หลังเลนส์สัปดาห์นี้จะพาไปรู้จักประมุขแห่งทีมงานฝ่ายศิลป์ที่ใช้จินตนาการรังสรรสู่โลกในภาพยนตร์กับ

นักออกแบบงานสร้าง หรือ Production Designer

ผู้ออกแบบงานสร้าง (Production Designer)

หน้าที่หลักของผู้ออกแบบงานสร้างไม่เพียงการออกแบบฉากเท่านั้น แต่ยังต้องรับผิดชอบในการสร้างโลกโดยรวมของหนังจากบทภาพยนตร์ให้ตรงตามวิสัยทัศน์ของผู้กำกับ โดยสิ่งที่นักออกแบบงานสร้างต้องมีคือ

  • ทำงานร่วมกับผู้กำกับได้ดี นั่นหมายถึงต้องเข้าใจในสิ่งที่ผู้กำกับต้องการและสามารถให้คำแนะนำได้
  • ศึกษาค้นคว้าข้อมูลของช่วงเวลาเกิดเรื่องในบทหนัง ต้องเข้าใจได้ว่าหนังเรื่องนี้เกิดในช่วงเวลาไหน ประเทศอะไร ลักษณะสถานที่เป็นอย่างไร เพื่อประกอบการออกแบบและนำเสนอให้ผู้กำกับตัดสินใจ
  • มีจินตนาการและความคิดสร้างสรรค์ แน่นอนแม้จะเกี่ยวข้องกับการก่อสร้างคล้ายผู้รับเหมาแต่ นักออกแบบงานสร้างต้องทำงานโดยมีบทหนังเป็นธรรมนูญสำคัญซึ่งเอื้อให้ทำงานโดยอาศัยจินตนาการเพื่อรับใช้เรื่องราวและสร้างความสมจริงหรือมหัศจรรย์ให้แก่ผู้ชมได้
  • ถ่ายทอดงานต่อให้ พร็อพมาสเตอร์ หรือ คนดูแลอุปกรณ์ประกอบฉากได้ เนื่องจากการทำงานในฝ่ายศิลป์ของภาพยนตร์จำต้องอาศัยทีมงานหลายส่วน โดยหนึ่งในนั้นก็คือพร็อพมาสเตอร์นั่นเอง
  • ทำหน้าที่ประหนึ่งโฟร์แมนคุมงานก่อสร้างในการดูแลสร้างฉากหรืออาคารสำหรับถ่ายทำ ซึ่งนอกจากความสวยงามแล้วยังต้องคำนึงถึงการใช้งานอย่างปลอดภัยอีกด้วย
  • รวมถึงต้องจัดทีมดูแลฉากเมื่อสร้างเสร็จให้พร้อมใช้งาน หากต้องสร้างฉากค้างไว้หลายวัน ก็ต้องจัดหาคนดูแลด้วยเป็นต้น

งานสร้างที่ออกแบบจนเป็นตำนาน

โลกอนาคตของ Blade Runner โดยลอว์เรนซ์ จี พอล ที่จัดจ้านไปด้วยสีสัน แสงไฟนีออน ป้ายโฆษณายักษ์ ได้กลายเป็นต้นแบบสำหรับงานสร้างในหนังโลกอนาคตยุคต่อมา

ลานประลองใน Ben Hur ที่ยิ่งใหญ่เกินจินตนาการ จนหนังพีเรียตที่ดำเนินเรื่องในยุคโรมันต่างอ้างอิงจากหนังเรื่องนี้

งานสร้างที่ดีไม่จำเป็นต้องอลังการเสมอไป อย่างใน Mary is happy Mary is Happy ที่ใช้ความน้อยแต่มากมาสร้างโลกเหงาเซอร์ๆที่ตัวละครอาศัยอยู่ได้อย่างโดดเด่น