[รีวิว] A Beautiful Day in the Neighborhood: ความรู้สึกที่คนยุคนี้ทำหล่นหาย และจำเป็นที่สุดในโมงยามนี้
Our score
8.5

A Beautiful Day in the Neighborhood

จุดเด่น

  1. จังหวะการเล่าที่มีเอกลักษณ์น่าสนใจ
  2. มุกตลกที่มาอย่างไม่มากเกินไป ดราม่าที่ไม่ล้นเกินไป เรียกว่าพอดีแก่การชมหนังเพื่อความบันเทิงและขัดเกลาตัวเอง
  3. คาแรกเตอร์คนจริง และเหล่าคำสอนที่น่าจดจำ
  4. การแสดงที่ตราตรึงใจอีกครั้งของทอม แฮงค์ส และน่าจับตามอง แมทธิว รีส
  5. หนังฟีลกู้ดที่เหมาะกับปลายปีอย่างแท้จริง

จุดสังเกต

  1. ครึ่งเรื่องหลังพอโฟกัสที่ลอยด์เต็ม ๆ ก็รู้สึกหนังขาดเสน่ห์เฉพาะตัวลงไปบ้างเหมือนกัน
  • ความสมบูรณ์ของบท

    7.5

  • คุณภาพงานสร้าง

    9.0

  • คุณภาพนักแสดง

    9.5

  • ความสนุก

    8.0

  • คุ้มเวลา ค่าตั๋ว

    8.5

เรื่องย่อ จากเค้าโครงเรื่องจริงอันแสนประทับใจของ ลอยด์ (แมทธิว รีส) นักข่าวผู้มองโลกแง่ร้ายที่ได้รับมอบหมายให้ไปสัมภาษณ์ เฟรด โรเจอร์ส (ทอม แฮงค์ส) พิธีกรชื่อดังที่คนทั้งอเมริการัก ผู้ถูกขนานนามว่านักบุญที่ยังมีชีวิต การพบเจอครั้งนั้นทำให้ลอยด์เปลี่ยนวิธีมองโลกไปตลอดกาล ว่า “ชีวิตไม่ใช่เรื่องยากเย็นอะไรเลย ขอแค่เราแบ่งปันความอารีให้แก่กัน”

Play video

ปีที่แล้วมีสารคดีเรื่องหนึ่งชื่อ Won’t You Be My Neighbor? ออกมาสร้างความฮือฮาทางฝั่งอเมริกา โดยกวาดรางวัลไปไม่น้อยอย่างน้อยกว่า 40 รางวัลจากเวทีต่าง ๆ บ้านเราคงงง ๆ ด้วยความที่เป็นผลงานของ มอร์แกน เนวิลล์ เจ้าของรางวัลออสการ์สารคดียอดเยี่ยมจากเรื่อง Twenty Feet from Stardom (2013)  ก็ปัจจัยหนึ่ง แต่ปัจจัยสำคัญแท้จริงเพราะสารคดีเรื่องนั้นนำเสนอชีวิตจริงของชายที่แสนดีที่สุดในประวัติศาสตร์ยุคใหม่ของอเมริกาอย่าง เฟรด โรเจอร์ส นักจัดรายการโทรทัศน์เพื่อเด็กที่ครองใจชาวอเมริกายาวนานกว่า 40 ปี ตั้งแต่ปี 1961-2001 ผ่านทางรายการ MisterRogers และ MisterRogers’ Neighborhood มากกว่า 1,000 ตอนนั่นเอง พูดให้นึกภาพง่ายขึ้นคือมีคนอเมริกาอย่างน้อย 2-3 รุ่นที่โตขึ้นจากเด็กเป็นผู้ใหญ่โดยมีโรเจอร์สเป็นไอคอนในการมองชีวิตผ่านเขาและเพื่อน ๆ ที่มีทั้งคนและหุ่นมือ ถ้าบ้านเราเอาใกล้เคียงก็คงเป็น รายการบ้านเด็กดี ของ อาจารย์พรจันทร์ จันทวิมล ทางช่อง 11 ที่มีพี่กระรอกและหุ่นมืออีกมากมายเป็นตัวชูโรงคู่กับอาจารย์พรจันทร์ด้วย

Play video

สำหรับ เฟรด โรเจอร์ส เขาเองอาจเป็นมากกว่านั้น เพราะเขาใช้วิธีสอนเด็ก ๆ อย่างเป็นเอกลักษณ์ โดยพูดถึงสิ่งต่าง ๆ ทั้งเล็กน้อย และเรื่องใหญ่เช่น การที่พ่อแม่หย่าร้าง สงคราม ความตาย ด้วยภาษาวิธีคิดที่มองทะลุสิ่งที่เด็กเป็น เขาบอกเสมอว่า เป็นตัวเธอเองน่ะดีแล้ว เขาจึงมักให้เวลาและความสำคัญกับเด็กที่อยู่ตรงหน้าอย่างใจเย็น และป้อนแต่สิ่งดี ๆ มากมาย อย่างไม่ยัดเยียดแบบที่ผู้ใหญ่ทั้งหลายพยายามเอาความคาดหวังตัวเองใส่ลงไปในลูก ๆ ของพวกเขา ครั้งหนึ่งเกิดการผิดคิวระหว่างการถ่ายทำ ทำให้ผลการทดลองไม่เป็นไปตามคิวที่กำหนด แทนที่โรเจอร์สจะสั่งคัตและถ่ายใหม่ เขาบอกว่าไม่เป็นไรเราจะรอ เด็ก ๆ ควรได้รู้จักการอดทนรอด้วย ดูเป็นคติคิดง่าย ๆ แต่ยากมากที่จะมีใครคิดสอนเรื่องแบบนี้กับเด็ก ๆ ผ่านรายการทีวีที่เวลาเป็นเงินเป็นทอง นั่นจึงทำให้เขาเป็นตัวตนที่อยู่เคียงข้างความเป็นเด็กที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในอเมริกาถึงขนาดมีคนเรียกเขาว่า นักบุญที่มีชีวิต ทีเดียว

A Beautiful Day in the Neighborhood

เฟรด โรเจอร์ส กับเจ้าเสือขี้อายเพื่อนรักของเขา

และปีนี้เราก็ได้ดู A Beautiful Day in the Neighborhood หนังที่เอาเค้าโครงเรื่องจากบทสัมภาษณ์ เฟรด โรเจอร์ส ในนิตยสาร Esquire ของนักเขียนมือรางวัลอย่าง ทอม จูโนด์ มาดัดแปลง โดยสมมติเหตุการณ์พบเจอกันครั้งนั้นระหว่างโรเจอร์สกับจูโนด์ให้เป็นนิยายเรื่องใหม่ โดยสร้างตัวละครสมมติชื่อ ลอยด์ โวเกล มาแทนจูโนด์ ซึ่งตัวลอยด์ในเรื่องแต่งนั้นเป็นนักเขียนเจ้าของรางวัลด้านการเขียนข่าวเจาะลึกมุมมืดของบุคคลฝีมือเยี่ยม ข้อเสียของเขาคือเขามีความโกรธคุกรุ่นในใจอยู่เสมอ ประสบการณ์วัยเด็กที่ดูแม่ตายไปต่อหน้า โดยพ่อก็มัวแต่ไปหากิ๊กสาวและทิ้งเมียทิ้งลูกหายไป ลอยด์จึงไม่เคยให้อภัยพ่อของเขาเลยนับแต่นั้นมา ความโชคร้ายของเขาทำให้เขาเป็นคนที่ไม่ไว้ใจใคร ไม่เชื่อว่าคนดีคนใดมีจริง แต่ก็เหมือนกลั่นแกล้ง เจ้านายของเขาให้เขาไปเขียนเกี่ยวกับชายที่แสนดีที่สุดแห่งยุคอย่างโรเจอร์ส ด้วยเหตุผลเดียวว่าไม่มีคนดังคนไหนอยากให้จูโนด์สัมภาษณ์อีกแล้วหลังจากเขาเจาะลึกตัวตนเอาไปเขียนเสียหาย เนื้อเรื่องของ A Beautiful Day in the Neighborhood จึงทั้งเป็นคำถามที่ลอยด์พยายามค้นว่านักบุญที่มีชีวิตอย่างโรเจอร์สมีอยู่จริงหรือ หรือเขาก็แค่คนเสแสร้งต่อหน้ากล้องอีกคนที่แนบเนียน กับอีกด้านหนึ่งลอยด์เองก็ถูกตัวตนของโรเจอร์สเข้ามาเปลี่ยนมุมมองด้านลบในชีวิตของเขาทีละน้อย ๆ

A Beautiful Day in the Neighborhood

เพราะโรเจอร์สเชื่อเสมอว่า เราทุกคนกำลังเติบโต เด็กโตเป็นผู้ใหญ่ ผู้ใหญ่เองก็โตจากการแก้ไขสิ่งผิดเพื่อเป็นผู้ใหญ่ที่ดีกว่า การเติบโตจึงไม่ใช่แค่โอกาสของเด็ก แต่คือสิ่งที่ทุกคนยังเปลี่ยนแปลงตัวเองได้เช่นกัน

ด้วยเหตุนี้หนังจึงมีสายตาของ ลอยด์ เป็นตัวละครนำในเรื่อง และ เฟรด โรเจอร์ส เป็นเพียงตัวละครสมทบที่เข้ามาสะกิดลอยด์ให้รู้สึกตัวที่จะเติบโตขึ้นมากเสียกว่า ไม่ต่างจากอาจารย์ชีวิตทั้งหลายในหนังเช่น อาจารย์โยดา หรือแม้แต่ครูจอห์น คีตติง จากหนัง Dead Poets Society ก็ตาม ว่ากันตามจริงเราจึงพอรู้ทิศทางของหนังแนวนี้ได้อยู่แล้วว่าจะจบอย่างอิ่มอุ่น และแสดงความเข้าใจในตัวเองของตัวละครในท้ายที่สุด หากแต่สิ่งที่ผู้กำกับหญิงอย่าง มาเรียลล์ เฮลเลอร์ จากหนัง Can You Ever Forgive Me? ได้เข้ามาเติมเต็มคือ การสร้างสภาวะทางการเรียนรู้ ที่มีบรรยากาศเฉพาะตัว ความแช่มช้าในการเล่าอย่างที่โลกยุคนี้ไม่หลงเหลือ

A Beautiful Day in the Neighborhood A Beautiful Day in the Neighborhood

ทุกวันนี้ทุกคนล้วนอยากเป็นคนสำคัญ และเราจะสำคัญขึ้นได้อย่างไรในเมื่อเราไม่ใช่คนพิเศษอย่างดารา ไฮโซ อัจฉริยะ คนมีชื่อเสียง เราเรียนรู้ที่จะโหวกเหวกโวยวายเหมือนเด็กเรียกร้องความสำคัญ ทุกอย่างต้องดัง ต้องวูบวาบว่องไว ดึงดูดความสนใจคนอื่นได้มาก โพสต์สวย ๆ คำแปลก ๆ ภาพถ่ายประดิษฐ์ ล้วนเปี่ยมด้วยอารมณ์เกินจริง เหมือนทุกคนเป็นดาราละครเวทีที่ต้องทำตัวเด่นให้ผู้ชมทั้งโลกโซเชียลสนใจ คอยเรียกยอดไลก์ และถูกไถฟีดจากไปอย่างรวดเร็วไม่แพ้กัน ความสุขของคนเราจึงวูบไหวรุนแรงและชั่ววูบ เพราะทุกคนต้องแข่งกันเป็นคนพิเศษ มิสเตอร์โรเจอร์สคือคนที่ขาดหายไปในยุคนี้ คนที่ทำให้เรารู้ว่าเราพิเศษเพียงพอแล้วด้วยการที่เขาตั้งใจฟังเรา ตั้งใจรู้จักเรา ชื่นชมแง่งามแม้เพียงเล็กน้อยของเรา และทำให้เรารู้ว่าเราเองก็ทำให้คนอื่นเป็นคนพิเศษอย่างที่เขาเป็นได้โดยไม่ต้องแข่งขันกลับใคร โดยทำต่อผู้อื่นอย่างที่โรเจอร์สเป็น ผมออกจะชอบคำพูดหนึ่งในหนังที่โจแอนภรรยาของโรเจอร์สได้คุยกับลอยด์ว่า เฟรดไม่ชอบให้ใครเรียกเขาว่านักบุญที่มีชีวิต เพราะมันจะทำให้คนอื่นมองเขาเป็นตัวตนพิเศษ และจะทำให้ไม่เชื่อว่าตัวพวกเขาเองก็ทำก็เป็นอย่างเฟรดได้ 

A Beautiful Day in the Neighborhood

หนังเรื่องนี้จึงเหมือนเครื่องผลิตมวลความสุขจากจังหวะการเล่าเรื่องที่งดงาม คาแรกเตอร์จากคนจริงที่มีพลังบวกท่วมท้น มุมความคิดทั้งคำพูดและภาษาหนังที่เรียบง่ายแต่คมคาย เป็นหนังฟีลกู้ดที่เติมเต็มความบกพร่องในจิตใจมนุษย์ยุคเรา สมคำโปรยที่ว่า หนังที่คนยุคนี้ขาดหายและจำเป็นในโมงยามนี้ และแม้มันจะไม่ได้สมบูรณ์แบบอย่างหนังออสการ์หรือหนังยอดเยี่ยมทั้งหลายควรมี แต่มันก็พิเศษในความลงแบบพอดี สร้างความสุขแบบพอดี เหมือนจังหวะของหนังสร้างเรโซแนนซ์กับจิตใจของเราที่เหน็ดเหนื่อยจากโลกที่มันหมุนไวจนเรารู้สึกถึงความสุขไม่ทัน ได้อย่างดีมาก ๆ

A Beautiful Day in the Neighborhood

หนังได้นักแสดงเจ้าของ 2 รางวัลออสการ์อย่าง ทอม แฮงค์ส มารับบท เฟรด โรเจอร์ส  ประกบกับเจ้าของรางวัลไพรม์ไทม์เอมมี่จากซีรีส์ The Americans อย่าง แมทธิว รีส ในบท ลอยด์ นักข่าวผู้ไม่มีความสุขในชีวิต ซึ่งทั้งคู่ก็สร้างบทบาทที่น่าประทับใจ ทอม แฮงค์ส นั้นการันตีฝีมืออยู่แล้ว แต่ก็ต้องพูดถึงว่าเขาถ่ายทอดความเป็นโรเจอร์สที่มีชีวิตอยู่จริงในอีกแง่มุมที่ไม่ได้พบเห็นหน้าจอทีวีได้อย่างน่าสนใจทีเดียว โดยเฉพาะเมื่อเรื่องจับช่วงเวลาปลายชีวิตของโรเจอร์สมาถ่ายทอดด้วยแล้ว และเพราะหนังเลือกที่จะไม่พูดถึงความเจ็บป่วยของโรเจอร์ส แฮงค์สจึงต้องถ่ายทอดการต่อสู้ลับ ๆ ผ่านการแสดงเล็ก ๆ น้อย ๆ ที่สื่อสารว่านอกจากจัดการปัญหาใจให้ใครต่อใคร โรเจอร์สเองก็ต้องต่อสู้กับความรู้สึกตัวเองโดยเฉพาะมะเร็งในช่องท้องที่ทรมานชีวิตเขาในบั้นปลายนั้นเองด้วย เป็นบทที่เหมือนง่ายแต่ก็ไม่ง่ายเสียทีเดียว ขณะที่ดาวเด่นของหนังคงต้องยกให้ แมทธิว รีส ที่สร้างการจดจำได้อย่างคุ้มรางวัลการันตีส่วนตัวของเขาจริง ๆ ทั้งความบิดเบี้ยวอ่อนบางในฐานะมนุษย์ และการแข็งกร้าวโกรธก้องในใจ เป็นอีกนักแสดงที่น่าสนใจมาก ๆ ทีเดียว เพราะไม่ใช่แค่แสดงดี แต่ยังมีเสน่ห์ในการสื่อด้วยสีหน้าภาษากายที่น่าสนใจทีเดียว

A Beautiful Day in the NeighborhoodA Beautiful Day in the Neighborhood

สรุป หนังอาจไม่ได้มีลุ้นอะไรนัก แม้จะเข้าชิงในสาขาสำคัญบนเวทีออสการ์อยู่บ้างก็ตาม ที่เด่นสุดก็คงเป็นสาขานักแสดงสมทบชายของแฮงค์สเอง แต่นี่คือหนังที่เหมาะกับคริสต์มาส และวันปีใหม่ ที่ควรได้ดูสำรวจตัวเราอีกครั้ง และรับมวลความสุขจากอดีตมาเยียวยายุคสมัยของเราอย่างแท้จริง  .

หนังเข้าฉายเฉพาะที่ โรงหนังเฮ้าส์สามย่าน ตั้งแต่วันที่ 19 ธันวาคมนี้เป็นต้นไป เป็นอีกโอกาสดีที่จะได้ลองไปเยี่ยมเยียนโรงหนังที่เรารักแห่งนี้ครับ

 

พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส