พอพูดถึงคำว่า “หนึ่งรอบชีวิต” หรือ 12 ปี มันเป็นเวลาที่ไม่ “น้อย” เลย และด้วยความไม่น้อยของมันนี่ล่ะ ที่ชีวิตได้นำพาบางสิ่งเข้ามา ทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงมากมายต่อชีวิตคนคนนึง กับผู้ชายคนนี้ที่ชื่อ “น้อย” ก็ไม่มีข้อยกเว้นด้วยเช่นกัน

น้อย-กฤษดา สุโกศล แคลปป์  หรือที่พวกเรารู้จักกันในนาม “น้อย วงพรู”  ชายหนุ่มท่าทาง ขี้อาย เก็บตัว เรียบร้อย ผู้เป็นแนวหน้าของวงดนตรีอัลเทอร์เนทีฟร็อกในยุค 90s ที่เมื่อปรากฏตัวบนเวทีเขาจะปลดปล่อยลีลาอันน่ามหัศจรรรย์ทั้งการร้อง การเต้น การเอ็นเตอร์เทนที่เต็มไปด้วยลีลาอันเป็นเอกลักษณ์ (ครั้งหนึ่งพี่น้อยเคยให้สัมภาษณ์ว่าท่วงท่าเหล่านั้นได้รับแรงบันดาลใจมาจากการเคลื่อนไหวของแมวผสมกับการเต้นบัลเล่ต์)

พรู  มีผลงานออกมาทั้งสิ้น 2 สตูดิโออัลบั้มด้วยกัน “Pru (2544)” คืออัลบั้มเปิดตัวอันมีผลงานโดดเด่นเป็นที่น่าจดจำทั้ง “นางฟ้า” “Romeo & Juliet”  “ทุกสิ่ง” “ยังรอคอยเธอเสมอ” “รักเธอจนจบชีวิต” และอีกมากมาย ต่อด้วยอัลบั้มชุดที่สอง “Zero (2547)”  ที่ทางวงได้ทดลองฉีกแนวออกไปทำอะไรใหม่ๆไม่ให้ซ้ำแนวทางเดิม (มีเพลง “โปรด” ที่ร้องกับ “อรอรีย์” เป็นหนึ่งในเพลงที่คนชื่นชอบมากจากอัลบั้มนี้ ) ทำให้ผลที่ตามมาอาจจะเรียกได้ว่าประสบความล้มเหลวทางด้านรายได้ แต่สำหรับในแง่ความเป็นศิลปะมันคือหนึ่งอัลบั้มที่อยู่ในใจนักฟังเพลงเสมอมา จากนั้นไม่นานพรูก็ตัดสินใจยุบวงเป็นการปิดตำนานวงดนตรีวงนี้ที่เป็นหมุดหมายสำคัญในประวัติศาสตร์วงการอัลเทอร์เนทีฟไทย

ปัจจุบัน พี่น้อย หรือ “น้อย พรู” กลายเป็นชายวัยกลางคนอายุ 48 ปี กับชีวิตครอบครัวที่ตอนนี้มีภรรยาและลูกอีกสอง พร้อมด้วยบทบาทหลากหลายทั้งการเป็น ผู้บริหารโรงแรม The Siam โรงแรมสวยริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา ส่วนงานด้านบันเทิงก็ได้หันมารับบทบาทเป็นนักแสดง กับบทบาทที่คอหนังจดจำได้เป็นอย่างดีจากบท จ๊อด ฮาวดี้ ใน อันธพาล (2555)  และ จอมโจรอัลฮาวียะลูใน ขุนพันธ์ (2559) ในชีวิตส่วนตัวของพี่น้อยก็มีหลายสิ่งหลายอย่างเปลี่ยนแปลงหรือปรับเปลี่ยนด้วยเช่นกัน เช่น การลองหันเข้าหาสังคมโลกสมัยใหม่ผ่านโซเชียลมีเดียด้วยการลองมาเล่นเฟซบุ๊กจากที่ไม่เคยรู้จักหรือแตะต้องมันมาก่อนเลย  ทำให้พี่น้อยได้มองเห็นโลกจากอีกมุมหนึ่งและทำให้ติดต่อสื่อสารกับแฟนๆได้ง่ายมากยิ่งขึ้น

ด้วยความที่พี่น้อยเป็นคนที่รักและทุ่มเทให้กับเสียงดนตรีอย่างเต็มที่ทำให้สิ่งนี้ยังคงอยู่ในใจของพี่น้อยเสมอมา และ “นี่แหละชีวิต” ก็คือคำตอบของกาลเวลาที่ล่วงเลยมา หลังห่างหายจากการออกอัลบั้มไป 12 ปี นับจากอัลบั้มสุดท้ายของวงพรู คราวนี้พี่น้อยได้กลับมาอีกครั้งในฐานะศิลปินเดี่ยวเป็นครั้งแรกของชีวิต ด้วยชื่อ “น้อย พรู” เหมือนเป็นการยืนยันตัวตนว่าถึงแม้ตนเองจะออกผลงานเดี่ยวแล้ว แต่ในฐานะการเป็นนักร้องหรือศิลปิน พี่น้อยก็จะยังคงมีจิตวิญญาณของความเป็นพรู ยังคงเป็นน้อย(วง)พรู อยู่เสมอ

ชื่ออัลบั้ม “นี่แหละชีวิต” มาด้วยท่าทีที่หนักแน่น เป็นการตอกย้ำสารสำคัญลงไป ว่าสิ่งที่ถูกบรรจุไว้ในอัลบั้มนี้คือสิ่งที่กลั่นกรองและสะท้อนออกมาผ่านมุมมองของผู้ชายคนหนึ่งซึ่งมันได้ทำให้เราต้องมองย้อนกลับมายัง “ชีวิต” ของพวกเราด้วยเช่นกัน ผ่านเรื่องราวความรัก ความสุข ความทุกข์ สมหวัง ผิดหวัง เป็นรสชาติชีวิตที่เราจะต้องพานพบประสบเจอในหนึ่งช่วงชีวิตของเรา

“นี่แหละชีวิต” มาพร้อมบทเพลงทั้งหมด 12 เพลง เท่ากับจำนวนปีที่ทำอัลบั้มนี้เลย พี่น้อยมีส่วนดูแลในแต่ละกระบวนการอย่างเต็มที่โดยมี โหน่ง วิชญ วัฒนศัพท์ แห่งวง The Photo Sticker Machine และนักแต่งเพลงประกอบภาพยนตร์ดังมากมายอาทิ Bad Genius ฉลาดเกมส์โกง มาช่วยโปรดิวซ์ร่วมดูแลในส่วนของภาคดนตรี ส่วนในด้านเนื้อร้องพี่น้อยเป็นคนแต่งเองทั้งหมด โดยจะแต่งเป็นภาษาอังกฤษก่อนแล้วค่อยเรียบเรียงเป็นภาษาไทยผ่านปลายปากกาของนักเขียนเพลงมือฉมังอย่าง บอย โกสิยพงษ์, บอย-ตรัย ภูมิรัตน, แสตมป์-อภิวัชร์ เอื้อถาวรสุข และอภิชา สุขแสงเพ็ชร หรือ ต๋อง The Begins)

อย่างเพลง “แด่ศาลที่เคารพ” แต่เดิมเพลงนี้มีชื่อเพลงว่า “The Vampire” ทั้งตัวเนื้อหาและเมโลดีไม่ใช่ในแบบที่เราได้ฟังใน “แด่ศาลที่เคารพ” แต่เดิม “The Vampire” เป็นเพลงที่พูดถึงคนเหงาๆ ที่ไม่มีวันตายแต่หลังจากนั้นเมื่อพี่น้อยคิดถึงมุมมองเกี่ยวกับคนที่ค้นหาโอกาสแต่คนทั่วไปยังไม่ยอมรับ ก็เลยได้ไอเดียเพลงนี้ขึ้นมาและร่วมกันกับพี่บอย โกสิยพงษ์ เขียนออกมาในมุมมองบุรุษที่ 1 โดยเอาตัวเองเข้าไปแทนคนที่เป็นต้นเรื่องและเล่าถ่ายทอดออกมาจากตรงนั้น ซึ่งเพลงส่วนใหญ่ในอัลบั้มนี้พี่น้อยใช้วิธีในการเขียนโดย ไม่ได้กลั่นออกมาจากเรื่องของตัวเอง ร้อยเปอร์เซ็นต์ซะทีเดียว แต่เหมือนกับว่าแต่ละเพลงก็จะเป็นมุมมองจากหลากชีวิต หลากมุมมองที่พี่น้อยมองเห็นและหยิบจับส่วนเสี้ยวของชีวิตตัวเองเข้าไปประกอบและถ่ายทอดออกมาจนเป็นเนื้อเดียวกัน

ถึงแม้อัลบั้มนี้จะเป็นงานเดี่ยวแต่ก็มีศิลปินรับเชิญเข้ามาร่วมแจมกันมากมาย ที่สำคัญก็คือคุณแม่กมลาที่มาร่วมร้องด้วยในเพลง “ตราบใดที่เธอยังมีชีวิต” นอกจากนี้ยังมีคนอื่นๆอีกอาทิ  เมธี โมเดิร์นด็อกที่มาเล่นกีตาร์ให้หนึ่งเพลง ยอดเถา มือเบสวงพรูที่มาเล่นเบสให้ด้วยอีกหลายเพลง เป็นต้น

ลักษณะเพลงในแต่ละเพลงจากอัลบั้ม “นี่แหละชีวิต” เหมือนกับเป็นสกอร์ภาพยนตร์ที่หนึ่งเพลงใช้ประกอบแต่ละฉาก ซึ่งมันให้บรรยากาศ ความรู้สึกและเรื่องราวในแต่ละฉากของชีวิตที่แตกต่างกันออกไป แต่เมื่อมาอยู่รวมกันมันก็กลายเป็นภาพยนตร์ชีวิตเรื่องหนึ่งที่มีความสมบูรณ์

ในมุมหนึ่งอัลบั้ม “นี่แหละชีวิต” ก็ไม่ได้หลีกหนีจากความเป็น “พรู” สักเท่าไหร่ หนึ่งเลยก็คือเสียงร้องของพี่น้อยซึ่งสไตล์การร้องก็ไม่ได้แตกต่างจากตอนที่ร้องให้กับ “พรู” รวมไปถึงเนื้อหาของเพลงที่พี่น้อยเองก็เป็นคนเขียนหลักมาตั้งแต่ตอนทำวงพรูแล้ว ส่วนในเรื่องเมโลดี้นี่จะเห็นชัดว่ามีหลายจุดชวนให้เรานึกไปถึงเพลงบางเพลงของพรู ยิ่งในเรื่องดนตรีหากเพลงไหนมีสัดส่วนของความเป็นร็อกเสียหน่อยก็จะยิ่งรู้สึกได้ว่านี่มัน “พรู” นี่ จนอาจจะมองได้ว่า “นี่แหละชีวิต” เป็นอัลบั้มที่สามของพรูเลยก็ว่าได้

สำหรับในแง่ของการร้อง เสียงร้องของพี่น้อยยังคงมีความน่าประทับใจไม่เสื่อมคลาย มันทั้งจริงจังและจริงใจในอารมณ์ที่สอดคล้องกับแต่ละบทเพลง เพลงรักพี่น้อยก็ร้องได้ร่าเริงและมีความสุขมากเลย เพลงที่ลุ่มลึกถึงชีวิตเสียงของพี่น้อยก็มีความใคร่ครวญครุ่นคิด และสะท้อนอารมณ์ส่วนลึกออกมาได้อย่างเปี่ยมไปด้วยความรู้สึก

ส่วนในแง่ของดนตรี มีการเรียบเรียงออกมาได้ผสานกลมกลืนกับการร้อง ไม่แปลกแยกแตกต่าง หากแต่ผสานกันเป็นเนื้อเดียว รายละเอียดเล็กน้อยต่างเรียงร้อยเข้ามาเพื่อเสริมส่งอารมณ์จากการร้องของพี่น้อย ไม่มากล้นจนเกินไป หลายครั้งออกแนว “น้อย” เสียด้วยซ้ำ แต่เป็นความ “น้อย” ที่ทำให้เรารู้สึก “มาก”  และอิ่มเอม

“อัตตา” เพลงเปิดอัลบั้ม เป็นเพลงที่มีความเป็นซีเนมาติกสูง เปิดมาด้วยอะคูสติกปิ๊กกิ้งบางเบาล่องลอยแต่ลุ่มลึกก่อนที่จะมีพาร์ตเสริมอารมณ์เข้มอย่างเครื่องสายและเครื่องเป่ามาเสริม โดยเฉพาะเครื่องสายที่ทำงานอย่างดีกับกีตาร์ไฟฟ้าโซโล่ในช่วงกลางเพลงที่พาอารมณ์เราพุ่งสูงขึ้น เป็นเพลงที่ค่อยๆบิลท์อารมณ์ขึ้นไปเรื่อยๆจากเบาไปกลางแล้วก็ไปหนัก ขับเน้นสาระสำคัญของเพลงที่ว่าด้วยของการสลาย “อัตตา” หรือการยึดมั่นถือมั่นในตนของคู่รักแต่ละคนเพื่อให้ความสัมพันธ์นั้นดีขึ้น

“แด่ศาลที่เคารพ” เป็นซิงเกิลแรกจากอัลบั้มนี้ ด้วยความเป็นร็อกหนักแน่นเร้าใจชวนฮึกเหิม ทำให้มันเหมาะที่จะเป็นซิงเกิลเปิดตัวรวมไปถึงเข้ากันดีกับสาระของเพลงที่ว่าด้วยเรื่องของการให้โอกาสคนที่ทำผิดพลาดที่กำลังเริ่มต้นใหม่ ย้ำเตือนให้เราอย่าพึ่งไปตัดสินใครง่ายๆ เพราะทุกคนนั้นควรที่จะได้รับโอกาสในการเริ่มต้นใหม่เสมอ ด้วยความที่มันเป็นเพลงร็อกจึงชวนให้คิดถึงงานเพลงของ “พรู” มากๆ  นอกจากนี้ถ้าลองตั้งใจฟังจะเห็นว่าตัวเพลงมีการใส่รายละเอียดเล็กๆน้อยๆ ช่วยให้เพลงน่าสนใจและมีสีสัน เช่นในช่วงท่อน verse ที่ 2 มีการใส่เสียงฟ้าร้องลงไปด้วย

Play video

 

“นี่แหละชีวิต” เหมาะแล้วที่จะใช้ชื่อของเพลงนี้เป็นชื่อของอัลบั้ม มันเป็นเพลงที่ลงตัวทั้งในเนื้อหาและท่วงทำนองเป็นเพลงที่รวดร้าวแต่งดงามอย่างรุนแรง ลองเจอสามประสาน อะคูสติกกีตาร์ เปียโน และเชลโล่กับเครื่องสาย ก็ทำเอาเราดิ่งกันสุดๆ นี่ถ้าไม่มีพาร์ตหลังที่มีเสียงกลองกับเครื่องสายให้อารมณ์ซีเนมาติก แล้วเอาเฉพาะช่วงครึ่งแรก ระดับความร้าวลึกนี่ชวนให้นึกถึงเพลงของ เดเมียน ไรซ์ เลยล่ะ ส่วนเนื้อร้องภาษาไทยก็เขียนโดยพี่บอย ตรัยภูมิรัตน จากเนื้อเพลงภาษาอังกฤษที่แต่เดิมชื่อว่า “Empty” กลั่นกรองออกมาได้อย่างลงตัวมากๆครับ

Play video

ต่อมาที่ “เล็กน้อยมหาศาล” เบรกอารมณ์เศร้า หนักหน่วง ด้วยเพลงท่วงทำนองสดใสชวนขยับที่ว่าด้วยเรื่องราวของความสัมพันธ์อันงดงาม และรายละเอียดเล็กๆน้อยๆ ที่เราสัมผัสได้จากคนรักของเรา ซึ่งถึงแม้มันจะไม่ใช่เรื่องยิ่งใหญ่อะไร เป็นเพียงเรื่องเล็ก แต่เป็นเล็กน้อยที่มหาศาล เป็นเพลงที่พี่น้อยได้รับแรงบันดาลใจมาจากความสัมพันธ์ 20 ปีที่คบกันมากับภรรยา  ตัวเมโลดี้ชวนให้คิดถึงเพลงรักหลายๆเพลงของพรูเลย ส่วนเนื้อร้องหวานๆและมีการเปรียบเปรยแบบนี้จะเป็นใครไปไม่ได้ ต้อง แสตมป์ อภิวัชร์ แล้วล่ะ

Play video

 

“ตราบใดที่เธอยังชีวิต” เป็นอีกหนึ่งไฮไลต์จากอัลบั้มนี้กับบทเพลงที่เหมือนเป็นภาคต่อจาก Live & Learn ของ บอย โกสิยพงษ์ ที่ได้คุณแม่กมลา สุโกศล มาร้องให้ สำหรับเพลงนี้ลูกชายกับคุณแม่ได้มาร้องร่วมกันในบทเพลงที่เป็นเสมือนแสงแห่งความหวังให้กับคนที่ล้ม ได้ลุกขึ้นมาสู้ต่อ ในส่วนของดนตรีก็ได้พาร์ตของเครื่องเป่ามาช่วยประดับเป็นสีสันและเสียงแห่งความหวังเสริมส่งอารมณ์เพลงได้อย่างดี

Play video

 

“The One Promise” เพลงชื่อภาษาอังกฤษเพียงหนึ่งเดียวจากอัลบั้มนี้ เป็นเพลงบัลลาดเพราะๆที่พูดถึงความรักที่ยังมั่นคงอยู่เสมอแม้ในวันที่ห่างไกล เป็นเพลงความหมายดีๆที่สามารถส่งต่อให้กับคนรักได้ในวันที่เราห่างไกลกัน

“รักอาจจะ…” อีกหนึ่งเพลงเศร้าซึ้งจากอัลบั้มนี้ ที่ความเท่อยู่ที่ในช่วงแรกของเพลง ที่จะมีอารมณ์จมๆแล้วชวนให้เราลุ้นว่าเมื่อไหร่มันจะพุ่งสักที คิดว่าตรงนี้จะพุ่งแล้วแต่ก็ยังไม่ถูกสักที จนกระทั่งกลางเพลงสิ่งที่เราคาดหวังก็มาถึง เมื่ออารมณ์ทั้งหมดได้ถูกปลดปล่อยและพุ่งทะยานขึ้นไป ซึ่งบอกเลยว่าทำเอาเรารู้สึกฟิน

“ห้วงรัก” เป็นเพลงเปียโนบัลลาดที่เรียบง่ายแต่ลุ่มลึกไปด้วยอารมณ์ เป็นเพลงที่เข้าข่าย “น้อยแต่มาก”รายละเอียดน้อยเพราะมีแค่เสียงเปียโนกับเสียงร้องของพี่น้อยเป็นตัวหลัก แต่กลับถ่ายทอดอารมณ์ออกมาได้อย่างเศร้าสร้อย อ่อนหวานและงดงาม

ถ้าใครฟังไล่มาทั้งอัลบั้มจะรู้เลยว่า “ฉันจะเฝ้ารอ” นี่เป็นเพลงที่มีซาวด์ค่อนข้างแตกต่างจากเพลงอื่นๆ โดยเฉพาะเสียงกีตาร์ของเพลงนี้นี่ตัวเด็ดมาก คือไม่ได้เล่นอะไรเยอะเลยมาได้ “น้อย” แต่มีเสน่ห์และน่าสนใจมาก แอบรู้สึกว่าเพลงนี้นี่แหละที่พี่เมธี โมเดิร์นด็อกมาร่วมแจมด้วย ยิ่งไลน์กีตาร์ที่เป็นลูกเล่นเพนทาโทนิค ยิ่งชวนให้คิดถึงงานของโมเดิร์นด็อกในยุคหลังมาก ทำให้อารมณ์ของเพลงมีเสน่ห์และโดดเด่นเป็นเอกลักษณ์ขึ้นมาเลยครับ

“แค่เรา” เป็นเพลงอารมณ์สวยงามที่มอบพลังใจให้เราก้าวเดินทำตามความฝันต่อไปให้สำเร็จ

เมื่อพูดถึงชีวิตแล้วแวะมาพูดถึงประเทศไทยสักนิดกับบทเพลงที่มีชื่อว่า “ประเทศไทย” อันมีใจความสำคัญพูดถึงการร้องหาความรัก ความเข้าใจ การให้อภัย และสิ่งดีงามทั้งหลายที่เคยมีในสังคมไทย ซึ่งเหมือนมันได้จางหายไปจากสังคมไทยในช่วงเวลาที่ผ่านมา

เกือบจะกลายเป็นเพลงบรรเลงไปแล้วกับ “ใกล้แค่นี้เอง” เพลงปิดอัลบั้มที่อินโทรมายาวถึงครึ่งเพลงกับเสียงกีตาร์อะคูสติกบรรเลงสองตัวซึ่งไพเราะมาก ก่อนที่พี่น้อยจะร้องเข้ามาในช่วงกลางเพลงด้วยประโยคสั้นๆ แล้วปล่อยที่เหลือเอาไว้กับเสียงกีตาร์อะคูสติก เสียงเครื่องสายและเสียงฮัมส่งท้ายด้วยอารมณ์ในสไตล์ “น้อยแต่มาก” เป็นการปิดอัลบั้มได้อย่างงดงาม

การมาถึงของอัลบั้มนี้ทำให้เราได้รู้เลยว่า “น้อย พรู” คือ ศิลปินคุณภาพที่แท้จริง ไม่ว่ากาลเวลาจะผ่านไปนานแค่ไหน จิตวิญญาณของ “น้อย พรู” ก็ยังคงอยู่ดังเดิม คิดว่าอัลบั้มต่อไปของพี่น้อยอาจไม่ต้องรออีกหนึ่งรอบชีวิต หวังไว้ในใจรอให้พี่น้อยพักสักนิด และค่อยปล่อยงานใหม่ตามมาติดๆจะดีที่สุดเลยครับ

ฟัง “นี่แหละชีวิต”

Apple Music

Spotify

 

พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส