โป่ง ปฐมพงศ์ สมบัติพิบูลย์ คือ คนดนตรีที่มีบทบาทอยู่ในวงการเพลงร็อกมาหลายสมัย ผู้วางรากฐานบทเพลงฮาร์ดร็อกและเฮฟวี่เมทัลในวงการเพลงไทยผ่านผลงานจากวงดนตรีที่เขามีบทบาทในการถ่ายทอดเรื่องราวผ่านเสียงร้องอันทรงพลังและเนื้อเพลงสะท้อนสังคม อารมณ์ จิตใจของมนุษย์ได้อย่างเฉียบคมลุ่มลึก ผ่านหลากหลายวงดนตรีไม่ว่าจะเป็น ดิ โอฬาร โปรเจ็คต์, หิน เหล็ก ไฟ, เดอะ ซัน รวมถึงบทบาทของศิลปินเดี่ยว

ถึงแม้จะทำอยู่หลายโพรเจกต์แต่คนส่วนใหญ่มักเรียก โป่ง ปฐมพงศ์ ว่า ‘โป่ง หิน เหล็ก ไฟ’ เพราะนั่นคือจุดเริ่มต้นของตัวตนอันชัดเจนกับผลงานอันเป็นตำนานมาจนถึงทุกวันนี้ ไม่ว่าคุณจะชื่นชอบเขาในบทบาทไหน ต่อไปนี้คือเรื่องราวตลอดระยะเวลากว่า 35 ปีในวงการเพลง ผ่านการแยกวง 2 ครั้ง และกลับมารวมตัวกันอีกหลายครั้ง ชีวิตของ โป่ง ปฐมพงศ์ นั้นเป็นบทพิสูจน์อย่างดี ว่า ‘ดนตรีร็อก.. ไม่มีวันตาย’

พี่โป่ง เกิดเมื่อวันที่ 9 ตุลาคม พ.ศ. 2504 เป็นคนปักษ์ใต้ อำเภอปะทิว จังหวัดชุมพร ในครอบครัวชนชั้นกลางที่มีเชื้อสายจีน คุณพ่อทำอาชีพค้าขาย คุณแม่รับราชการครู และต่อมาอยู่ฝ่ายศึกษาธิการของอำเภอ ชื่อ “ลูกโป่ง” หรือ “โป่ง” มาจากการที่อากงซึ่งเป็นชาวจีนไหหลำพูดไทยไม่ชัด จึงเรียกชื่อปฐมพงศ์เพี้ยนเป็น ‘ป้งป่ง’ จนกลายเป็น ‘โป่ง’ ในที่สุดซึ่งก็เป็นชื่อที่สอดคล้องกับบุคลิกของพี่โป่งที่เป็นเด็กอ้วนกลม และคนที่บ้านก็ชอบเรียกว่า ป่อง ตุ๊บป่อง ด้วยอยู่แล้ว

The Beginning จุดเริ่มต้น

ตอนเด็ก ๆ พี่โป่งเป็นคนเรียนเก่งได้ที่หนึ่งที่สองตลอด และยังไม่เคยคิดจะเป็นนักร้อง ซนตามประสาเด็กปกติ แต่ชอบฟังเพลง เปิดฟังตามวิทยุเป็นส่วนใหญ่ หรือไม่ก็ฟังเพลงของคนข้างบ้านที่มีแผ่นเสียงวงดัง ๆ อย่าง The Impossible ซึ่งพี่โป่งมักจะวิ่งปรู๊ดไปนั่งฟังเพลงหน้าลำโพงยี่ห้อ Sansui เสมอ จนในที่สุดก็ชอบดนตรีโดยที่ไม่รู้ตัว ในสมัยนั้นส่วนใหญ่เพลงที่พี่โป่งฟังมักเป็นเพลงลูกทุ่ง ซึ่งส่วนใหญ่เป็น ‘เพลงที่ลอยมาตามลม’ เพราะต่างจังหวัดนั้นเงียบ และใช้ลำโพงฮอร์นกระจายเสียง เสียงมันเลยลอยมาตามลม ก็เลยได้เริ่มซึมซับดนตรีพวกนี้มา

ตอนเด็กพี่โป่งฟังทุกแนว ไปบ้านน้าก็ไปเปิดแผ่น เอลวิส คลิฟฟ์ ริชาร์ด เพลงจีน ยังไม่รู้ว่าตัวเองชอบดนตรีแบบไหน โตมาหน่อยชั้นเรียนมีชั่วโมงขับร้อง นักเรียนทุกคนต้องออกไปร้องเพลง พี่โป่งก็ร้องจนครูที่สอนบอกว่าร้องดี จำไม่ได้ว่าร้องเพลงอะไร แต่น่าจะเป็นเพลงลูกทุ่งของนักร้องดัง ๆ ในช่วงเวลานั้นเช่น สุรพล สมบัติเจริญ  ศรคีรี ศรีประจวบ หรือ สายัณห์ สัญญา พี่โป่งเคยประกวดร้องเพลง จำได้ว่าร้องเพลง ‘คนหัวล้าน’ ของสุรพล สมบัติเจริญ ที่ร้องว่า ‘อย่าเพิ่งด่าว่าคนหัวล้าน อย่าเพิ่งประจาน ว่าคนหัวล้านไม่ดี และมีผู้กองหรือนายอำเภอซึ่งเป็นผู้ใหญ่ในงานมีลักษณะตรงกับเพลงนั้นพอดี พี่โป่งเลยได้มาแค่ดินสอเพราะเลือกเพลงผิด (ฮา) ตอนนั้นที่บ้านรู้ว่าพี่โป่งชอบร้องเพลง แต่ก็ไม่ได้สนับสนุนให้ทำเป็นอาชีพแต่อย่างใด

พี่โป่งเริ่มฟังเพลงร็อกครั้งแรกเมื่อเข้าเรียนชั้นมัธยมศึกษาที่ โรงเรียนเทพศิรินทร์ ได้เจอเพื่อนใหม่ ๆ ที่ชอบฟังเพลง จับกลุ่มฟังเพลง เล่นกีตาร์ เพื่อนเอาเพลงร็อกมาแบ่งกันฟัง ตอนนั้นพี่โป่งยังไม่รู้จักเพลงร็อกเลย เล่นกีตาร์เพลงคาราวานได้เท่านั้น เริ่มฟังร็อกตามเพื่อน ตอนนั้นเป็นช่วงยุค 80s แนวดนตรีที่กำลังมาก็คือ synth pop, new wave, disco ไม่ใช่ยุคของร็อก แต่เพื่อนฟัง Deep Purple, Uriah Heep, Black Sabbath ฟังรายการวิทยุ คุณวิฑูร วทัญญู ซึ่งเป็นนักจัดรายการวิทยุในอดีตของไทย มีชื่อเสียงในยุคทศวรรษ 1970 ถึง 1990 โดยเน้นเปิดเพลงแนวฮาร์ดร็อก จนถึงเฮฟวี่เมทัล ใช้สำนวนเรียกว่า “เฮฟวี่ ฮาร์ด ฮ็อต” รายการของคุณวิฑูรมีอิทธิพลต่อคนที่ชอบฟังเพลงร็อกมาก เป็นคนที่ชอบตั้งฉายาให้กับวงดนตรี เช่น วง Queen มีฉายาว่า ‘ราชาในนามราชินี’ , วง Scorpions เป็น ‘แมงป่องผยองเดช’ หรือ ‘กีตาร์กรีดหัวใจ’ ไมเคิล เชงเกอร์ เป็นต้น

ต่อมาพี่โป่งเริ่มตั้งวงดนตรีที่ชื่อว่า ‘Naon’ (นาอ้อน) กับเพื่อน ๆ ซึ่งมาจากชื่อเพลงของวง ‘Yes’ เป็นเพลงที่เล่าเรื่องหมู่บ้านในจินตนาการ ช่วงนั้นพี่โป่งจริงจังกับวงพอสมควร ซ้อมกันบ่อย และไปเล่นตามงานปาร์ตี้ ซึ่งปกติคนเค้าเล่นเพลงเต้น แต่วงนี้ร็อกมาเลย แต่ก็สนุกสนานกันไปตามประสาวัยรุ่น ตอนนั้นยังไม่คิดถึงเรื่องอาชีพ แต่เคยพูดกับเพื่อน อ่านหนังสือ Starpics แล้วตัดรูปวงดนตรีมาใส่ปกหนังสือเรียน (ยุคนั้นหนังสือเรียนต้องห่อปก และเอารูปดารานักร้อง นักดนตรีที่ชอบมาใส่ เป็นการบอกสไตล์ รสนิยม) พี่โป่งใส่รูปวง Pink Floyd และบอกกับเพื่อนว่าต่อไปจะเป็นแบบนี้ แต่ก็ไม่เคยคิดว่าวันหนึ่งมันจะเป็นเช่นนั้นจริง ๆ

Dream x Reality ความฝันและความจริง

ในตอนนั้นทางบ้านของพี่โป่งไม่เห็นด้วยเรื่องที่จะเล่นดนตรีจริงจัง อยากให้เรียนให้จบตามสูตร เลยไปทางกฏหมาย เพราะมีคุณอาเป็นนักกฎหมาย จึงเข้าศึกษาที่ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง จริง ๆ  พี่โป่งก็ชอบทางนี้ แต่มีบางอย่างให้เบี่ยงเบนความสนใจไปก็คือ เรื่องดนตรีนั่นเอง

หลังจากนั้นพี่โป่งก็แยกจากวง Naon เพราะมือกีตาร์ไปทำอีกวง พี่โป่งเลยมากับมือเบส ไปหามือกีตาร์ใหม่เลยได้ ตุ้ม วีระ โชติวิเชียร (มือกีตาร์วงมิติ, White Support) มาร่วมวง เลยเริ่มรวมวงและซ้อมกัน ครั้งแรกที่เห็นพี่ตุ้มเล่น ถึงกับทำพี่โป่งอึ้งไป เพราะฝีมือพี่ตุ้มนั้นร้ายกาจ เก่งมาก เปิดแผ่นวง Judas Priest แสดงสด เล่นตั้งแต่เพลงแรกจนเพลงสุดท้าย แกะมาเป๊ะหมด พอทุกอย่างลงตัวพี่โป่งก็ได้ตั้งวงใหม่โดยใช้ชื่อว่า ‘Inferno’ และได้ออกเล่นทั้งในมหาวิทยาลัยและตามงานต่าง ๆ

งานที่เล่นเยอะ ๆ คืองานของพี่วิฑูร วทัญญู ชื่อรายการคึกคักยามเช้า ต้องออกจากบ้านตี 4 ตี 5 เพื่อไปเล่น ตอน 9 โมงในโรงหนัง พอหนังเริ่มฉาย 10 โมงก็เลิกเล่น (ชาวร็อกเมื่อก่อนต้องไปดูคอนเสิร์ตตอน 9 โมงเช้ากัน) ตอนนั้น Inferno เป็นวงเอกเลย และชีวิตของพี่โป่งก็เริ่มเข้าใกล้ความเป็นร็อกเกอร์มากขึ้นทุกที ตอนนั้นรู้สึกอยากทำเป็นอาชีพ แต่รายได้ไม่สม่ำเสมอ เวลาไปเล่นตามงานบางทีก็ได้แต่ของจากสปอนเซอร์ ไม่ได้ค่าจ้างอะไร แต่อยากเล่นมากกว่า อยากปล่อยของมากกว่า

ตอนนั้นเป็นยุค 70s ปลาย ๆ เป็นยุคที่วงไทยเริ่มออกเทป แต่ตอนนั้นยังไม่ค่อยได้รับความนิยม ส่วนใหญ่วงไทยมักใช้เพลงฝรั่งมาดัดแปลงเขียนเนื้อไทย ตอนนั้นไม่มีประเด็นเรื่องการลอกเพลง ไม่ได้มีดราม่าเรื่องนี้ เป็นที่รู้กันว่าทำได้ และเป็นที่นิยม วงใหญ่ ๆ ทำกันหมด วงชาตรี เป็นวงแรก ๆ ที่เริ่มทำเพลงไทยของตัวเอง ตอนนั้นพี่โป่งรู้สึกแอนตี้ว่าทำไมไม่ทำเพลงร็อก มาทำเพลงพอปมันหน่อมแน้มไปหน่อย มาเข้าใจทีหลังว่ามันเป็นเรื่องของแนวดนตรีที่สไตล์ใครสไตล์มัน และในเวลานั้นการเขียนเพลงร็อกไทยถือเป็นเรื่องยาก เพราะไม่มีแบบอย่าง ไม่มีใครทำให้ดู

แต่แล้วในที่สุดพี่โป่งก็ได้มาออกอัลบั้มกับทางแกรมมี่

Growing by Doing เรียนรู้และเติบโต

แกรมมี่ในยุคนั้นมีสถานะเหมือนเป็นค่ายเพลงอินดี้ ไม่ใช่ค่ายเพลงยักษ์ใหญ่อันดับ 1 เหมือนวันนี้ (อารมณ์เหมือนค่ายไหทองคำแบบทุกวันนี้) ตอนนั้นพี่โป่งออกอัลบั้มในนามวง ‘โซดา’ ตอนอายุ 24 แนวเพลงไม่ร็อกเลย สมาชิกในวงโซดาครึ่งหนึ่งเป็นนักดนตรีประจำและได้ชักชวนพี่โอ้ โอฬาร พรหมใจ มาเล่นกีตาร์ พี่โอ้ก็มาชวนพี่โป่งไปร้อง ตอนแรกพี่โป่งไม่อยากร้องเพราะมันเป็นเพลงพอป ตอนนั้นพี่โป่งเล่น cover เพลงฝรั่งประจำ ให้คนเต้น 45 นาทีอีก 15 นาทีก็มาเล่นร็อกกัน ก็เหมือนได้ฝึกฝีมือไปด้วย และวงก็มีความคิดจะทำเพลงไทย ในตอนนั้นยังไม่รู้ว่าจะทำยังไง แต่ใครมีความคิดอะไรก็แชร์ ๆ กัน พี่โป่งก็ส่งไอเดียให้เพื่อน ๆ บ้าง ตอนนั้นก็ยังไม่ร็อกเท่าไหร่เลย มีทั้งจังหวะแบบ 6/8 แนวแบบเพลงลูกกรุงก็มี มีแต่พี่โอ้ที่พยายามจะใส่กีตาร์ให้เป็นร็อก

สมาชิกวงโซดา

อัลบั้ม ‘คำก้อน’ ขอวงโซดา มีโปรดิวเซอร์เป็นพี่เต๋อ เรวัติ พุทธินันทน์ ก่อนหน้านี้พี่โป่งรู้จักพี่เต๋อ ในฐานะสมาชิกวง The Impossible และ The Oriental Funk แต่ไม่รู้ถึงความยิ่งใหญ่ในวงการเพลง นับเป็นโอกาสดีที่ได้เข้ามาคลุกคลีและเรียนรู้วิธีทำเพลงจากพี่เต๋อ โดยปกติแล้วพี่เต๋อแทบไม่เปลี่ยนแปลงเพลงที่วงทำเลย จะเก็บแกนหลักไว้และแนะนำในเรื่องต่าง ๆ ทั้งการร้อง การอัดเสียง การเรียบเรียงเพื่อปรับปรุงให้ดีขึ้น พี่โป่งได้เรียนรู้การทำเพลงจากประสบการณ์ตรงนี้มากเลย วันหนึ่งพี่เต๋อขับรถไปส่งพี่โป่งที่บ้านหลังงานเสร็จ คำพูดของพี่เต๋อในวันนั้นพี่โป่งยังจำมาจนทุกวันนี้

“ต่อไปข้างหน้าในอนาคต นักดนตรีที่จะอยู่รอดได้ ต้องสามารถสร้างงานได้ด้วยตัวเอง”

จากคนที่คิดว่าต้องเล่นเพลงฝรั่งให้เหมือนให้ดี มาเจอคำพูดนี้ ทำให้พี่โป่งเปลี่ยนความคิดและเกิดแรงบันดาลใจเล็ก ๆ ขึ้นมาว่า

“ต้องสร้างงานด้วยตัวเอง ถึงแม้ไม่ดีหรือเทียบเท่าคนอื่น แต่ก็ต้องทำ และภาคภูมิใจกับมันเพราะมันเป็นงานของเรา อาจจะมีคนชอบสักคนนึงก็ถือว่าโชคดีแล้วที่สิ่งที่เราคิด สิ่งที่เราอยากจะถ่ายทอด มันมีคนรับได้”

อัลบั้มของวงโซดา อาจไม่ประสบความสำเร็จนัก ทำได้เพียงหนึ่งอัลบั้มก็หยุดไปเลย แต่ถือว่าเป็นประสบการณ์ที่มีคุณค่า และทำให้ได้เรียนรู้การทำงานในระบบที่เป็นบริษัท เป็นบทเรียนแรกในวงการและเป็นบทเรียนที่ดีของพี่โป่ง เหมือนไปเข้าโรงเรียนการเป็นศิลปิน การแต่งเพลง การทำธุรกิจเพลง โดยเฉพาะการเรียนรู้จากพี่เต๋อ แม้แต่เพลงฮิตอย่าง ‘มันแปลกดีนะ’ พี่เต๋อก็เลยนำมาคุยและขอความเห็นจากพี่โป่งได้เรียนรู้การแต่งเพลงจากพี่เต๋อเป็นอย่างมาก

ก้าวต่อไปที่เปลี่ยนไปจาก โซดา เป็นโพรเจกต์ของพี่โอ้ ที่ตั้งใจจะทำโพรเจกต์เดี่ยว พี่โป่งมาช่วยเขียนเนื้อเพลงยังไม่ได้ตัดสินใจร้องด้วย (ตอนนั้นยังอยู่กับโซดา) เมื่อหานักร้องไม่ได้ พี่โป่งเลยลองร้องดูปรากฏว่าเข้ากันได้ดี เลยออกจากวงโซดาและมาอยู่กับพี่โอ้ โอฬาร ตอนแรกจะตั้งชื่อวงว่า ‘Thailand Band’ แต่ พี่โอ้เห็นว่า อาจจะมีผลเสียต่อประเทศชาติได้ ภายหลังจึงเปลี่ยนชื่อเป็น ดิ โอฬาร โปรเจ็คต์ (The Olarn Project)’ เพราะหากเกิดอะไรขึ้น โอฬารจะเป็นผู้รับผิดชอบด้วยตัวเอง

ดิ โอฬาร โปรเจ็คต์ ในปัจจุบัน

ต่อมา ดิ โอฬาร โปรเจ็คต์ ได้ออกอัลบั้มแรกชื่อว่า ‘กุมภาพันธ์ 2528’ ในปี 2530 มีเพลงดังคือ ‘อย่าหยุดยั้ง’ ชุดนี้อินดี้มากออกกับสังกัด ‘เสียงทอง’ ยุคนั้นเป็นยุคที่เริ่มมีค่ายเทป และหลังจากโซดาออกมาจากแกรมมี่ แกรมมี่ก็เริ่มบูมและกำลังเติบโต ตอนแรกที่ The Olarn กำลังเลือกค่ายเพลง พี่โอ้รู้จักคนในค่ายเสียงทองซึ่งทำเพลงลุกกรุงเสียส่วนใหญ่และดูไม่เข้ากับคาแรกเตอร์ของวงมาก แต่โปรดิวเซอร์ข้างในชอบวงมากและดึงเข้าไปทำด้วยกันที่นี่อีกทั้งเงื่อนไขยังไม่เยอะ พี่โอ้เลยชอบและตัดสินใจออกผลงานกับทางค่าย  ในตอนแรกที่ปล่อยออกมาชื่อเสียงก็ยังไม่ได้ดีมาก ต้องรอถึงสองปีคนถึงเริ่มรู้จักเพลง ‘อย่าหยุดยั้ง’ เริ่มจากในสถานศึกษาในมหาวิทยาลัย เพราะกลุ่มนักเรียน นักศึกษานั้นฟังเพลงไม่แมส ชอบค้นหาเพลงแปลกใหม่มาฟังกัน จากนั้นวงก็เริ่มมีคอนเสิร์ตในมหาวิทยาลัย คนเริ่มรู้จัก ขณะเดียวกันก็ประทังชีวิตด้วยการไปเล่นดนตรีที่พัทยา เพราะเป็นย่านเพลงร็อก จึงเป็นโอกาสดีที่ได้ฝึกฝนไปในตัว

จากนั้นในปี พ.ศ. 2532 The Olarn Project ก็ทำอัลบั้มชุดที่สอง ‘หูเหล็ก’ และหลังจากนั้นจึงย้ายมาอยู่ ค่ายไมล์สโตน ของพี่ซัน มาโนช พุฒตาล ที่ซื้ออัลบั้มทั้งสองมาจัดจำหน่าย ในช่วงเวลานั้นพี่โป่งเหมือนจะชัดเจนแล้วว่าจะเดินไปในทางนี้อย่างแน่นอน และทางบ้านก็ตัดหางปล่อยวัดแล้ว (ฮา) พอเริ่มเล่นดนตรีก็ไม่ได้กลับบ้าน ขาดการติดต่อ มุ่งมั่น บ้าไปทางดนตรีอย่างเดียวเลย

จากนั้นพี่โป่งได้ตัดสินใจลาออกจากวง The Olarn Project…

To His Own Path ตัดสินใจ…สู่เส้นทางของตัวเอง

เหตุผลที่พี่โป่งตัดสินใจออกจากวงนั้นเป็นเพราะอยากลองทำอะไรใหม่ ๆ แบบที่ใจต้องการดูบ้าง เพราะว่าเพลงของ The Olarn ทั้งหมดพี่โอ้เป็นคนกำหนด บางครั้งเวลาพี่โป่งเขียนเนื้อก็ติดขัดบ้าง เลยมีไอเดียกับมือเบส พี่รงค์ ณรงค์ ศิริสารสุนทร ว่าถ้ามีกีตาร์สองตัวและทำเพลงหวือหวากว่านี้ (เพลงของพี่โอ้จะละมุนละไม มีความเป็นดนตรีคลาสสิกเข้ามาผสมผสานกับดนตรีเฮฟวี่เมทัล) พี่โป่งอยากทำเพลงแบบฮาร์ดร็อก ลุย ๆ มัน ๆ ดูบ้าง พอหมดสัญญาที่พัทยาก็เลยตัดสินใจกลับมากรุงเทพ ฯ  และได้ไปคุยกับมือกีตาร์คือ พี่โต นำพล ขจรพิมานมาศ มือกีตาร์จากวง Index, 50 Miles, Dexter และวงของกิตติ กีตาร์ปืน เห็นฝีมือดีจึงได้ชวนมาเล่นทำวงดนตรีด้วยกัน

ต่อมาวันหนึ่ง พี่รงค์ มือเบสได้ไปที่ร็อกผับและเจอกับพี่ป๊อป จักรรินทร์ ดวงมณีรัตนชัย มือกีตาร์ของวง Force จากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่กำลังโซโล่กีตาร์ได้อย่างเร้าใจ เลยติดต่อทาบทามมาร่วมวงด้วยกัน แต่เนื่องจากพี่ป๊อปกำลังศึกษาอยู่ที่คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่อยู่ จึงบอกให้เรียนให้จบก่อนแล้วค่อยติดต่อกลับมา

จนในที่สุดเมื่อพี่ป๊อปเรียนจบจึงได้ติดต่อมา เมื่อพี่โป่งได้เห็นถึงฝีมือของพี่ป๊อปที่ตอนนั้นยังเด็กมากก็รู้สึกประทับใจเป็นอย่างยิ่งเพราะสไตล์การเล่นกีตาร์ของพี่ป๊อปนั้นเต็มไปด้วยเทคนิคใหม่ ๆ เป็นในแบบที่ต้องการ เหมือนฟ้าประทานมารู้สึกโชคดีที่ได้นักดนตรีเก่ง ๆ มาร่วมงานด้วยกัน จากนั้นก็เลยได้สมาชิกครบเป็นและเริ่มต้นตำนานบทแรกของ ‘หิน เหล็ก ไฟ’ หรือในชื่อภาษาอังกฤษคือ Stone Metal Fire (ย่อว่า SMF) โดยมีความหมายว่า

As Solid As Stone แกร่ง ดั่ง หินผา (S)

As Strong As Metal แข็ง ดั่ง เหล็กกล้า (M)

As Fierce As Fire เร่าร้อน ดั่ง เปลวไฟ (F)

หลายคนอาจแปลกใจที่วงฮาร์ดร็อก เฮฟวี่อย่างหิน เหล็ก ไฟ ทำไมถึงไปออกอัลบั้มกับค่ายอาร์เอส ที่เรารู้สึกว่าเป็นค่ายเพลงพอป ทีนไอดอลแบบนั้นมากกว่า ซึ่งสาเหตุที่หิน เหล็ก ไฟไปอาร์เอส นั่นก็เพราะว่าเคยมีคอนเน็กชั่นที่คุยไว้ในสมัย ดิ โอฬาร แต่เงื่อนไขพี่โอ้ไม่โอเค ตอนแรกพี่โป่งก็คิดจะมาทำกับแกรมมี่ แต่ไม่รู้จะคุยกับใคร ไม่กล้าติดต่อพี่เต๋อ ไม่รู้ทำไมเหมือนกันเหมือนมันเป็นเรื่องของโชคชะตา ซึ่งเป็นเรื่องน่าคิดเหมือนกันว่าถ้าหิน เหล็ก ไฟ ออกกับแกรมมี่จะประสบความสำเร็จเหมือนออกกับอาร์เอสรึเปล่า และผลงานที่ออกมาจะเป็นอย่างไรบ้าง

ตอนนั้นที่ได้เอาเพลงไปคุยกับเฮียฮ้อ เฮียก็โอเคเลย ซึ่งตอนนั้นอาร์เอสก็มีวงร็อกอยู่บ้างแล้วเช่น ไฮ-ร็อก หรั่ง ร็อกเคสตรา แสดงว่าอาร์เอสเริ่มปูในแนวทางร็อกแล้ว การเข้ามาของหิน เหล็ก ไฟ จึงเป็นเรื่องที่เข้าใจได้

At Peak ณ จุดที่สูงที่สุด

จากที่ทำเพลงแล้วไม่เคยมีเพลงฮิตเลย จนมาหิน เหล็ก ไฟที่พี่โป่งได้สร้างสรรค์งานในแบบของตัวเองอย่างเต็มที่ ในช่วงเวลาที่ได้หมักบ่มอย่างสุกงอม ก่อเกิดเป็นงานดนตรีที่โดดเด่นและเข้าถึงผู้ฟัง จนมีเพลงฮิตมากมายไม่ว่าจะเป็น ยอม, นางแมว, สู้, เพื่อเธอ, พลังรัก, คิดไปเอง, หลงกล และอีกมากมาย

ตอนนั้นมีคอนเซ็ปต์เพลงเขียนไว้เยอะ ส่วนใหญ่ทำดนตรีก่อน แต่ตอนทำ ดิ โอฬารบางทีดนตรีมันไม่เข้ากับคอนเซ็ปต์ที่พี่โป่งมี แต่ของหิน เหล็ก ไฟมันเข้ากับคอนเซ็ปต์ที่มี เนื้อร้องกับดนตรีมันตอบโจทย์กัน ทำงานกันเป็นทีม แชร์กัน ยอมรับไอเดียซึ่งกันและกัน  จึงทำให้งานเพลงออกมาลงตัว อัลบั้มแรกของ ‘หิน เหล็ก ไฟ’ ใช้ชื่อว่า ‘หิน เหล็ก ไฟ’ เหมือนกัน ออกมาในปี พ.ศ. 2536 งานของหิน เหล็ก ไฟเป็นส่วนผสมที่ลงตัวระหว่างงานดนตรีแบบฮาร์ดร็อกและเฮฟวี่เมทัลที่โดดเด่นทั้งในภาคดนตรีอันเกิดจากนักดนตรีฝีมือฉกาจ เสียงร้องอันทรงพลังและมีเอกลักษณ์ รวมไปถึงเนื้อเพลงที่คมคายและเข้าถึงง่าย ทำให้งานเพลงของหิน เหล็ก ไฟ ประสบความสำเร็จอย่างมาก ทั้งในด้านยอดขายที่ถล่มทลายล้านตลับเป็นวงร็อกวงแรกของไทยที่มียอดขายในระดับนี้ มีคอนเสิร์ตใหญ่อย่าง ช็อต ชาร์จ ช็อค ร็อก คอนเสิร์ต (Short Charge Shock Rock Concert) ครั้งที่ 1 ที่ สนามกีฬาอินดอร์สเตเดียม หัวหมาก เป็นคอนเสิร์ตของศิลปินไทยที่มียอดผู้ชมมากที่สุดในปี พ.ศ. 2536  นอกจากนี้ยังได้รางวัลสีสันอวอร์ดในหมวดศิลปินหน้าใหม่ ได้ทั้งเงินและกล่อง อัลบั้มนี้มีเพลงฮิตอย่าง ยอม, เพื่อเธอ, นางแมว, พลังรัก, สู้, ร็อคเกอร์

จากนั้นหิน เหล็ก ไฟก็ใช้เวลากับการออกทัวร์คอนเสิร์ตร่วมสองปี จึงมีเวลากลับมาทำอัลบั้มชุดที่สอง ชื่อ ‘คนยุคเหล็ก’ ออกวางจำหน่ายในปี พ.ศ. 2538 มีเพลงที่ได้รับความนิยมเช่น คนยุคเหล็ก, หลงกล, มั่วนิ่ม, คิดไปเอง

ชีวิต ณ ตอนนั้นคือร็อกสตาร์ เหล้า ยา ผู้หญิง ก็มาหมด ยิ่งรับอิทธิพลจากต่างประเทศ ไม่มีก็ต้องหาให้มี มันต้องครบเครื่อง พอมองย้อนกลับไปในวันนี้ ส่วนตัวพี่โป่งรู้สึกว่าเรื่องพวกนี้มันไม่จริง ร็อกเกอร์ไม่จำเป็นจะต้องมีสิ่งเหล่านี้ก็ได้ อย่างพอพูดถึงกัญชา พี่โป่งก็ไม่สามารถสูบกัญชาแล้วเล่นดนตรีได้ เพราะมันทำให้หลงลืมไม่เหมาะกับการทำงาน ยิ่งเป็นคนเอ็นเตอร์เทน ต้องควบคุมเกมให้ได้ เหล้า เบียร์ แค่นี้ถือว่าพอแล้ว (แก้คอแห้ง)

พอไปติดไปเสพ สิ่งเหล่านี้มันจะควบคุมเรา เลยไม่ไปยุ่งกับมัน บุหรี่ก็หยุดเลยเพราะมีผลต่อเสียง บางทีกำลังไฮ พอเขียนเนื้อเพลงตอนนั้นมันก็ดีไปหมดเพื่อน ๆ ที่ไฮด้วยกันก็เห็นด้วย แต่พอฟื้นแล้วมาดูกัน ถึงกับตกใจว่า ‘เฮ้ยเขียนอะไรวะ’ มันต้องไฮถึงจะเข้าใจ ยิ่งคนส่วนใหญ่ต้องการเพลงที่มีเหตุผล เข้าใจได้ การเขียนเพลงเลยต้องคิดเยอะ ต้องมาแก้มาปรับอีก เพราะฉะนั้นสิ่งเหล่านี้ไม่จำเป็นเลย

พี่โป่งเคยเขียนนิยายเรื่อง ‘สัญญาปีศาจ’ ลงในนิตยสาร ‘บันเทิงคดี’ ของพี่ซัน มาโนช พุฒตาล ลงเป็นตอน ๆ  แต่ไม่จบหนังสือปิดตัวไปก่อน  เป็นเรื่องเกี่ยวกับการขายวิญญาณให้กับซาตาน ซึ่งเป็นตำนานที่เกี่ยวพันกับนักดนตรีซึ่งมักมีข่าวลือกันว่านักดนตรีที่อยู่ดี ๆ ก็เก่งกาจขึ้นมานั่นอาจเป็นเพราะขายวิญญาณให้กับปีศาจเพื่อแลกกับชื่อเสียง ความสำเร็จ และสิ่งที่ปรารถนา

สำหรับพี่โป่งแล้ว สมมติว่าหากมีปีศาจมายืนที่สี่แยก และทำสัญญากันเพื่อแลกกับการเป็นสุดยอดศิลปิน แต่ 5 ปีผ่านไปต้องตายหรือเป็นบ้า ถ้าถามเมื่อก่อนพี่โป่งคงโอเค แต่ตอนนี้คงไม่แล้ว

เพราะรู้สึกว่าไม่ต้องอาศัยปีศาจแล้ว ถ้าดีลกันอาจลดครึ่งนึง ผ่อน ๆ ไม่รุนแรง เอาเพลงดังพอประมาณ แต่เอาชีวิตเราไว้ การจะดีลกับปีศาจนั้นเราจะดีลเรื่องดี ๆ  ไม่ได้ ในเรื่องที่พี่โป่งเขียน มันต้องดีลกับความละโมบของคน กับความเลวร้ายของมนุษย์ ถ้าเราดีลในสิ่งที่ดีที่คิดถึงผู้อื่น ปีศาจมันจะทำไม่ได้ มันต้องเห็นแก่ตัว ต้องเป็นเรื่องส่วนตัว ความละโมบ ทะเยอะทะยาน มันเป็นการเอาด้านมืดของเรามาแลกกัน ถ้าเป็นตอนนั้นอาจไม่มีทางเลือก หรือเราอาจต้องการมันจริง ๆ นิยายเรื่องนี้มีตัวละครจริง ๆ แต่ไม่ระบุว่าเป็นใคร แต่อ่านแล้วจะรู้ว่าเป็นใคร คนที่ขายวิญญาณจะมีสัญลักษณ์บางอย่างในตัว พี่โป่งบอกว่ามีบางคนรู้เรื่องราวเหล่านี้ นี่เป็นเรื่องที่อิงจากเรื่องจริง (พี่โป่งบอกว่าเคยคุยกับพี่เสก โลโซ และพี่เสกยอมรับว่าตัวเองขายวิญญาณให้กับปีศาจและทุกวันนี้กำลังโดนเอาคืน…คืนอย่างหนักเลยทีเดียว)

การขายวิญญาณให้กับปีศาจบางทีเราทำแบบไม่รู้ตัว ความคิดแรกที่เราลืมตาในตอนเช้าของทุกวันอาจเข้าข้อตกลงของปีศาจโดยไม่รู้ตัว แล้วเราก็จะได้ในสิ่งที่ต้องการ แต่แล้วเราก็จะสูญเสียบางสิ่งไป เพราะปีศาจกำลังมาเอาคืนโดยเราไม่รู้ตัว การขายวิญญาณให้ปีศาจไม่จำเป็นจะต้องเกิดขึ้นที่ทางแยกแบบในตำนานได้กล่าวไว้ หากแต่เกิดขึ้นได้ทุกที่ทุกเวลา แม้กระทั่งบนเตียงนอน หรืออ่างล้างหน้าในยามเช้าของวันหนึ่งในชีวิตของเรา ณ วินาทีที่เราพร้อมจะทำสิ่งชั่วร้ายเพื่อความสำเร็จของเรา แต่สุดท้ายแล้วมันจะถูกเอาคืน ซึ่งดูไปแล้วก็สอดคล้องกับเรื่องกฎแห่งกรรมในพระพุทธศาสนาเหมือนกัน

Decision As An Artist  การตัดสินใจ…ในฐานะศิลปิน

หลังจากประสบความสำเร็จกับหิน เหล็ก ไฟ พี่โป่งก็ตัดสินใจลาออกจากวง ไปตั้งวง ‘เดอะ ซัน’ จริงๆ  แล้วสไตล์งานเพลงก็เหมือนกับหิน เหล็ก ไฟเลย แต่เหตุผลของการตัดสินใจยุบวงนั้นเริ่มจากการที่วงมาถึงจุดที่สมาชิกวงทุกคนเก่งกันทุกคน เพลงเป็นที่ยอมรับ ความมั่นใจทุกคนเกินร้อย การพูดคุยจึงเริ่มมีอะไรบางอย่างขึ้นมา แต่ละคนเริ่มอยากลองทำเพลงไปในแนวทางของตัวเอง และเริ่มไม่ประนีประนอมกันเหมือนก่อน พี่ป๊อปเลยขอลาออกจากวงก่อน พี่โป่งเลยตัดสินใจยุบวงไปเลย

จากนั้นพี่โป่งก็เริ่มจากการหามือกีตาร์ เลยตัดสินใจคุยกับพี่ป๊อป เพราะที่ผ่านมาทำงานเข้ากันดีและคุยกันได้เสมอ ส่วน พี่รงค์และพี่โตแยกตัวไปทำอีกวง ในตอนนั้นไม่ได้มีข้อตกลงว่าห้ามไม่ให้ใช้ชื่อหิน เหล็ก ไฟ แต่เป็นการให้เกียรติกันว่าต่างคนต่างไม่ใช้ชื่อของ หิน เหล็ก ไฟ ต่อไป (จนกระทั่งได้กลับมารวมตัวกันอีกครั้งในปี พ.ศ. 2548 กับอัลบั้มชุดที่สาม ‘Never Say Die’ ที่มีเพลงฮิตคือเพลง ศรัทธา)

จากประสบการณ์ในตอนนั้นและการได้เห็นตัวอย่างจากวงในต่างประเทศทำให้พี่โป่งมองเห็น road map ของการทำวงดนตรี ที่เป็นวัฏจักรจากทำอัลบั้มสตูดิโอ ออกทัวร์ แสดงสด แยกวง ทำวงใหม่ และ รียูเนี่ยน ทำให้พี่โป่งรู้สึกมั่นใจและเริ่มเห็นว่าตัวเองทำสามารถอะไรได้บ้าง ถึงแม้ตอนนั้นอาจเห็นภาพได้ไม่ชัดนัก แต่ก็รู้ว่าควรเดินไปต่ออย่างไร (และพี่โป่งก็ดำเนินไปตามเส้นทางนี้จริง ๆ จากทำวงหิน เหล็ก ไฟ มีผลงานมาสองอัลบั้ม แยกวง ทำวงใหม่คือเดอะ ซัน และกลับมารียูเนี่ยนเป็น หิน เหล็ก ไฟ อีกครั้ง และนำเอาเพลงฮิตมาทำเป็นอัลบั้มอะคูสติกที่ชื่อว่า Acoustique’ )

วงดนตรีนั้นถ้าเป็นวงที่มีใครนำสักคนจะคุยกันได้ แต่ถ้าเป็นวงที่แชร์ไอเดียกัน ทุกคนมีสถานะเสมอกัน มีความสามารถครบทุกคน พอถึงจุดนึงมันจะไม่คลิกกันและจะเกิดการขบกัน เหมือนพี่โป่งอยากทำเพลงแบบหนึ่ง แต่ส่วนผสมเดิมมันทำไม่ได้ ก็ต้องหาส่วนผสมอื่น เดอะซันส่วนผสมอย่างนึง หิน เหล็ก ไฟ ดิโอฬารก็อย่างนึง พี่โป่งไม่อยากเป็นศิลปินเดี่ยวมันไม่สนุก มันเหนื่อย ตอนนั้นถ้าเป็นวัยรุ่นอาจไม่สนแล้ว และก็คงทิ้งมันไปเลย ทุกอย่างมันไม่ได้หมดอย่างที่ต้องการ ต้องได้อย่างเสียอย่าง ถ้ายังอยู่กับวงเดิม บางครั้งอาจไม่ได้ทำบางอย่าง แต่ถ้าอยากทำอย่างที่ต้องการจริง ๆ อาจต้องไปตั้งใหม่ หรือทำไซด์โพรเจกต์  การแยกทางนั้นเป็นการแยกด้วยดี แรก ๆ อาจมีเขม่นกันนิดหน่อย แต่สุดท้ายพอเวลาผ่านไป ทุกคนก็เข้าใจ เริ่มเห็นว่าการรียูเนี่ยนมันเป็นสิ่งที่ทำได้ในสารบบนี้ เลยคิดว่าถ้าถึงเวลาก็ค่อยกลับมา ตอนนี้ความสัมพันธ์ก็เป็นไปได้ด้วยดี คุยไลน์ ส่งคลิป ส่งสติกเกอร์กันตามประสา

Being Pong ความเป็น…โป่ง หินเหล็กไฟ

หลังจากออกจากหินเหล็กไฟ  พี่โป่งก็เดินไปตาม road map และมีผลงานออกมามากมาย กับ เดอะ ซัน ก็มีผลงานทั้งหมด 3 อัลบั้ม ได้แก่ อัลบั้ม เดอะ ซัน (2539), เสือ สิงห์ กระทิง แรด (2541) ออกกับอาร์เอสเหมือนเดิม ส่วนอัลบั้มชุดที่สาม ถนนพระอาทิตย์ (2543) ออกกับ เบเกอรี่มิวสิก (ต่อมาในปี พ.ศ. 2558 ลิขสิทธิ์อัลบั้มนี้ได้เปลี่ยนมาสังกัด เรียลแอนด์ชัวร์ ใช้ชื่ออัลบั้มว่า ถนนพระอาทิตย์ Extended Edition มีการออกแบบปกซีดีใหม่ เพิ่มเพลงใหม่ชื่อว่า สิทธิ)

ในปี 2545 ได้ทำอัลบั้ม ‘The Olarn Classic’ กับ ดิ โอฬาร โปรเจ็คต์ เป็นการนำเอาบทเพลงของ The Olarn Project มาเรียบเรียงใหม่และมี ‘มิตรภาพชั่วนิรันตร์’ บทเพลงประกอบภาพยนตร์ญี่ปุ่นเรื่อง ‘Battle Royale’ รวมอยู่ด้วย

ได้บริหารค่าย REAL AND SURE ซึ่งเป็นค่ายเพลงร็อกในเครือบริษัท อาร์เอส จำกัด (มหาชน) โดยเป็นหนึ่งในค่ายย่อยที่แยกออกมาในช่วงของการปรับรูปแบบธุรกิจเพลงของอาร์เอส ในช่วงปี 2545 – 2547 โดยมีกลุ่มเป้าหมายอยู่ที่แนวเพลงร็อก, เฮฟวี่เมทัล หรือเพลงเมทัลสมัยใหม่ มีศิลปินในค่ายอาทิ Outro , Zanax , Growing Pain เป็นต้น นอกจากนี้พี่โป่งยังมีงานเพลงในฐานะศิลปินเดี่ยวอยู่สองอัลบั้มได้แก่ The Game (2545) และ Sexperience (2546)

พี่โป่งทำงานเป็นพานิชย์ศิลป์ balance ความเป็นตัวเองกับเรื่องธุรกิจ มันเริ่มจากการที่เป็นตัวเองแบบนี้ และโชคดีที่มีคนยอมรับ ธุรกิจก็สำเร็จได้เลยไม่ต้องเปลี่ยนอะไรมาก แต่ก็ยากที่จะให้คงที่เหมือนเดิม ไม่ว่าจะระบบความคิด หรือ การร้อง ที่เปลี่ยนไปตามช่วงเวลา

หากถามว่าในช่วงเวลาที่ผ่านมาพี่โป่งกลัวอะไรที่สุด พี่โป่งบอกว่าความผิดหวังนั้นไม่กลัวหรอก มันชินเสียแล้ว แต่กลัวว่าจะทำให้คนอื่นเสียใจ ผิดหวัง โดยที่เราไม่รู้ตัวมากกว่า แต่ก็ไม่ถึงกับเป็นความกลัว แค่เป็นสิ่งที่รู้สึกกับตัวเองมาก อย่างเช่นคนใกล้ตัว คนในครอบครัวบางครั้งก็ไม่ได้ระวัง พูดอะไรไม่คิด ทำให้สะเทือนใจ

ในด้านชีวิตครอบครัวพี่โป่ง แต่งงานกับ จริยา สมบัติพิบูลย์ มีลูกสาว คือ ฐิติชา สมบัติพิบูลย์ หรือ แองจี้ และลูกชายชื่อ จูเนียร์ สำหรับ แองจี้ ฐิติชา สมบัติพิบูลย์ นั้นแต่เดิมเป็นศิลปินในสังกัดกามิกาเซ่ ในเครือ อาร์เอส โปรโมชั่น แต่ในปัจจุบันเธอเป็นศิลปินในสังกัด Mono Music มีผลงานเป็นที่รู้จักเช่น See You Soon’ เพลงรักสนุก ๆ สไตล์ Electronic Pop Funk ผสมผสานกับเสียงร้องที่เป็นเอกลักษณ์ของเธอบวกกับการ Rap และการเต้นสไตล์ Lyrical Hip Hop ที่ตัวแองจี้เองได้ถ่ายทอดออกมาได้อย่างลงตัว

ตอนพี่โป่งอยากเป็นศิลปินครอบครัวไม่เห็นด้วย แต่พอมีลูกสาวที่อยากทำเพลงบ้าง พี่โป่งเลยเข้าใจความรู้สึก ไม่ห้ามและบอกกับลูกว่าลุยเลยทำเลย อยากทำอะไรทำ มั่นใจก็ทำ ทดลอง ให้คำแนะนำเท่าที่รู้ ชี้ทางให้ลูก อะไรที่เคยไปมาแล้วไม่เวิร์กก็เล่าก็บอกกับลูก

บทเรียนที่สำคัญที่สุดสำหรับพี่โป่ง คือ ‘การใช้เวลาอย่างมีคุณค่า’ มันอาจเป็นด้วยช่วงอายุ ที่ตอนนี้เริ่มเห็นคุณค่าของเวลา เป็นเรื่องธรรมชาติที่ตอนวัยรุ่นเราอาจไม่เห็นค่ามันมากนัก แต่พอโตขึ้นมาเราจะเริ่มเห็นคุณค่าของมัน แต่ถึงอย่างนั้นน้อยคนนักที่จะคิดได้ หากใครคิดได้เรื่องเวลานี่นับว่าโชคดีมาก คนเราควรบริหารเวลาให้ดี เพราะมันเป็นสิ่งที่มีค่าที่สุดในชีวิตแล้ว

“ใครคิดได้เรื่องเวลานี่โชคดีมาก บริหารเวลาให้ดี มันเป็นสิ่งที่มีค่าที่สุดในชีวิต”

ทุกวันนี้พี่โป่งยังยืนยันที่จะอยู่กับดนตรีร็อก เพราะอยู่กับมันมาทั้งชีวิต และเป็นเส้นทางที่พิสูจน์ตนเองแล้วว่าไปได้ ดูแลตนเองและครอบครัวได้ ยึดเป็นอาชีพและไปรอด หากพูดถึงคำว่า ‘ร็อกไม่มีวันตาย’ พี่โป่งมองว่าดนตรีมันเป็นเรื่องของยุคสมัย ทุกแนวมีขึ้นมีลงตามวงจรของมัน ร็อกเองก็เช่นกัน แต่มันไม่มีวันตายดนตรีร็อกนั้นมีรากเหง้ามานานแล้ว อะไรที่แยกประเภทได้แล้วมันจะไม่มีวันล้มหายตายจากไป อย่างคลาสสิกที่ดูเหมือนน่าจะตายไปนานแล้วก็ยังอยู่ได้ แถมยังอยู่ได้อย่างคลาสสิกมั่นคง แต่พอเวลาร็อกพูดแล้วมันดูเท่ ‘Rock Never Dies’ จริง ๆ

Source

EP.31 โป่ง หินเหล็กไฟ | PONG SMF | ป๋าเต็ดทอล์ก

พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส