• อัตตา
  • ความเปราะบาง
  • ความรัก
  • ความกลัว
  • และความยุติธรรม

คำเหล่านี้คือสิ่งที่เกี่ยวพันกับชีวิตของเราทุกคน และแต่ละคนต่างมีมุมมองที่มีต่อคำเหล่านี้แตกต่างกันออกไป อันส่งผลมาถึงรูปแบบการดำเนินชีวิตที่เราเลือกเดิน

สำหรับโอม ค็อกเทล ผู้ไม่เคยหยุดยั้งที่จะพัฒนา ศิลปินร็อกผู้แสวงหาปัญญามาเติมเต็มชีวิต เขาจะมีทัศนะต่อถ้อยคำเหล่านี้อย่างไร และมันได้ส่งผลต่อชีวิตของเขาแบบไหน มาเรียนรู้เรื่องราวที่โอมได้ถ่ายทอดผ่านความจริงและปัญญาที่เขาได้ค้นพบกันดีกว่าครับ

อ่านตอนแรก : เส้นทางชีวิตรส ‘จืด’ ที่แสนกลมกล่อมของ ‘โอม ค็อกเทล’ (ตอนที่ 1)

[บทความนี้เรียบเรียงจาก ป๋าเต็ดทอล์ก EP.27 โอม ค็อกเทล (ตอนจบ) | OHM COCKTAIL PART 2]

โอม มีความคิดเห็นต่อคำต่อไปนี้อย่างไร ?

 “อัตตา”

อัตตาคือตน อนัตตาคือไม่มีตัวตน ตนเป็นอุปาทาน ตนไม่มีอยู่จริง เราเป็นสิ่งที่กำเนิดจากความว่างเปล่า เรามีตนจากการกำหนดโดยสิ่งแวดล้อม  เมื่อก่อนโอมไม่เชื่อแบบนี้แต่เชื่อว่า เรามีตัวตนจากการให้ความรู้ตัวเองจากการสั่งสมความรู้ เปรียบเหมือนการระบายสีลงไปในรูปคน แต่ในตอนนี้โอมเชื่อว่า ตัวตนเปรียบเสมือนการระบายข้างนอกจนเต็ม จนเห็นช่องว่างที่เป็นรูปคน เป็นรูปตนเอง ยิ่งเห็นข้างนอกชัดเท่าไหร่ ยิ่งเห็นตนเองชัดเท่านั้น

อัตตาเกิดขึ้นจากการเรียนรู้ เมื่อเราเรียนรู้แล้วหลง จึงสำคัญผิดว่าเราเป็นตัวเป็นตน ตามการกำหนดของจิตของแต่ละคน

BEING OHM ตัวตนและความเป็นโอม

“หน้ากากหอยนางรม”

โอมในบทบาท ‘หน้ากากหอยนางรม’ ในรายการ ‘The Mask Singer’

เวลาไปในหลายรายการ คนชอบขอให้โอมทำตัวให้เฮฮากว่านี้ โอมรู้สึกว่าทำไมได้ แต่จริง ๆ แล้วโอมก็เป็นคนกวนตีนและตลกร้าย แต่หน้ากับน้ำเสียงมันไม่ใช่ หลายครั้งที่พูดเล่นคนจะคิดว่าพูดจริง เลยต้องยอมรับความจริงเรื่องบุคลิกภาพ เลยเล่นได้ในหมู่เพื่อนหรือคนที่รู้จักจริง ๆ เท่านั้น

กาลเทศะ คือพูดเมื่อควรพูด ทำเมื่อควรทำ ต้องหลีกเลี่ยงเรื่องที่ไม่จำเป็น และอาจทำให้ตัวเองหรือผู้อื่นเดือดร้อน ต้องดูด้วยว่าผู้ฟัง ‘พร้อมฟัง’ ในสิ่งนั้น หรือสอดคล้องกับสิ่งที่เราจะพูดจะทำหรือไม่ คนมีหลายมุมเราเลือกความเข้มข้นในแต่ละระดับให้สอดคล้องกับที่ที่เราจะไป เพราะฉะนั้น ‘หน้ากากหอยนางรม’ กับโอมก็คือคนเดียวกัน แต่มันคนละด้านเท่านั้นเอง โอมชอบทั้งหมดที่ตัวเองเป็นและมีความเป็นแต่ละด้านพอ ๆ กัน  พอมีหน้ากากบังอยู่ บางอย่างที่เราเล่นคนสามารถยอมรับได้ สามารถใส่ได้สุดในแบบของหอยนางรม ได้ทำในแบบสุด ๆ โดยไม่มีลิมิตหรือขีดจำกัดใด ทุกวันนี้ก็ยังทำตัวแบบนั้น แต่ทำกับคนในครอบครัวหรือคนที่ใกล้ชิดเท่านั้น

PAIN ความเจ็บปวด

“ความเปราะบาง”

โอมเคยโดนด่าหนักมากว่า ร้องเพลงห่วยมาก ตอนบันทึกเสียงโอมก็ร้องได้ปกติไม่ได้มีเครื่องไม้เครื่องมืออะไรช่วย แต่เวลาเล่นสดกลับร้องไม่ได้ อาจเป็นเพราะโตมาจากสตูดิโอ แต่ไม่ได้โตจากการเล่นสด ประการที่สองอาจเป็นเพราะมีอาการป่วย มีอยู่ปีที่โอมร้องเพลงไม่ได้เลย ยิ่งเพลง Cocktail ยิ่งร้องไม่ได้ เรนจ์หายไปสองคีย์ หลบเสียงไม่ได้ทั้ง ๆ ที่เพลงของ Cocktail ต้องใช้งานร้องเสียงหลบเป็นส่วนใหญ่ งานทัวร์มีตลอดไม่หยุด เหมือนไปยืนหน้าฉาก ต่อให้เพื่อนเล่นดีแค่ไหน ก็ต้องยอมรับคำด่า

ที่ผ่านมาโอมบอกใครไม่ได้ ทุกวันนี้ก็ไม่ได้ร้องเพลงเก่งมาก แต่หลัง ๆ ไม่ค่อยมีคนว่าแล้ว บางคนบอกพัฒนาแล้ว ซึ่งโอมมองว่าตนเองไม่ได้พัฒนาอะไร แค่กลับไปอยู่ในสภาพร่างกายที่ร้องได้ดี และมีประสบการณ์การเล่นสดที่ดีขึ้น รู้วิธีหลีกเลี่ยงจุดอ่อน

ในตอนนั้นที่ไม่ได้บอกไปเพราะคิดว่าแก้ตัวไปก็ไม่ช่วยอะไร การบอกว่าป่วยก็เหมือนแก้ตัว ดีเสียอีกที่สิ่งนี้สอนให้อยู่กับความเจ็บปวด ตอนนั้นโอมถึงขนาดพริ้นต์คำด่ามาอ่านซ้ำไปมา ช่วงนั้นหยุดเล่นกีตาร์ร้องเพลงไปเป็นปี เพราะไม่อยากได้ยินเสียงของตัวเอง ถ้าพิมพ์ไปว่าป่วยก็มีผลต่อความเชื่อมั่นของร้านที่จ้างไปเล่น ถ้าใช้สเตียรอยด์ก็เป็นการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ

โอมเป็นคนชวนทุกคนมาอยู่ด้วยกัน ถ้าเอาความผิดพลาดของตัวเองมาพังชีวิตคนอื่นคงทำไม่ได้ เลยหาวิธีแก้ สุดท้ายหมอแผนโบราณช่วยแก้ปัญหานี้ได้ แท้จริงแล้วมันเกิดจากการที่กระดูกสันหลังเคลื่อนและมันดึงเส้นเสียงให้ตึงจึงออกเสียงไม่ได้ หมอมาดึงกระดูกให้ และฟื้นตัวจึงกลับมาร้องเพลงได้ดังเดิม

สำหรับเรื่องการพริ้นต์คำด่าออกมาอ่านซ้ำไปมานั้นมันดีสำหรับโอม เพราะช่วยให้สามารถอยู่กับมันได้ ฝึกใจให้ชินไปกับมัน

“คุณจะได้ยอมรับว่าความจริงของโลกนั้น ความคิดเห็นของคนนั้นย่อมเป็นอุปาทานของหมู่ อุปาทานของจิตคุณ หรือ อุปาทานของคนพร้อม ๆ กัน”

ถึงแม้จะประสบกับชีวิตเวลาที่ดาวน์ดิ่งในชีวิต แต่โอมก็ไม่เคยร้องไห้ให้ใครเห็น เพราะคิดว่า

“ความอ่อนแอของคนที่อยู่ตรงหน้า ย่อมนำมาซึ่งความอ่อนแอของหมู่”

จึงเลือกที่จะร้องไห้เงียบ ๆ ปลายเตียง และคิดวนไปมาแต่ว่า ‘ทำไมต้องออกจากบ้านไปให้คนเค้าเกลียด ทำไมต้องเอาความสุขในชีวิตไปแลก’ ช่วงเวลานั้นได้สอนโอมเยอะ และทำให้เข้าใจว่าจริง ๆ แล้วคนไม่ได้อยากดูดนตรีที่ดีมากขนาดนั้น ทุกคนสามารถคิดว่าเล่นดีเล่นสนุกได้ ถ้าเค้าสนุก คนส่วนใหญ่ไปดูดนตรีเพราะหวังความบันเทิง ผ่อนคลาย สลายความโศก ถ้าแตะตรงนี้ได้ก็สำเร็จ การจัดลิสต์เพลงจึงเข้ามาเพื่อทำให้อารมณ์ต่อเนื่อง รู้จังหวะหลบข้อผิดพลาดข้อด้อย เหมือนเล่นมายากล เบี่ยงความสนใจไปจุดนึงเพื่อหลบตำหนิตรงจุดนึง พอผ่านพ้นได้ โอมเลยมีหัวใจที่แข็งแกร่งมากขึ้น และ ทุกสิ่งมันเป็นเพียงอุปาทาน นำมาสู่ความคิดที่ว่า

“ศิลปินไม่ได้ให้แรงบันดาลใจใครหรอก มีแต่คุณน่ะให้แรงบันดาลใจตัวเอง คุณแค่ฟังเพลงผมแล้วคุณรู้สึกกับมัน คุณจึงได้แรงบันดาลใจจากมัน”

การที่เราจะชอบเพลงเพลงนึงได้นั้นเพราะประสบการณ์ของเรามัน relate เข้าไปในนั้น  โอมจึงอยากให้กำลังใจแฟนเพลงว่า ‘คุณไม่รู้หรอกว่าคุณมีพลังในตัวเองมากพอที่จะกล่อมเกลาตัวเอง  ศิลปินต่างหากที่ต้องขอบคุณผู้ฟัง’

“ลึกลึกแล้วคนเราจะชอบหรือไม่ชอบอะไร จะบันดาลหรือไม่อะไร เราเลือกเองทั้งนั้น เราอกหักก็เพราะเราเลือกที่จะอกหัก เราจะเจ็บปวดเพราะเราเลือกจะเจ็บ มันไม่มีใครยัดความเจ็บปวดใส่หัวเราได้ แม้ว่าเราจะอ้างว่าเค้ากระทำ แต่เราต่างหากเป็นคนเลือกสิ่งนั้นด้วยตัวเอง”

EMPOWPERMENT สู่ผู้เสริมพลังด้วยตนเอง…ด้วยพลังที่มีมากพอ

“ความรัก”

ในทัศนะของโอม ความรักคือไม่มีตน รักนั้นต้องไม่มีตน ที่คุณเจ็บเพราะคุณรักตัวเองต่างหาก ความทุกข์ทั้งปวงนั้นเกิดจากกิเลสสองแบบคือ ภวตัณหา และวิภวตัณหา คือความอยากได้แต่ไม่ได้ และความไม่อยากได้แต่ดันได้มา ง่าย ๆ คือความทุกข์ทั้งปวงเกิดจากความขัดใจ และความขัดใจนั้นก็เกิดขึ้นเพราะตัวเราเอง แค่มีความรู้และมีสติก็พอแล้ว ไม่ต้องรักตัวเองก็ได้ เพราะถ้ารักตัวเองเมื่อไหร่ เราก็จะกอบโกยเข้าหาตัวเอง และ คู่ชีวิตคือการดูแลตัวเองได้และมีพลังดูแลกันได้อีก

“ชีวิตเกิดมาคนเดียวและตายคนเดียว เมื่อมีพลังมากพอจงเผื่อแผ่ให้คนอื่นเถอะ” 

เมื่อมาทำ Gene Lab โอมรู้สึกแก่ตัวไปกว่าความเป็นตัวเองเมื่อแรกเข้า Genie ในตอนนี้โอมพยายามหาสิ่งสำเร็จรูป ไม่ยุ่งกับเพลง แต่จะต้องรู้ว่าจะขายเพลงนั้นอย่างไร ก่อนจะหาวิธีขาย ต้องมั่นใจในวงนั้นก่อน แต่ละศิลปินจะมีวิธีโปรโมทไม่เหมือนกัน เพราะตอบสนองต่อกลุ่มคนฟังไม่เหมือนกันหน้าที่ของ Gene Lab คือทำอย่างไรก็ได้ให้ของที่ศิลปินนำมาขายมันขายได้มากที่สุด ทำอย่างไรก็ได้ให้ศิลปินยืนอยู่ในวงการได้นานที่สุด  ใครอยู่นานที่สุดเป็นคนชนะ ไม่ใช่ใครดังที่สุดตอนนี้ อยากให้ศิลปินอยู่ได้นาน เลี้ยงชีพได้ ดูแลครอบครัวได้

ในตอนที่โอมเพิ่งเข้ามาใหม่ ๆ ตอนนั้นถึงแม้ยังไม่รู้มากพอ แต่ก็มั่นใจเสียเหลือเกินในสิ่งที่เห็น เมื่อเติบโตขึ้นความคิดจึงได้เปลี่ยนไปพยายามจะไม่คิดไปเอง จะเปิดใจกับศิลปิน รับฟัง แลกเปลี่ยน เรียรรู้ แต่หากเป็นเรื่องลิขสิทธิ์ เรื่องที่มาของเงินคืออะไรจะต้องบังคับศิลปินให้ฟังเพรามันเป็นเรื่องผลประโยชน์ เหตุและผลที่ศิลปินควรรู้ การทำงานจะต้องมีความเห็นซึ่งกันและกัน พูดกันถึงสาเหตุในแต่ละการกระทำว่าทำไมต้องทำแบบนั้น 

โอมเป็นคนขี้สงสัย ทุกอย่างต้องมีเหตุผลกำกับ พี่นิคเป็นครูของชีวิตสอนอะไรไว้เยอะมาก ทั้งวิธีการใช้ชีวิตและคำพูด ทั้งข้อผิดพลาดและข้อถูกต้อง เวลาพี่นิคบอกไม่ โอมมักจะถามว่าทำไม ในบางกรณีมันอาจไม่เหมาะสมที่จะตอบ เพราะถ้ารู้ไปแล้วจะไม่สบายใจ แต่โอมก็มักจะถามเพื่อให้รู้ความจริงให้ได้

“ความจริงกับผมต้องเป็นหนึ่งเดียวกัน ถ้ามึงอยู่กับความจริงไม่ได้มึงจะต้องวิ่งหนีความจริงไปอีกนานเท่าไหร่กัน ถ้าไม่บอกให้เค้ารับรู้ว่าจริง ๆ แล้วมันเกิดอะไรขึ้น จะปล่อยให้เค้าหลงตัวเองหรือคิดไปเองว่าตัวเองคืออะไรอย่างนั้นหรอ การดีลกับความเจ็บปวดเป็นเรื่องที่ผมจัดการมันเอง ส่วนคุณมีหน้าที่ในการ provide ความจริง ผมคิดแบบนั้น”

DEALING WITH FEAR รับมือกับความกลัว

“ความกลัว”

ถ้าพูดถึงความกลัวคำแรกที่นึกถึงคือคำว่า ‘ไม่รู้’  ความกลัวเกิดจากความไม่รู้ ปัญญาเป็นตัวพาออกจากความกลัว

โอมวางแผนไปสู่การ landing เรียบร้อยแล้ว ตั้งใจไว้ว่าจะ landing ตอนอายุ 40 เพราะมองว่าวงดนตรีมักจะมีอายุขัยประมาณนี้ โอมอายุ 35 เข้าสู่วัยผู้ใหญ่แล้ว ถือว่าพาวงมายืนได้นานพอสมควร คิดถึงคำสอนของครูที่สอนว่าคนเรามักคิดถึงขาขึ้น แต่ไม่เคยคิดถึงขาลง จึงต้องวางแผนเพื่อเซฟตัวเองไว้ ถ้าเกิดถึงเวลาที่ fade out แล้วต้องรองรับอะไรบ้าง โอมศึกษาวัฏจัรของวงดนตรีและมักพบว่าอัลบั้มที่สามมักจะเป็นช่วงดาวน์ เพราะอัลบั้มหนึ่งนั้นคือความแปลกใหม่ อัลบั้มสองอาจเกิดจากการแกะสูตรสำเร็จ อัลบั้มสามมักอยู่ในช่วง 7 ปี แฟนเพลงหากเริ่มฟังตอนอายุ 13 อัลบั้มที่สามก็อายุไปสู่ 20 ซึ่งช่วงวัยต่างกันแล้วเลยไม่ค่อยคอนเนก มันเลยเริ่มเฟด ทุกครั้งที่มาถึงรอยต่อ โอมจะคิดว่าตนเองจะข้ามช่วงรอยต่อไปได้อย่างไร วิธีสื่อสารกับคนฟังมันต้องเติบโตไปอย่างไรบ้าง เพลงอาจเป็นแบบเดิมแต่ภาพลักษณ์อาจต้องเปลี่ยนไป ทำแบบเดิมแต่หาวิธีสื่อสารกับกลุ่มที่ถูกต้อง

ในส่วนของการเตรียมพร้อมตอนนี้ Cocktail มีกองทุนตรงกลางของวงไว้สำหรับเรื่องความมั่นคงหลังจากนี้ เพราะความสงบในใจเป็นสิ่งที่มีราคาแพงที่สุด

“ความสงบในใจจะเกิดขึ้นได้ พื้นฐานที่สุดคือการบำรุงปัจจัย 4 นั้นต้องครบถ้วน”

ทำใจยอมรับไว้ว่าอาจจะดังน้อยลง ต้องเตรียมใจยอมรับไว้ แต่ถ้าพอไปถึง 40 แล้วไปต่อได้ก็ไปต่อ เพียงแต่ต้องไปประมาท “มุ่งมั่นแต่ไม่ยึดมั่น” ตั้งเป้าหมายไว้ทำให้เต็มที่ แต่ถ้าไม่ได้เป็นอย่างที่หวังไว้ก็เพียงบอกว่าตัวเองนั้นทำดีที่สุดแล้ว และมีความสุขกับสิ่งที่ได้ทำไป

“ฉันใช้ชีวิตมาได้แบบที่ฉันย้อนกลับไปแล้วไม่รู้สึกว่าติดค้างกับสิ่งใดแล้ว”

“ความยุติธรรม”

[เป็นซิงเกิลใหม่ของไททศมิตร…แอบขายของ]

หลายคนบอกว่าความยุติธรรมเป็นเรื่องแล้วแต่มุมมอง แต่สำหรับโอม ความยุติธรรมจริง ๆ แล้วคือ ความ ‘ยุติ’ อย่างเป็นธรรม ธรรม คือ ความจริง ยุติธรรม จึงหมายถึง ‘ยุติอย่างเป็นสัจจะ อย่างถูกต้อง’ และสัจจะมีจริงอยู่ในโลก แต่ความเท่าเทียมนั้นอาจไม่มีอยู่จริง แต่เป็นเรื่องของการที่เราจะอยู่ร่วมกันอย่างไร เอื้ออาทรกันอย่างไร อยู่บนความแตกต่างนี้กันอย่างไรมากกว่า

ถ้าแปล ความยุติธรรม ว่าคือ ความเท่าเทียม มันจะไม่มีทางมี แต่ถ้าแปลว่า ‘ยุติที่สัจจะ’ แล้วอย่างไรมันก็ต้องมีจนได้

THE CONCLUSION บทสรุป ณ ปัจจุบัน

Cocktail เข้าสู่ปีที่ 18 แล้ว เหตุผลที่ทำให้วงไม่แตกคือ ‘ทุกคนมีความกลัวร่วมกัน’ กลัวความล้มเหลว ผิดหวัง จึงพยายามที่จะมีปัญญาเพื่อหาทางออกด้วยกัน ไม่หยุดแสวงหาคำตอบของสิ่งที่เกิดขึ้น ไม่เชื่อโชคชะตาฟ้าดิน เชื่อว่ากรรมเป็นผลจากการกระทำของตน เมื่อมีปัญหาต้องมีเหตุและไปหาเหตุของปัญหานั้น ถ้าแก้ไม่ได้ก็แค่ยอมรับมัน

สมาชิกในวง Cocktail ต่างมีความรักซึ่งกันและกัน ตอนหน้ากากหอยนางรมดัง วงได้รับอานิสงส์ความดังไปด้วย แต่โอมจะมีหลักการว่า จะไม่รับงานเดี่ยวทุกกรณี ต้องแบ่งเงินเท่ากันตลอด เพลงที่เขียนก็ใส่ชื่อเพื่อนไปด้วยเพื่อหารกัน แต่ในตอนนั้นเพื่อนและน้อง ๆ เดินมาบอกว่า พี่ควรได้มากกว่านั้น เพราะพี่พาสิ่งนั้นมาให้วง ซึ่งเป็นสิ่งที่โอมประทับใจมาก ประทับใจในความรักที่ทุกคนมีให้กันโดยที่ไม่ต้องร้องขอ

สิ่งที่สองที่ทำให้วงไม่แตกก็คือ ‘ความเปราะบาง’ ทุกคนยอมรับว่าอ่อนแอ จึงค้นพบความเข้มแข็งที่แท้จริง เราต้องยอมรับความเปราะบางของตัวเองให้ได้เสียก่อน เพลง ‘ในเงา’ จากอัลบั้มล่าสุด ‘Cocktail’ ก็ถูกเขียนขึ้นด้วยแนวคิดนี้

ตอนเป็นอินดี้ก็ไม่ได้ถูกรัก มาแกรมมี่ก็เป็นเหมือนลูกเมียน้อย ทุกวันนี้คนก็ยังมองว่า Cocktail เป็นวงลูกกวาด เป็นร็อกตุ๊ด ยอมรับว่าอ่อนแอ เปราะบาง ไม่อายที่จะบอกว่าอ่อนแอ เพื่อที่จะได้แข็งแรงขึ้น

“เค้าจะดูถูกเราอย่างไรก็ได้นั่นมันเรื่องของเค้า แค่เราทำตัวเองให้ดีพอ สักวันเค้าอาจจะมองเราอีกแบบก็ได้”

สิ่งที่สามคือ ‘ความยุติธรรม’  Cocktail พยายามทำให้เท่าเทียมกันในทุกสิ่งที่ควรจะเป็น มีสิทธิเท่ากันในสิ่งที่ควบคุมได้ ไม่อิจฉาซึ่งกันและกัน

สิ่งสุดท้ายคือ ‘อัตตา’ เพราะ Cocktail นั้นไหลไปได้เรื่อย ๆ อะไรที่ใช้ไม่ได้ก็เปลี่ยนเพื่อให้ไปถึงเป้าหมาย ต้องเป็นให้เหมือนน้ำ รักษาเป้าหมายไว้ ตราบใดที่สิ่งที่ทำไม่ขัดต่อสัจจะ ต่อศีลธรรมอันดี ก็มุ่งต่อไปในทางนั้น

“ในเมื่อผมไม่สามารถไปแทนที่ใครหรือเติบโตไปเป็นอะไรได้เลย ฉันจะสร้างอาณาจักรของฉันขึ้นเองดินแดนของฉันเอง แล้วฉันจะเติบโตของฉันเอง ฉันจะไม่อยู่ในอาณาจักรของใคร แล้วมันจะเป็นอาณาจักร มันจะไม่ใช่แค่วงดนตรีวงหนึ่ง”

มีแง่คิดสุดท้ายที่โอมทิ้งท้ายไว้ได้อย่างน่าสนใจ เมื่อเขาเล่าถึงสาเหตุของการไปบวชครั้งที่สองในชีวิต อันมีเหตุมาจากความกลัว ทั้ง ๆ ที่ในชีวิต ณ ขณะนั้น ทุกอย่างในชีวิตอาจจะเรียกได้ว่าสมบูรณ์แบบเลยก็ได้ แต่ยิ่งชีวิตดีเท่าไหร่ สมบูรณ์แบบแค่ไหน ยิ่งต้องกลัว กลัวว่าเราหลงใหลหรือหลงลืมอะไรไปหรือเปล่า จึงได้บวชเพื่อกลับมาทบทวนชีวิตอีกครั้ง

“ผมกลัวนะว่าถ้าเราสบายจนชิน วันที่มันเจ็บปวดแล้วเราจะอยู่ไม่ได้ ผมอยากเดินหน้าสู่อะไรสักอย่างที่จะเป็นความรู้ที่พาผมออกจากความทุกข์ในใจเล็ก ๆ ที่มันเกิดขึ้นตรงนั้น”

และการบวชในครั้งนี้มีวัตถุประสงค์ตามคำแนะนำจากครูของโอมว่า บวชรอบแรกเพื่อค้นหาตัวเอง บวชครั้งที่สองควรเป็นไปเพื่อ ‘ทำลายตัวเอง’ โอมจึงมุ่งหน้าไปสู่วิถีแห่งการ ‘ทำลายตัวเอง’ ทำลายสิ่งที่ติดยึดอยู่ เสมือนเกิดใหม่และค้นพบว่าอะไรเป็นสิ่งที่ทำให้ตนมีความสุข จึงได้คำพูดติดปากตั้งแต่นั้นมาว่า ‘ความสงบมันแพงเหลือเกิน’ และครูก็แนะนำให้ครั้งนี้โอมบวชที่วัดในเมืองแตกต่างจากครั้งแรกที่เป็นวัดป่า เพื่อที่จะได้เรียนรู้ที่จะค้นพบความสงบในที่ที่วุ่นวาย เป็นการเรียนรู้ที่เหมาะสมต่อการกลับมาใช้ชีวิตฆราวาส

“ไอ้ที่วุ่นน่ะใจเราไม่ใช่สถานที่ ถ้าใจเราเงียบมันก็ต้องเงียบ”

“เพราะว่ากลัวเหลือเกินจึงไม่เคยหยุดขวนขวายทำงานหนักทุกวันนี้ เพื่อที่จะฉลาดขึ้น เพื่อที่จะมีปัญญามากขึ้น นตฺถิ ปญฺญาสมา อาภา ไม่มีแสงสว่างใดเสมอด้วยปัญญา ก็หวังว่าปัญญาจะนำพาผมให้พ้นจากความกลัวเหล่านั้น”

พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส