การประกาศผลรางวัลอะคาเดมี อวร์ด หรือ ออสการ์ประจำปี 2020 กำลังใกล้เข้ามาทุกทีแล้ว ในปีนี้มีผู้เข้าชิงในสาขาดนตรีประกอบภาพยนตร์ยอดเยี่ยมอยู่ 5 คนจากภาพยนตร์ 5 เรื่อง คือ Hildur Guðnadóttir (Joker) , Alexandre Desplat (Little Women) , John Williams (Star Wars: The Rise of Skywalker) , Randy Newman (Marriage Story) และ Thomas Newman (1917)  ซึ่งในกลุ่มนักประพันธ์ที่ถูกเสนอชื่อเข้าชิงในปีนี้มี 2 คนที่มาจากตระกูลเดียวกันนั่นคือ Thomas และ Randy Newman สองนักประพันธ์เพลงจากตระกูล “Newman” ที่สร้างเกียรติประวัติในด้านการทำเพลงมาตั้งแต่รุ่นสามพี่น้อง “Newman” Alfred (พ่อของ Thomas) , Lionel และ Emil ซึ่งอาจกล่าวได้ว่าตระกูลนี้เป็นตระกูลที่ถูกเสนอชื่อเข้าชิงรางวัลออสการ์มากที่สุดในประวัติศาสตร์ เพียง Thomas Newman คนเดียวก็ถูกเสนอชื่อเข้าชิงไปกว่า 15 ครั้งแล้ว

โมทัส (ซ้าย) และ แรนดี (ขวา) สองนักประพันธ์เพลงจากตระกูลนิวแมน

โทมัส นิวแมนเริ่มเข้าสู่เส้นทางการเขียนเพลงประกอบจากทีวีซีรีส์เรื่อง “The Paper Chase” ในช่วงปลายทศวรรษที่ 70s เริ่มฝึกฝนตนเองไปเรื่อยจนค้นพบ “สุ้มเสียง” ของตนเอง ในตอนนั้นเขาจึงได้รับโอกาสให้ทำเพลงประกอบภาพยนตร์ของ Robert Altman เรื่อง “The Player” ในปี 1992

จากนั้นโทมัสจึงทำเพลงประกอบภาพยนตร์มาโดยตลอด และเริ่มมาร่วมงานกับ Sam Mendes (ผู้กำกับภาพยนตร์เรื่อง 1917) จากภาพยนตร์เรื่อง “American Beauty” ซึ่งเป็นการกำกับภาพยนตร์เรื่องแรกของเมนเดสด้วย เป็นเรื่องที่น่าทึ่งและแสดงออกถึงอัจฉริยภาพในตัวของเมนเดส ที่ผลงานการกำกับเรื่องแรกของเขาได้นำพาให้ภาพยนตร์เรื่องนี้ได้รับรางวัลออสการ์ไปถึง 5 สาขาด้วยกันคือ ภาพยนตร์ยอดเยี่ยม , ผู้กำกับยอดเยี่ยม,นักแสดงยอดเยี่ยม (เควิน สเปซีย์) , กำกับภาพยอดเยี่ยม และ บทภาพยนตร์ยอดเยี่ยม ส่วนงานเพลงประกอบนั้นได้รับรางวัลแกรมมี่ในสาขาดนตรีประกอบภาพยนตร์ยอดเยี่ยมในปี 2000

แซม เมนเดส ผู้กำกับภาพยนตร์เรื่อง 1917

จากวันนั้นจนถึงวันนี้โทมัสกับเมนเดสรู้จักกันมากว่า 20 ปี แล้วทั้งคู่ร่วมงานกันทั้งหมด 4 ครั้งจากภาพยนตร์เรื่อง American Beauty , Road to Perdition , Skyfall และ “1917” เป็นภาพยนตร์เรื่องล่าสุด ซึ่งการเข้าชิงรางวัลออสการ์ครั้งนี้นับเป็นครั้งที่ 15 ของโทมัสแล้ว ส่วนเขาจะคว้าชัยในปีนี้ได้หรือไม่ หรือมันอาจจะตกไปอยู่กับแรนดี ลูกพี่ลูกน้องของเขา หรือนักประพันธ์เพลงฝีมือเยี่ยมคนอื่นก็ต้องมาลุ้นกันล่ะ

 

“1917” เสียงจากสมรภูมิรบ

 

แซม เมนเดส ได้นำเรื่องจริงจากคำบอกเล่าของปู่ตนเองที่ชื่อ อัลเฟร็ด เอช. เมนเดส ในวันที่ 6 เมษายน ปี 1917 ครั้งที่เป็นทหารราบในสงครามโลกครั้งที่ 1 บริเวณแนวรบในประเทศฝรั่งเศสระหว่างกองร้อยของอังกฤษกับเยอรมันที่ห้ำหั่นกันอย่างดุเดือด มาถ่ายทอดผ่านเรื่องราวของสองทหารอังกฤษ สคอฟิลด์ (จอร์จ แมคเคย์ จาก Captain Fantastic) และ เบลก (ดีน-ชาร์ลส์ แชปแมน จาก Game of Thrones) ที่ได้รับมอบหมายให้ไปร่วมปฏิบัติการที่ดูเหมือนว่าอาจไม่มีทางสำเร็จ นั่นคือพวกเขาต้องข้ามเขตแดนของข้าศึก เพื่อส่งสาระสำคัญก่อนทหาร 1,600 คนจะต้องสังเวยชีวิตให้กับกับดักของเยอรมัน​ ซึ่งหากพวกเขาทำสำเร็จนั่นหมายความว่าพวกเขาจะรักษาชีวิตคนไปได้กว่า 1,600 คน ซึ่งรวมคนสำคัญในครอบครัวของพวกเขาด้วย

(ใครยังไม่ได้ชมภาพยนตร์เรื่องนี้สามารถอ่านรีวิวก่อนได้ที่ [รีวิว] 1917: งานสร้างระดับพระกาฬ ที่สะกดผู้ชมแบบม้วนเดียวจบ )

ตัวหนังเลือกที่จะเล่าด้วย “ท่ายาก” นั่นคือการเป็นภาพยนตร์ที่เล่าเรื่องด้วย “เทคเดียว” ขึ้นชื่อว่าหนังสงครามมันก็ตื่นเต้นกดดันมากแล้ว นี่ยังสงครามเทคเดียวอีกทันยิ่งตื่นเต้น เข้มข้น อารมณ์ล้นเข้าไปใหญ่ นั่นทำให้โทมัสต้องคิดหนัก เมื่อเขาได้พูดคุยปรึกษาหารือกับเมนเดส เขาได้พบหัวใจสำคัญของหนังว่าท้ายที่สุดแล้วมันคือเรื่องของการ “ช่วยชีวิต” ซึ่งการตามหาเสียงดนตรีที่จะมาถ่ายทอดสิ่งนี้ได้นั้น นับเป็นเรื่องยาก

ในช่วงแรกโทมัสเริ่มงานโดยที่ไม่ได้ดูฟุตเทจจากภาพยนตร์เลยแม้แต่เพียงช็อตเดียว ซึ่งในช่วงเวลานั้นถึงแม้ไอเดียที่เขามีเมนเดสยังไม่ซื้อมัน แต่เขาก็พบว่ามันไม่ได้สูญเปล่าแต่กลับเป็นสิ่งที่นำพาเขาและเมนเดสให้พบกับคำตอบที่ลงตัวในที่สุด

โทมัส นิวแมนกับแซม เมนเดส กำลังถกกันเรื่องเพลงประกอบ 1917

ในเรื่องของ “จังหวะ” นั้นโทมัสลองเสนอเมนเดสว่า ให้เขาทำเพลงเพื่อช่วยในการกำหนดจังหวะของซีนหรือไม่ (เหมือนที่หนังหลายเรื่องได้ทำ เช่น ในภาพยนตร์เรื่อง Joker ที่เพลงของ Hildur Guðnadóttir มีผลต่อการเต้นของวาคีนในฉากห้องน้ำ) ซึ่งเมนเดสก็ปฏิเสธและไม่ต้องการทำเช่นนั้น เพราะเขาได้เตรียมพร้อมมาอย่างดีแล้ว และอยากให้อารมณ์จากภายในซีนนั้นเป็นตัวขับเคลื่อนจังหวะในหนังมากกว่า

ซีเควนส์ที่ท้าทายที่สุดนั้นมาตั้งแต่ช่วงแรกของหนังเลยในตอนที่เบลกและสคอฟิลด์เดินฝ่าเหล่าทหารไปตามแนวสนามเพลาะและกำลังจะเริ่มต้นภารกิจเสี่ยงตาย

“ซีนนี้มีความเกี่ยวพันกับเรื่องราว และในขณะเดียวกันมันก็มีความสำคัญใน “จังหวะ” และ “ความตึงเครียด” ด้วย” 

“ควรจะวางดนตรีให้ห่างจาก dialgue มากแค่ไหน และจะกระตุ้นความตึงเครียดให้เกิดขึ้นตามธรรมชาติได้อย่างไร และบล็อกกิ้งนั้นก็เปลี่ยนไปตลอดเส้นทางที่พวกเขาเดินผ่านสนามเพลาะดังนั้นเสียงดนตรีก็ต้องไหลตามจังหวะการเดินของพวกเขาไป โดยที่ต้องไม่เบี่ยงเบนความสนใจไปจากพวกเขา”

 

จากนั้นโทมัสจึงได้ลองทำดนตรีในทิศทางต่าง ๆ โดยเริ่มจากการทำดนตรีให้กับฉากแรกของหนัง ซึ่งโทมัสพบว่าในฉากนี้มันจะต้องมีทั้งความตื่นเต้นอันผสานไปด้วยความหวัง ในตอนนั้นเองที่โทมัสได้พบกับจังหวะของดนตรีที่ล้อไปกับภาพยนตร์อันเป็นจังหวะตามธรรมชาติที่จะช่วยให้ผู้ชมได้รับรู้จังหวะของหนัง โดยในตอนแรกนั้นโทมัสยังไม่เริ่มทำงานกับวงออเคสตราแต่ใช้นักดนตรีจากลอสแองเจลิสเพียงสามคนที่เคยร่วมงานด้วยกันมาหลายปี มาทดลองใส่เสียงดนตรีด้วยกันดูก่อน

ด้วยความที่ 1917 เป็นหนังสงคราม สิ่งแรกที่โทมัสคิดถึงก็คือเสียงกลองโดยเฉพาะเสียงของสแนร์ที่ให้ความรู้สึกถึงกลองรบ แต่เมื่อเขาเอาไปให้เมนเดสฟัง เมนเดสพบว่ามันมีความเป็น “ดนตรีแบบทหาร” มากไปหน่อย เขาไม่ต้องการให้ฟอร์มของหนังเป็นกล่องที่เอาดนตรีมาใส่ลงไปในนั้น แต่อยากให้เสียงดนตรีที่เกิดขึ้นเป็นอะไรที่อยู่ “นอกกล่อง” “นอกกรอบ” นั้น โทมัสเลยลองไปสำรวจและทดลองอะไรใหม่ ๆ ที่ไม่ซ้ำเดิม จนถูกใจในสุ้มเสียงของเจ้า “Dulcimer” ซึ่งเป็นเครื่องดนตรีลักษณะเดียวกับ “ขิม” ของบ้านเรานั่นเอง และนำมันมาใช้เป็นหนึ่งในเครื่องดนตรีสำคัญในที่สุด

Play video

 

ก่อนหน้าที่โทมัสจะอัดเสียงกับวงออเคสตรา ซึ่งประกอบไปด้วยเครื่องสาย เชลโลโซโล่ เครื่องลมทองเหลือง เครื่องลมไม้ และกลอง เขาได้วางเสียงซาวด์อิเล็กทรอนิกลงไปเป็นแบ็กกราวนด์ก่อน โดยมาจากแนวคิดที่ว่าเขาต้องการให้ซาวด์อิเล็กทรอนิกทำหน้าที่เป็นเสียงจากภายในเสียงจากจิตใจส่วนเสียงจากออเคสตราเป็นเสียงจากภายนอกหรืออารมณ์ที่ถูกส่งผ่านออกไปให้คนอื่นรับรู้ ด้วยเหตุนี้ดนตรีจึงมีความสมบูรณ์ที่สามารถถ่ายทอดห้วงอารมณ์ของตัวละครทั้งภายในและภายนอกออกมาในเวลาเดียวกันได้

Play video

โทมัส นิวแมนกำลังคุมวงออร์เคสตรา

ในตัวของดนตรีที่โทมัสแต่งนั้นมีความเข้มข้นแต่ในขณะเดียวกันมันก็ต้องซ่อนตัวเอาไว้ในช่วงแรก ๆ ของภาพยนตร์ จนกระทั่งฉากเผาเมืองที่ลุกโชนไปด้วยกองเพลิงนั่นแหละเสียงดนตรีจึงค่อยโหมกระหน่ำซ้ำเติมเข้ามา

“ผมเขียนไว้หลายไอเดียมากสำหรับฉากนี้ มันมีคำถามเกิดขึ้นระหว่างการปะทะกันทางอารมณ์ความรู้สึกและอารมณ์ของเรื่องราว ในท้ายที่สุดแล้วดนตรีต้องมีความเกี่ยวพันกับสถานที่ เปลวเพลิงยามค่ำคืน ความคอนทราสต์กันระหว่างแสงและความมืด และคำถามที่เราต้องหาคำตอบก็คือ ‘มันควรจะต้องน่ากลัวด้วยไหม มันควรจะต้องเข้มข้นแค่ไหน หรือ มันควรจะเป็นความงามบนความล่มสลาย?’ ซึ่งเมนเดสต้องการอย่างหลังมาโดยตลอด ดังนั้นคำถามต่อไปที่ต้องตอบก็คือ ‘แล้วไอ้เสียงของความงามบนความล่มสลายนี่มันเป็นยังไง?”

Play video

และในที่สุดโทมัสก็ทำมันได้สำเร็จ เขาพบว่า “1917” เป็นหนึ่งในงานที่ยากที่สุดและใช้เวลากับมันมากที่สุด แต่สุดท้ายเขาก็ภูมิใจที่ทำมันออกมาได้สำเร็จ

 

“ผมมีความรู้สึกอยากทำในสิ่งที่ช่วยสนับสนุนหนังเรื่องนี้ เพราะว่าตัวหนังนั้นมันดีมาก ๆ ก่อนที่ผมจะเข้าไปทำอะไรกับมัน ในฐานะคนทำเพลงประกอบเรามักจะมีความกังวลเสมอว่าเราจะทำหนังให้มันแย่ลงรึเปล่าหรือทำให้มันกลายเป็นหนังธรรมดา ๆ เรื่องหนึ่ง แต่สุดท้ายแล้วผมก็ดีใจเพราะผมไม่ได้ทำให้มันเป็นไปแบบนั้น”

 

Source

https://www.thewrap.com/how-1917-composer-thomas-gloom-mendes-score/ 

https://www.thewrap.com/newman-oscar-most-nominated-family-composer-thomas-randy/

https://deadline.com/2020/01/1917-composer-thomas-newman-sam-mendes-oscars-interview-1202846120/

https://www.beartai.com/lifestyle/movies/395091

 

พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส