สนับสนุนข้อมูลโดย Major Cineplex

หน้าหนังของ Hustlers อาจดูเหมือนเป็นหนังผู้หญิงเฟียส ๆ ในเวทีโพลแดนซ์ระบำเปลื้องผ้า แต่สำหรับเนื้อในแล้วน่าสนใจมาก ๆ ที่โฟกัสของหนังสะท้อนภาพเศรษฐกิจของสหรัฐฯ เทียบให้เห็นผลกระทบกับกลุ่มนักเต้นระบำว่าพวกเธอเดือดร้อนและต้องตอบสนองกับสถานการณ์นี้ยังไง

Hustlers หยิบเรื่องจริงจากบทความ The Hustlers at Score ของ เจสสิก้า เพรสเลอร์ ที่ตีพิมพ์ใน New York Magazine เล่าเรื่องราวของนักเต้นระบำซึ่งถูกวิกฤตเศรษฐกิจแฮมเบอร์เกอร์ช่วงปี 2008 โดยเป็นช่วงที่ตลาดหุ้นตกต่ำ ธุรกิจในสหรัฐฯ มากมายล้มระเนระนาดเป็นประวัติศาสตร์ ส่งผลให้ลูกค้าที่ส่วนมากเป็นนักธุรกิจ หรือนักลงทุนในวอลล์สตรีท ต้องรัดเข็มขัดและไม่มีเงินเปย์พวกเธอเหมือนยุครุ่งเรืองอีกต่อไป นั่นทำให้กลุ่มนักเต้นตัดสินใจหันมาใช้วิธีล่อลวงและปล้นเงินจากลูกค้ากระเป๋าหนักแทน โดย Hutslers เป็นผลงานกำกับและเขียนบทโดย ลอรีน สกาฟาเรีย (The Meddler, Seeking a Friend for the End of the World)

สปอตไลต์ถูกสาดส่องไปที่เจ๊ ‘เจโล’ จนนิเฟอร์ โลเปซ ที่กลับมารับบท ‘ราโมนา’ หลังจากไปเป็นโปรดิวเซอร์ใน Second Act เมื่อปีที่แล้ว รวมทั้งยังมีแก๊งสาวแสบอย่างสาวหมวยพราวเสน่ห์ คอนสแตนซ์ วู (Crazy Rich Asians), เคค พาล์มเมอร์ จากซีรีส์ Scream Queen, ลิลี่ ไรน์ฮาร์ต จาก Riverdale, ลิซโซ ศิลปินสาวที่กำลังมาแรงรวมทั้ง คาร์ดิ บี แรปเปอร์สาวที่หลายคนอาจคุ้นหน้ามาร่วมเล่นด้วย

ช่วงแรกหนังปูแบ็กกราวด์ของตัวละครได้น่าสนใจ โดยเฉพาะการเปิดตัวของเจโลนั้นบอกเลยว่า ‘เฟียสมากแม่!’ ดูสง่าเป็นนางพญา ดูเป็น ‘ตัวแม่’ แบบไม่ต้องพยายามจริง ๆ จากนั้น เดสทินี (คอนสแตนซ์ วู) นักเต้นหน้าใหม่ที่เพิ่งเข้ามาก็เป็นอีกหนึ่งตัวละครที่ทำหน้าที่เหมือนเป็นผู้สังเกตการณ์แทนผู้ชมทั้งหมด กับแวดล้อม ผู้คนในคลับ จุดเริ่มต้นของเรื่องราวเริ่มจากตรงนี้ และหนังใช้เวลาอธิบาย ปูปูมหลังของความสัมพันธ์ตัวละครในคลับได้ลึกพอสมควร ซึ่งช่วงนี้จะเป็นอะไรที่ว้าวสำหรับคนดูมาก โดยเฉพาะเจโล ที่โชว์ลีลาโพลแดนซ์ได้สุดติ่งจริง ๆ (ขอบอกก่อนว่าหนังเรื่องนี้ฉาก 18+ เยอะนะจ๊ะ) 

อย่างไรก็ตาม พาร์ตที่เข้มข้นจริง ๆ อยู่ที่องก์สอง ซึ่งพวกเธอนักเต้นได้รับผลกระทบจากพิษแฮมเบอร์เกอร์ในปี 2008 จนคลับซบเซา ลูกค้านักเที่ยวเกรดล่างและเกรดกลางเริ่มหายหัว แต่ละคนก็มีภาระหนี้สินก้อนโตและคนข้างหลังที่ต้องกินต้องใช้ และนั่นทำให้ ราโมนา เริ่มนำทัพคิดแผนการบางอย่าง โดยมีโจทย์ว่าทำอย่างไรจึงจะดึงเงินจากกระเป๋าของนักธุรกิจเกรดเอที่ยังจ่ายไหวกับการมาหาความสำราญ

มันไม่ใช่แผนการที่ต้องทำเพื่อความจำเป็นหรือเพื่อปากท้องเพียงอย่างเดียว แต่สิ่งที่อยู่เบื้องหลังแผนการนี้ ส่วนหนึ่งมาจากมุมความคิดที่ต่อต้านความเหลื่อมล้ำของสังคมที่ไม่เป็นธรรมด้วย โดยมีประโยคหนึ่งในเรื่องที่ผมสนใจคือ ‘ประเทศนี้ก็เหมือนกับระบำเปลื้องผ้านั่นล่ะ พวกคนรวยก็มีความสุขกับการได้โปรยเงิน ส่วนคนจนก็ต้องเต้น ต้องดิ้นรนเพื่อที่จะได้เงินมาปะทังชีวิต’ ซึ่งไอ้คนรวยก็ไม่ใช่ใครที่ไหน ก็หมายถึงไอ้พวกบริษัทหลักทรัพย์กลุ่มนายทุนรายใหญ่ในตลาดหุ้นนั่นแหละ ที่ต่อให้วิกฤตรุนแรง ธุรกิจเจ๊ง ประชาชนฆ่าตัวตาย แต่ไอ้พวกนี้ พวกที่รัฐบาลมันอุ้มอยู่นี่แหละ ที่ยังอยู่รอดสบายดีแถมจากภาษีของประชาชนที่ต้องก้มหน้าใช้ชีวิตเหมือนตายทั้งเป็น (เหมือนได้ยินที่ไหนไม่รู้แต่โคตรคุ้นเลย-ฮา)

ตลอดทั้งเรื่องเราจะได้เห็น จุดเริ่มต้นของความรุ่งเรือง ได้เห็นภาพธุรกิจหนึ่งธุรกิจพุ่งขึ้นเหมือนดอกไม้ไฟ จากนั้นก็เหมือนถูกปลุกให้ตื่นจากความฝันมาพบกับความจริงโหดร้าย แต่ถึงอย่างนั้น แก๊งสาวกลุ่มนี้ เธอจะแก้เกมอย่างไร แม้จะไม่ได้ซับซ้อน หรือปราดเปรื่องอย่างที่ควรจะเป็น เพราะพวกเธอคือ rookie ในแง่ธุรกิจ แต่เธอก็รู้วิธีที่จะเอาชนะเกมนี้ได้ และเรียนรู้ว่าความผิดพลาดครั้งเดียวอาจทำให้ชีวิตดิ่งลงเหวไปตลอดกาลเช่นกัน

ผมเสียดายอย่างเดียวคือ ตัวหนังมาเนือยไปหน่อยในช่วงท้าย โดยไอเดียการสลับเหตุการณ์จากอดีตกับปัจจุบันถือว่าทำได้ลงตัวดี จนกระทั่ง ๆ ท้าย ๆ ที่ค่อนข้างยืดไปนิด และขาดจุดพีคที่ระทึกตราตรึง คือมันกลายเป็นดรอปลงเรื่อย ๆ จนแอบน่าเบื่อไปซะงั้น เรียกว่ามาตกม้าตายตอนหาทางลงนี่แหละที่เล่าออกมาได้แปร่ง ๆ และราบเรียบไปนิด แต่โดยรวมก็ถือว่าเป็นหนังที่ ฟอร์มดี ได้เห็น เจโล ในเรื่องนี้ก็ต้องบอกว่า ปังมาก ๆ เป็นมาสเตอร์พีชส่วนตัวของเธอเรื่องหนึ่งเลย

Play video

 

พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส