เมื่อช่วงปลายเดือนเมษายน 2020 ที่ผ่านมา Netflix ได้ฉายภาพยนตร์เรื่องล่าสุดที่นำแสดงโดย Chris Hemsworth (คริส เฮมสวอร์ธ) นั่นคือ Extraction ซึ่งมีพื้นหลังเป็นประเทศบังกลาเทศ โดยได้ใช้เทคนิคการปรับภาพให้ออกมาในโทนสีเหลือง แต่ตอนถ่ายทำในสถานที่จริงนั้นเป็นภาพสีธรรมชาติ

Extraction

Extraction (2020)

เทคนิคนี้เรียกว่า ฟิลเตอร์สีเหลือง (Yellow Filter) ซึ่งมักจะใช้กับภาพยนตร์ที่เดินเรื่องในประเทศอินเดีย, เม็กซิโก ประเทศแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งเป็นการสื่อถึงสภาพอากาศที่ร้อน และทำให้ภาพพื้นที่ที่ปรากฏบนจอนั้น ให้ความรู้สึกสกปรก และแห้งแล้ง

อีกทั้งยังดูเหมือนว่า ผู้สร้างภาพยนตร์จากฮอลลีูวู้ดจะจงใจใช้ฟิลเตอร์สีเหลืองกับประเทศที่พวกเขาดูว่าเป็นสถานที่อันตราย หรือหรือทำให้มันดูน่ารังเกียจมากเกินความจำเป็น โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่ประเทศเหล่านี้มักจะมีข่าวในด้านความรุนแรง มากกว่าที่จะถูกสื่อต่าง ๆ นำเสนอในด้านความสวยงามของธรรมชาติและสถานที่ท่องเที่ยว

Extraction

Extraction (2020)

Sulymon นักวิเคราะห์ด้านธุรกิจจากแคลิฟอร์เสีย ผู้ซึ่งครอบครัวมาจากประเทศอินเดีย, ปากีสถาน และอัฟกานิสถาน ได้กล่าวว่า “มันเป็นเรื่องชวนให้อารมณ์เสียอย่างยิ่ง มันเป็นวิธีที่ชาวตะวันตกใช้ในการเหยียดเชื้อชาติกับสถานที่และผู้คนเหล่านี้”

ก่อนหน้า Extraction นั้น ก็มีภาพยนตร์หลายเรื่องที่โทนสีในลักษณะนี้ ยกตัวอย่างเช่น

  • Traffic (2000) ภาพยนตร์รางวัลออสการของผู้กำกับ Steven Soderbergh (สตีเว่น โซเดอเบิร์ก) ใช้โทนสีเหลืองในการกล่าวถึงประเทศเม็กซิโก และโทนสีฟ้าในการกล่าวถึงประเทศสหรัฐอเมริกา
  • Darjeeling Limited (2007) ของผู้กำกับ Wes Anderson (เวส แอนเดอร์สัน) ในฉากที่กล่าวถึงหมู่บ้านเล็ก ๆ ในประเทศอินเดีย
  • ซีรีส์ Breaking Bad (2008-2013) ในฉากที่กล่าวถึงประเทศเม็กซิโก
Darjeeling Limited (2007)

Darjeeling Limited (2007)

Breaking Bad

Breaking Bad (2008-2013)

นั่นอาจกล่าวได้ว่า ผู้สร้างภาพยนตร์อเมริกันมักจะใช้ฟิลเตอร์สีเหลืองเมื่อต้องการกล่าวถึงประเทศแห้งแล้ง, มีมลพิษสูง และเป็นเขตสงคราม แต่ในขณะเดียวกัน เมื่อกล่าวถึงประเทศในแถบตะวันตก ก็มักจะใช้โทนสีเขียว หรือฟ้า

ยกตัวอย่างเช่นฉากในภาพยนตร์ Twilight (2008) หรือ The Bourne Identity (2002) เป็นต้น ที่ตัวละครนำจะมีโทนสีผิวที่ขาว แต่ตัวละครใน Extraction หรือ Traffic ที่เป็นชาวอินเดีย หรือเม็กซิกัน นั้น สีผิวจะถูกนำเสนอออกมาในโทนน้ำตาล

Twilight

Twilight (2008)

Extraction

Extraction (2020)

ก่อนหน้านี้ ผู้ชมในประเทศบังคลาเทศ ก็ได้แสดงความผิดหวังกับมุมมองของทีมผู้สร้างภาพยนตร์ Extraction ที่มองประเทศของตนในทางที่ไม่ถูกต้อง ไม่ถูกตามความเป็นจริง และบิดเบือนในหลาย ๆ ส่วน มีความผิดเพี้ยนทั้งด้านภูมิศาสตร์, วัฒนธรรม และผู้คน

Extraction

Extraction (2020)

อย่างไรก็ดี หากมองในแง่ของศิลปะการสร้างภาพยนตร์ และความจำเป็นต้องอำนวยความสะดวกในการถ่ายทำเพื่อควบคุมงบประมาณ แล้วล่ะก็ การใช้ฟิลเตอร์สีเหลืองสำหรับที่ผู้สร้างภาพยนตร์คิดว่าเป็นแถบเขตร้อน หรือแห้งแล้งนั้น ก็เป็นสิ่งที่เข้าใจได้

แต่ถ้าคิดในการกลับกัน ผู้ชมบางกลุ่มก็มีแนวคิดว่า การเลือกใช้ฟิลเตอร์สีเหลือง หรือฟ้า เพื่อแบ่งแยกมุมมองที่มีต่อประเทศนั้น ๆ เหมาะสมหรือไม่ และจะส่งผลต่อมุมมองของคนรุ่นใหม่ที่มีต่อประเทศนั้น ๆ จนส่งกลายเป็นเหยียดเชื้อชาติในอนาคตหรือไม่ ซึ่งเป็นสิ่งที่ต้องใช้เวลาเป็นเครื่องพิสูจน์ ต่อไป

ข้อมูลอ้างอิง : matadornetwork

 

พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส