เป็นซีรีส์ที่ไม่ได้รีวิวเพราะมัวแต่หลงอยู่ในกูซูไม่จบไม่สิ้น จนบัดนี้ล่วงเลยมาถึงปี 2020 เชื่อว่ามีหลายคนวนกลับเข้าไปในกูซูอยู่บ่อย ๆ เดือนหน้าก็จะครบรอบ 1 ปีที่ซีรีส์เรื่องนี้ออกอากาศแล้ว ไม่พูดถึงก็เกรงว่าจะผิดบาป แต่ก่อนอื่นขอแสดงความยินดีกับ ปรมาจารย์ลัทธิมาร อีกครั้งค่ะ ที่นอกจากจะเป็นซีรีส์ที่ทำให้ Tencent เติบโตถึง 250% จากซีรีส์เรื่องนี้แค่เรื่องเดียวแล้ว จนถึงปัจจุบันยังมียอดการรับชมใน แอป Tencent มากกว่า 8 พันล้านครั้ง ไม่นับรวม WeTV ของประเทศต่าง ๆ ด้วยนะ (ข้อมูลวันที่ 20 พฤษภาคม) และได้ข่าวว่าผู้ที่เข้ากูซูหลังสุดอย่างญี่ปุ่น ถึงกับปล่อย Blu-Ray ออกมาวางจำหน่ายกันด้วย สนนราคาชุดละ 6,000 บาท​+ มีทั้งหมด 3 ชุด ซึ่งจะวางจำหน่ายในอีก 3 เดือนข้างหน้า เปรี้ยงแค่ไหนถามใจดู

ภาพจาก NSMGroup Fanpage

เกริ่นเล็กน้อยสำหรับใครที่ยังไม่เคยดูซีรีส์จากจีนแผ่นดินใหญ่เรื่องนี้นะคะ ปรมาจารย์ลัทธิมาร ดัดแปลงมาจากนิยาย boy love ที่แต่งโดย โม่เซียงถงซิ่ว ซึ่งก็นำมาทำทั้งมังงะและอนิเมะจนถึงซีรีส์ที่เรากำลังพูดถึงกันอยู่ เห็นคำว่า boy love หลายท่านอาจจะร้อง อุ๊ย!!! นี่มันซีรีส์สาย Y รึเปล่า ก็ใช่เลย แต่ก็สามารถที่จะไม่ใช่ในเวลาเดียวกันค่ะ

ซีรีส์ดำเนินไปในลักษณะตัวเอกคู่ เล่าเรื่องราวของ เว่ยอิง หรือ เว่ยอู๋เซียน (เซียวจ้าน 肖战 ) จากตระกูลเจียง แห่ง อวิ๋นเมิ่ง หนุ่มรูปงาม ยอดอัจฉริยะและจิตใจดี กับ หลานจ้าน หรือ หลานวั่งจี (หวังอี้ป๋อ 王一博) จากตระกูลหลาน แห่ง กูซู หนุ่มรูปงามที่แสนเย็นชาและเคร่งครัดกฎระเบียบ เป็นคู่หูตระกูลเซียน ที่มีปณิธานเดียวกันตั้งแต่รุ่นหนุ่มคือ “กำจัดคนชั่ว ช่วยเหลือผู้อ่อนแอ ไร้เรื่องละอายใจ”

ปรมาจารย์ลัทธิมาร The Untamed

งานกำจัดคนชั่วช่วยผู้อ่อนแอของสองคนนี้ เริ่มจากการตามหาชิ้นส่วนของเหล็กทมิฬ เพื่อผนึกมันไว้ให้ห่างไกลจากเงื้อมือของ เวินรั่วหาน ประมุขตระกูลเวินที่พยายามจะรวมเหล็กทมิฬเพื่อหวังจะครอบงำเหล่าตระกูลเซียนอื่น ๆ ซึ่งมีตระกูลใหญ่ที่เป็นตระกูลสำคัญในเรื่องคือ หลาน เจียง จิน เนี่ย เวิน ทั้งสองคนผ่านอุปสรรคมากมายมาด้วยกันจนเป็น สหายสนิท แต่แล้ววันหนึ่ง เว่ยอิง มีเหตุให้ต้องไปฝึกวิชาพิสดารที่เขาคิดค้นขึ้นเองและสร้าง ตราพยัคฆ์ทมิฬ ขึ้นมาเพื่อหวังจะจัดการกับศัตรู ทำให้ผู้คนกล่าวขานและตั้งสมญาให้ว่า ปรมาจารย์อี๋หลิง (อี๋หลิงเหลาจู่)

เขาถูกใส่ร้ายและต้องพบกับเรื่องราวที่ทำให้ บุรุษหนุ่มต้องจบชีวิตตัวเองอย่างระทมทุกข์ที่ ปู่เย่เทียน สร้างความเสียอกเสียใจให้ หลานจ้าน เป็นอย่างมาก 16 ปีผ่านไป (ตามไทม์ไลน์ซีรีส์) โม่เสวียนอี่ ใช้อาคมสละชีพแลกวิญญาณกับ เว่ยอิง ให้ฟื้นคืนชีพเพื่อมาแก้แค้นและไขปมปริศนา การรอคอยสหายสนิทเป็นเวลาสิบกว่าปีของหลานจ้าน ก็สมหวัง สองคนจับมือกันร่วมแก้ไขสถาณการณ์ต่าง ๆ ปมปริศนาฆาตกรรมคลายออก คนร้ายตัวจริงถูกเปิดเผย จบจ้ะ …จริง ๆ แล้วเนื้อหามันก็คือ ซีรีส์กำลังภายในท่องยุทธจักร มีฝ่ายธรรมะลวงโลกและฝ่ายอธรรมจำเป็น แต่ทำไมซีรีส์เรื่องนี้ถึงดังเปรี้ยงจนทำเอาเด็กหนุ่มสองคนเป็นที่รู้จักทั่วเอเชียในพริบตา

ความงามของบทโทรทัศน์

เมื่อนำนิยายมาทำเป็นละครโทรทัศน์ แน่นอนว่าการเขียนบทให้ถ่ายทอดออกมาได้กินใจผู้ชมและไม่กระทบกับบทประพันธ์ไม่ใช่เรื่องง่าย โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าละครเรื่องนั้นนำมาจากนิยาย Boy Love ที่โด่งดัง มิหนำซ้ำประเทศผู้ผลิตยังไม่เปิดกว้างให้ทำออกมาอย่างเสรี บทที่เขียนออกมาจึงมีการบิดบทประพันธ์ให้เป็นไปในทางท่องยุทธจักรของสองเพื่อนซี้ มีการตัดทอนความเป็น Y ออกไปและแทนที่ด้วยมิตรภาพแน่นแฟ้น แบบฉบับลูกผู้ชายที่เพียงมองตาก็รู้ใจ และข้อจำกัดที่ว่าก็นำไปถึงการสร้างงานศิลปะชั้นละเมียดด้านอื่น ๆ

สามพี่น้องตระกูลเจียง

เมื่อเราต้องอยู่ในกรอบเราก็ต้องสวยที่สุด เหมือนภาพวาดสวยงามที่ศิลปินสร้างขึ้นจริงไหมคะ บทจึงมีการปูความสัมพันธ์หลากหลายรูปแบบ นำเสนอมุมมองความรักในหลาย ๆ ด้าน ไม่ว่าจะเป็นความสัมพันธ์ในครอบครัวของแต่ละตระกูล มิตรภาพที่เป็นรักแท้แบบไม่มีอะไรกั้น (แต่ไม่หยุด) ของเว่ยอิงและหลานจ้านที่ต่างคนต่างเชื่อในความดีซึ่งกันและกัน โดยยึดถือคุณธรรมเป็นหลักและไม่ทรยศต่อตนเอง นอกจากนี้ยังผูกปมต่าง ๆ ได้แน่นขนัด ดราม่ากันกระจัดกระจายน้ำตาท่วมจอ (ดิฉันเสียน้ำตาให้กับตระกูลเจียงไป 2 ไห)

ตัวละครทุกตัวมีเหตุและผลของการกระทำที่เป็นไปได้ ไม่มีการกระทำของตัวละครตัวไหนไร้เหตุผล ทุกคนมีบทบาทความสำคัญที่จะโยงใยไปถึงเหตุอันน่าจะเป็นภายในเรื่อง ที่จะเปิดเผยที่มาที่ไปของตัวละครตัวอื่นในฉากต่อ ๆ ไป จนถึงกับเรียกได้ว่าเราจะข้ามซีนไหนไปไม่ได้เลย

ศิลปะแห่งการสื่อสาร

ชมจริงจังกับการถ่ายทอดในซีนต่าง ๆ ของผู้กำกับ การแสดงออกทางสีหน้า ท่าทางและแววตาของตัวละครอยู่ในขั้นละเมียด กลมกลืน เป็นศิลปะการนำเสนอที่หลีกเลี่ยงความ Y ไปอย่างไร้ข้อกังขา แปรเปลี่ยนเป็นมิตรภาพความรักระหว่างสหาย เล่นแร่แปรธาตุจาก Y กลายเป็นความสัมพันธ์ละมุนละม่อมจนเราเผลอยิ้มให้กับมิตรภาพที่อยู่ตรงหน้าบ่อย ๆ เป็นการใช้ภาษากายที่สุภาพและสื่อความหมายทางอ้อมได้อย่างไม่ขัดสายตา ติดใจมากกับฉากหลานจ้านบรรเลงกู่ฉินและเว่ยอิงเป่าขลุ่ย ช่วยกันสะกดวิญญาณดาบ สายตาที่ส่งให้กันมันซ่อนความหมายเอาไว้อย่างพรั่งพรู

หลานจ้านขโมยไก่

ซีรีส์มีการซ่อนความหมายแฝงไว้อย่างมากมาย โดยใช้หลักความเชื่อ ประเพณี วัฒนธรรมของจีนโบราณในเชิงสัญลักษณ์ แบบให้คนดูเดาทางและตีความหมายแบบจิ้น ๆ กันเอาเองกับฉาก หลานจ้านจับไก่ ปีระกากับความเชื่อของชาวจีน

ศิลปะของการเผยแพร่วัฒนธรรม

เรื่องนี้กล่าวถึงจีนโบราณ อุปโลกขึ้นมาให้เป็นยุคที่มีเซียนขี่กระบี่ เซียนในที่นี้คือคนที่ฝึกวิชาจนเป็นมนุษย์พิเศษที่สามารถปราบภูตผี เขียนยันต์ มีลมปราณขั้นสูงสุดที่เรียกว่า จินตาน ขับเคลื่อนพลังวิญญาณ ใช้กระบี่และเครื่องดนตรีคือ กู่ฉิน 7 สายและขลุ่ยในการต่อสู้ เป็นการนำความเชื่อเดิมของจีนโบราณที่เชื่อว่าการฟังหรือบรรเลง กู่ฉิน จะสามารถเข้าไปสัมผัสในส่วนจิตของผู้ฟัง มากกว่านั้นยังสามารถรักษาและทำลายได้แบบต่างกรรมต่างวาระ คือจะใช้มันเพื่ออะไรก็บิดไปได้ตามสันดาน

กู่ฉินวั่งจี และ ขลุ่ยเฉิยฉิง

ซึ่งผู้บุกเบิกอาวุธระรื่นหูชนิดนี้คงหนีไม่พ้น จูกัดเหลียง หรือ ขงเบ้ง แห่ง สามก๊ก หากใครเคยอ่านวรรณกรรมเพชรน้ำเอกของโลกชิ้นนี้จะจำได้ว่า ขงเบ้งก็ใช้กู่ฉินบรรเลงบนกำแพงเมืองเพื่อลวงสุมาอี้จนสำเร็จมาแล้ว (มีผลงานวิจัยเรื่องสามก๊ก กู่ฉิน ในสายธารแห่งอารยธรรมมังกร วิจัยมาแล้วว่าเครื่องดนตรีที่ขงเบ้งใช้ คือ กู่ฉิน)

ในซีรีส์จีนโบราณเรื่องอื่น ๆ อย่าง มังกรหยก ของ กิมย้ง เราจะเห็นฉินเป็นตัวทำลายล้างซะมากกว่า แต่ปรมาจารย์ลัทธิมารสามารถทำให้เราเห็นอีกด้านของฉินที่หลานจ้านบรรเลงบทเพลงชิงซิน (ชำระใจ) เพื่อรักษาอาการเจ็บป่วยหรือสงบจิต แม้กระทั้ง ขลุ่ย ที่เว่ยอิงใช้ ก็ยังเป็นสัญลักษณ์แสดงตัวตนถึงความเรียบง่ายของตัวละครตัวนี้ได้อย่างตรงไปตรงมา ถือเป็นการเผยแพร่วัฒนธรรมจีนออกสู่สายตาชาวโลกได้อย่างแยบยล

ความงดงามของอุปกรณ์ประกอบฉาก

ถือเป็นแง่งามอีกมุมหนึ่งที่ขอใช้คำว่า งามหยดย้อย การดูเบื้องหลังการถ่ายทำของซีรีส์เรื่องนี้ ในส่วนของอุปกรณ์ประกอบฉากทำให้เกิดความรู้สึกอิ่มสุข นี่เรากำลังดูการสร้างสรรค์งานศิลปะอยู่ชัด ๆ ไม่เสียแรงที่ประเทศจีน เป็นประเทศอันดับต้น ๆ ของวงการศิลปะโลก และซีรีส์เรื่องนี้ทำให้เราประจักษ์ได้ว่าคำกล่าวนั้นไม่เคยเกินจริง

งานปราณีตจากช่างฝีมือ

งานฝีมือต่าง ๆ ที่ปรากฎอยู่ในซีรีส์เรื่องนี้ไม่มีจุดไหนที่ปล่อยผ่าน แม้แต่จุดที่เราไม่น่าจะสังเกตเห็น ยิ่งพอได้เห็นกับตาว่าแต่ละชิ้นงานที่ทำออกมามากกว่า 50% ล้วนทำด้วยมือ บวกกับ CG อลังการ เนียนตา ก็รู้สึกว่าคุ้มค่าทุกนาทีที่ได้ดูซีรีส์เรื่องนี้

การลงลึกของเพลงประกอบ

เพลงประกอบภาพยนตร์ เพลงประกอบละครต่าง ๆ แน่นอนว่าจะบอกเล่าเรื่องราวนั้น ๆ ให้ครอบคลุมเนื้อเรื่อง หรือเจาะเข้าไปกลางใจของตัวแสดงเอก แต่ปรมาจารย์ลัทธิมารทำให้เพลงประกอบมีความหมายลึกซึ้งมากขึ้นไปอีก เพราะนอกจากจะมีเพลง อู๋จี ที่เป็น Theme Song ของเรื่องแล้ว ยังแยกย่อยเป็นเพลง Character Song อธิบายความรู้สึกภายในใจของตัวแสดงหลักทุกตัวเอาไว้อีกด้วย เรียกว่าดูซีรีส์จบแล้ว มาฟังเพลง แปลความหมายก็จะทำให้เราเข้าใจบริบทต่าง ๆ ของตัวละครได้มากขึ้นไปอีก ดูซีรีส์ว่าน้ำตาท่วมแล้ว ฟังเพลง อ่านความหมายก็ร้องไห้เหมือนหมามากกว่าเดิม

การต่อยอดที่ไม่ยอมให้มูฟออน

เป็นที่ทราบกันดีของแฟนซีรีส์นะคะ ว่าปรมาจารย์ลัทธิมาร มีอะไรให้ดูมากกว่าซีรีส์ที่จบไปแล้ว โดยการสร้างภาคแยกออกมาเป็นรูปแบบภาพยนตร์ ความยาว 1ชั่วโมง 20 นาที คือ ภาคลมหายใจขุนพลผี (The living dead) เล่าเรื่องราวของ เวินหนิง (อวี๋ปิน 于斌) ขุนพลผีคู่กาย เว่ยอิง ที่หลังจากเสร็จภารกิจแล้วก็ควงคู่ หลานซือจุย (เจิ้งฝานซิง 郑繁星 ) หรือ อาเยวี่ยน ที่สำเร็จวิชาจากกูซูยูนิเวอร์ซิตี้แล้ว ก็ออกไปทำงานตรงสายเลยทีเดียว คือกำจัดภูติผี จริง ๆ เขาจะไปทำภารกิจบางอย่างด้วยกัน แต่ระหว่างทางดันเจอกับอำนาจของเหล็กทมิฬเสียก่อน ก็ได้เวลาลองวิชาที่ตนเองเรียนมา สู้กันตูมตามแบบครึ่งคนครึ่งผี กับ เซียนน้อยเจ้าปัญญา

ภาคแยกที่ได้อรรถรสไม่แพ้กัน

และ ภาควิญญาณอาฆาตแห่งชิงเหอ (Fatal Journey) อ่านรีวิวได้ที่นี่ เล่าเรื่องราวของสองพี่น้องตระกูลเนี่ย เนี่ยหมิงเจวี๋ย (หวังอี้โจว 王翌舟) และ เนี่ยหวายซัง  (จี้หลี 纪李) เป็นเรื่องราวความสัมพันธ์พี่น้อง และการกำราบวิญญาณดาบ เรื่องนี้มันมาก ๆ และซาบซึ้งมาก ๆ เช่นกัน ประมุขเนี่ยเท่สุด ๆ ไปเลยจ้ะ ในภาคนี้เปิดเผยเรื่องราวก่อนตายของ เนี่ยหมิงเจวี๋ย และการกระทำของ เนี่ยหวายซัง ในซีรีส์หลักเอาไว้อย่างถึงบางอ้อ ใครดูซีรีส์หลักจบแล้ว อย่ามองข้ามสองภาคแยกนี้ไปนะคะ

สุดท้ายคือความงดงามของตัวละคร

ซีรีส์เรื่องนี้แคสต์นักแสดงได้ถูกใจประชาชนเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะนักแสดงหลักอย่าง เซียวจ้าน ที่คาแร็กเตอร์ของ เว่ยอิง ทำให้นึกถึง เล่งฮู้ชง ใน กระบี่เย้ยยุทธจักร เอามาก ๆ เด็กกำพร้าที่ งักปุ๊กคุ้ง เจ้าสำนักหัวซาน เก็บมาเลี้ยง ฉลาด ช่างพูด ชอบเฮฮา ร่ำสุราเป็นอาจิน มันแวบขึ้นมาเลยแล้วก็ไม่ทันจะขาดคำ เซียวจ้าน ก็ไปโผล่ในโฆษณาเกมกระบี่เย้ยยุทธจักรกันซะแล้ว ก็แสดงว่าซีรีส์เรื่องนี้อาจมีแรงบันดาลใจมาจากนิยายกำลังภายในของ กิมย้ง อยู่ไม่น้อย เพราะหลาย ๆ อย่างมันสะกิดต่อมให้นึกถึงอยู่เป็นระยะ ๆ ทั้งคาแร็กเตอร์ของ หลานจ้าน ที่หวังอี้ป๋อรับหน้าที่นี้ไป ก็ไปคล้ายกับ เซียวเหล่งนึ่ง สตรีที่งดงามปานเทพธิดา สงบเยือกเย็น บริสุทธิ์ดังหิมะ และเย็นชาราวน้ำแข็ง  จากมังกรหยก (มันเหมือนจริง ๆ นะ)

อี๋หลิงเหลาจู่กับหานกวงจวิน

แต่ไม่ใช่เฉพาะตัวแสดงหลักเท่านั้นนะคะ นักแสดงทุกคนที่เข้าฉากไปจนถึงนักแสดงประกอบตัวเล็ก ๆ ก็ไม่รู้สึกว่าเป็นจุดบอดหรือขัดหูขัดตาอะไร แน่นอนว่าตัวแสดงหลักเป็นพลังหลักในการขับเคลื่อนให้ซีรีส์เรื่องนี้ไปถึงจุดหมาย แต่ฟันเฟืองอื่น ๆ ก็มีความสำคัญไม่ต่างกัน ซีรีส์เรื่องนี้จึงเป็นซีรีส์ที่มีแง่งามแห่งศาสตร์และศิลป์แฝงอยู่อย่างเต็มเปี่ยม

ปรมาจารย์ลัทธิมาร

  • บทประพันธ์โดย : โม่เซียงถงซิ่ว 
  • กำกับโดย : Zheng Weiwen , Chen Jialin
  • บริษัทผู้ผลิต : Tencent Penguin Pictures New Style Media
  • ช่องทางรับชม Netflix (บรรยายไทย) และ WeTV (มีทั้งบรรยายไทย และ พากย์ไทยพร้อมภาคแยก เบื้องหลังและอนิเมะ)

อ้างอิง

อ้างอิง

พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส