ออกฉายเมื่อปี 1995 นั่นหมายความว่าในปีนี้ Heat ก็มีอายุครบ 25 ปีบริบูรณ์ไปแล้ว แต่หนังก็ยังอยู่ในความทรงจำของผู้ชม โดยเฉพาะคอหนังแอ็กชันที่หยิบมาดูอีกกี่ครั้งก็ยังสนุก หนังได้รับความสนใจจากผู้ชมในวงกว้างนับตั้งแต่วันที่ประกาศฉาย เพราะหนังประกาศว่าจะเป็นการประชันกันครั้งแรกของนักแสดงระดับพระกาฬในวงการฮอลลีวู้ด อัล ปาชิโน และ โรเบิร์ต เดอนีโร แม้ว่าจะเป็นศิษย์เก่าจากหนังคลาสสิก The God Father ด้วยกันทั้งคู่ แต่ก็ยังไม่เคยร่วมงานกันมาก่อนหน้า Heat เลย แม้จะมีฉากที่ทั้งคู่สนทนากันคนดูส่วนหนึ่งก็ยังจับผิดว่า ทั้งคู่ไม่ได้เข้าฉากด้วยกัน แต่ทีมผู้สร้างใช้เทคนิคการตัดต่อเข้าช่วย

นอกเหนือจาก อัล ปาชิโน และ โรเบิร์ต เดอนีโร แล้วหนังก็ยังอัดแน่นไปด้วยทีมดาราแถวหน้าของวงการในวันนั้น ทั้ง วาล คิลเมอร์, ทอม ไซส์มอร์, จอน วอยต์, แอชลีย์ จัดด์ และ นาตาลี พอร์ตแมน ค่าตัวเหล่านี้ล่ะ ล้วนทำให้ต้นทุนหนังบานไปถึง 60 ล้านเหรียญ ซึ่งนับว่าค่อนข้างสูงเลยล่ะในปีนั้น แต่หนังก็ทำกำไรได้น่าพอใจ จาการฉายทั่วโลกที่ 187 ล้านเหรียญ แต่ถ้าถามว่าคนดูจำอะไรได้ชัดเจนจากหนังเรื่องนี้ ก็คงไม่พ้นฉากสาดกระสุนกลางถนน ที่ถ่ายทอดบรรยากาศได้ดุเดือดสมจริง ซัดกันแบบไม่กลัวเปลืองกระสุน ไม่ใช่แต่เพียงผู้ชมเท่านั้นที่จะประทับใจกับ Heat แม้กระทั่งผู้กำกับแถวหน้าอย่าง คริสโตเฟอร์ โนแลน ก็ออกมายอมรับว่าหนัง The Dark Knight ก็ได้รับอิทธิพลส่วนหนึ่งมาจาก Heat นี่ล่ะ

Heat จึงสมควรกับตำแหน่งหนังแอ็กชันผลผลิตฮอลลีวู้ดที่ สมบูรณ์พร้อม ในทุก ๆ ด้านเรื่องหนึ่ง กลายเป็นผลงานมาสเตอร์พีซของผู้กำกับไมเคิล มานน์ ที่เป็นคนเขียนเรื่องเองด้วย แม้ว่าหน้าหนังจะเป็นหนังแอ็กชันตำรวจจับผู้ร้ายที่เต็มไปด้วยตัวละครมากมาย แต่ฝีมือการเขียนบทของไมเคิล มานน์ เอง ก็ปูภูมิหลังตัวละครหลักได้แน่นปึ้ก ทำให้ไมเคิล มานน์ พัฒนาฝีมือตัวเองกลายเป็นนักเขียนนิยายหลังจากนี้ไม่นาน และหนึ่งในนิยายของเขาก็คือเรื่องราวภาคก่อนหน้า Heat ถึงตรงนี้เรามาย้อนอดีตไปด้วยกัน กับเกร็ดเบื้องหลังที่น่าสนใจของหนังแอ็กชันขึ้นหิ้งเรื่องนี้ ที่วันนี้หยิบมาดูอีกครั้งก็ยังไม่รู้สึกว่าหนังล้าสมัยเลย แม้ว่าผ่านไปถึง 25 ปีแล้วก็ตาม

1.เราเกือบได้เห็น คีอานู รีฟส์ ในบท คริส ไชเฮอร์ลิส

คริส ไขเฮอร์ลิส คือสมุนมือขวาของ นีล แม็กคอร์เลย์ บทของ โรเบิร์ต เดอนีโร และคริส ไชเฮอร์ลิส ก็ได้ วาล คิลเมอร์ มาสวมบทบาท นับว่าเป็นการพลิกภาพลักษณ์ของพระเอกแถวหน้าในวงการมาสวมบทเป็นตัวร้ายของเรื่อง ไม่ใช่แค่คนดูคิดว่าแปลกตาไปซักหน่อยที่ได้เห็น วาล คิลเมอร์ มาเล่นเป็นตัวร้าย

ผู้กำกับ ไมเคิล มานน์ เองก็ยังสองจิตสองใจในวันนั้น เพราะ วาล คิลเมอร์ ก็เพิ่งเซ็นสัญญารับบทเป็น บรู๊ซ เวย์น คนใหม่ต่อจาก ไมเคิล คีตัน ซึ่งทำให้ ไมเคิล มานน์ ไม่มั่นใจว่าหนัง Batman Forever จะปิดกล้องได้ทันการ หรือว่าวาล คิลเมอร์ จะสลับตารางงานมาเข้ากล้อง Heat ได้ทันหรือไม่ เพราะถ้าไม่เช่นนั้น ไมเคิล มานน์ ก็จะขอเปลี่ยนไปเอาตัวเลือกที่ 2 ก็คือ คีอานู รีฟส์ ที่เพิ่งแสดงศักยภาพพระเอกนักบู๊ให้เห็นจาก Speed มาหมาด ๆ แต่ผลก็คือ วาล คิลเมอร์ ก็ยืนยันว่าเขาสามารถมาเข้ากล้องได้ทันแน่ ซึ่งเขาก็พิสูจน์ให้เห็นว่าเขาสลัดภาพพระเอกมาเป็น คริส ไชเฮอร์ลิส ได้อย่างสมบูรณ์แบบ

2.นักแสดงคนเดียวที่ไม่ต้องศึกษาชีวิตคนคุก

เป็นที่รู้กันในวงการฮอลลีวู้ดว่า โรเบิร์ต เดอนีโร เป็นนักแสดงที่ทุ่มเทจริงจังกับทุกบทที่เขาแสดงอย่างมาก ถ้าเขารับบทเป็นคนอาชีพอะไร โรเบิร์ตจะศึกษาการใช้ชีวิตของคนในอาชีพหรือแวดวงนั้น ๆ อย่างจริงจัง ใน Heat นั้น นีล แม็กคอเลย์ และบรรดาลูกสมุนของเขาล้วนเป็นอดีตนักโทษ ทำให้ทีมนักแสดงต้องใช้เวลาเข้าไปศึกษาชีวิตผู้ต้องขังจริง ๆ ในทัณฑสถาน ซาน เควนติน เพื่อดูบุคลิกลักษณะของผู้ต้องขัง วิธีการพูดการจา เพื่อนำมาถ่ายทอดในการแสดงให้สมจริง แต่มีอยู่คนเดียวที่ไม่ต้องไปศึกษาชีวิตผู้ต้องขัง ก็คือ แดนนี่ เทรโฮ เพราะเขาคืออดีตนักโทษตัวจริง ในช่วงชีวิตวัยรุ่นเขาก็เคยเข้าไปอยู่ในทัณฑสถาน ซาน เควนติน มาแล้ว ก่อนจะปรับเปลี่ยนเส้นทางเดินชีวิตมาเป็นนักแสดง

3.ดัดแปลงมาจากหนังเรื่อง L.A. Takedown

ชื่อเสียงของ ไมเคิล มานน์ นั้นโด่งดังมาจากการเป็นผู้อำนวยการสร้างบริหารทีวีซีรีส์เรื่องดัง Miami Vice ในช่วงนั้น ไมเคิล มานน์ กำลังพัฒนาทีวีซีรีส์เรื่องใหม่ ที่จะเล่าเรื่องราวของ นักสืบ วินเซนต์ ฮันนา ผู้มีตัวตนจริง ๆ กับการปฏิบัติการไล่ล่าอาชญากรตัวร้าย แพททริก แม็กลาเร็น ซึ่งไมเคิล มานน์ เป็นผู้ลงมือเขียนบทตอน Pilot และกำกับเอง แต่ภายหลังโพรเจกต์ทีวีซีรีส์ล้มเลิก แต่หนังถ่ายทำตอน Pilot ไปเรียบร้อยแล้ว ทางช่อง NBC จึงนำตอน Pilot มาตัดต่อใหม่ให้กลายเป็นหนังเรื่องยาวฉายทางทีวีในชื่อ L.A. Takedown และทำเป็นวิดีโอออกขายเมื่อปี 1989

หนังได้รับคำวิจารณ์ในแง่ลบ แล้วทุกคนก็พากันลืมหนังเรื่องนี้ไปแล้ว แต่ไมเคิล มานน์ ยังไม่ลืมเขานำเอาบทหนัง L.A. Takedown มาปรับแต่งแก้ไขอีกครั้งกลายมาเป็นบทหนังเรื่อง Heat หลังจากนั้นอีก 5 ปี ฉะนั้นเมื่อ Heat ประสบความสำเร็จ ก็ต้องย้อนไปขอบคุณหนังต้นกำเนิดอย่าง L.A. Takedown นี่ล่ะ

4.ตัวละครมีตัวตนจริง

ตัวละครหลักใน Heat ล้วนเป็นบุคคลจริงและใช้ชื่อของบุคคลจริงทั้ง อาชญากรตัวร้ายของเรื่อง นีล แม็กคอเลย์ และนักสืบ วินเซนต์ ฮันนา ซึ่งตัวละครรายหลังนี้มีการปรับเปลี่ยนบุคลิกตัวตนด้วยการผสมผสานระหว่างตัว วินเซนต์ ฮันนา เข้ากับเจ้าหน้าที่ตำรวจ ชัก อดัมสัน ผู้ที่ครั้งหนึ่งเคยไล่ล่า นีล แม็กคอเลย์ ตัวจริงมาแล้ว รวมถึงฉากที่ วินเซนต์ ฮันนา นั่งดื่มกาแฟกับ นีล แม็กคอเลย์ นั้น ในชีวิตจริงก็เป็น ชัก อดัมสัน นี่ล่ะที่นั่งดื่มกาแฟกับ นีล แม็กคอเลย์ ก่อนการปล้นครั้งสุดท้ายในชีวิตเขา

ในการถ่ายทำ Heat นั้น ชัก อดัมสัน ก็รับหน้าที่เป็นผู้อำนวยการสร้างด้วย แถมยังพ่วงตำแหน่งที่ปรึกษาทางด้านเทคนิก ชัก อดัมสัน เสียชีวิตในปี 2008 ตอนขึ้นเครดิตท้ายเรื่องในหนัง Public Enemies ผลงานกำกับของ ไมเคิล มานน์ เมื่อปี 2009 ก็ขึ้นข้อความระลึกถึง ชัก อดัมสัน เพื่อเป็นเกียรติ

5.ฉากดวลปืนกลางถนนไม่ใช้เทคนิก CGI

เราจะพลาดการพูดถึงเบื้องหลังฉากนี้ไปไม่ได้ ฉากดวลกระสุนกลางถนน ลอส แองเจลิส ถูกยกให้เป็นฉากยิงต่อสู้ที่ดุเดือดสมจริงที่สุดในประวัติศาสตร์หนังฮอลลีวู้ด ที่มันดูสมจริงมากทั้งภาพและเสียงก็เพราะว่าไอเดียของผู้กำกับ ไมเคิล มานน์ เองนั่นแหละ ที่เอาไมโครโฟนไปตั้งไว้หลายจุดระหว่างถ่ายทำ เพื่อบันทึกเสียงปืนที่ยิงกันจริง ๆ ในฉาก ที่เห็นกระหน่ำยิงกันแบบไม่ยั้งนั้น มีการคำนวณแล้วว่านักแสดงสาดกระสุนกันไปประมาณ 800 – 1,000 นัด นับจากปลอกกระสุนเปล่าที่ร่วงเกลื่อนถนน ก่อนหน้าจะถ่ายทำฉากนี้ นักแสดงต้องเข้ารับการฝึกฝนการใช้ปืนอย่างหนัก เพื่อความสมจริง ดูทะมัดทะแมงเวลายิง

การใช้ปืนของวายร้าย และตำรวจก็ยังยึดตามหลักความเป็นจริง บรรดาตำรวจในหนังจะใช้ปืนกึ่งออโตเมติก มีระบบเซฟตี้ เพื่อความปลอดภัยของพลเรือน แต่ฝ่ายอาชญากรนี่ใช้ปืนออโตเมติกล้วน ๆ ไม่ต้องกังวลอะไรทั้งสิ้น ในหนังเราจึงได้เห็นขั้นตอนที่นักแสดงแต่ละคนได้ใช้เทคนิกต่าง ๆ ในการยิงต่อสู้ เพราะความสมจริงอย่างมาก นาวิกโยธินสหรัฐฯ จึงนำฉากนี้มาใช้ในการสอนใช้อาวุธปืน ให้นักเรียนนาวิกโยธินได้ศึกษาเทคนิคการยิงคุ้มกัน การยิงตอบโต้และการเปลี่ยนแม็กกาซีนที่คล่องแคล่วฉับไว

6.กลายเป็นแรงบันดาลใจให้เกิดการปล้นจริง

คลิปวิดีโอเหตุการณ์ปล้นที่ย่าน นอร์ธ ฮอลลีวู้ด

อิทธิพลจาก Heat ไม่เพียงแค่สร้างแรงบันดาลใจให้ คริสโตเฟอร์ โนแลน เท่านั้น แต่ยังสร้างแรงบันดาลใจให้อาชญากร 2 คน ที่ดูหนังลุกขึ้นมาทำตามอย่างฉากปล้นธนาคารในหนัง พวกเขาดูฉากปล้นธนาคารแล้วก็คิดว่าในหนังนั้นตัวร้ายหนีพ้น พวกเขาก็น่าจะหนีพ้นได้บ้าง และแล้วพวกเขาก็ก่อเหตุปล้นธนาคารในปี 1997 ที่ย่าน นอร์ธ ฮอลลีวู้ด แต่อาชญากร 2 รายนี้ ต้องเรียนรู้ว่าอะไรที่อยู่ในหนังควรปล่อยให้อยู่ในหนัง แต่พวกเขาไม่มีสิทธิ์แก้ตัวแล้ว เพราะทั้ง 2 คน โดนตำรวจยิงตายในที่เกิดเหตุ การปล้นครั้งนี้ค่อนข้างระเบิดระเบ้อพอควรใกล้เคียงกับฉากสาดกระสุนในหนัง เพราะ 2 วายร้ายยิงตำรวจบาดเจ็บไป 11 นาย ชาวบ้านโดนลูกหลงไป 7 คน

7.ชื่อหนัง Heat มาจากคำขวัญส่วนตัวของ นีล แม็กคอเลย์

หลายคนน่าจะจำประโยคเด็ดของ นีล แม็กคอเลย์ กันได้


“อย่าปล่อยให้ตัวเองต้องเข้าไปยุ่งเกี่ยวกับอะไรก็แล้วแต่ ที่เราจะไม่สามารถพาตัวเองออกมาได้ภายใน 30 วินาทีถ้วน เผื่อว่าจะมีเรื่องร้อนเข้ามาใกล้ตัว”
“Don’t let yourself get attached to anything you are not willing to walk out on in 30 seconds flat if you feel the heat around the corner”

ชื่อหนัง HEAT ก็เป็นคำที่หยิบมาจากประโยคนี้ล่ะ แล้วหนังก็ได้ใส่ฉากที่ทำให้นีลต้องหยิบประโยคเตือนใจตัวเองนี้มาใช้จริง ๆ ในฉากคับขันที่เขากำลังจะเดินกลับไปหาอีดี้ที่คอยอยู่ในรถ แต่แล้วก็หันไปเห็นว่า วินเซนต์ ฮันนา กำลังวิ่งตรงมาหาเขา ทำให้นีลต้องใช้เวลาใคร่ครวญว่าจะทำอย่างไรดีกับหญิงคนรัก ซึ่งสุดท้ายเขาก็ใช้เวลาตัดสินใจไม่เกิน 30 วินาที ที่จะตัดสินใจทิ้งอีดี้ไว้ตรงนั้น แล้วเผ่นหนีวินเซนต์ ทั้งนี้ก็เพื่อความปลอดภัยของอีดี้เองที่จะไม่ต้องมาเดือดร้อนเพราะเขา

8.ฉากทรงคุณค่า

ก็คือฉากดวลระหว่างแก๊งของนีลและกลุ่มตำรวจที่ต่างฝ่ายต่างสาดกระสุนกันกลางถนนนั่นล่ะครับ นี่คือฉากที่กำเนิดขึ้นมาได้ด้วยทักษะและความแม่นยำของทีมงานมืออาชีพโดยแท้ ทุกอย่างถ่ายทำกันบนสถานที่จริง ซึ่งต้องเตรียมการล่วงหน้าอย่างมาก ซึ่งในวันนี้ไม่มีการถ่ายทำแบบนี้ในสถานที่จริงแล้ว แต่ถ่ายทำกันในโรงถ่ายบนฉากหลัง Green Screen แล้วใช้ CGI เข้ามาช่วยเพื่อลดความยุ่งยากในการเตรียมพื้นที่ ฉากสาดกระสุนกลางถนนแบบนี้จึงนับเป็นฉากที่หาดูไม่ได้แล้วในหนังฮอลลีวู้ดยุคปัจจุบันนี้ และต้องย้ำกันว่าไม่ใช่เพียงแค่ฉากนี้ที่ถ่ายทำกันบนสถานที่จริง แต่ทั้งเรื่องไม่มีการถ่ายทำในสตูดิโอเลย กว่าจะถ่ายทำเสร็จทั้งเรื่อง กองถ่ายต้องย้ายสถานที่กันมากถึง 65 โลเคชัน

9.อัล ปาชิโน อิมโพรไวซ์การแสดง

อย่างที่ได้เกริ่นไปว่า โรเบิร์ต เดอนีโร เป็นนักแสดงที่จริงจังกับทุกบทบาทที่ได้รับมอบหมายเสมอ จะว่าไป อัล ปาชิโน เองก็จริงจังไม่แพ้กัน เขาทำการศึกษาตัวตนของ วินเซนต์ ฮันนา แล้วก็ตีความบุคลิกภาพลักษณ์ของวินเซนต์ตามความเข้าใจของเขาเอง โดยเฉพาะในจุดที่บรรยายไว้ในบทภาพยนตร์ว่า วินเซนต์ ฮันนา นั้นติดโคเคน แต่ในหนังไม่ได้เอ่ยให้คนดูได้รับรู้ นั่นทำให้เราได้เห็น วินเซนต์ ฮันนา มักจะควบคุมอารมณ์ไม่อยู่ในบางครั้ง โดยเฉพาะฉากเด่นที่ระเบิดอารมณ์กับ อลัน มาร์เซียโน บทของ แฮงค์ อาซาเรีย นั้นก็เป็นการตีความการแสดงในขณะนั้น ทำให้เราได้เห็นสีหน้าของ แฮงค์ ที่ตกใจจริง ๆ ความจริงจังของ อัล ปาชิโน ยังทำให้เขาพลาดทำจมูกของ เฮนรี โรลลิน หักในฉากต่อสู้อีกด้วย

10.งานแสดงเรื่องที่ 2 ของ นาตาลี พอร์ตแมน

แน่นอนว่าแฟน ๆ ของนาตาลี พอร์ตแมน จะจดจำบทบาทแจ้งเกิดของเธอได้ใน Leon the Professional จนลืมกันไปว่าเธอก็ร่วมแสดงใน Heat ด้วย แม้บท ลอเร็น ของเธอในเรื่องนี้จะไม่โดดเด่นนัก แต่ก็เป็นบทที่หนัก และท้าทายความสามารถของเธอ ซึ่งวันนั้นเธอเพิ่งอายุ 13 ปีเอง เพิ่งมีงานแสดงเรื่องนี้เป็นเรื่องที่ 2 ทิ้งห่างจาก Leon แค่ปีเดียวเอง

บทลอเร็นเป็นเด็กวัยรุ่นที่มีปัญหาชีวิต พ่อแม่แยกทางกัน เธอต้องใช้ชีวิตอยู่กับแม่ ที่มีแฟนใหม่ก็คือ วินเซนต์ ฮันนา แม้ว่าเขาจะรักใคร่เอาใจใส่เธออย่างดี แต่ก็ไม่สามารถเข้าถึงความเจ็บปวดภายในจิตใจของเธอได้ ทำให้เธอตัดสินใจทำเรื่องร้ายแรงในที่สุด นาตาลี พอร์ตแมน เปรยว่าตัวเธอเองไม่ชอบปืนเอาเสียเลย แต่กลับกลายเป็นว่าหนังที่เธอแสดงหลายเรื่อง ก็มักวนเวียนอยู่กับปืน

11.ความหมายของ RAJA

มีอยู่ฉากหนึ่งที่เราจะเห็นรถบรรทุกพ่วง ด้านข้างรถบรรทุกมีตัวหนังสือเขียนว่า RAJA ชื่อนี้เป็นความตั้งใจของผู้กำกับ ไมเคิล มานน์ ที่เอาอักษรแรกของชื่อลูกสาวทั้ง 4 มารวมกัน ชื่อของเธอทั้ง 4 คือ Rebecca, Ami, Jessie และ Aran นับว่าเป็นผู้กำกับที่รักลูกจริง ๆ แล้ว Ami ลูกสาวของไมเคิล มานน์ ก็มาเป็นผู้กำกับหน่วยที่ 2 ด้วย ปัจจุบันเธอเป็นผู้กำกับมืออาชีพอีกคนไปแล้ว

12.มีอาชญากรตัวจริงมาเป็นที่ปรึกษาในกองถ่าย

ทีมงานเบื้องหลังที่น่าสนใจที่สุดเห็นจะเป็น เอ็ดดี บังเคอร์ เขาผู้นี้เป็นอาชญากรตัวจริง เป็นเคยติดคุกในข้อหา ปล้นธนาคาร, ขายยาเสพติด, ปล้นอาวุธ และขู่กรรโชกทรัพย์ เข้าออกคุกเป็นว่าเล่น จนก้าวออกจากคุกครั้งสุดท้ายจริง ๆ ในปี 1975 และเลือกอาชีพใหม่ที่ห่างไกลจากเดิมมากคือเป็น นักแสดง และนักเขียน เขามีสมทบในหนัง The Running Man, Tango & Cash และ Reservoir Dogs

ผลงานนิยายก็หลายเล่ม โดยเฉพาะเรื่อง No Beast So Fierce เป็นเรื่องที่ ไมเคิล มานน์ แนะนำให้นักแสดงทุกคนที่เล่นเป็นตัวร้ายควรจะอ่านเพื่อเป็นประโยชน์ในการแสดงเรื่องนี้ ส่วนตัวไมเคิล มานน์ เองก็ยังเขียนตัวละคร เนต บทที่ จอห์น วอยต์ แสดงนั้น มาจากตัวตนของ เอ็ดดี้ บังเคอร์ เองนี่ล่ะ แล้ว เอ็ดดี้ ก็ยังรับหน้าที่ที่ปรึกษาฝ่ายเทคนิคในกองถ่ายอีกด้วย เอ็ดดี้ บังเคอร์ เสียชีวิตไปแล้วเมื่อปี 2005 ในวัย 71 ปี

13.ไมเคิล มานน์ ค้นคว้าข้อมูลก่อนเขียนอย่างยาวนาน

สมกับที่ Heat เป็นผลงานมาสเตอร์พีซของไมเคิล มานน์ เพราะเขาตั้งอกตั้งใจกับผลงานเรื่องนี้มากตั้งแต่ขั้นตอนเขียนเรื่อง เพื่อหาข้อมูลในการเขียนที่สมจริง ไมเคิล มานน์ ใช้เวลา 7 เดือน ด้วยการติดรถไปกับตำรวจฝ่ายจารกรรม และฆาตกรรม เพื่อศึกษาชีวิตของตำรวจและการทำงานมาถ่ายทอดเป็นบทภาพยนตร์

14.ฉากเผชิญหน้าระหว่าง วินเซนต์ ฮันนา และ นีล แม็กคอเลย์ ไม่มีการซ้อม

เป็นไอเดียของ อัล ปาชิโน เองที่เสนอกับไมเคิล มานน์ เขาให้ความเห็นว่าอยากถ่ายทอดความรู้สึกได้สมจริงว่าเจอหน้ากันครั้งแรกจริง ๆ ของคนแปลกหน้า ฉะนั้นถ้าไม่มีการซ้อมเขาจะถ่ายทอดออกมาได้สมจริงกว่า ซึ่งผู้กำกับไมเคิล มานน์ ก็เห็นชอบด้วย ลองไปย้อนดูฉากนี้กันอีกสักรอบสิครับ แล้วสัมผัสการแสดงของทั้งคู่ในฉากนี้ที่ไม่ผ่านการซ้อม

15.เอมี่ เบร็นเน็มแมน ไม่อยากรับแสดงเรื่องนี้

เอมี่ เบร็นเน็มแมน นักแสดงผู้รับบทเป็น อีดี้ แฟนสาวของ นีล แม็กคอเลย์ หลังจากที่เธอได้อ่านบทหนังแล้ว เธอก็ปฏิเสธไม่ขอรับงานแสดงเรื่องนี้ ให้เหตุผลว่าหนังรุนแรงเกินไปและเต็มไปด้วยผู้คนที่ไร้ศีลธรรม พอไมเคิล มานน์ ได้ฟังเหตุผลของเธอก็ตบเข่าฉาด ยิ่งชอบใจเอมี่เข้าไปใหญ่ เพราะว่านี่คือแนวความคิดที่เพอร์เฟกต์ที่สุด สำหรับคนที่จะมาเล่นเป็นอีดี้ เพราะตัวอีดี้ที่ไมเคิล มานน์ บรรยายไว้นั้นคือคนที่ห่างไกลแวดงวงอาชญากรมาก

อ้างอิง
อ้างอิง
อ้างอิง
อ้างอิง