Play video

สนับสนุนเนื้อหาโดย Major Cineplex

เรื่องย่อ

SPIDER-MAN: INTO THE SPIDER-VERSE ภาคล่าสุดของโซนี่จะเป็นเรื่องราวของไมลส์ เด็กชายผิวสีที่ค้นพบว่าตัวเองก็เป็นหนึ่งในสไปเดอร์แมนอีกคน และพบว่าในจักรวาลนี้ไม่ได้มีเพียงแค่เขาเท่านั้นที่เป็นสไปเดอร์แมน เขาเริ่มออกช่วยเหลือผู้คนรวมถึงคนที่เขารักนั่นคือพ่อ ซึ่งเราจะได้เห็นสไปเดอร์แมนอีกหลายคน

นับเป็นยุคทองของสไปเดอร์แมนจริง ๆ เพราะนอกจากหนังฉบับ ทอม ฮอลแลนด์ จะไปได้ดีกับค่ายมาร์เวลจนมีภาคต่อเตรียมเข้าฉายปีหน้าในชื่อ Spider-Man: Far From Home และเกมที่ลงในเครื่อง PS4 ก็กระแสดี ยอดขายสูงจนอาจมีภาคต่อเช่นกัน แต่กระนั้นจะมาในรูปแบบไหนอีกเท่าไหร่ก็เชื่อว่าแฟน ๆ สไปดี้ก็คงยินดีที่จะอุดหนุนไม่มีทางเอียนไปง่าย ๆ เป็นดังนั้นแล้วค่ายโซนี่เลยจัดแอนิเมชั่นเข้ามาปลุกกระแสให้หนักขึ้นไปอีกในชื่อ Spider-Man: Into the Spider-Verse ซึ่งบ้านเราจะเข้าฉายหลังปีใหม่นี้เลย

โดยจับความจากฉบับคอมิกส์ชื่อ Spider-Verse เมื่อปี 2014 เขียนเรื่องโดย แดน สลอตต์ ที่เนื้อหาเกี่ยวกับภัยคุกคามข้ามมิติจักรวาลของครอบครัวนักฆ่าแมงมุมของ มอร์ลัน ที่ตามล่าผู้ได้รับพลังแมงมุมในแต่ละจักรวาลมาสังเวยตามความเชื่อจนมาถึงโลกของเรา แต่สำหรับในฉบับหนังแอนิเมชั่นที่เราจะได้ดูนี้จะดัดแปลงเรื่องราวเป็นการทดลองของ วิลสัน ฟีสก์ หรือรู้จักกันดีในนาม คิงพิน มาเฟียตัวร้ายแห่งจักรวาลมาร์เวลคู่ปรับใหญ่ของสไปเดอร์แมน ที่พยายามลบความผิดพลาดในอดีตที่ทำให้สูญเสียลูกและเมียไป โดยการสร้างประตูมิติและหวังจะนำพาลูกกับเมียของตนในอีกจักรวาลหนึ่งกลับมา แต่ผลข้างเคียงที่จะเกิดขึ้นคือจะทำให้โลกของเราเกิดการล่มสลายเพราะความทับซ้อนของต่างมิติ ทั้งยังส่งผลให้เหล่าสไปเดอร์แมนในมิติอื่นหลุดเข้ามายังโลกนี้ด้วย

ความเปลี่ยนแปลงอีกประการคือการยกตัวเอกที่ไม่ใช่ ปีเตอร์ ปาร์กเกอร์ ในวัยผู้ใหญ่หรือเด็กมานำ  แต่เปลี่ยนมามองผ่านสายตาของ ไมลส์ โมราเลส เด็กผิวสีที่บังเอิญได้รับพลังแมงมุมและยังหาวิธีจัดการกับพลังที่ได้รับมาอย่างยากลำบาก ซึ่งจะคล้ายกับปีเตอร์ตอนวัยรุ่นเลย สำหรับคอคอมิกส์หรือสื่ออื่นที่ไม่ใช่หนังน่าจะคุ้นเคยกับไมลส์มาพอสมควรเพราะเขาโลดแล่นในฐานะสไปเดอร์แมนแทน ปีเตอร์ ปาร์กเกอร์ มาได้พอสมควรแล้ว แต่สำหรับคอหนังนี่คือการตัวครั้งแรกและยังได้เปิดโลกทัศน์ใหม่ของสไปเดอร์แมนที่มีมากกว่าหนึ่งคนเลยด้วย

แอนิเมชั่นนี้เป็นผลงานการกำกับของ บ๊อบ เพอซิเชตตี้ (มือเขียนบท The Little Prince (2015), ปีเตอร์ แรมซี่ย์ (ผู้กำกับ Rise of the Guardians (2012) และ ร็อดนี่ ร็อธแมน (มือเขียนบท 22 Jump Street (2014) โดยมี ฟิล ลอร์ด ที่เคยเขียนบทหนังอย่าง The Lego Movie (2014) มาดัดแปลงเรื่องราวด้วย ก็นับว่าลงตัวเมื่อมองโจทย์ว่าอยากทำแอนิเมชั่นที่มีความหลากหลายในการนำเสนอ (The Little Prince กับ Rise of the Guardians) มีมุกตลกเจือ (22 Jump Street) และสามารถผูกเรื่องราวมากมายหลายมิติหลายตัวละคร ที่ประหนึ่ง The Avengers ของจักรวาลสไปเดอร์แมนให้มารวมกันได้ลงตัว (The Lego Movie) คือมองขาดมาก

นอกจากนี้ยังมีดาราที่คาดไม่ถึงมาให้เสียงพากย์อีกทั้ง เฮลีย์ สไตน์เฟลด์ ที่กำลังร้อนแรงกับหนัง Bumblebee ก็มาให้เสียง เกวน สเตซี่ ในจักรวาลที่เธอโดนแมงมุมกัด มาเฮอร์ชาลา อาลี ดาราผิวสีที่มีลุ้นออสการ์อีกครั้งกับหนัง Green Book ที่แอบเชียร์อยู่เหมือนกันมาให้เสียง อารอน โมราเลส อาสุดรักของไมลส์ซึ่งสร้างจุดเปลี่ยนสำคัญในชีวิตไมลส์ไม่ต่างกับลุงเบนในจักรวาลนี้เลยทีเดียว ดราหนุ่มจากหนัง Wonder Woman อย่าง คริส ไพน์ มาให้เสียง ปีเตอร์ ปาร์กเกอร์ ในมิติของไมลส์ซึ่งเขาสวมบทสไปเดอร์แมนมาก่อนหน้าไมลส์จะโดนแมงมุมกัด และคนที่ต้องกล่าวถึงอีกคนคือ นิโคลัส เคจ ที่ไม่เห็นชื่อแกในตารางหนังทำเงินมานานเหลือเกิน ก็มาแจมโดยให้เสียง สไปเดอร์แมนนัวร์ ฮีโร่สายดาร์กจากมิติที่ยังอยู่ในทศวรรษ 60 ด้วย

นอกจากนี้ยังมีคาแรกเตอร์เด่นอีกเพียบทั้ง เพนี ปาร์กเกอร์ เด็กสาวที่สื่อสารกับพ่อของตนเองซึ่งกลายเป็นแมงมุมอยู่ในร่างหุ่นยักษ์ ปีเตอร์ บี. ปาร์กเกอร์ สไปเดอร์แมนสุดอาภัพที่มาจากมิติซึ่งเขาล้มเหลวในชีวิตแทบทุกด้านจนหมดอาลัยตายอยากในการเป็นฮีโร่ และ สไปเดอร์แฮม หมูพลังสไปเดอร์หนึ่งเดียวในทุกมิติ ซึ่งแต่ละตัวก็มีการสร้างความแตกต่างได้อย่างน่าสนใจทั้งเพนีที่มาแบบอนิเมะ 2 มิติสไตล์อเมริกัน สไปเดอร์แฮมมาสไตล์การ์ตูนเน็ตเวิร์ค สไปเดอร์แมนนัวร์ก็มาแบบแอนิเมชั่นขาวดำ ซึ่งล้อไปกับแนวคอมิกส์ของแต่ละตัว และยังมีการนำเสนอที่ซ้อนกันระหว่างแอนิเมชั่นและคอมิกส์ที่แปลกดี อย่างการใช้ช่องคำพูดช่องบรรยายแบบคอมิกส์มาแทนความคิดของตัวละครหลักอย่างไมลส์หลังจากได้พลัง หรือใช้ในการเล่าเรื่องเปิดตัวของสไปเดอร์แต่ละคนที่ขยี้ซ้ำ ๆ จนกลายเป็นมุกได้ฮาไปอีก และที่สำคัญซึ่งเราเล่าไม่ได้คือ ยังมีตัวละครที่แฟน ๆ สไปดี้จะต้องว้าวอีกหลายตัวเลย ซึ่งบางตัวต้องรอหลังเครดิตจบ และอยากบอกว่า สมการรอคอยมาก แบบไม่คิดว่าพี่แกจะเล่นมุกนี้จริง ๆ

โดยเฉพาะการปรากฏตัวของคนที่คุณก็รู้ว่าใครซึ่งได้มาให้เสียงเรื่องนี้เป็นเรื่องสุดท้ายก่อนจากไป ก็เป็นฉากที่ทรงคุณค่ามาก ๆ (และแอบฮาด้วย)

นอกจากความสนุกและทีมงานคับคั่งที่น่าชื่นชมแล้ว ส่วนของข้อคิดและดราม่าก็เยี่ยมด้วย โดยเฉพาะการสอนกันและกันให้บทเรียนผ่านจุดบกพร่องของแต่ละตัวละคร เฉพาะอย่างยิ่ง ปีเตอร์ ปาร์กเกอร์ ผู้สมบูรณ์แบบ ปีเตอร์ บี. ปาร์กเกอร์ผู้ล้มเหลว และ ไมลส์ โมราเลส เด็กธรรมดาซึ่งได้รับพลังแบบไม่ตั้งใจและได้มองเห็นชีวิตทั้งสองแบบจากฮีโร่หลาย ๆ คนทั้งที่เป็นตัวอย่างและบทเรียน เป็นการส่ง-รับความเข้าใจต่อคำว่า ฮีโร่ ได้อย่างเปรียบเปรยและคมคายมาก

จุดด้อยเดียวแต่อาจมีปัญหากับผู้ใหญ่ที่วัยสูงสักหน่อย คือ ความมีเอกลักษณ์ด้านภาพสูง เรียกว่าอินดี้เลยล่ะ การผสผสานแนวแอนิเมชั่นหลากหลายทั้งสองมิติสามมิติ สไตล์จัดจ้านสีสันสดใสแสบซ่าน และพร็อพเพียบทั้งกล่องข้อความเอฟเฟ็กต์คอมิกส์ ภาพแอนิเมทที่เหลื่อมเหมือนเฟรมเรตต่ำแต่ดูเป็นความจงใจที่จะสร้างสไตล์ ตลอดจนการเคลื่อนไหวที่รวดเร็ววุ่นวายมาก ๆ คือต้องเป็นคนเปิดใจหรือชอบอะไรแบบนี้หน่อย บางฉากเรียกว่าเก็บรายละเอียดไม่ทันจริง ๆ แต่โดยรวมดูสนุกเมามันมาก ทว่าคนที่มีปัญหาด้านการมองภาพโมชั่นเหลื่อม ๆ อาจมีอาการเมาได้จึงต้องเตือนกันไว้ก่อน

หนังเข้าฉายวันที่ 10 มกราคมนี้ แต่จะมีรอบพิเศษสนีกพรีวิว รอบตั้งแต่ช่วงบ่ายถึงเย็นวันที่ 3 มกราคมเป็นต้นไป เป็นรอบแบบเอาใจเด็กที่หยุดมาก ๆ ด้วย ห้ามพลาดเลย

สไปเดอร์แมนชอบยิงใย คนชอบจองตั๋วไวต้องกดรูปด้านบน