คำว่า ‘หนังเกย์’ สองพยางค์สั้นๆ บนความธรรมดาแต่ห้วงหนึ่งก็ให้ความรู้สึกแบ่งแยก ถูกเทจากสังคมให้ไปรวมกันเป็นกลุ่มหนังนอกกระแส แม้ตลอดหลายปีมานี้หนังไทยแนวเพศที่ 3 ทั้งเกย์หรือเลสเบี้ยนได้รับฟีดแบ็กค่อนข้างดีจากนักวิจารณ์ในเรื่องเนื้องาน ใครบางคนอาจจำความสัมพันธ์ของ คิม และ พาย ใน Yes or No หรือ โต้งกับมิว ในรักแห่งสยามได้อยู่บ้างจนทุกวันนี้ แต่อีกมุมหนึ่ง มันก็อาจเป็นทางผ่านบันไดปีนป่ายของนักแสดงที่ได้แจ้งเกิดและไม่หวนย้อนกลับมาทางเก่าอีก 

อย่างไรก็ตาม ถ้าพูดให้กว้างขึ้น เทรนด์ของวัฒนธรรมเกย์ทั่วโลกที่เข้ามามีบทบาทในมุมการตลาดเด่นชัดขึ้นตั้งแต่ช่วงต้นยุค 2000 มาแล้ว น่าสนใจมากว่า จวบจนวันนี้กำลังซื้อของเกย์ โหมรุนแรงหนักหน่วงไม่แพ้ผู้หญิง ซึ่งเป็นเพศขับเคลื่อนเศรษฐกิจ หนังเกย์กลายเป็นสินค้าตลาด นิช มาร์เก็ต (Niche Market) ที่โตขึ้นเรื่อยๆ และมีแนวโน้มจะไปได้ไกล เพราะมันยังมีความแปลกใหม่ บนความซับซ้อนของแคแร็คเตอร์ ที่ต้องแบกรับปมมากมายจากสังคม และถ้าพูดถึงเรื่องการตลาด มันมีแง่มุมให้หยิบจับหลากหลายกว่าหนังเพศผู้เพศเมียที่แป๊บๆ พล๊อตก็ตัน แล้วก็ถูกรีไซเคิลซ้ำๆ จนเปื่อย หนังหลายเรื่องก็เลยทำออกมาดูแล้วงั้น และสุดท้ายรายได้มันก็งั้นๆ ไปด้วย

หากพูดถึงผู้กำกับ อาร์ม อนุสรณ์ สร้อยสงิม นี่คืองานเขียนบทและกำกับหนังยาวชิ้นแรกของเขา สำหรับ Present Perfect  หรือชื่อไทยเหงาๆ ว่า ‘แค่นี้ก็ดีแล้ว’ นั้นพัฒนาจากหนังสั้น 30 นาทีที่เคยทำไว้เมื่อปี 2011 ซึ่งก่อนหน้านี้ผู้กำกับอาร์มเคยผ่านผลงานหนังสั้นสารคดี Why am I left behind? ที่ได้ทุนจาก Busan Film Commission ของเกาหลีใต้ และคราวนี้กับ Present Perfect ได้ทุนจากเทศบาลเมืองฮิกาชิคาวะ ฮอกไกโด ประเทศญี่ปุ่น ซึ่งถือว่าเป็นจุดที่ช่วยยกระดับของหนังได้อีกระดับและในอีกนัยหนึ่งมันคือการโฆษณาท่องเที่ยวเพิ่มรายได้ตามนโยบายของ นายก ชินโซ อาเบะ ที่ต้องการใช้โมเดลนี้สร้างรายได้หลักจากนักท่องเที่ยวที่มาจัดทริปตามรอยหนัง ปีที่แล้วที่เห็นชัดเจนเลยคือแอนิเมชัน Your Name และ ปรากฏการณ์ ‘มาริโอ้ อาเบะ’ ในพิธีปิดโอลิมปิกที่ผ่านด่านกลยุทธ์ในการวาง ‘ตำแหน่ง’ ของประเทศญี่ปุ่นให้ชาวโลกได้เห็นอย่างมีคลาส ไม่ไทอิน (tie-in) โฉ่งฉ่าง

ตัวหนัง Present Perfect มันเล่าเรื่องของ เต้ย (อดิศร โทณะวณิก) หนุ่มผู้ช้ำรักจากการถูกแฟนสาวเท และเลือกมาญี่ปุ่นคนเดียวเพื่อเยียวยาจิตใจ กับโอ๊ต (กฤษณะ มฤคสนธิ) หนุ่มไทยที่เลือกมาเก็บเกี่ยวช่วงเวลาไร้พันธนาการครั้งสุดท้ายในชีวิตก่อนเข้าพิธีวิวาห์กับแฟนสาว ซึ่งทั้งสองบังเอิญได้พบกันที่ ฮิกาชิคาวะ จากนั้นคือจุดเริ่มต้นของมิตรภาพครั้งใหม่ ความสัมพันธ์ของสองหนุ่มในช่วงเวลาสั้นๆ ก่อนที่จะต้องกลับไปเผชิญกับโลกแห่งความจริง

หนังเรื่องนี้ เล่าผ่านมุมมองของเต้ยเป็นหลัก โดยได้ ยูมิ (มิโดริ ทามาเตะ) เพื่อนสนิทมาคอยเป็นที่ปรึกษาระหว่างที่เต้ยหลบมาเลียแผลใจที่นี่ และเป็นตัวละครที่เข้ามาสร้างสีสันให้หนังดูสดใสและขับเคลื่อนไปแบบเป็นธรรมชาติมากขึ้น บทบาทของ ยูมิ นี้เรียกเสียงฮาเสียงกรีดร้องของบรรดาเก้งกวางในโรงมากกว่าฉากจิ้นๆ ของหนุ่มเต้ย-โอ๊ต เสียอีก เพราะในช่วงแรกๆ เรายังไม่ค่อยเห็นอินเนอร์ของพวกเขามากเท่าไหร่ ตัวหนังเล่นฉากยาวแช่ภาพไว้บ่อยครั้ง ให้ความรู้สึกกระอักกระอ่วนปนแอบลุ้น ขณะเดียวกัน หนังพยายามสำรวจจิตใจของ เต้ย ซึ่งอยู่ในภวังค์ของความสับสน โดยเล่าให้เห็นภาพในมุมของผู้ชายแมนๆ ที่ชอบผู้หญิง กำลังหวาดกลัวว่าความสัมพันธ์แบบนั้นจะเกิดขึ้นกับตัวเองจริงๆ เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นมันเป็นการเรียนรู้และเปลี่ยนผ่านความคิดในแบบฉบับหนัง coming of age อย่างหนึ่ง และหนังเลือกจะเล่าผ่านการกินถั่วเน่า นัตโตะ ให้อร่อย ซึ่งหนังหยิบจับตรงนี้มาทำได้ดีเยี่ยม

Present Perfect มีจังหวะการเล่าที่ทำให้หนังดูน่ารัก แม้ตัวละครจะมีปมอะไรมามันก็ไม่ได้ถูกหยิบยกมาขมวดให้หนังดูดาร์กเหมือนหนังเกย์หลายเรื่อง มันไม่แปลกที่เราจะได้เห็นสองหนุ่มในสภาพปราศจากอาภรณ์นุ่งห่มปะปนมาบ้าง แต่มันไม่พยายามนำเสนอแบบโจ๋งครึ่มสไตล์หนุ่มกล้ามปูนอนบดไข่ ระเบิดถังขี้ เอาใจชาวสีม่วงขนาดนั้น กลับกันมันถูกเล่าให้ดูง่าย ไม่อึดอัด ไม่เลี่ยน ไม่กดดัน และสะอาด รวมทั้งเมสเซจในหนังเรื่องนี้ที่ต้องการบอกว่า โลกของเกย์เป็นโลกที่ไม่น่ารังเกียจ มันเป็นความรักที่สวยงามเทียบเท่ากับความรักของชายหญิงทั่วไป ซึ่งตรงนี้ถูกเล่าออกมาได้ถูกที่ถูกเวลา และทัชชิ่งคนดู การบ่งบอกระดับความสัมพันธ์ของตัวละครผ่านมุมมองการถ่ายรูปจากกล้องฟิล์มที่เต้ยจะยกกล้องขึ้นมาถ่ายเฉพาะโมเมนต์สำคัญของชีวิตก็ยิ่งทำให้ตัวหนังมันดูมีแพสชัน และเติมเต็ม

นอกจากนี้ องค์ประกอบด้านภาพและซาวน์ประกอบของหนังเรื่องนี้ก็เป็นอีกจุดที่สอบผ่าน หลายฉากมีเมสเซจที่แผ้วทางนำพาคนดูตีความตามหนังได้ไหลลื่น ดูเล่าน้อยๆ แต่ได้มาก มีความกระชับและไม่ยืดเยื้อ นอกจากเรื่องเมสเซจเรื่อง LGBT แล้ว หนังยังปล่อยคำถามบางอย่างในชีวิต เช่น ทำไมคนเราต้องมีจุดที่เรียกว่าถึงเวลาแล้วต้องแต่งงาน? มันคือการรับผิดชอบความรักที่หมดอายุไปแล้วหรือเปล่า ในเมื่อความรักของคนเรามันมีวันหมดอายุ สิ่งที่เรากำลังทำอยู่คืออะไร? มันมีประเด็นการแยกแยะเรื่อง เซ็กส์ กับความรัก ความสัมพันธ์ในช่วงเวลาสั้นๆ ที่เป็นความรู้สึกดีๆ อาจเป็นสิ่งที่ดีที่สุดมากกว่าชีวิตที่รอเราอยู่ข้างหน้า และช่วงเวลานี้จะไม่หวนย้อนคืนมาอีก หากแต่มันจะส่งผลทุกก้าวเดินในชีวิตต่อจากนี้ของ เต้ย และ โอ๊ต ตลอดไป

การได้ทุนมาทำหนังโดยใช้ ฮิกาชิคาวะ เป็นโลเกชันหลักในการถ่ายทำ ช่วยยกระดับบรรยากาศหนังขึ้นมาได้ชัดเจน เรียกว่าใช้สถานที่คุ้ม และมันเป็นการไทอินที่เป็นเคสตัวอย่างในวิชาการตลาดได้สบาย นอกจากเป็นหนัง LGBT ที่น่ารักมุ๊งมิ๊งแล้ว มันยังเป็นสารคดีท่องเที่ยวที่ดีกว่า คลิปลวกๆ เรียบๆ จืดๆ ที่เราเห็นตาม TVC ทั่วไป ซึ่งต้องบอกว่าสอดใส่มาค่อนข้างเนียนและลงตัว แน่นอนว่า หนังมันก็ไม่ได้เป๊ะปังอะไร จุดที่สองหนุ่มรับส่งบทกันในช่วงแรกก็มีติดขัดและแข็งทื่อไปบ้าง แต่เมื่อเทียบกับความไม่คาดหวังก่อนเดินเข้าโรงแล้ว มันเป็นอะไรที่เล็กน้อยมากบนความไม่สมบูรณ์แบบของ Present Perfect

Play video

Play video