จะเกิดอะไรขึ้นเมื่อการเลือกฟังเพลงจากเทปคาสเส็ทของ Thompson Twins กับ Now 2 และการเลือกซื้อแผ่นไวนิล อัลบั้ม Phaedra ของวง Tangerine Dream กับ The Bermuda Triangle ของ อิซาโอะ โทมิตะ จะเปลี่ยนชีวิตคุณไปตลอดกาล

Black Mirror : Bandersnatch เป็นซีรีย์แนวลี้ลับ สยองขวัญ ที่สะท้อนแง่มุมอันหลากหลายของสังคมร่วมสมัย บางครั้งก็มีกลิ่นของไซไฟ บางครั้งมันก็พาเราย้อนกลับไปในอดีต แต่ไม่ว่ามันจะกำลังเล่าเรื่องในช่วงเวลาไหน ยุคสมัยไหนก็ตาม มันได้ทำให้เรารู้สึกขนลุก ตื่นตัว ครุ่นคิดและหันไปมองโลกในปัจจุบันที่รายล้อมรอบตัวเราด้วยดวงตาที่ระแวดระวังมากยิ่งขึ้น

Bandersnatch เป็นหนังความยาว 90 นาทีในซีรีส์ Black Mirror ที่เปิดโอกาสให้คนดูได้เลือกการกระทำของตัวละคร โดยจะมีตัวเลือกขึ้นมาให้เรากดเลือกระหว่างที่ตัวละครกำลังเผชิญหน้ากับสถานการณ์นั้นๆ โดยคนที่เราทำหน้าที่ตัดสินใจแทนหรือบงการความคิดของเขาก็คือเด็กหนุ่มที่มีชื่อว่า สเตฟาน (เฟียนน์ ไวต์เฮด) เด็กหนุ่มนักทำเกมในยุค 80 (โดยมีปี 1984 เป็นปีที่เรื่องราวในซีรีย์เกิดขึ้น) ที่กำลังจะสร้างเกมเกมหนึ่งที่ผู้เล่นสามารถเลือกได้ว่าจะให้ตัวละครตัดสินใจทำอะไร(ซึ่งเป็นสิ่งเดียวกับที่ผู้ชมซีรีย์เรื่องนี้กำลังทำกับสเตฟาน) อันได้รับแรงบันดาลใจมาจากหนังสือเล่มโปรดที่แม่ของเขาได้ทิ้งเอาไว้ ซึ่งมีชื่อว่า “Bandersnatch”

Bandersnatch ใช้บทเพลงหลายเพลงในยุค80 เป็นเพลงประกอบภาพยนตร์อีกทั้งบทเพลงในยุค 80 เหล่านี้ยังมีอิทธิพลต่อเรื่องราวและบรรยากาศของ Bandersnatch เป็นอย่างยิ่ง แถมยังปรากฎเป็นตัวเลือกให้เราต้องตัดสินใจหลายครั้งอีกด้วย ผมเลยอยากจะพาเพื่อนๆมาสำรวจบทเพลงเหล่านั้นกันว่า มีบทเพลงไหนของศิลปินคนใดบ้าง เพื่อจะได้อินกับการดูซีรีย์เรื่องนี้มากขึ้น (เพราะอาจจะต้องย้อนกลับไปลองเลือกตัวเลือกที่ยังไม่ได้เลือก เผื่อยังมีตอนจบอีกหลายแบบซ่อนอยู่) และได้สัมผัสกับบรรยากาศของโลกยุค 80 ผ่านเสียงดนตรีเหล่านี้กันครับ

Frankie Goes To Hollywood “Relax”

Play video

เพลงนี้น่าจะเป็นเพลงที่ติดอยู่ในหัวของผู้ชมมากที่สุดเพลงหนึ่ง เพราะไม่ว่าเราจะเลือกตัวเลือกไหน สุดท้ายพอมันต้องย้อนกลับมาที่นาฬิกาปลุกของสเตฟาน เจ้าเพลงนี้ก็ต้องดังขึ้นมาทุกครั้งไป เหมือนกับจะคอยบอกเราว่า ใจเย็นๆสบายๆ “ผ่อนคลาย” ไม่ต้องเครียด (กับซีรีย์เรื่องนี้ 555)

Eurythmics “Here Comes The Rain Again”

Play video

ในตอนที่สเตฟานกำลังนั่งเลือกเทปคาสเส็ทที่จะฟังบนรถเมล์ หากเราเลือกอัลบั้มรวมเพลง Now 2 เพลง “Here Comes The Rain Again”จาก Eurythmics  จะเป็นเพลงที่เราจะได้ฟัง 

ยูรีธมิกส์ ( Eurythmics) เป็นคู่ดูโอ synth pop , new wave จากอังกฤษ ก่อตั้งวงในปี 1980 มีสมาชิกสองคนคือ แอนนี เลนนิกซ์  ร้องนำในเสียงแบบอัลโตวอยซ์ และเดฟ สจ๊วต ทำดนตรีโดยใช้เทคนิคใหม่

“Here comes the rain again” เป็นเพลงซินธิไซเซอร์บัลลาดผสมออเครสตร้าที่ประสบความสำเร็จมากๆของวง โด่งดังขึ้นถึงอันดับ8ในประเทศอังกฤษและอันดับ4ในประเทศสหรัฐฯ 

Thompson Twins “Hold Me Now”

Play video

จากตัวเลือกในสถานการณ์เดียวกัน หากเราเลือกฟังอัลบั้ม “Into The Gap” ของ Thompson Twins  “Hole Me Now” ซึ่งเป็นแทร็คแรกของอัลบั้มจะเป็นเพลงที่เราจะได้ฟัง ซึ่งเอาจริงๆมันก็เหมาะดีกับการนั่งรถไปที่บริษัทผลิตเกม Tuckersoft  ซึ่งให้ความรู้สึกราวกับว่า เป็นวันดีๆที่ (คงจะ) ไม่มีเรื่องร้ายเกิดขึ้น

“Into The Gap” ของ Thompson Twins เป็นสตูดิโออัลบั้มลำดับที่ 4 ของวง synth pop จากอังกฤษวงนี้ โดยอัลบั้มนี้ออกวางแผงในเดือนกุมภาพันธ์ปี 1984

Tangerine Dream “Phaedra”

Play video

ตอนที่สเตฟานเข้าไปในร้านแผ่นเสียง เขากำลังตัดสินใจว่าจะเลือกซื้อแผ่นไหนกลับไปฟังดีระหว่างอัลบั้ม “Phaedra” ของ Tangerine Dream กับ  “The Bermuda Triangle” ของ Isao Tomita หากเราเลือกตัวเลือกแรก นี่คือเพลงที่เราจะได้ฟัง ซึ่งความหลอนของมันนี่ขั้นสุดเลย เป็นความหลอนในโลกอิเล็คทรอนิคจริงๆ

Phaedra  เป็นสตูดิโออัลบั้มลำดับที่ห้าของวง Tangerine Dream วงอิเล็คทรอนิค แอมเบียนท์จากเยอรมัน ออกวางจำหน่ายในเดือนกุมภาพันธ์ปี 1974  (10 ปีก่อนหน้าเหตุการณ์ในเรื่อง) อัลบั้มนี้ถือได้ว่าเป็นจุดเริ่มต้นของความสำเร็จในระดับสากลและมียอดขาดถล่มทลาย

 Isao Tomita “The Bermuda Triangle”

Play video

ถือว่าเป็นมวยถูกคู่มากๆระหว่าง Tangerine Dream กับ อิซาโอะ โทมิตะ มันช่าง ล้ำ หลอน ลึกทั้งคู่เลย

อิซาโอะ โทมิตะ เป็นนักประพันธ์เพลงชาวญี่ปุ่นที่ชอบทำเพลงในแนวอิเล็คทรอนิคและสเปซมิวสิค อันมีส่วนผสมของแนวดนตรี synth pop และ จังหวะของแนว trance ด้วย

เอกลักษณ์ในงานของโทมิตะคือการผสมผสานระหว่างเสียงจากเครื่องอิเล็คทรอนิคและเครื่องดนตรีอะคูสติค การใช้ซินธิไซเซอร์ในทิศทางที่แปลกใหม่ เพื่อสร้างบรรยากาศสุดล้ำจินตนาการ มีกลิ่นอายความลึกลับ ไซไฟ

Kajagoogoo “Too Shy”

Play video

ในยามที่เราไม่ต้องเลือกว่าจะฟังเพลงอะไร เพลงนี้ก็ถูกใช้เป็นเพลงประกอบในซีรีย์ ซึ่งสุดท้ายแล้วเราก็ถูกเลือกให้ต้องฟังเพลงอะไรอยู่ดี (นี่เรากำลังถูกบงการอีกชั้นอยู่สินะ)

“Too Shy” เป็นซิงเกิ้ลฮิตในปี 1983 ของวงบริติชนิวเวฟ Kajagoogoo ที่เคยไต่ชาร์ท UK single ไปจนถึงอันดับ 1

XTC “Making Plans for Nigel”

Play video

จริงๆเพลงนี้ออกมาในปี 1979 แต่เหตุผลที่มันถูกใช้คงเป็นเพราะเนื้อหาของเพลงที่คงไม่มีเพลงไหนเหมาะเท่ากับเพลงนี้อีกแล้ว จริงๆแล้วมันควรชื่อเพลงว่า “Choosing Paths for Stefan” เสียด้วยซ้ำ 55

XTC เป็นวงร็อคจากอังกฤษ ที่ก่อตั้งวงตั้งมาตั้งแต่ปี 1972 และมาสิ้นสุดลงในปี 2006 งานเพลงของ XTC จะมีส่วนผสมทางดนตรีที่หลากหลาย มีความเป็น art rock , post punk , new wave และ pop

Tangerine Dream “Love On A Real Train”

Play video

ในช่วงกลางเรื่อง เมื่อตัวเลือกที่เราเลือกนำเรามาสู่ฉากสำคัญฉากหนึ่งระหว่างสเตฟานและคอลิน (เทพแห่งเกม) อันเป็นฉากที่พีคมาก เพลงๆนี้จะดังขึ้นมาเป็นเพลงประกอบบรรยากาศของช่วงเวลานี้ ที่เข้ากันได้แบบเหมาะเหม็งจริงๆ ส่วนจะเป็นฉากอะไรนั้นต้องลองไปเลือกดูจนเจอนะครับ

Laurie Anderson “O Superman”

Play video

หากตัวเลือกที่เราเลือกนำเราไปสู่หนึ่งในฉากจบที่เศร้าที่สุด” บทเพลงจากปี 1981 ของ performance artist และนักดนตรีหญิงนาม Laurie Anderson “O Superman” จะเป็นบทเพลงที่ซีรีย์เรื่องนี้เลือกให้เราฟังในยามที่ความเศร้าหม่นมาเยือน

Depeche Mode “New Life”

Play video

เพลงของ Depeche Mode เป็นเพลงที่บอกความเป็น Synth Pop ของยุค 80 ได้เป็นอย่างดีและคงไม่มีชื่อเพลงใดจะเหมาะกับสิ่งที่สเตฟานและผู้ชมอย่างเราๆกำลังเผชิญจากการชม (และเล่น)ซีรีย์เรื่องนี้ได้เท่า “New Life” อีกแล้ว

Depache Mode คือหนึ่งในวงดังแห่งยุค 80s พวกเขาเริ่มก่อตั้งวงในปี 1980 ทำงานเพลงออกมาในแนว synth pop , new wave, electronic rock  และมีผลงานออกมาอย่างต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน

 

ที่มา