียนเองก็ต้องชี้แจงว่า หนังเรื่องนี้ไม่ใช่หนังแกล้มป๊อปคอร์นที่ดูเอาบันเทิงได้ง่ายนักนะครับ คือมันก็ไม่ได้ถึงกับต้องตีความหลายชั้นอะไรขนาดนั้น แต่มันก็เป็นหนังที่วางตัวเองไว้ในระดับที่เรียกว่าเล่นท่ายากพอสมควร สิ่งแรกเลยก็คือ ในองก์แรก ๆ ของหนัง สิ่งที่ผู้ชมจะต้องปะทะอย่างแรกเลยก็คือ บรรดาศัพท์สังคีตที่เกี่ยวกับการประพันธ์เพลงและการบรรเลงดนตรี รวมถึงวัฒนธรรมของวงการดนตรีสากล ชื่อประพันธกรทั้งที่คุ้นชื่อและไม่คุ้นชื่อ ซึ่งถ้าใครที่ติดตามวงการดนตรีคลาสสิกอยู่แล้วน่าจะดูได้อย่างอินและเข้าใจมากขึ้น แต่ผู้เขียนเองที่มีความรู้เรื่องนี้ในระดับสติปูปัญญาปลา ก็ยอมรับว่ามีงงและตามไม่ทันอยู่เหมือนกัน

อีกประการก็คือ การที่หนังมีวิธีการเล่าเรื่องที่เฉพาะตัวมาก ๆ ครับ ชนิดที่ว่าถ้าคนที่ไม่ชอบก็อาจแหยงไปเลยเหมือนกัน ผู้เขียนอยากแบ่งหนังแบบหั่นครึ่ง ๆ เพื่อให้เข้าใจได้โดยง่ายก็คือ ครึ่งแรก ตัวหนังต้องการที่จะปูเรื่องให้เห็นถึงความยิ่งใหญ่ของ ลีเดีย ทาร์ ในฐานะประพันธกรชื่อดังในระดับโลกผ่านจังหวะการลองเทก เป็นการสนทนาที่ชวนให้เราสังเกตบุคลิก ทัศนคติ ความรู้ความสามารถของเธออยู่ห่าง ๆ และการขับเคลื่อนหนังด้วยบทสนทนาที่เกี่ยวเนื่องกับเรื่องราวของเธอแทบจะทั้งสิ้น

Tár ทาร์ Cate Blanchett Courtesy of Focus Features

แถมยังเป็นบทสนทนาเฉพาะทางเกี่ยวกับเรื่องดนตรีเสียด้วย รวมถึงการมีอำนาจ อิทธิพล และความสัมพันธ์ทางการเมืองในวงการดนตรีคลาสสิกที่มีชื่อชั้นในระดับสูงมากพอสมควร คืออาจจะไม่ถึงกับเป็นมาเฟีย แต่ก็ยังพอมีอำนาจและอิทธิพล มีบรรดาคนและชื่อเสียงที่คอยค้ำยันเธอให้คงอยู่ในวงการได้ ทั้งหมดนี้ถูกขับเคลื่อนไปด้วยเหล่าบรรดาบทสนทนาทั้งหลายและการดำเนินเรื่องอันเรียบสงบราวกับเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นจริง รวมทั้งการแทรกภาพแทนสัญญะ การตัดต่อ ฯลฯ เหมือนกึ่งบังคับให้คนดูต้องให้เวลาและใช้พลังความตั้งใจในการดูค่อนข้างมาก เป็นการเล่าเรื่องที่เฉพาะตัวที่ ‘เลือก’ คนดู เพราะว่ามันไม่ได้ย่อยจนกลืนง่าย

ส่วนครึ่งหลังของหนัง คือการย้อนกลับไปกระเทาะเปลือกตัวตนของ ลิเดีย ทาร์ ออกมาทีละน้อย ๆ เผยผิวให้เห็นว่า แม้เธอจะเป็นประพันธกรผู้ยิ่งใหญ่ที่ได้รับการยอมรับในวงการ และในอีกมุมหนึ่ง เธอเองก็เป็นสามีของภรรยาและเป็นพ่อของลูกสาวบุญธรรมที่มีบ้านหรูรถแรง ตัวหนังกลับค่อย ๆ เผยจุดด่างพร้อยทางศีลธรรม จริยธรรม ทัศนคติอันรุนแรง ทั้งจากการล่วงละเมิดและใช้อำนาจในทางที่ผิด ความสัมพันธ์อันบิดเบี้ยวหมิ่นเหม่ของเธอกับนักเชลโลสาว โอลกา เม็ตคินา (Sophie Kauer) ที่ทำให้เธอต้องพบกับบททดสอบอันรุนแรง

Tár ทาร์ Cate Blanchett Courtesy of Focus Features

ซึ่งบททดสอบอำนาจอันมิชอบของทาร์ที่ว่านี้ก็คือสิ่งที่เรียกว่า วัฒนธรรมการแบน หรือที่เรียกว่า Cancel Culture ครับ ซึ่งหมายถึงวัฒนธรรมการคว่ำบาตร ผลักไสไล่ส่งคนหรือกลุ่มคนที่ออกมา Call Out ให้พ้นไปจากวิชาชีพและสังคม โดยเฉพาะคนดังที่มีผลงานอันยิ่งใหญ่ที่ครองใจคนหมู่มากได้ ตัวหนังเลือกที่จะเล่าชีวิตของทาร์จากทั้ง 2 ด้าน และลอกเปลือกทีละชั้นออกมาได้อย่างทรงพลัง รุนแรง ด้วยท่าทีอันเรียบสงบไม่โหวกเหวกโวยวาย ซึ่งมันก็ทำให้ตัวหนัง Relate กับ Cancel Culture ที่เราพบได้ในโซเชียลมีเดีย หรือแม้แต่การแบนใครสักคนให้กลายเป็นหมาหัวเน่า ทั้งในโรงเรียนและในที่ทำงานได้อยู่เหมือนกัน

แต่เลือกที่จะปล่อยให้คนดูคอยเฝ้าดูชีวิตของทาร์ เฝ้าดูจังหวะการขึ้นและการตกของเธอ รวมทั้งปรากฏการณ์วัฒนธรรมการแบนอันร่วมสมัย ให้คนดูคำถามยาก ๆ กับตัวเองว่าจะคิดเห็นอย่างไร ในขณะที่การแสดงอันทรงพลังของ เคต แบลนเชตต์ ที่สวมวิญญาณ ลีเดีย ทาร์ อย่างชนิดที่เรียกว่าเข้าสิง ก็สามารถสื่อสารความเป็นจอมเผด็จการในวงการออเครสตราที่เต็มไปด้วยความเป็นผู้ชายเผด็จการที่มีทัศนคติและท่าทีในการบังคับใช้อำนาจอันบิดเบี้ยว สุ้มเสียงการพูดจาแข็งกร้าวที่พร้อมเชือดทุกคนด้วยคำพูด การสะท้อนภาพของอำนาจที่กำลังบวมเป่งและระเบิดออกมาได้ทรงพลัง หล่อเหลา และแสนน่ากลัว

Tár ทาร์ Cate Blanchett Courtesy of Focus Features

และทั้งหมดนี้ถูกถ่ายทอดด้วยท่าทีอันสงบนิ่ง ให้เราขบคิดกันเอาเองว่า ถ้าวันหนึ่งเราชอบศิลปินคนนั้น ไอดอลคนโน้น ดาราคนนี้ ที่เราเฝ้าติดตามผลงานมาโดยตลอด แต่ไอ้คนนั้นกลับมีทัศนคติที่สังคมมองว่าบิดเบี้ยว และมีอดีตที่แสนจะผิดเพี้ยน เราจะแยกระหว่าง ‘ผลงาน’ และ ‘ตัวบุคคล’ ออกไหม ในขณะที่คนทั้งโลกอาจจะกำลังสาปแช่งและประกาศแบนผลงานอันเอกอุ ถ้าเป็นตัวเรา เราจะแบนให้ศิลปินคนนั้น (ที่ก็เป็นมนุษย์ที่มีความบิดเบี้ยวเฮงซวยเหมือน ๆ กัน) ให้พ้นไปจากวิชาชีพและสังคมด้วยไหม ในขณะที่แบลนเชตต์เองก็ไม่ได้แสดงออกโน้มน้าวให้เราเอาใจช่วยหรือสาปแช่ง ทุกอย่างที่ทาร์คิดเห็นและทำ ล้วนแต่เป็นสิ่งที่ผู้ชมคิดเห็นและรู้สึกว่าเธอทำถูกต้องหรือไม่ก็เท่านั้นเอง

แม้ว่าหนังจะไม่ได้วางตัวให้เล่นง่ายและโหวกเหวกโวยวาย แต่ถ้าคุณเป็นคอหนังที่ไล่เก็บหนังสายเข้าชิงรางวัลออสการ์ หนังเรื่องนี้ก็ไม่ควรที่จะพลาดครับ เป็นหนังที่ผู้กำกับตัวเป้งอย่าง มาร์ติน สกอร์เซซี (Matin Scorsese) ยังออกปากชมใหญ่ เป็นหนังที่สามารถเสพความเป็น Cinematic ได้อย่างครบถ้วน ด้วยการบันทึกเสียงสกอร์ที่ทำได้ดีมาก ๆ การวางเฟรม ถ่ายภาพที่สวยหมดจด โดยเฉพาะการถ่ายทอดฟอร์มอันแข็งกระด้างของลีเดีย ทาร์ออกมาได้สวยงาม การถ่ายฉากประเทศไทยที่เซ็ตฉากและบรรยากาศให้กลายเป็นประเทศฟิลิปปินส์ (เสียดายที่ดันมีเสียงภาษาไทยหลุดมาในซีนนั้น) และการถ่ายทอดประเด็นสังคมร่วมสมัยที่รุนแรงแต่ไม่ชี้นำ

Tár ทาร์ Cate Blanchett Courtesy of Focus Features

ตอนดู ผู้เขียนแนะนำว่า ไม่ต้องเข้าใจจังหวะของหนังทั้งหมดว่าทำไมต้องเล่าเรื่องแบบนี้ก็ได้ครับ เหมือนอ่านตัวโน้ตที่บางทีเราก็ไม่เข้าใจว่ามันจะออกมาเป็นสุ้มเสียงแบบไหน ตรงกันข้าม ตัวหนังต้องการให้เราซึมซับและกำซาบพลังและเรื่องราวที่เลื่อนไหล คล้าย ๆ กับว่า ลีเดีย ทาร์ กำลังวาทยากรที่กำลังวาดมือกำกับเรื่องราวของตัวเธอเองให้เราฟังอยู่ เป็นตัวโน้ตบนกระดาษที่ดูให้ตายยังไงก็นึกเสียงไม่ออก แต่มันกลับบรรจงบรรเลงตัวโน้ตทีละตัวออกมาเป็นสุ้มเสียง ประกอบกันเป็นทำนองเร่งจากเบาไปหาดัง (Crescendo) และดังไปหาเบา (Decrescendo) รวดเร็ว เชื่องช้า แต่ทว่าเปี่ยมไปด้วยมนต์ขลังอะไรบางอย่างที่ชวนขนลุก ราวกับกำลังนั่งฟังคอนเสิร์ตซิมโฟนีออเครสตราก็มิปาน

และสุดท้าย ถ้าจะให้ผู้เขียนเก็งว่าหนังเรื่องนี้จะไปถึงดวงดาว คว้าตุ๊กตาออสการ์มาได้หรือไม่ ผู้เขียนขอทำนายไว้ล่วงหน้าว่าน่าจะมีโอกาสครับ อย่างน้อย ๆ สัก 1 รางวัลนั้นก็น่าจะมาจากบทบาท ลิเดีย ทาร์ อันทรงพลังในหนังเรื่องนี้ ที่เรียกได้ว่ามีของจนพอจะเห็นแววและโอกาสที่จะได้เห็น เคต แบลนเชตต์ เดินขึ้นไปรับรางวัลออสการ์ตัวที่ 3 ในชีวิตบนเวทีได้อยู่เหมือนกัน


พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส

Tár ทาร์ Cate Blanchett Courtesy of Focus Features