ด้วยพรสวรรค์และวิสัยทัศน์ที่ไม่มีใครเหมือน ทำให้ สตีเวน สปีลเบิร์ก (Steven Spielberg) ยังคงเนรมิตความบันเทิง สู่ผู้ชมตลอดระยะเวลากว่า 5 ทศวรรษ สมดังฉายา พ่อมดแห่งฮอลลีวูด บทความนี้จะพาไปพบกับเรื่องราวของสปีลเบิร์ก จากชีวิตของเด็กชายผู้รักการถ่ายทอดเรื่องราวบนแผ่นฟิล์ม วัยรุ่นบ้านแตกแปลกแยก ชีวิตวัยหนุ่มที่ไม่มีฝันอื่นใดนอกจากการทำภาพยนตร์ สู่การเป็นผู้กำกับและโปรดิวเซอร์ที่ทรงอิทธิพลที่สุดคนหนึ่งของโลก


Steven-Spielberg

สตีเวน อัลลัน สปีลเบิร์ก (Steven Allan Spielberg) เกิดเมื่อวันที่ 18 ธันวาคม ปี 1946 ที่เมืองซินซินเนติ รัฐโอไฮโอ สหรัฐอเมริกา ในครอบครัวของพ่อ อาร์โนลด์ สปีลเบิร์ก (Arnold Spielberg) วิศวกรไฟฟ้าและวิศวกรคอมพิวเตอร์ของบริษัท เจนเนอรัลอิเล็กทริก (General Electric) และอดีตทหารผ่านศึกในสงครามโลกครั้งที่ 2 และแม่ ลีอาห์ แอดเลอร์ (Leah Adler) เจ้าของร้านอาหารและนักเปียโน

สปีลเบิร์กเป็นพี่ชายคนโตของน้องสาวอีก 3 คน ทั้ง แอนน์ (Anne Spielberg), ซู (Sue Spielberg) และ แนนซี (Nancy Spielberg) ด้วยหน้าที่การงานของพ่อ ทำให้ครอบครัวของสปีลเบิร์กต้องย้ายบ้านบ่อยครั้ง เช่น ย้ายไปที่รัฐนิวเจอร์ซีย์เมื่อตอน 4 ขวบตอนที่พ่อย้ายไปทำงานกับบริษัท RCAและย้ายไปที่เมืองฟีนิกซ์ รัฐแอริโซนา ในวัย 9 ขวบ

ครอบครัวของสปีลเบิร์กเป็นครอบครัวชาวยิวเคร่งศาสนาจากปู่ย่าตายายที่อพยพมาจากยูเครนแม้เขาและน้อง ๆ จะเข้าพิธีกรรม และเข้าเรียนภาษาฮิบรูตามปกติ แต่สปีลเบิร์กเผยว่า ลึก ๆ แล้วเขารู้สึกอับอายที่จะเป็นชาวยิว เพราะคนรอบข้างเขานอกจากครอบครัว ก็ไม่มีใครที่เป็นชาวยิวเลยทำให้เขารู้สึกโดดเดี่ยว แปลกแยก และหลายครั้ง ความเป็นชาวยิวก็ทำให้เขาโดนเพื่อนที่โรงเรียนรุมกลั่นแกล้งรังแก จนถึงขั้นทำร้ายร่างกาย ถูกรุมเตะต่อยจนเลือดออกจมูก

ในช่วงที่เรียนไฮสคูล สปีลเบิร์กเป็นนักเรียนที่ไม่ได้มีความสามารถพิเศษ เรียนก็ไม่เก่ง กีฬาก็ไม่เด่น แต่สปีลเบิร์กในวัย 12 ปี กลับพบหนทางในการปลดปล่อยจินตนาการ ที่จะกลายไปเป็นพรสวรรค์ของเขานั่นก็คือการการถ่ายภาพยนตร์ด้วยกล้อง 8 มิลลิเมตรของพ่อที่เขามักนำมาถ่ายหนังง่าย ๆ ทั้งการถ่ายรถไฟของเล่น ขยับขยายเริ่มถ่ายหนังสั้นแบบง่าย ๆ และพัฒนากลายเป็นหนังสั้นจริงจัง

ทั้ง ‘The Last Gunfight’ หนังคาวบอยที่ได้ครอบครัวร่วมแสดงเพื่อแลกกับตราลูกเสือ ‘Firelight’ หนังไซไฟสยองขวัญทุนสร้าง 500 เหรียญ จากพ่อของเขาเอง ที่สามารถคืนทุนได้หลังออกฉายในโรงหนังท้องถิ่น และ ‘Escape to Nowhere’ หนังสงครามที่เขาเกณฑ์เพื่อนมาร่วมแสดงพร้อมกับการใช้เทคนิคการถ่ายทำฉากสงครามได้ออกมาสมจริง นอกจากนี้ สปีลเบิร์กก็มักจะพกพากล้องถ่ายกิจกรรมของครอบครัวอยู่ตลอดเวลาแต่การถ่ายทำโฮมมูฟวีนั่นเอง ก็ทำให้สปีลเบิร์กต้องเผชิญกับ และปมในใจเกี่ยวกับของครัวที่ใหญ่ที่สุดในชีวิต

ในระหว่างที่ครอบครัว และเพื่อนสนิทของพ่อกำลังออกไปแคมป์ปิง โดยมีสปีลเบิร์กในวัย 16 ปี คอยเก็บบันทึกภาพด้วยกล้อง Super 8 แต่เมื่อเขานำฟิล์มมาตัดต่อ เขาพบว่ามีฟิล์มส่วนหนึ่ง บันทึกภาพแม่ของเขากับเพื่อนของพ่อที่ดูสนิทสนมผิดปกติ ทำให้สปีลเบิร์กเริ่มจับสัญญาณได้ว่าครอบครัวของเขากำลังจะร้าวฉาน

และความร้าวฉานนั้นก็เกิดขึ้นจริง เมื่อพ่อและแม่ตัดสินใจแยกทางกัน โดยแม่ของเขาหนีไปแต่งงานกับเพื่อนของพ่อ และพาน้องสาวทั้ง 3 คนไปด้วย ในขณะที่พ่อเลือกที่โทษตัวเองที่เป็นสาเหตุของการหย่าร้าง ทำให้สปีลเบิร์กย้ายตามไปอยู่กับพ่อที่ลอสแองเจลิส และทิ้งน้องสาวทั้งสามไว้กับแม่ ซึ่งสปีลเบิร์กยอมรับว่าการหย่าร้างทำให้มุมมองที่เขามีต่อแม่เปลี่ยนไป และทำให้สปีลเบิร์กเกิดความรู้สึกห่างเหินกับพ่อยาวนานถึง 15 ปี

Steven-Spielberg

สปีลเบิร์กในวัยหนุ่มแทบไม่มีความฝันอื่นใดอีกนอกจากการเป็นผู้กำกับหนังเขาหวังที่จะเข้าเรียนวิชาภาพยนตร์ใน University of Southern California แต่เพราะเขามีผลการเรียนปานกลาง ทำให้ถูกทางมหาวิทยาลัยปฏิเสธ ทำให้เขาได้สมัครเข้าเรียนที่ California State University, Long Beach แต่เขาก็ไม่ได้มุ่งเน้นการเรียนมากนัก เพราะเขาจัดตารางเรียนแค่เฉพาะวันจันทร์และอังคาร

ส่วนวันอื่น ๆ เขาไปสมัครฝึกงานฟรี ๆ ที่ Universal Studios เพื่อเก็บประสบการณ์ นอกจากนี้ยังชอบซื้อทัวร์เยี่ยมชมสตูดิโอทำให้เขาได้แวะชมเบื้องหลังการทำหนังถึงขนาดหนีทัวร์ แอบในห้องน้ำเพื่อให้มีเวลาชมกองถ่ายนาน ๆ บ่อยครั้งจนทำให้ทีมงานจำหน้าเขาได้และแอบให้บัตรเข้าชมฟรี 3 วันซึ่งหลายครั้งเขาเอาบัตรหมดอายุเข้าชมแต่เจ้าหน้าที่ก็ยังอนุญาตให้เข้าได้

จนกระทั่งในปี 1968 สปีลเบิร์กได้มีโอกาสถ่ายทำหนังสั้นเรื่อง ‘Amblin’’ หนังสั้นฟิล์ม 35 มิลลิเมตร ที่ว่าด้วยเรื่องของหนุ่มสาวนักโบกรถ ซึ่ง ซิดนีย์ ไชน์เบิร์ก (Sidney Sheinberg) รองประธานของ Universal ประทับใจในตัวหนัง ทำให้สปีลเบิร์กได้เซ็นสัญญาเข้าทำงานเป็นผู้กำกับอายุน้อยที่สุดที่ได้เซ็นสัญญานานถึง 7 ปี และเลือกที่จะลาออกจากมหาวิทยาลัย มามุ่งทำงานผู้กำกับอย่างเต็มตัว

Steven-Spielberg

แม้ว่าหนทางจะดูสดใส แต่สปีลเบิร์กก็ต้องเผชิญกับข้อหาเด็กเส้นและการเพ่งเล็งจากทีมงาน เนื่องจากเป็นผู้กำกับมือใหม่ที่ได้โอกาสทำงานชิ้นใหญ่ในเวลาอันรวดเร็ว ถึงขั้นเคยโดนโปรดิวเซอร์ตะคอกใส่ และเคยมีโอกาสกำกับ โจน ครอว์ฟอร์ด (Joan Crawford) ดาราหญิงเบอร์ใหญ่ของฮอลลีวูด ในการถ่ายทำตอนไพล็อตของทีวีซีรีส์ ‘Night Gallery’ ที่ทำให้เขารู้สึกเกร็งอยู่ไม่น้อย

สปีลเบิร์กเริ่มมีผลงานการกำกับซีรีส์และหนังฉายทางทีวีให้กับ Universal หนึ่งในนั้นคือ ‘Duel’ หนังแอ็กชันทริลเลอร์ ซึ่งได้เข้าชิงรางวัลลูกโลกทองคำครั้งแรกในปี 1972 ก่อนเริ่มกำกับหนังยาวครั้งแรกในหนังดราม่าอาชญากรรม ‘The Sugarland Express’ ที่ได้รับคำวิจารณ์ดี แต่ไม่สำเร็จด้านรายได้มากนัก แต่หนังที่แจ้งเกิดสปีลเบิร์กให้กลายเป็นผู้กำกับมือทองอย่างแท้จริง นั่นก็คือ ‘Jaws’ ที่ฉายในปี 1975 แม้ตอนถ่ายทำจะประสบปัญหาหลายอย่าง จากการถ่ายทำในทะเลจริง และเขียนบทไปถ่ายทำไปด้วยอย่างยากลำบาก ทำให้วันถ่ายทำเกินจากกำหนดเดิมที่ 55 วัน ลากยาวเป็น 159 วัน พาให้งบบานปลาย จาก 3.5 ล้านเหรียญ กลายเป็น 9 ล้านเหรียญ

Steven-Spielberg

แต่ด้วยมุมมองของสปีลเบิร์กที่ถ่ายทอดความน่ากลัวของฉลาม ด้วยภาพ เสียง บรรยากาศที่แตกต่าง รวมทั้งการตลาดด้วยการโปรโมตหนังตัวอย่างทางทีวี และหว่านแหฉายในโรงหนังพร้อมกันมากถึง 409 โรงทั่วสหรัฐอเมริกา ทำให้ตัวหนัง ทำรายได้ถล่มทลายถึง 476 ล้านเหรียญจนได้รับการขนานนามว่าเป็นหนังบล็อกบัสเตอร์ที่ฉายในช่วงฤดูร้อนที่ประสบความสำเร็จเป็นเรื่องแรก ๆ ได้รับการเสนอชื่อเข้าชิงรางวัลออสการ์4 สาขา และชนะ 3 สาขา และเข้าชิงรางวัลลูกโลกทองคำ 3 สาขา พลิกชีวิตให้สปีลเบิร์กในวัย 28 ปี กลายเป็นผู้กำกับหนุ่มดาวรุ่งในเวลาต่อมา

ผลงานในช่วงแรก ๆ ของสปีลเบิร์กได้ชื่อว่าเป็นผลงานที่เน้นความบันเทิงเป็นหลัก ด้วยมนต์เสน่ห์และวิสัยทัศน์ที่สามารถเล่าเรื่องง่าย ๆ ให้สนุกได้ด้วยจังหวะ มุมกล้อง การเล่าเรื่องที่เฉียบขาด พาให้ผู้ชมให้ร่วมผจญภัยไปกับเรื่องราวหลากแนวและถ่ายทอดความเป็นเด็กในตัวเขา ออกมาได้อย่างสนุกสนาน ตื่นตา ตื่นเต้น จนถูกจัดให้อยู่ในกลุ่มนิว ฮอลลีวูด (New Hollywood) หรือกลุ่มผู้กำกับหนังฮอลลีวูดยุคใหม่ที่มีผลงานกำกับหนังอันโดดเด่นแตกต่าง ที่มีผู้กำกับในกลุ่มนี้ทั้ง มาร์ติน สกอร์เซซี (Martin Scorsese), ฟรานซิส ฟอร์ด คอปโปลา (Francis Ford Coppola), จอร์จ ลูคัส (George Lucas) และอีกหลายคน ที่คอยแบ่งปันไอเดีย และแข่งขันกันกำกับหนังด้วยจุดยืนเดียวกัน นั่นก็คือ ใจที่เต็มไปด้วยความรักในศาสตร์ของภาพยนตร์

แม้ว่าสปีลเบิร์กจะมีพรสวรรค์ในการสร้างความบันเทิงบนแผ่นฟิล์ม จนมีบางคนวิจารณ์ว่าเขามุ่งเน้นแต่ทำหนังเอาใจตลาดเสียเป็นส่วนใหญ่ แต่ในอีกมุมหนึ่งเขาก็ใช้หนังในการถ่ายทอดเรื่องราวอีกมุม แฝงสารประเด็นซีเรียสสู่ผู้ชมด้วยเช่นกัน เริ่มจากหนังดราม่าที่บอกเล่าเรื่องราวของหญิงผิวดำใน ‘The Color Purple’ (1985) การสะท้อนความโหดร้ายของสงครามใน ‘Empire of the Sun’ (1987) และ ‘Schindler’s List’ (1993) ที่ส่งให้สปีลเบิร์กได้รับรางวัลออสการ์สาขาผู้กำกับยอดเยี่ยมเป็นครั้งแรกในชีวิต

ซึ่งเป็นปีเดียวกันกับ ‘Jurassic Park’ (1993) หนังไดโนเสาร์บันเทิงเต็มสูบเข้าฉาย ซึ่งเป็นหนังที่ปฏิวัติเทคโนโลยีการสร้างภาพยนตร์ด้วยคอมพิวเตอร์กราฟิก ปลุกชีพไดโนเสาร์ได้ออกมาสมจริง จนสามารถคว้า 3 รางวัลออสการ์ได้ในปีเดียวกัน และคว้ารางวัลสาขาผู้กำกับยอดเยี่ยมบนเวทีออสการ์ได้อีกครั้ง จากหนังสงคราม ‘Saving Private Ryan’ (1999) ที่สปีลเบิร์กได้แรงบันดาลใจจากพ่อผู้เป็นอดีตทหารในสงครามโลกครั้งที่ 2

Steven-Spielberg

สปีลเบิร์กยังขึ้นชื่อว่าเป็นผู้กำกับที่สะท้อนชีวิต ตัวตน และมุมมองต่อสิ่งต่าง ๆ ลงไปในหนังหลายเรื่องด้วยหนังหลายเรื่องของสปีลเบิร์กมักสะท้อนภาพของเด็กที่เผชิญปัญหาบ้านแตก เด็กแปลกแยก โหยหาความรัก เด็กที่ต้องเผชิญกับเหตุการณ์รุนแรง ความสัมพันธ์แหว่งวิ่นของพ่อกับลูก รวมทั้งสะท้อนมุมมองความรักชาติ ความเป็นอเมริกันชน สิทธิเสรีภาพ ความเท่าเทียม มนุษยธรรม ข้อโต้แย้งทางสังคม หรือแม้แต่เหตุการณ์ 9/11 และโลกในยุคปัจจุบัน ที่สปีลเบิร์กแฝงไว้ในหนังบันเทิงได้อย่างแนบเนียน

ในปี 1980 สปีลเบิร์กและ 2 โปรดิวเซอร์คู่ใจที่ทำงานร่วมกันมายาวนาน ทั้ง แคทลิน เคนเนดี (Kathleen Kennedy) และ แฟรงก์ มาร์แชล (Frank Marshall) ได้ร่วมกันก่อตั้งบริษัทผลิตภาพยนตร์ในชื่อ Amblin Entertainment ที่ตั้งจากชื่อหนังสั้นที่ทำให้เขาได้เข้าทำงานใน Universal Studios ที่มีทั้งผลงานการกำกับของทั้งสปีลเบิร์กเอง ตั้งแต่ ‘E.T. the Extra-Terrestrial’ (1982) และผลงานของผู้กำกับคนอื่น ๆ ทั้ง ‘Glemlins’ (1984) ‘Small Soldiers’ (1998) รวมทั้งแฟรนไชส์ ‘Back to the Future’, ‘Men in Black’ รวมทั้งอยู่เบื้องหลังของแอนิเมชันซีรีส์ ทั้ง ‘Pinky and the Brain’ (1995-1998) และ ‘Animaniacs’ (1993-1998)

นอกจากนี้ สปีลเบิร์กยังมีส่วนร่วมในการก่อตั้งสตูดิโอภาพยนตร์ DreamWorks Pictures ในปี 1994 ร่วมกับผู้บริหารอีก 2 คน เน้นผลิตภาพยนตร์และแอนิเมชัน และสปีลเบิร์กยังทำหน้าที่เบื้องหลังให้กับโปรเจกต์ต่าง ๆ มากมาย ทั้งการเป็นโปรดิวเซอร์ในหนังดัง เป็นครีเอเตอร์ของมินิซีรีส์สงคราม ‘Band of Brothers’ (2001) และ ‘The Pacific’ (2010) ร่วมกับ ทอม แฮงส์ (Tom Hanks) รวมทั้งอยู่เบื้องหลังในทีวีซีรีส์ แอนิเมชัน วิดีโอเกม และสารคดี อีกนับไม่ถ้วน รวมทั้งมิวสิกวิดิโอเพลง “Cannibal” ของ มาร์คัส มัมฟอร์ด (Marcus Mumford) ที่เขาถ่ายทำด้วย iPhone 13 Pro ครั้งแรกในชีวิต

สปีลเบิร์กแต่งงานครั้งแรกกับนักแสดงสาว เอมี เออร์วิง (Amy Irving) ที่เจอกันครั้งแรกในปี 1976 ก่อนจะแยกทางกันครั้งแรกในปี 1979 และกลับมาคบหากันใหม่ และให้กำเนิด แม็กซ์ สปีลเบิร์ก (Max Spielberg) ลูกชายคนแรก ในปี 1985 ก่อนแยกทางอีกครั้งในปี 1989 สปีลเบิร์กแต่งงานครั้งที่ 2 กับ เคต แคปชอว์ (Kate Capshaw) นางเอกสาวที่รับบทใน ‘Indiana Jones and the Temple of Doom’ (1984) ก่อนจะแต่งงานกันในปี 1991

ปัจจุบัน สปีลเบิร์กและเคตเป็นพ่อและแม่ของลูก ๆ ทั้ง 7 คนได้แก่ แม็กซ์, เจสสิกา แคปชอว์ (Jessica Capshaw), ซาชา รีเบ็กกา สปีลเบิร์ก (Sasha Rebecca Spielberg), ซอว์เยอร์ เอเวอรี สปีลเบิร์ก (Sawyer Avery Spielberg), เดสทรี อัลลิน สปีลเบิร์ก (Destry Allyn Spielberg), และบุตรบุญธรรมทั้ง ธีโอ สปีลเบิร์ก (Theo Spielberg) และ มิเคลา จอร์จ (Mikaela George)

Steven-Spielberg

แม้ว่าในหนังเรื่อง ‘The Fabelmans’ (2022) หนังที่ดัดแปลงจากชีวประวัติของสปีลเบิร์กเอง จะเล่าถึงช่วงเวลาที่พ่อแม่ของเขาหย่าขาดจากกันไปแล้ว แต่ในชีวิตจริง ทั้งอาร์โนลด์ และลีอาห์ พ่อและแม่ของเขาก็กลับมาคืนดีกันในภายหลัง และมีส่วนสำคัญในการผลักดัน ให้สปีลเบิร์กทำหนังของครอบครัว โดยได้เค้าโครงจาบทภาพยนตร์ ‘I’ll Be Home’ที่เขียนโดย แอนน์ น้องสาวของเขาในปี 1999 แต่สุดท้ายตัวหนังก็ได้ฉายในปี 2022 หลังจากที่ลีอาห์เสียชีวิตในปี 2017 และอาร์โนลด์เสียชีวิตในปี 2020

ตลอดระยะเวลากว่า 55 ปีในวงการ ผลงานนับร้อยโปรเจกต์ของสปีลเบิร์ก นอกจากจะพลิกโฉมหน้าของฮอลลีวูดแล้วก็ยังเป็นแรงบันดาลใจที่ส่งต่อถึงผู้กำกับรุ่นหลังอีกหลายสิบคน ทั้ง คริส โคลัมบัส (Chris Columbus), โรเบิร์ต เซเม็กคิส (Robert Zemeckis), แมตต์ รีฟต์ (Matt Reeve), ไรอัน จอห์นสัน (Rian Johnson), เจเจ แอบรัมส์ (J.J. Abrams), คริสโตเฟอร์ โนแลน (Christopher Nolan) และพี่น้องดัฟเฟอร์ (Duffer brothers) ครีเอเตอร์ซีรีส์ดัง ‘Strangers Things’ ของ Netflix

สปีลเบิร์กได้รับการยกย่องจากนิตยสาร TIME ให้เป็นบุคคลแห่งปี 2022 (TIME Person of the Year) อีกด้วย ในด้านรายได้ สปีลเบิร์กเป็น 1 ใน 3 ผู้กำกับและโปรดิวเซอร์ระดับโลกที่มีทรัพย์สินแตะหลักพันล้านเหรียญ โดยมีทรัพย์สินรวมประมาณ 8,000 ล้านเหรียญ เป็นรองเพียงแค่ จอร์จ ลูคัส และสามารถทำรายได้ประมาณ 150 ล้านเหรียญต่อปี ที่ได้จากทั้งการกำกับหนัง และรายได้จากธุรกิจบันเทิงของเขาเอง

Steven-Spielberg

สปีลเบิร์กยังมีส่วนร่วมสนับสนุนการเคลื่อนไหวในประเด็นสังคมหลายครั้ง ทั้งการบริจาคเงินแก่กองทุนที่สนับสนุนการแต่งงานของเพศเดียวกัน และองค์กรสนับสนุนกฏหมายการควบคุมอาวุธปืนในสหรัฐอเมริกา และก่อตั้งมูลนิธิ Righteous Persons Foundation ที่สนับสนุนการสร้างสรรค์ศิลปะและการเคลื่อนไหวเพื่อชาวยิว ซึ่งสปีลเบิร์กได้อุทิศส่วนแบ่งรายได้จากหนัง Schindler’s List เพื่อก่อตั้งมูลนิธินี้ขึ้น และภายหลังสปีลเบิร์กไดสมทบทุนเพิ่มเติมจากส่วนแบ่งรายได้จากการกำกับหนัง ‘Munich’ (2005) และ ‘Lincoln’ (2012) ด้วย

หลังจากผลงานล่าสุด ‘The Fabelmans’ ที่คว้า 2 รางวัลลูกโลกทองคำ และเข้าชิง 3 รางวัลออสการ์ สปีลเบิร์กก็ยังคงเดินหน้าทำงานต่อ ทั้งการร่วมเป็นครีเอเตอร์กับ ทอม แฮงส์ เป็นครั้งที่ 3 ในมินิซีรีส์สงคราม ‘Masters of the Air’ ทาง Apple TV+ มินิซีรีส์พีเรียด 7 ตอน ‘Napoleon’ ของ HBO ที่เป็นการสานต่อโปรเจกต์ ของผู้กำกับ สแตนลีย์ คูบริก ผู้ล่วงลับ

และในปี 2021 Amblin Entertainment ได้เซ็นสัญญาผลิตหนังร่วมกับ Netflix ปีละ 2 เรื่อง และอาจมีบางงานที่สปีลเบิร์กกำกับเอง ทั้งที่เขาเองเคยกล่าวไว้ในปี 2019 ในเชิงแสดงความคิดเห็นว่า หนังสตรีมมิงไม่มีคุณสมบัติที่จะได้ เข้าชิงรางวัลใหญ่อย่างออสการ์ด้วยซ้ำ



พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส