14 กรกฎาคม ค.ศ. 1789 เสียงปืนดังขึ้น ท่ามกลางเสียงโห่ร้องของเหล่าประชาชนชาวปารีสที่กำลังเรียกร้องความเสมอภาค ภราดรภาพ และเสรีภาพ คุกบาสติลสัญลักษณ์แห่งการกดขี่และเอารัดเอาเปรียบได้ถูกทำลายลง การปฏิวัติฝรั่งเศสได้เริ่มต้นขึ้นแล้ว และในกาลต่อมาวันนี้ได้ถูกกำหนดให้เป็น “วันชาติฝรั่งเศส”

ภาพ “เสรีภาพนำประชาชน” (Liberty Leading The People) วาดโดย เดอลาครัวซ์ เป็นภาพจากเหตุการณ์การปฏิวัติในปี 1830 (ไม่ใช่ปี 1789 แต่มักถูกใช้เป็นภาพที่สื่อแทนการปฏิวัติในฝรั่งเศส)

ฝรั่งเศสถือได้ว่าเป็นชาติที่มีความรุ่งเรืองทางความคิด ศิลปะและวัฒนธรรม ตั้งแต่ในอดีตจนถึงปัจจุบันฝรั่งเศสได้เป็นต้นธารแห่งความคิดและศิลปะมากมาย ไม่ว่าจะเป็น แนวคิดที่เป็นต้นกำเนิดของระบอบประชาธิปไตย จิตรกรรมหรือดนตรีแนวอิมเพรสชั่นนิสม์ ภาพยนตร์แนวคลื่นลูกใหม่ของฝรั่งเศส  งานศิลปะ ภาพยนตร์ ดนตรี มากมายได้ก่อกำเนิดจากดินแดนแห่งนี้

[Playlist] ในสัปดาห์นี้จึงอยากแนะนำบทเพลงสุดไพเราะ 5 บทเพลง ที่มีต้นกำเนิดมาจากดินแดนแห่งนี้ โดยใน 5 บทเพลงนี้มีความหลากหลายแตกต่างกันไป ทั้งแนวดนตรีและศิลปิน แต่สิ่งหนึ่งที่เหมือนกันนั่นคือความไพเราะ ความงาม และความโรแมนติค ที่ถือว่าเป็นเอกลักษณ์ของประเทศฝรั่งเศสเลยก็ว่าได้ ว่าแล้วเราไปเริ่มกันที่เพลงแรกเลยดีกว่าครับ


La Vie En Rose

Play video

ลาวีอองโรส หรือ ชีวิตสีชมพู  บทเพลงอมตะที่เปรียบเหมือนเพลงชาติของชาวฝรั่งเศส เป็นเพลงที่โด่งดังและถูกนำไปร้องไปเล่นซ้ำแล้วซ้ำอีกหลากหลายเวอร์ชั่น ด้วยความอ่อนหวานของท่วงทำนอง และเนื้อเพลงสุดโรแมนติคที่ฟังทีไรก็อดเคลิ้มฝันไปด้วยไม่ได้ จึงทำให้บทเพลงนี้เป็นหนึ่งในบทเพลงในดวงใจของใครหลายคน

ต้นฉบับขับร้องโดยอีดิธ เปียฟแต่งทำนองโดย ลุยส์ กูกลิเอมี ส่วนคำร้องภาษาฝรั่งเศสแต่งโดยตัวเปียฟเอง เพลงนี้ออกเผยแพร่ครั้งแรกในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 คือในปี ค.ศ.1946

อีดิธ เปียฟ (Edith Piaf)

ก่อนที่จะมาเป็นนักร้อง อีดิธ เปียฟ  มีเส้นทางชีวิตที่สุนแสดรันทดราวบทละคร แม้ขณะที่เธอโด่งดังแล้วก็ใช่ว่าอะไรจะเป็นไปดังความปรารถนาของเธอเสมอไป เสียงของเปียฟ เป็นเสียงที่กังวานส่องสว่างแต่ในขณะเดียวกันมันก็มีเงาของความเศร้าของผู้ที่ผ่านมรสุมชีวิตมาอย่างหนักหน่วงด้วยเช่นกัน และก็ด้วยเหตุนี้แหละที่ทำให้เสียงของเธอเป็นที่รักและหลงใหล และทำให้เธอได้กลายเป็นตำนานของฝรั่งเศสและของโลกใบนี้

ใครอยากรู้จัก อีดิธ เปียฟ มากขึ้นสามารถติดตามชมได้ในภาพยนตร์ฝรั่งเศสเรื่อง La Môme หรือ La Vie En Rose ภาพยนตร์ชีวประวัติของเปียฟ ที่นำแสดงโดยมารียง กอร์ติยา และ กำกับโดย โอลิวิเยร์ ดาฮาน

มารียง กอร์ติยา รับบทเป็น อีดิธ เปียฟ ในภาพยนตร์เรื่อง La Mome หรือ La Vie En Rose


Clair De Lune

Play video

แคลร์ เดอ ลูน แปลว่า “แสงจันทรา” เป็นบทเพลงคลาสสิคในยุคอิมเพรสชั่นนิสม์ อันเป็นดนตรีคลาสสิคที่ได้รับแรงบันดาลใจมาจากงานจิตรกรรมลัทธิประทับใจ หรือ อิมเพรสชั่นนิสม์นั่นเอง

ดนตรีคลาสสิคยุคอิมเพรสชันนิสม์ (Impressionist music) อยู่ในช่วงปี ..1890-1910 อันเป็นยุคที่เชื่อมต่อกันกับดนตรีคลาสสิคยุคโรแมนติคอันเป็นดนตรีแห่งความสะเทือนอารมณ์ (ผู้ประพันธ์เพลงในยุคนี้ก็เช่น เบโธเฟน โชแปง ชูมานน์ เป็นต้น) ดนตรียุคอิมเพรสชั่นนิสม์มีนักประพันธ์ที่โดดเด่นคือ โคลด เดอบูซซี (Claude Debussy) นักประพันธ์เพลงชาวฝรั่งเศสผู้ริเริ่มดนตรีอิมเพรสชั่นนิสม์ (น่าสนใจที่ศิลปินผู้ให้กำเนิดงานศิลปะแบบอิมเพรสชั่นนิสม์ ก็มีนามสกุลว่า โคลด เช่นกัน ซึ่งก็คือ โคลด โมเนต์ นั่นเอง)  ลักษณะดนตรีของยุคอิมเพรสชั่นนิสม์เต็มไปด้วยจินตนาการ ฟุ้งฝัน ล่องลอยสงบนิ่งละมุนละไม ผู้ฟังจะรู้สึกเสมือนว่าได้สัมผัสกับบรรยากาศตอนรุ่งสางในกลุ่มหมอกที่มีแสงแดดอ่อนๆ สลัวราง ราวกับอยู่ในภาพวาด Impression Sunrise ของโมเนต์เลยทีเดียว

โคลด เดอบูซซี ผู้พัฒนาดนตรีแนวอิมเพรสชั่นนิสม์

 

โคลด โมเนต์ ผู้ให้กำเนิดงานจิตรกรรมแนวอิมเพรสชั่นนิสม์

เพลงในยุคอิมเพรสชั่นนิสม์จะมีลักษณะลึกลับ คลุมเครือไม่กระจ่างชัด อันเกิดมาจากการใช้บันไดเสียงแบบเสียงเต็ม (Whole-tone scale) และคอร์ดอ๊อกเมนเต็ด (Augmented) มีการประสานเสียงไม่เป็นไปตามกฎเกณฑ์ รูปแบบของเพลงเป็นแบบง่ายๆ มักเป็นบทเพลงสั้นๆ รวมเป็นชุด

บทเพลง Clair De Lune มีท่วงทำนองที่อ่อนหวาน เคลิ้มฝัน ล่องลอย เหมาะที่จะใช้ฟังก่อนนอน และเป็นหนึ่งในเพลงที่สามารถให้ทารกฟังได้

เพลงนี้ถูกนำไปใช้ประกอบภาพยนตร์มากมายหลายเรื่อง โดยเฉพาะภาพยนตร์ญี่ปุ่น อาทิเช่น Tokyo Sonata ของคิโยชิ คุโรซาว่า เพลงนี้ถูกใช้ในฉากสุดท้ายของเรื่องเลยเป็นการปิดม่านอย่างงดงาม  อีกเรื่องหนึ่งก็คือ All About Lily Chou Chou หนังวัยรุ่นสุดหม่นของชุนจิ อิวาอิ ที่ในเรื่องใช้เพลงนี้ประกอบเสริมบรรยากาศอันหม่นมัวของเรื่องราว อีกทั้งยังมีการกล่าวถึงเดอบูซซีในภาพยนตร์เรื่องนี้ด้วย

ภาพยนตร์เรื่อง All About Lily Chou Chou กำกับโดย ชุนจิ อิวาอิ

 

ภาพยนตร์เรื่อง Tokyo Sonata กำกับโดย คิโยชิ คุโรซาว่า

 

โคลด เดอบูซซี (Claude Debussy) มีชื่อเต็มว่า โคลด อาชีล เดอบูซซี ได้รับการยกย่องว่าเป็นหนึ่งในคีตกวีคนสำคัญของคริสต์ศตวรรษที่ 20 โดยแนวดนตรีอิมเพรสชั่นนิสม์ของเขาได้ฉีกออกจากดนตรียุคโรแมนติกในศตวรรษที่ผ่านมา โคลดได้ปฏิเสธกรอบที่ถูกวางเอาไว้ โดยมีการแสวงหาความเป็นอิสระทางดนตรีอย่างเต็มรูปแบบ นอกจากนี้ดนตรีของโคลดยังได้รับแรงบันดาลใจมาจากดนตรีตะวันออก อาทิเช่น กาเมลัน (Gamelan)  ของอินโดนีเซีย อีกด้วย

กาเมลัน ดนตรีประจำชาติของ อินโดนีเซีย


Si tu vois ma mère

Play video

Si tu vois ma mère แปลว่าถ้าคุณพบแม่ของฉัน” เป็นหนึ่งในบทเพลงแจ๊ซสุดไพเราะ จาก ซิดนีย์ บีเชต์ ผู้เป็นหนึ่งในนักดนตรีทรงโปรดของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช

ซิดนีย์ บีเชต์ (Sidney Bichet)

เพลงนี้ออกเผยแพร่ในปี ค.ศ. 1952 ซึ่งเป็นช่วงที่บีเชต์ย้ายมาอยู่ฝรั่งเศสและเป็นปีท้ายๆในชีวิตของเขาแล้ว ซิดนีย์ บีเชต์ เป็นนักดนตรี นักแต่งเพลงแจ๊ซชาวอเมริกัน เครื่องดนตรีที่เขาเล่นเป็นประจำคือ แซ็กโซโฟน และคลาริเน็ต บีเชต์เป็นนักแซ็กโซโฟนแจ๊ซคนแรกๆของโลกที่มีชื่อเสียงโด่งดัง ต่อมาบีเชต์โด่งดังและเป็นที่รู้จักในฝรั่งเศสจึงย้ายไปอยู่ที่นั่นตราบจนวันสุดท้ายของชีวิต บีเชต์มีผลงานเพลงที่มีชื่อเป็นภาษาฝรั่งเศสมากมาย อาทิเช่น Petite Fleur‘, ‘Dans les rues d’AntibesและLes Oignons‘ 

หลายคนรู้จักเพลงนี้จากการถูกนำมาใช้เป็นเพลงเปิดภาพยนตร์เรื่อง Midnight in Paris ของวูดดี้ อัลเลน โดยในฉากเปิดเรื่องนี้เป็นกลุ่มภาพในมุมต่างๆของปารีสที่มีความงดงามน่าหลงใหล คลอไปกับท่วงทำนองสุดโรแมนติคของบทเพลงนี้ ยิ่งทำให้เราหลงใหลในมนต์เสน่ห์ของปารีสเมืองที่ได้ชื่อว่า โรแมนติคมากที่สุดในโลก

ภาพยนตร์เรื่อง Midnight in Paris กำกับโดย วูดดี้ อัลเลน

 

วูดดี้ อัลเลน (Woody Allen) ปัจจุบันอายุเกือบจะ 82 ปี แล้วแต่ก็ยังมีผลงานภาพยนตร์ออกมาเกือบทุกปีมิได้ขาด


Ballade pour Adeline

Play video

Ballade pour Adeline หรือ บทเพลงของอาเดไลน์ เป็นบทเพลงบรรเลงที่แต่งขึ้นใน .. 1976 โดย พอล เดอ ซอนเนวิล และ โอลิวิเยร์ ทุสซอง โดยเพลงนี้แต่งขึ้นเพื่อเป็นของขวัญแด่ลูกสาวที่เพิ่งกำเนิดของพอลซึ่งชื่อว่า อาเดไลน์​ นั่นเอง

เพลงนี้บันทึกเสียงครั้งแรกโดยนักเปียโนชื่อดังชาวฝรั่งเศสนาม ริชาร์ด เคลย์เดอมอง ทำให้เพลงนี้เป็นที่โด่งดังไปทั่วโลก และเพลงนี้ก็กลายเป็นเพลงประจำตัวของ ริชาร์ด เคลย์เดอมอง  ไปเลย

ริชาร์ด เคลย์เดอมอง

ริชาร์ด เคลย์เดอมอง เมื่อตอนที่บันทึกเสียงเพลงนี้ เขายังมีอายุเพียง 23 ปีเท่านั้นเอง และตอนนั้นเขายังใช้ชื่อว่า ฟิลิปเป (Philippe Pagès) ฟิลิปเปเข้ามาออดิชั่นกับพอลและทุสซอง เมื่อเพียงเริ่มบรรเลงไปได้ไม่นาน พอลกับทุสซองก็รู้ได้ในทันทีว่านี่ล่ะคือคนที่พวกเขาตามหา ด้วยรูปลักษณ์ที่มีเสน่ห์และการบรรเลงเปียโนที่นุ่มนวลและพลิ้วไหว จึงทำให้ ฟิลิปเป หรือ ริชาร์ด เคลย์เดอมอง เป็นผู้ได้บรรเลงบทเพลงแสนโรแมนติคเพลงนี้

ริชาร์ด เคลย์เดอมอง เคยอัญเชิญเพลงพระราชนิพนธ์มาบรรเลงด้วย โดยออกเป็นผลงานชุด Thailand Mon Amour

Play video


Nocturne in E-flat major, Op. 9, No. 2

Play video

บทเพลงคลาสสิคจากยุคโรแมนติคที่มาพร้อมความไพเราะแบบ “เดียวดายอย่างโรแมนติค” Nocturne in E-flat major, Op. 9, No. 2 เป็นงานเพลงแบบน็อคเทิร์น ประพันธ์โดย เฟรดเดริค โชแปง  ที่จริงบทเพลงนี้มีทั้งหมด 3 ชิ้น ประกอบไปด้วย   Nocturne in B-flat minor, Op. 9, No. 1 , Nocturne in E-flat major, Op. 9, No. 2 และ Nocturne in B major, Op. 9, No. 3

ชิ้นนี้เป็นชิ้นที่ 2 และเป็นชิ้นที่ได้รับความนิยมสูงสุด และอาจกล่าวได้ว่าเป็นบทเพลงที่ดังที่สุดของโชแปง

น็อคเทิร์น เป็นบทเพลงที่ประพันธ์ขึ้นสำหรับการเดี่ยวเปียโนมีท่วงทำนองที่โรแมนติก ให้บรรยากาศยามค่ำคืน แต่ไม่ได้หมายความว่าน็อคเทิร์นทุกเพลงจะโรแมนติคพลิ้วทั้งเพลงเสมอไป บางเพลงก็มีอารมณ์ที่รุนแรงในบางช่วงของเพลงได้เช่นกัน อาทิเช่น ในช่วงกลางเพลงของ  Nocturne op.48 no.1 in c minor ของโชแปง

คนแรกที่ประพันธ์เพลงแนวน็อคเทิร์นนี้ไม่ใช่ โชแปง แต่เป็น จอห์น ฟีลด์ (John Field) นักเปียโนและนักประพันธ์เพลงในยุคโรแมนติคชาวไอริช แต่อาจจะกล่าวได้ว่าน็อคเทิร์นของโชแปงมีความไพเราะที่สุดจึงทำให้ดูเหมือนว่าโชแปงคือผู้ให้ผูกขาดความไพเราะของเพลงน็อคเทิร์นนี้ไปเลย แบบว่าถ้าใครอยากฟังน็อคเทิร์นก็ต้องฟังโชแปง หรืออยากฟังโชแปงก็ต้องเริ่มที่น็อคเทิร์นประมาณนี้เลย 

ภาพถ่าย โชแปง ตัวจริง

โชแปงมีเชื้อสายโปแลนด์โดยกำเนิด แต่ต่อมาได้ย้ายมาอยู่ที่ฝรั่งเศสเพื่อแสดงดนตรี แต่ต่อมาด้วยภัยสงครามจึงทำให้เขาไม่สามารถกลับสู่มาตุภูมิได้ตราบจนสิ้นชีวิต 

โชแปงเป็นคนอ่อนไหว รักธรรมชาติ และละเอียดอ่อนจึงทำให้งานเพลงของโชแปงมีความโรแมนติค แต่ในขณะเดียวกันมันก็มีความเศร้าแฝงอยู่ในนั้นด้วย ซึ่งมีเหตุมาจากความคิดถึงบ้านเกิด และ ความอ่อนไหวในรักที่เขามีต่อหญิงสาวที่ผ่านเข้ามาในชีวิต


และนี่ก็คือ [Playlist] บทเพลงที่ผมนำมาฝากกันในสัปดาห์นี้ ส่วนสัปดาห์หน้าจะเป็นบทเพลงที่เกี่ยวกับอะไรนั้น ขอให้เพื่อนๆติดตามกันต่อไปนะครับ

โชคดีครับ !!!