LGBTQ+ Films in Pride Month
LGBTQ+ Films in Pride Month

หนัง LGBTQ+ ตลอด 20 ปี…ที่ควรค่าแก่การหามาดูสักครั้งในชีวิต

ในโลกภาพยนตร์โดยเฉพาะประเภทดรามา มักจะหยิบเอาประเด็นของกลุ่มชนที่ด้อยชั้นวรรณะกว่า ทั้งโดยเชื้อชาติ สีผิว เศรษฐกิจ และเพศสภาพ หยิบมาสร้างความสะเทือนใจ ชวนให้คนดูฉุกคิดและตั้งคำถามว่า มนุษย์ควรจะแบ่งแยกความแตกต่างระหว่างกันด้วยกฎเกณฑ์แห่งอคติเหล่านั้นหรือไม่? ตลอด 20 ปีที่ผ่านมา เรื่องราวของกลุ่มเพศทางเลือกหรือกลุ่มที่มีความหลากหลายทางเพศ ก็ถูกนำเสนอออกมาสร้างเป็นภาพยนตร์หลายเรื่อง และมีจำนวนมากขึ้นเรื่อย ๆ สะท้อนถึงการยอมรับเรื่องนี้ในสังคมวงกว้าง

What The Fact ขอรวบรวมภาพยนตร์ที่มีเนื้อหาน่าสนใจเกี่ยวกับผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศมานำเสนอ เนื่องในโอกาส “เดือนแห่งความภาคภูมิใจของชาวหลากหลายทางเพศ” ซึ่งก็คือในเดือนมิถุนายนของทุกปี โดยจะนำเสนอภาพยนตร์ที่ฉายในกระแสหลัก เพื่อบอกเล่าคู่ขนานไปกับการเปิดใจยอมรับของสังคมทั้งไทยและเทศในช่วงเวลานั้น เนื่องจากเชื่อว่ามีหนังเฉพาะกลุ่มของผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศที่เนื้อหาดี และน่าสนใจอีกมาก (ที่อาจจะยกมานำเสนอในโอกาสต่อไป)

ที่มาของเดือน PRIDE MONTH

สำหรับกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศได้ถือเอาเดือนนี้เป็นเดือน Pride Month หรือเดือนแห่งความภาคภูมิใจ ที่มาที่ไปเริ่มต้นมาจากเหตุการณ์จลาจล “สโตนวอลล์” (Stonewall Riots) ที่เมือวนิวยอร์ก ประเทศสหรัฐอเมริกา เมื่อคืนวันที่ 28 มิถุนายน 1969 ที่นับเป็นครั้งแรกที่ชาว LGBT กล้าจะยืนหยัดต่อสู้เพื่อสิทธิและเสรีภาพในหน้าประวัติศาสตร์

1969 Stonewall Riots - Origins, Timeline & Leaders - HISTORY
ภาพเหตุการณ์จลาจล “สโตนวอลล์” ในปี 1969 (ภาพจาก History.com)

ในตอนนั้น การดำรงสถานะเป็นคนรักเพศเดียวกันนั้นถือเป็นสิ่งผิดกฎหมายในสหรัฐฯ รวมไปถึงการแต่งกายไม่ตรงกับเพศกำเนิด ดังนั้นการได้ใช้ชีวิตอย่างเปิดเผยตัวตนที่แท้ แม้จะเป็นช่วงเวลาสั้น ๆ ในวันนั้นตำรวจมาทำการตรวจบาร์ตามปกติ แต่กลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศภายในบาร์ได้ทำการขัดขืนการตรวจจับอย่างเลือกปฏิบัติของตำรวจ จนเหตุการณ์ลุกลามเป็นจลาจล

ต่อมาอีก 1 ปีให้หลังที่เมืองนิวยอร์ก และอีก 3 เมืองใหญ่อย่างลอสแอนเจลิส ซานฟรานซิสโก และชิคาโก ต่างจัดการเดินขบวนพาเหรดเพื่อรำลึกถึงเหตุการณ์ สโตนวอลล์ อย่างเป็นสัญลักษณ์ ในปี 2000 ประธานาธิบดี Bill Clinton ได้ประกาศให้เดือนมิถุนายนเป็น “เดือนแห่งความภูมิใจของชาวเกย์และเลสเบียน” ต่อมาในปี 2009 ประธานาธิบดี Barack Obama ได้ประกาศให้เดือนมิถุนายนเป็น “เดือนแห่งความภาคภูมิใจของชาวหลากหลายทางเพศ” ที่ขยายความรวมมากกว่าแค่กลุ่มเกย์และเลสเบียน (Lesbian, Gay, Bisexual, and Transgender)

CALL ME BY YOUR NAME (2017)

หนังก้าวผ่านวัยผ่านความสัมพันธ์ของเพศเดียวกันเรื่องนี้ ใช้เวลาเป็น 10 ปี กว่าผู้สร้างจะได้เริ่มการถ่ายทำ เพราะสตูดิโอหลายแห่งบอกผ่านจากการเป็นหนังของไบเซ็กชวลและแถมยังไม่มีความขัดแย้งอะไรในเรื่อง นอกจากความหมกมุ่นฮอร์โมนพุ่งพล่านของพระเอกวัยแตกหนุ่ม ทีมงานนานาชาติของหนังประกอบไปด้วยชาวอิตาเลียน ฝรั่งเศส อังกฤษ และไทย (ผู้กำกับภาพ-สยมภู มุกดีพร้อม ที่เคยกำกับภาพ “สัตว์ประหลาด” ของอภิชาติพงศ์ วีระเศรษฐกุล ซึ่งก็เป็นเรื่องราวของกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศเช่นกัน)

ดัดแปลงมาจากนิยายโรแมนติกของ André Aciman ที่พูดถึงเรื่องราวความสัมพันธ์ระหว่าง Elio เด็กหนุ่มวัย 17 เชื้อสายอเมริกันอิตาเลียน-ยิว กับ Oliver นักศึกษาหนุ่มชาวอเมริกันวัย 24 ปี ขณะมาช่วยงานคุณพ่อของ Elio ช่วงปิดภาคฤดูร้อนในช่วงยุค 80s หนังปูแบ็คกราวน์ในด้านอ่อนโยนของเด็กหนุ่มที่ดูภายนอกเหมือนจะมีเสน่ห์ไปในเชิงเพลย์บอย แต่ความอ่อนโยนนั้นถูกขยายออกจนประตูอีกบานเปิดออก ตัวตนอีกด้านหนึ่งของเขาเผยออกมา เจือปนกับความอยากรู้อยากเห็นและความสับสนในการค้นหาตัวเองแบบฉบับหนัง Coming (out) of Age

Armie Hammer and Timothée Chalamet in Call Me by Your Name (2017)
Call Me By Your Name (2017)
  • นักแสดง: Armie Hammer, Timothée Chalamet, Michael Stuhlbarg, Amira Casar
  • ผู้กำกับ: Luca Guadagnino (Suspiria, A Bigger Splash, I Am Love)
  • ทุนสร้าง / รายรับรวมทั่วโลก: 4.5 / 41 ล้านเหรียญฯ
  • Rotten Tomatoes Score / iMDB Rating: 95% / 7.9/10
  • รางวัลบนเวทีออสการ์: ชนะ 1 สาขารางวัลออสการ์ (บทภาพยนตร์ดัดแปลงยอดเยี่ยม) และเข้าชิงอีก 3 สาขา (ภาพยนตร์ยอดเยี่ยม, นักแสดงนำชายยอดเยี่ยม (Timothée Chalamet) และเพลงประกอบภาพยนตร์ยอดเยี่ยม)

MOONLIGHT (2016)

พ่วงมาถึงสองสถานะที่ถือเป็นพลเมืองชั้นสองมาตลอดของสังคมอเมริกัน หนึ่งคือการเป็นคนผิวดำ สองคือการเป็นเกย์ MoonLight เป็นงานหนังของสตูดิโอ A 24 จับมือกับ Plan B Entertainment ของ Brad Pitt ที่เคยสร้างหนังตีแผ่ทาสผิวดำ 12 Years a Slave (2013) จนได้ออสการ์มาแล้ว ถึงอย่างนั้น หนังก็ยังถูกค่อนขอดว่า หนังคว้ารางวัลออสการ์ภาพยนตร์ยอดเยี่ยมมาได้ เพราะฮอลลีวูดต้องการแสดงนัยยะต่อต้าน Donald Trump และกลุ่มคนที่เลือกเขามาเป็นประธานาธิบดีในปีนั้นซึ่งเป็นฝั่งคนผิวขาว ถ้าหากเปลี่ยนคนผิวดำเป็นผิวขาว และเหตุไม่ได้เกิดในไมอามีหนังจะได้ออสการ์หรือไม่ แต่อีกฝั่งก็บอกว่า หนังมีดีอยู่แล้ว

หนังพูดถึงเรื่องราวชีวิตของ “ไชรอน”’ เกย์ผิวดำผ่าน 3 ช่วงเวลาของชีวิต ตั้งแต่วัยเด็ก, วัยรุ่น ไปจนถึงวัยผู้ใหญ่ ซึ่งเติบโตมาท่ามกลางสภาพแวดล้อมเลวร้ายในย่านเสื่อมโทรมของไมอามี ไม่ว่าจะถูกเพื่อนคอยรังแก เย้ยหยัน ความรักความอบอุ่นที่เขาไม่เคยได้รับจากผู้เป็นแม่ที่ติดยาอย่างหนัก สั่งสมหล่อหลอมให้เขากลายเป็นเด็กที่แบกรับความรู้สึกรันทดทุกอย่างเอาไว้คนเดียว (อ่านรีวิวฉบับเต็มเรื่องนี้ของ WTF)

This image has an empty alt attribute; its file name is 021_Moonlight-1024x683.jpg
Moonlight (2016)
  • นักแสดง: Mahershala Ali, Naomie Harris, Janelle Monáe, Duan Sanderson, Alex R. Hibbert
  • ผู้กำกับ: Alfonso Cuarón (Roma, Gravity, Harry Potter and the Prisoner of Azkaban)
  • ทุนสร้าง / รายรับรวมทั่วโลก: 76 / 70 ล้านเหรียญฯ
  • Rotten Tomatoes Score / iMDB Rating: 92% / 7.9/10
  • รางวัลบนเวทีออสการ์: ชนะ 3 สาขารางวัลออสการ์ (ภาพยนตร์ยอดเยี่ยม, นักแสดงสมทบชายยอดเยี่ยม (Mahershala Ali), บทภาพยนตร์ดัดแปลงยอดเยี่ยม) และเข้าชิงอีก 5 สาขารางวัลออสการ์ (รวมสาขาผู้กำกับภาพยนตร์ยอดเยี่ยม)