กลับมาพบกับ [สัปดาห์นี้มีอะไรฟัง] ในสัปดาห์แรกของเดือนกรกฎาคมนะครับ สำหรับอัลบั้มออกใหม่ที่น่าสนใจที่จะมาแนะนำให้ฟังกันในสัปดาห์นี้ ส่วนใหญ่แล้วเป็นอัลบั้มของศิลปินหน้าใหม่ทั้งนั้นเลย แต่การันตีคุณภาพเลยครับว่าดีงามทุกอัลบั้ม ส่วนรุ่นเก๋าที่ได้กลายเป็นตำนานไปแล้วนั้นมีอยู่อัลบั้มนึงนั่นก็คือเดโมชุดใหม่ (แต่เป็นงานเก่าจากปี 1969) ของเดวิด โบวีซึ่ง น่าสนใจมากๆ เราไปดูรายละเอียดของทั้ง 4 อัลบั้มในสัปดาห์นี้กันเลยดีกว่าครับ


“The Soft Cavalry”  The Soft Cavalry

อัลบั้มเปิดตัวของสองคู่รักนักดนตรี สตีฟ คลาร์ก (Steve Clarke) นักดนตรีรับจ้าง นักร้องแบ็คอัพ และผู้จัดการทัวร์คอนเสิร์ตให้กับศิลปิน กับ เรเชล กอสเวลล์ (Rachel Goswell) มือกีตาร์และนักร้องจากวง สโลว์ไดฟ์ (Slowdive) วงดรีมพอปที่กลับมารวมตัวกันใหม่ในปี 2014 ซึ่งเป็นโอกาสดีที่ทำให้ สตีฟได้พบกับเรเชลจนกลายเป็นความรักและแต่งงานกันในสี่ปีต่อมา ซึ่งดอกผลจากความรักครั้งนี้ก็คือ “The Soft Cavalry” นั่นเอง

งานเพลงอัลบั้มนี้จึงมีส่วนผสมจากพลังสร้างสรรค์ของสตีฟผ่านทางเนื้อเพลงและห้วงดนตรี ส่วนเรเชลนั้นก็เติมเต็มในส่วนของเสียงร้องที่มาเป็นส่วนผสมอันแตกต่างแต่ลงตัว เสริมทัพด้วย  สจ๊วต วิลคินสัน (Stuart Wilkinson) มือกลอง , ทอม ลิเวอร์มอร์ (Tom Livermore) มือกีตาร์, และ เจสซี แชนด์เลอร์ (Jesse Chandler) มือคีย์บอร์ดจากวง มิดเลค (Midlake) ที่ตอนนี้ไปเล่นอยู่กับวง เมอร์คูรี เรฟ (Mercury Rev) จนก่อเกิดชิ้นงานที่ครอบคลุมในแนวทางตั้งแต่ชูว์เกซ ดรีมพอป ไปจนถึงซินธ์พอป หากใครที่ชื่นชอบงานเพลงในแนวนี้ หรือเป็นแฟนของวง สโลว์ไดฟ์  รับรองว่าอัลบั้มนี้คืออีกอัลบั้มที่คุณไม่ควรพลาด

Play video

ฟัง  “The Soft Cavalry” 

Apple Music

Spotify


“Black Puma” Black Puma

Black Puma คือ สองคู่หูดูโอ เอเตรียน ควิซาด้า (Adrian Quesada) (กีตาร์/โปรดิวเซอร์) และ อีริก เบอร์ตัน (Eric Burton) (ร้องนำ) จากเมืองออสติน รัฐเท็กซัส  ชื่อของวงชวนให้คิดถึง “Black Panther” ซูเปอร์ฮีโร่เสือดำจากมาร์เวล แต่นัยหนึ่ง Black Panther ยังเป็นชื่อของกลุ่มชาวแอฟริกัน-อเมริกันที่เคลื่อนไหวทางสังคมและการเมืองโดยมีอุดมการณ์ไปทางคอมมิวนิสต์ในช่วงยุค 60 ตอนปลายจนถึงยุค 70 ตอนต้นซึ่งพอเหมาะพอเจาะที่ดนตรีจากในช่วงเวลานี้เป็นแรงบันดาลใจหลักของงานเพลงในอัลบั้มนี้พอดี

“Black Puma” ได้พาเราไปสัมผัสกับท่วงทำนองของดนตรีโซลในยุคนั้น เป็นเรโทรโซลที่ทำให้เราคิดไปถึงงานเพลงเก่าๆ แต่เพิ่มเติมเสน่ห์ด้วยการผสมผสานแนวดนตรีอื่นๆเข้าไปด้วยอย่างฟังก์ บลูส์และร็อก เป็นต้น Black Puma เป็นวงใหม่ที่เอาอยู่ในแนวทางนี้จริงๆ เรื่องดีกรีความสามารถหายห่วงมาก ควิซาด้านี่เคยเล่นกีตาร์อยู่ในวงออเคสตร้าลาตินฟังก์จากออสตินนาม “Grupo Fantasma” ที่ได้รับรางวัล อัลบั้มลาตินร็อกยอดเยี่ยม ในปี 2011 ส่วน เบอร์ตัน นักร้องหนุ่มวัย 27 ก็มาพร้อมสไตล์การร้องแบบคนดำที่เปี่ยมไปด้วยพลังและปลดปล่อยอารมณ์ได้อย่างถึงใจมากๆ สองคนนี้เป็นส่วมผสมที่ลงตัวจริงๆ

Play video

ฟัง  “Black Puma”

Apple Music

Spotify


“Foam”  Divino Niño

Divino Niño เป็นวงสี่ชิ้นจากชิคาโก ที่ก่อนหน้านี้เคยปล่อยแต่เดโมออกมา  “Foam” จึงนับเป็นอัลบั้มเต็มชุดแรกของวง

งานเพลงของ Divino Niño  นี้มีการหยิบยืมเอาส่วนผสมทางดนตรีหลากแนวนู่นนี่มาผสมกันอย่าง พอปร็อก ซอฟท์ร็อก ละติน ไซคีเดลิค และแนวอื่นๆ นู่นนิดนี่หน่อย อย่างแทร็คแรก “Foam” ที่เป็นเหมือนอินโทรเปิดอัลบั้มก็มาในอารมณ์แบบอินดี้พอปผสมไซคีนิดๆพอเมามาย ตอนแรกฟังก็ตกใจนิดนึง นึกว่าร้องเป็นภาษาไทย การออกเสียง สไตล์มันคล้ายๆกัน  อย่างเพลง “Coca Cola” นี่ก็อารมณ์เหมือนจับเอาวง โพสต์-พังก์ มาร้องเพลงพอป  ส่วน “Quiero” กับ “Maria”  นี่ก็มาในสไตล์สแปนิช ร้องเป็นภาษาสเปนเลย สังเกตจากชื่อวงก็พอจะรู้ว่ามีความเป็นลาตินผสมอยู่ เหตุก็เพราะสองสมาชิกในวงคือ คามิลโล เมดินา (Camilo Medina) มือกีตาร์และ ฆาเวียร์ ฟอเรโร (Javier Forero) มือเบสนี่มีพื้นเพมาจากเมืองโบโกตาประเทศโคลอมเบีย

การฟังเพลงของ Divino Niño ให้ความรู้สึกเบาสบาย ผ่อนคลาย พอหลับตาแล้วรู้สึกได้ถึงแสงแดดทออ่อน และไอแดดจากชายหาดในฤดูร้อน ที่มีสายลมเย็นสบายพัดมา ประมาณนั้นเลย ฟังเพลินมากครับ

Play video

ฟัง  “Foam”

Apple Music

Spotify


“The Mercury Demos(with John ‘Hutch’ Hutchinson)” David Bowie

เดอะ เมอร์คูรี เดโม เป็นเดโมอัลบั้มล่าสุดของเดวิด โบวี หนึ่งในเดโมคอลเลกชันที่ทยอยปล่อยออกมาในช่วงเฉลิมฉลองครบรอบ 50 ปีเพลงฮิต “Space Oddity”

ในอัลบั้มนี้ประกอบไปด้วย 10 บทเพลง ที่โบวีทำงานร่วมกับ จอห์น ฮัตชินสัน (John ‘Hutch’ Hutchinson) ที่มาเล่นกีตาร์และร่วมร้องด้วย โดยอัดไว้แบบสดๆเทคเดียวจบด้วยเครื่อง Revox ที่เป็นเครื่องบันทึกเสียงแบบ reel to reel อัดกันที่แฟลตของโบวีในฤดูใบไม้ผลิปี 1969

เพลง “Space Oddity” ที่เป็นเพลงเปิดของเดโมชุดนี้เคยถูกบรรจุไว้ในบ็อกซ์เซ็ต Sound & Vision มาก่อนแล้ว แต่ครั้งนี้ถือว่าเป็นการอยู่ถูกที่ถูกทางที่สุด เพราะมันถูกบันทึกเสียงพร้อมๆกับเดโมอีก 9 เพลงที่เหลือซึ่งไม่เคยปล่อยออกมาที่ไหนเลย ในจำนวนนี้นอกจากมีเพลงที่โบวีแต่งแล้ว ยังมีเพลงที่คนอื่นแต่งอยู่สองเพลงคือเพลง “Life Is A Circus” แต่งโดย โรเจอร์ บันน์ (Roger Bunn) ซึ่งเพลงเวอร์ชันนี้เคยถูกใส่ไว้ในเดโมเซ็ต Clareville Grove ส่วนอีกเพลงคือ  “Love Song” ของ เลสลี่ย์ ดันแคน (Lesley Duncan) ซึ่งต่อมาถูกบันทึกเสียงโดย เอลตัน จอห์น และใส่ไว้ในอัลบั้ม Tumbleweed Connection ส่วนเพลง “Janine” ก็มีอยู่ช่วงนึงที่ร้องเมโลดี้ของเพลง “Hey Jude” ของ The Beatles ด้วย เก๋ไปอีก

ส่วนเหตุผลของการทำเดโมทั้ง 10 เพลงนี้ในปี 1969 ก็เพราะโบวีและฮัตชินสันต้องการส่งงานให้กับคาลวิน มาร์ค ลี ( Calvin Mark Lee) จาก เมอร์คูรี เร็คคอร์ด (Mercury Records) ซึ่งต้องการเพลงส่งให้กับเจ้านายคือ บ็อบ เรโน (Bob Reno) เพื่อเป็นการประกันสัญญาบันทึกเสียงกับทางค่ายเมอร์คูรีนั่นเอง ซึ่งผลพวงต่อมาจากเดโมนี้ก็คืออัลบั้มเต็มชุดที่สองของโบวี (แต่เป็นอัลบั้มแรกกับทางเมอร์คูรี) นั่นก็คือ อัลบั้มที่ชื่อว่า “David Bowie” (1969) ซึ่งมีสามเพลงจากเดโมนี้คือ Space Oddity , Janine และ An Occasional Dream ต่อมาอัลบั้มนี้ถูกทำออกมาใหม่ในปี 1972 โดยค่าย RCA และเปลี่ยนชื่อเป็น “Space Oddity”

Play video

ฟัง “The Mercury Demos”

Apple Music

Spotify

 

พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส