ในปลายเดือนเมษาที่ผ่านมามีงานเพลงออกมามากพอสมควร ซึ่งเราก็คัดเน้นๆเอาอัลบั้มที่ฟังแล้วไม่ผิดหวังแน่นอนมาฝากกัน ซึ่งส่วนใหญ่แล้วก็เป็นผลงานชุดใหม่จากศิลปินที่เคยออกผลงานมาแล้ว หนึ่งในนั้นคือ  “In The End” ของ The Cranberries ที่เป็นอัลบั้มสุดท้ายปิดตำนานของวงได้อย่างเศร้าสร้อยแต่ก็งามสง่า สมศักดิ์ศรีของวงดนตรีที่อยู่ในใจเราวงนี้ นอกจากนี้ก็มีงานอันเจิดจรัสของศิลปินรุ่นใหม่อย่าง SOAK ที่หากใครยังไม่รู้จักเราก็อยากแนะนำมากๆเลย ส่วนอีกสองอัลบั้มคืองานชุดใหม่ของวงอินดี้ป็อป อินดี้ร็อค  Local Natives และ Cage The Elephant ที่ดูดีฟังเพลินเลยทีเดียว


“In The End” – The Cranberries

อัลบั้มนี้ไม่ใช่อัลบั้มสุดท้ายที่เราจะได้ยินเสียงของ โดโลเรส โอริออร์แดน เท่านั้นหากแต่เป็นอัลบั้มสุดท้ายของวง The Cranberries  ด้วย เพราะสมาชิกวงที่เหลือตั้งใจจะให้เป็นเช่นนั้น เนื่องจากพวกเขารู้สึกว่า The Cranberries  สมบูรณ์ได้เพราะมีเธอ การก้าวเดินต่อไปด้วยการเปลี่ยนนักร้องใหม่จึงเป็นอะไรที่ยากทำใจ และก็ยากที่จะก้าวข้ามผลงานและความทรงจำที่เคยมีไว้ในอดีต

งานเพลงทั้ง 11 เพลงในอัลบั้มนี้ เกิดขึ้นในช่วงปีก่อนการจากไปของโดโลเรส เธอและเพื่อนๆร่วมวงมีความสุขร่วมกันในการทำงานเพลงชิ้นนี้และพร้อมที่จะออกทัวร์ไปด้วยกัน โดยไม่ได้คิดเอาไว้ว่ามันจะเป็นงานเพลงชุดสุดท้ายของ The Cranberries

หากเราดูชื่อเพลงจากในอัลบั้มนี้ หลายเพลงเหมือนจะสื่อนัยยะของการสิ้นสุดหรือการจากลาAll Over Now” , “Lost” , “Wake Me When It’s Over” , “In The End”  หรือแม้กระทั่งในเนื้อร้องของเพลง “All Over Now” Do you remember, remember the place? / In a hotel in London / a scar on her face ก็ชวนให้เราคิดถึงสถานที่สุดท้ายของโดโลเรส 

มันคงเป็นเพียงเหตุบังเอิญ แต่ถึงอย่างนั้นเราก็คงปฏิเสธไม่ได้ว่า หลายสิ่งในงานเพลงชิ้นนี้มีร่องรอยของการจากลา แต่ถึงอย่างนั้นก็ไม่ได้เป็นการจากลาด้วยความเศร้า เพราะหากลองฟังดูแล้ว เราจะสัมผัสได้ถึงเสียงของความหวัง อันสะท้อนผ่านบทเพลงที่ว่าด้วยเรื่องราวของการข้ามผ่านปัญหาต่างๆนาๆในชีวิต ไม่ว่าจะเป็นจากความรัก การโดนทำร้ายทั้งทางกายและทางใจ ความผิดหวัง เปลี่ยวเหงา เศร้าใจ แต่สุดท้ายแล้วเราก็จะเข้มแข็งและข้ามผ่านมันไปได้ 

เสียงของโดโลเรสยังน่าประทับใจไม่เสื่อมคลาย หลายเพลงชวนให้เราคิดถึงการร้องในแบบที่เราประทับใจจากเพลง “Zombies” อาจจะไม่เกรี้ยดกราดเท่า แต่เคล้าไปด้วยพลัง และความรู้สึกอันบริสุทธิ์ ซาวด์ดนตรีมีทั้งความเท่ งดงาม และสง่า หลายเพลงโปร่งเบา กระจ่างใส คลุมห่มไว้ด้วยความไพเราะ แค่เพียงได้ยินท่อนอินโทรของเพลง “All Over Now” เราก็รู้สึกมีพลังมากแล้ว มันเท่และสวยงามมากจริงๆ หากถามว่าเพลงไหนที่ชวนให้คิดถึงเพลง “Zombies” มากที่สุดก็ต้อง “Wake Me When It’s Over” เลย  ส่วน “Illusion” กับ “Summer Song” นั้นก็ช่างน่าประทับใจ หากปรารถนาที่จะฟังเพลงที่ให้ความรู้สึกเบิกบานสว่างใส สงบงาม 2 เพลงนี้ใช่เลย ส่วนเพลงสุดท้าย “In The End”  มันคือการปิดอัลบั้มและปิดตำนานของ The Cranberries ได้อย่างงดงามและเศร้าสร้อยที่สุด   Ain’t it strange / When everything you dreamt of / Was nothing that you dreamt of /In the end

Play video

ฟัง “In The End” 

Apple Music

Spotify


“Violet Street” – Local Natives

สารภาพว่าไม่เคยรู้จัก Local Natives มาก่อนแต่พอฟังอัลบั้มนี้แล้วรู้สึกสนใจในวงมากเลย จึงได้พบว่า  นี่เป็นอัลบั้มที่ 4 ของวงนี้แล้ว

Local Natives เป็นวงดนตรีอินดี้ร็อคจาก ซิลเวอร์เลค ลอสแองเจลิส มีสมาชิกอยู่ด้วยกัน 5 คนหากฟังจากในงานเพลงชิ้นนี้ “Violet Street” จะมีส่วนผสมของแนวดนตรีอินดี้ป็อป อินดี้ร็อค และอินดี้โฟล์ค ผสมผเสปนเปกันไปในแต่ละเพลง เสน่ห์ของ Local Natives อย่างแรกเลยคือความไพเราะ ในทุกๆเพลงจะมีบรรยากาศล่องลอยห่อหุ้มไว้ โดยมีเสียงร้องบาดใจ หวาน สูง แต่นุ่ม แถมมีการร้องประสานด้วยทำเอาเคลิ้มไปเลย ซาวด์ดนตรีมีความน่าสนใจ ล่องลอยไปพร้อมกับเสียงร้อง

ในแต่ละเพลงจะมีเสน่ห์และบรรยากาศแตกต่างกันไป อย่างเพลงแรก “Vogue” ที่เป็นอินดี้โฟล์คอันเสมือนลำนำขับกล่อมเบิกโรง เรื่องราวที่จะเล่าขานต่อไป ก่อนจะมาสู่ “When Am I Gonna Lose You” ที่มีมวลพลังนุ่มนวลแต่ชวนขยับขึ้น “Cafe Amarillo” นี่เพราะเลย ขึ้นอินโทรมาเท่ๆ เมโลดี้ก็สวยงามมีความแจ๊ซซี่ๆเล็กๆ  “Munich II” ชอบอินโทรและบรรยากาศล่องลอยของเพลงนี้ แต่ถ้าจะเอาเร้าใจหน่อยก็ต้อง “Shy”   หรือจะเป็น “Gulf Shores” และ “Someday Now” ที่มีจังหวะแบบดนตรี Afropop

ไปลองฟังกันดูครับ รับรองจะฟังเพลินเกินห้ามใจจนจบอัลบั้มไม่รู้ตัว

Play video

ฟัง “Violet Street”

Apple Music

Spotify 


“Social Cues” – Cage The Elephant

เป็นอัลบั้มที่ห้าแล้วสำหรับวงอัลเทอร์เนทีฟร็อคจากเคนตั๊กกี้วงนี้ ซึ่งในขณะที่เพื่อนร่วมวงการอย่าง Arctic Monkeys  ได้พาตัวเองไปไกล (ไกลมาก) ด้วยการแปรสภาพจากวงอัลเทอร์เท่ๆ โจ๊ะๆ กลายเป็นวงสุขุมนุ่มลึกที่มาพร้อมดนตรีแบบเลาจน์มิวสิคไปแล้ว จากอัลบั้ม “Tranquility Base Hotel & Casino” ในปีที่แล้ว ส่วน Vampire Weekend ทะเยอทะยานก้าวหน้าด้วยการกลับมาประกาศศักดาออกดับเบิ้ลอัลบั้มในเดือนพฤษภานี้  ส่วน Cage The Elephant ยังคงอยู่ในเซฟโซนของตัวเอง เป็นการเพลงที่ยังฟังเพราะ ฟังเพลิน แต่ก็อาจทำให้แฟนๆเบื่อได้

แต่หากได้รู้ถึงแรงพลังเบื้องหลังงานเพลงชิ้นนี้ ก็ทำให้เราสนใจที่จะตั้งใจฟังและสัมผัสทุกเรื่องราวในแต่ละบทเพลง เพราะว่า Matt Shultz นักร้องนำของวงได้ผ่านช่วงเวลาอันหนักหน่วงมากในชีวิตระหว่างที่กำลังทำงานเพลงชิ้นนี้ เรื่องแรกก็คือการหย่าร้างกับภรรยา เรื่องต่อมาก็คือการสูญเสียเพื่อนรักสองคนจากการฆ่าตัวตาย แต่แทนที่ Matt Shultz จะจมอยู่กับความเศร้า เขาเลือกที่จะเปลี่ยนมันให้เป็นพลังความมุ่งมั่นที่จะทำงานเพลงชิ้นนี้ให้ดีและหันไปมองด้านที่สวยงามของประสบการณ์ในชีวิตแทนที่จะจมจ่อมกับเรื่องเศร้าเหล่านั้น 

เมื่อเราจมดิ่งกับปัญหานานา หลายคนคิดว่า โอ้ เราจะต้องแต่งเพลงเศร้าแล้วล่ะ แต่หารู้ไม่ว่านั่นเรากำลังพลาดสีสันของชีวิตอันเรากำลังละเลยไปซึ่งมันช่างสำคัญนัก

Matt ได้กล่าวไว้เช่นนั้น

ด้วยเหตุนี้งานเพลงใน “Social Cues” จึงไม่ได้มีแต่เพลงเศร้าเคล้าน้ำตาแต่อย่างใด หากแต่ส่วนใหญ่แล้วจะเป็นเพลง upbeat  ชวนขยับทั้งนั้นเลย เหมือนกำลังจะบอกว่า เศร้าใจไปทำไมมาทำใจให้สนุกสดใสกันดีกว่า หลายเพลงมีความน่าสนใจใช่เล่น อย่างเพลง “House of Glass” เป็นการาจพังค์ ที่มีส่วนผสมของความหลอนเหมือนกำลังฟังเพลงประกอบหนังสยองที่แต่งโดยจอห์น คาร์เพนเตอร์ แต่เป็นในเวอร์ชั่นอินดี้ป็อป ส่วน “Love’s the Only Way” บัลลาดนุ่มๆ มีบรรยากาศเคลิ้มฝันและแฝงไว้ด้วยความเศร้าเหงาลึก ซึ่งน่าจะเป็นเพลงเศร้าเหงาที่สุดในอัลบั้มแล้ว  รองลงมาก็คงจะเป็น “Goodbye” เพลงสุดท้ายของอัลบั้มที่เหงาลึก  สงบงัน งามสง่า เหมาะแก่การจบอัลบั้มลงอย่างนุ่มนวล

Play video

ฟัง “Social Cues”

Apple Music 

Spotify


“Grim Town” – SOAK

“SOAK” เป็นอีกหนึ่งศิลปินที่น่าสนใจ เธอมีชื่อจริงว่า  Bridie Monds-Watson เป็นนักร้องนักแต่งเพลงสาวอายุ 23 ปี (ซึ่งพรุ่งนี้วันที่ 2 พฤษภาคม ก็จะเป็นวันเกิดครบรอบอายุ 23 ปีของเธอพอดี) เธอเกิดที่เมืองเดอร์รี่ในไอร์แลนด์เหนือ  ส่วนชื่อ SOAK ที่เธอใช้ในวงการเพลงนั้นมีที่มาจากการสมาสคำระหว่างโซล (Soul) และโฟล์ค (Folk) เลยกลายเป็นโซค (SOAK)” เธอออกงานเพลงมาแล้วก่อนหน้านี้หนึ่งอัลบั้ม คือ  Before We Forgot How to Dream ในปี 2015  เพราะฉะนั้นอัลบั้ม Grim Town นี้จึงเป็นอัลบั้มที่สองของเธอ

สำนัก The Guardain ได้นิยามงานเพลงของ SOAK ไว้ว่าเป็นภาพความคิดอันลุ่มลึกเปี่ยมด้วยสีสันของวัยรุ่น  เป็นธรรมดาที่งานเพลงจากวัยรุ่นที่ดูคมคาย ลุ่มลึก มักจะถ่ายทอดเรื่องราวของตนเองออกมา และงานเพลงของ SOAK ก็เป็นเช่นนั้น เพราะเธอได้กลั่นเอาเรื่องราวในชีวิตของเธอถ่ายทอดออกมาเป็นบทเพลงที่ไม่ได้ย่อยยากเลย หากแต่เป็นเพลงป็อป ชุ่มฉ่ำ ฟังแล้วเพลิดเพลินใจไปกับท่วงทำนองของเธอ ซึ่งมีซินธ์เป็นตัวเอกที่สร้างสีสันในงานเพลงของเธอ ส่วนกีตาร์นั้นคือน้ำจิ้มรสเด็ดที่ช่วยแต่งเติมบทเพลงเหล่านี้ให้เป็นอาหารจานอร่อย อย่างบางเพลงก็มีเครื่องเป่าเป็นท็อปปิ้งเติมความอร่อยด้วย หลายเพลงเป็นเพลงป็อปที่มีกลิ่นอายของเพลงป็อปยุค 80 ลองฟัง “Maybe” กับ “Deja Vu” ดูแล้วจะบอกว่าใช่เลย !

Play video

ฟัง “Grim Town”

Apple Music

Spotify