เห็นชื่อเรื่องแล้วก็คงเกิดความงุนงงสงสัยว่า อะไรกันมันมีเพลงที่เงียบในโลกใบนี้ด้วยหรือ ขึ้นชื่อว่าเพลงมันก็ต้องมีเสียงสิ ถ้าเงียบแล้วจะเรียกว่าเพลงได้อย่างไร

วันนี้ What The Fact จะพาทุกคนไปรู้จักกับบทเพลงที่เงียบที่สุดในโลก ส่วนจะเงียบอย่างไรนั้น ลองไปฟังกันดูก่อนเลย กับบทเพลงเพลงนี้ที่มีชื่อว่า 4’33” ( ใช่แล้วครับนี่แหละคือชื่อเพลง แค่ชื่อก็แปลกแล้ว)

Play video

What The… !!! นี่มันคืออะไร นี่คงจะเป็นเพียงเสียงเสียงเดียวที่ดังก้องอยู่ในหัวของทุกคนขณะที่ฟังเจ้าบทเพลงเพลงนี้ มันคือบทเพลงอะไรกันทำไมมีนักดนตรีมานั่งหน้าเปียโน แล้วก็กดอะไรติ๊กๆทำท่าจะเล่นแต่ก็ไม่เล่น ปิดฝาครอบลิ่มเปียโนและก็นั่งเฉยๆรอเวลาซะงั้น ก่อนที่จะงงไปมากกว่านี้ งั้นเรามาทำความรู้จักกับเจ้าเพลงเพลงนี้กันดีกว่า

ทำไมต้อง 4’33”

4’33” (อ่านว่า 4 นาที 33 วินาที หรือแค่ สี่ สามสิบสาม ก็ได้) เป็นชื่อบทเพลงของนักประพันธ์เพลงแนวทดลอง (Experimental Music) นาม จอห์น เคจ (John Cage) โดยชื่อเพลงนั้นมีที่มาจากความยาวของบทเพลงนี้ คือ 4 นาที 33 วินาที โดยมีการแบ่งออกเป็นท่อนย่อยๆ 3 ท่อน ยาว 30 วินาที , 2 นาที 23 วินาที , และ 1 นาที 40 วินาที ตามลำดับ โดยในช่วงเวลา 4 นาที 33 วินาทีนั้น นักดนตรีไม่ต้องบรรเลงท่วงทำนองใดๆเลย

Score เพลง 4’33”

เพลงนี้ถูกนำออกแสดงครั้งแรกเมื่อวันที่ 29 สิงหาคม 1952 ณ หอแสดงดนตรีมาเวริค (Maverick Concert Hall) ที่ Woodstock New York โดยมี เดวิด ทูดอร์ (David Tudor) นักเปียโนคู่ใจของเคจ เป็นคนบรรเลง โดยใช้ Score ต้นฉบับที่เคจเขียนด้วยลายมือตัวเองบรรเลง และแล้วเมื่อ ทูดอร์เริ่มบรรเลง ความเงียบก็เข้ามาแทนที่ สอดรับไปกับเสียงของลมที่พัดผ่านกิ่งไม้ใบไม้เนื่องจากด้านหลังเวทีเปิดไปสู่ป่าใหญ่และสามารถได้ยินเสียงจากภายนอกหอแสดงได้ ไม่นานนักก็เริ่มมีเสียงเซ็งแซ่ของผู้ชมที่กำลังตกอยู่ในความสับสนและงงงวยว่า นี่มันอะไรกันฟระ หลายคนเริ่มจับกลุ่มคุยกัน บางคนก็เดินออกไปจากหอแสดงดนตรี

John Cage และ David Tudor

แนวคิดในการแต่งเพลง 4’33” จอห์น เคจได้รับแรงบันดาลใจมากจากปรัชญาตะวันออก โดยเฉพาะปรัชญาพุทธนิกายเซ็น และภาพสีขาวที่ว่างเปล่า หรือ White Painting ของเพื่อนจิตรกรนาม โรเบิร์ท ราวเซนเบิร์ก ( Robert Rauschenberg) โดยในภาพภาพนี้ไม่มีสิ่งใดปรากฏอยู่เลย นอกจากสีขาวเท่านั้น มันเป็นเสมือน “พื้นที่” ที่เปิดกว้างให้กับอากาศที่รายรอบและความเป็นไปได้ต่างๆ

Robert Rauschenberg กับภาพ White Painting ของเขา

ซึ่งเพลง 4’33” ก็เช่นกันมันเป็นดั่ง “ที่ว่าง” ที่ปล่อยให้เสียงต่างๆที่อยู่รายล้อมผู้ฟัง (รวมไปถึงเสียงต่างๆที่ดังขึ้นในหัวของผู้ฟังขณะนั้น ) ได้ปรากฏตัวขึ้น หลายครั้งเสียงเหล่านี้เป็นสิ่งที่เรามองข้ามไป หูของเราละเลยมันไป มันเป็นเสียงที่เราไม่เคยได้ยิน จนกระทั่งความเงียบเข้ามา เราจึงได้ยินมันไม่ว่าจะเป็นเสียงต่างๆที่อยู่รายล้อมหรือเสียงความคิดภายในของเราก็ตาม ในระดับที่ลึกซึ้งมันนำไปสู่การประจักษ์แจ้งในตนเอง และนี่คือสิ่งมหัศจรรย์ที่ 4’33” ได้ทำให้เกิดขึ้น

ด้วยเหตุนี้บทเพลง 4’33” จึงเป็นบทเพลงที่ชวนเหวอที่สุดบทเพลงหนึ่งและที่เหวอไปกว่านั้นเพลงนี้ยังมีหลายเวอร์ชั่นด้วยกัน ยกตัวอย่างเช่น เวอร์ชั่นที่บรรเลงโดยวง Symphony Orchestra นักดนตรีร่วมร้อยชีวิตนิ่งกันทั้งวงเลยจ้า

Play video


จอห์น เคจ คือใคร ?

John Cage

จอห์น เคจ หรือ จอห์น มิลตัน เคจ (John Milton Cage Jr.) เกิดเมื่อวันที่ 5 กันยายน 1912 และเสียชีวิตเมื่อวันที่ 12 สิงหาคม 1992 ในวัย 80 ปี เคจ เป็นนักประพันธ์เพลงชาวอเมริกันผู้มีบทบาทสำคัญต่อการเปลี่ยนแปลงและสั่นสะเทือนวงการดนตรีตะวันตก และผู้นำไปสู่ดนตรีแนวใหม่ที่เรียกว่า ดนตรีทดลอง หรือ Experimental Music

เคจ มีความสนใจในปรัชญาตะวันออก เขาเคยศึกษาปรัชญาพุทธนิกายเซ็นกับ ดี.ที. สุซูกิ (Daisetsu Teitaro Suzuki) ปรมาจารย์เซ็นผู้โด่งดัง เคจมองว่าศิลปะไม่ว่าจะตะวันออกหรือตะวันตกล้วนแล้วแต่มีเป้าหมายอันเดียวกัน คือ การมุ่งไปสู่ความสงบของจิตใจ

John Cage และท่าน D.T. Suzuki ปรมาจารย์เซ็น

เคจอธิบายสภาวะ “จิตสงบ” ว่า หมายถึงสภาวะที่จิตปราศจากความ “ไม่ชอบ” แต่ด้วย ความไม่ชอบเป็นสิ่งที่เกี่ยวเนื่องกับความ”ชอบ” ดังนั้น สภาวะจิตสงบที่แท้จริงก็คือ สภาวะที่เราหลุดพ้นทั้ง ความ “ชอบ” และ ความ “ไม่ชอบ” นั่นเอง (ช่างล้ำลึกจริงๆ)

นอกจาก 4 : 33 แล้ว จอห์น เคจ ยังมีผลงานที่น่าสนใจอีกมากมายซึ่งเราก็ได้หยิบยกมาจำนวนหนึ่งให้ได้ชิมได้ลองกัน

Water Walk (1960)

Play video

Score เพลง Water Walk

Ocean of Sounds

Play video

Dream (1948)

Play video

สุดท้ายนี้ขอปิดท้ายไปด้วยถ้อยวจีคมๆของจอห์น เคจ กันหน่อยนะครับ โชคดี!

“(4’33”) อยู่ในชีวิตและงานของผมตลอดมา ผมฟังเพลงนี้ทุกวัน…ผมไม่ต้องนั่งลงแล้วเล่นดนตรีหรอก ผมแค่เพ่งความสนใจไปที่มันเท่านั้น ผมรู้ว่ามันจะไม่มีวันเงียบหายไป…ดนตรีไม่เคยหยุดหรอกคนเราต่างหากที่หยุดฟัง”

อ้างอิง : อติภพ ภัทรเดชไพศาล. 2557. เสียงของอิสรภาพ John Cage กับ Experimental Music. กรุงเทพฯ : Blacklist.
What silence taught John Cage: The story of 4′ 33″