Play video

ตำนานบทนี้จะลงเอยเช่นไรมีเพียงหัวใจของเบลเท่านั้นคือคำตอบ

จากตำนานครั้งเก่าเมื่อ เบล (เอมมา วัตสัน) สาวน้อยนักอ่านตัวยงแห่งเมือง วิลเนิฟ เมืองชนบทเล็กๆอันแสนสงบสุขแห่งประเทศฝรั่งเศส แต่โชคชะตาก็ได้พาเธอให้กลายเป็นจำเลยรักของ อดีตเจ้าชายต้องคำสาปให้เป็นอสูรร้ายแห่งประสาทต้องคำสาป (แดน สตีเวนส์) และที่นั่นเองเธอก็ได้ผูกมิตรกับเพื่อนใหม่ที่เป็นสิ่งของต้องคำสาปพูดได้อย่าง ลูมิแอร์ (ยวน แมคเกรเกอร์) เชิงเทียนไขช่างเจรจา คอกส์เวิร์ธ (เซอร์ เอียน แมคเคลเลน) นาฬิกาตั้งโต๊ะผู้สุขุม มิสซิส พอทส์ (เอมมา ธอมป์สัน) กาน้ำชาเปี่ยมเมตตาคุณแม่ของ ชิบ (นาธาน แม็ค) ถ้วยน้ำชาหนุ่มน้อยจอมซน และทีละน้อยที่เบล ได้ละลายหัวใจอันด้านชาของเจ้าชายอสูรและรับรู้คำสาปร้ายอันแสนเจ็บปวดว่าหากอสูรร้ายยังไร้คนรัก…เมื่อกลีบกุหลาบสุดท้ายร่วงหล่น เขาจะกลายเป็นอสูรตลอดกาล และในขณะที่กุหลาบผลัดกลีบจนเกือบสิ้น กัสตง (ลุค อีแวนส์) ชายผู้ช้ำรักจากเบลก็นำกำลังคนมาบุกประสาทเจ้าชายอสูรหวังชิงตัวเธอกลับคืน แต่ตำนานบทนี้จะลงเอยเช่นไรมีเพียงหัวใจของเบลเท่านั้นคือคำตอบ

ปกนิยายต้นฉบับภาษาฝรั่งเศส

เดิมทีใน La Belle et la Bête (1740) นิยายต้นฉบับของ ซูซานน์ บาร์โบท์ เดอ วิลเนิฟ (Gabrielle-Suzanne Barbot de Villeneuve) ซึ่งมีรายละเอียดหลายอย่างที่ต่างจาก Beauty and The Beast ในฉบับภาพยนตร์อนิเมชันปี 1991 อันแสนโด่งดัง ตั้งแต่ เรื่องเจ้าชายที่ถูกสาปเพราะไม่ยอมแต่งงานกับนางฟ้าที่เลี้ยงตัวเองมา ซึ่งหากดิสนีย์สร้างตามพลอตนี้คงเข้าข่ายอนาจารในครัวเรือน (incest) เลยปรับให้เป็นแม่มดที่มาสาปเจ้าชายหัวใจเย็นชาในงานเลี้ยงแทน หรือตัวละครอย่างกัสตง ก็ไม่มีนิยายต้นฉบับ แต่หากเป็นเหล่าพี่สาวจอมอิจฉาที่บุกมาประสาท  ดังนั้นในเวอร์ชันภาพยนตร์อนิเมชันของดิสนีย์จึงถูกดัดแปลงให้นำเสนอออกมาในลักษณะนิทานชวนฝัน ที่มีบทเพลงไพเราะพาผู้ชมวิ่งตัดทุ่งเลเวนเดอร์  แต่หารู้ไม่ว่าอันที่จริงแล้ว เรื่องราวแสนโรแมนติก กลับเคลือบแฝงการวิพากษ์กลไกทางเศรษฐศาสตร์บางอย่างไว้อย่างแยบยล

ปกหนังสือ The Courtship of Mr.Lyon ที่ดัดแปลงโดยนักเขียนอังกฤษ

อ้างอิงจากบทความของ  The Matter ที่ยกนิยายดัดแปลงของ แอนเจลา คาร์เทอร์ (Angela Carter) เรื่อง The Courtship of Mr.Lyon (1979) ที่ดำเนินเรื่องตามนิทานต้นฉบับแต่เพิ่มการแลกเปลี่ยนคือ เพื่อให้พ่อของโฉมงามเป็นอิสระ เจ้าชายอสูร เสนอให้นำโฉมงามมาอยู่กับเขาที่ปราสาทระหว่างที่ทนายช่วยให้พ่อของเธอพ้นจากภาวะล้มละลายของกิจการ แต่พอพ่อของเธอชนะคดี เธอก็กลับไปอยู่บ้านและหลงระเริงกับทรัพย์สินเงินทอง เธอก็ลืมเจ้าชายอสูรจนกระทั่งกลับไปที่ประสาทพบว่าเขาใกล้ตายเธอจึงสัญญาจะอยู่กับเขาตลอดกาล

ซึ่งในทางเศรษฐศาสตร์เราอาจมองได้ว่า ตัวละครทั้งสอง ต่างบูชาอำนาจเงินที่เปลี่ยนผู้ครอบครองให้กลายเป็นผู้ล่า ทั้งเจ้าชายอสูรที่ใช้อำนาจแห่งการเป็นเจ้าของทรัพย์สินแลกเปลี่ยนนำตัวหญิงสาวมาครอบครองแลกเปลี่ยนกับอิสรภาพของชายชรา หรือ โฉมงามที่ตระหนักในอำนาจเงินทอง เธอจึงเลือกกลับบ้านไประเริงกับทรัพย์สินเงินทองของพ่อเธอ แต่หลังจาก โฉมงามกลับไปช่วยปลดคำสาปให้เจ้าชายอสูร เราก็ได้เห็นแนวคิดทางเศรษฐศาสตร์ที่เปลี่ยนไป คือเป็นเศรษฐกิจในแบบที่ทุกคนสามารถแบ่งปันกันได้  ดังนั้นสิ่งที่น่าสนใจสำหรับฉบับภาพยนตร์นี้ คงหนีไม่พ้นการสานต่อความประทับใจจากฉบับอนิเมชันและการดัดแปลงให้เข้ายุคสมัยที่กลไกทางสังคมเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็วในระยะเวลาร่วม 26 ปีจากฉบับภาพยนตร์อนิเมชัน

Poster ฉบับ อนิเมชัน

Poster ฉบับภาพยนตร์

สำหรับBeauty and the Beast ฉบับหนังคนแสดงหรือเรียกเก๋ๆว่า หนังไลฟ์แอ็คชัน (Life Action) นี้ได้ผู้กำกับหนังมิวสิคัลอย่าง บิล คอนดอน (เขียนบท Chicago และ กำกับ Dreamgirls) และบทภาพยนตร์ได้ สตีเฟน ชโบสกี และ อีแวน สปีลิโอโทพูลอส  มาดัดแปลงจากนิยายต้นฉบับภาษาฝรั่งเศสของ ซูซานน์ บาร์โบท์ เดอ วิลเนิฟ แต่โทนหนังโดยรวมก็ยังยึดเอารูปแบบการเล่าเรื่องและเพลงยกมาจากฉบับอนิเมชันปี 1991 ที่ผู้ชมหลงรักมาเดินตามแทบทุกกระเบียดนิ้ว เราจึงได้เห็นทุกสิ่งเหมือนเมื่อครั้งมันเป็นการ์ตูน ทั้งการเล่าเรื่องแบบไร้พิษภัย และเทิดทูนความรักเหนือทรัพย์สินใดๆ

และแม้ว่าบทหนังฉบับนี้จะพยายามใส่เรื่องราวความสัมพันธ์หลากเพศให้ตัวละครเลอฟูที่รับบทโดย จอช แกด ให้มีความหลงไหลในตัว กัสตง แต่โดยภาพรวมก็ยังนำเสนอออกมาในลักษณะเป็นบทตลก ไม่ได้เป็นความสัมพันธ์ที่มีผลต่อเรื่องราวแต่อย่างใด ไม่อย่างนั้นผู้ปกครองที่พาลูกหลานไปชมคงสวดยับน่าดู และแน่นอนสิ่งที่ขาดไม่ได้หากจะเดินตามต้นฉบับคงหนีไม่พ้นฉากร้องเพลงต่างๆในเรื่องด้วย

ความสัมพันธ์หลากเพศที่ถูกดิสนีย์ตีกรอบให้นำเสนอได้เพียงบทตลก

บทหนังฉบับนี้จะพยายามใส่เรื่องราวความสัมพันธ์หลากเพศให้ตัวละครเลอฟู แต่โดยภาพรวมก็ยังนำเสนอออกมาในลักษณะเป็นบทตลก

ฉากเต้นรำที่อยู่ในใจใครหลายคนจากฉบับอนิเมชัน

แม้องค์ประกอบศิลป์จะงดงาม แต่ภาพรวมทั้งการแสดง มุมกล้องและการตัดต่อกลับไม่ทรงพลังเท่าของเดิม

และพอนำฉากร้องเพลงของเดิมมาทำใหม่ให้คนแสดง ผลลัพธ์กลับกลายเป็นฉากนักแสดงลิปซิงค์มากกว่าจะเป็นมิวสิคัล ซึ่งต้องบอกว่าความยากประการสำคัญที่หนังไลฟ์แอ็คชันจากอนิเมชันดิสนีย์ที่ผ่านมาอย่าง Maleficent หรือ Cinderella เลี่ยงฉากร้องเพลง คือความมีชีวิตชีวาและการพ้นจากโลกความเป็นจริงเมื่อครั้งการ์ตูน จะถูกคนดูประเมินความสมจริงทันทีเมื่อคิดให้คนมาแสดง ตั้งแต่ฉากร้องเพลง บองชู  (Bon Jour)  ที่แทบถอดมุมกล้องมาจากของเดิม แต่กลับไร้ชีวิตชีวาจนไม่นำพาคนดูให้รู้สึกสนุกตามตัวละคร ไปจนถึงฉากตำนานที่ทำให้ Beauty and the Beast ฉบับอนิเมชัน ได้รางวัลออสการ์และครองใจคนรักหนังอย่างฉากเต้นรำในประสาท ที่แม้จะถอดทั้งเนื้อร้องและจังหวะ แถมเพิ่มไลน์เครื่องดนตรีเพิ่มเข้าไป ก็ยังไม่สามารถสร้างมนต์ขลังได้เท่าฉบับเดิม ส่วนเพลงใหม่ที่เพิ่มมาก็ไม่ได้ช่วยให้ภาพรวมของการเป็นมิวสิคัลของมันดีขึ้นแต่อย่างใด จึงน่าแปลกใจว่าผู้กำกับ บิล คอนดอน ที่ผ่านหนังมิวสิคัลระดับชิงออสการ์ ใยคุมโทนฉากมิวสิคัลออกมาได้ไร้พลังขนาดนี้ รวมถึงการตัดต่อลำดับเรื่องราวที่ไม่ราบรื่นเท่าใดนัก

ลูมิแอร์ และ คลอกเวิร์ธ ฉบับภาพยนตร์

เทียบกับฉบับอนิเมชัน

เจ้าชายอสูร ฉบับนี้ก็สามารถสร้างเอกลักษณ์ให้คนดูหลงรักได้ไม่แพ้กัน

เจ้าชายอสูร ฉบับใหม่ที่จะทำให้คุณหลงรักได้ไม่แพ้ฉบับเก่า

สำหรับงานสร้างในภาพรวมคงต้องยอมรับในความตั้งใจของทีมงานจริงๆ ตั้งแต่การออกแบบงานสร้างที่พยายามหนีโทนการ์ตูนด้วยการออกแบบคาแรคเตอร์สิ่งของให้ขยับโดยอิงจากลักษณะการใช้งานเพื่อเพิ่มความสมจริง และออกแบบเพื่อเพิ่มความสมจริงให้การเคลื่อนไหวโดยเฉพาะตัวละคร ลูมิแอร์ เชิงเทียนช่างเจรจา ที่เพิ่มในส่วนขาและลำตัวคล้ายคนเพื่อการเคลื่อนไหวที่สมจริง แม้จะแลกกับสีสันของตัวละครที่ต้องลดทอนลงก็ตาม และโดยเฉพาะอย่างยิ่งตัวละครเจ้าชายอสูรที่แม้ฉบับอนิเมชันจะสร้างภาพจำฝังใจ แต่ในฉบับนี้ก็สามารถสร้างเอกลักษณ์ให้คนดูหลงรักได้ไม่แพ้กัน รวมถึงการออกแบบฉากต่างๆและเสื้อผ้าโดยเฉพาของตัวละคร เบล ที่นำชุดอันเป็นไอคอนอย่าง ชุดฟ้าขาว  และ ชุดราตรีสีเหลือง มาดัดแปลงได้อย่างงดงามและคงเอกลักษณ์จนน่าจะมีลุ้นบนเวทีออสการ์ปีหน้าได้อย่างแน่นอน

คอสตูมฟ้าขาว ที่เพิ่มรายละเอียดอย่างสร้างสรรค์

ชุดราตรีเหลือง อันงดงาม

ชุดของเบล ถูกนำมาดัดแปลงได้อย่างงดงามและคงเอกลักษณ์จนน่าจะมีลุ้นบนเวทีออสการ์ปีหน้าได้อย่างแน่นอน

เอมมา วัตสัน โดดเด่นในบทเบล

ด้านนักแสดงที่นอกจากเอมมา วัตสัน ในบทเบลจะโดดเด่นและทำให้คนดูหลงรักได้ไม่ยากแล้ว ด้านนักแสดงที่มาให้เสียงก็ทำหน้าที่ได้ดีไม่แพ้กันโดยฉพาะ เอมมา ธอมป์สัน ที่ได้โชว์ทั้งการพากย์เสียงและเสียงร้องเพลง beauty and the Beast อันเป็นไอคอน จะมีติดก็ตรงสำเนียงฝรั่งเศสของ ยวน แมคเกรเกอร์ ในบท ลูมิแอร์ ที่ฟังแล้วแปลกแปร่งไม่เข้าพวก ทั้งที่นักแสดงที่รับบทคนฝรั่งเศสอื่นๆก็พูดสำเนียงอังกฤษกันหมดจนกลายเป็นจุดสะดุดเล็กๆในงานพากย์เสียงของหนังเรื่องนี้

มิสซิส พอทส์ กาน้ำเสียงเพราะเปี่ยมเมตตา ให้เสียงโดยนักแสดงมากความสามารถอย่าง เอมมา ธอมป์สัน

“เหมือนการ์ตูนเลยเนอะ” คือคำแรกที่ผมได้ยินเมื่อเดินออกจากโรงในรอบสื่อ และน่าจะเป็นบทสรุปริวิวฉบับนี้ที่ดีที่สุด และแน่นอนว่าเราจะได้พูดและได้ยินคำนี้กันอีกยาว เพราะโครงการต่อไปของดิสนีย์ในการนำอนิเมชันมาแปลงเป็นหนังไลฟ์แอ็คชันคือ The Lion King

งานกำกับศิลป์ที่ใส่ใจในรายละเอียด

ฉากที่ทุกคนรอคอย