เป็นเรื่องที่น่าสนใจ ที่ในระยะหลังราชการไทยสนใจทำเพลงมาร์ชออกมากัน อย่างในปีก่อนก็มีซิงเกิลที่ 10 ของนายกตู่ “มาร์ชไทยคือไทย” ที่มีทำนองปลุกใจคล้ายเพลงมาร์ชทหาร โดยมีเนื้อหามุ่งเน้นความรักชาติและความสามัคคีของคนไทยในชาติ พร้อมเน้นย้ำให้คนไทยช่วยปกป้องรักษาประเทศชาติ

Play video

 

จนมาล่าสุดนี้ทาง สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง หรือ กกต. ก็ได้ปล่อยเพลงประจำองค์กรออกมาโดยใช้ชื่อว่า “เพลงมาร์ช กกต.”  บทเพลงมาร์ชความยาว 2.55 นาที อันมีท่วงทำนองปลุกใจและเนื้อหาที่แสดงให้เห็นถึงความพยายามทำงานด้วยความ “โปร่งใส” รับผิดชอบการเลือกตั้งเพื่อให้มีความบริสุทธิ์ยุติธรรม ทำเมืองไทยให้ “สะอาด”  ทำเลือกตั้งให้ “สุจริต”ทั้งบ้านเมือง ประเทศ “รุ่งเรือง” เพราะการเมืองดี โดยบทเพลงนี้แต่งเนื้อร้องและทำนองโดย เกรียงไกร ไชยรังสินนท์ ขับร้องหมู่โดย วงดนตรีกรมประชาสัมพันธ์ และ เรียบเรียงโดย ผดุง จิระกาล และ วิชัย ต่อเนื่อง

Play video

 

ด้วยเหตุนี้เราจึงสงสัย สนใจ และใฝ่ที่จะรู้ว่าเพลงมาร์ชนั้นมีพลังอะไร ทำไมทั้งท่านนายก ฯ และ กกต. จึงได้อยากใช้เพลงสไตล์นี้เพื่อ “สื่อสาร” กับประชาชน เพื่อว่าเราจะได้เข้าใจจุดประสงค์ในการใช้เพลงมาร์ชได้ดีมากยิ่งขึ้น


ที่มาของเพลงมาร์ช


เพลงมาร์ช (March Music) เป็นประเภทหนึ่งของบทเพลงที่เรียกว่า Martial Music หรือ Military Music อันเป็นเพลงที่แต่งขึ้นเพื่อใช้ในการทหาร และมักจะบรรเลงโดยทหารอาชีพที่เรียกว่า “นักดนตรีภาคสนาม (field musicians)”

แรกเริ่มเดิมทีดนตรีแนวนี้นั้นหยิบยืมมาจากอาณาจักรออตโตมัน (Ottoman Empire) ในศตวรรษที่ 16 ว่ากันว่าชาวออโตมันเป็นชนกลุ่มแรกในโลกที่เริ่มมีวงทหารมาตั้งแต่ศตวรรษที่ 13 ซึ่งเรียกว่า วง “mehter” หรือ “Janissary” ตัวเพลงมีลักษณะเสียงแหลมมักจะรวมเอากลองทุ้ม, แตร (boru), ระฆัง (Bells), สามเหลี่ยม หรือ กิ่ง และฉาบ (zil) รวมไปถึงเครื่องมือดั้งเดิมอื่น ๆ อีกมากมาย

ดนตรีจากวง mehterân” (วงทหารแบบออตโตมัน) ได้ส่งอิทธิพลต่อดนตรีคลาสสิกในยุโรป มีนักประพันธ์เพลงคลาสสิกหลายท่านในอดีตที่แต่งบทเพลงที่ได้อิทธิพลจากเพลงทหารของออตโตมัน อาทิ โยเซฟ ไฮเดิน , โวล์ฟกัง อะมาเดอุส โมซาร์ท , ลุดวิก ฟาน เบโธเฟน และท่านอื่น ๆ อีกมากมาย

ในดนตรีคลาสสิกเราสามารถพบอิทธิพลของเพลงมาร์ชได้ใน ดนตรีในฉากแต่งงานจากอุปรากรเรื่อง  Lohengrin (1850) ของ ริชาร์ด วากเนอร์   “Eroica Symphony” ซิมโฟนีหมายเลข 3 ของเบโธเฟน “Marche Militaire” ของ ฟรานซ์ ชูเบิร์ต  “Marche funèbre” ใน “Sonata in B flat minor” ของ โชแปง และ “Funeral March” ใน “Saul” โอราทอริโอเรื่องยิ่งใหญ่ของ จอร์จ ฟริดริก แฮนเดิล

Play video

 

จนมาในยุคศตวรรษที่ 20 ก็มีนักดนตรีคนสำคัญคือ จอห์น ฟิลิป ซูซา นักประพันธ์ดนตรีทหารคนสำคัญของอเมริกาที่ได้รับฉายาว่า “ราชาแห่งเพลงมาร์ช” เจ้าของบทเพลงมาร์ชประจำชาติอเมริกาอย่าง The Stars and Stripes Forever”

Play video


ลักษณะเด่นของเพลงมาร์ช


เพลงมาร์ชสามารถเขียนได้ในทุกสัดส่วนจังหวะ (time signature) แต่ที่นิยมกันมากที่สุดคือ สัดส่วนแบบ 4/4 และ 2/2 หรือ 6/8 แต่ถึงอย่างนั้นเพลงมาร์ชยุคใหม่มักจะเขียนในสัดส่วนแบบ 1/2 หรือ 2/4 โดยมี เทมโป (tempo) หรือความเร็วในการเล่นเครื่องดนตรี อยู่ที่ราว ๆ 120 บีทต่อนาที (bpm) เพื่อให้เข้ากับจังหวะการเดินของทหาร แต่ถ้าเป็นพวก funeral march หรือมาร์ชที่ใช้บรรเลงในการเดินนำขบวนแห่ศพจะมีเทมโปที่ช้าลงเป็นราว ๆ 60 bpm โดยจุดเด่นของเพลงมาร์ชนั้นจะสังเกตได้ง่าย ๆ จากการเน้นที่จังหวะแรกของห้องเพลงเพื่อให้ง่ายต่อการกำกับจังหวะการเดินแถวของทหารนั่นเอง

การเน้นจังหวะแบบเพลงมาร์ช

 


เพลงมาร์ชไทย


เพลงมาร์ชในไทยมักจะแต่งขึ้นและใช้ตามวัตถุประสงค์ดั้งเดิมนั่นก็คือ ใช้สำหรับกิจการของทหารในเหล่าทัพต่าง ๆ  โดยบทเพลงจะมีเนื้อหาปลุกใจและสะท้อนเกียรติของทหารในเหล่าทัพนั้น ตัวอย่างเช่น บทเพลงมาร์ชที่รู้จักดีที่สุดในไทยคือ “มาร์ชราชวัลลภ” (Royal Guards March) เป็นเพลงพระราชนิพนธ์ลำดับที่ 7 ของพระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงพระราชนิพนธ์ขึ้นใน พ.ศ. 2491 ชื่อ “ราชวัลลภ” และพระราชทานให้เป็นเพลงประจำกรมทหารราบที่ 1 มหาดเล็กรักษาพระองค์ เพื่อไว้ใช้ในพิธีสวนสนาม พันตรี ศรีโพธิ์ ทศนุต แต่งคำร้องภาษาไทยถวาย และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระเจนดุริยางค์ (ปิติ วาทยกร) ช่วยตรวจทาน และได้พระราชทานนามเพลงพระราชนิพนธ์นี้ว่า “มาร์ชราชวัลลภ” (The Royal Guards March) เมื่อ พ.ศ. 2495 เนื้อหาของเพลงเป็นการย้ำเตือนถึงหน้าที่อันทรงเกียรติของทหารราชวัลลภรักษาพระองค์นั่นคือ พิทักษ์รักษาองค์ราชา องค์ราชินีและพระบรมวงศานุวงศ์

เราจะคุ้นเคยบทเพลงนี้ดีเพราะจะได้ยินทุกครั้งที่ข่าวในพระราชสำนักมา

Play video

 

นอกจากมาร์ชราชวัลลภแล้วก็ยังมี “มาร์ชธงไชยเฉลิมพล” (The Colours March) บทเพลงพระราชนิพนธ์ลำดับที่ 17 ทรงพระราชนิพนธ์ใน พ.ศ. 2495 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ พระราชทานแก่กองทัพไทย เพื่อใช้ในการเชิญธงไชยเฉลิมพลในพิธีการของกองทัพ

ส่วนกองทัพบกก็มี “มาร์ชกองทัพบก” เพลงมาร์ชประจำกองทัพบกไทย ประพันธ์ขึ้นในช่วงก่อน พ.ศ. 2500 ทำนอง เรียบเรียงเสียงประสาน โดย นารถ ถาวรบุตร คำร้อง โดย แก้ว อัจฉริยะกุล อันมีเนื้อร้องวรรคแรกว่า “เกิดเป็นชายเชื้อชาติชาญ ทหารบกไทย เก่งกาจใจฉกรรจ์” 

 ยังมีเพลงมาร์ชที่ทำนองประพันธ์ขึ้นโดย นารถ ถาวรบุตร และเนื้อร้องโดย แก้ว อัจฉริยกุล ในช่วงเวลาใกล้เคียงกับ “มาร์ชกองทัพบก” ก็คือเพลง “มาร์ชพิทักษ์สันติราษฎร์” หรือ มาร์ชตำรวจ ซึ่งมักเรียกกันว่า เพลงเกียรติตำรวจของไทย ตามเนื้อร้องวรรคแรกที่ร้องว่า “เกียรติตำรวจของไทย เกียรติวินัยกล้าหาญมั่นคง” เป็นเพลงปลุกใจและเพลงมาร์ชประจำตำรวจไทย ซึ่งเป็นที่รู้จักเป็นอันมาก

นอกจากสถาบันทหารและตำรวจแล้ว อีกสถาบันหนึ่งที่ใช้เพลงมาร์ชกันอย่างแพร่หลายก็คือ “สถาบันการศึกษา” ด้วยว่าโรงเรียนเกือบทุกโรงเรียนและมหาวิทยาลัยทั่วไทย มักจะใช้เพลงมาร์ชเป็นเพลงประจำสถาบันอันจะส่งเสริมให้เกิดความรักและซาบซึ้งในสถาบันการศึกษานั้น ๆ ที่เราสังกัดอยู่


ทำไม กกต. ถึงใช้เพลงมาร์ช


 ประเด็นนี้เป็นเรื่องที่น่าสนใจว่าทำไม “กกต.” ซึ่งไม่ใช่องค์กรทางทหารหรือตำรวจจึงใช้เพลงมาร์ช อย่างซิงเกิล “มาร์ชไทยคือไทย” นั้นยังพอเข้าใจได้ เพราะนายกตู่หรือ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นั้นก็เป็นทหารและเติบโตมาในวัฒนธรรมแบบทหาร การที่จะได้รับอิทธิพลของเพลงมาร์ชและอยากจะแต่งเพลงมาร์ชนั้นไม่ใช่เรื่องที่ยากต่อการทำความเข้าใจ อีกทั้งเนื้อหาของเพลง “มาร์ชไทยคือไทย” นั้นก็ยังสะท้อนปรัชญาของเพลงมาร์ชนั่นคือการปลุกใจและตอกย้ำให้เห็นถึงความสำคัญของสถาบันใดสถาบันหนึ่ง ซึ่งในที่นี้คือสถาบันชาติโดยมุ่งเน้นความรักชาติและความสามัคคีของคนไทยในชาติ พร้อมเน้นย้ำให้คนไทยช่วยปกป้องรักษาประเทศชาติ

แต่สำหรับ “เพลงมาร์ช กกต.” ที่มีเนื้อร้องวรรคแรกว่า “สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง รวมพลัง ทำงานด้วยความโปร่งใส” นั้นคาดว่า ทาง กกต.คงอยากใช้จิตวิญญาณแบบเพลงมาร์ชที่มีท่วงทำนองฮึกเหิมแบบทหาร มาปลุกเร้าอารมณ์เราให้ตื่นตัวและเพลิดเพลินไปกับการฟังสารที่สื่อผ่านเนื้อร้องอันเป็นใจความสำคัญที่ทาง กกต. อยากจะประชาสัมพันธ์ นอกจากนี้ยังอาจใช้เพื่อเน้นย้ำถึงความรู้สึกของการเป็น “สถาบัน” หรือ “องค์กร” ที่มีอุดมการณ์และแนวทางอันชัดเจน

มีข้อน่าสนใจที่เพลงมาร์ชมักจะถูกใช้เป็นสื่อเชื่อมโยงคนใน “สถาบัน” เข้าด้วยกันและรู้สึกเป็นหนึ่งเดียวกัน เฉกเช่นที่สถาบันทหารและสถาบันการศึกษาใช้เพื่อให้เกิดความสามัคคี รักในสถาบัน และเข้าใจในอุดมการณ์ของสถาบันนั้น ๆ ซึ่งคนในสถาบันจะมีส่วนเข้าถึงสิ่งเหล่านี้ผ่านการร้องเพลงมาร์ชของสถาบันดังที่เราทั้งหลายต่างเคยประสบพบเจอมาในชีวิต

แต่ในกรณี “เพลงมาร์ชกกต.” นั้นกลุ่มเป้าหมายคือประชาชนคนไทยทั้งประเทศ ซึ่งแตกต่างจากเป้าหมายของเพลงมาร์ชอื่น ๆ ที่มักเป็นคนในสถาบันนั้นและเชื่อมโยงกันผ่านการร้องเพลงดังที่ได้กล่าวมา ด้วยเหตุนี้จึงเป็นการยากที่จะทำให้คนไทยรู้สึก “อิน” กับ “เพลงมาร์ชกกต.” เพราะนอกจากเราจะไม่ใช่คนในองค์กรแล้ว ยังไม่มีสิ่งที่ทำให้เรารู้สึกเชื่อมโยง (หรือเชื่อมั่น) กับองค์กรได้เลย เพียงลำพังเนื้อเพลงที่พูดถึงอุดมการณ์หรือแนวทางเพียงอย่างเดียวนั้นคงยากที่จะทำให้ใคร “อิน” ได้

แต่มองในแง่หนึ่ง ”เพลงมาร์ชกกต.” ก็มีความน่าสนใจเพราะได้เดินตามแบบเพลงมาร์ชสไตล์วินเทจ ใช้วิธีการมิกซ์เสียงแบบดั้งเดิมที่ให้อารมณ์ราวกับเรากำลังฟังผ่านแผ่นเสียง หรือ ผ่านสถานีวิทยุ ฟังแล้วให้บรรยากาศ “ย้อนยุค” ได้ดีจริง ๆ นอกจากนี้ยังมีจังหวะที่เร้าใจ อาจใช้ปลุกใจเวลาเดินไปเลือกตั้งได้เป็นอย่างดี นอกจากนี้ยังมีเนื้อหาสะท้อนให้เห็นถึงการทุ่มเททำงานอย่าง “โปร่งใส” รับผิดชอบการเลือกตั้งเพื่อให้มี “ความบริสุทธิ์ยุติธรรม” ทำเมืองไทยให้ “สะอาด”  ทำเลือกตั้งให้ “สุจริต”ทั้งบ้านเมือง ประเทศ “รุ่งเรือง” เพราะการเมืองดี แต่ละ keywords นั้นเป็นสิ่งที่คนไทยทั้งผองต้องการทั้งนั้นเลย ซึ่งหลังจากปล่อยเพลงนี้ออกมาได้ไม่นานก็มีผู้ฟังชาวไทยเข้ามาแสดงความคิดเห็นมากมายซึ่งรวมไปถึงกลุ่มแรปเปอร์ต้านเผด็จการอย่าง “Rap Against Dictatorship” และตอนนี้ยอดวิวก็ทะลุ 6,000 วิวไปแล้ว ใครยังไม่ได้ฟังสามารถเข้าไปรับฟังและรับชม MV ที่สมาชิก กกต. ชุดใหญ่มาร่วมแสดงด้วยได้เลยครับ

Play video

 

พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส