ไทยเป็นอีกประเทศหนึ่งที่ใกล้ชิดกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคจากเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 (SARS-CoV-2) หรือโรค COVID-19 จากทั้งการมีภูมิศาสตร์อยู่ใกล้ประเทศที่มีการแพร่ระบาดรุนแรง รวมถึงการเป็นประเทศท่องเที่ยว และประเทศทางผ่านที่ต้อนรับนักท่องเที่ยวต่างชาติจำนวนมากเข้ามาตลอดเวลา ไทยจึงเป็นประเทศที่ถูกประกาศให้เป็นพื้นที่เสี่ยงกลุ่มแรก ๆ พร้อมกับหลาย ๆ ประเทศมาตั้งแต่ต้น ทั้งนี้ยอดตัวเลขการติดเชื้อของเราจะเพิ่มไม่มากนักด้วยระบบสาธารณสุขที่มีการเตรียมพร้อมไว้อย่างเต็มที่ ทว่าก็ต้องไม่ประมาทด้วยจะเห็นว่ามีกรณีที่สุ่มเสี่ยงจากปัจจัยภายในและภายนอกตลอดเวลา สำหรับแวดวงอุตสาหกรรมหนังเองก็ถือว่าเป็นสถานการณ์ที่น่ากังวลพอสมควร แม้แต่ เต๋อ นวพล ธำรงรัตนฤทธิ์ ผู้กำกับชื่อดังก็เป็นอีกหนึ่งคนที่ออกมาแสดงความห่วงใยต่อหนังไทยที่กำลังจะเข้าฉายด้วยเช่นกัน

สถานการณ์หนังไทย เลื่อนแล้ว 4 ไม่รู้จะมีเพิ่มไหม?

โดยเฉพาะวงการหนังไทยที่อ่อนแอจากฐานผู้ชมอยู่แล้ว ยื่งหนังขนาดกลางถึงเล็กจากปกติที่หวังกำไรไม่ได้สูงอยู่แล้ว หากเจอความกังวลของผู้ชมต่อการรับชมในโรงหนังก็อาจทำให้ขาดทุนได้ง่าย ๆ ซึ่งแม้แต่หนังของค่ายใหญ่เองก็ยังประเมินความเสี่ยงไว้สูง อย่าง Mother Gamer เกมเมอร์เกมแม่ ของค่ายสหมงคลฟิล์มที่เดิมมีกำหนดฉายวันที่ 5 มีนาคมนี้ และโปรโมตอย่างหนักมาก่อนหน้าก็ต้องประกาศเลื่อนโดยยังไม่กำหนดวันฉายใหม่ และเมื่อมองกลับไปก่อนหน้านั้นหนังอย่าง คืนยุติ-ธรรม จากค่ายเอ็มพิกเจอร์ที่จะฉายในวันที่ 27 กุมภาพันธ์ก็ได้เลื่อนวันฉายไปเดือนกรกฎาคมจากเหตุการณ์กราดยิงในจังหวัดนครราชสีมาก่อนแล้ว ซึ่งถ้าไม่เลื่อนในตอนนั้นก็น่าสนใจว่าค่ายอาจจะเลื่อนหนีจากเรื่องไวรัสหรือไม่ อีกเรื่องที่เลื่อนคือ Love เลย 101 หม่ำ จ๊กมก ประกบ ธัญญ่า อาร์สยาม ที่เดิมมีกำหนดฉาย 12 มีนาคม และล่าสุดหนังดนตรีอย่าง My Rhythm (มายริทึ่ม) ที่เดิมจะเข้าฉาย 19 มีนาคมนี้และเริ่มโปรโมตแล้วก็ประกาศเลื่อนฉายโดยยังไม่กำหนดวันฉายใหม่เช่นกัน

เรียกว่าหนังไทยขนาดใหญ่ยันหนังเล็กตัดสินใจเลื่อนได้แบบไม่ต้องคิดอะไรมากเลย

ที่น่าสนใจคือหนังไทยที่มีคิวฉายในช่วงมีนาคมถึงเมษายนที่จัดเป็นซัมเมอร์ของไทยนี้ ยังมีอีกหลายเรื่อง เริ่มตั้งแต่

  • Present Still Perfect แค่นี้…ก็ดีแล้ว 2 (12 มีนาคม)
  • ผู้บ่าวไทบ้าน อีสานจ้วด (19 มีนาคม)
  • Check In Shock เกมเซ่นผี (19 มีนาคม)
  • มนต์รักดอกผักบุ้ง (26 มีนาคม)
  • BNK48 One Take (1 เมษายน)
  • พจมาน สว่างคาตา (2 เมษายน)
  • อีเรียมซิ่ง (8 เมษายน)
  • หลวงพี่กะอีปอบ (9 เมษายน)

ซึ่งเป็นหนังที่วันฉายอยู่ในช่วงเดือนกว่า ๆ นับจากนี้ และมีโอกาสเสี่ยงที่สถานการณ์โคโรนาจะแย่ลง หรืออาจดีขึ้น ซึ่งคงต้องดูกันแบบรายวันว่าค่ายหนังจะตัดสินใจอย่างไร โดยเฉพาะช่วงสงกรานต์ก็เป็นเทศกาลที่คนไม่เดินทางไปไหนเลือกดูหนังในโรงมากพอสมควรและทำกำไรให้หนังได้มากเช่นกัน โดยในช่วงมีนาคมจะมีหนังนอกเข้ามาแชร์พื้นที่ทั้ง The Invisible Man, Onward, Bloodshot, A Quiet Place Part 2 และ Mulan ด้วย

ที่ต้องจับตามองเลยคือ BNK48 One Take และ พจมาน สว่างคาตา นั้น จัดเป็นโปรแกรมที่มีแฟนคลับรอคอยพอสมควร ต้องดูว่าทางค่ายจะตัดสินใจเช่นไร โดยเฉพาะสารคดี BNK48 ที่ประเมินไว ๆ น่าจะเสี่ยงกว่าอีกเรื่องเพราะเป็นสารคดีซึ่งแนวเฉพาะกลุ่มอยู่แล้ว แถมกระแสศรัทธาของกลุ่มโอตะต่อบริษัทก็ยังไม่แน่ว่าดีขึ้นหรือยังหลังการลาออกของผู้บริหารเดิม ทั้งยังมีฐานคนดูกลุ่ม BNK48 ที่มักอยู่ในเขตกรุงเทพและหัวเมืองใหญ่ซึ่งเป็นพื้นที่ที่เจอผลกระทบไวรัสเป็นหลัก ในขณะที่ พจมานฯ นั้นยังได้ฐานแฟนต่างจังหวัดที่ยังไม่ตึงเครียดเรื่องไวรัสเท่ามาช่วยได้บ้าง

ทั้งในช่วงเมษายนดังกล่าวยังจะเจอหนังฮอลลีวูดชนเข้ามาอีกทั้ง The New Mutants และจะถูกบี้ลดโรงด้วยหนังใหม่อย่าง 007: No Time to Die ในสัปดาห์ถัดไปอีก ก็เป็นงานเหนื่อยพอสมควร

โรงหนังในไทยเตรียมรับมือได้ดีขนาดไหน?

ด้านธุรกิจโรงหนังเองก็อาจได้รับผลกระทบอย่างเลี่ยงไม่ได้เพราะเป็นสถานที่ปิดมีผู้ใช้บริการหมุนเวียนจำนวนมาก จัดเป็นพื้นเสี่ยงการแพร่ระบาดได้ง่ายเป็นอันดับต้น ๆ ซึ่งผลกระทบแง่รายได้จะยังประเมินไม่ได้ในตอนนี้ แต่จากภาพที่คนไม่ค่อยเดินทางไปในที่คนพลุกพล่านเช่นห้างกลางเมืองและข่าวคราวการพบคนติดเชื้อจากสถานที่ต่าง ๆ ก็ถือเป็นแนวโน้มที่น่ากังวล แม้เครือโรงหนังอย่างเมเจอร์กรุ๊ปจะเคยประเมินสถานการณ์ไว้ต่ำ โดยเมื่อวันที่ 3 กุมภาพันธ์ คุณวิชา พูลวรลักษณ์ ประธานกรรมการบริหารของเมเจอร์จะประเมินว่าคนดูหนังลดลงบ้าง แต่ไม่ถือว่ามาก และส่วนใหญ่ก็มีการป้องกันตนเองด้วยการใส่หน้ากากอนามัยเข้าชมหนังอยู่แล้วก็ตาม

โดยเมเจอร์ยังมีการอัดโปรโมชันจูงใจคนมาดูหนังมากขึ้นอย่างแคมเปญตั๋วหนังราคา 29 บาท เป็นต้น เรียกว่าสู้ยิบตาไม่กลัวเชื้อโรคทีเดียว แต่ทั้งนี้ก็ไม่แน่ใจว่าในตอนนี้ภายในเครือโรงหนังต่าง ๆ ประเมินสถานการณ์เช่นไรหลังมีการยกระดับความรุนแรงและการควบคุมเข้มขึ้นก็ยังเป็นเรื่องน่าสนใจเช่นกัน

และจากการสำรวจคร่าว ๆ ตั้งแต่ช่วงปีใหม่เป็นต้นมาก็พบว่าโรงหนังในไทยยังทำรายได้ต่อสัปดาห์ใกล้เคียงกับก่อนหน้าที่มีการตื่นตัวเรื่องโรคระบาดหนัก ๆ ในช่วงเดือนกุมภาพันธ์จริง โดยดูจากรายได้หนังในไทยจากแฟนเพจ ชมรมวิจารณ์บันเทิง ที่มีการอัปเดตรายได้ทุกสัปดาห์จากโรงหนังในเขตกรุงเทพ ปริมณฑล และเชียงใหม่

แต่จุดน่าสังเกตคือสถานการณ์ตื่นตัวของคนไทยเริ่มต้นที่วันที่ 26 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมาจากกรณีโรงพยาบาลแห่งหนึ่งพบผู้ติดเชื้อปิดบังข้อมูลจนเกิดความกังวลว่าจะเป็นการแพร่ระบาดขนาดใหญ่เพราะผุ้ป่วยใช้ชีวิตตามปกติไปข้างนอกตลอดนับแต่กลับมาจากต่างประเทศ และรายได้วันแรกของหนังเข้าใหม่อย่าง Sonic The Hedgehog ก็ทำได้ 1.65 ล้านบาท ซึ่งน้อยกว่าที่ควรเป็นกับหนังระดับนี้เมื่อเทียบกับรายได้วันแรกของหนังใหม่สัปดาห์ก่อนหน้าทั้ง พี่นาค 2 (20 กุมภาพันธ์ 3.96 ล้านบาท) สุขสันต์วันโสด (13 กุมภาพันธ์ 2.47 ล้านบาท) Birds of Prey (6 กุมภาพันธ์ 3.09 ล้านบาท) ก็จะเห็นว่ามีความต่างอยู่พอสมควร แต่ทั้งนี้ก็เป็นเพียงข้อสังเกตเฉพาะวันเปิดตัวคงต้องดูภาพรวมในระยะยาวอีกทีหลังจากเหตุการณ์เมื่อวันที่ 26 กุมภาพันธ์

ทั้งนี้ที่น่าสบายใจสำหรับคนดูหน่อยก็คือ ทางเครือโรงหนังใหญ่ทั้ง เครือเมเจอร์ซีนีเพล็กซ์ และ เครือเอสเอฟซีเนม่า ต่างก็ไม่ได้นิ่งนอนใจหรือประมาท และต่างมีมาตรการป้องกันที่เข้มข้นมากขึ้นทั้งนี้อาจด้วยประสบการณ์การปรับตัวตั้งแต่ครั้งเกิดการระบาดของไข้หวัดใหญ่ปี 2009 เมื่อปี พ.ศ. 2552 โดยตอนนั้นกระทรวงวัฒนธรรมก็เข้าไปตรวจสอบและกำกับให้โรงหนังสร้างมาตรฐานการบริการที่ดูแลสุขอนามัยของพนักงานและผู้ชมอย่างดี ทั้งการทำความสะอาดพรมที่อาจสะสมเชื้อโรค การฆ่าเชื้อในโรงหนังทุกรอบ และการมีเจลล้างมือบริการด้านหน้าโรงหนังเป็นต้น เช่นเดียวกับโรงหนังในต่างจังหวัดที่ผู้ว่าราชการจังหวัดเข้าไปกำกับอย่างใกล้ชิดในช่วงดังกล่าว หากโรงหนังในไทยตื่นตัวได้เหมือนครั้งนั้นก็นับว่าวางใจได้ระดับหนึ่ง

โดยจากการดูช่องทางการสื่อสารของ เครือเมเจอร์ฯ ก็ได้ออกมาตรการมาตั้งแต่วันที่ 30 มกราคม ทางเฟซบุ๊กแฟนเพจ Major Group ทั้งการฆ่าเชื้ออบโอโซนเครื่องปรับอากาศ ทำความสะอาดฆ่าเชื้อในแต่ละรอบ เพิ่มรอบทำความสะอาดทุก 1 ชั่วโมง และบริการเจลล้างมือ รวมถึงการปฏิบัติตนของพนักงานให้มีความรัดกุมอย่างสวมหน้ากากและถุงมืออนามัย ตลอดจนการแนะนำผู้ชม และมีระบบส่งตัวผู้ป่วยไปโรงพยาบาลด้วย

ด้าน เครือเอสเอฟฯ ก็ได้ออกมาตรการชัดเจนตั้งแต่วันที่ 29 มกราคม ในการรับมือไวรัสระบาดเช่นกัน ดังนี้

1. ทำความสะอาดพื้นที่จุดสัมผัสสาธารณะ เช่น มือจับ ลูกบิด ก๊อกน้ำ ฝาชักโครก เป็นต้น โดยใช้น้ำยาฆ่าเชื้อเช็ดทำความสะอาดทุก ๆ 1 ชั่วโมง
2. ติดตั้งแอลกอฮอล์แบบเจลสำหรับล้างมือไว้ที่จุดฉีกบัตร, จุดจำหน่ายอาหารและเครื่องดื่ม สำหรับให้บริการลูกค้า
3. มีการติดตั้งเครื่องถ่ายเทอากาศ เพื่อเติมอากาศบริสุทธิ์เข้ามาในโรงภาพยนตร์ตลอดเวลา
4. มีการใช้เครื่อง Ozone ฆ่าเชื้อโรคในอากาศก่อนการเปิดให้บริการเป็นประจำ
5. มีการฉีดพ่นสเปรย์ฆ่าเชื้อโรคในอากาศทุกครั้งก่อนรอบฉาย
6. กรณีที่พนักงานคนใดมีอาการป่วย ทางบริษัทฯ จะแนะนำให้พนักงานหยุดให้บริการโดยทันที

โดยล่าสุดทางเอสเอฟยังได้เพิ่มความใส่ใจเป็นพิเศษ ด้วยการจับมือกับ KEEEN ผลิตภัณฑ์ออร์แกนิคสารสกัดจากธรรมชาติ ที่ได้รับการรับรองจากสถาบันวิจัยชั้นนำทั้งในประเทศและในระดับสากล ปลอดภัยต่อระบบนิเวศสามารถย่อยสลายได้ตามธรรมชาติ มาฉีดพ่นและเช็ดทำความสะอาดในเครือเอสเอฟ ช่วยลดความเสี่ยงการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 ให้ลดน้อยลง พร้อมทั้งนำผลิตภัณฑ์เจลล้างมือ KEEEN มาติดตั้งตามจุดฉีกบัตรและจุดจำหน่ายอาหารและเครื่องดื่มด้วย

covid-19 covid-19 covid-19 covid-19 covid-19 covid-19

ภาพการรับมือของฝั่งเอสเอฟ

ความรับผิดชอบต่อส่วนรวมยังเป็นเรื่องที่น่ากังวลยิ่งกว่า

และเมื่อพิจารณาจากนิสัยคนไทยที่ตื่นตัวสูงขึ้นมากกับกรณีการแพร่ระบาด ก็น่าจะไว้ใจได้ในระดับหนึ่งว่าเราค่อนข้างเตรียมพร้อมได้ดีทั้งหน้ากากอนามัย และการหมั่นล้างมือ แต่ทั้งนี้ก็ต้องไม่ประมาท และที่ต้องกังวลคือหากมีกรณีผู้ที่มีความเสี่ยงติดเชื้อละเลยการกักตัวและเข้าไปดูหนัง ก็อาจเกิดกรณีการระบาดอย่างหนักเช่นเดียวกับครั้งที่โรคหัดระบาดในสหรัฐอเมริกาเมื่อต้นปี 2019 ที่ผ่านมา เนื่องจากมีหญิงสาวที่ติดเชื้อหัดจากการเดินทางไปประเทศกลุ่มเสี่ยง แต่เธอชะล่าใจและยังไปทำงานรวมถึงออกไปดูหนัง Avengers : Endgame ในคืนเปิดตัว และพบว่าตัวเองป่วยเป็นโรคหัดในภายหลัง นั่นทำให้นักศึกษาและเจ้าหน้าที่ของมหาวิทยาลัยชื่อดังถึง 2 แห่ง จำนวนกว่า 700 คน และผู้ชมหนังที่ไปโรงหนังในเวลาเดียวกันกับเธอไม่ว่าจะดูโรงเดียวกันหรือไม่ต้องถูกเฝ้าระวังอาการ

กรณีการระบาดโรคหัดในการฉายหนัง Avengers Endgame ที่อเมริกา เป็นบทเรียนที่ดีสำหรับคอหนังที่จะได้เตรียมใจว่าถ้าเขาป่วย เขาก็ควรหักใจไม่ดูหนังแม้มันจะเป็นหนังที่อดทนรอมาถึง 10 ปีก็ตาม

ซึ่งหากสถานการณ์เปลี่ยนไปความรุนแรงมากขึ้น ถึงตอนนั้นการตัดใจไม่ชมหนังฟอร์มยักษ์ที่เฝ้ารอมาเป็นปี ๆ ในโรงหนัง แล้วรอชมในภายหลังแทนเมื่อสถานการณ์คลี่คลาย ก็อาจเป็นจุดวัดใจของคอหนังชาวไทยที่เลี่ยงไม่ได้ เราจะมีความรับผิดชอบต่อสังคมโดยการยับยั้งชั่งใจตนเองเช่นเดียวกับการไปเที่ยวต่างประเทศได้หรือไม่ แม้ว่าโรงหนังจะออกโพรโมชันมายั่วยวนเพียงใดก็ตาม แต่ก็หวังว่าสถานการณ์จะทุเลาลงในเร็ววันและเราคงไม่พลาดดูหนังใหญ่ที่ตั้งตารอมานานหลาย ๆ เรื่องอย่างที่กังวล

มาลองดูกันว่าถ้าเลี่ยงไม่ได้เราต้องฝึกหักห้ามใจกับหนังกี่เรื่องจากในลิสต์นี้ (คัดแค่หนังช่วง 3 เดือนหลังจากนี้)

  • The Invisible Man – มนุษย์ล่องหน (5 มีนาคม) หนังสยองคะแนนดีพลอตน่าดู
  • Onward – คู่ซ่าล่ามนต์มหัศจรรย์ (5 มีนาคม) หนังแอนิเมชันจากพิกซาร์
  • Bloodshot จักรกลเลือดดุ (11 มีนาคม) หนังซูเปอร์ฮีโรสายโหดของ วิน ดีเซล
  • Last Letter ลาสต์ เลทเทอร์ (12 มีนาคม) หนังญี่ปุ่นที่แฟนคลับเฝ้ารอจาก ชุนจิ อิวาอิ ผู้กำกับ Love Letter
  • Jojo Rabbit ต่ายน้อยโจโจ้ (12 มีนาคม) หนังตลกขื่นที่ได้รางวัลบทหนังยอดเยี่ยมออสการ์
  • A Quiet Place Part 2 ดินแดนไร้เสียง 2 (19 มีนาคม) ภาคต่อของหนังอสุรกายเงียบที่หลายคนรอคอย
  • Mulan มู่หลาน (26 มีนาคม) หนังบิ๊กเนมที่ทั้งโลกรอคอย ถ้าไม่ได้ดูเรื่องนี้น่าจะเครียดของจริง
  • BNK48 One Take (1 เมษายน) ถ้าเป็นโอตะที่อภัยบริษัทพร้อมกลับมาเปย์น้อง ๆ ไม่ได้ดูเรื่องนี้น่าจะรุ้สึกแย่เหมือนกันนะ
  • The New Mutants มิวแทนท์รุ่นใหม่ (2 เมษายน) ถึงหนังจะดูมีปัญหามาก่อน แต่แฟนมาร์เวลก็ต้องอยากรู้อนาคตของซีรีส์นี้เมื่อกลับคืนบ้านล่ะนะ
  • พจมาน สว่างคาตา (2 เมษายน) ต้องยอมรับล่ะว่าหนังมีของบางอย่างที่เราอยากเลอะเทอะหลุดโลกไปกับมัน ยิ่งสังคมเครียด ๆ อยู่ด้วย
  • No Time to Die พยัคฆ์ร้ายฝ่าเวลามรณะ (9 เมษายน) หนังบิ๊กเนมสั่งลาการรับบทบาท 007 ของ แดเนียล เคร็ก แฟน ๆ คงลำบากใจถ้าอดดู
  • Antebellum (23 เมษายน) หนังสยองกลิ่นเดียวกับ Get Out และ Us ที่ตัวอย่างก็น่าสนใจแล้ว
  • Black Widow แบล็ควิโดว์ (29 เมษายน) หนังบิ๊กเนมจากมาร์เวล ต้องเก็บมั้ยล่ะ
  • Special Actors (7 พฤษภาคม) หนังญี่ปุ่นจากผู้กำกับ One Cut of The Dead หนังแห่งปีของหลายสำนักเมื่อ 2 ปีก่อน
  • Spiral From the Legacy of Saw (14 พฤษภาคม) ฆาตกรโรคจิตอัจฉริยะกลับมาใหม่ แฟนหนัง Saw คงไม่อยากพลาดล่ะ
  • Fast & Furious 9 เร็ว แรงทะลุนรก 9 (21 พฤษภาคม) บิ๊กเนมหนังรถซิ่งที่ทำเงินสูงเป็นประวัติการณ์ ภาคนี้มีถ่ายในไทยด้วย
  • Artemis Fowl อาร์ทิมิส ฟาวล์ (28 พฤษภาคม) จากวรรณกรรมเยาวชนชื่อดังที่แฟนหนังสือรอชมกันมาหลายปีแล้ว

ดูลิสต์จบ ได้แต่ภาวนาจริง ๆ ล่ะว่าการระบาดอย่ารุนแรงไปกว่านี้เลยนะ

พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส