เรื่องราวปฏิบัติการหักเหลี่ยมเฉือนคมของ อีธาน ฮันต์ บรรดาอาวุธไฮเทคสุดเท่ และหลากหลายฉากแอ็กชันสุดระห่ำของ ทอม ครูซ ที่เล่นจริง เจ็บจริงในทุก ๆ ภาค กลายเป็นอีกหนึ่งแฟรนไชส์หนังสายลับระดับตำนานที่ยังครองใจแฟนหนังมายาวนานเกือบ 30 ปี บทความนี้ขอพาไปย้อนดูเบื้องหลังการถ่ายทำหนังแฟรนไชส์ ‘Mission: Impossible’ ทุกภาค เตรียมตัวรับคำสั่งปฏิบัติการครั้งใหม่ใน ‘Mission: Impossible – Dead Reckoning Part One’ และ Part Two ที่จะฉายในปี 2024


บทหนัง ‘Mission: Impossible’ ร่างแรก ตั้งใจล้างบางตัวละครจากฉบับทีวีซีรีส์
Mission: Impossible

จุดเริ่มต้นของแฟรนไชส์หนัง ‘Mission: Impossible’ เริ่มต้นจาก ทอม ครูซ ที่เป็นแฟนตัวยงของทีวีซีรีส์สายลับชื่อดังเรื่องนี้มาตั้งแต่วัยเยาว์ จนกระทั่งเมื่อครูซได้ก่อตั้งบริษัท ครูซ/แวกเนอร์ โปรดักชันส์ (Cruise/Wagner Productions) หนังเรื่องนี้จึงกลายเป็นโปรเจกต์แรกของบริษัท ที่สามารถโน้มน้าวให้ Paramount Pictures เจ้าของลิขสิทธิ์ ทุ่มเงินกว่า 70 ล้านเหรียญในการอนุมัติสร้างเรื่องราวเวอร์ชันรีบูตในรูปแบบหนังเป็นครั้งแรก แต่แม้ว่าตัวหนังจะเป็นการรีบูตที่ให้ความเคารพเวอร์ชันซีรีส์ต้นฉบับที่ฉายในปี 1966 – 1973 ด้วยรายละเอียดที่ยังคงกลิ่นอายไว้ แต่ตัวหนังเองก็ต้องการสร้างแนวทางเป็นของตัวเองด้วยเช่นกัน 

ทำให้บรรดาแฟน ๆ ฉบับซีรีส์คลาสสิกไม่พอใจในเวอร์ชันหนังเป็นอย่างมาก รวมไปถึงบรรดานักแสดงจากซีรีส์ โดยเฉพาะในภาคแรก ที่เปลี่ยนบทให้หัวหน้าหน่วย IMF อย่าง จิม เฟลป์ส กลายเป็นหนอนบ่อนไส้ ทำให้ ปีเตอร์ เกรฟส์ (Peter Graves) นักแสดงจากฉบับทีวีซีรีส์ทั้งเวอร์ชันปี 1996 และเวอร์ชันปี 1989 ปฏิเสธที่จะกลับมารับบทนี้ในหนัง และได้ จอน วอยต์ (Jon Voight) มารับบทหัวหน้าของ อีธาน ฮันต์ แทน นอกจากนี้ในปี 2009 มาร์ติน แลนเดา (Martin Landau) นักแสดงฉบับซีรีส์อีกคนก็ออกมาเผยว่า ในบทหนังร่างแรก ๆ จะมีการวางแผนให้ตัวละครจากในซีรีส์ต้นฉบับ โดนสังหารระหว่างภารกิจที่กรุงปรากในองก์แรกอีกด้วย ทำให้นักแสดงจากซีรีส์ต้นฉบับไม่มีใครยอมกลับมาร่วมแสดงในหนังเลย 


กองถ่าย ‘Mission: Impossible’ โดนบริษัท Apple ตัดงบโปรโมตเพราะใช้แล็ปท็อปยี่ห้ออื่น
Mission: Impossible

ปี 1996 นอกจากจะเป็นปีที่ ‘Mission: Impossible’ ภารแรกเข้าฉายแล้ว ก็ยังเป็นปีที่บริษัทคอมพิวเตอร์ระดับโลกในเวลานั้นอย่าง Apple กำลังขาดทุนยับมากกว่า 740 ล้านเหรียญในไตรมาสแรก ทำให้ Apple จึงต้องเดินหน้าอัดงบโปรโมตลงในสื่อ ทั้งการโปรโมตในภาพยนตร์ เกม โฆษณาในโทรทัศน์ และแน่นอนว่ารวมถึงการไทอินสินค้าใหม่ของตัวเองในหนังที่กำลังจะดังอย่าง ‘Mission: Impossible’ ด้วย

โดยงานนี้ Apple ได้ทุ่มงบ 15 ล้านเหรียญ เพื่อหวังจะโปรโมตคอมพิวเตอร์แล็ปท็อปรุ่นใหม่ Apple Powerbook 5300c ที่ อีธาน ฮันต์ ใช้ในการค้นหาข้อมูลเกี่ยวกับรหัสลับ โยบ 314 (Job 314) เพื่อเชื่อมโยงไปถึงผู้ซื้อรายชื่อสายลับ CIA ที่มีชื่อว่าแม็กซ์ (Max) รวมทั้งยังสร้างหน้าเว็บไซต์โปรโมตให้ ถือเป็นข้อตกลงแรกระหว่างสตูดิโอหนังกับแอปเปิล และถือเป็นดีลแรก ๆ ของวงการ Tech Company อีกด้วย

แต่สุดท้าย ในหนังกลับหันไปใช้แล็ปท็อปรุ่นอื่นที่ไม่มีอยู่จริงแทน ทำให้ Apple ต้องถอนงบก้อนนี้คืน แถมยังซวยซ้ำซ้อน เพราะภายหลัง Apple ต้องเรียกคืนแล็ปท็อปรุ่นนี้หลังจำหน่ายไม่กี่สัปดาห์ เพราะปัญหาเคสร้าวและแบตเตอรี่ร้อนจัด กลายเป็นสินค้าขายไม่ดีไปโดยปริยาย


ฉาก ทอม ครูซ ต้องใช้เหรียญปอนด์ช่วยห้อยตัวจากเพดาน
Mission: Impossible

ฉากจำของ ‘Mission: Impossible’ ก็หนีไม่พ้นฉากที่ อีธาน ฮันต์ โรยตัวจากเพดานห้องนิรภัย เพื่อโจรกรรมข้อมูลรายชื่อสายลับจากคอมพิวเตอร์ของของ CIA ที่ทั้งเงียบกริบ ระทึก และตื่นเต้นสุด ๆ จนนั่งไม่ติดเก้าอี้ แต่กว่าจะได้ฉากจำฉากนี้ นอกจากครูซจะต้องแสดงฉากนี้เองแบบไม่พึ่งพาสตันท์แล้ว ก็ต้องถ่ายทำแข่งกับเวลา และการห้อยตัวจากสลิงที่มีคนคอยดึง 2 คนที่ต้องหล่นลงมาจอดห่างจากพื้นไม่กี่นิ้ว ที่ดูเหมือนง่าย แต่ยากสุด ๆ 

ความยากของฉากนี้ก็คือ การที่ครูซต้องห้อยตัวลงมาจากสลิงแบบกะทันหัน และต้องหยุดตัวค้างเพื่อรักษาสมดุลร่างกายไม่ให้แตะพื้น แต่ไม่ว่าจะกี่เทค ก็มักจะเจอกับปัญหาหัวทิ่มหน้าแตะพื้นทุกที ในระหว่างถ่ายทำฉากนี้ที่สตูดิโอไพน์วูด (Pinewood Studios) ในอังกฤษ ทีมงานจึงต้องเอาเหรียญปอนด์ของอังกฤษใส่ไว้ที่รองเท้าของครูซเพื่อถ่วงน้ำหนักให้สมดุล ซึ่งในที่สุดเหรียญนี้ก็ช่วยให้ครูซไม่หน้าทิ่มพื้น สามารถถ่ายทำฉากแอ็กชันที่ยากที่สุดครั้งหนึ่งในชีวิตของเขาได้ออกมาผ่านฉลุยแบบหล่อ ๆ 


ทอม ครูซ สั่งมีดจริงทิ่มตาใน ‘Mission Impossible II’ เล่นเอา จอห์น วู เครียด
Mission: Impossible

อย่างที่แฟนหนังทราบกันดีว่า ใน ‘Mission: Impossible’ ทุกภาค ทอม ครูซ เลือกที่จะเล่นฉากสตันท์เสี่ยงตายด้วยตัวเองแทบทั้งสิ้น ซึ่งใน ‘Mission Impossible II’ ความทุ่มทุนเล่นเองเจ็บเองของครูซ ก็ทำให้ทั้งสตูดิโอ และผู้กำกับในภาคนี้อย่าง จอห์น วู (John Woo) ถึงกับหัวจะปวด ยกตัวอย่างเช่น ในฉากที่ครูซต้องปีนหน้าผาด้วยมือเปล่า แม้วูจะสั่งให้หาหน้าผาที่เตี้ยกว่านี้ เพื่อให้ปลอดภัยในการถ่ายทำ แต่สุดท้ายครูซก็บ้าบิ่นด้วยการลงทุนปีนหน้าผาจริงที่สูงถึงกว่า 600 เมตร แม้จะมีสลิงคอยช่วย แต่ก็แทบไม่มีเครื่องป้องกันบนพื้นเลย ครั้งนั้นเล่นเอาครูซถึงกับกล้ามเนื้อที่หัวไหล่ฉีก  

และอีกฉากที่เล่นเอาวูถึงกับเครียด ก็คือฉากที่ อีธาน ฮันต์ ต่อสู้แบบตัวต่อตัวกับ ฌอน แอมโบรส เพื่อชิงยาเบลเลอโรฟอนที่ใช้แก้พิษไวรัสไคเมรา ในระหว่างต่อสู้ แอมโบรสได้ใช้มีดเหวี่ยงเข้าไปจ่อที่ลูกตาของฮันต์แบบเส้นยาแดงผ่าแปดในระดับไม่ถึงเซนติเมตร งานนี้วูต้องการให้ใช้นักแสดงแทน แต่ครูซกลับยืนยันว่าจะแสดงเอง

พร้อมทั้งสั่งให้ โดเกรย์ สก็อตต์ (Dougray Scott) เจ้าของบทแอมโบรส ออกแรงโถมตัวเหวี่ยงมืดแบบเต็มเหนี่ยว และครูซก็ยังสั่งให้ใช้มีดจริง ๆ ในการถ่ายทำด้วย โดยมีดเล่มนี้มีการเซฟด้วยการขึงกับสลิงที่วัดระยะมาแล้วเป็นอย่างดี  เพื่อให้ภาพออกมาสมบูรณ์แบบที่สุด กลายเป็นฉากเสียวลูกตาในตำนานที่ออกมาเท่ แต่เล่นเอา จอห์น วู เครียดกับการทำงานกับครูซอยู่ไม่น้อย


Paramount Pictures โปรโมต ‘Mission Impossible III’ ผิดคิวจนคนคิดว่าเป็นก่อการร้าย
Mission: Impossible

อีกจุดเด่นของแฟรนไชส์หนังชุดนี้ที่ติดหูมาอย่างยาวนานก็คือ เพลงธีมของหนัง ‘Mission Impossible’ ประพันธ์โดย ลาโล ชิฟริน (Lalo Schifrin) ที่ถูกใช้ทั้งในเวอร์ชันทีวีซีรีส์ปี 1966 เวอร์ชันปี 1989 และเวอร์ชันภาพยนตร์ ซึ่งในปี 2006 ตอนที่หนัง Mission Impossible III กำลังจะออกฉาย สตูดิโอ Paramount Pictures ได้คิดแคมเปญโปรโมตสุดแหวกแนว ด้วยการติดต่อกับหนังสือพิมพ์ Los Angeles Times เพื่อหวังจะโปรโมตหนังเรื่องนี้ด้วยการซ่อนกล่องเพลงสีแดงอันเล็ก ๆ ที่มีลำโพงเอาไว้ในตู้ขายหนังสือพิมพ์แบบหยอดเหรียญกว่า 4,500 จุดทั่วเมืองลอสแองเจลิส เมื่อมีคนเปิดตู้หยิบหนังสือพิมพ์ ก็จะมีเพลงธีมของหนังดังออกมา

แต่แผนโปรโมตกลับแป้ก เพราะเมื่อเอากล่องไปติดตั้ง กล่องกลับหลุดออกมา เผยให้เห็นวัตถุปริศนาสีแดงที่มีสายไฟ ทำให้ชาวเมืองต่างตกใจและคิดว่าเป็นวัตถุระเบิด ร้อนถึงกับต้องตามหน่วยเก็บกู้ระเบิดของเขต ซานตา คลาริตา (Santa Clarita) ให้มาเข้าตรวจสอบ บานปลายถึงขั้นต้องปิดศูนย์การแพทย์ทหารผ่านศึกที่อยู่ใกล้เคียง อพยพเจ้าหน้าที่และคนป่วยราว 300 คนออกจากพื้นที่โดยด่วน เพราะมีตู้หนังสือพิมพ์อยู่ภายในโรงพยาบาลด้วย ที่น่าแปลกก็คือแม้จะเกิดเหตุวุ่นวาย แต่กล่องแดงเจ้าปัญหากล่องนี้ก็ยังคงอยู่ต่อ ก่อนที่จะถูกเก็บออกไป 2 วันก่อนหนังเข้าฉาย


บรรดาผู้กำกับที่เกือบได้กำกับหนัง ‘Mission: Impossible’
Mission: Impossible

จุดเด่นทีเป็นเอกลักษณ์ของแฟรนไชส์ ‘Mission: Impossible’ คือการผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนผู้กำกับไม่ซ้ำหน้า เพื่อให้ตัวหนังแต่ละภาคมีเอกลักษณ์เป็นของตัวเอง ทำให้มีผู้กำกับดัง ๆ หลายคนที่เกือบจะได้มาทำงานในแฟรนไชส์นี้แล้ว อาทิ ซิดนีย์ พอลแล็ก (Sydney Pollack) ที่ดูแลหนังภาคแรกมาก่อนตั้งแต่แรก แต่สุดท้ายก็เป็น ไบรอัน เดอ พัลมา (Brian De Palma) ที่เข้ามารับหน้าที่กำกับ ส่วนใน ‘Mission: Impossible 2’ (2000) ก็เคยเกือบได้ผู้กำกับดัง โอลิเวอร์ สโตน (Oliver Stone) มากำกับ แต่สุดท้าย ครูซในเวลานั้นกำลังรับงานแสดงหนัง ‘Eyes Wide Shut’ (1999) อยู่ ทำให้คิวไม่ตรงกันกับสโตน จนต้องถอนตัวไป 

ส่วนใน ‘Mission: Impossible III’ (2006) เกือบได้ โจ คาร์นาฮาน (Joe Carnahan) ที่พัฒนาบทอยู่นานนับปี ก่อนจะถอนตัวออกไปเพราะความคิดสร้างสรรค์ไม่ตรงกัน จนได้ เจ.เจ. แอบรัมส์ (J.J. Abrams)  มากำกับแทน และในภาค ‘Mission: Impossible – Ghost Protocol’ (2011) ก็เคยเกือบได้ทั้งแอบรัมส์ รวมทั้ง เอ็ดการ์ ไรต์ (Edgar Wright) และ รูเบน เฟลสเชอร์ (Ruben Fleischer) มากำกับ แต่สุดท้ายก็ได้ แบรด เบิร์ด (Brad Bird) ผู้กำกับสายแอนิเมชันจาก ‘The Incredibles’ (2004), ‘The Incredibles 2’ (2018) และ ‘Ratatouille’ (2007) มากำกับหนังคนแสดงครั้งแรก

แต่กฏนี้ยกเว้นกับ คริสโตเฟอร์ แม็กควอรี (Christopher McQuarrie)  ผู้กำกับและเพื่อนซี้ที่เคยทำงานกับครูซมามากมาย ทั้งกำกับและเขียนบท ซึ่งครูซถูกใจฝีมือในการกำกับหนัง ‘Jack Reacher’ (2012) แม็กควอรีจึงเป็นคนเดียวที่ได้กำกับหนังแฟรนไชส์นี้มากที่สุด นับตั้งแต่ภาค ‘Rogue Nation’, ‘Fallout’ และภาคล่าสุด ‘Dead Reckoning’ ทั้ง Part 1 และ Part 2


สร้างกองถ่ายปลอม เพื่อดึงดูดความสนใจผู้คนจาก ทอม ครูซ
Mission: Impossible

ใน ‘Mission: Impossible III’ เป็นหนังที่ถือว่าทุ่มทุนสร้างมากที่สุดในเวลานั้นด้วยงบประมาณกว่า 150 ล้านเหรียญ แถมเป็นหนังที่ใช้ทุนสูงที่สุดที่ เจ.เจ. แอบรัมส์ เคยกำกับในเวลานั้นด้วย หนังภาคนี้เราจึงได้เห็น อีธาน ฮันต์ ออกผจญภัยไปยังโลเคชันต่าง ๆ ทั่วโลก ซึ่งหนึ่งในนั้นก็คือ นครรัฐวาติกัน ที่ตั้งอยู่ในกรุงโรม ประเทศอิตาลี แต่กองถ่ายหนังของแอบรัมส์ก็ต้องประสบกับปัญหาใหญ่ เนื่องจากชาวอิตาเลียนมุงที่สนใจอยากดูการถ่ายทำหนัง และอยากเห็น ทอม ครูซ ตัวเป็น ๆ ต่างแห่แหนมายืนดูกองถ่าย จนทีมงานต้องประสบปัญหาถ่ายทำได้ลำบาก ยิ่งนานเข้าก็ยิ่งแห่มากันเต็มจนต้องพักกอง

ทีมงานจึงต้องใช้แผนเด็ดด้วยการสร้างกองถ่าย 2 หรือ Second Unit ปลอม ๆ เพื่อติ๊งต่างเป็นกองถ่ายที่กำลังถ่ายหนังอยู่ เท่านั้นยังไม่พอ ทีมงานยังได้จ้างบรรดาสาว ๆ ทั้งสาวน้อยแต่งชุดบิกินี่ และสาวใหญ่แต่งชุดแม่ชี มาแสร้งว่ากำลังถ่ายทำหนัง เพื่อดึงความสนใจจากผู้คนในระหว่างถ่ายฉากที่ อีธาน ฮันต์ กับ ดีแคลน กรอมลีย์ กำลังแสร้งทะเลาะกันเพราะรถเสียกลางถนน ซึ่งวิธีนี้ก็ได้ผล สามารถดึงดูดอิตาเลียนมุงไม่ให้มาวุ่นวายกับกองถ่ายได้แบบชะงัดนัก


ฉาก Halo Jump ซ้อมมากกว่า 150 รอบ แต่ใช้จริงแค่ 3 ช็อต
Mission: Impossible

อีกฉากตื่นเต้นของภาค ‘Fallout’ ก็คือฉากที่ อีธาน ฮันต์ ต้องทำการดิ่งพสุธาจากเครื่องบินทหาร C-17 Globemaster III จากความสูง 25,000 ฟุต หรือ 7,600 เมตร เพื่อทำการกระโดดร่มแบบ Halo หรือยุทธวิธีในการกระโดดร่มให้ใกล้พื้นที่สุดก่อนทำการเปิดร่ม ซึ่งความยากก็คือ ก่อนหน้านั้น ครูซเพิ่งประสบอุบัติเหตุกระดูกข้อเท้าหักจากการกระโดดข้ามหลังคา จนต้องพักกองไปนานถึง 2 เดือน กลายเป็นความกดดันเล็ก ๆ เพราะหลังจากพักฟื้น ครูซต้องกลับมาฝีกฝนการกระโดดร่มแบบฮาโลแบบเข้มข้นอยู่นานถึง 4 สัปดาห์ ตั้งแต่การฝีกในอุโมงค์ลม จนกระทั่งกระโดดร่มจากเครื่องบินจริง และครูซเองก็ถือเป็นนักแสดงคนแรกที่ทำการกระโดดร่มแบบ Halo ต่อหน้ากล้อง พร้อมกับช่างภาพที่ต้องริกกล้องคุณภาพสูงไว้กับตัวระหว่างกระโดดร่มอีกด้วย

และในวันถ่ายทำจริง ครูซก็ยังต้องซ้อมกระโดดร่มไปเรื่อย ๆ ตลอดทั้งวัน แถมผู้กำกับอย่าง คริสโตเฟอร์ แม้กควอรี และครูซเองก็อยากได้ภาพช่วงพระอาทิตย์ใกล้ตกดิน เพื่อจับภาพในโมเมนต์ที่สวยที่สุดของวัน ทำให้ครูซสามารถกระโดดร่มได้เพียงแค่วันละครั้ง และมีเวลาถ่ายทำเพียงแค่ 3 นาที เท่านั้น ซึ่งในที่สุด ครูซก็สามารถถ่ายทำฉากนี้ออกมาได้อย่างสมบูรณ์แบบ หลังจากที่ผ่านการกระโดดร่มทั้งตอนฝึกและถ่ายทำจริง เหนือน่านฟ้าประเทศสหรัฐอาหรับเอมิเรสต์มากถึง 150 ครั้ง เพื่อให้ได้ช็อตที่ดีที่สุดเพียง 3 ช็อตที่ถูกนำไปใช้จริงในหนัง ก่อนจะทำการปิดกล้องอย่างสวยงาม


วิลเลียม แบรนต์ ถูกวางไว้ให้เป็นตัวแทนของ อีธาน ฮันต์
Mission: Impossible

อีกตัวละครไฮไลต์ของภาค ‘Ghost Protocol’ และ ‘Rogue Nation’ ก็คือ วิลเลียม แบรนต์ เลขาธิการของนายกรัฐมนตรี และนักวิเคราะห์ข่าวกรอง ซึ่งรับบทโดย เจเรมี เรนเนอร์ (Jeremy Renner) ที่เข้ามาร่วมร่วมปฏิบัติการไร้เงากับ อีธาน ฮันต์ โดยบังเอิญ และมีความลับบางอย่างซ่อนอยู่ แม้ว่าบทของเขาจะเป็นบทสมทบ แต่จริง ๆ แล้ว วิลเลียม แบรนต์ เคยมีความสำคัญในระดับตัวตายตัวแทนของอีธาน ฮันต์ เลยทีเดียว

โดย โรเบิร์ต เอลส์วิต (Robert Elswit) ผู้กำกับภาพของภาคนี้ได้เปิดเผยว่า ไอเดียแรกของภาคนี้ วิลเลียม แบรนต์ ได้ถูกวางตัวให้เป็นตัวตายตัวแทน ที่จะเข้ามารับบทเป็นเจ้าหน้าที่ IMF แทนที่ อีธาน ฮันต์ ส่วน อีธาน ฮันต์ จะวางมือจากการปฏิบัติหน้าที่ และกลายไปเป็นหัวหน้าหน่วย IMF แทน ซึ่งเป็นการเตรียมการณ์ล่วงหน้า ให้เขาเตรียมรับบทนำในกรณีที่หนังไม่ทำเงิน หรือครูซไม่อยากกลับมารับบทอีธาน ฮันต์อีกต่อไปแล้ว

แต่สุดท้าย ตัวหนังกลับทำรายได้ทั่วโลกถล่มทลายกว่า 694 ล้านเหรียญ รั้งอันดับ 2 ของแฟรนไชส์ ทำให้ วิลเลียม แบรนต์ ยังคงตำแหน่งเจ้าหน้าที่ IMF จนสุดท้ายเรนเนอร์ก็ไม่ได้กลับมารับบทนี้อีกในภาค ‘Fallout’ เพราะติดคิวต้องไปรับบท Hawkeye ใน ‘Avengers: Infinity War’ (2018) และ ‘Avengers: Endgame’ (2019)


ฉากปืนตึก เบิร์จ คาลิฟา ทอม ครูซ ต้องใช้เวลาซ้อมวันละ 10 ชั่วโมง
Mission: Impossible

อีกฉากสุดหวาดเสียวในภาค ‘Ghost Protocol’ ก็คือฉากที่ครูซเล่นใหญ่ ด้วยการปีนตึก แต่ไม่ใช่ตึกธรรมดา เพราะนี่คือตึก เบิร์จ คาลิฟา (Burj Khalifa) เจ้าของสถิติตึกที่สูงที่สุดในโลกที่ตั้งอยู่ในประเทศดูไบ ซึ่งฉากนี้ อีธาน ฮันต์ ต้องปืนขึ้นไปยังห้องเซิร์ฟเวอร์ที่คุ้มกันอย่างแน่นหนาด้วยถุงมือสุญญากาศ ซึ่งการถ่ายทำก็เรียกได้ว่าโหดหินไม่แพ้กับภาคอื่น ด้วยความที่ครูซต้องปืนขึ้นไปบนกำแพงกระจกตึกที่ความสูง 518 เมตร และยึดด้วยเชือกสลิง 6 เส้น ท่ามกลางอากาศร้อน แถมเล่นใหญ่ด้วยการถ่ายทำด้วยกล้อง IMAX ทีมงานจึงต้องถอดหน้าต่าง เตรียมเฮลิคอปเตอร์ติดกล้อง และป้องกันอุบัติเหตุที่จะเกิดขึ้นไว้อย่างรัดกุม

ทีมงานได้สร้างตึก เบิร์จ คาลิฟา จำลอง ที่ใช้กระจกชนิดเดียวกัน และติดสปอตไลต์ เพื่อสร้างความร้อนแทนดวงอาทิตย์ เพื่อให้ครูซใช้ซ้อมปีน และเมื่อถ่ายจริง ครูซก็ต้องซ้อมปีนตึกจริงให้คุ้นเคยอีกเป็นเวลา 8 วัน วันละกว่า 10 ชั่วโมง ท่ามกลางความเสี่ยงอันตรายสารพัด เพื่อให้คุ้นเคยกับตึกและสภาพแวดล้อม แถมตอนถ่ายทำจริง ครูซก็ต้องทำเวลาอีก เพราะกล้อง IMAX บนเฮลิคอปเตอร์ถ่ายได้แค่ครั้งละ 30 นาทีเท่านั้น ส่วนฉากเสี่ยงอันตราย เช่นฉากถุงมือหลุด และฉากถีบกระจก เป็นการถ่ายทำในสตูดิโอและใช้ซีจีตกแต่งภาพ ส่วนในฉากตึกจริง ๆ ก็ต้องใช้ซีจีลบเชือกสลิง รวมทั้งเงาของ เฮลิคอปเตอร์ ทีมงาน อุปกรณ์ บนกระจกออกไปในภายหลัง จนได้ฉากแอ็กชันที่ทั้งเสียว ทั้งอลังการแบบที่เห็นในหนัง


ทอม ครูซ ทำลายสถิติดำน้ำจริงถ่ายหนังนาน 6 นาที
Mission: Impossible

ในภาค ‘Rogue Nation’ มีฉากที่กลายเป็นประวัติศาสตร์ของหนังแอ็กชัน นั่นก็คือฉากที่อีธาน ฮันต์ ต้องกระโดดเข้าไปเปลี่ยนชิปคอมพิวเตอร์ที่เก็บอยู่ใต้บ่อน้ำ เพื่อให้เบนจี (ไซมอน เพ็กก์ – Simon Pegg) สามารถแฮกผ่านระบบความปลอดภัยสุดเข้มงวด ฮันต์จึงต้องกระโดดและดำดิ่งลงไปในบ่อน้ำสุดอันตราย และกลับออกมาให้ได้ก่อนที่จะขาดออกซิเจน

เบื้องหลังฉากเสี่ยงตายนี้ ถ่ายทำที่สถานีโรงไฟฟ้าฟอว์ลีย์ (Fawley Power Station) ประเทศอังกฤษ แน่นอนว่าครูซก็ขอเล่นเอง แถมต้องถ่ายฉากลองเทคให้เห็นภาพของครูซที่กำลังดำน้ำจริง ๆ แบบไม่ใช้สตันท์ด้วย โดยก่อนถ่ายทำ ครูซต้องเข้ารับการฝีกดำน้ำตามหลักสูตรการดำน้ำแบบทหาร เพื่อให้ดำน้ำได้อย่างยาวนาน พร้อมกับสามารถเคลื่อนไหวร่างกายไปได้ด้วย

ซึ่งสุดท้ายครูซก็สามารถทำลายสถิติด้วยการดำน้ำได้นานสุด ๆ ถึง 6 นาที มากกว่าคนทั่วไปที่มีความสามารถในการดำน้ำได้คราวละไม่เกิน 1-2 นาทีเท่านั้น นับเป็นอีกหนึ่งฉากการดำน้ำถ่ายหนังที่นานที่สุดครั้งหนึ่งของฮอลลีวูด


ฉากวิ่งบนปีกเครื่องบินในภาค ‘Rogue Nation’ ต้องใช้เวลาเตรียมการนับเดือน
Mission: Impossible

อีกฉากที่กลายเป็นภาพจำของแฟรนไชส์นี้ก็คือ ฉากที่ อีธาน ฮันต์ เกาะเครื่องบินในขณะที่กำลังเทคออฟในภาค ‘Rogue Nation’ ที่เปิดฉากด้วยการให้ อีธาน ฮันต์ วิ่งตามเครื่องบิน แอร์บัส รุ่น A400m ที่กำลังขนแก๊สพิษ เทคออฟขึ้นจากรันเวย์ ก่อนที่เบนจี้จะทำการแฮกประตูเครื่องบินได้ในที่สุด 

โดยในฉากนี้ ทีมงานโปรดักชันดีไซเนอร์ ต้องวางแผนการถ่ายทำอยู่นานนับเดือน ด้วยการใช้โมเดลเครื่องบินแอร์บัส ก่อนที่แม็กควอรี ผู้กำกับจะเป็นคนออกไอเดียท้าให้ครูซวิ่งอยู่นอกเครื่องบิน แน่นอนว่าครูซก็ยอมจัดให้ตามคำขอ ก่อนที่จะเริ่มถ่ายทำกันที่ฐานทัพอากาศ อาร์ เอ เอฟ วิตเทอริง (RAF Wittering) ในอังกฤษ โดยครูซ พร้อมอุปกรณ์ยึดตัว ต้องเดินไต่ปีกเครื่องบินที่วิ่งด้วยความเร็ว 250 ไมล์ต่อชั่วโมงที่ความสูง 5000 ฟุต แถมสนามบินก็ให้เวลาถ่ายทำแค่ 48 ชั่วโมง จึงต้องเร่งกับเวลาอย่างมาก

ส่วนทีมงานก็ต้องออกแบบกล้องที่ใช้ถ่ายทำโดยเฉพาะ และต้องทำความสะอาดรันเวย์อยู่หลายวันเพื่อให้มั่นใจว่าจะไม่ให้มีชิ้นส่วนกระเด็นมาโดนตัวครูซ ซึ่งฉากนี้ต้องถ่ายทำกันทั้งหมด 8 เทค กว่าจะได้ภาพที่เห็นกันในหนังแค่ 90 วินาที ส่วนครูซเองแม้จะโดนเศษหินกระเด็นใส่ระหว่างถ่ายทำ แต่ก็โชคดีที่เจ้าตัวไม่เป็นอะไรมาก



พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส