ย้อนกลับไปราวปี 2012 มีหนังสารคดีแปลกหน้าเรื่องหนึ่งได้รับการเสนอชื่อเข้าชิงออสการ์และกลายเป็นหนังสารคดีเนื้อหอมที่น่าจับตามองจนใคร ๆ ต่างก็พูดถึง เรื่องเริ่มต้นที่ฝรั่งคนหนึ่งชื่อ โจชัว ออปเพนไฮเมอร์ ได้เดินทางไปอินโดนีเซียเพื่อทำการทดลองบางอย่างผ่านหนังสารคดีของเขา โดยทดสอบมโนสำนึกของฆาตกรการเมืองในยุคล่าคอมมิวนิสต์ของอินโดนีเซีย (ราวปี 1965) ว่าพวกเขาเหล่านั้นจะมองวีรกรรมสมัยนั้นของตนเองในเวลานี้อย่างไร โดยเชื้อเชิญให้พวกเขามาทำหนังตามจินตนาการของตนเอง เพื่อจำลองเหตุการณ์ต่อสู้กับความเลวร้ายที่ชื่อว่าคอมมิวนิสต์ และการสถาปนาความดีอันยิ่งใหญ่ของกองกำลังทรงอิทธิพลที่รัฐบาลอินโดนีเซียหนุนหลังอย่างเต็มที่ขึ้นมา

แรก ๆ เราซ้อมพวกมันจนตาย แต่เลือดนองเกินไป ตอนล้างกลิ่นคาวคลุ้งจนทนไม่ไหว ผมเลยหาวิธีที่ให้เลือดไม่ท่วมเกินไป (จากนั้นจึงสาธิตโดยเอาลวดตรึงกับเสาก่อนจะเอามาพันคอตัวนายแบบ แล้วทำท่าออกแรงดึงลวดจากอีกฝั่งจนตัวโยน) …วิธีนี้เลือดจะไม่ออกเยอะเกินไป

อันวาร์ คองโก หัวหน้ากองกำลังสังหารคอมมิวนิสต์
อันวาร์ คองโก สาธิตการฆ่าแบบไม่ให้มีเลือดออก
อันวาร์ คองโก กำลังกำกับหนังจำลองวีรกรรมสังหารหมู่คอมมิวนิสต์

หนังเรื่องนั้นมีชื่อว่า The Act of Killing หรือ ฆาตกรรมจำแลง

ซึ่งแม้สุดท้ายหนังจะไม่ได้ออสการ์สาขาสารคดียอดเยี่ยมมาครองในปีนั้น เพราะพ่ายให้กับหนัง Twenty Feet from Stardom ที่เล่าเรื่องราวของกลุ่มนักร้องแบ็กอัปแอฟริกัน-อเมริกันที่อยู่ห่างจากความเด่นดังเบื้องหน้าเพียง 20 ฟุต ตามชื่อเรื่องซึ่งตอบโจทย์ความเป็นออสการ์ได้มากกว่า แต่สำหรับใครที่ได้ดู The Act of Killing ก็คงรู้สึกไม่ต่างกันว่า นี่เป็นสารคดีที่ลองได้ดูเข้าครั้งหนึ่งจะตราตรึงไปตราบนานเท่านานทีเดียว

การนำเสนอการฆ่าอย่างโหดเหี้ยมให้ออกมาเป็นราวเรื่องแฟนตาซี อาจเป็นกลไกป้องกันจิตใจของนักฆ่าให้ได้หลบความรู้สึกผิดซ่อนไว้

เพราะออปเพนไฮเมอร์ ได้กระเทาะเปลือกของชายเฒ่าผู้มีเกียรติและสวมอาภรณ์สลักลายวีรบุรุษกลางหลังลงทีละน้อย ด้วยท่าทีที่ไม่ตัดสินแต่ให้อันวาร์กับพรรคพวกเปลือยความคิดของตัวเองออกมาเอง และให้เหยื่อ ตลอดจนผู้ชมตัดสินเอง

เมื่อเราเรียกใครว่าคนชั่ว แปลว่าเราบอกตัวเองให้เชื่อว่าตัวเราเป็นคนดี เราสูงส่งกว่าคนอื่น ผมเรียกความคิดแบบนี้ว่า ‘จริยธรรมแบบสตาร์ วอร์ส’ ซึ่งโชคร้าย…ความคิดประเภทนี้แหละที่อยู่เบื้องหลังเหตุการณ์น่าสะพรึงกลัวมากมายในอดีตที่หนังเราเล่าถึง

โจชัว ออปเพนไฮเมอร์

และหลังจากนั้น 2 ปี ออปเพนไฮเมอร์ ได้กลับมาอีกครั้งพร้อมหนังสารคดีเรื่อง The Look of Silence (2014) ที่เป็นดังภาคต่อ โดยหากเปรียบ The Act of Killing คือการเผยร่างฆาตกร หนังภาคต่อเรื่องนี้ก็คือ การเผยล่างของผู้แก้แค้น

The Look of Silence เป็นโพรเจกต์คู่ขนานที่ ออปเพนไฮเมอร์ทำไปพร้อมกับ The Act of Killing โดยจับไปที่ครอบครัวของเหยื่อในโศกนาฏกรรม โดยผ่านสายตา อาดี ลูกคนสุดท้องของครอบครัวที่พี่ชายของเขาถูกกล่าวหาว่าเป็นคอมมิวนิสต์ และถูกจับตัวไปคุมขังและฆ่าในที่สุด

อาดี ผู้ที่พี่ชายถูกจับไปฆ่าในข้อหาคอมมิวนิสต์

ปัจจุบัน อาดี เป็นช่างทำแว่นสายตา พ่อของเขาแก่ชรา ตาบอดและหูหนวกแล้ว และต้องได้รับการดูแลอย่างใกล้ชิดโดยแม่ของอาดีซึ่งก็แก่มากแล้วเช่นกัน ออปเพนไฮเมอร์นำฟุตเทจดิบจากการสัมภาษณ์ผู้นำกลุ่มปราบคอมมิวนิสต์มาให้อาดีชม ก่อนที่จะพาเขาไปพบกลุ่มคนที่ฆ่าพี่ชายของเขาเหล่านั้น โดยปกปิดไว้ไม่ให้พวกผู้นำเหล่านั้นรู้ว่าเขาคือน้องชายของคนที่พวกเขาเคยจับและฆ่า และให้แสร้งทำเป็นเพียงหนึ่งในทีมงานชาวอินโดนีเซียที่ทำหน้าที่ช่วยสัมภาษณ์ให้ออปเพนไฮเมอร์ ซึ่งทีมงานถ่ายทำได้สัญญาพวกผู้นำเหล่านั้นว่า จะช่วยตัดแว่นสายตาให้พวกคนเหล่านั้นมองเห็นชัดเจนขึ้นเป็นการตอบแทน

อาดี นั่งดูฟุตเทจสัมภาษณ์พวกผู้นำที่สังหารหมู่คอมมิวนิสต์ด้วยความภูมิใจ

ที่น่าสนใจคือ ปฏิกิริยาของเหล่าผู้นำนักฆ่าเหล่านั้นตลอดจนครอบครัวของพวกเขามีอย่างหลากหลายเมื่อทราบตัวตนที่แท้จริงของอาดี ทั้งเสียใจขอโทษแทนพ่อ ๆ ของพวกเขา ตลอดจนโกรธแค้นที่มีคนพยายามมารื้อฟื้นโศกนาฏกรรมครั้งนั้นขึ้นมาใหม่เพื่อกล่าวโทษพ่อ ๆ ของพวกเขา แต่สิ่งหนึ่งที่แสดงออกมาชัดเจนมากจนเราสัมผัสได้ชัดเจนคือ

พวกเรา (ชาวอินโดนีเซีย) ควรต้องลืม ๆ ความคิดเคียดแค้นและลืมเรื่องราวครั้งนั้น เพื่อให้ก้าวผ่านและเดินต่อไปด้วยกันได้

คำพูดด้านบนมาจากทั้งนักการเมืองอดีตผู้นำทหาร ลูก ๆ ของผู้นำนักฆ่า และแม้แต่อาแท้ ๆ ของอาดีเองที่ขณะนั้นรับหน้าที่เป็นคนเฝ้ายามคุกที่คุมขังพวกคอมมิวนิสต์ ซึ่งหนึ่งในนั้นคือหลานแท้ ๆ หรือพี่ชายของอาดีเองด้วย ที่ในตอนนั้นเขาเองก็มองว่าพวก (ที่ถูกกล่าวหาว่าเป็น) คอมมิวนิสต์ไม่ใช่คน และอย่างยิ่งไม่เหลือความเป็นญาติร่วมสายเลือดด้วย

หนังสื่อสารอย่างอ้อม ๆ แต่ทรงพลังว่า ความเจ็บแค้นความบาดหมางในสังคมนั้น ไม่สามารถชะล้างได้ด้วยการแสร้งลืม ๆ อย่างที่ผู้กระทำเหล่านั้นพยายามตอกย้ำ หากแต่ต้องนำความจริงมาพูดคุยให้เห็นปัญหาเป็นบทเรียน ให้ฝ่ายหนึ่งที่ผิดได้รู้สึกผิดและมีโอกาสในการขอโทษ เพื่อให้เหยื่อได้รับการเยียวยาจากความรู้สึกที่อัดอั้นและได้กล่าวคำให้อภัย นั่นต่างหากคือสิ่งที่ควรเกิดขึ้น

แน่นอนหนังเรื่องนี้สอนหลาย ๆ อย่างแม้แต่ในสังคมบ้านเราเอง เป็นหนังที่ทำให้เราต้องกลับมามองสังคมตัวเอง หรือแม้แต่เรื่องราวของตัวเราเอง ที่อาจเคยบาดหมางกับใครและพยายามกลบเกลื่อนลืมเลือนทั้ง ๆ ที่จริงปัญหายังสุมทุมสะสมอยู่ภายใน ซึ่งนำมาสู่ปัญหาใหม่ ๆ ในอนาคตได้

ถึงเวลาแล้วที่เราต้องกลับมานั่งเฝ้ามองสิ่งที่เราพยายามไม่พูดและปล่อยให้เป็นความเงียบเอาไว้ เพื่อที่จะจับมือก้าวเดินไปได้พร้อม ๆ กันอย่างแท้จริง

ตอนนี้หนังทั้ง 2 เรื่องได้มีขายบนแพลตฟอร์ม Vimeo ของ Documentary Club ในราคาเรื่องละ 1.99 USD หรือประมาณ 60 กว่าบาทเท่านั้นเอง

พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส