ห่างหายกันไปนานพอดู สำหรับ #หลังเลนส์ คอลัมน์ที่จะทำให้คุณรู้ว่า การทำหนังไม่ได้ยากอย่างที่คิด โดยสัปดาห์นี้เราขอเอาใจคนที่รักการอยู่หลังกล้อง คิดงาน วิช่วลให้หนังออกมาบรรเจิดด้วยหลักคิดง่ายๆ ให้คุณออกแบบภาพในหัวออกมาได้อย่างใจนึก

   7 สิ่งต้องรู้เมื่อคิดงาน Visual

  1. Space – พื้นที่
  2. Line – เส้น
  3. Shape – รูปทรง
  4. Color – สี
  5. Tone – โทน หรือการคุมความสว่างความมืดของจุดสนใจในภาพเพื่อสร้างอารมณ์หรือส่งสารที่ต้องการสื่อในภาพให้กลมกลืนกัน
  6. Movement – การเคลื่อนไหว เคลื่อนที่ในภาพ
  7. Rhythm – จังหวะ

SPACE – พื้นที่

พื้นที่ในที่นี้หมายถึง พื้นที่ในเฟรมภาพที่กล้องมองเห็น ซึ่งในกรอบสี่เหลี่ยมของจอหนังคือการออกแบบร่วมกันระหว่าง ผู้กำกับภาพและผู้กำกับหนังเพื่อให้ภาพในแต่ละเฟรมสามารถบอกเล่าเรื่องราว, สร้างอารมณ์, เร้าความรู้สึกให้คนดู ได้รับความบันเทิงและสุนทรียะในหนังแต่ละประเภท

การใช้พื้นที่ในเฟรมภาพให้เปี่ยมความหมาย 

The Graduate แอบใส่สัญญะทางเพศมากมายในเฟรมเดียว

ภาพจากหนัง The Graduate(1967) ในฉากจะเห็นขาของสาวใหญ่แม่ปลาช่อนอย่าง คุณนายโรบินสัน (แอน เบนครอฟต์) พาดข้ามเป้ากางเกงของ เบน แบรดดอค (ดัสติน ฮอฟแมน) บัณฑิตหนุ่มจบใหม่ ซึ่งจากภาพเราจะเห็นอำนาจที่คุณนายโรบินสันมีเหนือเบน แถมในภาพยังซ่อนความรู้สึกที่เบนมีต่อคุณนายโรบินสันด้วยเงาของเทียนที่พาดกับผนัง

พื้นที่ในหนังสยองขวัญ

ภาพจากตัวอย่างภาพยนตร์ เพื่อนที่ระลึก เน้นการใช้ที่ว่างเพื่อความลึกลับสยองขวัญ

ในหนังสยองขวัญ หนึ่งในมุกที่เรามักพบบ่อยๆคือการเล่นกับ พื้นที่ว่าง เพื่อรอการมาเติมเต็มของบางสิ่งบางอย่างที่จะโผล่มาในจังหวะที่คนดูไม่คาดคิด

LINE & SHAPE – เส้น และ รูปทรง

เราจำเป็นต้องพูดถึงเส้นและรูปทรงรวมกันเพราะทั้งสององค์ประกอบไม่เพียงอยู่ในทฤษฎีการถ่ายภาพแต่ยังพื้นฐานการมองเห็นของมนุษย์อีกด้วย เนื่องจาก “เส้น” อยู่ในองค์ประกอบของภาพที่มนุษย์มองเห็นในชีวิตประจำวัน และเส้นจำนวนมากก็คือองค์ประกอบที่ทำให้เกิด “รูปทรง” และบ่อยครั้งที่ “เส้น” สามารถสร้างความหมายได้มากมาย เช่น The Departed (2006) ที่ผู้กำกับมาร์ติน สกอร์เซซี ใส่เครื่องหมายเอ็กซ์แฝงไว้ในฉากที่มีตัวละครที่จะต้องตาย

แต่ละช็อตของหนัง The Departed ซ่อนสัญลักษณ์ เอ็กซ์ ไว้ในแต่ละเฟรมเพื่อบ่งบอกว่าตัวละครไหนกำลังจะพบความตาย

COLOR – สี

สี คือองค์ประกอบอันทรงพลังของทุกงานภาพ โดยหนังแต่ละเรื่องจะมีการกำหนด คัลเลอร์สกีม (Color Scheme) เพื่อคุมความเป็นเอกภาพให้งานภาพ ยกตัวอย่างหนัง The Godfather (1972) ของ ฟรานซิส ฟอร์ด คอปโปล่า ซึ่งใช้สีหลักอยู่สองสีคือ สีดำ และ สีส้ม  คนดูจะเห็นตัวละครส่วนใหญ่ปรากฏในชุดสูทสีดำ และมักอยู่ในพื้นที่ที่ถูกจัดแสงให้มีเงา แต่ในขณะเดียวกันก็มักจะถูกตัดด้วยสีส้มของไฟจากหลอดทังสเตนหรือแม้แต่ ผลส้ม ในจานบนโต๊ะ ยิ่งกว่านั้น สีส้มยังมีความหมายในเชิงสัญญะเมื่อเวลามีสีส้มปรากฎในฉากใดก็มักมีคนตาย เป็นต้น

The Godfather ใช้สีส้ม และสีดำ เป็นหลัก และสีส้มหลายครั้งยังหมายถึงความตาย อีกด้วย

    TONE – ระดับแสงเงาของวัตถุในงานภาพ

เวลาพูดถึง โทน คนมักเข้าใจผิดกับ Mood & Tone ที่บอกอารมณ์ของภาพ แต่ โทน ในที่นี้หมายถึงระดับความสว่างของวัตถุ หรือ เฉดสีเทา(Grayscale) ในภาพ ซึ่งมีผลทำให้หนังแต่ละเรื่องที่แม้จะใช้สีเดียวกัน แต่เมื่อโทนต่างกันก็ให้อารมณ์หรือความหมายในซีนนั้นๆต่างๆกัน  เช่นสีเขียวของทุ่งหญ้าใน Life of Pi (2012) ที่ให้ความรู้สึกโล่ง สบายใจ สบายตา ก็ต่างจากสีเขียวทึมๆจากหลอดไฟในออฟฟิศของหนัง The Matrix (1999) ที่แสดงให้เห็นถึงความอันตราย เป็นพิษ ไม่น่าไว้วางใจ เป็นต้น

MOVEMENT –  การเคลื่อนไหวสร้างพลังงานให้ภาพ

การเคลื่อนไหวในที่นี้เราหมายถึง 3 สิ่ง

  • การเคลื่อนที่ของวัตถุ หรือ บุคคล ในภาพ เช่น การถ่ายคนข้ามถนน แมววิ่งไปมา
  • การเคลื่อนที่ของกล้อง เช่น การซูมภาพ การแพนกล้อง หรือ การเคลื่อนกล้องบนรางดอลลี่
  • การเปลี่ยนจุดสนใจของคนดู ในที่นี้หมายถึงการที่คนทำหนังนำเทคนิคข้างต้นมาเปลี่ยนจุดสนใจคนดูจากจุดหนึ่งไปอีกจุดหนึ่งด้วยศิลปะของภาพยนตร์

ซี่งผู้กำกับอาจเลือกใช้อย่างใดอย่างหนึ่งหรือผสมกันก็ได้  โดยเรามีตัวอย่างการใช้การเคลื่อนไหวในงานภาพของผู้กำกับ อากิระ คุโรซาว่า  ซึ่งมักพบการวางความเคลื่อนไหวไว้ดังนี้

  1. อากิระ คุโรซาว่า มักมีการวางความเคลื่อนไหวไว้ในฉากหลังของเขาเสมอ ไม่ว่าจะเป็นลมแรง หรือฝนตก โดยเฉพาะ ฝนตกที่มีพลังในการสื่อสารกับอารมณ์ความรู้สึกคนดูเป็นอย่างยิ่งไม่ว่าจะเป็นอารมณ์เหงา หรือสถานการณ์อันอึมครึม นอกจากนี้ยังอาจเพิ่มความแฟนตาซีให้อารมณ์ตัวละครด้วยภาพไฟไหม้บ้านอยู่ฉากหลังในขณะที่ตัวละครหน้าเฟรมยิ้มด้วยความสะใจเพื่อเน้นโทสะที่ตัวละครมีก็ได้
  2. อีกหนึ่งทริคที่คุโรซาว่า มักใช้ในการเพิ่มความ อีพิค ให้สถานการณ์และอารมณ์คนดูคือการวางการเคลื่อนไหวของกลุ่มคน โดยเฉพาะการพูดถึงการร่วมแรงร่วมใจกันใน The Seven Samurai (1954) ที่เมื่อตัวละครหลักพูดอยู่ก็มีกลุ่มซามูไรวิ่งมาเสริมทัพอยู่หลังคนพูดเพื่อเพิ่มความยิ่งใหญ่และความสำคัญให้กับบทพูดบทนั้น
  3. นอกจากนี้ คุโรซาว่า ยังชาญฉลาดในการวางการเคลื่อนไหวของตัวละครแต่ละตัว โดยมีการกำหนดบล็อคกิ้งและแบบแผนในการแสดงแบบเดียวกับละครเวที เช่นถ้าตัวละครกำลังสับสน ตัวละครจะเดินไปมาซ้าย-ขวาของเฟรม แต่ถ้าตัวละครโกรธแค้นก็จะลุกขึ้นยืน ตรงกันข้ามถ้าตัวละครรู้สึกอับอายขายหน้าก็จะทรุดตัวลง
  4. การวางรูปแบบการเคลื่อนกล้องที่ไหลลื่นในการถ่ายเพียงเฟรมเดียว ช่วยกระตุ้นความสนใจให้คนดูอยู่กับตัวละครในหนังและเข้าใจภาวะกระวนกระวายใจของตัวละครได้เป็นอย่างดี  รวมถึงการแบ่งการถ่ายในแต่ละช็อตเป็น 3 ส่วนของตอนต้น ตอนกลาง และตอนปลาย เพื่อใช้ในการเล่าใจความสำคัญของหนังในแต่ละช็อตได้อีกด้วย
  5. นอกจาก คุโรซาวะจะกำกับแล้วยังตัดต่อหนังเองด้วย และเทคนิคที่คุโรซาวะใช้ตัดต่อบ่อยคือการตัดต่อโดยอาศัยจังหวะการเคลื่อนไหวของตัวละครและกล้อง เพื่อไม่ให้คนดูเห็นร่องรอยของการตัดต่อ ในทางตรงกันข้ามการเปลี่ยนซีนของคุโรซาวะมักเลือกจบช็อตสุดท้ายในซีนนั้นด้วยการความนิ่งทั้งใบหน้าตัวละครที่แน่นิ่งบนพื้น แล้วตัดไปที่การเคลื่อนไหวในช็อตแรกของซีนต่อไปเพื่อให้คนดูอยากติดตามสิ่งที่เกิดขึ้นต่อไป

Play video

   RHYTHM – จังหวะหนัง

เราอาจเปรียบหนังกับดนตรีในแง่ของการรังสรรค์ภาพ เสียง แต่ละช็อตให้ร้อยเรียงจนเกิดท่วงทำนองที่คนดูจะได้ ระทึกสุดขั้ว หรือหัวเราะลั่นโรง ด้วยการควบคุมจังหวะของทุกองค์ประกอบในเฟรมภาพทั้ง การเคลื่อนที่ของนักแสดงหรือวัตถุ ประกอบกับจังหวะในการตัดต่อ เช่นฉากคนวิ่งหนีสัตว์ประหลาด อาจประกอบด้วยภาพคัตสั้นๆจำนวนมากมาเรียงต่อกันเพื่อให้เกิดจังหวะภาพและการเคลื่อนที่ที่รวดเร็ว น่าตื่นเต้น เป็นต้น

ตัวอย่างฉากเปิดเรื่อง Baby Driver (2017) ถือเป็นตัวอย่างที่น่าสนใจและน่าจะอธิบายจังหวะของหนังได้ดีที่สุด โดยเฉพาะการใช้เพลงมากำหนดจังหวะการเปลี่ยนช็อตเพื่อแนะนำตัวละครหลัก และกระตุ้นความสนใจ รวมทั้งเร้าให้คนดูตื่นเต้นกับเหตุการณ์ตรงหน้าได้อย่างชาญฉลาด

Play video