ท่ามกลางหนังแนวเดียวกันนี้ที่ออกมามากมายทั้งที่ดีและเลวร้าย เรื่องนี้กลับโดดเด่นออกมาในหมู่ผู้ชมไซไฟสายฮาร์ด แม้หน้าปกหนังจะดูไม่ต่างจากหนังแนวเดียวกันเรื่องอื่นๆก็ตาม จนน่าสนใจว่าหนังมันยังเหลืออะไรให้แตกต่างจากหนังปรัชญาไซไฟมนุษย์สร้างสิ่งมีชีวิตเทียมเรื่องอื่นๆ แล้วผลการพิสูจน์ก็คือคำอุทานว่า บร๊ะเจ้า!!

นี่นับเป็นหนังเรื่องแรกในฐานะผู้กำกับของ นักเขียนบทชาวอังกฤษ Alex Garland ที่เคยฝากผลงานไว้ในหนังของ ผกก. Danny Boyle อย่าง 28 Days Later (2002) และ Sunshine (2007) และอาจจะนับรวมไปถึงนิยายต้นทางของหนังอย่าง The Beach (2000) ด้วยก็ได้ นับว่าผู้ชายที่เข้าตา ผกก.อัจฉริยะอย่างบอยล์คนนี้ ต้องมีของอยู่ไม่น้อยเลยทีเดียว

แล้วหนังไซไฟเรื่องแรกที่เขาทั้งกำกับและเขียนบท แม้พล็อตจะไม่ได้ใหม่อะไรเลยเรื่องนี้ แต่กลับเป็นบทพิสูจน์ความเจ๋งของเขาได้มากมายนัก

Alex-Garland-Ex-Machina

หนังว่าด้วยเรื่องราวของ เคเลบ (Caleb) พนักงานเขียนโค้ดโปรแกรมในบริษัทเซิร์ชเอนจิ้นที่ใหญ่สุดในโลกอย่าง Blue Book (อารมณ์ประมาณ บริษัทกูเกิ้ล) ได้รับการสุ่มเลือกให้รับรางวัลพิเศษได้เข้าพบซีอีโอบริษัทอย่าง นาธาน (Nathan) ณ ที่พักสุดไฮเทคกลางธรรมชาติห่างไกลผู้คน เพื่อเข้าเป็นผู้ทำการทดสอบปัญญาประดิษฐ์นามว่า เอวา (Ava) ด้วยการทดสอบทัวริง (Turing test) ที่ใช้แนวคิดว่าหากมนุษย์ทำการปฏิสัมพันธ์กับคอมพิวเตอร์โดยที่เขาหลงคิดว่ากำลังปฏิสัมพันธ์กับมนุษย์จริงๆอยู่แล้วนั้น จึงถือว่าคอมพิวเตอร์นั้นได้สอบผ่านการเป็นปัญญาประดิษฐ์หรือเอไอสำเร็จแล้ว ซึ่งจะกลายเป็นประวัติศาสตร์อีกหน้าของมนุษย์เลยทีเดียว

ตัวละครทั้งเรื่องจึงจะมีเพียง เคเลบ นาธาน เอวา เป็นหลัก โดยมีสาวใช้ชาวญี่ปุ่นนาม เคียวโกะ เป็นตัวประกอบเสริมเท่านั้น

ความเด่นของเรื่องเลยคือพล็อตธรรมดาแต่บทเทพมาก เรียกว่าอเล็กซ์ทำการบ้านในงานไซไฟมาดีมากทีเดียว บทสนทนาระหว่างเคเลบ กับ นาธาน หลายครั้งต้องกลับมานั่งฟังซ้ำเพื่อให้เข้าใจถ่องแท้เลยทีเดียวเพราะมันมีความเป็นปรัชญาและเฉียบคมในการโต้ตอบแบบน่าทึ่ง ที่สำคัญมันสมจริงถึงขนาดว่าอาจเกิดขึ้นได้จริงๆ ทีเดียว

เคเลบถกเถียงกับนาธานว่าเอไอจำเป็นต้องมีเพศด้วยหรือ?

ยกตัวอย่างฉากหนึ่งระหว่างการทดสอบเอวา ตัวเคเลบได้รู้สึกว่าเขากำลังถูกเอวาจีบอยู่ และได้มาถกเถียงกับนาธานว่าเอไอจำเป็นต้องมีเพศด้วยหรือ? ในเมื่อมันอาจเป็นกล่องสีเทา (ลักษณะความเป็นกลางของคอมพิวเตอร์) ก็ได้
นาธานโต้แย้งโดยให้เคเลบลองยกตัวอย่างมาแย้งว่ามีความรู้สึกนึกคิดในสิ่งมีชีวิตแบบใดที่ไม่มีมิติเรื่องเพศมาเกี่ยวข้องบ้าง
เคเลบแย้งกลับว่าเพราะสิ่งมีชีวิตจำเป็นต้องมีเพศสัมพันธ์เพื่อการดำรงเผ่าพันธุ์และวิวัฒนาการ
นาธานจึงบอกว่ามันก็เป็นเรื่องสำคัญไม่ใช่เหรอที่กล่องสีเทาจำเป็นต้องมีปฏิสัมพันธ์กับกล่องสีเทาอื่นๆ ความนึกคิดจะคงอยู่ได้โดยไร้การปฏิสัมพันธ์ได้อย่างไร

ยกตัวอย่างช่วงต่อเนื่องที่ต้องนั่งคิดตามหนักๆเลยว่ามันพูดอะไรกันคือ

นาธานกับเคเลบถกเถียงเรื่องการตอบสนองอัตโนมัติ (ตามโปรแกรม หรือไม่ตามโปรแกรม) โดยนาธานยกตัวอย่างการสร้างงานศิลปะหยดสีของแจ๊คสัน พอลล็อค ที่เรียกว่า กัมมันตจิตรกรรม (action painting) โดยการปล่อยหัวให้ว่างแล้วลงสีโดยไม่เจาะจงและไม่สุ่มปล่อยร่างกายไปตามใจ
ตรงนี้นาธานกลับมาเปรียบเปรยตนเป็นกัปตันเคิร์กในสตาร์เทร็ก (ซึ่งไปสอดคล้องกับตอน Requiem for Methuselah ในปี 1966 ที่ว่าด้วยเรื่องแอนดรอยสาวที่เรียนรู้การมีอารมณ์และความรักโดยใช้กัปตันเคิร์กเป็นเป้าหมาย)
นาธานกลับมาถามเคเลบโดยสมมติว่าหากพอลล็อคคิดกลับโดยเปลี่ยนจากวาดโดยไม่คิดอะไรเลย เป็นจะวาดก็ต่อเมื่อเขารู้แน่ๆก่อนเท่านั้นว่าทำไมถึงต้องวาด จะเกิดอะไรขึ้น?
เคเลบตอบว่าพอลล็อคจะวาดอะไรไม่ได้เลย
นาธานสรุปว่ากลไกตอบสนองอัตโนมัติมันไม่สำคัญเลย สิ่งที่น่าสนใจคือการกระทำโดยไม่เป็นไปโดยอัตโนมัติต่างหาก ทั้งการวาดภาพ การหายใจ การเอากัน หรือแม้แต่การตกหลุมรัก (นาธานกำลังบอกว่าหากเขาโปรแกรมให้เอวารักเคเลบมันคงเป็นอะไรที่น่าเบื่อมาก)
และจึงสู่บทสรุปว่าเอวารักเองและไม่ได้เกิดขึ้นเพราะการตอบสนองอัตโนมัติตามโปรแกรมด้วย
(ดูไปห้าหกรอบยังงงๆกับบทสนทนาช่วงนี้อยู่เลย 555)

maxresdefault

ความสมจริงตรงนี้ อเล็กซ์ได้ให้สัมภาษณ์ไว้ว่าหนังเรื่องนี้เป็นเหตุการณ์สมมติที่เกิดขึ้นในอนาคตอีก 10 นาทีข้างหน้านี้เอง โดยเขาขยายความว่า หากพรุ่งนี้กูเกิ้ลหรือแอปเปิ้ลจะประกาศว่าได้สร้างเอไอขึ้นมาสำเร็จแล้ว มันก็ไม่น่าประหลาดใจอะไรเลย

ซึ่งในบทหนังช่วงหนึ่งแสดงความคิดตรงนี้ไว้น่าสนใจทีเดียว เมื่อนาธานเผยกลวิธีการสร้างเอวาขึ้นมา โดยระบุว่าเขาใช้การแฮ็กการมีปฏิสัมพันธ์ผ่านโทรศัพท์ของผู้คนทั้งโลกเพื่อสร้างการจำลองปฏิสัมพันธ์อันซับซ้อนของมนุษย์ และยืนยันว่าบริษัทผู้ผลิตทุกเจ้าที่เขารู้จักต่างทำการแฮ็กข้อมูลของลูกค้าไม่ต่างจากที่เขาทำด้วย

download

การใส่รายละเอียดระดับเทพนี้ได้มาจากการเป็นนักอ่านตัวยง นับตั้งแต่ชื่อเรื่อง Ex Machina ที่ย่อมาจากวลีลาตินที่ว่า Deus Ex-Machina ที่แปลว่า พระเจ้าจากเครื่องจักร อันนำมาจากละครกรีกโบราณ ที่ผู้เล่นบทพระเจ้ามักปรากฏกายลงมาบนเวทีจากเบื้องบนด้วยเครื่องยกอย่างเครน หรือด้วยสายเคเบิ้ล(เครื่องกลไก) เพื่อลงมาขับเคลื่อนทางตันในเรื่องบางอย่างให้ไปต่อได้ด้วย (ในแง่ของการใช้ปาฏิหาริย์แก้ปัญหาของตัวละคร) นั้นเอง

แนวคิดเรื่องมนุษย์ที่ริอ่านทำตนเป็นพระเจ้านั้น นอกจากบทพูดในเรื่องเกี่ยวกับพระเจ้าแล้วนั้น อย่างชื่อของตัวละครหลักเองก็เป็นชื่อในไบเบิ้ลทั้งสิ้น นับตั้งแต่ เอวาที่มาจากนามสตรีคนแรก นาธานที่มาจากชื่อของผู้นำทางศาสนาในสมัยกษัตริย์เดวิดและโซโลมอน ส่วนเคเลบคือชื่อของสายลับ 1 ใน 12 คนที่โมเสสส่งเข้าไปในดินแดนใหม่ เรียกได้ว่าเปิดประเด็นทางศาสนปรัชญาไว้ตั้งแต่การตั้งชื่อเลย โดยนอกจากนี้ชื่อนาธานยังเป็นการลิ้งค์ไปถึง Nathanael ตัวละครในเรื่อง The Sandman (1816) ซึ่งเป็นมนุษย์ที่ตกหลุมรักหุ่นยนต์เพศหญิงด้วย

ชื่อของตัวละครหลักเองก็เป็นชื่อในไบเบิ้ลทั้งสิ้น

โดยประเด็นเชิงปรัชญานี้อยู่ในแท็กไลน์หนังอันหนึ่งที่ระบุว่า “การจะลบเส้นแบ่งระหว่างคนกับเครื่องจักร คือการต้องทำเส้นแบ่งระหว่างพระเจ้าให้เลือนลางลง”

นอกจากนั้นหนังยังว่าประเด็นด้วยของการที่สิ่งที่ถูกสร้างหันมาเป็นปฏิปักษ์กับผู้สร้างด้วย ในแง่ของดาบสองคมของวิทยาศาสตร์ โดยมีแนวคิดของปรัชญาเรื่อง Prometheus ที่เป็นยักษ์ในนิทานกรีกที่ไปขโมยไฟ (เทคโนโลยี) ของเทพเจ้ามามอบให้มนุษย์จนถูกลงโทษให้ถูกนกจิกกินท้อง (อันนี้ใครดูเรื่องโพรมีเธียส (2012) ที่เป็นพรีเอเลี่ยนของริดลีย์ สก็อตคงจำกันได้) โดยสะท้อนผ่านบทสนทนาเรื่องโพรมีเธียสในตัวนาธานหลายครั้ง ทั้งตัวนาธานเองที่ถูกเปรียบเปรยว่าเป็นยักษ์ตนนั้นเองก็ยังนิยมทานเหล้าทำลายตับตัวเองทุกวันด้วย (ยังไม่นับฉากจบของเรื่องที่สื่อเรื่องนี้ชัดขึ้นด้วย)

การนำเสนอด้านน่ากลัวของวิทยาศาสตร์ยังผ่านการอิงคำพูดของ ออพเพนไฮเมอร์ บิดาแห่งระเบิดปรมาณูอยู่หลายครั้งด้วย เช่น ข้ากลายเป็นความตาย ผู้ทำลายล้างโลก เป็นต้น

นอกจากการเล่นในบทแล้ว งานกำกับ โปรดักชั่นดีไซน์ ฉาก พร็อพ รวมถึงคอสตูม และการวางภาพมุมกล้องก็สื่อสะท้อนไปถึงแนวคิดแบบโลกอนาคตได้อย่างสมจริง จนเผลอคิดไปถึง แสตนลี คูบริค ผกก.อัจฉริยะที่สร้างสรรค์มาสเตอร์พีซอย่าง 2001: A Space Odyssey (1968) ที่วางรากฐานอาร์ตสำหรับโลกอนาคตในหนังแนวหนึ่งขึ้นมาทีเดียว ทั้งแนวทางอาร์ตและสิ่งที่ซ่อนไว้

อย่างฉากการพบกันครั้งแรกของเคเลบและเอวา ในหนังเราจะได้ยินเสียงโน้ต 5 ตัวในหนังเรื่อง the Close Encounters of the Third Kind (เร มี โด โด ซอล) อีกด้วย ทั้งยังการออกแบบห้องต่างๆในบ้านนาธานที่ใช้สีสามสีคือ เขียว (ต้นไม้) แดง (ผนัง) และน้ำเงิน (แสงไฟ) เพื่อสื่อการมองเห็นในแบบอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งหมายถึงหนังเล่าผ่านโลกทรรศน์ของเอวามากกว่าคนด้วย (ตรงนี้สื่อชัดมากเมื่อดูไปถึงตอนจบซึ่งเปลี่ยนสายตาการเล่าเรื่องที่เราเข้าใจมาตลอดว่ามนุษย์เป็นผู้เล่าเรื่อง แสดงว่าหนังฮิ้นท์มาทางอาร์ตไดเร็กชั่นตั้งแต่ต้นแล้ว เจ๋งไหมล่ะ)

หนังอาจไม่ได้ให้บทสรุปที่เกินความคาดหมายนัก แต่รอยย่ำระหว่างการไปถึงจุดหมายนี่ล่ะที่น่าจดจำ และฉลาดสุดๆ

สรุปหนังเรื่องนี้เหมาะสำหรับใคร ?

นี่คือหนังไซไฟขนานแท้ที่ฉลาดตั้งแต่บทจนถึงดีไซน์ แถมจังหวะการเล่าเรื่องยังมีอะไรให้สงสัยสนใจติดตามได้ตลอด แม้จะโหดร้ายไปสำหรับคนที่ไม่ชอบคิดในบางบทสนทนา แต่บทสนทนาก็สนุกจริงๆ ยิ่งการแสดงระดับเทพอย่างออสการ์ ไอแซคมาเล่นเป็นนาธานก็สร้างพลังให้ตัวละครน่าติดตามมาก แถมยังมีจุดพลิกจุดเฉลยที่แยบคายด้วย โดยสรุปคือถ้านิยมหนังหุ่นยนต์แนวปรัชญาการมีชีวิตและตัวตนของมนุษย์นี่ห้ามพลาดเลย

ex-machina

สำหรับคนดูทั่วๆไปหนังเล่าแบบไม่ได้เน้นหวือหวาในเชิงแอ็กชั่นอะไร ออกจะเป็นแนวค่อยๆข่มขวัญด้วยความไม่ชอบมาพากลความน่าสงสัยและความสวยงามสมบูรณ์แบบจนน่ากลัวเสียมากกว่ามาตุ้งแช่ระเบิดตูมตาม ถึงจะมีฉากเปลือยร่างมากระเซ้าอยู่บ้างแต่มันก็ไม่ได้มากขนาดปลุกความหื่นในตัวคุณหรอกนะ แต่ถ้าชอบสไตล์สาวญี่ปุ่นเซ็กแอพพีลสูงๆนี่สบอารมณ์เลย เคียวโกะเป็นตัวละครที่เซ็กซี่มาก แต่กระนั้นถ้าไม่มีจิตอยู่ในอารมณ์ละเมียดทางความคิดก็ผ่านไปก่อนเถอะ แต่วันไหนไหว มีวุฒิภาวะครุ่นคิดในระดับสูงขอให้กลับมาเสพโดยพลัน และที่สำคัญไม่ต้องเป็นนักปรัชญาหรือนักวิทยาศาสตร์อะไรคุณก็ดูหนังเรื่องนี้แบบสนุกๆได้

Play video