เข้าสู่เดือนมีนาคมที่ Netflix จะปล่อยหนังล็อตที่ 2 ของ Ghibli Studio หลังจากปล่อยล็อตแรกทั้งหมด 7 เรื่องไปแล้วเมื่อเดือนก่อน หลายคนที่ดูจบไปก็สามารถชมล็อตนี้ต่อได้เลย ส่วนใครที่ยังดูไม่จบก็อาจอาศัยช่วงเวลาที่โรงหนังใกล้จะปิดให้บริการเพราะสถานการณ์ Covid-19 เต็มที รวมถึงไม่มีหนังโรงให้ไปดูด้วยในช่วงนี้ ก็เป็นโอกาสที่ดีที่จะเก็บหนังของสตูดิโอแอนิเมชันอันดับ 1 ของญี่ปุ่นแบบม้วนเดียวจบ (รอล็อตสุดท้ายอีกทีในเดือนหน้า)

นอกจากนี้สตูดิโอจิบลิก็ได้ปล่อยซาวด์แทร็กลง Spotify, Apple Music, Google Play และ YouTube Music พร้อมให้สตรีม 38 อัลบั้ม รวมทั้งหมด 693 เพลง ซึ่งมีทั้งซาวนด์แทร็กจากภาพยนตร์แอนิเมชัน 23 เรื่องของสตูดิโอจิบลิ ยกเว้นภาพยนตร์เรื่อง Grave of the Fireflies หรือ “สุสานหิ่งห้อย” ในปี 1988 ที่ไม่สามารถปล่อยให้สตรีมมิงได้เพราะสตูดิโอไม่ได้เป็นผู้ถือครองลิขสิทธิ์ของหนัง (เป็นอีกเหตุผลที่เราไม่ได้ชมกันทาง Netflix)  ในขณะที่อัลบั้มอื่น ๆ ที่ปล่อยให้สตรีมได้ ก็ยังประกอบไปด้วยซาวนด์แทร็กจากภาพยนตร์แอนิเมชันยอดนิยม เช่น Spirited Away, Kiki’s Delivery Service, Princess Mononoke และ My Neighbor Totoro ใครที่ดูหนังแล้วอินอยากตามไปฟังเพลงต่อ หรือใครอยากฟังเพลงสบาย ๆ ในยามพักผ่อน ก็ขอนำเสนอเป็นอีกหนึ่งทางเลือกที่น่าสนใจ

Nausicaa of the Valley of the Wind: มหาสงครามหุบเขาแห่งสายลม (1984)

Nausicaa of the Valley of the Wind (1984)

Nausicaa of the Valley of the Wind (1984)

หลังจาก 1,000 ปีหลังการล่มสลายของยุคอุตสาหกรรม ทั้งโลกปกคลุมด้วยมลพิษ พื้นดินหลายส่วนของโลกกลายเป็นทะเลเน่า แหล่งรวมของพืชและสัตว์มีพิษกลายพันธุ์ชนิดต่าง ๆ ที่มีขนาดใหญ่โตและดุร้าย บรรยากาศภายในทะเลเน่าเต็มไปด้วยไอและหมอกพิษ แต่ก็มีสถานที่อยู่แห่งหนึ่งที่มนุษย์สามารถใช้ชีวิตอยู่ได้อย่างสงบสุข นั่นคือหุบเขาแห่งสายลมที่มี “เจ้าหญิงนาอูซิกะ” เป็นผู้ดูแล ประชาชนในหุบเขาแห่งนี้มีความเป็นอยู่เรียบง่าย ไม่ต้องพึ่งพาเทคโนโลยีสมัยใหม่ที่ก่อให้เกิดมลภาวะเป็นพิษ

วันหนึ่งเกิดเหตุร้ายแรง เรือเหาะลึกลับได้ตกลงมากลางหุบเขาและเรือเหาะลำนี้นำฝูงตัว “โอมห์” แมลงมีพิษชนิดหนึ่งที่เกาะติดมาด้วย เชื้อราพิษจากตัวโอมห์แพร่กระจายไปทั่วหุบเขา เริ่มกัดกินต้นไม้และผิวดินขยายตัวเป็นวงกว้างไปเรื่อย ๆ เรือเหาะที่ตกนั้นลงมานั้นเป็นของ “เจ้าหญิงกุษณะ” แห่งจักรวรรดิโทโมเกี้ยนที่มีนิสัยโหดร้าย ชอบทำสงครามและภายในเรือเหาะลำนั้นได้บรรทุกไข่ของนักรบยักษ์ซึ่งเป็นอาวุธชีวภาพโบราณมาด้วย เจ้าหญิงกุษณะยกทัพมารุกรานหุบเขาแห่งสายลม การต่อสู้กันของสองเจ้าหญิงและสองอาณาจักรเพื่อปกป้องประชาชนแห่งหุบเขาแห่งสายลมจึงบังเกิดขึ้น

Nausicaa of the Valley of the Wind (1984)

Nausicaa of the Valley of the Wind (1984)

Nausicaa of the Valley of the Wind เป็นภาพยนตร์ที่เป็นหมุดหมายสำคัญของจิบลิและของผู้กำกับฮายาโอะ มิยาซากิ ที่ส่งผลให้เกิดการก่อตั้งสตูดิโอในเวลาต่อมา ดัดแปลงมาจากมังงะเรื่องเดียวกันที่เขียนโดยฮายาโอะเอง ลงตีพิมพ์เป็นตอน ๆ ลงในนิตยสาร Animage ในปี 1982 โดยมีการตีพิมพ์ยาวนานถึง 13 ปี ความยาวทั้งสิ้น 59 ตอน ภายหลังนำมารวมเล่มเป็นความยาว 7 เล่ม โดยในทีแรกฮายาโอะคิดว่าไม่คิดจะดัดแปลงเป็นภาพยนตร์เพราะคิดว่า ภาพยนตร์ไม่สามารถถ่ายทอดเรื่องราวแบบเดียวกับฉบับมังงะได้ (ทำให้เนื้อหาของทั้งสองเวอร์ชันมีความแตกต่างกัน) บทของเจ้าหญิงนาอูซิกะได้รับแรงบันดาลใจมาจากเจ้าหญิง Nausicaa ในเรื่อง The Odyssey ของ Homer

Princess Mononoke: เจ้าหญิงจิตวิญญาณแห่งพงไพร (1997)

Princess Mononoke

Princess Mononoke (1997)

เมื่อหมู่บ้านของ “เจ้าชายอะชิทากะ” แห่งราชวงศ์เอมิชิ ถูกอสูร “ทาทาริ” บุกเข้าทำลาย เพื่อช่วยเหลือหมู่บ้านให้ปลอดภัย เจ้าชายอะชิทากะจึงจำเป็นต้องสังหารอสูรตนนั้นเสีย แต่ก็ทำให้เขาได้รับบาดเจ็บที่แขนขวาจนกลายเป็นบาดแผลต้องคำสาปที่เกิดจากความโกรธแค้น ชิงชังในตัวมนุษย์ที่มากับตัวเจ้าอสูรร้ายซึ่งแท้ที่จริงแล้วก็คือเทพหมูป่าที่ถูกความมืดเข้าครอบงำ อะชิทากะจำเป็นต้องเดินทางออกไปจากหมู่บ้านตามคำแนะนำของแม่เฒ่าหมอดู เพื่อค้นหาหนทางแก้ไขคำสาปที่กำลังกัดกินร่างของเขา ระหว่างทางเขาได้ช่วยชีวิตของคนโลหะนครเข้าโดยบังเอิญ และได้มีโอกาสพบกับเทพหมาป่า “โมโร” และ “ซัน” ลูกเลี้ยงของเทพเจ้าหมาป่า

ณ โลหะนคร อะชิทากะได้พบกับท่านหญิง “อิโบชิ” ที่ต้องการใช้ทรัพยากรของจากผืนป่าเพื่อขยายอำนาจ และยังได้ค้นพบความจริงว่า ต้นเหตุที่ทำให้เทพหมูป่ากลายร่างเป็นอสูรร้าย ก็เพราะลูกกระสุนจากปืนไฟที่อิโบชิยิงเข้าใส่นั่นเอง อิโบชิชักชวนให้เขาเข้าเป็นพวกเพื่อร่วมสังหารเทพผู้สร้างแห่งพงไพรด้วยกัน อิโบชิยังหลอกล่อเขาว่าจะสามารถคลายคำสาปให้ได้ด้วย ต่อมาไม่นานซันบุกเข้ามาเพื่อจะสังหารอิโบชิ อะชิทากะเข้ามาขัดขวางจนถูกยิงได้รับบาดเจ็บ ซันจึงตัดสินใจพาอะชิโทริไปหาพระผู้สร้างเพื่อช่วยชีวิต ระหว่างนั้นสงครามระหว่างชาวโลหะนครและกลุ่มซามูไรที่หวังเข้ายึดครองก็เกิดขึ้น และเทพเจ้าแห่งพงไพรก็กำลังพิโรธโลหะนครด้วยอีกทางหนึ่งพร้อมกัน

Princess Mononoke (1997)

Princess Mononoke (1997)

Princess Mononoke เป็นภาพยนตร์แอนิเมชันที่ทุนสร้างสูงสุดของการสร้างภาพยนตร์แอนิเมชันสักเรื่องในยุคนั้น เป็นจำนวนเงินถึง 2.35 พันล้านเยน ในตอนแรกฮายาโอะต้องการให้ภาพยนตร์เรื่องนี้ เล่าเรื่องราวของเจ้าหญิงที่ถูกพ่อของตัวเองบังคับให้แต่งงานกับสัตว์ประหลาด ซึ่งก็จะไปคล้ายกับ Beauty and the Beast (1992) ของ Disney ที่เขาเคยวาดเอาไว้ในหนังสือภาพสีน้ำประกอบคำบรรยาย Mononoke Hime แต่ด้วยความไม่พร้อมบางประการจึงได้ล้มเลิกความคิดนั้นไป นอกจากนี้ Princess Mononoke ยังถูกวิจารณ์ว่าเป็นการ์ตูนที่มีฉากความรุนแรง เช่น ฉากตัดหัวของนักรบที่กระเด็นหลุดจากบ่า แต่ฮายาโอะกล่าวว่า ในฉากต่อสู้ในสงครามเทพเจ้า ย่อมมีฉากเลือดตกยางออกบ้าง

My Neighbors the Yamadas: ยามาดะ ครอบครัวนี้ไม่ธรรมดา (1999)

My Neighbors the Yamadas

My Neighbors the Yamadas (1999)

ภาพยนตร์การ์ตูนที่พูดถึงเรื่องราววุ่นวายในชีวิตประจำวันของครองครัว “ยามาดะ” ครอบครัวชนชั้นกลางธรรมดาครอบครัวหนึ่งของญี่ปุ่นที่สมาชิกประกอบไปด้วยพ่อ “ทาเคชิ” แม่ “มัตสึโกะ” ลูกชาย “โนโบรุ” ลูกสาว “โนโนโกะ” คุณยาย “ชิเกะ” และสุนัขประตำบ้าน “โปจิ” ต้นฉบับเป็นการ์ตูนสั้นความยาว 4 ช่องจบเรื่อง Tonari No Yamada-kun ผลงานของ “ฮิไซชิ อิชิอิ” ซึ่งพิมพ์เป็นตอน ๆ ลงในหนังสือพิมพ์อาซาฮี ชินบุน เมื่อนำมาดัดแปลงเป็นภาพยนตร์ ผู้ที่กำกับ “อิซาโอะ ทาคาฮาตะ” จึงยังคงรูปแบบเดิมไว้ เรื่องเล่าถึงชีวิตการแต่งงานที่เปรียบเสมือนการแล่นเรือออกสู่โลกกว้าง ที่จะต้องเผชิญกับคลื่นลมและอุปสรรคต่าง ๆ แต่หากทุกคนร่วมแรงร่วมใจกัน ก็จะสามารถผ่านพ้นอุปสรรคนั้นไปได้

My Neighbors the Yamadas

My Neighbors the Yamadas (1999)

ความสนุกของ My Neighbors the Yamadas นอกจากจะแฝงไว้ด้วยไว้ด้วยแง่คิดที่เกิดจากชีวิตประจำวันของเหล่าสมาชิกครอบครัว อีกส่วนหนึ่งยังมาจากสำเนียงการพูดภาษาถิ่นแบบคันไซ (Kansai) ที่ทาคาฮาตะจงใจนำมาใช้เพื่อล้อเลียนตัวละครบางตัวภายในเรื่อง โดยปกติแล้วภาษาพูดของคนถิ่นนี้จะมีสำเนียงผิดแผกไปจากคนในเมืองหลวงซึ่งเมื่อคนได้ฟังสำเนียงแบบคันไซก็จะรู้สึกขบขัน เบื้องหลังงานสร้างของเรื่องนี้ถูกบันทึกไว้ว่า เป็นภาพยนตร์การ์ตูนเรื่องแรกของจิบลิที่ผลิตโดยใช้คอมพิวเตอร์กราฟิกทั้งเรื่องที่ผู้กำกับอยากให้งานด้านภาพออกมาคล้ายกับการวาดสีน้ำ ซึ่งไม่สามารถทำได้หากใช้เทคนิคการวาดด้วยมือ (Hand-Painted Cels) งานสร้างกินเวลาถึง 2 ปีเต็ม

Spirited Away: มิติวิญญาณมหัศจรรย์ (2001)

Spirited Away (2001)

Spirited Away (2001)

ครอบครัวโองิโนะประกอบไปด้วยพ่อ แม่ และจิฮิโระ ลูกสาววัย 10 ขวบ พวกเขากำลังย้ายบ้านไปย่านชนบท จิฮิโระไม่ค่อยพอใจกับการย้ายบ้านในครั้งนี้ ขณะเดินทางอยู่นั้นเองเธอก็ได้พลัดหลงเข้าไปยังดินแดนประหลาดโดยบังเอิญ ณ ดินแดนแห่งนั้น พ่อและแม่ของเธอได้ถูกสาบให้กลายเป็นหมู เพราะไปกินอาหารที่เตรียมไว้เลี้ยงเหล่าเทพเจ้าที่โดยไม่ได้รับอนุญาต ขณะที่กำลังสับสนอยู่นั้นเอง จิฮิโระก็ได้รับความช่วยเหลือจาก “ฮาคุ” เด็กหนุ่มลึกลับ ด้วยคำแนะนำของฮาคุและ “คามาจิ” คนคุมเตาน้ำร้อนพร้อมกับ “ริน” สาวรับใช้ประจำโรงอาบน้ำ จิฮิโระจึงได้เข้าไปทำงานที่โรงอาบน้ำของ “ยูบาบะ” แม่มดซึ่งมีอำนาจสูงที่สุดในเมือง เพื่อรอเวลาและโอกาสที่จะช่วยให้พ่อและแม่ กลับคืนร่างคนได้อีกครั้ง

Spirited Away (2001)

Spirited Away (2001)

หนังทำรายได้เป็นประวัติศาสตร์ถึง 30,000 ล้านเยน หรือประมาณ 250 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ครองตำแหน่งหนังทำเงินสูงสุดตลอดกาลของประเทศญี่ปุ่นอยู่นานหลายสิบปี ด้านรายได้นอกประเทศหนังก็กวาดรายได้จากทั่วโลกไปอีกกว่า 150 ล้านเหรียญสหรัฐ ด้านรางวัลที่คว้ามาได้นั้น สูงสุดคือการคว้ารางวัลภาพยนตร์แอนิเมชันยอดเยี่ยมบนเวทีออสการ์ ครั้งที่ 75 เมื่อปี 2003 และรางวัล Golden Bear จาก Berlin International Film Festival เมื่อปี 2002

ในปี 1997 ฮายาโอะ มิยาซากิ เคยประกาศในงานแถลงข่าวภาพยนตร์เรื่อง Princess Mononoke ว่าจะเกษียณจากการเป็นผู้กำกับ ต่อมาปี 1998 เขาได้ลาออกจากสตูดิโอจิบลิเพื่อไปดูแลพิพิธภัณฑ์จิบลิ แต่ในปี 1999 เขากลับมาอีกครั้ง และในปี 2001 ก็ได้ผลิตผลงานชิ้นเยี่ยมอย่าง Spirited Away หรือในชื่อ Sen to Chihiro no Kamikakushi เขาได้รับแรงบันดาลใจมาจากการ์ตูนสำหรับเด็กผู้หญิงที่ลูกสาวของเพื่อนลืมไว้ในบ้านพักตากอากาศของเขา ซึ่งเนื้อเรื่องเต็มไปด้วยความรุนแรง ฮายาโอะจึงอยากสร้างเรื่องราวที่สร้างสรรค์ และบอกเล่าเรื่องราวเด็กผู้หญิงธรรมดา ๆ คนหนึ่งที่ไม่มีเวทมนตร์หรือความสามารถพิเศษอะไร

The Cat Returns: เจ้าแมวยอดนักสืบ (2002)

The Cat Returns

The Cat Returns (2002)

ในขณะที่แมวตัวหนึ่งกำลังเดินข้ามถนน “ฮารุ” เด็กนักเรียนสาววัยมัธยมช่วยช้อนแมวขึ้นมาให้พ้นจากการถูกรถบรรทุกชนได้สำเร็จ ทันใดนั้นฮารุต้องตกใจกับสิ่งที่เห็นตรงหน้า เมื่อเจ้าแมวที่เธอช่วยชีวิตไว้ลุกขึ้นยืนสองขาพร้อมโค้งคำนับ และกล่าวขอบคุณออกมาเป็นภาษามนุษย์ พร้อมกับคำสัญญาว่าจะกลับมาตอบแทนบุญคุณของฮารุ ต่อมาในคืนเดียวกันนั้นเอง เธอก็ได้พบกับเหตุการณ์ที่ทำให้ประหลาดใจมาขึ้น เมื่อมีขบวนพาเหรดซึ่งประกอบด้วยแมวจำนวนนับร้อยตัวมุ่งตรงมายังบ้านของเธอ นำโดยขบวนของพระราชาแห่งอาณาจักรแมว ที่ต้องการเดินทางมาแสดงความขอบคุณที่ได้ช่วยเจ้าชาย “ลูน” บุตรชายเพียงคนเดียว พระราชาแมวต้องการตอบแทนบุญคุณด้วยการแต่งตั้งเธอเป็นพระชายาของเจ้าชายลูน

The Cat Returns

The Cat Returns (2002)

ภาพยนตร์เรื่อง The Cat Returns หรือ Neko no Ongaeshi เป็นผลงานการกำกับของฮิโรยูกิ โมริตะ ที่ดัดแปลงมาจากการ์ตูนเรื่อง Neko no Danshaku, Baron ของอาโออิ ฮิอิรากิ ซึ่งเป็นคนเขียนคนเดียวกับที่เขียน Whisper of the Heart ที่เป็นฉบับภาพยนตร์มาแล้ว ซึ่ง The Cat Returns ก็เป็นเหมือนส่วนเติมเต็มของเรื่องนั้นอีกทีที่นำตัวละคร “บารอน” และ “มูน” กลับมาให้เห็นกันอีกครั้งในบทอัศวินของฮารุ หนังเรื่องนี้แม้จะถูกมองว่าเป็นผลงานคั่นเวลาของสตูดิโอจิบลิ (เพราะไม่ได้กำกับโดยฮายาโอะ หรือทาคาฮาตะ) แต่ก็เป็นผลงานของอีกหนึ่งมือดีของจิบลิที่อยู่เบื้องหลัง Kiki’s Delivery และ My Neighbors the Yamadas มาก่อน หนังเข้าฉายในปีที่ Spirited Away ได้ออสการ์และทำรายได้ไป 50.59 ล้านเหรียญสหรัฐฯ

The Secret World of Arrietty: อาริเอตี้ มหัศจรรย์ความลับคนตัวจิ๋ว (2010)

The Secret World of Arrietty

The Secret World of Arrietty (2010)

“โช” เด็กหนุ่มจากโตเกียวที่เดินทางมาพักผ่อนที่บ้านของป้าเพื่อเตรียมผ่าตัดโรคหัวใจชานเเมืองโตเกียว เขาจึงไม่สามารถออกกำลังกายหรือทำกิจกรรมกลางแจ้งได้ โชได้พบกับ “อาริเอทตี้” สาวน้อยนักยืมของตัวจิ๋วที่แอบซ่อนตัวอยู่แถวพุ่มไม้ ทำให้เขาค้นพบความจริงว่า บริเวณบ้านของป้ายังมีครอบครัวของมนุษย์จิ๋วซ่อนตัวอยู่ โดยครอบครัวนั้นประกอบไปด้วยพ่อ แม่ และอาริเอทตี้ผู้เป็นลูกสาว ครอบครัวนี้แอบซ่อนตัวอยู่และดำรงชีวิตด้วยการยืมของเล็ก ๆ น้อย ๆ จากมนุษย์ เช่น น้ำตาล ข้าว หรือกระดาษ ในคืนที่ได้เจอกับโชครั้งแรก อาริเอทตี้กำลังจะอายุครบ 14 ปีเต็มและจะได้ออกไปยืมของครั้งแรกกับพ่อ เธอเสียใจที่ถูกโชจับได้เพราะตามหลักแล้วเธอห้ามไม่ให้มนุษย์เห็น แต่ในที่สุดทั้งโชกับอาริเอทตี้ ก็ได้ก่อเกิดมิตรภาพใหม่ระหว่างมนุษย์และภูติจิ๋ว ในการร่วมผจญภัยในภารกิจไปด้วยกันอย่างที่ทั้งสองจะไม่มีวันลืม

The Secret World of Arrietty

The Secret World of Arrietty (2010)

The Borrower Arrietty หรือ Karigurashi no Arietti เป็นภาพยนตร์การ์ตูนลำดับที่ 18 ของสตูดิโอ ออกฉายในปี 2010 ตอนที่จิบลิเป็นที่รู้จักในวงกว้างแล้ว โดยได้ผู้กำกับ “ฮิโรมาสะ โยเนบายาชิ” หนึ่งในผู้กำกับรุ่นใหม่ของสตูดิโอที่เคยผ่านงานเบื้องหลังของ Princess Monomoke และ Spirited Away มาแล้ว ส่วนผู้เขียนบทก็คือฮายาโอะ และเคโกะ นิวะ ดัดแปลงมาจากนิยายชื่อดังของ Mary Norton เรื่อง The Borrowers ซึ่งมีเนื้อหาบอกเล่าถึงคนตัวจิ๋วที่ดำรงชีวิตอยู่ด้วยการหยิบยืมของจากบ้านมนุษย์ที่ตัวเองอาศัยอยู่ (จริง ๆ เรียกว่าขโมยก็อาจจะตรงกว่า)

หนังทำรายได้สูงสุดเป็นอันดับ 1 ของหนังทุกประเภทในปี 2010 ด้วยรายได้กว่า 8,900 ล้านเยน โดยส่วนสำคัญที่ทำให้ผู้คนพูดถึงก็คือเพลงประกอบของนักแต่งเพลงชาวฝรั่งเศส Cecille Corbel โดยเขาได้เขียนจดหมายแนะนำตัวพร้อมทั้งส่งผลงานมาให้จิบลิพิจารณาให้เขาร่วมงานด้วย ซึ่งจิบลิก็เลือกเขามาทำเพลงประกอบหนังเรื่องนี้ในที่สุด

The Tale of the Princess Kaguya: ตำนานเจ้าหญิงคางุยะ (2013)

The Tale of the Princess Kaguya

The Tale of the Princess Kaguya (2013)

หนังเล่าเรื่องราวตามตำนานโบราณของญี่ปุ่น เปิดเรื่องด้วยสองสามีภรรยาที่หาเลี้ยงชีพด้วยการตัดไม้ไผ่ขาย วันหนึ่งสามีได้พบกับมนุษย์ตัวจิ๋วขนาดเท่านิ้วมือ แต่งตัวเหมือนเจ้าหญิง ซ่อนตัวอยู่กระบอกไม้ไผ่ เขาเก็บเธอมาเลี้ยงดูดั่งลูกในไส้ หลังจากนั้นเธอก็เจริญเติบโตเร็วกว่าเด็กปกติ นอกจากนั้นพ่อที่เก็บเธอมาเลี้ยงก็ยังค้นพบของมีค่ามากมายทั้งทอง ผ้าไหม ทำให้เขาเชื่อว่า เด็กผู้หญิงคนนี้น่าจะมีชาติกำเนิดที่ยิ่งใหญ่เกินกว่าจะอยู่ที่นี่ เธอจึงถูกนำตัวไปที่เมืองหลวงเกียวโต (เมืองหลวงในเวลานั้น) และได้รับชื่อใหม่ว่า “คางูยะ” ที่แปลว่า แสงที่สุกสกาว

ยิ่งเวลาผ่านไป คางูยะก็ยิ่งรู้สึกว่าชีวิตในเมืองหลวงนั้นเต็มไปด้วยกฎระเบียบมากมาย ทั้งการที่เธอต้องแต่งหน้าแต่งตัว และประพฤติตนตามแนวทางที่สังคมต้องการจนเธอรู้สึกอึดอัดและคิดถึงชีวิตชนบทอันเรียบง่ายแต่หนหลังในวันที่เธอเคยมีความสุขกับเพื่อน ๆ และครอบครัว ด้วยรูปโฉมที่งดงาม เธอจึงถูกชายหนุ่มผู้สูงศักดิ์ 5 คนมาสู่ขอเป็นภรรยารวมถึงตกเป็นเป้าหมายขององค์จักพรรดิที่หมายปองเธอ แต่เธอก็ไม่อาจตกลงปลงใจรักใครได้ เพราะสักวันหนึ่งคางูยะก็จะต้องกลับไปยังจุดกำเนิดของเธอซึ่งอยู่บนดวงจันทร์อันไกลโพ้น

The Tale of the Princess Kaguya

The Tale of the Princess Kaguya (2013)

หนังเป็นผลงานกำกับลำดับที่ 6 ของ “อิซาโอะ ทาคาฮาตะ” ซึ่งได้ทำหน้าที่เขียนบทร่วมกับ “ริโกะ ซากางูชิ” ดัดแปลงมาจากนิทานพื้นบ้านของญี่ปุ่นชื่อ “ตำนานคนตัดไผ่” (The Tale of the Bamboo Cutter) ซึ่งมีอายุยาวนานกว่า 1,000 ปี ถือเป็นเรื่องเล่าที่เก่าแก่ที่สุดของญี่ปุ่นที่มีการบันทึกกันเอาไว้ เคยดัดแปลงมาแล้วหลายรูปแบบแต่ที่น่าจะคุ้นเคยกันดีจะเป็นฉบับภาพยนตร์ Princess From the Moon ฉบับปี 1987 ของผู้กำกับ “คอน อิชิคาว่า”

หนังเกี่ยวกับเจ้าหญิงคางูยะ เป็นโพรเจกต์ในฝันของทาคาฮาตะมาเป็นเวลายาวนานถึง 55 ปี ตอนที่เขายังเป็นผู้ช่วยผู้กำกับให้กับโทมุ อูชิดะซึ่งวางแผนจะสร้างเป็นหนังแต่สุดท้ายก็ต้องล้มเลิกไป จุดเด่นของหนังคือการชูประเด็นเรื่องการอนุรักษ์ธรรมชาติ และประเด็นเฟมินิสต์ที่โต้แย้งประเด็นระบบสังคมศักดินาแบบชายเป็นใหญ่ นอกจากนั้น จุดเด่นในเชิงเทคนิคของเรื่องนี้ก็คือการยังคงเอกลักษณ์การทำการ์ตูนเป็นภาพสองมิติ ใช้เทคนิคเหมือนภาพวาดจากพู่กันและสีที่เหมือนกับสีน้ำที่ถูกเจือจาง ลดทอนรายละเอียดให้เหลือเพียงคร่าว ๆ จนหน้าตาของตัวละครและฉากหลังออกมาพร่าเลือน

เรียบเรียงจาก 

  • Starpics ฉบับ “Everything about Ghibli Story” (3rd Edition) โดย เกรียงไกร พัฒนกุลโกเมธ

อ้างอิง

 

พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส