ตลอดเส้นทางการเป็นคนทำเพลงประกอบหนังของโทมัส นิวแมน (Thomas Newman) เขาได้สร้างสรรค์ผลงานชั้นยอดไว้มากมายซึ่งหนึ่งในนั้นก็คือ 1917 ที่นำพาเขาให้ได้เข้าชิงรางวัลออสการ์ในสาขาดนตรีประกอบภาพยนตร์ยอดเยี่ยมเป็นครั้งที่ 15 ในชีวิตแล้ว กว่าจะมาถึงวันนี้โทมัส นิวแมนได้ร่วมงานกับหลากผู้กำกับรวมไปถึงการร่วมงานทั้ง 4 ครั้งกับแซม เมนเดส ซึ่งประสบการณ์เหล่านี้ได้นำมาซึ่งความประทับใจและผลงานชั้นเยี่ยมของเขาที่เราควรจะย้อนกลับไปสัมผัสมันสักครั้ง

 

‘The Shawshank Redemption’ (1994)

 

ในปีนี้โทมัส นิวแมนมีผลงานเข้าชิงถึง 2 เรื่องด้วยกันนั่นคือ Little Women (เวอร์ชันที่กำกับโดย Gillian Armstrong) [ น่าสนใจที่ปีนี้ผลงานของโทมัสก็เข้าชิงชนกับ Little Women เช่นเดียวกันกับครั้งนั้นเพียงแต่ครั้งนี้คนประพันธ์เพลงคือ Alexandre Desplat] และ The Shawshank Redemption ผลงานการกับของ Frank Darabont และกำกับภาพโดย Roger Deakins ซึ่งสิ่งที่สร้างแรงบันดาลใจให้นิวแมนก็คืองานภาพอันล้ำเลิศของ Deakins และผลงานการกำกับของ Darabont ซึ่งหลังจากที่ Darabont ได้ให้นิวแมนดูหนังเวอร์ชัน 3ชั่วโมงกว่า เขาก็พบว่ามันน่าทึ่งมากและเกิดความรู้สึกว่าไม่อยากทำให้หนังอันยอดเยี่ยมเรื่องนี้แย่ลงไปแม้แต่เพียงนิดเดียว และนี่ก็คือแรงบันดาลใจเริ่มต้นจากการทำเพลงประกอบหนังที่เปี่ยมไปด้วยอารมณ์และความรู้สึกเรื่องนี้

 

Play video

 

‘Little Women’ (1994)

 

นี่เป็นครั้งแรกที่โทมัสเดินทางไปอัดเสียงที่สตูดิโอ Abbey Road ในลอนดอนกับวง London Symphony Orchestra โทมัสเคยอ่านเรื่องสี่ดรุณี (Little Women) นี้มาแล้วและพบว่ามันเต็มไปด้วยบรรยากาศของคริสมาสต์และหิมะโปรย เขาจึงติดอยู่กับเสียงของทรัมเป็ต ระฆัง และเครื่องเป่าลมทองเหลือง แต่ท้ายที่สุดแล้วเขาก็เปลี่ยนใจที่จะไม่ใช้เสียงเหล่านี้เพราะเขาพบว่าความคิดนี้มันจำกัดความเป็นไปได้ในทิศทางอื่น ๆ มากเกินไป ทำไมคริสมาสต์จะต้องกระดิ่ง ระฆัง กรุ๊งกริ๊ง พร้อมเสียงเครื่องเป่าล่ะ ทำไมจึงจะเป็นเสียงแบบอื่นไม่ได้ ซึ่งสุดท้ายโทมัสก็ทำมันออกมาได้อย่างน่าทึ่งจนมันได้เข้าชิงออสการ์ในปีนั้น

 

Play video

 

‘Unstrung Heroes’ (1995)

 

เป็นการร่วมงานกันกับ Diane Keaton นักแสดงสาวเจ้าของรางวัลนักแสดงนำหญิงยอดเยี่ยมเวทีออสการ์จากภาพยนตร์เรื่อง Annie Hall (1977) ที่หันมากำกับภาพยนตร์เป็นเรื่องแรก (หลังจากเคยกำกับสารคดี ทีวีซีรีส์ และภาพยนตร์ทางโทรทัศน์) กับภาพยนตร์ดรามา คอมเมดี้เรื่อง ‘Unstrung Heroes’ (1995) ที่นำแสดงโดย Andie MacDowell, John Turturro และ Michael Richards  โทมัสชื่นชมในความสามารถและแนวคิดของเธอ งานนี้เขาจึงทำงานโดยยึดหลักการว่านี่คือภาพยนตร์ของเธอ เขาจึงยึดไอเดียของเธอเป็นเสาหลักและทำงานเพลงที่ยอดเยี่ยมขึ้นเพื่อสนับสนุนงานชิ้นนี้ของเธอ โดยงานเพลงของเขาให้ความรู้สึกผ่อนคลาย ร่าเริง เข้ากันกับชื่อ “Unstrung” ของภาพยนตร์นั่นเอง สุดท้ายผลงานเพลงประกอบชิ้นนี้ของโทมัสได้ถูกเสนอชื่อเข้าชิงรางวัลออสการ์ในสาขาดนตรีประกอบภาพยนตร์ยอดเยี่ยมในสาขามิวสิคัลและคอมเมดี้ในที่สุด

 

Play video

 

‘American Beauty’ (1999)

 

อีกหนึ่งผลงานมาสเตอร์พีซของโทมัส การร่วมงานกันครั้งแรกกับแซม เมนเดสซึ่งเป็นการกำกับภาพยนตร์เรื่องแรกของเขาด้วยเช่นกัน ถึงแม้จะเป็นงานกำกับชิ้นแรกแต่เมนเดสก็พิสูจน์ตนเองให้ทีมงานได้เห็นถึงอัจฉริยะภาพของเขา โทมัสเองมีความชื่นชมในความสามารถของเมนเดสเป็นอย่างยิ่งและชื่นชมความซื่อตรงที่เขาปฏิบัติต่อทีมงานซึ่งนั่นทำให้การทำงานร่วมกันเป็นไปด้วยดี จังหวะกลองทั้งหลายในดนตรีประกอบหนังเรื่องนี้ริเริ่มมาจากไอเดียของเมนเดส ซึ่งมันช่วยส่งเสริมจังหวะของตัวหนังอย่างเป็นไปโดยธรรมชาติและทำหน้าที่เป็นฐานรองรับอารมณ์ที่จะถูกถ่ายทอดออกมา หรืออย่างเช่น “Any Other Name” บทเพลงสุดล่องลอยที่มีเสียงเปียโนลอยไปบนท่วงทำนองเวิ้งว้างในฉาก “ถุงพลาสสิกลอยคว้าง” นั่นก็แสดงถึงความรู้สึกเปล่าเปลี่ยว โดดเดี่ยว เคว้งคว้างของตัวละครได้เป็นอย่างดี แถมมันช่างบาดลึกความรู้สึกเราจริง ๆ

 

Play video

 

‘Road to Perdition’ (2002)

 

การร่วมงานกันครั้งที่สองกับแซม เมนเดสในภาพยนตร์ดรามาเรื่องเยี่ยมที่นำแสดงโดย ทอม แฮงส์ กับเรื่องราวที่ตัวละครหลักเป็นชาวไอริช โทมัสเลยรู้สึกว่างานดนตรีควรจะสะท้อนถึงสิ่งนี้ แต่เมนเดสกลับมีความรู้สึกไม่อยากให้ดนตรีสะท้อนความเป็นไอริชเลย แต่ต่อมาเมื่อคนตัดต่อหนังเรื่องนี้คือ Jill Bilcock ได้ถามเมนเดสว่าทำไมถึงเป็นแบบนั้นไม่ได้ เขาจึงเริ่มกลับมาทบทวนมันอีกครั้งจนยอมให้ทดลองไปในแนวทางที่โทมัสตั้งใจไว้ สุดท้าย ปี่ไอร์แลนด์ (Uilleann Bagpipe) เจ้าเครื่องดนตรีชิ้นเยี่ยมจากไอริชก็เลยกลายมาเป็นพระเอกและมันได้ปลดล็อกอะไรหลายอย่างในหนังเรื่องนี้ จนตามมาด้วยสุ้มเสียงอื่น ๆ เช่น นกหวีดไอริช (Penny Whistle / Irish Whistle)เข้ามาเติมเต็มมันจนเยี่ยมยอดไปเลย

 

Play video

 

เสียงของปี่ไอริชบรรเลงโดย  Eric Rigler เพลงนี้ทำให้เราเห็นเลยว่าเสียงของปี่กับเครื่องสายมันเข้ากันได้เป็นอย่างดีและมีเอกลักษณ์

 

‘Lemony Snicket’s A Series of Unfortunate Events’ (2004)

 

การร่วมงานกันกับผู้กำกับ Brad Silberling ในภาพยนตร์แนวแฟนตาซีอารมณ์ดาร์กเรื่องนี้ ดนตรีประกอบของโทมัสได้อารมณ์แฟนตาซีมีลูกเล่น และแถมไว้ด้วยความดาร์ก ความประหลาดแบบกำลังดีที่ไม่ดาร์กจนเกินไปทำให้เข้ากันดีกับภาพยนตร์เรื่องนี้เป็นอย่างยิ่ง ซึ่งเป็นหนึ่งในผลงานที่โทมัสชอบและยังได้เข้าชิงรางวัลออสการ์ในสาขาดนตรีประกอบภาพยนตร์ยอดเยี่ยมของปีนั้นอีกด้วย

 

Play video

 

‘Finding Nemo’ (2003)

 

โทมัสตั้งใจจะให้มันเป็นการทำเพลงประกอบแอนิเมชันเรื่องแรกและเรื่องสุดท้ายของเขา เพราะงานนี้ทำให้เขากังวลและกลัวที่จะล้มเหลว เพราะมันเป็นสิ่งที่แตกต่างจากสิ่งที่เขาเคยทำมา และมันทำให้เขารู้สึกว่ามันยากเกินความสามารถของเขา แต่สุดท้ายเมื่อได้รับคำแนะนำจากแรนดี (นิวแมน) ที่ทำเพลงให้กับ Pixar มาหลายโพรเจกต์แล้ว ซึ่งแรนดีแนะนำโทมัสว่า “นายควรดูแค่ 10 นาทีข้างหน้าเท่านั้น หากนายไปมองที่ 50 นาทีข้างหน้ามันจะทำนายเป็นบ้าเอา” เพียงเท่านั้นล่ะมันก็เหมือนปลดล็อกความกลัวในใจของโทมัส และเขาก็ลงมือทำมันจนสำเร็จในที่สุด

 

Play video

 

‘The Good German’ (2006)

 

การร่วมงานกันกับอีกหนึ่งผู้กำกับชั้นเซียน  Steven Soderbergh ที่หาญกล้ามาทำหนังในสไตล์ฟิล์มนัวร์ เพราะฉะนั้นเขาก็เลยทำการวางเพลงตัวอย่างด้วยงานเพลงของ Max Steiner (Gone with the Wind (1939) , Casablanca (1942) ) และงานเพลงในยุคนั้น ซึ่งโทมัสก็พัฒนามาจากแนวคิดนี้ผสมผสานสรรพสำเนียงของโครมาติกและเมโลดิกสเกลเข้าด้วยกัน จนออกมาเป็นงานที่น่าประทับใจในที่สุด

 

Play video

 

‘Wall-E’ (2008)

 

เมื่อผ่านด่านของ Finding Nemo มาได้ โทมัสก็มั่นใจที่จะลุยต่อในงานแอนิเมชัน แถมงานนี้ยังได้ร่วมงานกับ Peter Gabriel นักร้องนักแต่งเพลงชาวอังกฤษ ผู้เป็นฟรอนต์แมนแห่งวงโพรเกรสซีฟร็อกอันลือลั่น “Genesis” ที่โทมัสชื่นชอบในงานเพลงอันโดดเด่นเน้นทดลองอะไรแปลกใหม่ของเขา ทั้งคู่เลยได้ร่วมงานกันจนออกมาเป็นงานดนตรีอันยอดเยี่ยมที่ถ่ายทอดอารมณ์ของเจ้าหุ่นกระป๋องที่ทั้งงดงามและมีชีวิต และสร้างความประทับใจให้กับผู้ชม  แทร็กที่โทมัสชอบที่สุดก็คือ “First Date” ที่ชวนให้คิดถึงงานเพลงยุค 70s ใน The Brady Bunch ซิตคอมยอดนิยมแห่งยุค 70s

 

Play video

 

‘Skyfall’ (2012)

 

อีกหนึ่งงานชวนหวั่นใจของโทมัส และการร่วมงานกันครั้งที่สามกับแซม เมนเดส ก่อนนี้โทมัสไม่เคยคิดฝันว่าตัวเองจะมาทำหนังบอนด์ หนังสายลับอังกฤษเน้นแอ็กชัน ที่มาพร้อมภาพลักษณ์สุดคูลและฉากหวือหวานชวนตื่นตาตื่นใจ นั่นเป็นอะไรที่โทมัสต้องคิดหนักเลยกับการสร้างเสียงดนตรีที่ขับเคลื่อนภาพลักษณ์และความเฉียบคมแบบบอนด์ และก็ต้องเปี่ยมไปด้วยอารมณ์และความเร้าใจในสไตล์หนังบอนด์ ซึ่งโทมัสก็ทำมันออกมาได้เป็นอย่างดีเลย

 

Play video

 

‘Saving Mr. Banks’ (2013)

 

หนังของ Walt Disney เรื่อง Mary Poppins เป็นหนังที่มีเพลงที่ไพเราะ เพราะฉะนั้นหนังที่ว่าด้วยเรื่องของนาย Walt Disney และนักเขียนสาวสวย P.L.Travers ผู้แต่งเรื่อง Mary Poppins ก็ควรจะมีเพลงที่ไพเราะด้วยเช่นกัน เพราะมันจะต้องถ่ายทอดอารมณ์ความรู้สึกที่ซ่อนลึกอยู่ภายใน ความรู้สึกเชื่อมโยงผูกพันและความสัมพันธ์ที่ซ่อนไว้เบื้องหลังตัวเธอกับตัวละคร Mary Poppins ตัวนี้ออกมาให้ได้ ซึ่งโทมัสต้องเข้าไปสู่ห้วงอารมณ์นี้และสกัดมันออกมาถ่ายทอดผ่านเสียงดนตรีของเขาให้ได้ เพื่อให้เกิดช่วงเวลาต้องมนต์ในภาพยนตร์เรื่องนี้

 

Play video

 

‘Bridge of Spies’ (2015)

 

เป็นหนึ่งในประสบการณ์ที่ประทับใจกับการได้ร่วมงานกับสุดยอดผู้กำกับระดับตำนาน Steven Spielberg ซึ่งโทมัสประทับใจในความใส่ใจและการแสดงออกที่จริงใจของสปีลเบิร์ก เพราะเมื่อใดที่เขาถูกใจในงานเพลงของโทมัสเขาจะแสดงออกอย่างไม่มีกั๊ก แฮปปี้เหมือนเด็กได้ขนม นอกจากนี้ยังเป็นคนที่มีความอดทนและมุ่งมั่นตั้งใจในการทำงานออกสุดฝีมือ ซึ่งนั่นทำให้โทมัสเลื่อมใสและประทับใจในการร่วมงานกันครั้งนี้อย่างยิ่ง

 

Play video

 

‘Passengers’ (2016)

 

สิ่งหนึ่งที่โทมัสประทับใจในหนังไซ-ไฟที่มีฉากหลังเป็นห้วงอวกาศอันเวิ้งว้าง ก็คือการที่มันเล่าเรื่องของการ​”อยู่รอด” ในการเดินทางอันเปลี่ยวเหงาและไร้ที่สิ้นสุด ในชีวิตนี้โทมัสทำเพลงให้หนังเกี่ยวกับอวกาศอยู่ 3-4 เรื่องวิธีที่เขาจะทำมันให้แตกต่างกันก็คือการดูว่าหนังเรื่องนั้นมีจุดโดดเด่นหรือความน่าตื่นเต้นที่ตรงไหน และฉากเหล่านั้นต้องการจะถ่ายทอดอะไร สุดท้ายโทมัสจึงได้งานเพลงที่ประกอบไปด้วยเครื่องสายและเครื่องเป่าที่สามารถสะท้อนห้วงอารมณ์ในอวกาศอันเวิ้งว้างได้ และนอกจากนี้เขายังชอบงานแบบนี้ที่ได้ใช้สัญชาตญาณมากกว่าการขบคิด

 

Play video

 

1917′ (2019)

 

แล้วก็มาถึงผลงานชิ้นล่าสุดของโทมัส การร่วมงานกันครั้งที่ 4 กับแซม เมนเดส กับภาพยนตร์สงครามเรื่องเยี่ยมที่เร้าใจไปด้วยความแม่นยำทางภาษาภาพยนตร์และการเล่าเรื่องของมนุษย์ที่เปี่ยมอารมณ์ความรู้สึก ตัวละครต้องปฏิบัติภารกิจอันยากยิ่งเฉกเช่นเดียวกันกับโทมัส ดนตรีของเขาเป็นส่วนหนึ่งของจังหวะหนังที่ลื่นไหล มันขับเคลื่อนไปพร้อมการเคลื่อนไหวและแอคชันของตัวละคร อาทิ ในฉากที่สคอฟิลด์ (จอร์จ แมคเคย์) วิ่งไปบนผืนหญ้า แซมบอกว่า ณ ตรงจุดนี้ตัวละครคิดอย่างเดียวว่าต้องทำภารกิจให้สำเร็จและดนตรีจะต้องถ่ายทอดมันออกมาให้ได้ ในจุดที่เขาเดินไปตามสนามเพลาะและตัดสินใจที่จะวิ่ง ณ จุดนั้นดนตรีต้องมาและลงในจังหวะเวลาที่สอดคล้องกัน ซึ่งนั่นทำให้ภาพและเสียงผสานกันไปอย่างเป็นเนื้อเดียวและลื่นไหลไปด้วยกัน และนี่ก็คือความงามของดนตรีประกอบจากหนังเรื่องนี้ที่ทำให้มันอาจกลายเป็นผู้คว้าชัยในออสการ์ปีนี้ในที่สุด.

 

Play video

 

Source

https://www.hollywoodreporter.com/lists/shawshank-1917-thomas-newman-breaks-down-his-proud-petrifying-path-composing-famed-film-scores-1274036

 

ภาพปก

https://www.trouva.com/products/minimal-prints-the-shawshank-redemption-a2-framed-print

https://www.pinterest.at/pin/285697170086413846/

https://www.pinterest.co.kr/pin/315885361336700840/

https://www.pinterest.com/pin/465278205222962431/?lp=true

https://twitter.com/theposterholic

 

 

พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส