[รีวิว]Child’s Play : จากตุ๊กตาผีสิงเป็นตุ๊กตาไฮเทคแต่โหดกว่าเดิม
Our score
7.2

child's play : คลั่งฝังหุ่น

จุดเด่น

  1. การปรับเปลี่ยนหลาย ๆ อย่างถือว่ายี่ยม เข้ากับยุคสมัยมากขึ้น ตัวละครมีความลึกมากขึ้น
  2. คอหนังโหด น่าจะพึงพอใจ กับฉากโหดเลือดท่วมจอ
  3. ฉากสังหารไม่ถี่นัก แต่ผ่านการคิด การออกแบบได้แปลกใหม่
  4. เสียงพากย์ของ มาร์ก แฮมิลล์ ทำได้สมบูรณ์มาก

จุดสังเกต

  1. หนังปล่อยช่องโหว่ไว้ใหญ่มาก เรื่องแบตเตอรี ของชัคกี้
  2. คิดเยอะเรื่องฉากฆ่า แต่ฉากจัดการชัคกี้ก็ง่ายเกิ๊น เหมือนหมดมุก
  • ตรรกะความสมบูรณ์ของบท

    8.0

  • คุณภาพงานแสดง

    6.0

  • คุณภาพโปรดักชั่น การผลิต ความแปลกใหม่

    8.0

  • ความสนุก น่าประทับใจ

    7.0

  • ความคุ้มค่าตั๋ว

    7.0

สนับสนุนข้อมูลโดย Major Cineplex

ฮอลลีวู้ดในยุค 80s ได้สร้างอสุรกายจอมเชือดขึ้นมามากมายทั้ง ไมเคิล มายเออร์ , เฟรดดี้ ครูเกอร์ , เจสัน วอฮีร์ และ เลเธอร์เฟซ ทุกรายยังคงสานต่อตำนานสยองขวัญสืบเนื่องมาจนทุกวันนี้ บางรายก็ยังคงมีภาคต่อ บางรายก็ถูกรีบู๊ต บางรายก็ย้อนไปเล่าเรื่องราวก่อนหน้า แล้วก็มาถึงคิวของอสุรกายตัวจิ๋ว “ชัคกี้” ที่ถึงคราวรีบู๊ตสักที หลังสานต่อมาถึง 7 ภาคภายในระยะเวลา 30 ปี “ชัคกี้” เป็นที่รู้จักกันในฐานะตุ๊กตาเด็กชายที่กลายมาเป็นจอมเชือดขนาดเล็กตามความโหดกระหายเลือดไม่ได้เล็กตามตัวเลย ชัคกี้ เริ่มแนะนำตัวให้โลกรู้จักใน Child’s Play (1989) จากมันสมองของ ดอน แมนชินี ผู้เขียนเรื่องและเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ของเจ้า “ชัคกี้” ที่เขารับหน้าที่เขียนบทภาพยนตร์เองทั้ง 7 ภาค และกำกับเองในภาคหลัง ๆ

แม้ว่าดอน จะเป็นเจ้าของคาแรกเตอร์ “ชัคกี้ แต่ค่าย MGM ที่เป็นเจ้าผู้ออกทุนสร้างและจัดจำหน่ายในวันนั้น ก็ได้สิทธิ์การเป็นเจ้าของหนัง Child’s Play ภาค 1 ไปโดยปริยาย ซึ่งจะมีสิทธิ์ในการรีเมกหนังภาคนี้โดยชอบธรรม และ MGM ก็ทำเช่นนั้น ด้วยการรีบู๊ต Child’s Play ครั้งแรกในรอบ 30 ปี แล้วก็สร้างจุดขายได้อย่างน่าสนใจด้วยการดึงเอา มาร์ก แฮมิลล์ ที่แฟนหนังทั่วโลกรู้จักเขาจากบท ลุค สกายวอล์กเกอร์ ในตำนานให้มาพากย์เสียง “ชัคกี้” แม้ว่า ลุค จะมีผลงานแสดงไม่กี่เรื่อง แต่เขาผ่านงานพากย์มานับสิบเรื่อง ฉะนั้้นงานพากย์จึงเป็นงานที่เขาถนัดมาก แล้วมาร์ก ก็ทำได้ดีจริง

ภาคนี้มีการปรับเปลี่ยนหลาย ๆ อย่างจากต้นฉบับ และเป็นการปรับเปลี่ยนที่ทำให้เรื่องราวเข้ากับยุคสมัยมากขึ้น แอนดี้ บาร์เคลย์ เด็กชายที่เป็นเจ้าของชัคกี้ ถูกปรับให้โตขึ้นเป็น 13 ปี จากเดิมเป็นเด็กน้อยวัย 6 ขวบ และจุดสำคัญสุดคือที่มาของ “ชัคกี้” ที่เวอร์ชันเดิมนั้น ชาร์ล ลี เรย์ ฆาตกรต่อเนื่องสุดโหด ถูกตำรวจยิง ก่อนตายได้ใช้เวทมนตร์วูดูย้ายวิญญาณของเขาไปสิงสู่ในตุ๊กตา “กู๊ดกาย” สินค้ายอดฮิตในวันนั้น แล้วเจ้าตุ๊กตาตัวนี้ก็ไปเป็นของแอนดี้ ชัคกี้ ก็เริ่มใช้สันดานโหดของฆาตกรต่อเนื่องออกสังหารเหยื่อผู้โชคร้ายแล้วป้ายความผิดให้แอนดี้

แต่ในเวอร์ชั่นใหม่นี้ไม่มีเรื่องวิญญาณและเวทมนตร์เข้ามาเกี่ยวข้อง แต่เป็นเรื่องราวของสมองกลอัจฉริยะ (A.I.) เข้ามาแทนที่ เล่าเรื่องของบริษัท แคสแลน ผู้ผลิตอุปกรณ์ไฮเทคระดับโลก ได้ออตุ๊กตาในชื่อ “บัดดี้ดอลล์”ออกมา เป็นตุ๊กตาอัจฉริยะที่เชื่อมต่อกับอินเทอร์เน็ตได้ ควบคุมสั่งการอุปกรณ์ไฟฟ้าแบรนด์แคสแลนภายในบ้านทุกชิ้น พูดจาโต้ตอบและเรียนรู้ได้เหมือนกับเด็กคนหนึ่ง ปัญหามาจากพนักงานฝ่ายผลิตคนหนึ่งโกรธแค้นเจ้านายที่ชอบดุด่า ก็เลยระบายอารมณ์ด้วยการปลดล็อกระบบควบคุมนิสัย และขอบเขตการเรียนรู้ ของตุ๊กตาบัดดี้ดอลล์ตัวหนึ่งซะ และตัวนั้นก็คือ”ชัคกี้” ที่ตกมาเป็นของแอนดี้ เด็กชายที่อยู่กับคุณแม่เลี้ยงเดี่ยว การขยับอายุของแอนดี้ให้โตขึ้น ก็ช่วยให้เล่าเรื่องได้กว้างขวางขึ้น บทสามารถเขียนให้เด็กในวัยนี้ทำอะไรได้มากกว่าเด็ก 6 ขวบ และเพิ่มเติมให้แอนดี้มีปัญหาในการได้ยินต้องใส่เครื่องช่วยฟังอยู่เสมอ ทั้งเรื่องหูที่บกพร่องและแอนดี้เพิ่งย้ายมาอยู่เมืองนี้ ทำให้เขาไม่ค่อยมีเพื่อน ก็ล้วนเป็นเหตุผลสนับสนุนที่ดี ที่ทำให้แอนดี้รู้สึกผูกพันกับเจ้าชัคกี้ได้อย่างลึกซึ้ง

เรื่องบทที่มีการปรับเปลี่ยนหลาย ๆ อย่างได้เข้าที่เข้าทางกว่าต้นฉบับนี้ ก็ต้องยกความดีความชอบให้กับ ไทเลอร์ เบอร์ตัน สมิธ ชื่อไม่คุ้นเลย พอไปดูเครดิตก็เห็นว่า นี่คือมือเขียนบทหน้าใหม่จริง ๆ เคยแต่เขียนบทให้กับวีดีโอเกม มาเขียนบทภาพยนตร์เรื่องนี้เป็นเรื่องแรก และเป็นงานประเดิมที่น่าชื่นชม เลือกในการคงตัวละครหลักจากเวอร์ชันต้นฉบับไว้ แต่มีการปรับเปลี่ยนบุคลิกตัวตน ฉากหลังที่มาของแต่ละตัวละครได้เข้าที่เข้าทางมากขึ้น ทำให้คนดูเข้าถึงความคิดการตัดสินใจสำคัญ ๆ ของตัวละครเหล่านี้ได้มากขึ้น

แม้กระทั่งตัวละครที่ไม่ใช่มนุษย์อย่าง “ชัคกี้” ก็ยังเห็นถึงความเปลี่ยนแปลงในตัวมัน ไม่ใช่ตุ๊กตาผีที่ร้ายมาตั้งแต่เริ่มเรื่องอย่างต้นฉบับ แต่ร้ายเพราะสิ่งแวดล้อม โหดเพราะศึกษาจากคนรอบข้าง ได้ฟังคำหยาบ คำสบถจากผู้คน ได้เห็นความรุนแรงที่มนุษย์ปฏิบัติต่อกัน ได้เห็นแอนดี้และเพื่อน ๆ หัวเราอย่างมีความสุขเวลาได้ดูหนังเชือดโหดเลือดสาด สมองกลที่ถูกโปรแกรมมาให้เรียนรู้ก็เลยเข้าใจได้ว่า “มนุษย์มีความสุขที่ได้เห็นความรุนแรง” ก็เลยทำให้ Child’s Play (2019) เป็นหนังที่หน้าฉากเป็นหนังสยองขวัญ แต่ก็มีเนื้อหาที่วิพากษ์สังคมแบบกลาย ๆ

ในด้านความโหดของหนัง ต้องยืนยันเลยว่าภาคนี้ “โหดมาก” แม้ฉากสยองจะไม่มาถี่ มาแต่ละครั้งนี่โคตรครีเอตเป็นฉากฆ่าที่ผ่านกระบวนการคิด ออกแบบไม่ให้ซ้ำซากจากหนังในแนวเดียวกัน เล่นทั้งภาพที่ให้เห็นจะ ๆ ผสมกับความคิดจินตนาการของคนดูเองโดยรวมก็สยองถึงกับต้องร้อง ยี้ ยี้ และเบือนหน้าหนี เลือดท่วมมากครับ ฉากตุ้งแช่ก็ยังพอมีบ้าง การออกแบบ “ชัคกี้” ถ้ามองรวม ๆ ก็ชัดเจนว่านี่คือชัคกี้ที่เราคุ้นเคย แต่เมื่อมองลึกลงไป ก็สังเกตเห็นได้ชัดว่าหน้าตาต่างไปจากเดิม ด้วยเทคโนโลยีทางด้านภาพที่รุดหน้ากว่าเดิมมา 30 ปี ทำให้ชัคกี้เวอร์ชันนี้แสดงออกทางสีหน้าได้ชัดเจนขึ้น ตาโตขึ้นและเปลี่ยนสีได้ตอนโกรธทำให้แสดงออกถึงสีหน้าอารมณ์ได้มากขึ้น การเคลื่อนไหวลื่นไหลเป็นธรรมชาติมากขึ้น

การที่กำหนดให้ตุ๊กตาบัดดี้ดอลล์เป็นหนึ่งในสินค้าไฮเทค ก็เลยเปิดช่องให้ชัคกี้เวอร์ชันนี้มีความสามารถมากขึ้น ควบคุมอุปกรณ์เครื่องใช้ไฟฟ้าภายในบ้านได้ เข้าถึงอินเทอร์เน็ตได้ เป็นไอเดียที่ฉลาดมาก ทำให้เพิ่มเติมลุูกเล่นลงไปในเนื้อหา และทำให้หนังสนุกได้มากขึ้น นอกจากนั้นมุกตลกที่หยอดมาก็ถี่มาก หลาย ๆ มุกก็ยิงติดได้เสียงหัวเราะดัง ๆ ส่วนใหญ่มาจากบรรดาแก๊งเพื่อนของแอนดี้ ที่ช่วยเพิ่มสีสันให้กับหนังได้ดี และทำให้หนังโคตรโหดเรื่องนี้ ไม่หม่นเครียดจนเกินไปนัก

ถ้ามองย้อนไป หนังรีเมกน้อยเรื่องนักที่จะทำได้ดีกว่าต้นฉบับ วันนี้เราก็ต้องยกให้ Child’s Play (2019) จัดอยู่ในหนังรีเมกส่วนน้อย ที่หยิบมาทำใหม่ แล้วไม่ยี้ไม่แย่กว่าเดิม ไม่โดนด่าว่าเสียของ ก้าวต่อไปจากนี้ยิ่งน่าติดตามล่ะครับ เพราะ MGM มีสิทธิ์แค่หนังภาคแรกเท่านั้น ก้าวต่อไปนี่ก็ต้องเจรจาหาข้อตกลงกับ ดอน แมนชินี กันให้รู้เรื่องล่ะ ส่วนดอน ก็ไม่ยินดีนักกับ Child’s Play ภาคนี้ ตัวเขาก็เลยเดินหน้าไปกับโพรเจกต์ Child’s Play เวอร์ชันทีวีซีรีส์ ที่จะแพร่ภาพปีหน้านี้ล่ะ ดูซิว่า MGM จะเดินหน้าต่ออย่างไร

 

Play video