มาร์เวลในยุคที่มีเพียงธุรกิจสำนักพิมพ์การ์ตูน ยังไม่ได้สร้างหนังเองได้ขายลิขสิทธิ์ตัวละครไปหลายตัว X-Men , Fantastic Four ให้กับค่ายฟอกซ์ และ Spider-Man ให้กับโซนีพิกเจอร์ ในวันนั้นก็นับว่าเป็นการตัดสินใจที่ถูกทาง ขายของเก่าได้เงินดีไม่ต้องลงทุนสักบาทเดียว ต่อมา มาร์เวล ได้ขยายกิจการเข้าสู่วงการภาพยนตร์ เพราะยังมีสมบัติในมืออีกมากมาย มีตัวละครในคลังมากกว่า 2,500 ตัว ก็เลยตั้ง มาร์เวล สตูดิโอ แล้วสร้างภาพยนตร์เองประเดิมด้วย Iron Man ใปนี2008 เป็นจุดกำเนิดจักรวาลมาร์เวล ความสำเร็จของ Ironman ทำให้ดิสนีย์เล็งเห็นวี่แววความยิ่งใหญ่ของมาร์เวล สตูดิโอ อย่ารอช้าเลย ซื้อมันซะ แล้วดิสนีย์มหาอำนาจในวงการบันเทิงเป็นเจ้าของมาร์เวลในปี 2009 ด้วยมูลค่าเพียง 4,000 ล้านเหรียญเท่านั้น เป็นการลงทุนที่ถูกทางเพราะสร้างกำไรมาไม่รู้กี่เท่าแล้ว

Spider-Man รีบูต 3 ครั้ง 3 นักแสดงที่รับบทพีเตอร์ พาร์กเกอร์

ตั้งแต่นั้นมาร์เวลที่มีดิสนีย์เป็นบริษัทแม่ก็เรืองอำนาจมากขึ้น เมื่อหนังในจักรวาลประสบความสำเร็จมหาศาล ก็อยากขยายจักรวาลมาร์เวลให้มากขึ้น แต่ก็ติดที่ว่าสมบัติมีค่าอย่าง X-Men และ Spider-man ยังอยู่กับฟอกซ์ และ โซนี และอุปสรรคที่ทำให้มาร์เวลไม่สามารถทวงของที่ตัวเองสร้างมาเองคืนมาได้ก็เพราะ เงื่อนไขสำคัญประโยคเดียวในสัญญาที่ระบุไว้ว่า “โซนีจะต้องสร้างหนังสไปเดอร์แมน ออกมา แต่ละเรื่องเว้นห่างไม่เกิน 3 ปี ไม่เช่นนั้นสิทธิ์จะกลับคืนสู่มาร์เวล” นั่นคือเหตุผลที่ว่า ทำไม Spider-Man จึงเป็นซูเปอร์ฮีโรที่รีบูตบ่อยที่สุด มีพีเตอร์ พาร์กเกอร์ถึง 3 คน ในรอบ 10 ปี เงื่อนไขนี้ก็รวมถึงค่ายอื่น ๆ ที่ถือลิขสิทธิ์ตัวละครของมาร์เวล นั่นทำให้ Hulk กับ Blade ที่เคยอยู่กับยูนิเวอร์แซล และ นิวไลน์ แล้วทั้ง 2 ค่ายไม่สร้างภาคต่อหรือรีบูต สิทธิ์ก็กลับคืนสู่มาร์เวลตามเงื่อนไข

ชาร์ตอธิบายลิขสิทธิ์คาแรกเตอร์ของมาร์เวล ที่อยู่กับค่ายต่าง ๆ

เมื่อเจ้าของลิขสิทธิ์ตัวการ์ตูนลงมาสร้างหนังเอง ก็เลยได้ใช้ข้อได้เปรียบในส่วนนี้มาสร้างหนังรวมเหล่าซูเปอร์ฮีโรอย่าง The Avengers ก็ยิ่งต่อยอดความสำเร็จของมาร์เวลสตูดิโอให้ยิ่งใหญ่มากขึ้น เรียกเงินจากคนดูทั่วโลกได้มากขึ้น จำนวนซูเปอร์ฮีโรในแต่ละภาคก็มากขึ้น แม้เหล่าซูเปอร์ฮีโรและเหล่าร้ายจะป้วนเปี้ยนเต็มหน้าจอไปหมด แต่ถึงอย่างนั้นคนดูก็ยังคาดหวังจะได้เห็นซูเปอร์ฮีโรตัวโปรดอย่าง วูล์ฟเวอรีน และ สไปเดอร์แมน มาร่วมปฏิบัติการกับเหล่าอเวนเจอร์ส ก็มีเสียงเรียกร้องให้มาร์เวลเจรจากับโซนี และ ฟอกซ์ ให้เอาซูเปอร์ฮีโรเหล่านี้กลับมาเข้าจักรวาลหนังมาร์เวล

x-men , dead pool , Fantastic Four กลับสู่มาร์เวล

ปี 2015 แฟนมาร์เวลได้เฮกันดัง ๆ เมื่อระดับบริหารมาร์เวล และ โซนี คุยกันรู้เรื่อง เกิดสัญญาการใช้ สไปเดอร์แมน ร่วมกันภายใต้การถือครองของโซนีและมาร์เวล ทำให้เราได้เห็นสไปดี้มาโลดแล่นในจักรวาลมาร์เวลถึง 5 เรื่อง Captain America: Civil War (2016) , Spider-Man: Homecoming (2017) , Avengers: Infinity War (2018) , Avengers:  End Game (2019) , Spider-Man: Far from Home (2019) การตีภาพลักษณ์ใหม่ของพีเตอร์ พาร์คเกอร์ ให้กลายเป็นเด็กหนุ่มวัยมัธยม สดใสขึ้นกว่าเวอร์ชันก่อน ๆ ทำให้ ทอม ฮอลแลนด์ กลายเป็นนักแสดงที่คนดูรัก และช่วยขยายด้านอ่อนโยนของโทนี่ สตาร์ก ให้คนดูสัมผัสได้มากขึ้น กลายเป็นความแฮปปี้ของแฟน ๆ มาร์เวล และรายได้มหาศาลที่ไหลเข้าสู่มาร์เวล และ โซนี่

2 คาแรกเตอร์มีค่าของมาร์เวล ที่ยังอยู่กับโซนีพิกเจอร์

เมื่อสไปเดอร์แมนมาแล้ว ก้าวต่อไปก็คือเหล่ามนุษย์กลายพันธุ์ ที่แฟนมาร์เวลรอลุ้นว่าดิสนีย์จะเจรจากับฟอกซ์ได้เหมือนกับโซนี่หรือไม่ ความเป็นไปได้น่าจะง่ายกว่าด้วยซ้ำ เพราะ x-men ภาคหลัง ๆ ก็ไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควร แต่ก้าวต่อไปของดิสนีย์กลับยิ่งใหญ่เกินคาดมาก เมื่อมันไม่ใช่แค่การเจรจาต่อรองเรื่องลิขสิทธิ์ตัวละคร แต่ซื้อบริษัทมันซะเลย จบ ไม่ต้องคุยยาว ดิสนีย์เป็นเจ้าของฟอกซ์อย่างสมบูรณ์พร้อมในปี 2019 ด้วยตัวเลขมหาศาล 71,300 ล้านเหรียญ ยักษ์ใหญ่ในวงการบันเทิงที่ก่อร่างสร้างตัวมาถึง 84 ปี ตกเป็นของดิสนีย์โดยสมบูรณ์ แฟน ๆ มาร์เวล โห่ร้องที่จะได้เห็นเหล่ามนุษย์กลายพันธุ์มาโลดแล่นในจักรวาลหนังมาร์เวล

ระหว่างที่ลุ้นว่าจะได้เห็น X-men , Deadpool และ Spider- man มาเข้าร่วมจักรวาลมาร์เวล จะต้องเป็นความมันส์ที่สุดยอดมาก ก็ดันเกิดข่าวช็อกอีกรอบในเช้าวันนี้ เมื่อเงินเป็นปัจจัยหลัก ตกลงส่วนแบ่งได้ไม่ลงตัว ก็แยกทางกันดีกว่า โซนีไม่ขอไปต่อกับสัญญาร่วม เอาสไปเดอร์แมน คืนไปสร้างภาคต่อเอง สัญญาของทอม ฮอลแลนด์ และผู้กำกับจอห์น วัตต์ ก็ยังอยู่กับโซนี ชื่อของ Spider-man ยังไงก็ขายได้อยู่แล้ว ปัญหานี้ทำให้มองย้อนไปในงาน Sandiego comic con แล้วก็ต้องร้องอ๋อ ว่าทำไมน้อ ในตารางหนังเฟส 4 , เฟส 5 ถึงไม่มีภาคต่อของ Spider-man ให้เห็นเลย แปลว่าปัญหาเรื่องสัญญาระหว่างมาร์เวลกับโซนีก่อตัวมาตั้งนานแล้ว แต่เพิ่งมาแตกหักชัดเจนประกาศออกสื่อในวันนี้เอง

x-men เจอกับ Spider-Man ความฝันที่ยังห่างไกล

บนโต๊ะประชุมน่าจะมีเงื่อนไขลึก ๆ มากมาย ที่ 2 บริษัทไม่จำเป็นต้องอธิบายอออกสื่อ แต่ผลตอบรับกลับมา โซนีกลับเป็นถูกแฟนสไปเดอร์แมนชี้นิ้วประณามว่าเป็นเพราะโซนีไม่ต่อสัญญากับมาร์เวล ทำให้พวกเขาจะไม่ได้เห็นสไปเดอร์แมนในจักรวาลมาร์เวลอีกต่อไป ส่งผลต่อให้เกิดคำถามขึ้นในโลกโซเชียล ว่ามาถึงขั้นนี้แล้วเป็นไปได้แค่ไหนล่ะ ที่แม่ใหญ่อย่างดิสนีย์จะออกโรงอีกครั้ง แล้วก็ใช้เงินแก้ปัญหาแบบเดียวกับตอนที่ซื้อฟอกซ์ นั่นทำให้มาถึงคำถามต่อไป ฟอกซ์ มีมูลค่า 71,300 ล้านเหรียญ แล้ว โซนี พิกเจอร์ ล่ะมีมูลค่าเท่าไหร่ ผลการประเมินจากผู้เชี่ยวชาญ ไม่ใช่ตัวเลขสุทธิในการตีมูลค่าจริง ประมาณมูลค่าของโซนี่พิกเจอร์ไว้ที่ 30,000 ล้านเหรียญ หรือมากสุดก็ไม่เกิน 40,000 ล้านเหรียญ ราคาต่ำกว่าฟอกซ์ครึ่งหนึ่งเลย ในราคานี้จะได้เป็นเจ้าของลิขสิทธิ์หนังที่เป็นสมบัติล้ำค่าอย่าง The Karate Kid, Ghostbusters, Jumanji, Men in Black และบรรดาหนังแอนิเมชันของโซนีด้วย ยังรวมไปถึงลิขสิทธิ์ภาพยนตร์ที่แพร่ภาพทางทีวี , เกมออนไลน์ และธุรกิจบันเทิงบนสมาร์ตโฟน

บรรดาผลผลิตของ Sony Pictures

ทำไมตัวเลขมูลค่าของ โซนี่ ถึงต่างจากฟอกซ์ มากนัก แม้ว่าบริษัทจะมีอายุยาวนานมากกว่าฟอกซ์ด้วยซ้ำ เหตุเพราะเส้นทางธุรกิจของโซนีพิกเจอร์เดินทางมาถึงวันนี้แบบไม่ค่อยราบรื่นนัก เปลี่ยนมือเจ้าของมาแล้วหลายราย ก่อนจะมาเป็นโซนีพิกเจอร์ในปี 1989 นั้น เรารู้จักกันในนามว่า โคลัมเบียพิกเจอร์ ก่อตั้งมาตั้งแต่ปี 1924 จนถึงวันนี้ก็มีอายุ 95 ปีเข้าไปแล้ว คอหนังจะรู้จักภาพลักษณ์ของโคลัมเบียพิกเจอร์กันดีกับภาพ หญิงคือคบเพลิง

โคลัมเบียพิกเจอร์ ตกเป็นของ โคคา-โคลา หรือ โค้ก นั่นแหละ ในปี 1982 , โค้กถือครองมาได้ 5 ปี แบกรับภาระไม่ไหวเลยขายหุ้นส่วนหนึ่งให้กับ ไทรสตาร์พิกเจอร์ โลโก้ม้าติดปีกบนก้อนเมฆ ตั้งแต่ปี 1988 เป็นต้นมาก็ไม่มีชื่อของ โคลัมเบียพิกเจอร์อีกต่อไป หนังถูกผลิตภายใต้ชื่อของ ไทรสตาร์พิกเจอร์ ล้วน ๆ นับว่าเป็นดีลที่มีอายุสั้นมาก ไทรสตาร์ถือครองโคลัมเบียร่วมกับโค้กอยู่ได้แค่ปีเดียว โซนีก็เข้ามาซื้อกิจการของไทรสตาร์พิกเจอร์ซึ่งรวมถึงโคลัมเบียพิกเจอร์ในปี 1989 ในมูลค่า 4,900 ล้านเหรียญ ถึงวันนี้โซนีพิกเจอร์ก็มีอายุรวมแล้ว 30 ปีบริบูรณ์ ยกระดับมูลค่าบริษัทที่ซื้อมา 4,900 ล้านเหรียญเป็น 30,000 ล้านเหรียญ ก็ถือว่าเป็นธุรกิจที่ประสบความสำเร็จ

Columbia Pictures ต้นกำเนิด Sony Pictures

ด้วยตัวเลขขนาดนี้ไม่น่าจะเกินกำลังของดิสนีย์ แต่ปัญหาคือดิสนีย์เพิ่งเทกระเป๋าไปกับการซื้อฟอกซ์ การจะควักเงินทุนมหาศาลในการซื้อกิจการใหญ่ติด ๆ กัน 2 ครั้ง คงไม่ใช่เรื่องที่ทำกันง่าย ๆ ของเก่ายังไม่ทันได้ทุนคืน จะให้ควักอีกรอบย่อมไม่เป็นผลดีดีต่อสถานะความมั่นคงของอาณาจักรดิสนีย์ ถ้าดีลยักษ์เกิดขึ้นก็ไม่น่าจะใช่ในช่วง 2 – 3 ปีจากนี้ เพราะถึงตอนนี้ก็มีแต่เสียงเชียร์จากคนดูให้ดิสนีย์ซื้อโซนีพิกเจอร์ แต่ก็ไม่มีความเคลื่อนไหวใด ๆ ที่พอจะมองเห็นวี่แววว่าดีลยักษ์จะเกิดขึ้นอีกครั้ง จากนี้ไปก็บอกได้เพียงให้แฟน ๆ ยอมรับชะตากรรมที่เกิดขึ้น มองในแง่ดี เราได้ดูสไปเดอร์แมนในจักรวาลมาร์เวลมาแล้วถึง 5 เรื่อง จากนี้ไปก็รอดู X-Men , dead pool และ fantastic Four มาวาดลวดลายในจักรวาลกันดูมั่งนะ อาจจะเก่งกาจมีสีสันกว่าสไปดี้ก็เป็นได้