ภาพยนตร์เรื่อง ‘Blade’ พันธุ์ฆ่าอมตะ ของ สตีเฟ่น นอร์ริงตัน (Stephen Norrington) เปิดตัวครั้งแรกเมื่อปี ค.ศ. 1998 ซึ่งเป็นการพลิกโฉมวงการภาพยนตร์ ว่าหนังซูเปอร์ฮีโรเฉพาะกลุ่มก็เป็นที่นิยมได้

ก่อนการมาของ Blade นั้น หนังซูเปอร์ฮีโรในฮอลลีวูดส่วนใหญ่ มักจะเป็นตัวแทนลายเซ็นของผู้กำกับ มากกว่าจะเป็นการดัดแปลงที่ยึดหัวใจของต้นฉบับไว้ ตัวอย่างเช่น BATMAN ของ ทิม เบอร์ตัน (Tim Burton) ที่มีเอกลักษณ์อย่างเด่นชัด ซึ่งดูยังไงก็รู้ว่าเบอร์ตันเป็นคนกำกับหนังเรื่องนี้อย่างแน่นอน 

ในขณะที่ Blade ของ New Line Cinema นั้นแตกต่างออกไป การมาของ Blade ทำให้ฮีโรเกรดรอง ได้มีพื้นที่เฉิดฉาย อีกทั้งยังเป็นหนึ่งในตัวจุดชนวนไอเดียให้ Marvel ปั้นภาพยนตร์ของตัวเองขึ้นมา จนกลายเป็นหนึ่งในแบรนด์ที่แข็งแกร่งที่สุดของวงการบันเทิง แล้วอะไรกันนะที่ทำให้ Blade นั้นพิเศษกว่าใคร วันนี้แบ๋ไต๋จะพาไปหาคำตอบ

หนังที่สร้างจากซูเปอร์ฮีโร Marvel เรื่องแรกที่ประสบความสำเร็จ

Marvel ใช้เวลาไม่นานในการพิชิตจอแก้ว คอมิกส์ของพวกเขาถูกดัดแปลงเป็นซีรีส์ในทีวีอยู่เต็มไปหมด ตั้งแต่การ์ตูน The Marvel Super Heroes (1966) ไปจนถึงซีรีส์ The Incredible Hulk ที่โด่งดังจนกลายเป็นไอคอนของซีรีส์ยุค 70’s เลยล่ะ แต่อย่างไรก็ตาม การพิชิตโรงภาพยนตร์นั้นค่อนข้างหินเอาเรื่อง ซึ่งการปั้นหนังของตัวเองเข้าโรง นับเป็นก้าวที่ยากลำบากสำหรับ Marvel ในยุคนั้นมาก

ภาพยนตร์เรื่องแรกที่ดัดแปลงจากคอมิกส์ของ Marvel คือเรื่อง Howard the Duck (1986) มันถูกสร้างโดย Lucasfilm แถมยังมีบิดาแห่ง Star Wars อย่าง จอร์จ ลูคัส (George Lucas) นั่งแท่นเป็นโปรดิวเซอร์ไว้ด้วย แต่ทว่าก้าวแรกก็เป็นอันต้องสะดุด เพราะ Howard the Duck ล้มเหลวอย่างน่าอับอาย 

Howard the Duck

กระทั่งช่วงยุค 90’s Marvel ก็ยังเคยพยายามดัดแปลง The Punisher กับ Captain America มาเป็นหนังอีกเช่นกัน ทว่าคุณภาพมันก็ย่ำแย่จนพวกเขาไม่สามารถนำไปฉายในโรงได้ หนังพวกนี้จึงลงท้ายด้วยการเป็นหนังเกรดต่ำส่งลงแผ่น แต่แล้วหนังเรื่อง Blade ที่สร้างโดย New Line Cinema กลับทำรายได้บนบ็อกซ์ออฟฟิศอย่างมาก ด้วยเหตุนี้ทำให้ Marvel ต้องกลับมาขบคิดว่า จะทำอย่างไรกับลิขสิทธิ์ที่เหลือ เพราะตัวทำรายได้ ก็ดันไปอยู่ในมือของคนอื่นแล้ว

จุดเริ่มต้นในการกลับมา 

ย้อนกลับไปปี 1996 นั้น Marvel ได้ถูกฟ้องล้มละลาย และนั่นทำให้พวกเขาต้องขายลิขสิทธิ์คอมิกหลายเรื่องไปให้สตูดิโอผู้สร้างหนัง นั่นเป็นสาเหตุให้ในช่วงหนึ่งลิขสิทธิ์ตัวละครของ Marvel กระจัดกระจายไปอยู่กับสตูดิโอหลายที่ และแน่นอนว่า Blade ก็เป็นหนึ่งในลิขสิทธิ์ที่ถูกขายออกไป 

หลังจากขายไปแล้ว สตูดิโอต่าง ๆ ก็ได้นำตัวละครของ Marvel ไปสร้างหนังจนได้กำไรมหาศาล แต่ทว่ามีเงินเพียงหยิบมือที่กลับมาสู่ Marvel นี่จึงกลายเป็นจุดเริ่มต้นของประวัติศาสตร์ ที่ทำให้ Marvel ตระหนักได้ว่า พวกเขาควรสร้างหนังของตัวเอง และแน่นอนก็เป็นจุดเริ่มต้นแนวคิดการกำเนิด MCU ด้วย

สไตล์กอทิก

ความมืดมน ชุดหนังสีดำ ชีวิตหลังตะวันตกดิน เป็นหนึ่งในไอคอนิกสุดเท่ของยุคนั้น ซึ่งสไตล์กอทิกสามารถผนวกเข้ากับบรรยากาศใน Blade ได้เป็นอย่างดี ความวิจิตรศิลป์นี้เป็นหนึ่งในอาร์ต ที่แสดงให้เห็นถึงความงามที่ซ่อนอยู่ในความมืดมน หลังจาก Blade เข้าฉาย ภาพยนตร์อีกหลายเรื่องก็ได้นำแนวคิดสไตล์กอทิกมาใส่ในหนังตามมา อาทิ Underworld, The Matrix

สมจริง

อาจดูแปลกที่จะกล่าวถึงภาพยนตร์ลูกครึ่งแวมไพร์ผู้ตามล่าแวมไพร์ตัวอื่นว่า ‘มีความสมจริง’ แต่ Blade สามารถนำจินตนาการจากคอมิกออกมาสร้างเป็นภาพยนตร์ได้อย่างเยี่ยมยอด แม้ว่าจะมีการสร้างโลกแฟนตาซีที่อยู่ในหนัง แต่กระนั้นก็หนังก็สามารถดึงความสมจริงออกมาสู่เนื้อหาได้

สิ่งหนึ่งที่เห็นได้ชัดคือฉากแอ็กชัน โดยคิวบู๊ของ Blade เป็นการต่อสู้แบบประชิดตัว ซึ่งเป็นสเกลการต่อสู้ที่เล็กกว่าภาพยนตร์ซูเปอร์ฮีโรเรื่องอื่นในยุคนั้น ต่างจากคิวบู๊อันผาดโผนของ Superman และ Batman โดยในช่วงหลังคิวบู๊แนวสมจริงนี้ ก็ถูกนำมาใช้ในหนังซูเปอร์ฮีโรหลายเรื่อง อาทิ ไตรภาค The Dark Knight ของ คริสโตเฟอร์ โนแลน (Christopher Nolan) หรือซีรีส์ Daredevil ใน Netflix

ซูเปอร์ฮีโรไม่ใช่สื่อสำหรับเด็กอีกต่อไป

หลายปีที่ผ่านมา ภาพยนตร์ซูเปอร์ฮีโรใช้เวลาอย่างยาวนาน กว่าจะมีพื้นที่ยอมรับว่าเป็นสื่อบันเทิงสำหรับผู้ใหญ่ เพราะเมื่อพูดถึงภาพยนตร์ซูเปอร์ฮีโรในสมัยก่อน คนหลายคนมักจะคิดว่า มันเป็นเพียงสื่อสำหรับเด็ก กระทั่งการมาของ Blade ซึ่งเป็นตัวละครที่มาจากสำนักพิมพ์ใหญ่ยักษ์ แถมยังถูกสร้างเป็นภาพยนตร์เรต R อีก สิ่งนี้ได้แสดงให้เห็นถึงการที่ซูเปอร์ฮีโรนั้น ได้ยกระดับอายุของผู้ชมขึ้นมาอีกขั้น

แม้ Blade ปี 1998 จะไม่ใช่ภาพยนตร์ที่ดีที่สุดในยุคนั้น แต่หนังเรื่องนี้ ก็เป็นหนึ่งในจุดเริ่มต้นของหลาย ๆ สิ่ง ทั้งผลกระทบทางตรงอย่างการสร้างภาคต่อของ Blade เอง หรือกระทั่งผลกระทบทางอ้อมอย่างสไตล์กอทิกและการปรับเปลี่ยนความเข้าใจต่อซูเปอร์ฮีโรของคนในยุคนั้น กระทั่งความสำเร็จของ MCU ก็มี Blade เป็นหนึ่งในชนวนที่สร้างจุดเริ่มต้นขึ้นมานั่นเอง

ที่มา: looper, cbr

พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส