มาต่อกันที่เรื่องราวชีวิตของพี่เสือ.. ที่ไม่ใช่อาร์เอสแต่เป็นการเริ่มต้นใหม่ในบริษัทคู่แข่งอย่างแกรมมี่ เรื่องราวในครั้งนี้พี่เสือจะพาเราไปพบกับ เบื้องหลังของค่ายเพลงยักษ์ใหญ่ในประเทศทั้งสองค่าย จากมุมมองของศิลปินที่ทำงานมาเป็นเวลากว่า 10 ปี ทั้งสองแห่ง และสิ้นสุดการทำงานในค่ายเพลงในท้ายที่สุดมาสู่การเป็นศิลปินอิสระ ณ ปัจจุบัน

พบกับเรื่องราวและทัศนคติของเสือ ธนพล อินทฤทธิ์ ที่จะทำให้เราเกิดแรงบันดาลใจและได้รับมุมมองที่ดีในการใช้ชีวิตครับ

[ บทความนี้เรียบเรียงจากบทสัมภาษณ์ในรายการ ป๋าเต็ดทอล์ก EP.33 เสือ ธนพล กับชีวิตหลังอาร์เอส (ตอนจบ) ]

สาเหตุที่พี่เสือตัดสินใจมาทำงานกับทางแกรมมี่หลังจากออกจากอาร์เอส นั่นเป็นเพราะว่า พี่เสือศรัทธาในงานที่แกรมมี่ทำ ตอนอยู่อาร์เอส เวลาทำอะไรก็คิดในใจตลอดว่า ‘แข่งกับแกรมมี่ แข่งแกรมมี่ แข่งแกรมมี่’ เพราะแกรมมี่นั้นเป็นที่หนึ่งในทุกด้าน ทั้งศิลปิน การจัดการ ระบบบริษัท และการปันผลที่เป็นสากล 

แกรมมี่กับอาร์เอสเหมือนเป็นคู่แข่งที่พัฒนาฝีมือมาแข่งขันกันตลอด ซัดกันหมัดต่อหมัดมาโดยตลอด พี่เสือยกตัวอย่างว่าทุกอย่างนั้นทำแข่งกับแกรมมี่ เช่น ทางนั้นมีวงไมโคร ทางอาร์เอสก็เอา‘ไฮ-ร็อก’ ไปสู้ ซึ่งเป็นวงที่พี่เสือทาบทามเข้ามาสู่วงการ หรือ ทางแกรมมี่มีพี่เต๋อ อาร์เอสมีมีพี่อิทธิ บรรยากาศการทำงานในอาร์เอส มีการประชุมแก้เกมกันเสมอ เหมือนกันกับทางบอร์ดแกรมมี่ก็มีประชุมว่า ช่วงนี้อาร์เอสทำอะไรอยู่ เป็นการศึกษาคู่แข่งและพัฒนาตัวเองตลอด

ในช่วงเวลาที่อาร์เอสและแกรมมี่กำลังแข่งขันกันนั้น ทางค่าย คีตา เอนเตอร์เทนเมนท์ก็มีศิลปินตัวท็อปอยู่ด้วยเหมือนกันนั่นคือ ‘พี่อ๊อฟ พงษ์พัฒน์ วชิรบรรจง’ นั่นเอง

สิ่งที่พี่เสือเห็นจากประสบการณ์การทำงานกับทั้งสองค่ายยักษ์ใหญ่ คือมีทั้งความเหมือนและความต่าง สิ่งที่เหมือนกันก็คือ ทั้งสองค่ายต่างพยายามทำเพลงและศิลปินให้มีคุณภาพ สร้างรายได้ให้มากที่สุด ต่อยอดให้ได้มากที่สุด ส่วนความต่างก็คือ ธรรมชาติของผู้ก่อตั้งมีความดีและลักษณะเด่นที่แตกต่างกัน อากู๋ (ไพบูลย์ ดำรงชัยธรรม ประธานกรรมการบริษัท จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ จำกัด) จะมีการทำงานแบบมาตรฐานสากล ส่วนเฮียฮ้อ (สุรชัย เชษฐโชติศักดิ์ ประธานกรรมการบริหารบริษัท อาร์เอส จำกัด) จะมีความเป็นกันเองกว่า จะไม่ได้เป็นทางการตลอดเวลา พอถึงวันที่เป็นทางการก็ทางการ ไม่เป็นทางการได้ง่ายกว่า ส่วนอากู๋จะมีมาตรฐานสูงและมีความเป็นสากลตลอด แต่สิ่งที่เหมือนกันคือความเก่งที่ทั้งคู่มี ไม่น่าแปลกใจเลยว่าทำไมบุคคลทั้งสองถึงนำพาสองค่ายยักษ์ใหญ่ของวงการดนตรีให้เติบใหญ่ได้อย่างที่เราเห็นมาจนทุกวันนี้

ส่วนในด้านของวัฒนธรรมองค์กรก็มีความแตกต่างกัน ตอนอยู่ที่อาร์เอสพี่เสือก็มีความรู้สึกว่าแกรมมี่นั้นเท่ อาร์เอสไม่เท่ ถ้าเปรียบอาร์เอสเป็นร้านค้าก็เป็นร้านที่ยังไม่ติดแอร์ ถ้ามีคอมหรือเทคโนโลยีอะไรแกรมมี่ต้องมีก่อน เลยรู้สึกว่าต้องแข่ง ต้องพัฒนาตัวเอง ตอนที่ MV เพลง เก็บตะวัน ได้รับรางวัล พี่เสือและอาร์เอสรู้สึกว่าเราทำได้แล้ว รู้สึกเหมือนชนะ ทั้งเพลง ทั้ง MV ทั้งศิลปินตัวพี่อิทธิ ตอนนั้นฉลองกันเต็มที่เลย

การแข่งขันระหว่างสองค่ายนั้นมีอยู่จริง ๆ แต่ไม่ได้แข่งขันกันด้วยความเกลียดชัง ทุกวันนี้ผู้บริหารก็ข้ามกันไปข้ามกันมา มีพนักงานรับงานฝิ่นแอบรับงานจากค่ายฝั่งตรงข้ามก็มี (แต่พี่เสือไม่เคยนะ) เพราะวงการดนตรีบ้านเรานั้นมีอยู่แค่นี้ ไม่ใช่ว่าอยู่ฝั่งนี้แล้วห้ามคบฝั่งนั้น เป็นแฟนกันข้ามค่ายก็มีมาแล้ว

ในช่วงระหว่างที่พี่เสือออกจากอาร์เอส พี่เสือไ้ดทำอัลบั้ม ‘ใจดีสู้เสือ’  ซึ่งมีเพลงที่เกี่ยวกับความรู้สึกของพี่เสือ ณ ขณะนั้นเยอะมาก ไม่ว่าจะเป็น เศษ ใจดีสู้เสือ ดาวดวงน้อย ซึ่งอัลบั้มชุดที่สองนี้พี่เสือบอกว่าถ้าไปฟังดี ๆ จะรู้ว่าลึกที่สุดทั้งเนื้อหาทั้งดนตรี

เมื่อพูดถึง เพลง ‘เศษ’ จากอัลบั้ม ‘ใจดีสู้เสือ’ ซึ่งเป็นอัลบั้มแรกหลังจากที่พี่เสือเข้าไปทำงานที่แกรมมี่ หลายคนได้ฟังแล้วอาจจะคิดว่ามันเป็นเพลงที่พี่เสือพูดถึงความรู้สึกที่ตัวเองมีต่ออาร์เอส แต่แท้ที่จริงแล้วพี่เสือไม่ได้มีเจตนาอะไรแอบแฝงแค่เพียงเขียนถึงคนที่กำลังมีความรู้สึกน้อยเนื้อต่ำใจอยู่เท่านั้นเอง

“เนื้อหามันคือความน้อยเนื้อต่ำใจ จากความที่เราเคยสำคัญแล้ววันนี้เป็นแค่เศษ อันนี้ผมพูดถึงความรู้สึกของคนที่เป็นแบบนี้ มันไม่ต่างจากเศษสตางค์ที่เคยเห็น บางความรู้สึกผมก็เป็นแบบนั้น แต่เป็นในเพลงนะครับ แต่ถ้าในชีวิตจริงผมไม่ได้รู้สึกแบบนั้น เพราะถ้าเป็นแบบนั้นผมคงออกมาพูดให้ร้ายไปแล้ว แต่นี่เป็นเรื่องของเพลง ผมคิดว่าในสังคมคงมีคนที่รู้สึกแบบนี้เยอะ ผมก็เลยเขียนมันแบบนั้น ผมรู้ว่าศิลปินและพนักงานมาแล้วก็ไป แต่ผมบริษัทมาแล้วก็ไปแต่ผมก็ต้องอยู่ (หัวเราะ)”

ช่วงที่สุญญากาศหลังออกจากแกรมมี่ พี่เสือทำงานเพลงในอัลบั้ม ‘ใจดีสู้เสือ’ ช่วงนั้นแกรมมี่ใช้โครงสร้างแบบหนึ่งประเทศหลายระบบ นั่นคือมีบริษัทย่อยมากมาย เช่น ค่ายเมกเกอร์เฮด (ที่พี่เสือเข้าไปสังกัดอยู่) ซึ่งมีคุณเจมส์ หัสคุณ กับพี่ปรัชญา ปิ่นแก้วซึ่งมาเปิดค่าย บาแรมยู เพื่อผลิตภาพยนตร์อยู่ก่อนแล้ว แต่ตอนนั้นยังไม่มีทีมทำเพลง ก็เลยชวนพี่เสือเข้ามา

พี่เสือเลยคิดว่าการทำงานต่อจากอาร์เอส ก็ต้องแกรมมี่สิมันจะได้เป็นการเดินต่อขึ้นไป เมื่อเข้ามาแล้วทุกคนก็ต้อนรับเป็นอย่างดี งานสำคัญชิ้นแรกก็คือการได้เป็นส่วนหนึ่งในคอนเสิร์ตทริบิวต์พี่เต๋อ เรวัติ พุทธินันทน์  [ คอนเสิร์ต ‘จากเพื่อน พี่ และน้อง แด่เรวัต พุทธินันทน์’ จัดขึ้นเมื่อวันที่ 5 กันยายน 2541 ณ ห้องเพลนนารี่ ฮอลล์ ศูนย์การประชุมแห่งชาติ สิริกิตติ์ ]

The Stranger สู่การเป็น…ชายแปลกหน้า

ในคอนเสิร์ตนั้นพี่เสือร้องเพลง ‘ชายแปลกหน้า’ (ชมได้ที่คลิปด้านล่างในนาทีที่ 42.20) (พี่เสือรู้สึกว่าเลือกเพลงให้พี่เสือร้องได้เข้ากับสถานการณ์ความเป็นเด็กใหม่ในแกรมมี่ของพี่เสือตอนนั้นมาก) เพลงนี้เป็นเพลงปราบเซียน ร้องยาก แต่พี่เสือก็ร้องได้ดีมาก ถ้าไม่นับที่พี่เต๋อทำไว้ นี่คือเวอร์ชันที่ดีที่สุด สำหรับพี่เสือแล้วพี่เต๋อคือปูชนียบุคคลแห่งวงการดนตรี และมีอิทธิพลต่อการแต่งเพลงเล่นดนตรีของพี่เสือ พี่เสือรู้สึกเสียดายที่มาอยู่แกรมมี่ไม่ทันเจอพี่เต๋อ คอนเสิร์ตครั้งนี้จึงมีความหมายต่อพี่เสือในหลายแง่มุม พี่เสือยังจำความรู้สึกได้ดีว่า ตอนไปซ้อมรู้สึกว่าตัวเองเหลือตัวนิดเดียว เพราะที่นั่นมีแต่รุ่นใหญ่ทั้งนั้นไม่ว่าจะเป็น พี่ป้อม อัสนี พี่โอม ชาตรี ที่พี่เสือเคยเกาะเวทีคอนเสิร์ตดูพี่ ๆ และนับถือพวกเขาเป็นฮีโร

ตอนนั้นพี่เสือร้องเพลงนี้ด้วยความรู้สึกเกร็งไปหมด รู้สึกว่าตัวเองนั้นเป็นคนแปลกหน้าจริง ๆ  และวันนี้ก็เป็นวันแรกที่ประชาชนทั่วไปได้เห็นพี่เสือกับงานของแกรมมี่

“ผมรู้ว่าผมว่านี่มันคนแปลกหน้าจริง ๆ เพราะผมมาจากอาร์เอส แล้วคนข้างล่างก็แฟนแกรมมี่ทั้งนั้น ผมยังประทับใจอยู่เลย รู้สึกภูมิใจมากที่ได้มีโอกาสไปอยู่ตรงนั้น งานนี้ไม่ต้องมีผมก็ได้แต่พี่ ๆ ก็ยังให้ความสำคัญกับผม”

ช่วงที่อยู่ที่แกรมมี่ 10 ปี พี่เสือได้ออกอัลบั้มกับทางแกรมมี่ 5 ชุด (ได้แก่ ใจดี…สู้เสือ (2541) ภายใต้สังกัดเมกเกอร์เฮด / คนใช้ชีวิต (2543) ภายใต้สังกัดเมกเกอร์เฮด / ช่องว่างในหัวใจ (2546) ภายใต้สังกัดมิวสิคอาร์มี่ / รักคนไทย (2548) ภายใต้สังกัดมิวสิคอาร์มี่ และ ทวีคูณ (2551) ภายใต้สังกัดมิวสิคอัพจี) แต่ดูเหมือนว่าความสำเร็จทุกชุด ไม่เทียบเท่ากับความสำเร็จจากอัลบั้มเดียวของอาร์เอสเลย (ในแง่ความดัง และ impact ต่อวงการดนตรี) ในประเด็นนี้พี่เสือเองก็รู้สึกเหมือนกัน และพี่เสือเข้าใจว่าเรื่องความความสำเร็จนั้นมันเป็นสิ่งที่ควบคุมไม่ได้คอนโทรลไม่ได้ พี่เสือคิดว่าถ้าสามารถควบคุมสื่อเองได้ มันก็น่าจะดังกว่านี้ได้ ตอนนั้นดูเหมือนว่าผลงานของพี่เสือจะได้รับการโปรโมตที่น้อยเกินไป แต่ตอนไปเล่นคอนเสิร์ตคนกลับขอเพลงในอัลบั้มเหล่านี้เยอะแยะไปหมด ร้องตามได้หมด ไม่แพ้ ‘รักคงยังไม่พอ’ ‘18 ฝน’ จากอัลบั้ม ‘ทีของเสือ’ เลย จริง ๆ แล้วผลงานใน 5 อัลบั้มนี้มีเพลงเพราะ ๆ มากมายไม่ว่าจะเป็น ‘ดูโง่โง่’ ‘ดาวดวงน้อย’ ‘รักเดียวใจเดียว’ ‘นางฟ้าข้างถนน’  ซึ่งทุกครั้งที่เล่นก็มีคนร้องตามได้หมด เพียงแต่มันใช้เวลามากกว่าตอนที่สามารถคอนโทรลสื่อได้ ทุกวันที่ก็ยังเป็นยอดวิวก็ยังเป็นหลักสิบล้านวิว แม้กระทั่งซิงเกิลล่าสุดเมื่อสองปีก่อนอย่าง ‘ชั่วข้ามคืน’ ที่พี่เสือทำเอง ดิสทริบิวต์เอง ก็ยังมีคนฟังมากมาย ในทุกวันนี้ตลาดเพลงนั้นแบ่งเป็นหลาย segment ใครตาม segment ไหนก็จะรู้ความเคลื่อนไหวของศิลปินในกลุ่มนั้นและติดตามอย่างเหนียวแน่น แต่ถ้าใครไม่ได้ติดตามก็จะไม่รู้ถึงการมีอยู่ของเพลงเหล่านั้นเลย ในทุกวันนี้เราจึงพบว่ามีเพลงลูกทุ่งหลายเพลงที่ได้หลายล้านวิวทั้ง ๆ ที่เราไม่เคยฟังมาก่อน ใครที่เคยติดตาม เคยชื่นชอบศิลปินคนไหนก็ยังคงติดตามอยู่อย่างเหนียวแน่น

ในเรื่องของการทำงานเพลงตั้งแต่อัลบั้ม ‘ใจดีสู้เสือ’ เป็นต้นมา พี่เสือก็ยังคงตั้งใจไม่แพ้ในตอน ‘ทีของเสือ’ เลย พี่เสือเชื่อว่าหากถามความรู้สึกของศิลปิน ศิลปินทุกคนนั้นไม่เคยลดดีกรีความคิดความตั้งใจในการทำผลงานลงเลย ยิ่งชุดสองที่หลายคนเชื่อว่าจะประสบกับอาถรรพ์ชุดสอง ยิ่งต้องตั้งใจทำ แต่มันเป็นเรื่องธรรมดา เป็นเรื่องความคาดหวังของผู้คน ยิ่งชุดแรกประสบความสำเร็จมาก คนยิ่งคาดหวังมาก เหมือนการเล่นมุกตลกที่เราขำสุด ๆ ไปแล้ว ผ่านความประทับใจไปแล้ว หากมาเล่นอีกมุก มันก็ไม่ขำเท่านั้นอีกแล้ว

พี่เสือเคยผ่านมาหมดแล้วทุกเวทีทั้ง เจ็ดสีคอนเสิร์ต โลกดนตรี ใครจะดังต้องผ่านการมาเล่นสด ศิลปินยุคนั้นต้องวางแผนการวางแผงเทปให้ดี  เช่น เจ็ดสีคอนเสิร์ตจะมีวันเสาร์ หากวางแผงเทปวันพฤหัส แล้วมาต่อคอนเสิร์ตวันเสาร์ มันจะลงตัว อัลบั้มนั้นจะยิ่งสำเร็จเข้าไปใหญ่

ตอนทำอัลบั้ม ‘ทีของเสือ’ นั้นยังเป็นยุคอนาล็อกที่การอัดเสียงร้องไม่มีการ edit ไม่มีออโต้จูน กดอัดต้องเล่นยาวเลยไม่มี stop ยุคนั้นไม่มีคอม ร้องไม่ดีก็เทคใหม่ การร้องเจาะเล่นเจาะเฉพาะจุดไม่นิยมทำกันเลยเพราะทำได้ยากมากและอาจกดทับเสียงข้าง ๆ ไปได้ พี่เสือยกตัวอย่างเช่น ‘คำว่ารักคงยังไม่พอ’ ถ้าคำว่า’รัก’ เพียงคำเดียวร้องไม่โอเค แต่อื่น ๆ โอเคแล้วต้องการแก้คำเดียว การกดหยุดเพื่อเจาะเฉพาะคำนี้ต้องได้มือชั้นเซียนจริง ๆ ไม่งั้นมันอาจทับเสียงอื่นได้ เพราะฉะนั้นการอัดเพลงของพี่เสือจึงเป็นแบบเล่นร้องยาวไปไม่มีเจาะเลย

จนมาถึงวันที่แผ่น vampires (แผ่น mp3 สุดคลาสสิก) ได้มาเยือนวงการดนตรี เกิดเป็นยุคเทปผี ซีดีเถื่อน วันนั้นมันเป็น Disruption จริง ๆ ณ วันที่ยอดเทปขายเป็นล้านตลับ วันดีคืนดีก็เกิดสิ่งทีเรียกว่า vampires ที่รวมเอาเพลง mp3 ไว้หลายร้อยกว่าเพลงในซีดีแผ่นเดียว หลายครั้งเทปผีดันออกก่อนเทปจริงเสียด้วย ซึ่งเหตุของการรั่วไหลอาจเกิดจากขั้นตอนของการนำเอามาสเตอร์ไปพิมพ์เทป อย่างในทุกวันนี้พอทำในโปรแกรมทำเพลงอย่าง Pro Tools , Logic มิกซ์เสร็จก็เป็นมาสเตอร์ส่งเป็นไฟล์จึงไม่ต้องกลัวการรั่วไหลอะไร (ถ้าไม่มีคนมาแอบเอาไฟล์เราไป) แต่เมื่อก่อนอัดลงเทปสองนิ้ว เทปรีล การมิกซ์ทุกเครื่องไม่มี plugin อยากได้อะไรต้องไปซื้อเพิ่ม จากนั้นก็เอามาสเตอร์ไปโรงงานพิมพ์เทป คนที่ถือมาสเตอร์ก็ต้องมีความรับผิดชอบสูงมาก เพราะอยู่ในมือเราแล้ว พี่เสือเคยรับหน้าที่นี้ก็ต้องไปนั่งเฝ้า จนเค้าทำมาสเตอร์ที่จะเอาไปโมลจนเสร็จ แล้วค่อยเอากลับไปเก็บที่บริษัท เพราะเป็นความลับสุดยอด จะรั่วไม่รั่วอยู่ที่ตรงนี้ คนที่ทำหน้าที่นี้สุ่มเสี่ยงที่จะโดนกล่าวหาว่ารั่วเพราะเรา เพราะฉะนั้นถ้าเอามาสเตอร์ตัวนี้ไปทำ มันจะได้มาสเตอร์ผี ที่เสียงมีคุณภาพดีและอาจจะดรอปกว่าของแท้เพียงนิดเดียว

พอพี่เสืออยู่กับแกรมมี่มครบ 10 ปีก็ลาออก ถึงจุดของการเปลี่ยนแปลงอีกเหมือนกัน คำตอบที่ให้ก็เป็นเช่นเดียวกับตอนที่ออกมาจากอาร์เอสคือ “บริษัทต้องการเปลี่ยนแปลงและเราก็ต้องการเปลี่ยนแปลง และเราก็ไม่คิดว่าจะเปลี่ยนตามบริษัทแบบนี้ได้หรือไม่ มันก็เป็นธรรมชาติของการทำงาน” พี่เสือจึงออกมาอย่างเข้าใจ และยังเล่นคอนเสิร์ต ด้วยเพลงของทั้งแกรมมี่และอาร์เอส

BEING SUER ความเป็นเสือ ธนพล

เมื่อทบทวนถึงประสบการณ์ 10 ปีในแกรมมี่ (ที่เริ่มจากการเป็นศิลปินดังแล้วและก้าวมาสู่การเป็นผู้บริหาร) และ 10 ปีที่อาร์เอส (ที่เริ่มจากการเป็นเด็กฝ่ายอาร์ตมาสู่การเป็นศิลปิน) บทเรียนที่ได้รับนั้นพี่เสือพบว่าไม่ต่างกัน

“ผมเริ่มจากที่เงินเดือนศูนย์ถึงสองแสนกว่า มาจนถึงศูนย์อีกครั้งนึง สูงที่สุดแล้วก็เหลือศูนย์ ผมก็เคยผ่านมาแล้ว ของทั้งสองที่ บริษัทมาแล้วก็ไปแต่ตัวเราต้องอยู่ให้ได้ เราต้องมีวิธีการจัดการชีวิตแบบที่เรามีความสุขกับมัน มีพลังกำลังพอที่จะทำมันไป ต้องมีวิธีบอกใจบอกความรู้สึกตัวเองว่า เรื่องแบบนี้เป็นเรื่องธรรมดาของโลก จะให้ทุกคนให้ความสำคัญกับมึงจนมึงตายมันเป็นไปได้หรอ เราเป็นใครที่จะ perfect ตลอดเวลาไม่มีหรอกครับ”

สิ่งสำคัญก็คือการปรับใจให้เดินต่อไปได้ เพราะมันคือความจริงที่เกิดขึ้น ถึงแม้จะยอมรับได้หรือไม่ แต่เมื่อเข้าใจเราก็จะสามารถเดินต่อไปได้เสมอ

“จริง ๆ ก็ไม่ต้องไปยอมรับมันก็ได้นะครับ แต่สำหรับผมผมใช้คำว่า มันไม่ใช่ทั้งหมดของชีวิตผม มันคือชีวิตการทำงาน ชีวิตผมนั้นอยู่ที่บ้าน อยู่ที่กีตาร์ผม นี่คือชีวิตการทำงาน สมมติเจอปัญหาในเวลาที่กำลังเครียดอย่าคิดแก้ปัญหาในเวลาที่กำลังเครียด อารมณ์ดี ๆ แล้วค่อยมองมันดีกว่า ถ้าผมเครียด ผมนอนเลย แต่เรื่องเดียวกันนี้ตื่นเช้ามาปุ๊บคุณจะมองเห็นวิธี พอเราได้พักผ่อน พอเห็นพระอาทิตย์ขึ้น ได้ยินเสียงนก มันจะมีอะไรบางอย่างมาบอกว่าชีวิตมึงมันอยู่ตรงนี้ ไม่ใช่สิ่งที่กำลังดึงอะไรอยู่ เจอปัญหา ค่อย ๆ มองตอนที่จิตใจมันแข็งแรง มองมันตอนที่ความรู้สึกดี ๆ ดีกว่า”

จนมาถึงในทุกวันนี้ที่เป็นยุคของโลกโซเชียล พี่เสือก็มีการเรียนรู้และปรับตัวที่จะเดินหน้าต่อไปในโลกยุคนี้ ซึ่งพี่เสือก็ตามทันทุกอย่างจากการได้เรียนรู้จากลูก ๆ  และพบว่ามันมีทั้งด้านดีและด้านเสีย

“มันเป็นสิ่งที่มหัศจรรย์มาก ทำให้สิ่งที่ไม่น่าเกิดขึ้นได้ง่าย ๆ ก็เกิดได้ง่ายไปหมด ในทางตรงกันข้ามสิ่งที่ไม่ดีก็เกิดขึ้นอย่างง่ายดายและมากมายเต็มไปหมด ในฐานะที่ผมอายุมากแล้วผมก็จะบอกว่า พูดถึงข้อเสียแล้วกันครับ มันทำให้คนจิตใจละมุนละไมน้อยลงและกระด้างมากขึ้น เพราะสามารถด่าได้โดยไม่ต้องรับผิดชอบอะไรมากได้ ผมไม่ชอบให้สังคมเป็นแบบนั้น ถ้าเป็นคนที่คุณไม่ชอบคุณจะมองไม่เห็นความดีเลย เห็นแต่ความเลวอย่างเดียวเลย ทุกคนมีทั้งสิ่งที่ดี สิ่งที่ไม่ดี เฉย ๆ ดีมากดีน้อย อยู่ตรงกลาง ผมมักบอกตนเองว่า ชีวิตเจอทั้งสิ่งดีไม่ดี ให้เลือกจำแต่สิ่งดี ๆ สิ่งที่ทำให้เรามีความสุข มีชีวิตที่ดี มีความรู้สึกที่มองเห็นสิ่งดีๆ ต่อไป ถ้ารับแต่ลบ ๆ เราจะมีชีวิตไปเพื่ออะไร ฟังเพลงก็ไม่เพราะ มองทะเลก็ไม่สวย”

พี่เสือมองว่าตนเองเป็น ‘คนโลกสวย’ แต่ไม่ใช่ในความหมายที่คนเอาไว้เหน็บแนมกันถึงลักษณะคนที่มักมองทุกสิ่งสวยงามไปหมดอย่างไร้เหตุผลแม้ในสิ่งที่ไม่ดี คำว่า ‘โลกสวย’ สำหรับพี่เสือแล้วมันคือการมองด้านที่สวยงามของโลก ทุกสิ่งทุกอย่างมีทั้งด้านดีและด้านเลว แต่เราสามารถเลือกที่มองในสิ่งที่ดีได้

พี่เสือเคยเสียใจที่ตนเองไม่ได้เล่นเพลงที่แฟนเพลงอยากฟัง เมื่อครั้งที่พี่เสือไปเล่นคอนเสิร์ตเด็กเทปและไม่สามารถเล่นเพลงอาร์เอสได้ พี่เสือเสียใจและร้องไห้หลังเวที พี่เสือไม่เคยเป็นแบบนี้มาก่อน พี่เสือจำได้ว่าก่อนขึ้นทีมงานบอกว่าร้องได้ เพราะเคลียร์เรื่องลิขสิทธิ์แล้ว แต่พี่เสือก็ยังไม่มั่นใจว่าร้องได้จริงหรอ เพราะรู้ว่ามันร้องไม่ได้ง่าย ๆ ก็กังวลตลอดก่อนขึ้นเวที

“ผมเป็นผู้ใหญ่พอที่จะรู้ว่าทำอะไรแล้วจะเกิดอะไรขึ้น พอถามว่าเอาให้แน่ก็ได้คำตอบว่าเหมือนจะลักไก่ เดี๋ยวมันจะยุ่ง รับผิดชอบไม่ได้ ก็เลยตัดสินไม่ร้องแล้วกัน อาจไม่มีอะไรเกิดขึ้นหรืออาจจะเกิดมากก็ได้ แล้วก็เล่นไปตามสคริปต์ ผมมองเห็นคนดูที่อยู่ข้างหน้า ขอเพลงแล้วผมร้องไม่ได้ แล้วเค้าทำหน้าเหมือนผมเข้าใจพี่นะว่าทำไมพี่ถึงไม่ร้อง แต่ด้วยความที่เค้าเข้าใจมันทำให้เราเศร้า”

[หมายเหตุ :  การห้ามเล่นเพลงไม่ได้เกิดขึ้นในทุกงาน แต่กับงานที่เป็นเชิงธุรกิจและไม่มีความเกี่ยวข้องกับบริษัทต้นสังกัด จะต้องมีการเสียค่าลิขสิทธิ์ก่อนเสมอ]

ในเรื่องของการเก็บค่าลิขสิทธิ์พี่เสือมีความเห็นด้วย 100% และมองว่าเป็นสิ่งที่ถูกต้องแล้ว แต่ก็อาจมีหลายกรณีสำหรับบางคนที่มันไม่เป็นธรรมจริง ๆ แต่บางกรณีหากไปเรียกร้องหาความกับผู้บริหารแล้วเหตุผลที่เค้าตอบมาก็อาจจะเป็นสิ่งที่ทำให้เราพูดไม่ออกก็ได้ เพราะฉะนั้นเรื่องลิขสิทธิ์มันแล้วแต่บุคคลแล้วแต่เวลา ถ้ามองด้วยความโลกสวยแบบพี่เสือ การที่เราเข้าใจในเรื่องนี้ เราก็จะได้ความเห็นอกเห็นใจ ได้ซีเนียริตี้ คอนเนกชัน ที่ไม่ต้องเอากระดาษมาวาง เอากระดาษออกไป คุยกันแบบพี่ ๆ น้อง ๆ พบกับครึ่งทางประนีประนอม

หลายคนรู้สึกว่าค่ายเพลงคือปีศาจ แต่จริง ๆ แล้วค่าลิขสิทธิ์ที่ถูกเก็บไปในฐานะคนแต่งเพลงก็จะได้ส่วนแบ่งนั้นด้วยเหมือนกัน ทุกวันนี้ถึงแม้ออกจากแกรมมี่มาแล้ว พี่เสือก็ยังได้รับส่วนแบ่งค่าแต่งเพลงอยู่ เช่นเพลง ‘คนไม่มีแฟน’ หรือ ‘ถ่านไฟเก่า’ ที่เป็นเพลงดังของพี่เบิร์ดที่พี่เสือเป็นคนแต่ง [ ติดตามอ่านเรื่องราวของบทเพลงที่พี่เสือแต่งให้กับศิลปินคนอื่นได้ใน ‘10 เพลงฮิตจากปลายปากกาของเสือ ธนพล อินทฤทธิ์’ ] มันเป็นมาตรฐานของการทำงาน มันต้องเป็นอย่างนี้ ทุกอย่างที่เราเอาไปใช้ก็ต้องจ่ายค่าลิขสิทธิ์ให้กับเจ้าของ แล้วมันก็หมุนวนมาจ่ายให้ผู้ผลิตหรือครีเอเตอร์ แต่ระบบของประเทศเรากำลังพัฒนาอยู่มันก็อาจจะไม่สมบูรณ์ อาจไม่เต็ม แหว่งอยู่ แต่ก็เป็นเรื่องที่พอเข้าใจได้

“ผมคิดว่าคนจัดต้องรู้แต่แรกอยู่แล้วว่าสามารถมีเพลงนี้อยู่ในสคริปต์ได้รึเปล่า ผมก็จะถามว่าเล่นเพลงอะไรได้บ้างครับ ผมก็จะถามว่าจริงรึเปล่าครับ แล้วผมก็จะเขียนสคริปต์ไป พี่ก็คิดว่าพี่สามารถที่จะพาคนดูให้มีความสุขได้เหมือนกัน แต่ถ้าบอกผมว่าเล่นได้แล้วมีคนเดินมาจับผมนี่ผมจะจี๊ดมากเลย เพราะไม่เหมือนกับที่ตกลงกันไว้ แต่ถ้าตกลงไว้ก่อนผมเคารพกติกาอยู่แล้ว”

จากบทสนทนากับพี่เสือ เราคงได้ข้อสรุปว่าบทเรียนที่สำคัญที่สุดสำหรับพี่เสือก็คือ ‘มองโลกสวยและมองโลกในความเป็นจริง’  การยอมรับและเรียนรู้ความเป็นจริงของชีวิตที่มีทั้งความสำเร็จ ล้มเหลว สมหวัง ผิดหวัง ซึ่งพี่เสือมักจะสอนลูก ๆ อยู่เสมอว่า “เราเป็นใครเราถึงจะผิดหวังไม่ได้ เราเป็นใครเราถึงจะล้มเหลวไม่ได้” เราก็มนุษย์คนนึง

ชีวิตในทุกวันนี้พี่เสือยังทำงานหนักอยู่ แถมดูเหมือนจะหนักกว่าเดิมด้วยซ้ำ เพราะเล่นรับงานคอนเสิร์ตเกือบทุกวัน ในช่วงที่ทำงานอยู่งาน 10 ปีที่แกรมมี่ พี่เสือไม่รับงานคอนเสิร์ตเลย เพราะพี่เสือมองว่าตนเองเป็นผู้บริหารอยู่ไม่ควรเอาเวลาบริหารไปเล่นคอนเสิร์ตหาเงินให้ตัวเอง และลูก ๆ กำลังผ่านสเตจที่สำคัญของในชีวิต เช่นเข้า ม. 1 ม. 4 มหาวิทยาลัย ก็เลยอยากใช้เวลากับครอบครัวให้เต็มที่ ให้ลูก ๆ ได้อยู่ได้เรียนในที่ที่ตัวเองชอบ พี่เสือถึงจะมีความสบายใจที่จะออกไปทำงาน

“ถ้าที่บ้านผมมีปัญหา ผมไม่สามารถที่จะทำอะไรได้ ถ้าที่บ้านโอเค ผมถึงจะมีความรู้สึกอยากทำงาน”

หลังจากนั้นมา พี่เสือก็รับงานเล่นคอนเสิร์ตอย่างเดียวเพิ่งมาหยุดตอนโควิดแพร่ระบาด เดือนนึงต้องมีเกือบ 20 แล้วแต่ช่วงถ้าหน้าไฮซีซันก็เยอะหน่อย เมื่อก่อนพี่เสือรับเล่นทุกงาน แต่เดี๋ยวนี้มักบอกฝ่ายขายว่างานไหนไม่สบายใจก็จะไม่รับ เช่น งานวัดที่มุ่งหาเงินจนน่าเกลียดไม่ใช่งานบุญ อย่างนี้พี่เสือจะไม่รับ อย่างบางวัดที่พี่เสือไม่รับงานก็ถึงขนาดขอร้องว่าอย่ารับงานของอีกวัดด้วยเหมือนกัน ‘โยมเสือถ้าไม่มาวัดอาตมา ก็ห้ามไปอีกวัดนึงด้วยนะ’ งานกาชาด ก็เป็นอีกงานที่พี่เสือไม่รับ เพราะไม่อยากเห็นคนตีกัน ส่วนใหญ่ก็เป็นงานตามผับที่ผู้ชมเป็นผู้ใหญ่หน่อย พี่เสือมีความรู้สึกว่าอยากเล่นในที่ที่คนอยากฟังเพลง อยากรู้สึกไปด้วยกัน ถ้าเจอที่ที่มีคนเยอะ แต่ไม่มีใครตั้งใจที่จะมาดูเลยแบบนั้นมันทำให้พี่เสือรู้สึกหมดกำลังใจที่จะเล่น จึงเลือกที่จะหลีกเลี่ยงงานแบบนั้น

“ถ้าเป็นงานแบบที่เราเห็นตามคลิปตามเทศกาล ผมเห็นแล้วผมเหนื่อยในหัวใจแล้วความรู้สึกอยากจะร้องเพลงผมจะไม่มี ผมเก็บความรู้สึกไม่ได้ อาการออกเลย ไม่สามารถซ่อนได้ เลยเลี่ยงที่จะไปอยู่ในสถานการณ์แบบนั้น ไปเล่นในที่ที่เค้าอยากมาดูผม อยากร้องเพลงไปกับผมมากกว่า ไม่กี่คนก็ได้ ดีกว่าเป็นที่คนเยอะ แต่หันหลังให้ผมหมดเลย”

สำหรับพี่เสือแล้ว ดนตรีก็คือชีวิต ชีวิตก็คือดนตรี และเชื่อว่าดนตรีที่ดีนั้นไม่มีตกยุค ยังคงเชื่อมั่นและรักที่จะทำเพลงต่อไป

“สำหรับผมนะครับ ผมเชื่อว่าชีวิตก็คือดนตรี คือเสียงเพลง ผมก็มีอุปกรณ์ที่ผมสามารถทำเพลงที่อยากทำที่บ้าน เวลาที่ผมจะเหนื่อยก็คิดว่า พี่แหลม (มอร์ริสัน) พี่โป่ง (หิน เหล็ก ไฟ) พี่แอ๊ด (คาราบาว) ยังไม่เหนื่อยเลย เราก็ต้องทำได้ ทุกวันนี้ไม่มีคำว่าตกยุค พี่ ๆ พวกนี้ยังงานชุกอยู่เลย เพียงแต่เค้าอยู่ในพื้นที่ของเค้า ทุกวันนี้โลกเรามันแบ่งโดย follower สิ่งที่ผมเป็นอยู่นี้มีความสุขมาก ได้อยู่กับครอบครัว อยู่กับหมา อยู่กับดนตรีที่ผมรัก มีคอนเสิร์ต มีวงการเพลงที่ออกเทปได้ง่ายกว่าเดิมอีก ผมมี youtube มี distributor ที่สามารถ launch ได้เลย ตกลงส่วนแบ่งได้เลย โลกมันสวย มันน่าอยู่กว่าเดิมเสียอีก มันเป็นอย่างนี้ได้ เพราะแฟนเพลงที่ชอบเรามาตั้งแต่ 30 ปีที่แล้ว คนเหล่านั้นนี่ล่ะที่ทำให้ชีวิตเราเป็นอยู่แบบนี้ได้ เพราะเค้าติดตามไปดูเราอยู่ทุกร้าน ทุกที่ที่เราเล่น”

“มันก็ยังบอกผมว่าโลกแห่งเสียงดนตรี หรือโลกใบนี้มันก็ยังน่าอยู่ ยังได้มาเจอศิลปินรุ่นน้องอย่าง 25 Hours , Big Ass ( ที่ได้ทำ project ‘My Hero’ ด้วยกัน โดยเป็น project ที่ศิลปินรุ่นใหม่จะมาจับมือทำเพลงร่วมกันกับศิลปินรุ่นใหญ่ที่เป็นฮีโรของตัวเอง และพี่เสือนั้นเป็นฮีโรของแหลม 25 Hours และเพิ่งปล่อยซิงเกิล ‘นับ 1-100’ ออกมา) ผมก็ชอบที่ได้ร้องเพลงคนร้องตามสนั่น คนดูยืนร้องไห้ ผมก็ยังเห็นภาพแบบนั้นอยู่ ผมวันนี้กับวันแรกที่ ทีของเสือวางแผง ผมก็ยังเหมือนเดิมอยู่ มีแต่เรื่องสังขารเท่านั้นทีเปลี่ยนแปลง”

พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส