หลัง Joker เข้าฉายบ้านเราตั้งแต่วันพฤหัสบดีที่ 3 ตุลาคมที่ผ่านมา เสียงในโซเชียลมีเดีย ต่างแสดงความเป็นห่วงผู้ชมที่มีอาการเจ็บป่วยทางจิตรุนแรงเนื่องด้วยเนื้อหาที่เล่าผ่านตัวละครที่มีอาการทางจิตไม่ปกติอย่าง อาร์เธอร์ เฟล็กซ์  แต่ในขณะเดียวกันที่ประเทศสหรัฐอเมริกาประเทศผู้สร้างหนังเองกลับพูดถึงประเด็นเรื่องความรุนแรงที่หนังนำเสนอและถึงขั้นบอกว่า จำเป็นด้วยหรือที่ JOKER  ต้องมาฉายโรงในปีนี้! WHAT THE FACT ขอรวบรวมประเด็นอันเป็นที่ถกเถียงและขอชวนผู้อ่านร่วมแสดงทรรศนะกันครับ

เหตุสลดที่ โรงหนังออโรร่า ยังหลอกหลอน!

James Holmes ผู้ก่อเหตุกราดยิงสุดสลด ที่โรงหนัง ออโรร่า

เหตุกราดยิงขณะฉายหนัง The Dark Knight Rises ที่โรงหนัง ออโรร่า รัฐโคโลราโดวันที่ 20 กันยายน 2012 ที่ทิ้งผู้เสียชีวิต 12 คน และบาดเจ็บถึง 70 คน ไว้เป็นบาดแผล โดย เจมส์ โฮล์มส์ ฆาตกรได้ถือ โจ๊กเกอร์ เป็นไอดอลส่วนตัว ซึ่งตามรายงานข่าวระบุว่านอกจากเขาจะก่อเหตุสลดเลียนแบบพฤติกรรมอาชญากรตัวพ่อแล้ว ที่ห้องพักเขาเองยังมีการวางกับดักระเบิดซึ่งถือเป็นพฤติกรรมเลียนแบบโจ๊กเกอร์โดยตรง และหลังผ่านเหตุสลดมา 7  ปี หลังตัวอย่างหนังเผยแพร่ออกมาก็ย่อมนำฝันร้ายมาสู่เหล่าญาติเหยื่อกราดยิงออโรร่าและชาวอเมริกันอย่างช่วยไม่ได้

โดยทางญาติของเหยื่อได้ส่งจดหมายเปิดผนึก  A letter on Tuesday เรียกร้องให้ วอร์นเนอร์ บราเธอรส์ สนับสนุนเงินให้แก่กองทุนควบคุมอาวุธปืนเพื่อช่วยเหลือเหยื่อกราดยิง รวมถึงเลิกสนับสนุนนักการเมืองที่รับเงินจากองค์กรที่สนับสนุนการครอบครองปืนเสรีอย่าง National Rifle Association และแม้ทางวอร์นเนอร์จะตอบรับพร้อมบอกว่าทางสตูดิโอได้บริจาคเงินสนับสนุนกองทุนควบคุมอาวุธปืนมาโดยตลอด แต่ความเป็นห่วงกังวลว่าประวัติศาสตร์ซ้ำรอยก็ยังไม่จางหายไป และล่าสุดเมื่อวันจันทร์ที่  30  กันยายนก่อนหน้าหนังจะฉายทางเอฟบีไอและกองทัพสหรัฐ ก็ได้เตรียมความพร้อมด้วยการส่งกองกำลังรักษาความปลอดภัยยังโรงหนังต่าง ๆ เพื่อป้องกันเหตุซ้ำรอย และในขณะที่โรงหนังส่วนใหญ่ยังตอบรับ JOKER เข้าฉายปกติ แต่โรงหนังออโรร่าเองขอปฏิเสธและประกาศว่าทางโรงจะไม่ฉาย JOKER อย่างแน่นอน

ความรุนแรง..ความรับผิดชอบของคนทำหนังจริงหรือ?

Todd Phillips ผู้กำกับ JOKER

หลังกองทัพสหรัฐออกมาตำหนิเรื่องความรุนแรงในหนัง JOKER  จนผู้กำกับ ทอดด์ ฟิลลิปส์ ออกมาแก้ต่างว่าที John Wick ที่ฆ่าคนโหดๆ เป็นร้อย ๆ ศพทำไมไม่ถูกตำหนิบ้าง จากข้อถกเถียงนี้ หากมองในแง่ ประเภทของภาพยนตร์แล้วคำแก้ต่างของ ทอดด์ ฟิลลิปส์ อาจไม่ได้มีน้ำหนักนัก เพราะในขณะที่ John Wick  อยู่ในประเภทหนังแอ็กชันล้างแค้น และมูลเหตุจงใจอย่างหมาของเมียรักถูกฆ่าก็เป็นเหตุผลที่ชอบธรรมสำหรับเพื่อชำระล้างหนี้แค้นดังกล่าว แต่ในขณะที่ JOKER ถูกนำเสนอในฐานะหนังดราม่า วิเคราะห์ตัวละคร (Character Study) การที่คนดูได้เห็น คนโรคจิตที่มีชีวิตอันน่าสงสารทั้งถูกกระทืบ ไม่ได้รับความเป็นธรรมในสังคม แถมยังลากเรื่องชนชั้นมาพูดถึง กลับกลายเป็นภาพเปรียบเทียบชีวิตของเหล่าผู้ก่อเหตุกราดยิงจนอาจทำให้หนังไปจุดชนวนความรุนแรงครั้งใหม่ได้

แต่ในขณะเดียวกัน หากเราจะให้ความเป็นธรรมกับ JOKER จากประวัติศาสตร์เองแรงบันดาลใจของฆาตกรบางครั้งก็อาจไม่ได้เกี่ยวข้องกับความรุนแรงในสื่อโดยตรง อย่างชาร์ลส์ แมนสัน ที่เราเพิ่งได้ดูหนังที่ได้รับแรงบันดาลใจจากเหตุฆาตกรรมสลดไปใน Once upon a time in Hollywood ก็บอกว่าเขาได้แรงบันดาลใจจากเพลงของเดอะบีเทิลส์ อัลบั้ม White Album หรือกระทั้งหนังสือ The Catcher in the Rye ก็เคยถูกเชื่อมโยงกับคดีฆาตกรรมต่าง ๆ นับไม่ถ้วนมาแล้ว

แม้ทางวอร์นเนอร์เองอาจจะยึดคติ ศิลปะที่ดีต้องพูดความจริงและหยิบเหตุการณ์จริงบนโลกมานำเสนอเพราะมันเป็นสัญลักษณ์ของกาลเวลา แต่ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าสำหรับญาติหรือผู้เคยเป็นเหยื่อเหตุการณ์กราดยิงแล้วย่อมต้องแสดงความเป็นห่วงเป็นธรรมดา

 เลื่อนฉาย THE HUNT  ความรับผิดชอบของสตูดิโอยูนิเวอร์แซลที่ทางวอร์นเนอร์ ถูกทวงถาม

ภาพจาก The Hunt

ด้วยเหตุโศกนาฏกรรมกราดยิงที่ เดย์ตัน และ เอลปาโซ ส่งผลให้ผู้คนต่างพุ่งเป้ามาที่ความรุนแรงและอันตรายของปืนในสื่อจน ยูนิเวอร์แซล ผู้จัดจำหน่าย The Hunt หนังเกมล่าคนของอภิสิทธิ์ชนที่เคยมีกำหนดฉาย 27 กันยายน ตัดสินใจประกาศเลื่อนฉายหนังไปอย่างไม่มีกำหนดตั้งแต่สิงหาคมที่ผ่านมาผิดกับ JOKER ที่ทางวอร์นเนอร์ยังคงวันฉายเดิมไว้ นำมาสู่การตั้งคำถามของสื่อมวลชนบางกลุ่มว่าทำไมวอร์นเนอร์ถึงไม่แสดงความรับผิดชอบต่อสังคมด้วยการเลื่อนฉายหนังไปก่อนเหมือนยูนิเวอร์แซล

เรื่องนี้หากมองอีกแง่ในฐานะคนสร้างงานศิลปะ วอร์นเนอร์เองก็มีสิทธิ์ที่จะปฏิเสธ “การเซ็นเซอร์ตัวเอง” แบบเดียวกับยูนิเวอร์แซล โดยทาง ทอดด์ ฟิลลิปส์ และผู้สร้างต่างยืนยันว่าเนื้อหาในโจ๊กเกอร์มุ่งสะท้อนการเมืองว่าหากมนุษย์ถูกจับไปอยู่ในสังคมที่เป็นพิษ สังคมนั้นๆ ก็จะผลิตคนอย่างโจ๊กเกอร์ออกมา ซึ่งหนังแบบนี้ฮอลลีวูดเองก็เคยผลิตมาในยุค 60-70 โดยเฉพาะ Taxi Driver หนังที่คนดูเชื่อว่า JOKER ได้รับอิทธิพลมาเต็ม ๆ

Play video

แฟนอันตราย ขู่ฆ่านักวิจารณ์ JOKER และการเฝ้าระวังของโรงหนัง

Alissa Wilkinson นักวิจารณ์ที่ถูกขู่ฆ่า.

ด้านการตอบรับ JOKER ของนักวิจารณ์ก็เป็นอีกสิ่งหนึ่งที่น่าสนใจ หลังจากหนังคว้ารางวัลสิงโตทองคำที่เทศกาลภาพยนตร์เวนิซมาได้ คนดูย่อมต่างคาดหวังกับคุณภาพและคำวิจารณ์ของหนัง แต่ผลปรากฎว่าคะแนนจาก rottentomatoes เว็บไซต์ยอดนิยมสำหรับเช็กเรตติงกลับดิ่งลงเรื่อย ๆ จนปัจจุบันอยู่ที่ 69% หลังเปิดตัวแรงที่ 87% โดยคำวิจารณ์ส่วนใหญ่เน้นไปที่การวิพากษ์ความไม่สมเหตุสมผลระหว่างความรุนแรงของโจ๊กเกอร์กับสภาพสังคมและการเมืองอันฟอนเฟะของก็อตแธมที่หนังพยายามยัดเยียด จนไม่สามารถโน้มน้าวชักจูงให้เชื่อได้มากนักและเกิดผลกระทบต่อเนื่องเมื่อแฟนหนังเลือกจะโจมตีกลับนักวิจารณ์ แถมบางคนยังตอกกลับได้รุนแรงเหลือเกินด้วย

อลิซซา วิลคินสัน นักวิจารณ์เว็บไซต์ VOX ที่ได้ข้อความขู่ฆ่าหลังเธอให้คะแนนโจ๊กเกอร์แค่ 2.5 จากคะแนนเต็ม 5 ซึ่งสิ่งที่น่าเป็นห่วงไม่ใช่แค่ความไม่พอใจต่อตัวนักวิจารณ์แต่คำขู่ฆ่ายังไปในทางปกป้องตัวละครนำอย่าง อาร์เธอร์ เฟล็กหรือ โจ๊กเกอร์ ซึ่งมีโพรไฟล์เป็นคนจิตหลอน โดดเดี่ยว และรู้สึกไม่ได้รับการยอมรับจากสังคมจนสร้างความชอบธรรมให้ตัวเองควงปืนไปก่อความรุนแรงต่อสาธารณะชน ซึ่งบังเอิญก็ไปตรงกับข่าวที่ทางสื่อของกองทัพอย่าง สตาร์สแอนด์สไตรป์ส (Stars and Stripes) ที่รายงานว่ามีความเคลื่อนไหวของเนื้อหาอันตรายจนน่าเป็นห่วงบน เว็บใต้ดิน ที่ผุดขึ้นมาก่อนหนังจะฉาย 1 สัปดาห์  ซึ่งทำให้หน่วยงานรัฐของเท็กซัสและเอฟบีไอจับตาเฝ้าระวังโรงหนังก่อนฉายวันที่ 4 ตุลาคม นอกจากนี้พนักงานโรงหนังยังบอกกับ อลิซซา ด้วยว่าโรงหนังหลายเครือสั่งห้ามคนดูไม่ให้ ใส่หน้ากาก แต่งกายเลียนแบบ หรือนำปืนของเล่นเข้ามาในโรงหนัง ซึ่งถือเป็นการเฝ้าระวังไม่ให้เกิดประวัติศาสตร์การกราดยิงที่เข้มงวดมาก

กล่าวโดยสรุปแล้วในทางทฤษฎีภาพยนตร์ก็เป็นที่ยอมรับกันมาช้านานว่าภาพยนตร์มีอิทธิพลต่อคนดูโดยเฉพาะในเชิงจิตวิทยา ที่เราเข้าโรงหนังมืดๆ แล้วถูกบังคับ(หรือเต็มใจก็ตาม) ในการชมภาพที่เกิดจากแสงสว่างเดียวที่ฉายบนจอเปรียบเทียบได้กับทฤษฎีถ้ำของเพลโต (Plato’s Cave) ที่มนุษย์ถูกจับไปอยู่ในถ้ำแล้วถูกบังคับให้ดูภาพเงาที่ตกกระทบบนผนังถ้ำ ซึ่งภาพที่เห็นก็เป็นข้อมูลเดียวที่มนุษย์ได้รับ และเมื่อได้รับก็เกิดความเชื่อเพียงด้านเดียวจากข้อมูลที่อยู่บนผนังถ้ำหรือบนจอ ซึ่งนั่นก็ทำให้เนื้อหาของภาพยนตร์สามารถทำให้คนดูสุข เศร้า สนุก หรือจิตตกได้ และกับ JOKER เราอาจต้องดูต่อไปว่าหนังจะส่งอิทธิพลต่อคนดูในแง่ใดบ้าง และจะเกิดเหตุการณ์น่าเศร้าใจซ้ำรอยหรือไม่.

ข้อมูลอ้างอิงประกอบการเขียน

 

พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส